วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พบตัวทนายประเวศ และผู้ต้องหาอีก 5 ราย หลังทหารให้ตำรวจรับตัวไปฝากขังข้อหา 112


ศาลสั่งฝากขังทนายประเวศ หลังถูกควบคุมตัวเมื่อ 4 วันก่อน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาโพสต์หมิ่นกษัตริย์ ทั้งนี้มีผู้ต้องหาอีก 5 รายโดนข้อกล่าวหาเดียวกัน แต่ทนายประเวศ กับผู้ต้องหาอีก 1 ราย โดนข้อหายุยงปลุกปั่นด้วย
3 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อนุญาตฝากขังทนายความประเวศ ประภานุกูล, ดนัย (สงวนนามสกุล) และผู้ต้องหาอีก 4 ราย ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยประเวศ และดนัยมีข้อหายุยงปลุกปั่นด้วย
เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ควบคุมตัวทนายความประเวศ ประภานุกูล, ดนัย (สงวนนามสกุล) และผู้ต้องหาอีก 4 ราย รวมเป็น 6 ราย มาขออนุญาตศาลอาญาฝากขังผู้ต้องหา ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ โดยบันทึกจับกุมระบุว่า 10.00 น. วันที่ 3 พ.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหาร มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เป็นผู้ประสานให้มารับตัวผู้ต้องหา
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน ปอท. เป็นผู้มายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย โดยขอฝากขังประเวศในข้อหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)
พฤติการณ์ตามคำร้องขอฝากขังระบุว่า ผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ประเวศ ประภานุกูล โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่นจำนวน 3 ข้อความ และโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 10 ข้อความ แต่ประเวศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ด้านดนัย ถูกฝากขังในข้อหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้บรรยายพฤติการณ์ในคำร้องฝากขัง ระบุแต่เพียงว่าตรวจสอบแล้วว่าดนัยเป็นบุคคลเดียวกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ศาลอาญาพิจารณาออกหมายจับ ลงวันที่ 28 เม.ย. 2560 ดนัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ส่วนผู้ต้องอีก 4 ราย ถูกฝากขังในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร โดย 3 ใน 4 รายให้การรับสารภาพ ส่วนอีกรายปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 3 – 14 พ.ค. 2560 ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 รายเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนอาจถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ มทบ.11 ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2560 โดยก่อนหน้านี้ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวทั้ง 6 คน ญาติและทนายความไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้ตลอดระยะเวลา 5 วันที่ผ่านมา ทำให้ไม่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัว การสอบสวนอาจเกิดขึ้นภายในค่ายทหาร ซึ่งพนักงานสอบสวนอาจจะไม่สามารถสอบสวนและผู้ต้องหาอาจจะไม่สามารถให้การได้โดยอิสระ ทนายความไม่สามารถเข้าร่วมระหว่างการสอบสวนได้ รวมถึงศาลอาญาได้อนุญาตฝากขังดนัยโดยไม่ทราบพฤติการณ์การกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา เนื่องจากคำร้องขอฝากขังไม่ได้บรรยายพฤติการณ์ไว้

แกนนำนปช. ร้อง ผบ.ตร. ตั้งกก.วินิฉัย ตร.สภ.พัทยา ปมออกหมายจับชุมนุม ปี 52


แกนนำนปช. ร้อง ผบ.ตร. ตั้งกก.วินิฉัย ตร.สภ.พัทยา ปมออกหมายจับฐานชุมนุม พัทยา ปี 52 ยันหลังเกิดเหตุมีการตั้ง กก. จาก สตช. พิจารณาไปแล้วและไม่มีการแจ้งดำเนินคดี ด้านรองโฆษก สตช.เผยเตรียมส่งรับเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ขณะที่ ณัฐวุฒิ แฉ ถูกขวางจัดระดมทุนการศึกษาเด็ก เหน็บย้อนมอง 'สุเทพ' ปิดเกาะจัดงานระดมทุนได้
4 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรานยงานว่า วันนี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. พร้อมด้วย เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผ่าน พ.ต.อ.ภมร รัตนสมัย นายตำรวจเวรอำนายการ ประจำ สตช. เพื่อขอความเป็นธรรมโดยให้ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน รวมทั้งเป็นการใช้สิทธิที่อยากให้ สตช. ตรวจสอบกระบวนการออกหมายจับของ สภ.พัทยา ฐานมีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมือง ที่ โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เมื่อปี 2552 ทั้งๆ ที่หลังเกิดเหตุมีการตั้งคณะกรรมการจาก สตช. พิจารณาไปแล้ว และไม่มีการแจ้งดำเนินคดี
จตุพร ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไปขออนุมัติหมายจับจากศาล ทั้งๆ ที่โดยหลักการควรออกหมายเรียกก่อน ในที่สุดศาลไม่อนุมัติหมายจับ ต่อมาวันที่ 4 เม.ย. 60 ก็ไปยื่นขอหมายจับตนอีกครั้ง คราวนี้ศาลเรียกไต่สวนฝ่ายตำรวจในวันที่ 5 เม.ย. 60 และมีคำสั่งไม่อนุมัติหมายจับในวันเดียวกัน
 
จตุพร โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงเฟซบุ๊กแฟนเพจ Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์ โพสต์ข้อความว่า จากกรณีที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ได้รับแจ้งความจาก แกนนำ กปปส.จังหวัดชลบุรี และเป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลจังหวัดชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับณัฐวุฒิ และต่อมาพนักงานสอบสวนได้ขยายผลอีก 5 คนได้แก่ ตน เหวง วีระกานต์ อดิศร และสุพร อัตถาวงศ์ ว่าร่วมกันกระทำการใด ๆ ให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จตุพร ระบุว่า แกนนำ กปปส.ชลบุรีดังกล่าว มิได้เป็นผู้เสียหาย และมิได้เกี่ยวข้องพฤติการณ์แห่งคดี กลับนำข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เชื่อว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และน่าจะทำให้พวกผมได้รับความเสียหาย มาแจ้งความกล่าวโทษ ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา มีหมายเรียกตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถึงพวกผมนั้น
ตามพฤติการณ์แห่งคดีอาญา ตามที่ได้อ้างถึงนั้น ตามทางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งเคยดำเนินการสอบสวนคดีชุมนุมในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อ 11 เมษายน 2552 เสร็จแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ไม่เพียงแต่ที่พัทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องใครบ้าง ซึ่งฟ้องไปทั้งหมด 18 คน รวมทั้งคดีดังกล่าวได้มีการพิพากษามาแล้ว 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้น และ ศาลอุทธรณ์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างฎีกา ประเด็นสำคัญคือว่า พวกผมทุกคนไม่ได้ปรากฎเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้มาก่อน ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนและการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว และการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวของอัยการมิได้ปรากฎพฤติการณ์และการกระทำของพวกผม ว่าเข้าข่ายความผิดอาญาฐานใดมาก่อน กับไม่เคยปรากฎว่าผู้ที่มาร้องนั้น ได้มีความเกี่ยวข้องกับคดีไม่ว่าฐานะใดมาก่อน
จตุพร โพสต์ด้วยว่า การที่บุคคลดังกล่าวมากล่าวโทษ พวกตนว่าทำผิดระหว่างการชุมนุมในเขตอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เท่านั้น หากปล่อยให้การดำเนินคดีนี้มีต่อไป ไร้การตรวจสอบ ความชอบด้วยกฎหมาย และ ความชอบของผู้กล่าวโทษ จึงอาจเป็นปัญหาทางกฏหมายหลายประการ
"พวกผม จึงมาร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันนี้ ให้ตรวจสอบความชอบของผู้กล่าวหา เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และหากพบว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย ขอให้ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว รวมถึงขอให้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยเขตอำนาจการสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และ 19 ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีต่อไป" จตุพร โพสต์
สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานด้วยว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักตำรวจแห่งชาติ ระบุจะรับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ กว่า 1 กองร้อยจำนวน 150 นาย กระจายกำลังติดตามสถานการณ์ และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยโดยรอบพื้นที่

ณัฐวุฒิ แฉ ถูกขวางจัดระดมทุนการศึกษาเด็ก เหน็บย้อนมอง 'สุเทพ' ปิดเกาะจัดงานระดมทุนได้

นอกจากนี้ วานนี้ 3 พ.ค.60 Peace News รายงานว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาฯนปช. เปิดเผยถึงการจัดงานระดมทุนเพื่อช่วยการศึกษาเด็กขาดแคลน หลังจากได้ข้อสรุปว่าจะใช้สถานที่ห้องประชุมชั้น 6 อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เป็นที่จัดงานระดมทุนโครงการด้วยรักและแบ่งปัน มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจนทั่วประเทศในวันที่ 28 พฤษภาคมนั้น ปรากฏว่ามีทั้งฝ่ายปกครองและตำรวจไปพบผู้บริหารของทางห้างสรรพสินค้า แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ซึ่งตนมองว่าเป็นการสร้างแรงกดดันให้การจัดงานเกิดข้อติดขัด ทั้งๆ ที่ยืนยันชัดเจนมาตลอดว่า ทั้งเนื้อหา รูปแบบ และวัตถุประสงค์ไม่มีเรื่องการเมือง
ณัฐวุฒิ ยังฝากถึงเจ้าหน้าที่ให้ย้อนมองภาพกลุ่ม สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่จัดงานสมุยเฟสติวัล เมื่อวันที่ 23-24 มกราคม 2559 เพื่อระดมทุนสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการจัดงานที่แทบจะปิดเกาะสมุยแสดงคอนเสิร์ต ชกมวย ปั่นจักรยาน และอื่นๆ แต่ก็จัดได้ไม่มีใครไปขัดขวาง แถมมีบุคลากรภาครัฐทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานอื่นเข้าร่วม ขณะที่กิจกรรมที่ตนจะจัดเราทำแบบเจียมเนื้อเจียมตัว ใช้ห้องประชุมจัดงานไม่เกิน 3 ชั่วโมง ทุกอย่างเป็นไปโดยเปิดเผย เนื่องจากดำเนินโครงการมาครบ 1 ปีแล้วจำเป็นต้องมีทุนเพิ่มเติม ถ้ามีอะไรเป็นข้อสงสัยก็สอบถามกับตนได้โดยตรง ตนพร้อมตลอดเวลาที่จะชี้แจงรายละเอียดให้ทราบ
"ผมนั่งอ่านจดหมายที่เด็กเขียนมาทุกฉบับ รับรู้สภาพชีวิตและความยากลำบาก ซึ่งทุกคนอยากได้รับโอกาสเพื่อเดินไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะสกัดขัดขวาง ตั้งใจว่าจะจัดงานปีละครั้งและพัฒนาโครงการต่อเนื่องให้สามารถดูแลนักเรียนได้มากขึ้น ล่าสุดขยายทุนเพิ่มเป็นรายเทอมให้นักเรียนที่ได้รับทุนไปแล้วแต่มีผลการเรียนเทอมล่าสุดไม่ต่ำกว่า 3.00 โดยระดับมัธยม 10,000 บาท และระดับอุดมศึกษา 15,000 บาท ซึ่งถ้าผลการเรียนทุกเทอมยังอยู่ในเกณฑ์ก็จะดูแลต่อเนื่องจนจบชั้นปริญญาตรี วันนี้เราได้ห้องที่กว้างพอสำหรับจัดงานแล้ว หวังว่าจะได้หัวใจของผู้ใหญ่ที่กว้างพอให้เด็กยากจนมีที่ยืนด้วย" ณัฐวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้โครงการด้วยรักและแบ่งปัน ณัฐวุฒิ ได้ดำเนินการมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจนทั่วประเทศ ผ่านรายการ “เข้าใจตรงกันนะ” ทางสถานีโทรทัศน์ พีซ ทีวี ไปแล้วจำนวน 655 ทุน แต่ยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนมาก ที่ยังขาดแคลนทุนการศึกษาจึงเป็นที่มาของการจัดโครงการด้วยรักและแบ่งปันดังกล่าว

สภานิสิตจุฬาฯ โหวต 'เนติวิทย์' นั่งประธาน เผยสิ่งแรกที่ต้องทำคือปฏิรูปการรับน้อง


สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ดำรงตำแหน่งประธานสภา ปีการศึกษา 2560 เจ้าตัวลั่น สิ่งแรกทำคือเริ่มปฏิรูปการรับน้อง ย้ำมุ่งเน้นนโยบายเรื่องการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ของนิสิตจุฬาฯ

4 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 11.15 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'Nawakhun Sanasilapin' โพสต์ข้อความรายงานข่าวว่า เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 ด้วยคะแนนเสียง 27 เสียง จากองค์ประชุมทั้งหมด 36 คน
สำหรับ เนติวิทย์ เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกสภานิสิตฯ และอดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและยังเป็นหนึ่งในผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ต่อต้านบังคับเกณฑ์ทหาร เรียกร้องสิทธิการประกันตัว 'ไผ่ ดาวดิน' ผู้ต้องหาคดี ม.112 เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เนติวิทย์ กล่าวหลังรับตำแหน่ง ว่าจะมุ่งเน้นนโยบายเรื่องการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ของนิสิตจุฬาฯ
ขณะที่ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เนติวิทย์ กล่าว ด้วยว่า สิ่งแรกที่หลังได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการหลังวันที่ 1 มิ.ย.จะเริ่มปฏิรูปการรับน้อง ซึ่งต้องลดการใช้ความรุนแรง การรับน้องต้องเคารพสิทธิของน้องด้วย รุ่นพี่ต้องไม่กดขี่รุ่นน้อง

'กสทช.-ISP' เผยปิดกว่า 6 พันเว็บ เนื้อหาไม่เหมาะ ยันทุกรายร่วมมือ เว้นเฟซบุ๊กกำลังเจรจา


กสทช.-สมาคมอินเทอร์เน็ต แถลงปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมตามที่ศาลตัดสินว่าผิดกฎหมาย ไปแล้ว 6,300 กว่าเว็บ ใช้เวลากว่า 3 ปี เหลืออีก 600 กว่าเว็บ ที่เข้ารหัสและมีแม่ข่ายอยู่ต่างประเทศ พบเว็บเกี่ยวกับความมั่นคง การพนัน เว็บโป๊ มากสุด ยันทุกรายให้ความร่วมมือ ยกเว้นเฟซบุ๊กอยู่ระหว่างเจรจา
4 พ.ค. 2560 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ทาง กสทช. ได้ร่วมกับ สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (ISP) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมมือในการทำงานดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งวันนี้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยได้เดินทางมายื่นหนังสื่อพร้อมชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้มีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตามที่ศาลตัดสินว่าผิดกฎหมาย ปิดไปแล้ว 6,300 กว่าเว็บไซด์ใช้เวลากว่า 3 ปี เหลืออีก 600 กว่าเว็บไซต์ ที่มีการเข้ารหัส และมีแม่ข่ายอยู่ต่างประเทศ จึงได้ส่งหนังสือประสานไปยังผู้ให้บริการขอความร่วมมือให้ทำการปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และผิดต่อกฎหมายของไทย ซึ่งเว็บไซต์ที่กระทำผิดมากที่สุดคือสื่อลามกอนาจาร และการพนัน
เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า วันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ได้มีการประสานความร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการตามกฎหมายภายหลังศาลตัดสิน ทั้งนี้คาดว่าการดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์จะเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดได้ภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดจะไม่กระทบต่อประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน
ขณะที่ Nation TV  รายงานด้วยว่า ปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมแล้วกว่า 6,300 เว็บไซต์ จาก 6,900 เว็บไซต์ พบเว็บเกี่ยวกับความมั่นคง การพนัน เว็บโป๊ มากสุด ยืนยันทุกรายให้ความร่วมมือ ยกเว้นเฟซบุ๊กอยู่ระหว่างเจรจา โดย มรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคม ISP กล่าวว่า สมาชิกสมาคมไอเอสพีได้นำเว็บไซต์ไม่เหมาะสมลงจากอินเทอร์เน็ตแล้ว 6,300 เว็บไซต์ หลังมีคำสั่งศาล คงเหลืออีก 600 เว็บไซต์ที่เข้ารหัสไว้ สมาคมฯจึงทำหนังสือไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์เหล่านั้นเพื่อให้ปิดกั้นเว็บไซต์ จากนั้นผู้ให้บริการจึงทำหนังสือชี้แจงการดำเนินงานมายื่นต่อกสทช.เพื่อให้ทราบว่าดำเนินการอะไรไปบ้าง
 
มรกต กล่าวอีกว่า ตามปกติสมาคมไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองเนื้อหา ต้องทำตามคำสั่งศาล ส่วนเว็บที่ปิดรองลงมาคือเว็บฟิชชิ่ง ยืนยันไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ประชาชนในเฟซบุ๊ก ยูทูป สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในภาพใหญ่ทั้งหมดเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ถูกต้อง ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเฟซบุ๊ก การมอนิเตอร์เนื้อหาจะมีจากทั้ง 2 ส่วนคือจากสำนักงาน กสทช. เองและผู้ประกอบการ ISP
 
ตัวแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวด้วยว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.คอม ภายในเดือนนี้ และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมายได้ทั้งหมด หลังจากนี้ กสทช.และฝ่ายความมั่นคงจะติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยจะมีมาตรการกับเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมาย ขอให้ประชาชนสบายใจได้ รัฐบาลไม่มีแนวคิดทปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ใดๆทั้งสิ้น ขออย่าวิตกกังวล
 

เสธ.ทร.เตรียมลงนามสัญญาซื้อเรือดำน้ำจีน 7 พ.ค.นี้ สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ สอบเอกสารลับ


ทร.ระบุ  เสธ.ทร.เยือนจีน เป็นตัวแทน ผบ.ทร. เตรียมลงนามสัญญาซื้อเรือดำน้ำ 7 พ.ค.นี้ ขณะที่ สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ สอบเอกสารลับ

4 พ.ค. 2560 สำนักงานเลขานุการ กองทัพเรือ (สลก.ทร.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจกจ่ายให้สื่อมวลชน ถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 1 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน  ระบุว่า กองทัพเรือได้รับแจ้งจากบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co.,Ltd.  (CSOC) สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ได้ประสานงานกับรัฐบาลจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน ในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมในการลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงมีความประสงค์ขอเชิญผู้แทนรัฐบาลไทยให้เกียรติไปเยือนจีน และลงนามในข้อตกลงฯ 
ดังนั้น การดำเนินการของกองทัพเรือ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน 
โดยเสนาธิการทหารเรือและคณะได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 – 7 พ.ค. 2560 และเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถประกอบพิธีลงนามในข้อตกลง  ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กับบริษัท CSOC ในฐานะผู้แทนรัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ ภายในวันที่ 7 พ.ค. 2560 ซึ่งจะถือได้ว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพันธกรณีต่อกันโดยสมบูรณ์ต่อไป 

สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ ตรวจสอบเอกสารลับ

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ว่า วันนี้ (4 พ.ค.)  สตง.มาตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ อาทิ การใช้งบประมาณการจัดซื้อดังกล่าว โดยจะตรวจสอบย้อนหลังไปถึงวันที่นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา 
“เนื่องจากเป็นเอกสารลับ ไม่สามารถนำออกไปได้ คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์  ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ ที่สังคมสงสัย โดยจะนำข้อร้องเรียนของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา มารวบรวม เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเอกสารที่กองทัพเรือส่งให้ ครม.” พิศิษฐ์ กล่าว
พิศิษฐ์ กล่าวว่า หากมีข้อสังเกตใดๆ หรือพบนัยที่สำคัญ ก็จะรีบแจ้งกองทัพเรือ เพื่อนำไปพิจารณาทบทวน และแจ้งสื่อมวลชนให้ทราบ ส่วนจะระงับยับยั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ  และไม่มีข้อห้ามว่า ระหว่างนี้ กองทัพเรือจะเซ็นสัญญากับจีนไม่ได้    
พิศิษย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบเอกสารโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน เป็นผู้ตรวจราชการ เทียบเท่ารอง หรือ ผู้อำนวยการสำนัก จำนวน 5 คน และมีผู้ช่วยอีก 1-2 คน ซึ่งกองทัพเรือให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดย สตง.จะตรวจสอบต่อเนื่อง เพราะเป็นงบผูกพันหลายปี และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบคือ การทำสัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเยอะ เช่น โครงการมันสำปะหลังและจำนำข้าว
“เป็นหน้าที่ของ สตง.อยู่แล้ว  ในการดูแลการใช้งบประมาณของแผ่นดิน  ยืนยันว่า การทำงานเป็นอิสระ ไม่เกรงกลัวอิทธิพลการเมือง ที่ผ่านมาก็เคยตรวจสอบหลายโครงการของกองทัพเรือ  เช่น การจัดหาเรือดำน้ำ มือ 2 จากเยอรมนี ที่ได้ให้ข้อสังเกตต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดโครงการก็ไม่ได้รับการอนุมัติ” พิศิษฐ์ กล่าว
รายงานระบุด้วยว่า พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ได้เดินทางไปยังสาธารณประชาชนจีนแล้ว เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำ S26T 

เจาะดีลเรือดำน้ำ “ถูกและดีมีจริงหรือ” กองทัพมาก่อน ปากท้องมาทีหลัง


รายการล่าความจริง และ ปมลึก ปมลับ เจาะดีลเรือดำน้ำ ระบุสเปคด้อยกว่าเจ้าอื่น มีนัยทางการเมืองหลังปิดดีลหมื่นล้านในช่วงข้าวยากหมากแพง
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมารายการ ล่าความจริง ของช่อง NOW 26 รายงานข่าวในหัวข้อ “เจาะเอกสารเรือดำน้ำจีน เมื่อประชาชนถูกมัดมือชก” ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติเรือดำน้ำ S26T ที่มีมติ ครม. ให้จัดซื้อจากรัฐบาลจีน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท จากแผนการจัดซื้อของกองทัพเรือทั้งหมด 3 ลำ ด้วยวงเงิน 36,000 ล้านบาท
“ประเด็น "ซื้อ 2 แถม 1" ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการล็อคสเปคให้จีนหรือไม่ เพราะในเอกสารเชิญชวนที่กองทัพเรือส่งไปยังบริษัทต่างๆ ที่เรียกว่า Request for Offer ได้เขียนความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องการจัดหา 2 ลำในวงเงิน 36,000 ล้านบาท และบริษัทอื่นก็เสนอตามนั้น รวมทั้งจีนด้วย แต่ภายหลังจีนมาเสนอสิทธิพิเศษ "ซื้อ 2 แถม 1" หลังจากนั้นกองทัพเรือก็เปลี่ยนเอกสารโครงการใหม่ ระบุว่าเป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท”
ทีมล่าความจริง รายงานว่า ขนาดของตัวเรือที่ใหญ่กว่าเรือดำน้ำอื่นที่ถูกเสนอขาย ทำให้ระดับความลึกที่เรือดำน้ำจะซ่อนพรางได้ปลอดภัย ต้องมีความลึกที่ 60 เมตร แต่ความลึกเฉลี่ยของทะเลไทยอยู่ที่ 25-40 เมตร
เรือดำน้ำ S26T สามารถทำความเร็วสูงสุด คือ 18 นอต หรือ...กม./ชม. ได้เพียง 10 นาที ระยะปฏิบัติการ 8,000ไมล์ ในขณะที่เรือดำน้ำชาติอื่นทำความเร็วสูงสุดได้ 20 นอต นาน 1 ชั่วโมง และมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์
S26T มีระบบอำนวยการรบในการคำนวณเป้าหมายด้อยกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นหลายเท่า ทั้งทางการจีนก็เสนอจำนวนตอร์ปิโดให้น้อยมาก เป็นลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ ในขณะที่เรือดำน้ำบางแบบให้ลูกจริงถึง 16 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 2 ลำ
ในแง่ของอายุการใช้งาน เอกสารที่เสนอจากบริษัทของจีนระบุว่า เรือดำน้ำจีนมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 25 ปี ซึ่งสั้นกว่าเรือดำน้ำแบบอื่น ที่บางแบบมีอายุการใช้งานนานถึง 40 ปีขึ้นไป อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ก็ต่ำมาก การเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งก็ใช้งบประมาณสูงมาก เรื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุงก็ไม่รวมอยู่ในข้อเสนอ ทั้งๆ ที่เรือดำน้ำแบบอื่นเสนอราคารวมอะไหล่แล้ว บางประเทศยินดีสร้างท่าจอดเรือให้ บางประเทศกำหนดเพดานวงเงินถึง 1,100 ล้านบาท แม้ฝ่ายที่สนับสนุนเรือดำน้ำจีนจะออกมาให้ข้อมูลการจัดอันดับเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2016 ว่าเรือดำน้ำ S26T ติดอันดับท็อปเท็นด้วย แต่ข้อมูลนี้ก็ไม่มีแหล่งที่มายืนยันชัดเจน และการจัดอันดับอีกหลายรายการก็ไม่มีเรือดำน้ำจีนติดกลุ่มเรือคุณภาพดี
หลังจากนั้น วันที่ 3 พ.ค. 2560 รายการ ข่าวลึก ปมลับ จากผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นความตั้งใจของรัฐบาล คสช. ที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรืออยู่แล้ว เพราะหลังรัฐบาลชุดนี้ไปโอกาสที่จะอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นแทบจะไม่มี ที่ผ่านมากองทัพพยายามเสนอหลายครั้งแต่รัฐบาลพลเรือนไม่กล้าอนุมัติเพราะแรงต้านจากสังคมสูงทั้งเรื่องความเหมาะสมของภูมิประเทศหรือแนวโน้มการเกิดสงครามที่แทบจะไม่มี
ดังนั้น ยุคนี้จึงต้องทำให้สำเร็จ ทุกคนรับรู้กันดีว่าต้องเกิดขึ้น แต่วิธีการของคสช.และรัฐบาลทำให้เรื่องนี้ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า ตั้งแต่การอนุมัติเงียบๆ แบบลักหลับ สังคมเลยตั้งข้อสังเกตถึงเจตนาในการกระทำแบบนี้ในภาวะเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ ทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่า เป็นการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้เป็นการทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองกับจีน ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้งานนี้รัฐบาล คสช. เสียเครดิตไปมาก เพราะเลือกใช้เงินในลักษณะนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ
“ทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการสะท้อนว่า แท้จริงแล้วเรื่องของตัวเองมาก่อนเรื่องของประชาชน ประชาชนกำลังจะตาย แต่กลับไปให้ความสำคัญเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งเป็นเรื่องของกองทัพ” นพรัฐ พรวนสุข ผู้ดำเนินรายการกล่าว
ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และวรศักดิ์ มหัทธโนบล สองผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ดีลเรือดำน้ำยังมีคำถามในเชิงปฏิบัติการที่ยังไม่มีคำตอบจากสเปคเรือดำน้ำ และความสัมพันธ์ที่ดูจะเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้นนั้นมาจากความจำเป็นชั่วคราวเพราะรัฐบาลทหารไม่ได้รับการรับรองจากชาติตะวันตก รวมถึงเป็นหนึ่งชาติในสมรภูมิแย่งชิงอิทธิพลของมหาอำนาจ การคบหาจีนจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเนื่องจากจีนมักเมินเฉยต่อกติการะหว่างประเทศซึ่งอาจทำให้ไทยเสียเปรียบจีนในอนาคต (อ่านต่อ ที่นี่)

สมศักดิ์ เผย 'เฟซบุ๊ก' อีเมล์แจ้งมีหมายศาลสั่งบล็อก 1 โพสต์ของเขาในไทย


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เผยเฟซบุ๊กมีอีเมล์แจ้ง กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ส่งหมายศาลไปยังเฟซบุ๊ก ขอให้จำกัดการเข้าถึงกระทู้ของตนกระทู้หนึ่ง ระบุผิด พ.ร.บ.คอมฯ 
4 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ภาพ พร้อทข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เฟซบุ๊กมีอีเมล์แจ้งให้ตนทราบว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งหมายศาลไปยังเฟซบุ๊ก ขอให้จำกัดการเข้าถึงกระทู้ของตนกระทู้หนึ่ง
สำหรับจดหมายจากเฟซบุ๊ก ลงชื่อโดย Tim โดย สมศักดิ์ ได้แปลภาษาไทย สรุปความได้ว่า ทางเฟซบุ๊กติดต่อ สมศักดิ์ มา  เพราะว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ส่งหมายศาลซึ่งออกโดยผู้พิพากษาทัศนีย์ ลีลาภร และผู้พิพากษาสมยศ กอไพศาล ศาลอาญาแห่งประเทศไทย ระบุว่าโพสต์บนเฟซบุ๊คต่อไปนี้ของคุณ ละเมิดมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (2007)

จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า เมื่อบรรดารัฐบาลเชื่อว่า บางอย่างบนอินเตอร์เน็ตละเมิดกฎหมายของประเทศของเขา พวกเขาอาจจะติดต่อกับบริษัทเช่น เฟซบุ๊ก และขอให้เราจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้น เราได้พิจารณาทบทวนคำขอของรัฐบาลเหล่านั้น ตามระเบียบของเราและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง. ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ https://www.facebook.com/help/1601435423440616

ในจดหมายยังแนะนำด้วยว่า หากมีปัญหาอะไรก็ตามเกี่ยวกับคำขอนี้ กรุณาติดต่อกระทรวงดิจิทัล หรือผู้พิพากษา พร้อมให้ ที่อยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ URL ของโพสต์นั้น ขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้วในประเทศไทย หรือเป็นการบล็อกเฉพาะบางภูมิประเทศ หรือ geoblock
สำหรับ สมศักดิ์ เป็นอดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. เขาใช้เฟซบุ๊กโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย ช่วงหลังเริ่มมีการนำแมวมาร่วมแจมด้วย
ส่วนยอดผู้ติดตามเฟซบุ๊กของ สมศักดิ์ ซึ่งเป็นลักษณะบัญชีนั้นไม่สามารถระบุได้เนื่องจากถูกปิดการแสดงผล เพราะก่อนหน้านี้ หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน มีรายงานข่าวว่าตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป “ปรับทัศนคติ” บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยกับครอบครัวโดยระบุชัดว่าเป็นเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาก่อน สมศักดิ์จะปิดการแสดงผลจำนวนผู้ติดตาม มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 283,400 ราย
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามในประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่องการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (Andrew MacGregor Marshall บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งเจตนา และไม่เจตนา

ม.มหิดล นศ.ชูป้าย 'Thailand -4.0' เสียดสี ประยุทธ์ ปาฐกถา 'มหาวิทยาลัย Thailand 4.0'


ม.มหิดล นักศึกษาชูป้าย "Welcome Thai Junta Leader #Thailand -4.0" เสียดสี พล.อ.ประยุทธ์ ปาฐกถา “บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0” ด้านนายกฯ ย้ำวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป 
5 พ.ค. 2560 เมื่อเวลา 09.00 น. ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0” โดยมี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะอาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมรับฟัง
ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า บริเวณทางเท้าภายนอกมหาวิทยาลัย  มีนักศึกษา ไม่ทราบชื่อ ออกมาทำกิจกรรมชูป้ายผ้าในลักษณะเสียดสีนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อความว่า "Welcome Thai Junta Leader #Thailand -4.0" ซึ่งแปลว่า "ยินดีต้อนรับผู้นำเผด็จการของไทย แฮชแท็ก ประเทศไทยติดลบสี่จุดศูนย์"  
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การชูป้ายผ้าดังกล่าว เพื่อแสดงถึงบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แม้ว่าจะเป็นภายในสถาบันการศึกษาก็ตาม
สำหรับป้ายผ้าเสียดสี Thailand 4.0 กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มาปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ” โดยมีป้ายผ้าแขวนบริเวณสะพานลอยถนนงามวงศ์วานหน้า มหาวิทยาลัย มีข้อความว่า "Thailand 4.สูญญญ.." และ "รัฐบาลคนดี ยุคภาษีอาน" 
ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
การปาฐกถา เรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ไทยแลนด์ 4.0 เกิดจากการที่โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากโลกในศตวรรษที่ 20 เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของโครงสร้าง และเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากทั้งในด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การใช้ชีวิตของคนในสังคมยุคใหม่ อีกทั้งเป็นโลกที่มีความหลากหลายในเรื่องของมิติ ทั้งในด้านธรรมชาติ การเมืองเศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้เกิดทั้งโอกาสและภัยคุกคามขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คือ "เมื่อโลกเปลี่ยนไทยจึงต้องปรับ"
สำหรับโมเดล ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนยุค 1.0 ซึ่งเป็นยุคของการทำการเกษตรและงานหัตถกรรม ไปยุค 2.0 เป็นยุคที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเบา และ 2.0 ไปยุค 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เน้นการส่งเสริมการส่งออกและสนับสนุนการลงทุน การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หลอมรวมกันเพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวคิดสำคัญคือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงไทยสู่ประชาคมโลก เปลี่ยนกระบวนการพัฒนาประเทศจากการปักชำ ไปสู่การสร้างรากแก้วโดยปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกเป็นหลักไปสู่การพึ่งพาตนเองโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเริ่มจากรากฐานที่สำคัญคือการสร้างคนสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเป็นสังคมอุดมปัญญา และเมื่อคนไทยมีคุณภาพก็จะนำไปสู่การสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยกระดับเกษตรกรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรกรสมัยใหม่  ยกระดับ SMEs แบบดั้งเดิมสู่  SMEs ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สร้างธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมสู่ธุรกิจบริการมูลค่าสูง เปลี่ยนคนที่มีความคิดสู่การเป็น start up ที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจ ทั้งนี้ ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ประทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ข้างหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยมหิดลว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในด้านวิชาการ และในด้านอื่น ๆ พร้อมกล่าวว่าในอนาคตอยากเห็นมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญและมีบทบาทดังต่อไปนี้ คือ 1. นำการพัฒนาและเปิดโอกาสการเรียนรู้ สร้างความเท่าเทียมในการเข้ารับการศึกษา เพิ่มทุนการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ รวมทั้งปรับเกณฑ์อายุของนักศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันกับยุคสมัยของศตวรรษที่ 21 และยุคสมัยที่มีความเจริญทางด้านดิจิทัล 3. การสร้างความสามัคคี และการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การโอนย้ายหน่วยกิตหรือการโอนเกรดระหว่างมหาวิทยาลัย การทำวิจัย สร้างนวัตกรรม สร้างเครือข่ายในการทำงาน 4. เน้นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมให้เกิดความเป็นเลิศในสาขาวิชาต่าง ๆ  5. การบริหารงานอย่างโปร่งใส ลดความซ้ำซ้อน 6. การวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ 7. สร้างสถาบันการศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และ 8.พัฒนาคุณภาพส่งเสริมความรู้ด้านภาษาที่ 2 และภาษาที่ 3 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมเป็นต้นทุนมนุษย์ในทุกๆ ด้าน
ตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำถึงกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ประเทศไทย 4.0 ว่า เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่จะเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล พร้อมขอให้สถาบันอุดมศึกษาได้ร่วมแรงรวมใจกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และช่วยกันสร้างหลักคิดที่ถูกต้องให้กับคนไทยต่อไป