วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

ผอ.บีบีซีเวิลด์ ตอบกรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ การแชร์เป็นสิทธิในการเผยแพร่ข่าวสาร


ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลกเผย รัฐบาลทั่วโลกกำลังหาช่องทางควบคุมสื่อเพื่อจัดการข้อมูลก่อนส่งถึงประชาชน ส่วนสื่อต้องมุ่งมั่นที่จะรายงานข้อเท็จจริงอย่างยุติธรรมและซื่อสัตย์ ตั้งใจรักษาเสรีภาพเพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นกลางให้โลกได้รับรู้ พร้อมตอบกรณีไผ่ ดาวดิน การกดแชร์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรับรู้ข่าวสาร เป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี

29 มี.ค. 2560 ฟรานเชสกา อันส์เวิร์ธ ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลก และรองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บรรยายเรื่อง เสรีภาพสื่อในยามที่โลกอำนาจนิยมเบ่งบาน ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ชั้น 2 ห้อง 205 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยชี้ว่า ความสัมพันธ์ของบีบีซีกับนักการเมือง ไม่ต่างกับการชักเย่อ ที่แต่ละฝ่ายควรจะต้องดึง ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นกระบวนการตามหลักการประชาธิปไตย เพราะเป็นการทดสอบผู้ที่อยู่ในอำนาจ สื่อสามารถถูกตรวจสอบได้ หากสื่อมีอำนาจมากเกินไปจะส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อระบบการเมือง หากอ่อนแอเกินไปจะเสี่ยงต่อการถูกดึงไปทางใดทางหนึ่ง เสี่ยงต่อการสูญเสียเสรีภาพของสื่อ

ฟรานเชสกา เล่าจากประสบการณ์ในช่วงการรณรงค์ทำประชามติ กรณีสหราชอาณาจักรต้องการออกจากสหภาพยุโรป (EU) ว่า บีบีซีต้องสู้กับการปล่อยข่าวจากทั้งสองฝั่ง ที่พยายามอยากแก้ไขข่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตนเอง ทั้งนี้เอง บีบีซีได้รับการยอมรับจากนักการเมืองว่าเป็นอิสระ และเราต้องคงความอิสระนั้นไว้ การทำประชามติครั้งนั้นเตือนให้เรารู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างการตรวจสอบอย่างเหมาะสมและการแทรกแซงสื่อเป็นสิ่งที่เราต้องหวงแหน

ฟรานเชสกา เล่าต่อว่า ในการรักษาสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สื่อต้องมีความรับผิดชอบ รู้ถึงจุดกึ่งกลางระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสุดโต่งพร้อมผลกระทบที่จะตามมา ในกรณีประเทศไทยมีกฎหมายมาตรา 112 เพื่อปกป้องราชวงศ์ ตอนนั้นบีบีซีเกือบตกที่นั่งลำบากจากการนำเสนอบทความประวัติของในหลวงรัชกาลใหม่ลงสื่อออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาที่ออฟฟิศบีบีซีกรุงเทพ ทำให้เนื้อหาที่นำเสนอถูกบล็อค แต่ความเป็นจริงแล้วบทความดังกล่าวเขียนขึ้นและตีพิมพ์ที่สำนักงานใหญ่บีบีซีที่ลอนดอน ซึ่งพนักงานในประเทศไทยต่างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความนั้น

ทั้งนี้ภายในห้องบรรยาย ได้มีผู้ตั้งคำถามถึงกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดินที่ถูกดำเนินคดี 112 หลังแชร์พระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่บีบีซีนำเสนอ ฟรานเชสกา ตอบว่าบีบีซีเชื่อในหลักการสิทธิที่จะเผยแพร่ (The Right to Share) การกดแชร์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรับรู้ข่าวสาร เป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี บีบีซีไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดความไม่พอใจ และไม่ได้มาที่นี่เพื่อละเมิดกฎหมาย แต่เป็นการทำงานตามกรอบมาตรฐานของกองบรรณาธิการ

“ดิฉันไม่อยากจะพูดถึงประเด็นเก่าๆ ระหว่างเรา เราอยากมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย เราไม่อยากทำให้ประเทศไทยไม่พอใจ รวมถึงราชวงศ์ แต่บีบีซียืนยันในบทความดังกล่าวและเชื่อมั่นว่ามันตรงกับหลักการบรรณาธิการของบีบีซี และมันเลี่ยงไม่ได้ จะเป็นการดีด้วยซ้ำที่ในประเทศใดก็ตาม นักการเมืองและสื่อมวลชนจะเห็นไม่ตรงกันตลอด” ฟรานเชสกา กล่าว

ฟรานเชสกา เล่าต่อว่า ตอนนี้คำถามสำหรับสื่อและนักการเมืองคือ ใครเป็นผู้จำกัดเสรีภาพและเราควรถูกตัดสินอย่างไร ใครคือผู้กำกับดูแล และกฎกติกาในการกำกับดูแลคืออะไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณว่าอยู่ส่วนไหนของโลก วัฒนธรรมของประเทศนั้นเป็นอย่างไร มุมมองด้านประชาธิปไตยและบทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน บางทีอาจไม่เกิดขึ้นเลย และจำเป็นต้องใช้เวลา

ฟรานเชสกา ระบุด้วยว่า ค่อนข้างเป็นกังวลสำหรับการคุกคามสื่อจากรัฐบาลบางประเทศ ตามรายงานขององค์กรสื่อไร้พรมแดน นักข่าวหลายร้อยคนถูกจำคุกในประเทศตุรกี หลังล้มเหลวในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกรกฎาคม และนักข่าวอีกหลายร้อยคนถูกขังในประเทศจีน, 27 คนในประเทศอียิปต์, 24 คนในประเทศอิหร่าน รัฐบาลฮังการีจัดตั้งองค์กรสื่อจากฝ่ายการเมืองมีอำนาจในการเซ็นเซอร์การรายงานข่าว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กีดกันไม่ให้สื่อหลายสำนักเข้าฟังการแถลงข่าวของทำเนียบขาวและเลือกเฉพาะสื่อบางสำนักในการเข้าทำเนียบขาวเท่านั้น

“ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ รัฐบาลทั่วโลก กำลังหาทางควบคุมสื่อ หรือใช้อำนาจควบคุมข่าวสารที่จะส่งต่อถึงประชาชน ในบางครั้งยิ่งเราพูดถึงเสรีภาพสื่อมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งฟังดูว่างเปล่ามากเท่านั้น” ฟรานเชสกา กล่าว

เห็นมากันน้อย 'สุรพงษ์' เสนอนับองค์ประชุม สนช.โต้วุ่น ไม่ให้นับ อ้างคนนอกไม่มีสิทธิเสนอ


สนช. แถลงปิดคดีด้วยวาจาคดี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.การต่างประเทศ ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ก่อนนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน 30 มี.ค. นี้

29 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (29 มี.ค.60) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินกระบวนการถอดถอน สุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในคดีใช้อำนาจโดยมิชอบ ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยวันนี้เป็นการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา ยืนยันว่า หลักฐานทุกอย่างที่ ชี้มูล สุรพงษ์ มีความถูกต้อง ย้ำ สุรพงษ์ อย่าเอาสถานภาพ คุณสมบัติของ กรรมการ ป.ป.ป. บางคน มาอ้าง เพื่อให้เอกสารกลายเป็นเท็จ พร้อมชี้ว่า การออกหนังสือเดินทางต้องมีการตรวจสอบ โดย กระทรวงการต่างประเทศต้องต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ร้องขอ ตามขั้นตอน และ กระทรวงการต่างประเทศสามารถยับยังการออกหนังสือเดินทางได้  หากพบว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้กำลังรับโทษในคดีอาญา หรือถูกออกหมายจับแล้ว อีกทั้งกรณีที่ สุรพงษ์ ใช้อำนาจโดยอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจ รมว.กระทรวงการต่างประเทศทางนโยบาย ลงความเห็นให้ยกเลิกคำสั่งห้ามออกหนังสือเดินทางของรัฐบาลชุดก่อน เพื่อออกหนังสือเดินทางให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ จนในที่สุดอดีตนายกฯทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่กลับมาอีกเลย จึงแสดงให้เห็นได้ว่า  สุรพงษ์ ได้ใช้อำนาจ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น โดยมิชอบ เพื่อช่วยผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับหลายคดีและเป็นผู้ต้องหาที่ศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ และมีคำพิพากษาให้จำคุกถึงที่สุด ให้หลบหนีอยู่นอกประเทศโดยสะดวก ทำให้กระทรวงการต่างประเทศเสียหาย กระบวนการยุติธรรมหยุดชะงัก  
ขณะที่ สุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา ยืนยันว่า กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติขัดต่อประกาศ คปค. รวมทั้งองค์ประชุมและเอกสารของ  ป.ป.ช.  ขณะลงมติในสำนวนชี้มูลความผิด  ทำให้การประชุมเป็นโมฆะและมีปัญหาแน่นอน ไม่สามารถให้เป็นสำนวนถอดถอนตนได้ อีกทั้งคำร้องของ วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และส.ส. รวม 139 คน  ที่ไม่ปรากฎการลงรายมือชื่อ  ก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้เป็นเอกสารร้องให้ถอดถอนตนได้ ซึ่งเมื่อตนได้แจ้งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. ทราบ เพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้องก่อนใช้คำร้องดังกล่าวในการไต่สวน  ป.ป.ช. ก็กลับอ้างว่า  มีเลขที่ ส.ส. ซึ่งเพียงพอต่อการแสดงตนของผู้ร้อง และวุฒิสภาตรวจสอบแล้ว  การกระทำดังกล่าวของ ป.ป.ช. จึงแสดงชัดว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และมุ่งหวังให้ตนถูกถอดถอน  พร้อมระบุว่า การปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ถูกฟ้องร้องได้  และตนได้วางนโยบายในฐานะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจสั่งการให้ออกหนังสือเดินทางให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่อย่างใด และหากการออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นการทำผิดกฎหมายจริง  เหตุใดตนจึงถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเพียงคนเดียว  โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้ออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่มีความผิดใด ๆ  จึงขอให้ สมาชิก สนช. ให้ความเป็นธรรมด้วย
สุรพงษ์ ได้แถลงปิดคดี ซึ่ง สุรงพษ์แถลงปิดคดีไม่ถึง 10 นาที ก็ได้ร้องขอให้ตรวจสอบองค์ประชุม โดยอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 13 ที่ระบุว่า การประชุมต้องมีสมาชิกมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง แต่เท่าที่ดูเห็นสมาชิกสนช.เข้ามาร่วมประชุมฟังการแถลงปิดคดีแค่ประมาณ 50 คน ทั้งๆ ที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัดสินลงมติตนในวันพรุ่งนี้ จน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานต้องกดออดเพื่อนับองค์ประชุม ทำให้สมาชิกสนช.ต่างทยอยเข้ามาในห้องประชุม พร้อมทั้งได้ลุกขึ้นอภิปรายทักท้วงคัดค้านการทำหน้าที่ของประธาน ที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิเสนอนับองค์ประชุม อีกทั้งยังปล่อยให้พูดจากล่าวร้ายเสียดสี ทำให้รัฐสภาอันทรงเกียรติเสื่อมเสียเหมือนสภาในอดีต แถมผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งยังนำบุคคลภายนอก คือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เป็นบุคคลที่เคยแถลงข่าวข่มขู่ ใส่ร้าย ตีปลาหน้าไซ และจะแจ้งความเอาผิดประธาน รองประธานและสมาชิก สนช. อย่างไรก็ตามสมาชิกอภิปรายคัดค้านพฤติกรรมของ สุรพงษ์อย่างดุเดือดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 149 เสียง ไม่ให้ตรวจนับองค์ประชุม จากนั้นนายสุรชัยเชิญคู่กรณีกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยให้นายสุรพงษ์ แถลงปิดคดีต่อจนจบในเวลา 16.35 น ซึ่งประธานได้นัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 10.00 น. 

'ทักษิณ' ส่งทนายแจ้งความ 'เปลว สีเงิน-ทีนิวส์' หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอม


ทักษิณส่งทนายแจ้งความ หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปลว สีเงิน กรณีเขียนบทความเรื่องหุ้นชิน -ทีนิวส์-ปราชญ์ สามสี กรณีโกตี๋
30 มี.ค. 2560 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่า ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี กับ เปลว สีเงิน และ สำนักข่าว TNEWS ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
นายชุมสายกล่าวว่า กรณีของ เปลว สีเงิน นั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เขียนบทความในคอลัมน์ คนปลายซอย กล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร ว่า มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น ชินคอร์ป และกล่าวหาว่าข้าราชการทำตามคำสั่งของ นายทักษิณ ที่ไม่ประเมินและเรียกเก็บภาษี ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวได้ยุติไปแล้วว่าไม่สามารถทำได้ มิฉะนั้นก็คงไม่มีการปล่อยให้เรื่องผ่านมาหลายรัฐบาลเป็นแน่
ส่วนการดำเนินคดีกับสำนักข่าว TNEWS นั้น เป็นการกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการของโกตี๋ และนายจารุพงศ์ โดยให้ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงโฆษณาและเผยแพร่ข้อความ รวมถึงเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ปราชญ์ สามสี” ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นในการเขียนข้อความอันเป็นการใส่ร้ายดังกล่าวด้วย ส่วนข้อหาที่ขอให้ดำเนินคดี คือความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (5) และมาตรา 15
นายชุมสาย กล่าวเตือนไปยังผู้ที่คิดจะเขียนหรือส่งต่อข้อความในลักษณะใส่ร้ายต่อนายทักษิณว่าขอให้ยุติเพราะหากกระทำการอันเข้าข่ายเป็นความผิดก็จะมีการดำเนินคดีทุกคน ทั้งผู้สร้างหรือผู้ส่งต่อข้อความ
อนึ่ง เมื่อปลายปีที่่ผ่านมา มีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมาตรา 14(1) เรื่องการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีการแก้ไขใจความสำคัญโดยเพิ่มองค์ประกอบว่า เป็นการนำเข้า "โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง" และเพิ่มข้อความ "อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ของ สนช. ย้ำหลายครั้งในต่างกรรมต่างวาระว่า มาตรา 14(1) ไม่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของ สนช.แล้ว และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้ (120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

โฆษก กมธ.วิสามัญฯ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยัน ทหาร-กมธ.ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน


29 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เคยศึกษาและเสนอเรื่องนี้ ไปยังรัฐบาล สมัยที่  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว แต่ร่างที่ ครม. เสนอกลับมา ไม่ได้กำหนดให้ตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมาธิการจึงพิจารณาถึงความจำเป็น ที่ต้องกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่าง พ.ร.บ. เพื่อกำกับดูแลระบบการแบ่งปันผลประโยชน์  จึงได้กำหนดเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ. นอกเหนือจากเดิมที่มีเพียงระบบพลังงาน  พร้อมยืนยันว่า ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้ว  ทหาร และ กรรมาธิการทั้ง 21 คน ที่ร่วมพิจารณา ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนการที่ไม่กำหนดโครงสร้างของบรรษัทน้ำมันที่ชัดเจน ไว้ในมาตรา 10 / 1 มองว่า หากเขียนแบบผูกขาดจนเกินไป  จะยากต่อการปฏิบัติของรัฐบาล  ซึ่ง ไม่มั่นใจว่า ในอนาคต จะมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงโครงสร้าง หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะบริหารจัดการ
พล.อ.อกนิษฐ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  ระบุว่าในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเปิดช่องให้ กรมพลังงานทหาร เข้ามาดูแลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ว่า  ส่วนตัวมองว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกรณีนี้ ผู้ที่มีอำนาจสูงสุด คือ รัฐมนตรีว่าการการทรวงพลังงาน แต่กรมพลังงานทหารขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคิดค้นพลังงานใช้ในการปกป้องประเทศ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจน้ำมัน

ยันพรุ่งนี้ ไม่เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างดังกล่าว ของที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เมื่อวานนี้ ว่า ที่ประชุมวิปสนช. ได้พูดคุยเรื่องความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และได้รับการอธิบายจากพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ถึงการเพิ่มมาตรา 10/1ว่าด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากกรรมาธิการชุดดังกล่าว ที่มีข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมาธิการที่รับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ เสนอว่า ควรจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการดำเนินการเรื่องปิโตรเลียม เนื่องจากระบบการปิโตรเลียมของไทยเป็นการให้สัมปทาน แต่การเพิ่มเรื่องนี้อยู่นอกหลักการของกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉบับที่รัฐบาลส่งมา เป็นระบบสัมปทาน ดังนั้น จึงต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกรรมาธิการก็ได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนได้ตรวจสอบพบว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าว บัญญัติเพียงว่า หากจะดำเนินการในลักษณะของบรรษัทเช่นนี้ จะต้องศึกษาความพร้อมอย่างไร ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายแบบเปิดทางไว้เท่านั้น ยังไม่ได้มีการจัดตั้ง เนื่องจากมีแนวคิดว่า นอกจากระบบสัมปทานแล้ว ก็ควรมีรัฐบาลแห่งชาติเข้าไปดำเนินการเอง โดยจัดในรูปแบบของบรรษัทของรัฐบาล  แต่ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ทำให้มองได้ 2 ทาง  คือฝ่ายที่ผลักดันมองว่าร่างกฎหมายเพิ่มเติมมาไม่สมบูรณ์และไม่ชัดเจน ส่วนอีกฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายเดิม ก็มองว่า เพิ่มประเด็นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร  อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กังวลที่มีกลุ่มเตรียมชุมนุมต่อต้านการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่อยากให้เข้าใจว่า กฎหมายสามารถปรับปรุงแก้ไขได้เสมอในอนาคต เพราะกฎหมายไม่ตายตัว วันนี้ทำให้ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลนี้ ส่วนจะดำเนินการพิจารณากฎหมายตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบว่าจะต้องทำเมื่อใด แต่ยืนยันว่า ขณะนี้เปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว  รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายที่มีต่อประชาชนด้วย
พรเพชร ยืนยันว่า ที่ประชุม สนช.จะไม่เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวันพรุ่งนี้ (30มี.ค.) เนื่องจากต้องพิจารณาหลักการอื่นๆของกฎหมายด้วยโดยเฉพาะเรื่องการค้นหาพลังงานของประเทศ ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะต้องหาข้อยุติโดยการอภิปรายของสมาชิกสนช. ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือร่างของรัฐบาล แต่ที่ระบุว่าต้องเดินหน้าต่อไป คือ เดินหน้าในส่วนที่ไม่ได้ขัดแย้ง ส่วนข้อเสนอใหม่จะต้องพิจารณาว่าดำเนินการอย่างไร หากดำเนินการได้ก็เดินหน้าต่อ แต่หากยังดำเนินการไม่ได้ก็ต้องหาทางออกต่อไป ขณะนี้ยังคาดเดาอนาคตไม่ได้ว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา สนช.เคยแก้ไขกฎหมายในชั้นกรรมาธิการเช่นนี้มาแล้ว 3-4ครั้ง และการพิจารณาของ สนช.มีหลายรูปแบบ ทั้งการโหวต การประนีประนอม หรือบางครั้งกรรมาธิการจะนำร่างกลับไปพิจารณา จึงต้องดูสถานการณ์และเปิดให้อภิปรายก่อน เพื่อให้ทราบความคิดเห็นของสมาชิกสนช.และขอย้ำว่าจะพยายามให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

อภิสิทธิ์ แนะตั้งองค์กรกำกับด้านดูแลด้านพลังงานต้องชัดเจน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวช่วยเปิดทางเลือกให้กับประเทศด้วยการจำแนกระบบแบ่งปันผลผลิต ระบบการจ้างผลิต ซึ่งนอกเหนือจากเดิมที่มีระบบสัมปทานอย่างเดียว แต่การปรับเปลี่ยนย่อมต้องปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านพลังงานทั้งหมด จึงต้องมีการตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาดูแล ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มเนื้อหาสาระลงในร่างกฎหมายให้ชัดเจนว่าควรมีองค์กรเข้ามาบริหารจัดการในประเด็นต่างๆ เมื่อใด พร้อมกำหนดกรอบเวลา และอำนาจขององกรค์ที่จะเข้ามาทำงานแต่ละด้าน อาทิ การผูกขาดท่อก๊าซ การสำรวจผลผลิต ผู้เข้ามาทำหน้าที่ควรมีทักษะที่เหมาะสมในแต่ละงาน ทั้งนี้ การดำเนินการควรอยู่บนทางสายกลาง หากจัดตั้งเป็นบรรษัทที่ใหญ่เกินไปอาจเกิดปัญหาการแทรกแซงผูกขาด
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรจริงจังในการใช้โอกาสนี้ปฏิรูปพลังงาน ส่วนการพิจารณาของร่างกฎหมาย สนช. ในวันที่ 30 มี.ค.นี้เห็นว่า กรรมาธิการสามารถรับความเห็นของสมาชิกไปปรับแก้ไขได้ตามกระบวนการของสภา ซึ่งอาจพิจารณาดูว่าจะปรับแก้ร่างเดิม หรือเสนอรัฐบาลเพิ่มร่างกฎหมายฉบับใหม่

ศาลสั่งจำคุกอดีตผู้ว่าฯททท. 66 ปี คดีรับสินบนบางกอกฟิล์มฯ ลูกสาวโดน 44 ปี


เจ้าหน้าที่คุมตัว 'จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีต ผู้ว่าฯททท. และบุตรสาว ไปทัณฑสถานหญิงกลาง เหตุยังไม่มีคำสั่งให้ประกันตัว หลังศาลพิพากษาจำคุก 66 ปี และ 44 ปี คดีรับสินบนบางกอกฟิล์มฯ
29 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษา ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และ จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว ตกเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล กรณีเรียกรับเงินจาก เจอรัลด์-นางแพทริเซีย กรีน สามีภรรยานักธุรกิจภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เพื่อให้ได้รับสิทธิจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล เมื่อปี 2545-2550 มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท  
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องจริง โดยจำเลยที่ 2 ได้รับการโอนเงินจากนักธุรกิจชาวอเมริกันเข้าบัญชีของ จิตติโสภา เมื่อปี 2546-2550 เพื่อให้ได้รับสิทธิจัดงานเทศกาลดังกล่าวฯ และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เซ็นอนุมัติ จึงพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ตามความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี แต่ตามกฎหมายหากทำความผิดหลายกระทง ให้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมเป็น 44 ปี และสั่งริบเงินจำนวนกว่า 62 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน 
ด้านทนายความยื่นหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างขออุทธรณ์คดี ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยจะหลบหนี จึงเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งประกันต่อไป ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมทั้ง 2 คน ไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อควบคุมตัวชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งให้ประกันหรือไม่ประกันตัวจากศาล

สุรพงษ์ ไม่ท้อ หลัง สนช.มีมติถอดถอน ตัดสิทธิการเมือง 5 ปี


สุรพงษ์ อัด สนช. ไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง แต่เป็นการใช้อารมณ์ที่ไม่พอใจกรณีที่ตนขอนับองค์ประชุม เผยรอประธานสนช.วินิจฉัย หลังยื่นเช็คความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เหตุอดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องลักษณะนี้มาแล้ว
30 มี.ค. 2560 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน สุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากกรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยมิชอบ โดยเป็นการลงมติถอดถอนหรือไม่ ด้วยวิธีการลงคะแนนลับด้วยการขานชื่อ  
ผลการลงคะแนนปรากฏว่า ที่ประชุม สนช. มีมติ  ถอดถอน  231 เสียง ไม่ถอดถอน 4 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง ซึ่งเสียงถอดถอนได้คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน  5 หรือตั้งแต่ 150 คะแนน  ของจำนวนสมาชิก สนช. ที่มีอยู่  250 คน จากมตินี้ส่งผลให้ สุรพงษ์ ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง  และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันลงมติ ทั้งนี้  สนช. จะแจ้ง ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา  และสุรพงษ์  ผู้ถูกกล่าวหา  รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบต่อไป  
สุรพงษ์ เปิดเผยว่า ต้องยอมรับที่วันนี้(30 มี.ค.) ต้องถูกถอดถอนแล้ว ยืนยันว่าไม่ท้อ เชื่อว่าในครั้งนี้สังคมไทยจะได้รับทราบอะไรมากขึ้น เพราะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สนช. ไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง แต่เป็นการใช้อารมณ์ที่ไม่พอใจกรณีที่ตนสอบถามกฎระเบียบตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 13 และข้อบังคับที่ 20 เรื่องให้ประธานวินิจฉัย หลังจากแสดงความสงสัยว่าระหว่างพิจารณาถอดถอนในชั้นแถลงปิดคดี องค์ประชุมครบหรือไม่ ถูกต้องตามข้อบังคับหรือไม่
สุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องรอการวินิจฉัยของประธานสนช. หลังจากที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยได้ยื่นเรื่องสอบถามไปว่า การถอดถอนครั้งนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในอดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องลักษณะนี้มาแล้วและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าผูกพันทุกองค์กร ผมนจะปรึกษากับทีมกฎหมายว่าประเด็นใดที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมได้ จะดำเนินการภายใต้กฎหมายต่อไป 
“อย่างน้อยวันนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนว่าการตัดสินลงคะแนนในวันนี้ของสนช.เป็นไปอย่างที่สื่อคาดการณ์เอาไว้วานนี้ (29 มี.ค.) อยู่แล้วว่าจะพิจารณาตามความโกรธ ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริง ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นความจริงหรือไม่ จะมีธงหรือไม่ รู้กันอยู่แก่ใจ และ หากเป็นเช่นนี้ เท่ากับผมถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังจากนี้คงแก่เกินกว่าที่จะกลับมา คงให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งตลอดชีวิตการเมือง ไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง ไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูง  ไม่อิจฉาริษยาใครทั้งสิ้น แต่เป็นตัวของตัวเองมาตลอด ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองพัฒนา เจริญรุ่งเรือง คนไทยมีความสุขก้าวหน้าทุกคน” สุรพงษ์ กล่าว