วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

คสช.ส่งทหาร-ตร. สกัด อดีต ส.ส.เพื่อไทย เปิดตัวหนังสือจำนำข้าว






ทหาร-ตร. บุกสวนรถไฟห้ามอดีต ส.ส.เพื่อไทย เปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" อ้างคำสั่ง คสช. ท้ายสุดต้องแจกหนังสือ "เส้นทางสามัญชนคนชื่อ สมคิด เชื้อคง" ให้กับสื่อมวลชนแทน
ไทยรัฐออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า ที่สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ) อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุรสาล ผาสุข อดีต ส.ส.สิงห์บุรี นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.ลพบุรี และนายนิยม ช่างพินิจ อดีต ส.ส.พิษณุโลก เตรียมแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" แต่เจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) และตำรวจ สน.บางซื่อ ได้เข้าควบคุมเพื่อดูแลพื้นที่ขอให้ยุติกิจกรรมดังกล่าว พร้อมปิดประกาศหน้าร้านอาหารที่จะทำการแถลงข่าว



โดยเป็นประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ระบุข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และประกาศของ สน.บางซื่อ และสวนวชิรเบญจทัศ ที่ระบุว่าสวนสาธารณะเป็นสถานที่สำหรับให้ประชาชนทั่วไปออกกำลังกาย ไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
โดย พ.ต.อ.เศกสิทธิ์ สุภาอ้วน ผกก.สน.บางซื่อ ได้ชี้แจงต่ออดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า ไม่สามารถอนุญาตให้จัดการแถลงข่าวได้ เพราะถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง และเนื้อหาของหนังสืออาจเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ด้านนายสมคิด กล่าวว่าตนพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าเนื้อหาในหนังสือไม่มีเจตนาสร้างขัดแย้งในสังคม แต่ต้องการอธิบายประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากโครงการรับจำนำข้าว และชี้แจงข้อเท็จจริงในโครงการที่ถูกบิดเบือน รวมทั้งการสัมภาษณ์ชาวนาในหลายพื้นที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น ไม่มีเนื้อหากระทบต่อรัฐบาล และคสช. อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่ขอร้องมา ตนก็พร้อมให้ความร่วมมือ


ขณะที่นายยุทธพงษ์ กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา 434 หน้าจำหน่ายราคา 250 บาท เดิมทีตั้งใจจะนำหนังสือมาแจกจ่ายต่อสื่อมวลชน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ แต่ไม่รู้ว่าเนื้อหาของหนังสือมีส่วนใดขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.เพราะเกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของชาวนาโดยตรง วันนี้ชาวนาเดือนร้อน พวกตนจึงคิดว่าจะนำเงินจากการขายหนังสือไปช่วยชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ เขาไม่มีเงินไปจ่าย ธกส. อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะมีการนำหนังสือดังกล่าวออกจำหน่ายต่อไป เพราะได้จัดพิมพ์มาแล้ว โดยจะมีการนำออกจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการเจรจานายสมคิดได้แจกหนังสือชื่อ "เส้นทางสามัญชนคนชื่อ สมคิด เชื้อคง" ให้กับสื่อมวลชนแทนจากนั้นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งหมดได้แยกย้ายและเดินทางกลับ

ศาลยกฟ้อง 'สุเทพ' คดีหมิ่นฯ แกนนำ นปช. กล่าวหาเผาบ้านเผาเมือง


Tue, 2017-03-28 14:27
ศาลอาญายกฟ้อง 'สุเทพ' คดีหมิ่นฯ แกนนำ นปช. เหตุกล่าวหาเอี่ยวเผาบ้านเผาเมือง-เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ไม่หมิ่นประมาท และไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขณะที่คดี อริสมันต์ หมิ่นฯ อภิสิทธิ์ ศาลส่งคำพิพากษาฎีกา ไปศาลพัทยาอ่าน 21 เม.ย.เหตุจำเลยคุมขังที่นั่น โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยสั่งจำคุกยอริสมันต์ 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา
ที่มาภาพเพจ Banrasdr Photo 
28 มี.ค. 2560 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกและประธาน กปปส. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และกระทำการใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53, 137 หมิ่นประมาทแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จากการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 54 พาดพิงแกนนำ นปช.ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองและเป็นคนของพรรคเพื่อไทย โดยศาลให้เหตุผลว่าจำเลยให้สัมภาษณ์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ ตามรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงไม่ได้เป็นการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2558 จากกรณีที่นายสุเทพให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวันที่ 22 พ.ค. 2554 ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เขตหลักสี่ กทม.ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2554 พาดพิง เหวง โตจิราการ, จตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ทำนองว่า เป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ทั้งสามเเละพรรคเพื่อไทยได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งนายสุเทพ จำเลยให้การปฏิเสธและคดีนี้ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังได้ ขณะที่วันนี้ นายสุเทพ จำเลยสีหน้ายิ้มแย้ม เดินทางมาศาลพร้อมทนายความและบุคคลใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง
      
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า การที่ สุเทพ จำเลย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนระบุว่าผู้เสียหายทั้งสามมีส่วนร่วมในการเผาบ้านเผาเมืองนั้น ก็ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และได้รับข้อมูลจากรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช.ในปี 2553 มีการเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และศาลากลางจังหวัด 3 แห่ง ซึ่งการกระทำนั้นเป็นขบวนการที่มีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำ นปช.อยู่เบื้องหลัง กระทั่ง ศอฉ.ได้สั่งให้ยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 และวันเดียวกันแกนนำ นปช.ก็ได้เข้ามอบตัว ดังนั้นจึงมีเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจ ไม่มีเหตุว่าเป็นการกล่าวเท็จ และต่อมายังปรากฏว่าดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งอัยการยื่นฟ้องแกนนำ นปช.ในคดีก่อการร้ายต่อศาล ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. ขอเลื่อนคดี ดังนั้นสิ่งที่จำเลยกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่และเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามกรอบกฎหมาย ไม่ได้เป็นการสร้างข้อเท็จจริงขึ้นมาเอง
ส่วนที่จำเลยกล่าวว่า นปช.เกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทยนั้น พบว่านอกจากผู้เสียหายเป็นแกนนำ นปช. แล้ว ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยได้ส่งผู้เสียหายทั้งสามรายลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดย จตุพรอยู่ลำดับที่ 8  ณัฐวุฒิลำดับที่ 9 และ เหวง ลำดับที่ 19 ซึ่งถือเป็นรายชื่อในลำดับต้นๆ  แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ และผู้เสียหายทั้งสามรายยังได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ
      
ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเท็จ เป็นการตอบคำถามโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความมา และเป็นการรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบในฐานะที่จำเลยเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
       

ส่งคำพิพากษาฎีกา อริสมันต์ หมิ่นฯ อภิสิทธิ์ ไปศาลพัทยาอ่าน 21 เม.ย.

วันเดียวกัน (28 มี.ค.60) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีดำที่ อ.4177/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกน นปช. เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท จากกรณีวันที่ 11, 17 ต.ค. 2552 อริสมันต์จำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. ปราศรัยหมิ่นประมาทที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้าทำเนียบรัฐบาล
      
คดีนี้ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกนายอริสมันต์จำเลย 2 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวม 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากนัดที่แล้ว คือวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก อริสมันต์ จำเลยไม่ได้มาฟังคำพิพากษา โดยทนายยื่นเอกสารและแถลงต่อศาลว่าจำเลยปวดท้องอย่างรุนแรงเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ เทศบาลนครนครปฐม ศาลจึงให้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้แทน แต่วันนี้ อริสมันต์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยา ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกจำเลย 4 ปี กรณีเป็นแกนนำในการชุมนุมปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่ใช้เป็นสถานที่การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 เพื่อต่อต้านอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่เดินทางมาร่วมประชุม ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปให้ศาลจังหวัดพัทยาเบิกตัวจำเลยมาสอบถามและอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังต่อไป และเมื่อได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้ว จากนั้นศาลอาญาจะนัดโจทก์ฟังคำพิพากษาฎีกาต่อไปในวันที่ 21 เม.ย. นี้ เวลา 9.00 น.
ศุชัยวุฒิ ชาวสวนกล้วย ทนายความ อริสมันต์ กล่าวถึงเรื่องการยื่นฎีกาและขอประกันตัวอริสมันต์กับพวกในคดีแกนนำในการชุมนุมปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย การยื่นฎีกาจะต้องมีผู้พิพากษาที่ร่วมพิจารณาคดีเป็นผู้รับรองฎีกา จะต้องเขียนคำร้องขอให้ศาลรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องยังมีข้อโต้แย้งยังไม่เป็นที่ยุติ นำเสนอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีได้เห็นว่ายังมีปัญหาข้อสำคัญในคดี และให้เซ็นรับรองฎีกา และ ถ้ามีผู้พิพากษาเซ็นรับรอง ฎีกา แล้ว คดีของนายอริสมันต์และพวกก็จะได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หลังจากนั้นถึงจะมีการยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวต่อไป

"คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นจำคุก 4 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งตามกฎหมายเมื่อมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหากจำเลยจำเลยทั้งหมดประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลที่นั่งพิจารณาคดีนี้จะต้องรับรองฎีกา ถือเป็นหลักทั่วไปทุกคดีไม่จำเป็นต้องคดีการเมือง โดยหลังจากนี้เราจะทำคำร้องยื่นต่อองค์คณะที่พิจารณาคดีนี้ทุกคน ขณะนี้ทีมทนายความกำลังพิจารณาร่างคำร้องอยู่เนื่องจากพึ่งได้รับคำพิพากษาฉบับเต็มมาศึกษา"  ศุชัยวุฒิ กล่าว

'ผบ.ทบ.' เมินกระแสร้องเปิดภาพวงจรปิด ปมวิสามัญฯ ชัยภูมิ เผยดูแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด


Tue, 2017-03-28 16:10
พล.อ.เฉลิมชัย ยันไม่โอบอุ้มทหารปมวิสามัญฯ ชัยภูมิ ย้ำกองทัพต้องยืนในจุดที่เหมาะสม พร้อมเมินกระแสร้องเปิดภาพวงจรปิด เผยดูแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ตร.ชี้หลักฐานหากเปิดแล้วกระทบรูปคดีก็ทำไม่ได้
28 มี.ค. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก 

'ผบ.ทบ.' เมินกระแสร้องเปิดภาพวงจรปิด

วันนี้ (28 มี.ค.60) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เจ้าหน้าที่ทหารทำเกินกว่าเหตุในประเด็นวิสามัญ ชัยภูมิ ว่า คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ซึ่งได้ชี้แจงกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแล้วว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว ทั้งนี้คดีดังกล่าวได้แยกเป็น 2 คดีโดยกองทัพบกพร้อมทำหน้าที่ หากผู้ใต้บังคับบัญชาของตนกระทำการเกินกว่าเหตุก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้แจงนั้น ตนคิดว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินลงมาก็ไม่ควรกล่าวหาว่าใครเป็นอย่างไร ส่วนที่มีการตั้งคณะกรรมการกองทัพภาคที่ 3 เป็นการสอบสวนคู่ขนานเมื่อสังคมเกิดความสงสัย อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการได้รายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นมาให้ตนรับทราบแล้ว แต่ไม่ควรพูด เพราะจะเป็นการชี้นำคดีและคิดว่าไม่จำเป็นต้องนำผลสรุปของคณะกรรมการดังกล่าวไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อกรณีที่มีการระบุว่าจะมีการเปิดเผยภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด (CCTV) แต่ตอนหลังกลับนำภาพดังกล่าวส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่ได้พูดว่าให้เปิดเผยหรือไม่เปิดเผย แต่มีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานประกอบคดี ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพิจารณาเปิดเผยหรือไม่ ตนไม่มีปัญหา 
เมื่อถามต่อว่าแต่ยังมีหลายกระแสเรียกร้องให้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิด พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ตนไม่สนใจกระแส เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่ขอก้าวก่าย ทั้งนี้ได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว และเห็นว่าไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด หากมีการเปิดให้หลายคนดูก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาต่างคนต่างมองประเด็นที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่มีความสงสัยอะไร ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมดำเนินการไป อย่าใช้กระแส และตนจะไม่ไปแทรกแซงหรือสั่งเขาว่าให้ดูหรือไม่ให้ดู

เผยดูแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่าว่า ได้ดูภาพซีซีทีวีแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปเพราะถือว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง ดังนั้น จะพูดเรื่องนี้ให้น้อยที่สุด ในส่วนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กองทัพบกตั้งขึ้นได้รายงานผลเบื้องต้นแล้วไม่สามารถพูดได้เช่นกันเพราะจะกลายเป็นชี้นำ แต่จะเก็บไว้เป็นรายงานของกองทัพเท่านั้นไม่ส่งให้กับตำรวจ ซึ่งกรณีนี้แยกเป็น 2 คดี คือคดียาเสพติดและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

ยันไม่โอบอุ้ม ย้ำกองทัพต้องยืนในจุดที่เหมาะสม

สำหรับกรณีที่สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ที่ระบุว่า “ถ้าเป็นผม ผมอาจกดออโต้ไปแล้วก็ได้” นั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ยินดีให้ตรวจสอบ แต่ตนก็เข้าใจแม่ทัพภาคที่ 3 ที่พูดแบบนั้นหมายความว่าลูกน้องมีวินัยและฝึกมาดีจึงยิงไปแค่นัดเดียว ถ้าเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ก็อาจจะหลุดออโต้ออกไป โดยพยายามสื่อว่าลูกน้องฝึกมาดี แต่เมื่อมีการตัดประโยคนี้ออกไปก็ทำให้ดูเป็นคนก้าวร้าวและรุนแรง ซึ่งลักษณะนี้อยู่ที่การตีความ ตนคิดว่าสังคมเข้าใจแม่ทัพภาคที่ 3ว่าคิดอะไร บางครั้งอยู่หน้ากล้องสื่อมวลชนอาจรู้สึกตื่นเต้นคิดจะพูดอีกแบบ แต่อาจพูดไม่ครบก็ไปเข้าล็อคจนเกิดการตีความ แต่ทั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 3ก็ยอมรับสิ่งที่พูดว่าเจตนาแบบหนึ่ง แต่เมื่อสังคมสงสัยแบบหนึ่งก็สามารถดำเนินการได้ ตนได้บอกว่าการมาอยู่ตรงนี้เรื่องการพูดจาต้องระมัดระวัง เพราะบางทีความจริงใจอาจใช้ไม่ได้ในทุกสถานการณ์
ต่อกรณีคำถามถึงการตั้งข้อสังเกตว่าคดีก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะคล้ายกัน พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทุกเรื่องก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบ หากเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบ ตนจะไม่โอบอุ้มอย่างเด็ดขาด กองทัพต้องยืนในจุดที่เหมาะสม

ตร.ชี้หลักฐานหากเปิดแล้วกระทบรูปคดีก็ทำไม่ได้

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวถึงคดีนี้ว่า ได้กำชับให้ทำคดีตรงไปตรงมา เรื่องนี้ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ไม่หนักใจที่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นคดียาเสพติดทั่วไปพูดตามหลักกว้างๆไม่เฉพาะคดีนี้หากเจ้าหน้าที่ไม่ยิงเขา เขาก็ยิงเจ้าหน้าที่ เพราะผู้ต้องหาในคดียาเสพติดไม่ได้มาตัวเปล่าอยู่แล้ว ส่วนกรณีของนายชัยภูทิ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้รายงานมาว่ามีประวัติ เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ส่วนกรณีที่สังคมเรียกร้องให้ทางตำรวจเปิดภาพวงจรในที่เกิดเหตุนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ระบุว่า ตามหลักการพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งพยานหลักฐานต่างๆ ถ้าเปิดเผยแล้วกระทบรูปคดีก็ไม่สามารถเปิดเผยได้
พ.ต.อ.กฤษณะ ยังระบุีอีกว่า ในส่วนของตำรวจรับผิดชอบการทำคดี3 ส่วน คือ 1.เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาเสพติด 2.คดีเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากเป็นการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ และคดีที่ 3. เป็นเรื่องของทหารที่วิสามัญโดยอ้างว่ากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการดำเนินคดีทั้ง3ส่วนจะดำเนินการไปตามกฎกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ ส่วนพนักงานสอบสวนจะสั่งฟ้องหรือไม่อย่างไรอยู่ที่การพิจารณาพยานหลักฐาน

ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: เปิดเครื่องมือเชือด Voice TV และเนื้อหา 3 รายการที่โดนลงโทษ


เปิดเนื้อหา 3 รายการหลักที่ถูก กสท.ลงดาบสั่งปิดทั้งสถานี 7 วันว่าพูดกันเรื่องอะไร แค่ไหน พร้อมวิเคราะห์กฎหมาย คำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ รวมถึง MOU ที่ผูกมัดบรรดาสถานีข่าวในทีวีดิจิตอล-ทีวีดาวเทียมไว้หลายชั้น จะได้เข้าใจตรงกันและไม่บ่นกันอีกต่อไปว่า “ทีวีเดี๋ยวนี้แทบไม่มีอะไรดู”
หลังเที่ยงคืนของเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) วอยซ์ทีวียุติการออกอากาศทั้งสถานี หลังจากถูก กสท.สั่งพักใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก
ย้อนกลับไปปีที่แล้ว กสทช.ลงดาบกับวอยซ์ทีวีหลายแบบ ทั้งสั่งปรับ สั่งระงับบางรายการเป็นการชั่วคราว 10 ครั้ง ไม่รวมการตักเตือน “อย่างไม่เป็นทางการ” อีกมากมายหลายครั้ง ส่วนปีนี้ลงโทษแล้ว 2 ครั้งแบบให้ผู้จัดบางคนยุติจัดรายการชั่วคราว
หากเหตุการณ์จอดำเกิดขึ้นช่วงหลังรัฐประหารทันทีก็คงเป็นเรื่องที่เราคุ้นชินเช่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นมาบรรยากาศดูเหมือนค่อยๆ คลี่คลายขึ้น เหตุใดจึงเกิดการปิดสถานีขึ้นในระยะนี้จากเหตุแห่งการแสดงความคิดเห็น และไม่ใช่โดย คสช. แต่เป็น กสทช. โดยผู้ตั้งต้นเรื่องในการร้องเรียนคือ หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเลขาธิการ คสช. 
ตามคำสั่ง กสทช. ระบุว่า รายการที่ “มีความผิด” ทำให้ กสทช.สั่งยุติออกอากาศทั้งสถานี คือ
1.รายการใบตองแห้งออนแอร์ ตอน จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ
2.รายการ In Her View ตอน ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร
3.รายการ Overview ตอน ยันกองทัพป้องทหารยังยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี
รายการทั้งสามมีลักษณะตั้งคำถามแหลมคมกับประเด็นร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระแส แน่นอนว่า ประเด็นธรรมกาย เด็กหนุ่มลาหู่ และโกตี๋ เป็นประเด็นหนามยอกอกของ คสช.อย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 รายการที่ถูกนำไปพิจารณาโทษในครั้งล่าสุดนี้ด้วยแต่หลุดโผมาได้ คือ
1.รายการ Over View หัวข้อ มีอะไรไปเคลียร์ในกรม อภิสิทธิ์ชนแถว 3 ทำสังคมเดือด (ไม่ได้ออกอากาศทางทีวี จึงไม่อยู่ในอำนาจของ กสทช.)
2.รายการ Voice News ช่วง Voice News Report เวลา 20.13 น. หัวข้อ นายวีระ สมความคิด แสดงความคิดเห็นกรณี บ่อนตาพระยา (ถูกนำมาพิจารณา แต่ท้ายที่สุดหลังการชี้แจงไม่มีการหยิบยกรายการนี้มาในคำสั่งพักใบอนุญาต)

รู้จัก กสทช. ดาบในมือนั้นท่านได้แต่ใดมา

ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและลงโทษสถานีโทรทัศน์คือ กสทช. มีคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน แบ่งออกเป็น กทช. รับผิดชอบในส่วนกิจการโทรคมนาคม  และ กสท. รับผิดชอบส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
ปัจจุบัน กสท. มีคณะกรรมการเหลือเพียง 3 คน เนื่องจาก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการเสียงข้างน้อยตลอดกาล ได้ขอยุติปฏิบัติหน้าที่หลังจากศาลฎีกาสั่งให้มีความผิดตามศาลชั้นต้น และรอการกำหนดโทษ 2 ปี ในคดี “ปีนสภาค้านกฎหมาย สนช.ในปี 2550” กรรมการอีกคนคือ ทวีศักดิ์ งามสง่า พ้นสภาพจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปี
ใน กสท.นี้เองที่มีคณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งจะดูแลเนื้อหาของทีวีทุกช่อง โดยมีอำนาจลงโทษหลายแบบตั้งแต่
1.ตักเตือนเป็นหนังสือ
2.ปรับ 50,000-500,000 บาท
3.พักใช้ใบอนุญาต (ปิดสถานีชั่วคราว)
4.เพิกถอนใบอนุญาต (ปิดสถานีถาวร)
ทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรานี้กำหนดกรอบความผิดไว้ว่า
ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้”

ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: ม.37 + ประกาศ คสช.คุมเนื้อหาสื่อ ยกเว้นโทษ กสทช.

ไม่เพียงมาตรา 37 ที่เป็นดาบคมกริบในการ “ควบคุมดูแล” เนื้อหาในทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอลที่ กสทช.เองก็เคยใช้มันบ่อยครั้งแล้วเท่านั้น (เช่น การลงโทษปรับ 5 แสนบาทกับรายการ 3  รายการ เช่น ไทยแลนด์ ก็อตทาเลนต์ ซีซั่น 2 นำเสนอภาพหญิงสาวเปลือยอกวาดภาพ ซีซั่น 3 เผยแพร่ภาพผู้เข้าแข่งขันเป็นออทิสติกแล้วถูกเหยียดหยามจากคณะกรรมการฯ รายการปากโป้ง ช่อง 8 เชิญมารดาและเด็กหญิงออทิสติกที่ถูกข่มขืนมาสัมภาษณ์)
เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 คสช.ยังได้ออกประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อฉบับหลักๆ คือ
ฉบับที่ 97/2557 ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนให้ระงับการเผยแพร่ทันทีละให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย
ฉบับที่ 103/2557 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมวิชาชีพสื่อ จึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ให้สื่อวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม
ที่เป็นประเด็นสำหรับวอยซ์ทีวีโดยเฉพาะ คือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 ซึ่งอนุญาตให้ทีวีดิจิตอลจำนวน 23 ช่อง ออกอากาศได้ตามปกติหลังหยุดไปนานช่วงทำรัฐประหาร แต่ยกเว้นช่องวอยซ์ทีวีเพียงช่องเดียวในบรรดาทีวีดิจิตอล อีกช่องหนึ่งที่ยกเว้นด้วยคือ ช่องทีนิวส์ในระบบทีวีดาวเทียม อาศัยตามคำสั่งตามกฎอัยการศึก นั่นทำให้สองช่องนี้ได้กลับมาออกอากาศช้ากว่าช่องอื่นๆ เกือบเดือน
“ช่องนี้พิเศษเพราะมี MoU กับ คสช. เขาต้องระวังเป็นพิเศษ แต่นี่เขาระวังแค่ปกติและผิดบ่อยมาก”  พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท. ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการกล่าว
ที่พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวเช่นนั้น เพราะวอยซ์ทีวีเป็นทีวีดิจิตอลหนึ่งเดียว ร่วมกับทีวีดาวเทียมอีก 13 ช่อง  (ตามประกาศคสช.ที่ 15/2557) ที่ถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงร่วม หรือ MoU เฉพาะกับ คสช.   
ไม่มีใครเคยเห็น MoU ที่ว่านั้นจะๆ แต่ไอลอว์อ่านมันโดยอ้อมผ่านงานวิจัย ระบุว่า “สาระของ MoU ตามที่เปิดเผยในร่างรายงานวิจัย หัวข้อ “การกำกับดูแลเนื้อหา: สื่อวิทยุและโทรทัศน์” ของโครงการการปฏิรูปสื่อ: การกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอยู่ว่า ทางสถานียินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที”
ล่าสุดในปี 2559 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการใช้ ม.44 ในการออกคำสั่ง เรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดสินและกำหนดกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดแพ่งและอาญาต่อคณะทำงาน นั้นหมายความว่า กสทช. สามารถออกคำสั่งควบคุมสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิด
ทั้งหมดนี้คือ กรอบกำหนดในการควบคุมเนื้อหาของสื่อทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียมอย่างเข้มข้น....และไม่อาจขัดขืน 

รายการใบตองแห้งออนแอร์: “จากธัมมี่ถึงทักกี้ ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ

ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 19.10 น.
วิจารณ์เรื่องปฏิบัติการของรัฐต่อวัดพระธรรมกาย ใบตองแห้งตั้งคำถามว่า ปรากฏการณ์ที่สะท้อนในคดีธรรมกายกับเรื่องการเก็บภาษีทักษิณ ยังเป็นประเด็นสังคมที่จะปรองดองกันได้หรือเปล่า
ใบตองแห้งวิจารณ์ว่า สื่อกระแสหลักยังเป็นเหมือนเดิม ปลุกความเกลียดชังเข้าใส่ธรรมกาย โดยไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 53 คล้ายสังคมไทยไม่ไปไหน เป็นความไม่มีเหตุผล ใครไม่เห็นด้วยกับมาตรา 44 กลายเป็นเลวร้าย เป็นพวกเดียวกับธรรมกาย ไม่มีการสรุปบทเรียน แม้สื่อจะมีจุดร่วมต่อต้านพ.ร.บ.สื่อของสปท.ก็ตาม
กรณีเก็บภาษีทักษิณไม่ได้ตั้งต้นมาจากรัฐบาลเลย แน่นอน มันตั้งต้นมาจากองค์กรรัฐคือ สตง. แต่ขณะเดียวกันก็มีการปลุกกระแสทำนองว่าถ้าคุณไม่เก็บภาษีทักษิณแสดงว่าคุณเกี้ยเซียะกับทักษิณ
“ปรองดองไม่ได้อยู่ที่การที่คุณเกี๊ยเซียะ ปรองดองมันคือการที่สังคมมีเหตุผล มีสติ และรู้จักแยกแยะเรื่องต่างๆ จะเก็บภาษีทักษิณผมไม่ว่า แต่พูดให้มีเหตุผล”
ใบตองแห้งกล่าวว่า ทักษิณเป็นอำนาจนิยม แต่คนที่ไล่ทักษิณก็สนับสนุนอำนาจนิยมยิ่งกว่า การปรองดอง ของฝ่ายรัฐ รัฐต้องการคงอำนาจของรัฐราชการ ความเป็นรัฐที่มั่นคง ให้อยู่ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม แต่ไม่อาจนำไปสู่การปรองดองได้ตราบที่สังคมค่อนข้างไร้สติ
เขายังได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างธรรมกายกับเรื่องการเก็บภาษีของทักษิณว่า ธรรมกายคืออะไรที่แปลกแยก ประหลาด โอเว่อร์ อลังการ ทำให้รู้สึกต้องทำลายธรรมกายเพื่อไม่ให้พุทธเพี้ยน แต่พุทธที่เรานับถือคืออะไร เราก็มีหนังสือท่านพุทธทาส ท่านป.อ.ปยุตโตอยู่ด้านหนึ่ง แต่ก็มีการพ่นน้ำมนต์ปลุกเสก มันก็อยู่กันมาปกติ ทั้งพุทธทั้งผี ทำลายมันก็ไม่ใช่จะกลับมาสู่พุทธแท้อะไร ไม่ใช่คนจะกลับมาอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสหรือท่านปยุตฺโต
ทักษิณเป็นผู้แปลกแยกเหมือนกัน ทักษิณมีอำนาจมาก ทำลายระบบดั้งเดิมของเรา ซึ่งดั้งเดิมก็คือระบบเกี้ยเซียะอุปถัมภ์ โกงแบบผู้ดีหน่อย พอประมาณ นี่คือสิ่งที่เรารับได้อยู่ แต่ทักษิณแปลกแยกใหญ่โต เพราะงั้นทำลายมัน แต่ก็หวนกลับไปสู่สิ่งเดิมซึ่งเสื่อมไปเรื่อยๆ ก็ไปไม่ได้ ถึงที่สุดเราไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ถึงต้องอยู่กับ คสช.อยู่อย่างนี้ อาจจะต้องไปสู่ภาวะที่คุณต้องถดถอยหนักๆ คุณถึงจะคิดกันรึเปล่าก็ไม่รู้
หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการของใบตองแห้งมีการนำเสนอที่ไม่ได้ติชมโดยสุจริต วิพากษ์วิจารณ์ที่ขาดเหตุผล ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม

ช่วงหนึ่งของรายการ In Her View: "เปิดยุทธการจับอาวุธโกตี๋ สังคมกังขาจัดฉากหรือไม่?"

ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 18.30 น.
ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา อ้างบทวิเคราะห์ของมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งนำเสนอว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่โกตี๋เคยเคลื่อนไหวอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี หลักๆ จึงเป็นการตรวจค้นที่จังหวัดปทุมธานี ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ของวัดพระธรรมกายอยู่จังหวัดใด ยิ่งไปกว่านั้นโกตี๋มีภาพลักษณ์เป็นเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ บทวิเคราะห์จึงตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกันหรือไม่ นอกจากนี้ความจริงการตรวจค้นรังโกตี๋ไม่ใช่ครั้งแรก และสังคมก็รู้ว่าโกตี๋ไม่ได้อยู่เมืองไทย บทบาทของเขาอยู่ต่างแดน รัฐมีความพยายามหลายหนที่จะจัดการ มีการขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่เป็นผล เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริง และข้อกังขาของสังคมว่าเป็นการจัดฉากรึเปล่า
ลักขณาได้กล่าวว่า ทางฝั่งรัฐบาลบอกว่าไม่จัดฉาก ในวันที่ไปค้นมีสื่อมวลชนอยู่เป็นพยาน ทั้งหมดนี้เป็นอาวุธที่มีอยู่ตรงนั้นจริงๆ
หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการ In Her View ขาดการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน นำบทวิเคราะห์มาจากมติชนฉบับเดียว โดยไม่ได้นำของค่ายอื่นมาด้วย

รายการ Overview: "ยิงชัยภูมิ รัฐอย่าป้องทหารกว่าประชาชน"

ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 18.55 น.
ศิโรตม์ นำเสนอเหตุการณ์ว่า ชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมที่ใช้ศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อดึงคนรุ่นเดียวกันให้ออกจากวังวนยาเสพติด และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ คนที่รู้จักชัยภูมิหลายต่อหลายคนออกมาไว้อาลัย ทั้งยังกล่าวถึงความดีที่ผู้ตายได้ทำ โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานศพชัยภูมิที่มีคนมาไว้อาลัยมากมาย ผิดกับภาพที่อาชญากร ค้ายา ปาระเบิดควรจะเป็น
สังคมมีคำถามถึงพฤติการณ์ดังกล่าวมากมาย แต่โฆษกกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี กลับแถลงข่าวเข้าข้างเจ้าหน้าที่ ประหนึ่งว่าเหตุการณ์วิสามัญฯ ในไทยนั้นไม่เคยเกิดจากความเข้าใจผิด หรืออคติของเจ้าหน้าที่เลย ในชุมชนพื้นที่ที่เกิดเหตุ มีความเกี่ยวพันกับยาเสพติดจริง แต่ไม่ใช่ว่าชนพื้นเมืองทุกคนจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กองทัพควรจะรับฟังคนในพื้นที่บ้าง เพราะในพื้นที่มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่มานาน เคยมีเหตุการณ์ประทุษร้ายประชาชนเกิดขึ้น
ศิโรตม์ กล่าวว่า อย่าคิดว่าเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ ไม่ได้ ทำผิดไม่ได้ ทำไมไม่ฟังประชาชนก่อน อย่าลืมว่า 25 มีนาคม 2559 ที่ทุ่งยางแดง มีเหตุทหารวิสามัญฯ เด็กและเยาวชน ตอนนั้นมีข่าวว่าผู้ที่ถูกวิสามัญฯ เป็นโจรใต้ เป็นคนชั่ว เจ้าหน้าที่ทหารเองก็รายงานสอดคล้องกัน พร้อมอาวุธของกลาง เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องลุกลามใหญ่โต ผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพ กลไกฝ่ายปกครองสอบสวน ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนที่เสียชีวิต 4 คนไม่มีใครผิดเลย คนหนึ่งเป็นวัยรุ่นอายุ 24 ปีด้วยซ้ำไป มีการจับคนไป 22 ราย เรื่องนี้ถูกดำเนินคดีไปเรียบร้อยแต่ใช้เวลานานมาก เพิ่งมีการสอบสวนของศาลนัดสุดท้ายไป
“นี่คือตัวอย่างให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในกองทัพไม่ลืมว่า ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่เมื่อมีการวิสามัญฆาตกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ถูกไปหมดทุกครั้ง ประเทศเราเป็นประเทศซึ่งหลายครั้งมีการวิสามัญฯ โดยมาจากอคติของเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ทุ่งยางแดงอาจจะมีความเชื่อที่ผิดว่าคนมุสลิมจะเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นโจรใต้ไปหมด ในที่สุดมีการสังหารประชาชนเกิดขึ้น ภาษากฎหมายเรียกว่าวิสามัญฆาตกรรม ภาษาชาวบ้านเรียกว่ายิงทิ้ง กลไกกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า วิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่ใบสั่งให้เจ้าหน้าที่ยิงประชาชนทิ้งได้ตามอำเภอใจ” พิธีกรจากวอยซ์ทีวีกล่าว
ศิโรตม์ กล่าวว่า ในกรณีของชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ต้องทำแบบคดีอื่นๆ ที่มีความคลุมเครือ คือ มีการนำพนักงานปกครอง อัยการ เจ้าหน้าที่สอบสวนเข้ามา และทำการชันสูตรศพ เขายังกล่าวถึงข้อสงสัยในสังคมเกี่ยวกับพฤติการณ์การตายว่ามีระเบิดจริงหรือเปล่า กระสุนยิงเข้าข้างหน้าหรือข้างหลัง เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ปกป้องตนเอง แต่ประชาชนต้องระวัง และมีสิทธิ์จะซักถามได้ว่า เจ้าหน้าที่วิสามัญฯ โดยชอบ หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย
หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการ Overview คือ ศิโรตม์แสดงความเชื่อมั่นว่า ชัยภูมิไม่ได้ค้ายาเสพติด โดยบอกว่า ถ้าชัยภูมิมีประวัติค้ายาเสพติด ก็คงไม่มีคนมาร่วมงานศพมากมายและแสดงความเสียใจขนาดนั้น คือมีเนื้อหาที่ยังไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อน แต่นำเสนอสู่สาธารณะและไม่ได้ติชมหรือเสนอแนะความคิดโดยชอบธรรม
ส่วนในปี 2559 กสท. เว็บไซต์ผู้จัดการ ระบุว่า มีทั้งหมด 10 เรื่องที่กสท.สั่งลงโทษไม่ว่าจะเป็นการปรับหรือการระงับบางรายการเป็นการชั่วคราว แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวและสืบค้นได้จากข่าววาระการประชุม กสท.นั้น อาทิ
-          วันที่ 21 เม.ย. 2559 รายการ Wake Up News เสนอข่าวกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีเงื่อนไข
-          วันที่ 25 พ.ค. 2559 รายการ Tonight Thailand เสนอมีลักษณะเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช. (ไม่ได้ระบุหัวข้อ)
-          วันที่ 4 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาในช่วง “ห้องเรียนรัฐธรรมนูญ” มีเนื้อหาลักษณะส่อเสียด โดยการนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาเปรียบเทียบกับรัฐบาลปัจจุบัน
-          วันที่ 21 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และพูดแนะนำให้ประชาชนลงชื่อในเว็บไซต์ต่อต่านร่างรัฐธรรมนูญ
-          วันที่ 22 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหารถไฟฟ้าสีน้ำเงิน
-          วันที่ 29 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News ในช่วงห้องเรียนรัฐธรรมนูญ มีการสัมภาษณ์ รศ.สุขุม นวลสกุล เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ
-          วันที่ 8 ส.ค. 2559 รายการ Wake Up News เสนอมีลักษณะเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช. (ไม่ได้ระบุหัวข้อ     
-          วันที่ 15 ส.ค. 2559 รายการ Wake Up News สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ “วิเคราะห์เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้” และวันที่ 16 ส.ค. 2559 วิเคราะห์เหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ ต่อด้วยนำเสนอในหัวข้อ “ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนัก” และ “มีชัย ชี้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว” มีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช.
-          วันที่ 6 ธ.ค. 2559 รายการ Wake Up News วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็น “กรธ.เล็งเปิดร่าง พ.ร.บ. พรรคการเมือง” และ “เพื่อไทยชี้ยุทธศาสตร์ฯ 20 ปี กับดักประเทศ” เข้าข่ายขัดต่อประกาศ คสช.

SEAPA ประณามคำสั่งจอดำวอยซ์ทีวี 7 วัน ชี้เกินกว่าเหตุ


27 มี.ค. 2560 องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกแถลงการณ์ประณามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ให้พักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นเวลา 7 วัน โดยชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างที่สุด ทั้งที่เนื้อหาที่ออกอากาศนั้นควรเป็นเอกสิทธิ์ของสถานี
SEAPA ระบุว่า การพักใช้ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นการปิดทั้งสถานีและทุกรายการ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงอำนาจมหาศาลที่รัฐบาลทหารมอบให้ กสทช. เมื่อ ก.ค. 2559 (ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ให้ กสทช.ปิดสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา วินัย แต่ไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหาย อ่านข่าวที่นี่)
"กสทช.กลายเป็นหน่วยงานเซ็นเซอร์ทีวีในประเทศไทยแล้วอย่างชัดเจน" SEAPA ระบุ

SEAPA ชี้ว่า การปิดวอยซ์ทีวีเป็นการเล่นงานเสรีภาพในการแสดงความเห็น อันเป็นองค์ประกอบที่จะละเมิดไม่ได้ของสิทธิในการแสดงออก และย้ำว่า เสรีภาพสื่อรับประกันว่า ในข่าวและรายการที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ จะมีความเห็นที่เป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กสท.มีมติพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นระยะเวลา 7 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2560 เวลา 00.01 น. เนื่องจากการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 3 รายการ  ได้แก่ รายการใบตองแห้ง วิจารณ์เรื่องปฏิบัติการของรัฐต่อวัดพระธรรมกาย ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 19.10 น., รายการ In Her View พูดเรื่องโกตี๋และอาวุธ ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 18.30 น. และรายการ Overview พูดเรื่องเด็กชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 18.55 น. มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และเป็นการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมหลังจากมีผู้ร้องเรียนการดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ในปีที่แล้วรวม 10 ครั้ง และปีนี้ 2 ครั้ง โดยระบุว่า สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวียังไม่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน