วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560


วิษณุ เป็นประธานการประชุมร่วมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เตรียมการดำเนินการออกกฎหมายให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รธน. ฉบับใหม่ ขณะที่ กต. เชิญคณะทูตต่างประเทศเข้าร่วมพระราชพิธี ประกาศใช้ รธน. หวั่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ 

5 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า  วันนี้ (5 เม.ย.60) เวลา 13.30 น ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเตรียมการหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการออกกฎหมายให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ครั้งที่ 1/2560 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือตัวแทนปลัดกระทรวง และตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ซึ่ง เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ประธานได้ชี้แจงต่อที่ประชุมให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวทางของการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำขึ้น เพื่อให้หน่วยงานของภาครัฐนำไปถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป โดยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงขึ้นนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2559 เรื่องนโยบายการปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติท้ายทะเบียนว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และให้หน่วยงานของภาครัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้การตรากฎหมายภายหลังรัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้บังคับแล้ว ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้ ซึ่งได้สรุปเป็นมาตราในการตรากฎหมายไว้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการทั่วไป รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ณ หน่วยงานของภาครัฐโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการตรากฎหมายและต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการทบทวนตามความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558
​2. มาตรการก่อนการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้ง เปิดเผยการรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยผ่านระบบเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือการประชุมชี้แจงของหน่วยงาน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ต่อไป 3. มาตรการหลังการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมโดยหน่วยงานของภาครัฐ ต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558
​4. มาตรการควบคุมเนื้อหาของกฎหมาย ต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญโดยไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งกับแนวนโยบายแห่งร่างยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งมีระบบคณะกรรมการให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการ และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ด้วย
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้ให้โอกาสผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการตอบข้อซักถามเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเองให้สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นไปด้วยความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อไปภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 

กต.แจงเชิญคณะทูตเข้าร่วมพระราชพิธีประกาศใช้ รธน.

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะทูตต่างประเทศ ที่ประจำการในประเทศไทยเข้าร่วมพระราชพิธีด้วย ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจะนำข้อมูลความคืบหน้า พัฒนาการของประเทศไทย แจ้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยสถานกงสุลใหญ่ไทย ทั่วโลก และทีมไทยแลนด์ของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ตอบคำถามชี้แจงกับต่างประเทศและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของประเทศไทยไปในทิศทางเดียวกัน 
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พระราชพิธีที่จัดขึ้นจะมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากขึ้น เพราะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำไปสู่การกระบวนการอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกกฏหมายลูก และการเตรียมการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ตามความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ตั้งใจเดินหน้าตามแผนโรดแมปที่วางไว้  


โฆษกกองทัพเรือ ยันจำเป็นจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้าน ระบุรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ชี้สามารถพัฒนาให้ใช้งานในน้ำตื้นได้ แนะมอง 2 เหตุต้องมี เพราะมิติความมั่นคง-มิติพิทักษ์ผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล 'รมช.พาณิชย์' หนุนซื้อ ชี้พัฒนาทางเศรษฐกิจ

5 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ (ทร.) กล่าวยืนยันความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน จำนวน 3 ลำ รวมมูลค่า 36,000 ล้านบาท ว่า เพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมานับแต่เรือดำน้ำชุดแรกของกองทัพเรือปลดประจำการ ทำให้มีรูโหว่การดูแลพื้นที่ใต้น้ำ ที่ผ่านมาก็เคยเสนอให้หลายๆ รัฐบาลจัดซื้อ แต่เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด ทำให้ไม่คืบหน้า เพิ่งมาสามารถผลักดันได้มากที่สุดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
"เราจำเป็นต้องให้มีเรือดำน้ำในช่วงเวลานี้ เพราะรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ" พล.ร.อ.จุมพล กล่าว
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงขั้นตอนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่า ขณะนี้จบในกรอบงบประมาณประจำปีของกองทัพแล้ว และส่งให้กระทรวงกลาโหมพิจารณา ส่วนจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันใด เมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้ ยืนยัน กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ต้องการไปรุกรานใคร แต่เพื่อต้องการสำรวจทรัพยากรใต้น้ำ การป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับกองทัพอากาศที่มีเครื่องบินหลายรูปแบบ 
โฆษกกองทัพเรือ ย้ำถึงสองเหตุผล ที่ไทยจำเป็นจะต้องมีเรือดำน้ำว่า เพื่อการป้องกันและปราบปราบมิติด้านความมั่นคง และมิติของการพิทักษ์ผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท ส่วนข้อกังวลว่าเรือดำน้ำจะสามารถใช้งานในน้ำตื้นได้หรือไม่ ยืนยันว่าสามารถใช้การได้ ไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องเหตุผลที่ซื้อเรือดำน้ำจากจีนนั้น ได้ทำการศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน และส่งบุคลากรไปเรียนรู้แล้ว พบว่าประเทศจีนมีข้อเสนอที่ดีที่สุดในงบประมาณจำกัด
ทั้งนี้ โฆษกกองทัพเรือ ยังกล่าวอีกว่า ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อจากจีน ได้ตั้งคณะกรรมการ 17 คน ขึ้นมาศึกษาและเปรียบเทียบ 7 ประเทศ ซึ่งจีนมีข้อเสนอที่ดีที่สุด ในวงเงิน 3 หมื่น 6 พันล้านบาท และไทยจะได้เรือดำน้ำ 3 ลำพร้อมออฟชั่น ระบบขับเคลื่อนแบบ AIP ระบบอาวุธแบบยิงใต้น้ำ ผิวน้ำและยิงชายฝั่ง ที่สามารถหมุนเวียนการใช้งานได้ คือ 1 ลำ สำหรับใช้,1ลำ สำหรับสแตนบาย และ 1 ลำสำหรับการฝึกซ้อม  ส่วนข้อกังวลในเรื่องของความลึกของทะเลไทย ยืนยัน ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถพัฒนาให้ใช้งานในน้ำตื้นได้ และที่ผ่านมาในหลายประเทศก็ใช้งานโจมตีข้าศึกในน้ำตื้น ตลอดจนยินดีให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้

'รมช.พาณิชย์' หนุนซื้อ ชี้พัฒนาทางเศรษฐกิจ

วันเดียวกัน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการของกองทัพเรือ ในหัวข้อ"สมุทราภิบาลและเศรษฐกิจทางทะเลของไทยกับบทบาทองกองทัพเรือ "ระบุว่า กองทัพเรือจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะบุคลากรของกองทัพเรือที่จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่ไทยยังประสบปัญหาในหลายด้าน และเห็นว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำเพราะไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเลเป็นจำนวนมาก และอยากขอให้ผู้ที่คัดค้านหรือวิจารณ์รัฐบาลในการซื้อเรือดำน้ำอย่ามองเพียงมติเรื่องของความมั่นคงหรือวิจารณ์เพียงว่าไม่มีเงินแล้วซื้อทำไม แต่ขอให้มองการพัฒนาทางเศรษฐกิจการสำรวจขุมทรัพย์ในใต้ทะเลที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่จะช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้


พรรคประชาธิปัตย์ครบ 71 ปี 'อภิสิทธิ์' ลั่นพร้อมเลือกตั้งไม่ว่าช้าหรือเร็ว พร้อมทั้งนโยบายและตัวผู้สมัครแล้ว พรรคภูมิใจไทย ทำบุญครบรอบปีที่ 9 พร้อมลงสนามเลือกตั้ง ชู 4 นโยบายจับต้องได้ เห็นผลโดยเร็ว

6 เม.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา บัญญัติ บรรทัดฐานอดีตหัวหน้าพรรค มารุต บุญนาค อดีตประธานรัฐสภาพร้อมด้วยอดีต ส.ส. ของพรรค เข้าร่วมพิธีทางพุทธศาสนา ถวายเพล พร้อมจตุปัจจัยไทยทาน แด่คณะสงฆ์จากวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร จำนวน 9 รูป เนื่องในวันครบรอบ 71 ปีพรรคประชาธิปัตย์
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก้าวย่างเข้าปีที่ 71 ของพรรคประชาธิปัตย์ จะทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนและตอบโจทย์ของประเทศ จากประสบการณ์ของพรรคทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว มั่นใจว่าพรรคฯ เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่น โดยยึดมั่นความซื่อสัตย์และอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าสู่ประชาธิปไตย ไม่ล้มเหลวเหมือนในอดีต โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะต้องหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ดีเฉพาะภาคธุรกิจ จะต้องลงไปแก้ปัญหาในภาคเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงวางแผนแก้ปัญหาเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต  และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ลั่น พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งก้าวสู่ ปชต.
ต่อกรณีคำถามว่าภายหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พรรคจะดำเนินการอย่างไร อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ เพราะยังมีข้อจำกัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เชื่อว่า จะมีการผ่อนปรนตามลำดับ ซึ่งพรรคไม่มีปัญหาหากจะมีการเลือกตั้งไม่ว่าช้าหรือเร็ว เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านนโยบายและตัวผู้สมัคร และไม่กังวลเรื่องกติกาที่มีข้อยุติในเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งไปแล้ว และกฎหมายพรรคการเมืองตรงกับนโยบายพรรค ที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง
สำหรับข้อเสนอเลือกตั้งท้องถิ่น ที่อาจมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่นั้น  อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบกรอบเวลาแน่ชัด แต่สิ่งสำคัญคืออนาคตของท้องถิ่น ที่จะให้มีการควบรวม อบต. เป็นเทศบาล ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่นในการเข้าถึงปัญหาของประชาชน

'ภูมิใจไทย' ลั่น พร้อมลงสนามเลือกตั้ง

ขณะที่วันเดียวกัน ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย มีงานทำบุญครบรอบวันเกิด ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 พร้อมกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยแกนนำ และสมาชิกพรรคเข้าร่วม อาทิ ชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และอดีตประธานรัฐสภา สรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค ฯลฯ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองมาแสดงความยินดี อาทิ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย วราวุธ ศิลปอาชา ประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดสุพรรณบุรี สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นิกร จํานง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ฯลฯ 
สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย การเป็นพรรคการเมืองนั้นทุกวันคือการเตรียมการเข้าสู่การแต่งตั้ง การเป็นผู้แทนอยู่ไม่ได้หมายความว่า ต้องทำหน้าที่แค่ในสภา แต่ต้องรับทุกเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมพยายามแก้ไขปัญหา แบ่งเบาทุกข์ของประชาชน พรรคภูมิใจไทย มีความพร้อมตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่เวลานี้จะต้องทำกฎ ระเบียบที่มีการวางไว้
“พรรคการเมืองก็ต้องรอดูว่าจะมีการอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างไร เมื่อไหร่ รูปแบบใด แต่เราได้เห็นเจตนารมณ์ที่ดีของผู้บริหารประเทศ ที่พยายามคืนประชาธิปไตย คิดว่าคงไม่ทำให้กระบวนการเหล่านี้ช้าลงหรือมีปัญหา และทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือ เพื่อให้โรดแมปเป็นไปตามเป้าและไม่ล่าช้า เรามีเวลา 12 – 18 เดือนในการเตรียมตัว และไม่กังวลในเรื่องของการเตรียมตัวพรรค เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราไม่ใช่พรรคใหญ่ แต่มีฐานทุนที่ดี มีสมาชิกที่มีคุณภาพ คุ้นเคยกับพื้นที่ เราจึงพร้อมตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีเวลาให้เท่าไหร่ก็ตาม ถ้าพรรคภูมิใจไทยบอกว่าไม่พร้อม ก็อย่ามาเลือกพรรคภูมิใจไทยเลย” อนุทิน กล่าว
อนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายหลักๆ 4 นโยบาย ที่จะเสนอต่อประชาชนอยู่แล้ว ไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่จะเปลี่ยนในรายละเอียดให้เข้ากับสถานการณ์ เชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เราอยากนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแก่ประชาชน โดยจะนำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้ จับต้องได้โดยเร็ว และพรรคภูมิใจไทยมีความจำเป็นต้องส่งผู้สมัครเลือกตั้งในทุกเขต เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะทุกคะแนนเสียงมีความหมาย
“อย่างไรก็ตาม อย่าคาดว่าหลังการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะเร็วเหนือเสียง แต่ต้องค่อยๆ เมื่อออกจากห้องไอซียูก็จะต้องค่อยๆ พักฟื้น เสริมสร้างความแข็งแกร่ง ไม่ต้องเร่งมาก การสร้างประเทศที่ผ่านวิกฤตต่างๆ หลายปี ต้องเน้นรากฐานที่เข้มแข็ง เราต้องมีความอดทนและให้ความร่วมมือ” อนุทิน กล่าว


พล.ท.สรรเสริญ ขอสังคมเข้าใจถึงเจตนาของรัฐบาล กรณีบังคับใช้กฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะและแค็บของรถ รวมทั้งให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เพื่อลดอุบัติเหตุ ป้องกันการสญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยความจริงใจ แนะคนไทยช่วยคิดหาทางออก
6 เม.ย. 2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเรื่องการบังคับใช้กฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะและแค็บของรถ รวมทั้งให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. ว่า
"อยากให้สังคมเข้าใจถึงเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลว่า ทำไปเพื่อลดอุบัติเหตุ ป้องกันการสญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยความจริงใจ ไม่มีสิ่งใดซ่อนเร้น หรือต้องการทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกลำบาก แต่เมื่อได้รับฟังเสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่แล้ว จึงมีความเห็นให้ผ่อนผันชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนก่อน"  พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า เมื่อประชาชนเดือดร้อนและยังปรับตัวไม่ทัน รัฐบาลก็ยินดีฟังทุกความคิดเห็นด้วยความห่วงใย โดยความจริงแล้วข้อบังคับตามมาตรา 44 ที่ออกมานั้น มีกฎหมายปกติกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย เช่น ขับรถเร็ว เมาสุรา บรรทุกเกิน ฝ่าฝืนกฎจราจร ฯลฯ จึงอยากให้คนไทยมองถึงจุดนี้และช่วยกันคิดว่า จะลดความสูญเสียได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
"ในช่วงนี้จะยังไม่มีการจับปรับรถกระบะ ทั้งที่มีผู้โดยสารนั่งท้ายกระบะหรือในแค็บของรถ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงข้อกฎหมาย ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั้น เจ้าหน้าที่จะยังคงบังคับใช้กฎหมายด้วยการจับปรับผู้โดยสารเบาะคู่หน้าต่อไป ขณะที่ผู้โดยสารด้านหลังหากพบว่าไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เจ้าหน้าที่จะตักเตือนก่อน แต่สำหรับรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถตู้ และรถโดยสารประจำทาง จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หากฝ่าฝืนจะถูกจับปรับ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้กับผู้ขับขี่รถสาธารณะ"  พล.ท.สรรเสริญ กล่าว 


พล.อ.ประยุทธ์  ระบุนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่โฉมใหม่ พัฒนาด้วยนวัตกรรม นำประเทศมีรายได้สูง ชี้ต้องปรับแก้ไขกฎระเบียบกติกาให้เหมาะสมกับการลงทุน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อเดินหน้าอนาคตของประเทศ

6 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (5 เม.ย.60) เวลา 14.00 น. ณ อาคารผู้โดยสาร (หลังใหม่) การท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า EEC จะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประเทศไทยโฉมใหม่ พัฒนาด้วยนวัตกรรม เชื่อมต่อความเจริญจากภูมิภาคสู่ภูมิภาค สร้างอนาคตที่ดีให้แก่ประเทศ ส่วนเอกชนที่สนใจจะลงทุนในพื้นที่ ต่างแสดงความพอใจ และมีแนวโน้มตอบรับที่ดีกับนโยบายนี้ แต่รัฐบาลยังคงต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวงระหว่างรัฐกับเอกชน ปรับแก้ไขกฎระเบียบกติกา เพื่อให้เหมาะสมกับการลงทุน ทั้งยังต้องพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับการพัฒนาในยุคใหม่ ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมยึดแนวทางการสร้างผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นกับประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในบริเวณพื้นที่โดยรอบ EEC และ ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อเดินหน้าอนาคตของประเทศ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลต่อ ๆ ไปจะต้องดำเนินการสานต่อตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“รัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องใช้จ่ายงบประมาณในอนาคต ที่จะต้องหารายได้เพิ่มเติม เพราะหากอนาคตมีรายได้เพียงพอ จะมีความสามารถในการดูแลสวัสดิการให้ประชาชนทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาตัวเองของประชาชนให้ทันต่อเศรษฐกิจยุค 4.0 ประเทศไทยจึงต้องปรับกฎระเบียบกติกาให้เอื้อต่อการลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ทั้งนี้ เมื่อทราบปัญหาและปัจจัยต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือการหาแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการแสวงหาความร่วมมือ การลงนามในบันทึกข้อตกลงและการผลักดันโครงการสำคัญต่าง ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า EEC ถือเป็นก้าวแรกการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยใหม่ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น เพื่อเชื่อมโยงกับทุกพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลยังผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดที่จะเชื่อมโยงกับ EEC และเชื่อมต่อไปยัง CLMV และประชาคมโลก ซึ่งจากการได้พบผู้บริหารภาคเอกชน ทุกคนมีความพึงพอใจในโครงการของรัฐบาล ประเด็นสำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สร้างผลประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนโดยรวม ขอประชาชนในพื้นที่อย่าตกใจและขอความร่วมมือ  
โดยก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เวลา 09:15 น. ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำต่างชาติที่สนใจลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา
ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้ 
นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับคณะภาคเอกชนในวันนี้ พร้อมแสดงความขอบคุณในความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และขอบคุณในความร่วมมือที่มีให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด 
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แนะนำคณะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการหารือ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนารมย์อย่างมุ่งมั่น ที่จะทำให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการสร้างอนาคตของประเทศไทย  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งทางด้านกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับประเทศไทย ภูมิภาค CLMV รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลประชาชนโดยรอบให้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีรายได้ที่เพียงพอ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดหาบุคลากร พัฒนาด้านการศึกษา การผลิตคน เพื่อให้รองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในวันนี้จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีการหารือถึงแผน EEC  การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ  เขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิตัล  และการสร้างเมืองใหม่ ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้น
โอกาสนี้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อาทิ BMW แสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในไทยมาโดยตลอด โดยเห็นว่า EEC จะเป็นประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าแก่บริษัทฯ และยืนยันความพร้อมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด  LAZADA กล่าวว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 5 ปี ในด้าน E-commerce โดยหวังให้รัฐบาลพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อรองรับด้านดิจิทัลในอนาคต Toyota กล่าวว่าบริษัทฯ มีแผนการลงทุนในไทยอย่างเต็มที่ โดยมีพื้นที่การผลิตหลักอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ดี ขอให้รัฐบาลดูแลเรื่องถนนหนทางที่ขาดแสงสว่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
PPT GC กล่าวว่าพร้อมให้การสนับสนุน EEC อย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าการพัฒนาด้านการศึกษา เทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรม และการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ Google และ Microsoft ได้แสดงความคิดเห็นด้านนวัตกรรม และความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล