วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จับ 'เจริญชัย แซ่ตั้ง' นักรณรงค์ให้ยกเลิก ม.112 เข้า มทบ.11


3 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.ค.60) เวลา 11.45 น. ได้รับแจ้งจาก กิมเพียว แซ่ตั้ง ว่า เจริญชัย แซ่ตั้ง ชายวัย 60 ปี นักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิก ม.112 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนกว่าสิบนายบุกเข้าทำการจับกุมที่บ้านพักย่านดาวคะนอง กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. ของวันที่ 1 ก.ค. 2560
กิมเพียว แซ่ตั้ง ผู้พี่ชายเล่าว่า ในวันที่ทหารเข้าทำการจับกุม หัวหน้าชุดจับกุมไม่ได้แสดงหมายจับหรือหมายค้นแต่อย่างใด แต่อ้างว่าใช้อำนาจตาม ม.44 ชุดที่เข้าทำการตรวจค้นจับกุมบางส่วนได้แต่งกายในชุดจู่โจมใส่ถุงคลุมปิดหน้าตา นอกจากการจับตัวนายเจริญชัยไปแล้วทางเจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ โน็ตบุ๊ก และโทรศัพท์มือถือของนายเจริญชัยและของตัวเองไปด้วย
ล่าสุด วันนี้(3 ก.ค.60) ญาติของเจริญชัยกำลังเดินทางเข้าของเยี่ยมเจริญชัย ที่เรือนจำ มทบ.11
กิมเพียว ผู้เป็นพี่ชายคนโตได้เล่าประวัติโดยย่อให้ฟังว่า เจริญชัย แซ่ตั้ง ปัจจุบันมีอายุ 60 ปี โดยปัจจุบันได้พักอาศัยอยู่กับพี่น้อง เจริญชัยจบการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษา ได้เคยทำงานกับมูลนิธิเพิร์ล เอส บัค ช่วยเหลือลูกของทหารอเมริกาที่เกิดกับผู้หญิงไทยในช่วงสงครามเวียดนาม และได้เคยทำงานเป็นผู้ช่วยตำรวจท่องเที่ยว
หลังจากนั้นมาเจริญชัยจึงได้มาเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเด็น และหนึ่งในนั้นคือ การรณรงค์ให้มีการยกเลิก ม.112 

สปท.ชงคุมสื่อออนไลน์เข้ม ลงทะเบียนมือถือ สแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้า


สปท.เห็นชอบรายงานของ กมธ. ปมปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นมาตรการป้องปรามปัญหา ชงเพิ่มการสแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้า 'พลเมืองเน็ต' ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารระบบ 
3 ก.ค. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ด้วยคะแนนเสียง 144 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียงและงดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 147 คน
สำหรับรายงานดังกล่าว กมธ.ได้มีการเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทและนโยบายเกี่ยวกับการรณรงค์ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติ และการประเมินผลงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลังสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วและการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ปัจจุบันกลับมีการใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ กอปรกับขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจและสถาบันหลักของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในปี 2562 และในระยะยาวซึ่งเป็นวาระต่อเนื่องที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้เกิดการใช้สื่อออนไลน์อย่างมีคุณภาพ มีจริยธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีหลายสื่อ เช่น สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น โลกวันนี้ และโพสต์ทูเดย์ ยังรายงานตรงกันด้วยว่า รายงานดังกล่าว ได้เสนอแนวทางการปฏิรูป ให้มีการจัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ด้วยการเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะระบบเติมเงิน ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับแผน เพื่อใช้สแกนลายนิ้วมือและใบหน้า ควบคู่ การลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า สมาชิกสปท.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตอาจมีบางมาตรการกระทบสิทธิมนุษยชน โดย กษิต ภิรมย์ สมาชิกสปท. กล่าวว่า  การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัท กูเกิ้ล หรือแอปเปิ้ล ต้องยอมรับเป็นไปได้ลำบากเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้นต้องสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น ถ้าให้รัฐดำเนินการฝ่ายเดียว จะเหมือนกับขี่ช้างจับตั๊กแตน  และอยากให้ทบทวนรายงานฉบับนี้ทั้งหมด เพราะอ่านแล้ว จับไม่ได้ว่าหัวใจของเรื่องจะแก้ไขปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้อย่างไรขณะที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปท. อภิปรายว่า การที่กมธ.เสนอให้ประชาชนต้องสแกนลายนิ้วมือ ใบหน้าในการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน เหมือนการทำหนังสือเดินทางนั้น  ไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้บ้าง หากนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ทั้งประเทศ จะเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะการแค่มีบัตรประชาชนสามารถบอกอะไรได้ทุกอย่างอยู่แล้ว

'พลเมืองเน็ต' ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารระบบ 

ขณะที่ ทีมข่าววอยซ์ทีวี รายงานว่า อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นกับทีมข่าววอยซ์ทีวีในสองประเด็นว่า เรื่องแรกการลงทะเบียนด้วยลายนิ้วมือเพิ่มเติมจากการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน นั้นเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดจริงหรือไม่เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้มีการพยายามลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนตั้งแต่การทำใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนมาขยายเป็นทั่วประเทศแต่ก็ไม่ได้เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เหตุเพราะสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารระบบ ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการเครื่องขายมือถือแห่งหนึ่งที่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ออกมาขายให้กับกลุ่มรับจ้างทวงหนี้ หรือเคสล่าสุดการที่แก๊งชาวจีนสามารถลงทะเบียนซิมการ์ดในการรับจ้างกดไลค์ได้แสนกว่าเครื่อง  แล้วถ้าหากลงทะเบียนด้วยลายนิ้วมือถ้าหากมีข้อมูลที่รั่วไหลจะยิ่งสร้างความเสียหายหรือไม่ ในการใช้ลยนิ้วมือในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์เพื่อยืนยันตัวตนถือเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการบังคับใช้งานจริง
ส่วนอีกประเด็นเรื่องการจัดตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวังออนไลน์ อาทิตย์ กล่าวว่าในป้จจุบันปัญหาหนึ่งที่พบคือ ทั้งหน่วยงาน DSI กระทรวงดีอี ปอท.ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึงศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ล้วนมีศูนย์มากมายและมีความทับซ้อนเป็นอย่างมาก อยากให้มีการกำหนดขอบเขตหน้าที่การรับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนแม้กระทั่งตัวเจ้าทุกข์และจำเลย ซึ่งควรจะแบ่งงานให้ชัดเจนว่าทำเรื่องอะไร เช่นการกำกับดูแลประเด็นการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ หรือ เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงจะเป็นการดีกว่า 

ประยุทธ์ ชูแผนพัฒนาฯ ฉ.12 - ยุทธศาสตร์ 20 ปี ดันไทยเป็นประเทศ 'พัฒนาแล้ว'


ประยุทธ์ เปิดการประชุม 60 ของสภาพัฒน์ ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา โดยกำหนดเป้าหมาย “ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” เช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศ

3 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (3 ก.ค.60) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมประจำปี 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือ สศช.) เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ในโอกาสเปิดการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประทศ โดยมีผู้แทนทุกภาคส่วนเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 2,000 คน ประกอบด้วย  คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากภาครัฐ และสื่อมวลชน ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมประจำปี ประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหัวข้อเรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ว่า เพื่อนำเสนอการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญภายใต้ 10 ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและต้องเร่งรัดดำเนินการต่อไป รวมทั้งวางกลไกการขับเคลื่อนไปสู่ระดับปฏิบัติในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในช่วงระยะ 5 ปี ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่อนาคต และสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึง เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง  โดยขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดตามโรดแมปที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้ โดยเฉพาะหลักคิดวิสัยทัศน์ที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่หากยังติดกับปัญหาเดิม ๆ ก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้  ขณะที่ประชากรก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำนวนจำกัด ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องมาคิดร่วมกันในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปี ของแผนฯ ฉบับที่ 12 นับเป็นก้าวแรกและก้าวย่างที่สำคัญของการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ซึ่งต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนก่อนที่จะเร่งพัฒนาและเสริมจุดแข็งในช่วงเวลาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ตั้งประเทศ การเชื่อมโยงกับ CLMV และประชาคมอาเซียน ฯลฯ โดยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องบรรลุเป็นเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามเกณฑ์มาตรฐานนานาประเทศ และเป็นสังคมที่คนไทยมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความปรองดองสมานฉันท์ ทุกคนมีที่ยืนสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่าง ๆ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานและบริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมทั้งในระดับบุคคล ภูมิภาค และพื้นที่ น้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งคนและพื้นที่ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาและแก้ไขได้ถูกต้องและตรงจุด อันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งภายใน คือประชากรของประเทศในระดับต่าง ๆ และภายนอกอย่างแท้จริง โดยเน้นประชาชนในระดับฐานรากให้มีรายได้อย่างเพียงพอสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งรู้จักใช้ชีวิตและบริหารจัดการใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียง พอประมาณ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ทั้งนี้ เป้าหมายที่ต้องการเห็นคือ “ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” เหมือนกับนานาอารยะประเทศ ทั้งทางด้านกายภาพ เช่น เส้นทางคมนาคม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาด้านจิตใจ ความคิด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง และศักยภาพของคน เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงภาพอนาคตประเทศไทยในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับจะมีการจัดตั้งกรรมการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่างๆ ว่า รัฐบาลต้องการจะสร้างความเข้าใจและเน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งรัฐบาลนี้ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาประเทศและสร้างความสุขให้กับคนไทยทุกคนได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายอนาคตของประเทศเป็นหลักชัยที่ประชาชนชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมองถึงภาพของอนาคตที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งการกำหนดเป้าหมายระยะยาวสำหรับการพัฒนาประเทศมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเพื่อเป็นเป้าหมายร่วมที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องร่วมมือกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง เป็นกรอบในการจัดลำดับความสำคัญประเด็นการพัฒนาในระยะสั้นและระยะกลางได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจะช่วยวางแนวทางสำหรับการจัดประเด็นการบูรณาการในการจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญและพัฒนาเพื่อเสริมจุดแข็งสำคัญของประเทศจะได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการจัดทำแผนการจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งรีบสำหรับวาระสำคัญๆ ของประเทศภายใต้เวลาที่จำกัด 
พร้อมทั้ง ขอให้ทุกคนคิดร่วมกันถึงภาพอนาคตของประเทศไทยว่า ควรมีลักษณะหรือโฉมหน้าอย่างไร  เช่น คนไทยที่ตื่นรู้ มีการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณ เป็นพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลกมีรายได้ต่อหัวตามเกณฑ์ของประเทศรายได้สูง คนไทยเป็นนวัตกร ทำเองได้ และขายเป็นโดยทำให้ครบวงจรทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป และการตลาด สังคมแห่งโอกาส เป็นธรรม มีคุณธรรม และเกื้อกูลกันความเจริญกระจายสู่ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง มีการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและเกิดความโดดเด่นของเมืองที่น่าอยู่ เมืองที่แข่งขันได้ เมืองอัจฉริยะ แต่ละภาคมีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์และจุดเด่น  มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ภาครัฐดิจิทัล กระทัดรัด ทันสมัย โปร่งใส ประสิทธิภาพ เป็นระบบเปิดและเชื่อมโยงถึงกัน (Open and Connected) เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้เริ่มต้นวางกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งแต่ปี 2558 โดยนำนโยบายของรัฐบาล ประเด็นปฏิรูป รวมถึงข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาใช้เป็นกรอบในการจัดทำ จนสามารถจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แล้วเสร็จในปี 2559 ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติจะประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความมั่นคงในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้เป็นการพัฒนาที่เป็นการผสมผสานความเจริญระหว่างตะวันตกและตะวันออกเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน และ (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านนี้ จะเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่มีผลในทางปฏิบัติ โดยในปี 2560 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใต้คณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อทำหน้าที่จัดเตรียมสาระของยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และตรงกับความต้องการของประชาชน และจะส่งมอบต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนการทำงานให้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ทั้งในส่วนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2559 และแผนพัฒนาฉบับต่อ ๆ ไป เพราะยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นการเริ่มต้น สานต่อ และรองรับการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันไปตลอด 20 ปี โดยเฉพาะแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ที่เป็นเหมือนก้าวแรกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เป็นการวางรากฐานการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ในระยะยาวทั้ง 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 10 ด้านของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สะท้อนการไปถึงเป้าหมายในระยะ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นใน 6 ยุทธศาสตร์แรกของแผนฯ ที่ตอบสนอง 6 ยุทธศาสตร์หลักของยุทธศาสตร์ชาติโดยตรง ได้แก่ (1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (2) การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (4) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน และ (6) การบริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย  รวมถึงอีก 4 ยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์  (8)  การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม  (9)  การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ และ (10)  การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการนำพาประเทศไปสู่จุดเปลี่ยนแห่งอนาคต ได้แก่ การสร้างคนพันธุ์ใหม่  ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติ การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรับผิดชอบและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการดำเนินการให้ประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้พลังประชารัฐเป็นพลังที่สามารถนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้  รวมถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลายเรื่องในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมการทำงาน และวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน และเป็นภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ส่วนภาคธุรกิจเอกชน ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงธุรกิจกับการพัฒนา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ อย่างเป็นพันธมิตรตามแนวทางประชารัฐ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม วัฒนธรรมการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ขณะที่ประชาชน ต้องปรับตัวให้เรียนรู้ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และเรียนรู้ในการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีจิตสาธารณะ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม ประชาชน และNGOs ร่วมมือกันในการที่จะมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยขับเคลื่อนจากแผนฯ 12 ไปสู่แผนฯ อื่น ๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยประชาชนทุกกลุ่มทั้งในส่วนของ 1.0 2.0 และ 3.0 ต้องพัฒนาตนเองเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าและก้าวไปสู่ 4.0 ด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยร่วมกับประชาชนทุกระดับ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

'หมอมงคล' ค้านแก้ ก.ม.บัตรทอง อัดรัฐนำงบฯซื้ออย่างอื่นได้ แต่ซื้อสุขภาพ ปชช. ไม่ได้


'หมอมงคล' ชี้ต้นตอความขัดแย้งแก้ ก.ม.บัตรทอง เหตุรัฐบาลให้งบจำกัด ทำระบบติดขัด อัดรัฐนำงบฯซื้ออย่างอื่นได้ แต่กลับซื้อสุขภาพให้กับ ปชช. ไม่ได้ พร้อมค้านแก้ ก.ม.บัตรทอง ทั้งการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่าย เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. ทำลายหลักการแยกผู้ซื้อ-ผู้ขาย เท่ากับล้มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
4 ก.ค.2560 นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ คิดเพื่อไทย TV.24 ถึงการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ขณะนี้ต่างคนต่างบอกว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ล้มแน่นอน แต่หากมีการแก้ไขหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญก็เหมือนกับการล้มไปโดยปริยาย ซึ่งหากยืนยันที่จะคงโครงการนี้ไว้ การแก้ไขกฎหมายจะต้องคงหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการแยกชัดเจนระหว่างผู้ให้บริกรรและผู้ซื้อบริการแทนประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับประชาชนที่จะได้รับบริการสุขภาพจำนวนงบประมาณที่จ่ายลงไป
นพ.มงคล กล่าวว่า หัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือเมื่อประชาชนอยู่ที่ไหนงบเหมาจ่ายรายหัวต้องกระจายไปที่นั่นรวมถึงเงินเดือนบุคลากร ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่กระจุกตัวในเมืองทำให้โรงพยาบาลชนบทไม่มีผู้ให้บริการ ส่งผลให้เกิดการเข้าไม่ถึงบริการ เกิดความไม่เสมอภาคในระบบบริการสุขภาพ จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ดังนั้นในการจัดงบเหมาจ่ายรายหัวจึงต้องรวมเงินเดือนไดว้เพื่อให้กระจายบุคลากรทางการแพทย์ออกไปย ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายที่ให้แยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวและรวมไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สิ่งที่เกิดขึ้นบุคลากรจะขอย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ต้องกระจายไปตามประชากรและงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว ส่งผลปัญหาระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ก็จะเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้แม้ว่าจะมีการรวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายแล้ว แต่การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปตามประชากรยังทำได้ไม่ดี หากแยกเงินเดือนก็จะทำให้เกิดปัญหาย้อนกลับได้
“โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหมอสงวนได้เน้นตรงนี้มาก ประชากรอยู่ตรงไหน เงินต้องอยู่ตรงนั้น รวมถึงเงินเดือนบุคลากร จึงได้ออกแบบผูกเงินเดือนไปกับงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อให้คนเข้าถึงบริการได้ แต่หากแยกเงินเดือนเมื่อไหร่ สธ.ที่เป็นเจ้าของหน่วยบริการและเป็นเจ้าของเงินเดือนก็จะให้คนย้ายไปอยู่ตรงไหนก็ได้” อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จ.สิงห์บุรีที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง โรงพยาบาลจังหวัด ไม่รวมโรงพยาบาลชุมชนอีก บุคลากรทางการแพทย์มีเป็นร้อยคน ขณะที่บางจังหวัดในภาคอีสานมีหมอแค่ 7 คน จึงต้องมีการบริหารจัดการเพื่อกระจายแพทย์ออกไป ซึ่งวิธีภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ได้สร้างความเป็นธรรมที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้เพื่ออะไร
นพ.มงคล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการเสนอแก้ไขเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) นั้น หลักการสำคัญของโครงการอย่างที่กล่าวแล้วคือการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ โดยผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการรับบริการสุขภาพต่องบประมาณที่ลงไป และเมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่นี้ ภายใต้การตัดสินใจของบอร์ด สปสช.ที่ประกอบด้วยผู้แทนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะตัวแทนประชาชนในฐานะผู้รับบริการ สัดส่วนของบอร์ด สปสช.จึงต้องมีความเป็นธรรม ดังนั้นเมื่อมีการลดตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช.และเพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการเป็น 7 คน เท่ากับเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในการลงมติ เพราะเสียงส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ฝ่ายผู้ให้บริการ ทั้งนี้บอร์ด สปสช.ที่เป็นผู้ซื้อบริการต้องทำหน้าที่ควบคุมการให้บริการของฝ่ายผู้ให้บริการ เมื่อยกบอร์ด สปสช.นี้ให้เป็นของฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว การบริการสุขภาพในระบบจากนี้จะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการกำหนดว่าจะจัดให้มากน้อยเพียงใด เท่ากับจากนี้จะไม่มีหลักประกันอะไรให้กับประชาชน
“สปสช.ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของบอร์ด สปสช. นำมติบอร์ดไปปฏิบัติ หากต่อไปบอร์ด สปสช.มีผู้ให้บริการมากกว่าผู้แทนประชาชน การดำเนินประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กองทุนจะเสียสมดุลและอาจจะเอนเอียงเพื่อลดความเสี่ยงในการบริหารโรงพยาบาล ทำให้ประชาชนอาจถูกริดรอนและขาดการรับบริการที่ดีได้ ขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้ให้บริการ นอกจากนี้ยังทำให้ขาดความเป็นกลางในการตรวจสอบได้” อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ สปสช.ดำเนินจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้นั้น เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์ในเรื่องนี้ นพ.มงคล กล่าวว่า เรื่องนี้ที่ผ่านมาทั้ง คตร. และ สตง. ได้ตรวจสอบ สปสช.แล้ว แม้ว่าจะไม่พบการทุจริตแต่ก็ยังมีการย้ายเลขาธิการ สปสช.ขณะนั้น อย่างไรก็ตามการจัดซื้อยาของ สปสช.เพียงแค่ร้อยละ 4 ของยาทั้งหมด โดยจัดซื้อเฉพาะกลุ่มยาราคาแพงซึ่งหากไม่มีอำนาจต่อรองราคายาก็จะสูงมาก อย่างยาโดซีแทคเซลใช้รักษามะเร็ง จากราคา 4 หมื่นบาทเหลือเพียงแค่หมื่นกว่าบาทเท่านั้น เช่นเดียวกับสายสวนหัวใจ ชนิดอาบน้ำยาจาก 8 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.2 หมื่นบาท เป็นต้น และกลุ่มยากำพร้าที่ไม่มีใครผลิตหรือนำเข้า และจากการจัดซื้อยาของ สปสช.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประหยัดงบประมาณจากการต่อรองราคายาได้เกือบแสนล้านบาท ซึ่งหากถามว่า สธ.จะจัดซื้อยาเช่นเดียวกับ สปสช.ได้หรือไม ที่ผ่านมา สธ.เองเคยมีปัญหาทุจริตยาจนอดีต รมว.สาธารณสุขติดคุมาแล้ว
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการผลักดันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต้องแยกผู้ซื้อผู้ขาย ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งปลัด สธ. และไม่อยากให้ตั้ง สปสช. ซึ่ง นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.บอกว่าถ้าเช่นนั้นต้องแยกหน่วยบริการออกจาก สธ. โดยให้ สธ.ทำหน้าที่ซื้อบริการจากโรงพยาบาลแทน รวมถึงการติดตามประเมินผลการให้บริการแทน ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้นไม่เห็นด้วย จึงต้องตั้ง สปสช.เพื่อเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ต่อข้อซักถามว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกมองเป็นภาระรัฐบาล นพ.มงคล กล่าวว่า มี 2 คำอยากให้พิจารณ์ คือ ภาระและการลงทุน ซึ่งประเทศที่พัฒนาไปได้จะต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ หากประชากรอ่อนแอประเทศก็จะพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นการทำให้ประชากรมีสุขภาพดีทั้งกายและใจจึงถือเป็นการลงุทน โดยเราไม่ได้เน้นแต่การรักษาแต่รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นคนที่คิดว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระของประเทศ แสดงว่าคนนั้นไม่ได้ปรารถนาดีกับประเทศ
ส่วนกรณีที่มีการมุ่งเพื่อให้เกิดการร่วมจ่าย โดยยังคงรักษาฟรีกรณีผู้มีรายได้น้อยนั้น นพ.มงคล กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เกลียดและโกรธที่สุด เพราะจะทำให้ความเป็นมนุษย์นั้นหายไป ซึ่งอยากให้ลองคิดดูว่า หากคนรายได้น้อยจะเข้ารับบริการฟรีแต่ละครั้งจะต้องคอยหันซ้ายหันขวาเพื่อยืนบัตร แล้วความรู้สึกจะเป็นอย่างไร ทั้งที่คนเหล่านี้ต่างต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลเช่นกัน แม้ไม่ใช่ภาษีบุคคล แต่ก็ถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้า เราจึงต้องให้เกียรติความเป็นคนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาความขัดแย้งในการแก้ไข กม.บัตรทองขณะนี้ ต้นตอสำคัญเกิดจากรัฐบาลที่จัดสรรงบประมาณสู่ระบบน้อยไป จนเกิดปัญหาติดขัดและขัดแย้ง ทั้งที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพประชาชนเพียงร้อบละ 4.6 ของจีดีพีเท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลอยู่ที่ร้อยละ 17 เท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 20 ดังนั้นจะบอกว่าเราใช้เงินกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากคงไม่ได้ อีกทั้งการใช้จ่ายงบประมาณประเทศขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้เรื่องใดเป็นความจำเป็นสูงสุด จะนำเงินไปซื้ออย่างอื่นกี่หมื่นกี่แสนล้านบาทก็ได้ แต่กลับซื้อสุขภาพให้กับประชาชนไม่ได้ ซึ่งในช่วงที่อยู่ในรัฐบาลปฏิวัติทำให้ไม่มีคนกล้าพูดเรื่องนี้ จึงต้องมานั่งทะเลาะกัน

มติ กกต. ตั้ง อนุ. กก. สอบ ปม 90 สนช. ถือครองหุ้น ขัด รธน.


กกต. มีมติเอกฉันท์ เห็นพ้องร่างกฎหมายลูกพรรคการเมือง ไม่มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี 90 สนช. ถือครองหุ้น ขัดรัฐธรรมนูญ
4 ก.ค. 2560 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.มีมติตามที่สำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต. เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 187 และมาตรา 170(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแแห่งชาติ (สนช.) 90 คน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 วรรคสอง โดยประธาน กกต.จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับจากนี้ และคณะอนุกรรมการไต่สวนมีเวลาดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนเสนอความเห็นต่อ กกต. โดยหากเห็นว่าไม่มีมูล ก็จะเสนอ กกต.ยกคำร้อง แต่หากเห็นว่ามีมูล ก็จะเสนอให้ กกต.มีความเห็นเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
สมชัย ยังกล่าวดว้ยว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเอกฉันท์ เห็นตามที่สำนักงาน กกต.เสนอว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 กำหนดว่า หากมีความเห็นแย้งก็ให้ส่งความเห็นกลับไปยัง สนช.ภายใน 10 วัน แต่เมื่อขณะนี้ กกต.ไม่มีความเห็นแย้ง ดังนั้นก็จะไม่มีหนังสือแจ้งกลับไป    อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหา ซึ่งที่ประชุม กกต.ก็ให้แนวปฏิบัติกับทางสำนักงานฯ ว่าหากร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต.ต้องแถลงชี้แจงให้กับพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าให้ทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น 6 เดือนแรกหลังประกาศใช้ พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จะต้องหาสมาชิกใน 4 ภาคให้ได้ 5,000 คน และต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เป็นต้น โดยพรรคการเมืองก็ต้องศึกษากฎหมายให้เข้าใจว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไร
“มติ กกต.วันนี้เป็นมติเอกฉันท์ 4 เสียง เนื่องจากประธาน กกต.ติดไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณา พ.ร.ป.กกต. แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมติ กกต.วันนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. และความเห็นของสำนักงานฯ โดยการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นรายละเอียดใหม่ที่อาจจจะยุ่งยากต่อการปฏิบัติในระยะแรก ๆ แต่กระบวนการต่าง ๆ มุ่งหวังที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีความเป็นสถาบัน  ซึ่ง กกต.จะพยายามช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติให้กับพรรคการเมืองมากที่สุด” สมชัย กล่าว

รบ.ตั้ง 'พล.อ.บุญสร้าง' นั่งประธาน กก.ปฏิรูปตำรวจ


'วิษณุ' แจงจะเอาระบบทหารมาใช้กับระบบตำรวจหรือไม่ต้องอยู่ที่ กรรมการ 36 คนโหวตกัน ระบุ 'พล.อ.บุญสร้าง' เป็นนายทหารสายวิชาการ เก่งเรื่องโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคง สอดคล้องกับงานปฏิรูปตำรวจ  Police watch จ่อแถลงผิดหวัง
4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้(4 ก.ค.60) เมื่อเวลา 15.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมกับได้ให้แนวทางการทำงานไปแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ระดับจังหวัดด้วยจะต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการเพื่อทำงานร่วมกัน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มีความสุข แต่สายการบังคับบัญชายังขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม
ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนำทหารมาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะมีปัญหาในแง่ภาพลักษณ์หรือไม่ ว่า แล้วแต่คนจะมอง แต่รัฐบาลไม่ได้มองแบบนั้น เพราะ พล.อ.บุญสร้าง เป็นนายทหารสายวิชาการ จบการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยเวสต์ พ้อยต์ ของสหรัฐอเมริกา เก่งเรื่องโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคง สอดคล้องกับงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี 3 ด้าน คือ 1. โครงสร้าง สังกัด อำนาจหน้าที่ 2. อำนาจการสอบสวนจะแยกหรือไม่ และ 3.การบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ให้มีการซื้อขาย ตำแหน่ง โดยกรรมการแต่ละคนเชี่ยวชาญแต่ละด้าน
“ถ้าจะเอาตำรวจมาเป็น รัฐธรรมนูญก็ห้ามไว้ ถ้าไม่ใช่ตำรวจมาเป็น ก็แพ้ทางตำรวจอีก จึงต้องเอาคนที่ตำรวจแพ้ทาง  ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นทหาร แต่บังเอิญเราหาผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะหลายคนที่ดีและดัง ไม่ขอรับตำแหน่ง เพราะรู้ว่างานเร่งรัด ยินดีเป็นที่ปรึกษามากกว่า” วิษณุ กล่าว
ต่อกรณีคำถามที่ว่าจะถูกมองว่าจะเอาระบบทหารมาใช้กับระบบตำรวจหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า กรรมการ 36 คนต้องโหวตกัน 

Police watch จ่อแถลงผิดหวัง

ด้าน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ แจ้งว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ซึ่งรายชื่อจำนวนมาก เป็นบุคคลที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิรูปตำรวจ มีข้าราชการ ทหารและตำรวจรวมถึง 23 คนจาก 36 คน และไม่มีตัวแทนภาคประชาสังคมแม้แต่คนเดียว
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) จึงขอเชิญสื่อมวลชน ร่วมฟังการแถลงข่าวท่าทีภาคประชาชนในการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ในวันพุธ ที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน นำแถลงโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ สมศรี หาญอนันทสุข บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และพ.ต.อ.วิรุฒ ศิริสวัสดิบุตร

'คนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้' ลั่นไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เสนอประยุทธ์ทบทวนการแก้ ก.ม.บัตรทอง


เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ยันไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เสนอประยุทธ์ทบทวนกระบวนการแก้ กม. บัตรทอง พร้อมเสนอ 4 ประเด็นเห็นร่วม 5 ประเด็นเห็นแตกต่าง 7 ประเด็นสำคัญแก้แล้วดีขึ้น
5 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (5 ก.ค.60) ภาคีเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ได้รวมตัวกัน ณ หอนาฬิกาหน้าจัตุรัส หาดใหญ่ เพื่อแถลงการณ์ขอให้ทางรัฐบาลทบทวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ยืนยันไม่ได้ต่อต้านการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ต้องการให้ทางรัฐบาลได้ทบทวนการแก้กฎหมายให้ประชาชนกว่า49 ล้านคน ที่ใช้ระบบบัตรทองได้รับรู้และมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยทางเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ พร้อมเสนอ 4 ประเด็นเห็นด้วย 5 ประเด็นเห็นต่าง 7 ประเด็นเพื่อปฏิรูป
ซึ่งจาก 12 ประเด็นในการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ พิจารณาแล้วเห็นด้วย 4 ประเด็น คือ 1. มาตรา 14 กรณีห้ามดำรงตำแหน่งสองคณะในขณะเดียวกัน หมายถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ 2. มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกินสองสมัย 3. มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน และ 4. ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ย กรณีเกิดปัญหาต่อผู้รับบริการ เมื่อมีการเยียวยาช่วยเหลือแล้วต้องไม่ไล่เบี้ยหาผู้กระทำผิด                   
ส่วนประเด็นที่เห็นต่าง 5 ประเด็น คือ 1. ไม่เห็นด้วยเรื่องการนิยาม เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพและนิยามสถานบริการ จึงต้องการเพิ่มในนิยามให้รวม องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไรเป็นสถานบริการด้วย 2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 ในการแก้ไของค์ประกอบของบอร์ดสปสช. ที่ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน เนื่องจากขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ และไปลดผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นต้องเพิ่มตามเดิม เป็นต้น 3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่ระบุเพียงได้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และเห็นว่าควรเพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย 4. ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 46 เรื่องการแยกเงินเดือน เพราะจะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และ 5. มาตรา 48(8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพและผู้ให้บริการในบอร์ดสปสช. ซึ่งไม่สมดุล โดยต้องเพิ่มสัดส่วนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์รวม 3 คนเข้าไปด้วย
และข้อเสนอ 7 ประเด็น เพื่อการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ คือ 1. แก้ไขมาตรา 5 ให้ตัดการร่วมจ่ายออกเสีย 2. มาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีเป็นกองทุนเดียว 3.แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน 4.แก้ไขมาตรา 18 เรื่องอำนาจของคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน 5.แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส 6.มาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหาผลกำไร 7.เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9และ 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ  
ทั้งนี้ขอย้ำความกังวลที่มีมาอย่างต่อเนื่อง 2 ประเด็นใหญ่คือ การร่วมจ่ายที่ยังขาดความชัดเจนและคงบัญญัติในกฎหมายหลักประกันฯ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้ใช้บริการที่เป็นประชาชนกว่า 49 ล้านคนในระบบบัตรทอง ว่าหากมีการผ่านการแก้กฎหมาย โดยไม่มีการตัดคำว่า ร่วมจ่าย ออกจากมาตรา 5 นั้น  อาจทำให้มีการกำหนดวงเงินร่วมจ่ายที่กระทบต่อสถานการณ์ครัวเรือนล้มละลายมีจำนวนมากขึ้น ย้อนกลับไปเหมือนก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพและประเด็นสำคัญที่เครือข่ายเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อหลักการมีส่วนร่วมคือ สัดส่วนคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆที่ไม่สมดุลย์กัน  ที่ส่งผลให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นน้อยลง ทำให้ขาดการกระบวนการกลไกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของระบบในระดับต่างๆตั้งแต่ร่วมตัดสินใจ ดำเนินการ และเพื่อจัดระบบบริการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเองในชุมชน ลดทอนศักยภาพที่กำลังมีความคืบหน้าลงไปถึงในชุมชนพื้นที่ผ่านกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ภาคใต้ เครือข่ายคนพิการ  เครือข่ายชุมชนแออัด  เครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย  เครือข่ายผู้สูงอายุ  เครือข่ายสตรี เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ  เครือข่ายเกษตร สมาคมผู้บริโภคสงขลา  กป.อพช.ใต้ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนสงขลา  เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ จึงได้มีการแถลงการณ์พร้อมยื่นจดหมายเพื่อให้ทางรัฐบาลได้พิจารณาทบทวนกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นไปตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดกระบวนการรับฟังอย่างมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจริง และจะติดตามสถานการณ์การแก้กฎหมายอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ
จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา : 
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้
          เลขที่ 2 ถนนหมู่บ้านไทยสมุทร ต.หาดใหญ่
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
5 กรกฎาคม 2560

เรื่อง    ขอให้ทบทวนและเริ่มกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่
เรียน   ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น
เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ได้ติดตามและร่วมคัดค้านกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่ากระบวนการรับฟังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ทั้งนี้ยังมีประเด็นอื่นอีก เช่น หน่วยงานไม่มีการสรุปเนื้อหาของร่างกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจโดยง่าย ไม่บอกวัตถุประสงค์ในการยกร่างให้ชัด
รวมถึงร่างกฎหมายที่คณะกรรมการยกร่างจัดทำขึ้น ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสาธารณสุข แนวโน้มเปิดโอกาสให้มีการร่วมจ่ายณ หน่วยบริการ หรือในแต่ครั้งในการใช้บริการ ขาดความครอบคลุมถึงบุคคลที่พิสูจน์สถานะ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ มองบุคคลเพียงหมายเลข13 หลักขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่มีความสมดุลย์ในคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
ซึ่งหากเป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการเบิกจ่ายงบกองทุนที่ติดขัดก็สามารถดำเนินการได้เลยตาม คำสั่ง คสช.ที่ 37/59 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องรอการแก้ กม.หลักประกันสุขภาพ จึงไม่จำเป็นต้องจัดกระบวนการแบบรวบรัดดังเช่นที่กระทำอยู่นี้
ที่สำคัญไม่มีคำตอบ ว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎหมายไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน แต่เจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง และหากจะให้การดำเนินการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพเป็นกระบวนการที่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รับฟังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง เครือข่ายฯ จึงขอเสนอให้การแก้ไขกฎหมายยึดหลักการดังต่อไปนี้
1.      การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการ แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ควรมีการแก้ไขมาตรา ๙ มาตรา 10 เพื่อรับรองสิทธิประชาชนด้านบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคนได้มาตรฐานและมีคุณภาพยอมรับว่าสิทธิด้านสุขภาพ เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนเป็นมนุษย์ควรได้รับเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนใด ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพและให้นำเงินสมทบส่วนสุขภาพของผู้ประกันตนไปเพิ่มในสัดส่วนของบำนาญชราภาพเพื่อที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตมากขึ้น รวมถึงครอบคลุมบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจด้วย
2.      ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการเพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการเนื่องจากการแก้ไขมีการเพิ่มเติมสัดส่วนกรรมการจากสถานพยาบาลที่มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการร่วมจ่าย และสอดคล้องกับนโยบาย ขึ้นทะเบียนคนจน ๑๔ ล้านคน ซึ่งการเก็บเงินณ จุดบริการ ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการ หลายมาตรฐาน ความขัดแย้ง แต่รัฐบาลควรมีแนวทางในการเก็บเงินก่อนป่วยในรูปแบบภาษี หรือสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบุหรี่และแอลกอฮอล์ น้ำตาล หรือภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคนคนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง 
3.      ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based)เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สปสช. สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบัน สปสช. จัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ ๔.๙ ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ50,000 ล้านบาท เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะนำเงินปี ละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา
4.      การแก้กฎหมายควรสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมต่อการกระจายบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ควรมีการแยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่มีความกังวลในการทำงาน แต่ไม่สามารถมีหลักประกันให้ลูกจ้างพนักงานได้ ต้องยอมรับจะทำให้เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล
5.      การจัดสมดุลย์โครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติการแก้ไขกระทำโดยเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งสองคณะ ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ และตัดสัดส่วนกรรมการหน่วยงานรัฐที่มีความเกี่ยวข้องน้อย ส่วนคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ควรมีสัดส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50 (5) เพื่อให้การปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปมีประสิทธิภาพ และเพิ่มสมดุลย์ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียกร้องให้ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยุติกระบวนการที่เหลือทั้งหมด และเริ่มกระบวนการทำความเข้าใจเนื้อหาในการแก้ไข รับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวาง และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างสมดุลย์
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้
6 กรกฎาคม 2560

ประกอบด้วย
เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้
กป.อพช.ใต้
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ภาคใต้
สมาคมผู้บริโภคสงขลา
เครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย
เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน
เครือข่ายคนพิการ
เครือข่ายชุมชนแออัด
เครือข่ายผู้สูงอายุ
เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
เครือข่ายสตรี
เครือข่ายเกษตร
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนสงขลา


ฎีกาพิพากษายืนจำคุก 4 ปี 'วริศรียา' เจ้าของบ้านประกอบระเบิดหลังพรรคภูมิใจไทย ปี 53


ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก วริศรียา หรือ อ้อ จำเลยฐานเป็นเจ้าของบ้านที่ใช้ประกอบระเบิด ในเหตุระเบิดหลังพรรคภูมิใจไทย ปี 53 เป็นเวลา 6 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปี ศาลชี้พยานเบิกความสอดคล้องกัน 

5 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 713 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลฏีกาอ่านคำพิพากษาคดีที่ วริศรียา บุญสม หรือ อ้อ ยื่นฏีกาคดีที่ตกเป็นจำเลยร่วมกับ เอนก สิงขุนทด และพวกรวม 6 คน ที่ร่วมกันก่อเหตุวางระเบิดโดยรถเข็นผลไม้หลังพรรคภูมิใจไทย เมื่อปี 2553 โดยวันนี้ ศาลฏีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก วริศรียา 4 ปี เนื่องจากจำเลยแย้งว่า คดีนี้ที่จำเลยคนอื่นซัดทอดมาเป็นเพียงคำบอกเล่าไม่น่าเชื่อถือ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าคำบอกเล่า เป็นการกล่าวถึงมูลเหตุน่าเชื่อจะพิสูจน์ได้ จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
ขณะที่จำเลยที่เหลือไม่ได้ยื่นฏีกาถูกลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สำหรับรายละเอียด ตามฟ้องอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างต้นเดือน มิ.ย.ถึงวันที่ 22 มิ.ย. 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตหรือทำวัตถุระเบิด และร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่ทำขึ้น โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันทำให้เกิดการระเบิดขึ้น โดย อเนก สิงขุนทด จำเลยที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ อ.2930/2553 ซึ่งเป็นผู้เข็นรถเข็นผลไม้ที่ซุกซ่อนระเบิดไว้ เข็นรถผ่านไปทางด้านหลังของอาคารที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ตั้งอยู่ใกล้ซอยพหลโยธิน 43 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เมื่อระเบิดขึ้นทำให้ อเนกได้รับบาดเจ็บ และเป็นเหตุให้ผนังด้านหลังอาคารพรรคภูมิใจไทยแตกเสียหาย ขณะเดียวกัน แรงระเบิดยังทำให้ อเนกตาบอดทั้งสองข้าง นอกจากนี้ เพิงโรงเรือนร้านค้าขายอาหารตามสั่งของ แถม ตรุพิมาย ถูกแรงระเบิดเสียหายพังทั้งหลัง ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท รถยนต์ทะเบียน ธต 7963 กทม.ของว่าที่ ร.ต.ภูมิรัตน์ นาคอุดม ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 40,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร และแขวงและเขตลาดพร้าว กทม. จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2556 ว่า จำเลยทั้งห้าเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช) ไม่พอใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้น โดยมีเดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 เป็นผู้สั่งการให้อเนกเข็นรถผลไม้ไปที่หน้าพรรคภูมิใจไทยก่อนที่จะมีการระเบิดขึ้น จึงมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับอเนก การกระทำของเดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 มีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.218 และ 222 ที่เป็นบทหนักสุด ฐานทำให้เกิดระเบิดจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินผู้อื่น และสถานที่ประชุม ให้จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 5 ปี และร่วมกันมีระเบิดให้จำคุกจำเลยที่ 1-3 อีกคนละ 5 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 10 ปี และให้ปรับจำเลยที่ 1-3 คนละ 100 บาท ฐานพาอาวุธไปในเมืองฯ
ส่วนสุริยา จำเลยที่ 5 รับว่าเป็นผู้ประกอบระเบิดอย่างเดียว ไม่มีส่วนรู้เห็นในการวางระเบิด ให้จำคุก 5 ปี ฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิดฯ
ขณะที่จำเลยที่ 1-3 และ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงให้จำคุก เดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 คนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 66.66 บาท ส่วน สุริยา จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน
สำหรับ วริศรียา จำเลยที่ 4 พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัย ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยที่ 4 ไว้ระหว่างอุทธรณ์
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2558 ว่าจากพยานหลักฐานที่อัยการโจทก์นำสืบฟังได้ว่า เดชพล, กำพล, กอบชัย, วริศรียา จำเลยที่ 1-4 เป็นตัวการร่วมกัน สั่งการโดยแบ่งหน้าที่กันทำ และมีวัตถุระเบิด ที่สุริยา จำเลยที่ 5 ประกอบขึ้น เพียงแต่วันเกิดเหตุ เดชพล, กำพล, กอบชัย จำเลยที่ 1-3 และอเนก เป็นผู้เข็นรถผลไม้ที่ซุกซ่อนถังแก๊สระเบิดใกล้บริเวณอาคารที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ส่วน วริศรียา จำเลยที่ 4 แม้จะไม่ได้ร่วมในเหตุการณ์ระเบิด แต่ก็คอยใช้โทรศัพท์มือถือสอบถามติดตามสถานการณ์โดยตลอด จึงย่อมมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1-3 ด้วย อุทธรณ์อัยการโจทก์ ฟังขึ้นบางส่วน  จึงพิพากษาแก้เป็นว่า เดชพล, กำพล, กอบชัย, วริศรียา จำเลยที่ 1-4 กระทำผิดหลายกรรม ให้จำคุกฐานร่วมกันกระทำให้ระเบิดจนเป็นอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินอื่นๆ คนละ 3 ปี, ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 6 ปี และให้ปรับคนละ 100 บาท ฐานพาอาวุธไปในที่สาธารณะ ส่วน สุริยา จำเลยที่ 5 ให้จำคุก 4 ปีฐานประกอบวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต
 คำให้การในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1-5 เป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงจำคุก เดชพล, กำพล, กอบชัย, วริศรียา จำเลยที่ 1-4 ไว้คนละ 4 ปี และปรับคนละ 66.66 บาท ส่วนสุริยา จำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี 8 เดือน ทั้งนี้สำหรับสุริยา จำเลยที่ 5 ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา เชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจึงได้ออกหมายจับ และสั่งปรับนายประกัน 500,000 บาท
ต่อมาในชั้นฎีกา วริศรียา จำเลยที่ 4 ยื่นฎีกาเพียงคนเดียว ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่ วริศรียา จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าที่ศาลอุทธณ์ลงโทษนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่าซัดทอดที่ไม่สามารถรับฟังได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การรับฟังพยานบอกเล่าที่ซัดทอดที่จำเลยอ้างว่าตามกฎหมายห้ามไม่ให้รับฟังนั้นแต่ก็ไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาด โดยศาลสามารถที่จะรับฟังประกอบกับสภาพแวดล้อมข้อเท็จจริง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1, 2, 5 ให้การหลังถูกจับกุมเพียง 2 วันซึ่งยากต่อการปรุงสรรแต่งเรื่องราว และคำให้การที่กล่าวเป็นการบอกเล่าถึงข้อมูลเหตุการณ์การกระทำผิดซึ่งศาลสามารถที่จะรับฟังและนำไปพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ไม่ได้เป็นการเชื่อคำซัดทอดพียงอย่างเดียว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลย ที่ 1, 3, 5 และอเนกคนเข็นรถผลไม้ที่บรรทุกระเบิดให้การสอดคล้องต้องกันได้ความว่ามีการประกอบวัตุระบิดกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 จะมีบ้านอีกหลัง แต่พบว่าบ้านหลังดังกล่าวมีพื้นที่ไม่ไกลกัน จึงไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่มีส่วนรู้เห้นว่ามีการประกอบวัตถุที่บ้านของจำเลย
ส่วนที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าตนไม่ใช่สมาชิก นปช. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่มูลนิธิพรรคเพื่อไทย และในคอมพิวเตอร์ของจำเลยก็ไม่มีสูตรการทำระเบิด เห็นว่าข้อเท็จจริงที่อ้างดังกล่าวเป็นเพียงข้อรู้เห็นของจำเลยเพียงคนเดียว และข้อมูลในการกระทำผิดจำเลยยิ่งต้องมีการระวังโดยการลบหรือต้องทำลาย และเมื่อพิจารณาถึงการกระทำที่สอดคล้องต้องกัน เห็นว่าฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
      
ภายหลัง พลเทพ ปวนยา ทนายความจำเลยกล่าวว่า วันนี้ศาลฎีกาพิพากษายื่นตามศาลอุทธรร์คงจำคุก 4 ปี วริศรียา ก่อนหน้านี้วริศรียาจำคุกมาแล้ว 8 เดือน ก็จะต้องรับโทษที่เหลือต่อ สำหรับคดีนี้จำเลย เดชพล จำเลยที่ 1  กำพล จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นฎีกา และได้รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3  กอบชัย และ สุริยา จำเลยที่ 5 หลบหนีไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ซึ่งศาลก็ได้ออกหมายจับไปแล้ว