วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประยุทธ์ ยี้สื่อพาดหัวปมเตรียมขึ้น VAT ยันแค่อธิบาย


โฆษกฯสำนักนายกฯ ยันไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษี ระบุไม่มีรัฐบาลไหนที่จะออกนโยบายซ้ำเติมประชาชนในขณะที่ทุกคนเดือดร้อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ขอสื่อมวลชนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม 
10 มี.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (9 มี.ค.60) สื่อหลายสำนักรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งขณะลงพื้นที่พบประชาชนและข้าราชการ จ.ปราจีนบุรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า  ประเทศไทยอยู่ด้วยระบบทุนนิยมเสรี เงินภาษีเป็นรายได้ของประเทศ ซึ่งมีการเรียกเก็บจากหลายส่วน โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนอย่างข้าราชการต้องเสียภาษีเต็มจำนวนทั้งหมด ในขณะที่ประชาชนจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ในอัตรานี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ดังนั้นหากเก็บเพิ่มอีกเพียง 1% ก็จะทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาท
ล่าสุดวันนี้ (10 มี.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ติงสื่อ พาดหัวข่าวขึ้นภาษี VAT 1% ว่าหวังแค่ต้องการขายข่าว ทั้งที่ตนเองพียงแค่อธิบายเรื่องระบบภาษีเท่านั้น
"เมื่อวานผมพูดอธิบายเรื่องระบบภาษี อธิบายเรื่องอะไรต่างๆ ก็ตาม เพราะประชาชนเรียกร้องขอโน้นขอนี่ ผมอยากจะให้  แต่ผมอธิบายประชาชน อ่าวกลับไปว่าผมต้องการขึ้นภาษี มันไม่เข้าใจหรือไง คืออะไรก็ได้ที่มีความขัดแย้ง อะไรก็ได้ที่ที่มันจะเป็นปัญหา พูด เขียน กันเข้าไป เขียนพาดหัวข่าวหน้า 1 เข้าไป ข้างในไม่มีอะไรหรอก ข้างใน เหมือนที่ผมพูดอะ แต่ข้างหน้าขอให้ได้เขียนเถอะ ให้คนซื้อหนังสือพิมพ์ น่ารังเกียจนะผมบอกให้ ไม่ใช่ทุกคนอะ ไอ้พวกดีๆ กับผมก็มี ผมรู้ว่าทุกคนรักผมรักผม อยากช่วยผม ไอ้นี่ช่วยอะไรนี่ ช่วยอะไร นี้ช่วยหรอ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

โฆษกสำนักนายกฯ ยันไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษี

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากเจตนาที่แท้จริงของนายกรัฐมนตรี จึงมีการนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะนายกฯ เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า เมื่อประชาชนเสนอข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลหลายเรื่อง แต่รายได้หลักของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษีแต่เพียงอย่างเดียว แล้วจะนำเงินที่ไหนไปจ่าย ฉะนั้น หากประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ หรือได้รับเงินจากภาครัฐ ประชาชนก็ต้องรู้จักเสียสละด้วย โดยได้ยกตัวอย่างว่า หากประชาชนจ่ายภาษี VAT เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 100,000 ล้านบาท
พล.ท.สรรเสริญ ยืนยันว่านายกฯ ไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะไม่มีรัฐบาลไหนที่จะออกนโยบายซ้ำเติมประชาชนในขณะที่ทุกคนเดือดร้อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ดังนั้น จึงอยากให้พี่น้องสื่อมวลชนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม และหวังว่าคงไม่มีผู้ใดหยิบฉวยโอกาสนี้ กระพือข่าวโจมตีว่ารัฐบาลถังแตก เพื่อลดความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น

คดี อนัน ตายระหว่าง ตร.คุมตัว หมอชันสูตร เบิกความเสียชีวิตเหตุสมองบาดเจ็บรุนแรง


แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ เบิกความคดีไต่สวนการตาย อนัน เกิดแก้ว ที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นครราชสีมา แจงสาเหตุการเสียชีวิต เนื่องจากสมองบาดเจ็บรุนแรงจากการเหวี่ยงกระแทกของศีรษะ
10 มี.ค.2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่าเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมาออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานผู้ร้อง คดี หมายเลขดำที่ ช.3/2559 หรือกรณี อนัน เกิดแก้ว เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนชุดปราบปรามยาเสพติด ตำรวจภูธรนครราชสีมา โดยพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา ผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้นำพยานจำนวน 3 ปากเข้าเบิกความต่อศาล ได้แก่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลจอหอ ใกล้ที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา เจ้าของสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ และแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพและทำการผ่าศพ นายอนัน เกิดแก้ว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงซึ่งเป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์ เบิกความต่อศาล ถึงวันเกิดเหตุและบรรยายถึงสถานที่เกิดเหตุ โดยกล่าวว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 มีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจไล่จับผู้ร้ายบริเวณสะพานข้ามคลอง ถนนสุรนารายณ์ ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทางไปตลาดแม่สมบูรณ์ ซึ่งใกล้กับสถานที่ทำงานของตน ตนได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้ร้ายวิ่งหนีกระโดดลงไปในคลองใต้สะพาน ประกอบกับตนเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ไฟฉายส่องบริเวณใต้สะพานจุดเกิดเหตุ โดยในวันเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีน้ำขึ้นสูงและมืด ซึ่งตนมองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็นตัวคนร้ายหรือทราบได้ว่ามีผู้ใดกระโดดลงไปบริเวณใต้สะพานจริงหรือไม่ และใต้สะพานดังกล่าวมีน้ำที่ขึ้นสูงทำให้ตนก็ไม่เห็นเช่นกันว่าใต้น้ำนั้นมีวัตถุอะไรอยู่บ้าง ในวันเกิดเหตุ
พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ เบิกความต่อศาลว่า ตนได้เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพผู้ตายร่วมกับแพทย์ พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง โดยเบิกความถึงสภาพศพผู้ตายในครั้งแรกที่พบที่โรงพยาบาลมหาราช พร้อมทั้งได้สอบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำภาพถ่ายขณะชันสูตรพลิกศพของ อนัน ที่โรงพยาบาลมหาราชมาเสนอต่อศาลและยืนยันผลการชันสูตรพลิกศพตามที่แพทย์ทำรายงานไว้
พยานปากสุดท้ายคือ แพทย์ผู้ทำการชันสูตรและผ่าศพของอนัน เกิดแก้ว ได้เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 โรงพยาบาลมหาราชได้รับตัวผู้ตายจากหน่วยกู้ภัยในพื้นที่แล้วพบว่าผู้ตายไม่รู้สึกตัว ปรากฏบาดแผลตามร่างกาย ตนเป็นหนึ่งในคณะแพทย์ผู้ตรวจรักษาของอนันด้วย ได้วินิจฉัยและมีความเห็นว่าผู้ตายอาจไม่มีทางรอดหรือถ้ารอดมีชีวิตอยู่นายอนันก็จะไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้ ซึ่งอนันเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลได้ประมาณสองวัน ต่อมาอนันได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 ตนเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพและเป็นผู้ทำการผ่าศพผู้ตาย พบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตเนื่องจากสมองบาดเจ็บรุนแรงจากการเหวี่ยงกระแทกของศีรษะกับของแข็งชนิดที่ไม่มีคมหรือผิวขรุขระเนื่องจากมีรอยช้ำที่ศีรษะ ไม่มีบาดแผลภายนอก แต่กระทบกระเทือนถึงเนื้อสมองและเลือดออกในสมองที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์สันนิษฐานว่าผู้ตายได้รับบาดเจ็บมาก่อนที่จะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว 3-5 วัน แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าบาดแผลที่เป็นสาเหตุแห่งการตาย เกิดจากการถูกทำร้ายหรือไม่
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ยังมีพยานฝ่ายมารดาผู้ตายซึ่งเป็นผู้ร้องคัดค้านอีกจำนวน 4 ปาก ได้แก่ มารดาผู้ตาย น้องสาวผู้ตาย 2 คน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าพิสูจน์ศพจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งศาลได้กำหนดนัดไต่สวนพยานทั้งสี่ปากดังกล่าว ในวันที่ 24 มี.ค. 2560 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ศาลจังหวัดนครราชสีมา

สนช.ไม่อนุญาต ‘สุรพงษ์’ ยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติม ปมถอดถอน กรณีออกหนังสือเดินทางให้ ‘ทักษิณ’


สนช. นัดแถลงเปิดคดีถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้ ทักษิณ ชินวัตร  ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิด แต่ สนช.ไม่อนุญาต
9 มี.ค. 2560 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการพิจารณากระบวนการถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีใช้อำนาจหน้าที่ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้ ทักษิณ ชินวัตร โดยมิชอบ เพื่อช่วยเหลือนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการติดตามตามหมายจับ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สุรพงษ์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนความไม่ชอบมาพากล 5 ฉบับต่อ สนช.เพื่อประกอบการพิจารณา ได้แก่ ฉบับที่ 1 เรื่องพบความไม่ชอบในการแจ้งข้อกล่าวหา ฉบับที่ 2 การตรวจพบสถานะการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ของปรีชา เลิศกมลมาศและ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ฉบับที่ 3 เรื่องตรวจสอบพบว่าคำร้องถอดถอนตนเอง ออกจากตำแหน่ง ส.ส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉบับที่ 4 การปฏิเสธที่จะให้พยานหลักฐานสำคัญ และไม่ยอมให้ถ่ายสำเนาในการประกอบการชี้แจงข้อกล่าวหา และฉบับที่ 5 เรื่องมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีภักดี โพธิศิริ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น ร่วมประชุมด้วย
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ยังได้ยื่นเอกสารลับให้กับสมาชิก สนช. ได้พิจารณาด้วย  โดยประธานแจ้งว่า ให้สมาชิกพิจารณาเอกสารลับภายในห้องประชุมเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สมาชิกนำเอกสารดังกล่าวออกจากห้องประชุม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดวันแถลงเปิดคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และสุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา ในวันที่ 16 มี.ค. จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของสุรพงษ์ จำนวน 2 คำขอ 5 รายการ ได้แก่ 1.หนังสือของสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่องขอทราบผลการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนให้แก่ ภักดี โพธิศิริ  2. หนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง ขอทราบผลการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ภักดี โพธิศิริ  3. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2555  4. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2556 และ  5.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559
จากนั้น นายสุรพงษ์  ชี้แจงเหตุผลการขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานต่อที่ประชุมว่า การเพิ่มเติมหนังสือเรื่องการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนของภักดี เนื่องจากภักดีได้ร่วมลงมติชี้มูลว่าตนมีความผิด แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า ภักดีขาดคุณสมบัติการเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งแต่ต้น ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินชี้ว่า ภักดีไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมเมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่ สุภา ปิยะจิตติ  คณะกรรมการ ป.ป.ช. คัดค้านการขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน พร้อมชี้แจงว่า ภักดีได้ชี้แจงและแสดงหลักฐานการลาออกจากทุกบริษัทผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว ดังนั้น สถานะของภักดีถือว่าสมบูรณ์ ซึ่งสุรพงษ์ได้เคยขอยื่นหลักฐานนี้ต่อ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวกับคดีนี้แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  หลังเสร็จสิ้นการชี้แจง ที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้สุรพงษ์เพิ่มเติมพยานหลักฐานทั้ง 5 รายการ และมีมติไม่ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานอันจำเป็นของคู่กรณี เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า ไม่ใช่คดีที่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด

สุรพงษ์” รับรู้สึกกังวลผลถอดถอน เผยอยากให้สังคมเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกหนังสือเดินทาง “ทักษิณ”

สุรพงษ์ ได้กล่าวภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมพยานเอกสารที่ขอเพิ่มทั้ง 5 รายการว่า ตอนแรกที่ตัดสินใจมาชี้แจงเพราะคิดว่าสนช.จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรม แต่เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ ก็ยอมรับว่ากังวลถึงผลการลงมติถอดถอนที่แม้จะชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบอย่างไร ผลลัพธ์ไม่น่าจะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามยังอยากมาชี้แจงทั้งในวันแถลงเปิดคดีและปิดคดี เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าข้อกล่าวหาของป.ป.ช.ไม่น่าเชื่อถืออย่างไร และมีหลักฐานชัดว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องของข้าราชการประจำที่ดำเนินการ  ดังนั้นจึงอยากให้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่มีมาตราเรื่องการถอดถอน อย่าเพิ่งมีผลบังคับใช้ เพราะจะได้แถลงความจริงให้ประชาชนรับทราบ
“ใจผมยังไม่อยากให้รัฐธรรมนูญออกมาตอนนี้ อยากให้พิสูจน์ความจริง สังคมจะได้เห็นประจักษ์ว่าผมได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เหมือนกับเอาหลักฐานมาแฉกันเลย เพราะเรื่องนี้ข้าราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงต่างให้ข้อมูลมา”นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับกรณีที่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญวิธีพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะไม่นับอายุความของนักการเมืองที่หนีคดีนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กฎหมายใดก็ตาม ควรต้องมีบทบัญญัติที่เท่าเทียมกันทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่ควรยกเว้นให้ผู้หนึ่งผู้ใด หากทำเช่นนี้ได้ ความสามัคคีปรองดองจึงจะเกิดขึ้น และกรณีของข้าราชการประจำ หากทำผิด ควรจะมีบทบัญญัติที่รุนแรงกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ เพราะอยู่นาน นักการเมืองมาแล้วก็ไป

มีชัย เผยเตรียมกำหนดให้พิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลับหลังได้


ประธาน กรธ. เผย เตรียมกำหนดลงใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ชี้เป็นไปเพื่อความรวดเร็ว ย้ำเพราะนักเมืองบางคนหนีคดีไปต่างประเทศ แต่ยังส่งทนายมาฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม

9 มี.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า เท่าที่พิจารณาในเบื้องต้น มีแนวโน้มจะกำหนดให้สามารถพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องยกเว้นการนับอายุความในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปศาล ตามร่างของศาลที่เสนอมา เพราะการใช้วิธีไม่นับอายุความ เกรงว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจมีผลกระทบต่อพยานหลักฐาน
ประธาน กรธ. กล่าวว่า การดำเนินคดีกับ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความจำเป็นต้องใช้มาตรฐานสูงกว่า ประชาชนทั่วไป เพราะการดำเนินการของนักการเมือง มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตส่วนใหญ่เมื่อทำผิดแล้วมักจะหนีคดีไปต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่ในทางกลับกันสามารถส่งทนายความไปฟ้องร้องคนอื่นได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม
“ไม่ถือเป็นการริดรอนสิทธิ เพราะไม่ได้ห้ามนักการเมืองมาสู้คดี แต่หากไม่มี ก็ต้องให้พิจารณาคดีได้ ไม่เช่นนั้นคดีจะค้างอยู่ที่ศาลจำนวนมาก แต่ในทางกลับกัน นักการเมืองที่ทุจริตได้เงินไปมาก ๆ หนีคดีไปต่างประเทศ ยังสามารถส่งคนมาฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับคนอื่นเหมือนกัน” มีชัย กล่าว
มีชัย กล่าวว่า เรื่องของอายุความในคดีต่าง ๆ นั้นยังคงมีอายุความ 10 ปี มีเพียงกรณีเดียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ คือการแปรญัตตินำเงินงบประมาณไปให้ ส.ส. ใช้โดยมิชอบ ที่กำหนดให้มีอายุความเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีเป็น 20 ปี
ทั้งนี้เมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะใช้กับคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยไม่มีผลย้อนหลัง เว้นแต่กรณีที่เป็นคุณ อย่างเช่น การให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอุทธรณ์ได้ ทั้งข้อกฎหมายและหลักฐานใหม่ กรณีที่ไปศาล

สรุปไอเดียปรองดองเพื่อไทย 6 ตัวแทนพรรคเสนอ 6 หลักการ เน้นให้อภัย ปัดพูดเรื่องนิรโทษกรรม


6 แกนนำพรรคเพื่อไทย ถกเวทีปรองดอง ยันไม่ได้เสนอเรื่องนิรโทษกรรม แต่ขอให้มีการให้อภัยต่อกัน ระบุฝ่ายกระทำต้องขอโทษ แนะตั้ง กรรมการอิสระดำเนินการปรองดอง พร้อมขอ คสช. ดำเนินการด้วยความจริงใจ และยึดหลัก "นิติธรรม"
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ได้เข้าเสนอข้อคิดเห็นเสนอแนวทางสร้างความปรองดอง 10 ประเด็น กับพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ
โดยในครั้งนี้มีตัวแทนพรรคเพื่อไทยเข้าให้ความเห็นประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยตัวแทนแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้แก่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, โภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย, ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, ชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมพูดคุย
โภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการให้ข้อคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหมว่า หากจะให้การปรองดองประสบผลสำเร็จ รัฐบาล และ คสช.ต้องมีความจริงใจ ยึดหลักนิติธรรม พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในอดีต พร้อมทั้งขอให้หยุดใช้วาทกรรมการใส่ร้าย และเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการอิสระที่มาจากทุกภาคส่วน เน้นความจริงใจ ไม่มีอคติ และให้อภัย 
โภคิน กล่าวอีกว่าหากมองในมุมกว้างคู่ขัดแย้งทางการเมือง อาจรวมถึงคู่ขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนยากจน คู่ขัดแย้งที่อยู่ในอำนาจมีทั้งพรรคการเมือง กองทัพ และราชการ ที่ได้ประโยชน์แฝง รวมทั้งประชาชนที่ต้องการใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น คู่ขัดแย้งไม่ได้มีเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ หรือ เสื้อเหลือง เสื้้อแดง แต่ต้องถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้ 
รวมทั้งควรปฏิรูปให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบองค์กรยุติธรรม ทั้งศาล และองค์กรอิสระ ควรมีความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด อย่าให้รู้สึกว่าเกิด 2 มาตรฐาน ทุกองค์กรต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจให้ถูกต้อง โดยหลักทุกคนต้องหยุดเฮทสปีช และองค์กรของรัฐอย่ามีอคติในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ที่ผ่านมาประมาณ 1 เดือน เห็นความตั้งใจที่ดีของรัฐบาล แต่ยังอยากให้กระบวนคงอยู่แม้มีการเลือกตั้ง หากมีคณะกรรมการอิสระซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ 
เมื่อถามว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยถึงตัดสินใจเข้าร่วมการปรองดองในครั้งนี้ นายโภคินกล่าวว่า เพราะสังคมตระหนักแล้วว่าเราจะอยู่ในความขัดแย้งต่อไปแบบนี้ไม่ได้ และไม่เกี่ยวว่าใครเป็นคนริเริ่ม ส่วนข้อเสนอของพรรคได้หารือกับนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น ไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น แต่ได้สอบถามความคิดเห็นจากหลายๆ คน พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิชาการ
"ผมหวังว่าเวทีปรองดองครั้งนี้จะไม่ใช่แค่พิธีกรรม และขอให้นักวิชาการ สื่อมวลชนเสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรี ทำนองเดียวกันหากการปรองดองในครั้งนี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ก็จะตอบโจทย์การปรองดองไม่ได้ ส่วนการลงนามข้อตกลงการอยู่ร่วมกันในอนาคต ผมคิดว่าเรายังไม่ควรพูดถึงอนาคต เราไม่รู้ว่าอนาคตต่อไปจะเป็นเช่นไร เลยไม่อยากเอาอนาคตมาทะเลากัน" นายโภคินกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายโภคิน ย้ำว่าวันนี้ไม่มีการพูดถึงการนิรโทษกรรม เพราะมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจในเชิงหลักการ และวิธีคิดให้ตรงกันก่อน เพราะอาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องเป็นฝ่ายให้อภัย ส่วนสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงกระทำคือ ขอโทษ และการที่พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมการปรองดองครั้งนี้เป็นเพราะต้องการให้ประเทศเดินหน้า ไม่เกี่ยงว่าทหาร หรือใครเป็นผู้จัด เพราะหากปฏิเสธก็เท่ากับไม่อยากเห็นการปรองดองอย่างแท้จริง 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารเรื่องหลักการและแนวทางการปรองดองของพรรคเพื่อไทยที่เสนอต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ประกอบด้วย 6 ประเด็น คือ
1.ปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองเกิดความสำเร็จ รัฐบาลและ คสช.ต้องจริงใจในการดำเนินการ มีความเข้าใจและมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในกระบวนการปรองดอง และปราศจากอคติ
2.การปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมเช่นไร โดยระบุให้องค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องยึดหลัก "นิติธรรม" ในการปฏิบัติหน้าที่ และสิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ "การให้อภัย" ซึ่งต้องเป็นไปในสองแนวทาง ดังนี้ หนึ่ง-ผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องเลิกคิดหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องไม่ย่ำยีผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งอีกต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อของความขัดแย้งต้องปรับจิตใจตนเอง โดยยอมรับการให้อภัยต่อผู้ที่กระทำต่อตน สอง-ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ นั่นคือการนำการให้อภัยไปสู่การปฏิบัติต่อไป
3.ค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อการยอมรับและนำไปสู่การแก้ปัญหา
4.การกำหนดคู่ขัดแย้งต้องไม่พิจารณาแบบอัตวิสัยเพื่อโทษบางคนบางกลุ่ม หรือมุ่งไปที่สองพรรคการเมืองใหญ่ และกลุ่มอิทธิพลใหญ่คือ กลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่ม กปปส.และกลุ่มคนเสื้อแดง
5.กระบวนการในการสร้างความปรองดอง ต้องพิจารณาและยอมรับในสาเหตุร่วมกัน, การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และการหามาตรการเสริม "หลักนิติธรรม" เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต
6.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ควรจัดตั้ง "คณะกรรมการอิสระ" ที่มาจากทุกภาคส่วนมาเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการปรองดอง ต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งร่วมเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างเสรี และผลสรุปของแนวทางการสร้างความปรองดอง ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐานของการคำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียม ผูกพันกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ใช่เกิดจากการบังคับด้วยอำนาจ
ด้านพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้แถลงข่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 6 - 8 มี.ค. มีพรรคการเมืองที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคภราดรธรรม พรรคพลังพลเมือง พรรคพลังประเทศไทย และพรรคเพื่อไทย โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเอง ให้เกียรติซึ่งกัน มีความสร้างสรรค์และมุ่งมั่นในการเสนอทางออกให้กับประเทศ ซึ่งแต่ละพรรคต่างเอาใจช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการเกิดความปรองดองในครั้งนี้ ทั้งนี้การแถลงผลทุกครั้ง มาจากความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็นมิใช่ความคิดเห็นส่วนตัวหรือการสรุปเรื่องส่วนตัวแต่เป็นความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า พรรคการเมืองมองเรื่องการปรองดองว่า ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติของสังคม ซึ่งทุกพรรค เห็นประโยชน์ร่วมกันในการเดินหน้ารับทราบความจริง และหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน โดยการเปิดกว้างให้พรรคการเมือง ทุกฝ่าย แสดงความคิดเห็น หาทางด้วยกันด้วยใจเป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับของประชาชนที่ช่วยกำหนดทิศทาง เพื่อหาทางออกร่วมกัน และให้ความรู้สึกที่เท่าเทียมในสังคม
พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองมองอีกว่า การปรองดองจะต้องรับฟังจากผู้ระดับ ทุกภาคส่วน และทุกพรรคการเมืองเห็นร่วมกันว่าควรจะทำให้เกิดความสำเร็ จและขอให้มีความจริงใจ มีสายกระบวนการองค์ความรู้ที่ถูกต้อง โดยไม่มีอคติ มีความจริงจัง และไม่อยากให้เสียโอกาสในการทำงานครั้งนี้ เพราะเป็นการเริ่มต้นของการวางรากฐานการปรองดองที่จะพัฒนาไปสู่กระบวนการปรองดองในระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งอยากให้กำหนดเป็น road map เพื่อให้เกิดการยอมรับทุกฝ่าย โดยมีการเสนอกันว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้หลักนิติธรรม หลักการให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยไม่มีอคติและขอให้ใช้ข้อมูลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อหาทางออกและอยากให้กระบวนการปรองดองมีอิสระ เปิดกว้างรับฟังทุกฝ่ายนำไปสู่ข้อสรุปปรองดองที่ยอมรับและมีความไว้วางใจร่วมกัน

พล.ต.คงชีพ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนโครงสร้างความขัดแย้งพรรคการเมืองมองว่า เป็นโครงสร้างเชิงระบบซึ่งมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงภาคการเมืองเป็นผู้ขัดแย้งเท่านั้น ทุกฝ่ายต้องทบทวนตัวเองว่ามีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างไร และยังมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก ที่คั่งค้างจำเป็นต้องใช้เวลา แล้วทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องก้าวเดินร่วมกัน ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การเคารพและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นธรรม ใช้ระบบ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาร่วมแก้ปัญหาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และให้อภัยซึ่งกันและกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการอย่างจริงจัง ทั่วถึง เป็นธรรมและจำเป็นจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ฉะนั้นการปฏิรูปจำเป็นจะต้อง ดำเนินการทุกฝ่าย เริ่มจากการปฏิรูปตัวเองไปไปพร้อมๆกัน ทั้งพรรคการเมือง ส่วนราชการรวมถึงกองทัพ กระบวนการยุติธรรม ภาคเศรษฐกิจกลุ่มทุน ภาคสังคมในทุกมิติ
“การให้ข้อมูลของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ มีความตั้งใจจริงและจริงใจที่จะนำเสนอข้อมูลที่เกิดประโยชน์ และการพูดคุยเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะดำเนินการเดินหน้าการสร้างความปรองดองสู่กระบวนการประชาธิปไตยต่อไป ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีการเสนอการให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้พูดถึงการนิรโทษกรรม พร้อมยื่นเอกสารให้กับกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ส่วนจะมีจดหมายแทรกของ อดีตนายกรัฐมนตรีมาด้วยหรือไม่นั้นผมไม่สามารถตอบได้ และยืนยันว่าการพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีการเสนอในเรื่องของการ อภัยโทษ” พล.ต.คงชีพ กล่าว
ด้าน พล.อ.ต.รังสรรค์ เยาวรัตน์ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาคนั้น ได้ดำเนินการคู่ขนานไปกับศูนย์กลาง ปัจจุบันมีการดำเนินการในหลายพื้นที่ มีประชาชนสนใจเข้าร่วมทุกภาคส่วน โดยบรรยากาศทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในขณะนี้จังหวัดที่ได้มีการกำหนดให้เข้ารับฟังความคิดเห็นมีจำนวน 39 จังหวัด เหลือเพียง 37 จังหวัดที่อยู่ระหว่างการประสานงานกับกลุ่มที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.)คาดว่าจะสามารถกำหนด ให้ทั้ง 76 จังหวัดได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ครบภายในสัปดาห์นี้ สำหรับในวันที่ 9 มี.ค.เวลา 13.30 น.พรรคประชาธิปไตยใหม่จะเดินทางมาแสดงความคิดเห็น ในขณะที่วันที่ 10 มี.ค.เวลา 09.00 เป็นต้นไป จะมี 3 พรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคเพื่ออนาคต พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคถิ่นกาขาว เข้าเสนอความเห็น ในขณะที่กลุ่มนปช.จะเข้าเสนอความเห็น วันที่ 15 มี.ค. และ กลุ่มกปปส.วันที่ 17 มี.ค.