วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

วิษณุ เผยไต๋ ประธานยุทธศาสตร์ชาติในอนาคตอาจเป็นคนเดียวกับวันนี้คือ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'


วิษณุ เครืองาม บรรยายพิเศษให้กับข้าราชการกว่า 1,200 คนฟัง เพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าประเทศไทยตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระบุอย่านึกว่า พลเอกประยุทธ์ไปแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนไป เพราะรัฐธรรมนูญระบุหมดแล้วว่ารัฐบาลใหม่ต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 ที่ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  มีจัดการปฐมนิเทศการอบรมหลักสูตรการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ซึ่งภายหลังจากเสร็จพิธีเปิด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 แห่งร่าง รธน. ไทย พ.ศ. ....”
วิษณุ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมีการจัดอบรมดังกล่าวขึ้นว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นนับตั้งแต่นี้ไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นบางส่วนเกิดจากรัฐบาลเองที่เป็นผู้ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ความเปลี่ยนแปลงบางส่วนก็เกิดจากกระแสความต้องการของสังคม และกระแสของโลกหรือที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์
วิษณุกล่าวด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้อาจจะไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล และก็อาจจะไม่ได้เป็นกระแสความต้องการของสังคม หรือกระแสความต้องการของโลก แต่จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงแม้ว่าเราจะชอบหรือไม่ จะต้องการหรือไม่ ก็ไม่อาจขัดขวางได้ และความเปลี่ยนแปลงนี้ คือกระแสอันเกิดจากกฎระเบียบนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังจะมีผลใช้บังคับ จนกระทั้งถึงพระราชบัญญัติใหม่ๆ หลายฉบับ
วิษณุกล่าวต่อว่า ในชีวิตตั้งแต่รับราชการมา จนถึงวันนี้อาจจะไม่เคยพบเคยเห็น และไม่เคยนึกเคยฝันด้วยซ้ำไปว่า การปฏิบัติราชการต่อไปนี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกามารยาทที่ผิดแบบไปจากเดิม คำว่าผิดแบบไปจากเดิมนั้นบางครั้งทำให้ยุ่งยากกว่าเดิม แต่บางครั้งทำงานให้ง่าย และสะดวกกว่าเดิม อาจจะมีความคล้องตัวมากขึ้น ทั้งหมดคือกระแสความเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ท่านนายกฯ มีดำริว่าทำอย่างไรให้ผู้บริหารของเราทุกระดับสามารถรับรู้เข้าใจ ในกระแสต่างๆ และปฏิบัติงานได้ถูกต้องซึ่งเป็นเป้าหมายประการที่หนึ่งของทุกหลักสูตร คือการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ความมุ่งหมายประการที่สองให้ทราบว่า การทำงานต่อไปนี้อาจจะทำงานอย่างที่เคยทำไม่ได้ แต่ผู้ทำงานจะต้องเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง
วิษณุกล่าวต่อว่า ความมุ่งหมายประการที่สามของหลักสูตรการอบรมข้าราชการต่างหลักสูตรต่างๆ กว่า 1,200 คน คือต้องการให้ท่านทั้งหลาย ซึ่งแต่ละท่านรับผิดชอบหน่วยงานของตน สามารถทำงานแบบประสานกัน หรือที่เรียกว่าบูรณาการ เป็นการบูรณาการแบบจับมือประสานกันทำงานร่วมกัน เป็นการทำงานแบบสอดประสานกันระหว่างภาคประชาและภาครัฐ ในส่วนของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะทำอย่างไรที่เกิดการทำงานแบบบูรณาการ สิ่งที่ต้องทำคือการปรับให้ทุกคนอยู่บนฐานความรู้เท่าๆ กัน
วิษณุกล่าวต่อไปว่า การบริหารของรัฐ หรือการบริหารราชการ บริหารแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ว่าจะสมัยนี้ หรือสมัยหน้า ภารกิจหลักของรัฐบาลทุกชุด และทุกประเทศคือ การบริหารประเทศ และจะทำอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าเป็นการบริหารประเทศคำตอบมีสามอย่างคือ 1.ปกครองและพัฒนา 2.ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรา 3.แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
วิษณุกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในเวลานี้ และรัฐธรรมนูญฉบับหน้าที่ได้มีการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไปแล้ว และก็จะพระราชทานได้ในเร็ววัน หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับประชามติ ได้กำหนดเอาไว้เหมือนกันแสดงว่านี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญต่อไป คือกำหนดว่านอกจากรัฐบาลจะต้องมีหน้าที่บริหารประเทศ สิ่งที่จะต้องทำเพิ่มเป็นข้อที่ 4 คือการปฏิรูป
วิษณุกล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่เคยมีการระบุถึงการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ หรือให้กฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่บังคับให้มีการปฏิรูป รัฐบาลบางชุดเคยพูดถึงเรื่องปฏิรูประบบราชการ บางชุดพูดถึงการปฏิรูประบบการศึกษา บางรัฐบาลพูดถึงสาธารณสุข ทั้งหมดที่ผ่านนั่นเป็นเรื่องที่ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง แต่จากนี้ต้องมีการปฏิรูป รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วในหมวด 16 ว่ารัฐบาลจะต้องปฏิรูปประเทศทั้ง 7 ด้าน
วิษณุระบุต่อไปว่า 1.จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง 2.จะต้องปฏิรูประบบราชการ 3.จะต้องปฏิรูปกฎหมาย 4.จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 5.ปฏิรูปการศึกษา 6.ปฏิรูปเศรษฐกิจ 7.ปฏิรูปอื่นๆ และก็บอกว่า 7 ด้านนี้ให้ทำอย่างไรใครเป็นคนทำ และต้องเริ่มภายในเวลาใด เช่นการศึกษาต้องเริ่มภายใน 60 วัน แล้วต้องเสร็จภายในเวลาใด เพราะฉะนั้นท่านที่เป็นนักบริหารทั้งหลายในที่นี้ก็จะได้อยู่ได้ทำสิ่งเหล่านี้
“รัฐบาลจะอยู่หรือจะไปนั้นไม่แปลก แต่สุดท้ายท่านก็ต้องอยู่และทำต่อไป จะนึกว่าประยุทธ์ไม่อยู่ ประยุทธ์ไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างเปลี่ยนก็เอาไว้รอรัฐบาลใหม่ เขาอาจจะคิดอีกแบบ รัฐบาลไม่มีสิทธิคิดอีกแบบเพราะว่า ป.ย.ป เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญบังคับให้ทุกรัฐบาลต้องทำ”
วิษณุอธิบายต่อว่า ป ตัวแรกคือ ปฏิรูป นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ยังกำหนดเรื่อง ย คือเรื่องยุทธศาสตร์ด้วยการกำหนดว่าเนื่องจากประเทศไทยไม่เคยว่ายุทธศาสตร์ระยะยาวเอาไว้ ยาวที่สุดเคยวางไว้ 5 ปี ตามขั้นตอนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งถึงทุกวันนี้มีมาถึงแผนที่ 12 แต่ละแผนมีระยะเวลา 5 ปี และต่อไปประเทศจะก้าวต่อไปแบบใดคำตอบคือรอแผน 13 ซึ่งยังไม่ได้ทำ ขณะที่วันนี้กระแสโลก กระแสนักลงทุน กระแสคนไทยด้วยกันเองอยากรู้ว่า 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปีประเทศไทยจะเดินไปสู่ทิศทางใด เป้าหมายคืออะไร การต่อต้านทุจริตจะทำอย่างไร การจัดระบบที่ดินจะเป็นอย่างไร
“ช่วยบอกให้รู้เป้าหมาย 10 20 ปีได้ไหม จะได้เตรียมการถูก สิ่งเหล่านี้ไม่เคยบอกกัน รัฐบาล ทุกรัฐบาลอยากบอกแต่มีข้อจำกัดบอกไม่ได้ แต่วันนี้เป็นเรื่องที่ต้องบอก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตร 65 ว่าประเทศไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ส่วนจะเอากี่ปีบอกไปแล้ว บอกไปเลยว่าให้ประชาชนรู้ว่าจะเดินไปสู่เทศทางใด และมีเป้าหมายอะไร เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะต้องพูดถึงเรื่องยุทศาสตร์”
สำหรับ ป ตัวสุดท้าย วิษณุกล่าวว่าคือ การสร้างความสามัคคีปรองดอง รัฐบาลจะต้องมีกลไกขึ้นมาช่วย แต่เพื่อให้ทำงาน 4 เรื่องนี้ คือ บริหาร ปฎิรูป ยุทธศาสตร์ และปรองดอง สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วทันใจ รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจึงจำเป็ตต้องมีกรรมการขึ้นมาอีกชุด ซึ่งอย่างจะเรียกได้ว่าเป็น ครม.น้อย ซึ่งก็คือ ป.ย.ป. ซึ่งเป็นกลไกที่จำเป็นต้องมี และต้องมีตัวช่วยรองรับการทำงานอีก 4 ด้าน
“เราเชื่อว่าวิธีออกแบบการงานแบบนี้จะทำให้ภารกิจของรัฐบาล 4 ด้าน คือ ด้านบริหาร ด้านปฏิรูป ด้านยุทธศาสตร์ และ ด้านปรองดอง ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หากทำงานโดยการอาศัยคณะรัฐมนตรีตามปกติเพียงชุดเดียว เมื่อปูพื้นให้เห็นถึงภาพใหญ่ เราอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วไง เมื่อระดับชาติเป็นยังนี้เราต้องการให้กระทรวงและจังหวัดจำลองรูปแบบนี้ไปใช้ในหน่วยงานของตนเท่าที่สามารถทำได้ นั้นคือ กระทรวงจะต้องคิดมิติในการทำงาน ต่อไปนี้จะเป็น กระทรวงเกษตร กระทรวงอุสาหกรรม กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงยุติธรรม หรือหน่วยที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงใด หรือสำนักงานที่สังกัดสำนักนายก จะเป็น ปปส ปปท จะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแม้แต่กองทัพ”
วิษณุกล่าวต่อว่า ภารกิจในการสร้างความสามัคคีปรองดอง ถ้าเกิดปัญหาต่าง ๆ นั้นไม่มีในหน่วยงานของตนเอง ก็อาจจะไม่ต้องไปให้ความสำคัญมากเพียงใด ให้ตระหนักแต่ไม่มีอะไรที่จะต้องตื่นตระหนก แต่ในเรื่องของปฏิรูปหรือยุทธศาสตร์ หนีไม่พ้น เนื่องจากการปฏิรูปนั้นนอกจากรัฐธรรมมนูญจะกำหนดเอาไว้ว่า ต่อไปนี้ประเทศไทยต้องปฏิรูป 7 ด้าน เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ว่าใน 7 ด้านมีกระทรวงของตนเอง ไปอยู่ในด้านไหน กระทรวงยุติธรรมอาจจะต้องตื่นตัวหน่อยเพราะไปเกี่ยวกับการปฏิรูปกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมและกระทรวงสาธารณะสุขก็อาจจะต้องตื่นตัวเพราะอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในช่องของการปฏิรูปอื่นๆ ที่ยกตัวอย่าง เช่น สาธารณะสุข กระทรวงศึกษาธิการ ต้องตื่นเต้นทั้งกระทรวง มหาวิทยาลัยทั้งหมดต้องตื่นเพราะมหาวิทยาลัย เพราะเราเข้าไปอยู่ในช่องปฏิรูปที่ตรงที่สุดนั้นคือการศึกษา
วิษณุกล่าวต่อว่า ลำพังการปฏิรูป 7 ด้าน ก็หนักหนาเพียงพอแล้ว แต่อาจจะต้องหนักไปกว่านี้อีก เพราะขณะนี้ วันนี้ และเวลานี้รัฐบาลได้มีการประชุมร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประชุมร่วมกับ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ มีการจับมือทำงานร่วมกันค้นพบว่า แม้จะต้องปฏิรูประเทศ 7 ด้าน แต่ก็เป็นด้านที่ใหญ่ๆ ทั้งนั้น แต่เราสกัดด้านย่อยๆออกมาเพื่อที่จะทำโดยเร่งด่วน ที่ต้องทำเฉพาะหน้า มีทั้งหมด 27 เรื่อง ที่เรียกันว่า 20 ประเด็นปฏิรูป
“27 เรื่อง ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งคิดและฝันขึ้นมา อะไรที่สามารถทำได้ทันทีโดยที่ไม่มีกฏหมายบังคับว่าต้องทำ อะไรจะต้องมีพระราชบัญญัติต้องรีบออก อะไรที่มันด่วนมากจนพระราชบัญญัติก็ออกได้ช้า อะไรที่ออกเป็นพระราชกำหนดก็ยังช้าอยู่ดี เพราะว่ามีอะไรที่เร่งด่วนที่เกี่ยวกับพันกับตัวบุคคลซึ่งอาจจะต้องใช้ มาตรา44 ทั้งหมดคือกลไกที่จะขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูป 27 ประเด็น”
วิษณุกล่าวต่อไปว่า เมื่อรัฐธรรมนูญได้มีการประกาศใช้ ในวันใดจะต้องมีการออกพระราชบัญญัติมาฉบับหนึ่งมีชื่อว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวางแผนเกี่ยวกับการปฏิรูประเทศ 7 ด้าน กฏหมายที่ว่าต้องประกาศออกมาใช้ให้เสร็จภายในระยะเวลา 4 เดือน ยุทธศาสตร์ชาตินั้นคือเป้าหมายของชาติ และของประเทศชาติทั้งประเทศ แต่ประเทศประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ วันนี้เราอยากเห็นยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตร สำนักงาน ก.พ. กระทรวงกลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในวันใด นอกจากจะต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดวางแผนปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 4 เดือนต้องมีการออก กฏหมายาฝาแฝดอีก 1 ฉบับ พระราชบัญญัติวางแผนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลา 4 เดือน พอพระราชบัญญตินำออกมาใช้ในอีก 4 เดือนข้างหน้า ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ชุดหนึ่ง อาจจะมีการจัดแบ่งกรรมการในด้านต่าง ๆ แต่กรรมการยุทธศาสตร์ 1ชุด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะกำหนดวางแผนโดยตัดสินใจวางแผนยุทธศาสตร์ชาติให้เห็นไปไกลถึงระยะเวลา 20 ปี เพื่อครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4 แผนข้างหน้า
วิษณุกล่าวต่อว่า วันนี้รัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติก่อนชั่วคราวดังนี้ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านสักกายภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ ยุทธศาสตร์ในทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ในด้านคุณภาพคนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบระเบียบราชการให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว
“ประธานยุทธศาสตร์ข้างหน้าอาจจะเป็นคนเดียวกับวันนี้คือ นายกรัฐมนตรี จึงหวังว่ายุทธศาสตร์ชาติจะยังคงอยู่ และจะไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 20 ปี จะมีส่วนไหนเข้าไปต่อเดิม ก็ค่อยว่ากัน โดยรัฐบาลใหม่ที่จะเลือกตั้งเข้ามา ไม่ต้องกลัวว่า วันนี้ พลเอกประยุทธ์ วางแผนไว้ 20 ปี ทำให้รัฐบาล 20 ชุดต้องจำนนอยู่ในภายใต้อำนาจ ทุกวันนี้ยุทธศาสตร์ชาติต้องฟังเสียงจากประชาชน โดยที่ใครจะเปลี่ยนก็จะต้องไปฟังเสียงจากประชาชน”
วิษณุกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่จะกำหนดในวันนี้จะต้องมีการเสนอเข้าสภา และต้องให้สภาลให้ความเห็นชอบ ใครจะไปเปลี่ยนยุทธศาสตร์ 20 ปีข้างหน้าก็จะต้องทำแบบเดียวโดยการเข้าสภา รัฐบาลใด นายกชื่ออะไร เมื่อเข้ามาอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลต้องปฏิบัติตามเพราะยุทธศาสตร์ชาตินั้น ผูกมัดคณะรัฐมนตรี ผูกมัดศาล ผูดมัดรัฐสภา ผูกมัดองค์กรอิสระ แม้แต่องค์กรต่างๆ เช่น กกต ปปช ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะมีการกำหนดขึ้นในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า
“ถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนก็ถือว่าชอบ วันนี้เราอย่าพึ่งมองไปไกลถึงยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่เอายุทธศาสตร์ของรัฐบาลเสียก่อน อาจจะมอบให้คนสักคน กองสักกอง ฝ่ายสักฝ่าย ไปดูแลเรื่องความสามัคคีปรองดอง ทั้งหมดคือสิ่งที่ต้องการให้รับทราบ และถ่ายทอด กระแสความเปลี่ยนแปลงกฎบัตรกฎหมายอาจจะดูรุนแรงกว่ากระแสอื่น โดยกระแสอื่นนั้นอาจจะพอพูดผ่อนผันกันได้ แต่ถ้าเกิดเป็นเรื่องกฏหมายบังคับ จะไม่สามารถผ่อนผันได้ ต่อรองไม่ได้ ทำได้แต่เพียงต้องปฏิบัติตาม เรื่องปฏิรูปเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ถูกตรึงเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ รับบาลในระดับประเทศจึงต้องทำ ในระดับราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ต้องจำลองเอาไปทำเหมือนกัน”

ป.ย.ป. ไม่ใช่ "ประยุทธ์อยู่ต่อไป"


นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการอบรมหลักสูตร การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ เปรียบข้าราชการเป็นดั่งเป็นสะพานให้ประชาชนได้ก้าวข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก เพื่อหลุดพ้นกับดักของประเทศ พร้อมแจง ป.ย.ป. ไม่ใช่ “ประยุทธอยู่ต่อไป”
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการเปิดหลักสูตร การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “โครงสร้างและแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)” โดยมีข้าราชการระดับปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง อธิบดี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการทหารและตํารวจ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า 1,200 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้าราชการเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศ และขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด พร้อมกับจัดสรรเวลาให้ครอบครัวอย่างเหมาะสม ขอยืนยันว่าส่วนตัวมีความจำเป็นที่มายืนอยู่ตรงนี้เพื่อพูดกับทุกคน ทั้งนี้เพราะในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการเก่า จึงรู้ว่าข้าราชการมีส่วนสำคัญในการเดินหน้าประเทศในอนาคต ซึ่งขอให้ทุกคนได้คิดว่าทุกคนต้องมาช่วยกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แค่วันนี้ แต่ต้องทำต่อไปในอนาคต ดังนั้นหลักสูตรการอบรม ป.ย.ป. ไม่ใช่แค่หลักสูตรการอบรมแล้วจบ หรือมีการไปดูงานที่ต่างประเทศ แต่เป็นการอบรมเพื่อพัฒนาต่อข้าราชการทุกคน ให้เป็นผู้นำทางความคิด นำนโยบายของ ป.ย.ป. ไปขับเคลื่อนต่อในทุกระดับให้ได้ และให้ประสบผลสำเร็จ จับต้องได้จริง และต้องมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องสร้างการรับรู้ที่ดี ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ที่วันนี้แม้เปลี่ยนตัวผู้นำบางประเทศ โลกก็เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลก
“ข้าราชการคือตัวแปรสำคัญ และรัฐบาลเป็นสะพานให้ประชาชนได้ก้าวข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก หลุดพ้นจากการติดกับดักของประเทศ โดยเฉพาะจุดต่างของคำว่าประชาธิปไตยและอนาธิปไตย ที่ประเทศไทยจะต้องแยกแยะให้ได้ และการที่รัฐบาลออกกฎหมายมานั้น ไม่ใช่เป็นการกำจัดใคร แต่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะกฎหมายถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามและทุกคนมีส่วนร่วม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงที่มาของคำว่า ป.ย.ป. ว่า ไม่ใช่ “ประยุทธ์อยู่ต่อไป” แต่เป็นคำที่ตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการที่ข้าราชการจะต้องนำหลักการไปปฏิบัติ โดยจะต้องมองหาข้อเท็จจริงจากข้อมูลเชิงประจักษ์ และมีหลักคิดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งในวันนี้ยอมรับว่าสื่อโซเซียลมีเดียส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคม มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี จนทำให้เกิดความสับสน เพราะขาดหลักคิดและการไตร่ตรอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ปัญหาของประเทศขณะนี้มี 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องประชาธิปไตย ที่มีความเห็นที่แตกต่าง 2.เรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจของสังคม รวมถึงรายได้และความเป็นอยู่ และ 3.เรื่องการขาดหลักคิดที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาการศึกษา พัฒนาความคิดให้มีหลักคิดที่ถูกต้อง ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมด ประเทศไทยคงจะได้เป็นประเทศมหาอำนาจไปแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะดูแลทั้งฐานราก เศรษฐกิจขนาดใหญ่ และแม้รัฐบาลจะเดินหน้า 4.0 ก็ดูแลประชาชน ในระดับ 3.0 และ 2.0 ด้วย แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องใช้จ่ายในการลงทุน โดยจะทำควบคู่กับเศรษฐกิจฐานรากให้ก้าวพ้นกับดักประเทศปานกลางและลดความขัดแย้งให้ได้ ซึ่งถ้าเอาความขัดแย้งมาแก้ก่อน คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งวันนี้ตนมองว่าบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ส่วนจะยุติความขัดแย้งในอนาคตได้อย่างไรนั้น ป.ย.ป.จะเป็นส่วนสำคัญที่จะหาทางออกในเรื่องนี้
“ขอให้ทุกคนทำงานเต็มศักยภาพ และมีเกียรติ ช่วยสร้างความเข้าใจและทำความดีให้กับแผ่นดินให้มากที่สุด ในปี 2560 ถือเป็นปีสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง และจะพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเสนอความเห็น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึง 10 ประเด็นของยุทธศาสตร์และนโยบายที่ ป.ย.ป. ที่เน้นการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 การสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การพัฒนาเกษตรกร อุตสาหกรรมและภาคบริการตามเป้าหมาย เสริมสร้างความเข้มแข็งผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดและ 76 จังหวัด และเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก รวมถึงวาระการปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศใน 27 ด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างอุตสาหกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและวางแผนงานให้เป็นรูปธรรม หากเกิดอุปสรรคให้เสนอขึ้นมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากข้าราชการในการพัฒนามากกว่าปกครองเพียงอย่างเดียว ต้องทำงานในการพัฒนาควบคู่กับการปกครอง ด้วยความโปร่งใส สุจริต และเป็นธรรม มีศีลธรรมอันดี

ผิดม.112 ศาลทหารสั่งจำคุก 5 ปี 6 เดือน ผช.หัวหน้า สนง.ฝ่ายเสนาธิการในพระองค์


ศาลทหารฯ ตัดสิน จำคุก 'พล.อ.ต.ชิดพงศ์ ทองกุม' 5 ปี 6 เดือน ผิด “ม.112 -ลักทรัพย์ –พ.ร.บ.ยา-พ.ร.บ.เครื่องสำอาง
ชิดพงศ์ ทองกุม
        3 มี.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ที่ศาลทหารกรุงเทพ ทางพนักงานอัยการศาลทหารมีความเห็นควรสั่งฟ้อง และสั่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งตัวผู้ต้องหา เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยมีพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.ส.4  พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. และพล.ต.ต.ณัฐแก้ว เมตตามิตรพงศ์ ผบก.ประจำ สนง. ผบ.ตร. ได้ร่วมกันเบิกตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมามอบให้พนักงานอัยการศาลทหาร เพื่อยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลทหารกรุงเทพโดยศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษา พล.อ.ต.ชิดพงศ์ ทองกุม อดีตผู้ช่วยหัวหน้าสํานักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์  ในข้อหา 
  • 1. ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา112 จำคุก 5 ปี แต่รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือ 2 ปี 6 เดือน  
  • 2. ข้อหาลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ (ม.335 (1) (8)) จำคุก 5 ปี แต่รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือ 2 ปี 6 เดือน
  • 3. ความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำคุก 1 ปี รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 6 เดือน 
  • 4. ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสาอางค์ พ.ศ.2535 ปรับ 20,000 บาท รับสารภาพ ลดโทษ กึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 10,000 บาท 
  • 5. ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสาอางค์ พ.ศ.2535 ปรับ 30,000 บาท รับสารภาพ ลดโทษ กึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 15,000 บาท รวมโทษจำคุก 4 ปี 18 เดือน ปรับ 25,000 บาท ส่วน บริษัท ริชก้าเฮริบ์เวิล์ด จำกัด และ ณพรรษร คาชุนสิงห์สิริ ผู้ต้องหาที่ร่วมกระทำ ความผิดให้การปฏิเสธ ศาลจำหน่ายคดี ให้โจทก์ฟ้องใหม่ภายใน 10 วัน
        รายงานข่าวระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมาได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปราม เพื่อให้ ดำเนินคดีกับ ชิดพงศ์ ทองกุม ในความผิดฐาน ลักทรัพย์ใน สถานที่ราชการในเวลากลางคืน และ ในวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วน ปฏิบัติการคณะทางานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงาน สอบสวน กองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาดังกล่าว กับพวก ในความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่น ประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สาเร็จ ราชการแทนพระองค์ และกองบังคับการปราบปรามการกระทาความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ดำเนินคดีในความผิดตาม พรบ.ยา และ เครื่องสำอางค์ ไว้แล้วนั้น 
 
        ต่อมาทางพนักงานสอบสวน ได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็นที่เรียบร้อย และได้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานจนเป็นที่แน่ชัด และเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากับพวกได้กระทำความผิดจริง จึงได้ขออนุมัติศาลทหาร เพื่อออกหมายจับผู้ต้องหา กระทั่งได้มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนได้สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ก่อนส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการศาล ทหารดำเนินคดี
 
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ ให้ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พล.อ.ต.ชิดพงศ์ ทองกุม ด้วย




           วันที่ 19 ก.พ. เว็บไชต์ราชกิจนุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ ให้ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปลด พลอากาศตรี ชิดพงศ์ ทองกุม ผู้ช่วยหัวหน้าสํานักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ออกจากราชการ ให้ถอดยศทหาร และเรียกคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญจักรมาลา ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560



        เนื่องจากใช้อํานาจหน้าที่ในการแอบอ้างพระปรมาภิไธย เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ขาดจรรยาแพทย์และราชสวัสดิ์ นําข้อมูลทางการแพทย์ในพระองค์ไปเปิดเผย ลักพระราชทรัพย์ ซึ่งเป็นพระราชมรดกตกทอดอันศักดิ์สิทธิ์ ขาดเวรยาม ขัดคําสั่งผู้บังคับบัญชา และไม่ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับตําแหน่งหน้าที่ รวมทั้งหย่อนยานเพิกเฉยและละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ ประพฤติตนไม่ให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทําให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งในราชการในพระองค์


           ทั้งนี้ ตามข้อ 4 (2) ของข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อน และลดตําแหน่ง ข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2502 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 ประกอบกับ ข้อ 2 ของระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดํารงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 และตามข้อ 6 และข้อ 7 (4) ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 ประกาศ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี



ธีรยุทธ บุญมี เปรียบ คสช. อยู่ 3 ปีปฏิรูปเหลวเหมือนเรือแป๊ะพายวน


           ธีรยุทธ บุญมี ตั้งโต๊ะที่ศูนย์ราชการ-แจ้งวัฒนะ วิจารณ์ คสช.-พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มา 3 ปีคนไทยได้แค่ความสบายใจ ได้นายกรัฐมนตรีคุยสนุกทุกวัน แต่ปฏิรูปเหลวเหมือนเรือแป๊ะพายวนกลายเป็น “ยุทธเรือโยง ป้อมเรือพ่วง” เตือนเข้าสู่ช่วงขาลง ศรัทธาคลอนแคลน ตั้งกรรมการสารพัดชุดแต่ไม่มีผลงาน เตือนอย่าฝืนอยู่เกินโรดแมป วางยุทธศาสตร์ชาติพลาดให้อำนาจข้าราชการเมินประชาชน หวั่นคนไทยเสพติด ม.44 เหมือน ม.17 ยุคสฤษดิ์ พร้อมห่วงไผ่ ดาวดิน
          มีนาคม 2560 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่อง "วิเคราะห์อนาคตการเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย วิพากษ์ แนะนำ วิธีคิด คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์" โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ทิศทางอนาคตการเมืองไทย
การเมืองไทยทุกสมัยเป็นการแย่งชิงอำนาจครอบงำหรือครอบนำ (hegemony) อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือการที่กลุ่มพลเรือนทหารแย่งชิงอำนาจมากจากราชวงศ์ การเมืองในช่วงถัดจากนั้นก็คือความขัดแย้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายประชาธิปไตยและสังคม-ประชาชนนิยมของปรีดี พนมยงค์ และฝ่ายอนุรักษ์และจารีตนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ของควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และฝ่ายเผด็จการของคณะทหาร จนถึงยุคพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ เกิดพลังประชาธิปไตยของนักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลาง และกลุ่มทุนย่อยขึ้นมาเพิ่มเติม ทำให้ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึงก่อนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญปี 2540 ทหารกับพรรคการเมืองต้องร่วมกันแบ่งปันอำนาจ ประชาธิปัตย์ยังเป็นตัวแทนพลังอนุรักษ์ ชาติไทย ชาติพัฒนา ความหวังใหม่ เป็นเพียงตัวแทนกลุ่มทุนเจ้าพ่อท้องถิ่น เป้าหมายเพียงเข้ายึดกุมอำนาจบริหารเท่านั้น
แต่เมื่อทุนนิยมไทยได้พัฒนาเข้าสู่ยุคตลาดเงินตลาดทุนเสรีแบบโลกาภิวัตน์ เกิดกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาด ทุนการเงิน ทุนสื่อสารสัมปทาน ขึ้นหลายกลุ่ม เกิดพรรคเพื่อไทย มีพฤติกรรมบ่งชี้ว่าจะเข้าครอบงำอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เบ็ดเสร็จ โดยอาศัยการใช้อำนาจไม่ชอบ คอร์รัปชั่น ฉ้อฉลผ่านทางนโยบาย ออก พ.ร.บ. การทำสัญญาให้รัฐเสียเปรียบ การโกงค่าคอมมิสชั่น การจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทาน ขายผลประโยชน์ของรัฐ หลีกเลี่ยงภาษี โดยอาศัยนโยบายประชานิยมดึงดูดประชาชน ให้เป็นฐานคะแนนเสียง ซื้อหานักการเมือง เทคโนแครต ตำรวจ ทหาร เข้าเป็นพวกพ้องทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มฝ่ายแก่งแย่งกันหาผลประโยชน์ จึงถูกต่อต้านจากปัญญาชน ชนชั้นกลาง กลุ่มทุนกลาง-ทุนชาติที่ต้องการระบบคุณธรรมที่ดีที่โปร่งใส พลังอนุรักษ์และจารีตนิยมซึ่งเกรงกลัวกลุ่มใหม่นี้จะเข้ามารวบอำนาจอธิปัตย์ที่ตนเองเคยควบคุมได้บางส่วน จึงกระโดดเข้าร่วมด้วย กลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้จะวิ่งเข้าสู่วิถีอนุรักษ์และจารีตนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความหวังในการปฏิรูปในระดับโครงสร้างอำนาจมีน้อยมาก เพราะผู้อยู่ในอำนาจทั้งหมดเป็นข้าราชการซึ่งจะสูญเสียอำนาจเมื่อมีการปฏิรูป เพราะถ้าไม่พิจารณาวาทกรรมของ คสช. ความเป็นจริงที่เกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ
  • (ก) การดำเนินงานของ คสช. อาศัยข้าราชการ มหาดไทย ทหาร ตำรวจทุกเหล่าเป็นหลัก
  • (ข) นโยบายต่าง ๆ เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ข้าราชการและศูนย์กลางมากกว่ากระจายอำนาจ
  • (ค) บุคลากรซึ่งถูกแต่งตั้งไปเป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นนายทหารเหล่าทัพต่าง ๆ จำนวนมาก โดยไม่มีผลงานปฏิรูปใด ๆ ทั้งที่มีการตั้งซูเปอร์บอร์ดศึกษาการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมาแต่ต้น การเปลี่ยนผู้ว่ากทม. ผู้ว่าและบอร์ดรถไฟแทนที่จะตั้งเป้าปฏิรูปองค์กร ก็เพียงแต่รับงานตามประสงค์ของ คสช. ต่อ
  • (ง) บุคลากรในแม่น้ำ 5 สาย เกือบทั้งหมดมีความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม มีผลงานที่ดีบ้างแต่ยังไม่มีที่ให้ความหวังเรื่องการปฏิรูป แต่แสดงออกชัดเจนที่จะผลักให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจต่อด้วย ดังนั้น จากเรือแป๊ะกับแม่น้ำ 5 สาย จึงเริ่มกลายเป็นยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง ลากจูงกันไป ทุลักทุเลมากขึ้น จนอาจจะเกยหาดหรือติดเกาะแก่งได้ถ้าฝืนอยู่ในอำนาจเกินโรดแมป

2.วิพากษ์ คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
1. มนต์ขลังจากภาวะบ้านเมืองสงบเริ่มเสื่อม ความมั่นใจในรัฐบาลเริ่มคลอนแคลน
ช่วงเกือบ 3 ปีหลังการยึดอำนาจโดย คสช. สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกได้ชัดเจนและนำมาซึ่งความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีความเปิดเผย จริงใจ และตั้งใจ คือ ความสงบผ่อนคลายจากแรงกดดันของวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ บ่งชี้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบที่หยั่งลึกมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลากหลายในชีวิตจริงของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข สังคมถึงแม้จะโหยหาความผ่อนคลาย ก็ต้องหวนมาทบทวนปัญหาจริงจังมากขึ้น ผลงานของรัฐบาลยังไม่ปรากฏชัดเจนพอเพียง ดูขาดพลังที่จะปฏิรูป สถานะจึงเริ่มคลอนแคลน
2. เรือแป๊ะเริ่มพายวน 2 ปีแรกรัฐบาลพูดถึงและมีมาตรการหลากหลายเรื่องความปรองดองมาตลอด เข้าปีที่ 3 รัฐบาลก็เริ่มวนซ้ำมาตั้งกรรมการปรองดอง (ป.ย.ป.) ซ้ำอีก ในเรื่องคอร์รัปชั่นและการแสวงผลประโยชน์ไม่ชอบของนักการเมือง ข้าราชการ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการรัฐประหารตั้งแต่ยุค รสช. (2534) คมช. (2549) จนถึง คสช. (2557) คณะทหารใช้วิธีซ้ำซากคือตั้งนักกฎหมายไทย 2-3 กลุ่ม ที่มีจินตนาการบรรเจิด ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ แผนการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อตนเองไม่ต้องแยกภาระการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ตัวเองต้องขัดแย้งกับนักการเมืองและข้าราชการด้วยกันเอง คสช. เองก็ตั้งกรรมการหรือสภาต่าง ๆ ขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุด กรรมการปฏิรูป 2 ชุด แผนยุทธศาสตร์เฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว โรดแมประยะต้น ระยะกลาง ระยะปลาย และยุทธศาสตร์ 20 ปี รวม 3 แผนใหญ่ ซึ่งยังไม่มีผลงานที่ให้ความมั่นใจว่าแก้ปัญหาจริงได้แม้แต่ชุดเดียว
3. คสช. ตั้งธงความคิดกับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศผิดพลาด?
  • 3.1 สงครามทางทหารมีเป้าหมายทำลาย แยกสลายกำลังของข้าศึก จากนั้นก็เข้าควบคุม ใช้จิตวิทยาให้ฝ่ายตรงข้ามยอมตามเจตจำนงของตน แต่สงครามสังคม-การเมืองมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ความคิด ตัวละคร พลวัตร ความผันแปรที่ต่างไปจากสงครามทหารอย่างมาก รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นสะท้อนยุทธศาสตร์แนวทหารขัดเจน กล่าวคือ คสช. มองว่าพรรคการเมือง นักการเมืองเป็นที่มาของวิกฤติ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ จำเป็นต้องถูกทอนอำนาจบทบาทหน้าที่ลง แต่ถ้าเราคิดอีกมุมหนึ่งคือ ความล้มเหลวที่ผ่านมาทำให้พรรคการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดวางยุทธศาสตร์ที่จะให้ภาคสังคม-ประชนชนมีสิทธิอำนาจควบคู่กับความรับผิดชอบมากขึ้น ให้กองทัพ ข้าราชการมีภูมิคุ้มกัน มีความเข้มแข็งที่จะไม่ร่วมมือคอร์รัปชั่นกับนักการเมือง แต่คอยต้านทานคัดแย้งได้ และให้ภาคสังคม-ประชาชน-เอกชนเข้มแข็ง มีอำนาจและความรับผิดชอบในการปฏิรูปและถ่วงดุลกับภาคการเมืองมากขึ้นก็ได้เช่นกัน
  • 3.2 ทหารไทยยึดถืออุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความมั่นคง อุดมการณ์ถูกต้องไม่มีข้อผิดพลาด แต่ก็มีข้อจำกัดบางด้านอยู่ ในทางสังคมศาสตร์แนวคิดนี้ก็คือทฤษฎีโครงสร้างหรือทฤษฎีระบบ ซึ่งมองว่าทุกองค์ประกอบของส่วนรวมต่างต้องอิงอาศัยกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ และจะมั่นคงถ้าทุกส่วนเหนียวแน่นสามัคคีกัน คสช. จึงมองว่าความสามัคคีเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของความมั่นคง แต่ในแนวทฤษฎีรุ่นหลัง ๆ อีกหลายแนวมองว่า ในระบบสังคม ระบบการเมืองหนึ่ง ๆ มีหลายองค์ประกอบและหลายระดับ แต่ละระดับมีบทบาทความสำคัญผิดกัน ระดับแรกเป็นส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ เหตุการณ์ในชีวิตทั่ว ๆ ไป เช่น เรื่องลอตเตอรี่ หาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ วินรถตู้ ซึ่งเกี่ยวพันเป็นอิทธิพลท้องถิ่นย่อย ๆ ระดับที่ 2 คือระดับนโยบายและการปฏิบัติงาน ระดับที่ 3 เป็นระดับโครงสร้างลึก คือโครงสร้างอำนาจ ระดับที่ 4 เป็นมิติของแก่นความเชื่อลึกซึ้งของสังคม คือความเชื่อเรื่องคุณธรรม ความดี ความเมตตาอาทร หรือภาวะที่ตรงข้าม เช่น ความเลวทรามในจิตใจหรือใต้จิตสำนึก ซึ่งมีความลึกซึ้งมากเป็นระดับฐานราก ซึ่งถ้าเกิดเป็นปัญหารัฐไทยจะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ถ้าจะบัญญัติศัพท์แบบนักเลงภาษา เราอาจเรียกข้อ 4 ซึ่งเป็นเรื่องของ ความระยำ+ระบบ นี้ว่า ปัญหาระดับระหยบ และระดับที่ 3 ซึ่งรุนแรงน้อยกว่าคือ ความเฮงซวย+ระบบ ว่า ปัญหาระดับระบวย

3.ปัญหาการปฏิรูป
1. ปัญหาที่เป็นรากฐานความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป
ประเทศจำเป็นจะต้องปฏิรูปก็เพราะมีปัญหาในระดับโครงสร้างลึกและโครงสร้างรากฐานในระดับจิตวิญญาณ ศีลธรรม และคุณธรรม จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใน 2 ระดับนี้อย่างแท้จริง เราพบสิ่งที่สะท้อนปัญหาใน 2 ระดับนี้หลายปัญหาใหญ่ด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาหาบเร่แผงลอยหรือวินมอเตอร์ไซค์ คือ
  • (ก) ประชาชนส่วนใหญ่จนซ้ำซาก ความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนคือความจนหรือความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจ ถูกซ้ำด้วยความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และทางอำนาจการเมือง จนทำให้ชีวิตตกอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ คือความทุกข์ทางชีวิต วัตถุ ที่อยู่ การเดินทาง สูงขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านตกเป็นเบี้ยทางการเมือง ผ่านการซื้อเสียง นโยบายประชานิยม การปลุกระดมได้ง่าย บ้านเมืองขาดเสถียรภาพได้ง่าย
  • (ข) กลุ่มอุปถัมภ์ระบาดไปทั่วสังคม โดยมี 2 แบบคือ กลุ่มอุปถัมภ์แบบหนี้บุญคุณในหมู่คนจน คนจนไทยตกอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ตลอดมาสมัยโบราณกาล คืออยู่ภายใต้ร่มเงาของเจ้านายขุนนาง เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ซึ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ วิถีชีวิตแบบใหม่ คนจนก็ตกอยู่ใต้ร่มเงาของข้าราชการ นักการเมือง ทุนท้องถิ่น จนเสมือนไม่มีปากมีเสียง ไม่มีตัวตน รัฐดำเนินนโยบายผ่านการตกลงกับผู้อุปถัมภ์ก็พอ จึงเกิดการบิดเบี้ยวทางนโยบายทุก ๆ ด้าน เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อคนมีอำนาจ สถานะเศรษฐกิจที่สูงกว่า ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก
  • ในระดับคนรวยก็มีกลุ่มอุปถัมภ์อภิสิทธิ์ คือการสร้างเครือข่ายคอนเนคชั่นในบุคคลผู้มีอำนาจใน 5 กลุ่มใหญ่ คือ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่อยู่ในฝ่ายยุติธรรม บริหาร นิติบัญญัติและงบประมาณ นักการเมือง ธุรกิจใหญ่และระดับนำ นักวิชาการ แทคโนแครต และวงวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ ทนายความ นักการเงินการธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ การสร้างเครือข่ายนี้มีมาตั้งแต่มีแผนพัฒนา คือเริ่มจาก วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) บ.ย.ส. หรือโครงการของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ปปร. (สถาบันพระปกเกล้า) และตามมาด้วย วตท. (สถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) (มหาวิทยาลัยหอการค้า) พตส. (สถาบันพัฒนาการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
  • (ค) การขยายตัวทั้งขอบเขตและระดับความเลวร้ายของคอร์รัปชั่น ทำให้ศีลธรรม จริยธรรมเป็นรากฐานหนึ่งของทุกสังคม ศีลธรรมและค่านิยมในบ้านเราเสื่อมลงมาโดยตลอด จากคติ ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ หรือ คนโกงกินบ้านเมืองต้องมีอันเป็นไปเปลี่ยนมาเป็น เขาจะโกงก็ปล่อยให้เขาโกงไป หรือ ปากดีเป็นศรีแก่ปาก ปากมากปากจะเป็นสี และเปลี่ยนมาเป็น ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ไม่โกงก็โง่ ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาเป็นจำเป็นต้องโกงไม่โกงจะถูกกลั่นแกล้งจนอยู่ไม่ได้

          ข้อมูลคอร์รัปชั่นที่ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อย ๆ บ่งชี้ว่ามีการคอร์รัปชั่นในขนาดใหญ่โตในระดับสูงจำนวนมากในประเทศไทย ในอดีตมีการโกงในระดับสถาบันการเงินการธนาคารกว้างขวาง เป็นต้นเหตุหนึ่งของวิกฤติต้มยำกุ้ง โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการจำนำข้าว ซึ่งเสียหายไป 7 แสนล้านบาท การซื้อฝูงบินหลายแสนล้านมาใช้ช่วงสั้น ๆ แล้วไปจอดกองทิ้งที่อู่ตะเภา คอมมิสชั่นเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของการบินไทย ปตท. การไฟฟ้า ประปา รถไฟ ขนส่ง สหกรณ์ครู สหกรณ์ชาวบ้านทั่วไป การคอร์รัปชั่นในวัด มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงเรียน กองทัพ ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ โดยที่จำนวนมาก ระบบยุติธรรมไม่สามารถนำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษได้
           การคอร์รัปชั่นมีต้นตอจากความเหลื่อมล้ำ แต่เกือบทั้งหมดดำเนินการอย่างระบบอุปถัมภ์ ในภาคนักการเมืองกับชาวบ้านยากจน มีลักษณะเป็นการคอร์รัปชั่นตรง ๆ เป็นการร่วมกันโกงกินในลักษณะการอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน ในภาคส่วนรัฐวิสาหกิจและโครงการพิเศษต่าง ๆ ในหมู่ข้าราชการ ชนชั้นนำที่มีการศึกษาสูงตำแหน่งสูง เป็นการใช้กลไกหรือวัฒนธรรมแบบ favoritism (คติเมตตามหานิยม คือ ขอมาก็มีเมตตาให้ไป เขาก็จะให้มหานิยมตอบแทนเรากลับมา) ของเครือข่ายอุปถัมภ์อภิสิทธิ์ของนักการเมือง นักเทคโนแครต ผู้พิพากษา อัยการ อธิบดีทบวง กรม สถาบันการศึกษาต่าง ๆ
         คอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องการได้ผลประโยชน์ทางทรัพย์อย่างเดียว แต่ยังมีแรงจูงใจมาจากความต้องการยกระดับไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ 5 กลุ่มดังกล่าวข้างต้นให้เฉลี่ยทัดเทียมกัน เพื่อให้กลไกสังคมของชนชั้นนำดำเนินไปได้ พวกข้าราชการ เทคโนแครต นักวิชาชีพ มีแรงจูงใจให้คอร์รัปชั่นก็เพื่อยกระดับและความมั่นคงในวิถีชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต การศึกษา อาชีพของลูกหลาน ส่วนพวกทุนใหญ่ก็เพิ่มความร่ำรวย เพิ่มเพื่อนฝูง เพิ่มความป๊อปปูลาร์ของวัฒธรรมเมตตามหานิยมอยู่ในปัจจุบัน
2. ดัชนี้ชี้วัดความจำเป็นต้องปฏิรูป
       วิกฤติต่อเนื่องก่อนการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปประเทศจนถึงการยึดอำนาจ คสช. ประเทศไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาวะการเมืองที่ใช้เรียกด้วยศัพท์ 3 คำ คือ Kleptocracy (การปกครองโดยอาชญากรโจร มาเฟียที่ครอบงำ ขโมยประเทศ) Elite capture state บวก Rentier State (การปกครองที่ชนชั้นนำยึดกุมทรัพยากรทั้งหมด และรัฐที่มีรายหลักจากการเก็บค่าเช่า ค่าจ้าง ส่วนต่างจากค่าเช่าแผ่นดิน แรงงาน เพื่อทำเขตปลอดภาษี เขตเศรษฐกิจพิเศษ จากการขายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การบริการขั้นต้น เช่น การท่องเที่ยว อัธยาศัยงดงาม การปรุงอาหาร ฯลฯ) คำสุดท้ายคือ รัฐล้มเหลว (Failed state) ซึ่งประกอบด้วยอาการ 4 อย่าง คือ 1. หมดความสามารถการควบคุมอาณาเขตของประเทศ 2. หมดความสามารถในการควบคุมภายใน ซึ่งเกิดจากการแตกเป็นกลุ่มก๊วนผลประโยชน์ ทั้งวงการเมือง วงราชการ วงสังคม ธุรกิจ ศรัทธาความเชื่อถือต่อองค์กรข้าราชการต่าง ๆ ก็หมดไป 3. ความสามารถในการจัดบริการประชาชนหรือภาคสาธารณะทั่วไปเพราะขาดงบประมาณ 4. สถานะในวงการต่างประเทศตกต่ำ ขาดความน่าเชื่อถือ สูญเสียการรับรองในที่สุด ดัชนีชี้วัดการก่อตัวของการเป็นรัฐของชนชั้นนำหัวขโมย และการเป็นรัฐล้มเหลวที่ชัดเจนคือ (1) วิกฤติการเมืองรุนแรงที่ต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปี (2) ปัญหาแยกดินแดนภาคใต้และเสียงกระเส็นกระสายในภาคอื่น ๆ (3) ความรุนแรงสังหารผู้บริสุทธิ์ในการชุมนุม (4) การฆ่าตัวตายประท้วง
4.ข้อแนะนำและความเห็นต่อบางประเด็นปัญหา
  • 1. ปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย อาจไม่มีใครทำได้ ประเทศไทยผ่านการปฏิรูปใหญ่เพียง 2 หน ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 คือการปฏิรูปวิถีชีวิตและการปกครองของไทย ครั้งที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การศึกษา การพัฒนาแรงงาน ช่าง และวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ได้ทรงสนับสนุนเต็มที่ เช่นโครงการพลังงานไฟฟ้า น้ำ โครงการชลประทาน ฯลฯ แต่บทบาทที่เป็นพระราชคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อคนไทยและทั่วโลกก็คือ การที่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการมองปัญหาการพัฒนาให้ได้เห็น คือการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) หรือการต้านทานการพัฒนา (Counter Development) เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรรมทางเลือก ฝายแนวธรรมชาติ ฯลฯ การปฏิรูปในหนที่ 3 ก็เพื่อแก้ปัญหาหมักหมมที่เกิดจากการไม่ลงตัวระหว่างรากฐานดั้งเดิมของไทย กับกระแสพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมืองของโลกสมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวหน้าไปได้ในกระแสวิกฤติการเมืองโลกาภิวัตน์ ซึ่งเท่าที่มีการเรียกร้องมาเกือบ 20 ปี มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยอาจต้องเดินไปตามบุญตามกรรมโดยไม่มีการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปเกินกำลังของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเมืองไทยก็ไม่มีวัฒนธรรมที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาใหญ่ได้ด้วยตัวเอง
  • 2. พลเอกประยุทธ์กล่าวย้ำหลายโอกาสว่าตนเองอยู่ในสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นสถานะที่มีความสำคัญยิ่ง ประเทศหรือสังคมไม่ยอมให้ใครถืออำนาจนี้โดยง่าย นอกจากองค์พระประมุขซึ่งทรงเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยขนบประเพณีและหลักรัฐธรรมนูญของทุกประเทศที่มีระบบพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว สถานะนี้จึงสำคัญยิ่งถ้าใช้ให้ถูกต้อง เพราะสามารถควบคุมระดับใช้ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และพลังของประชาชนได้ มีตัวอย่างในโรมันสมัยโบราณ 2,000 ปี วุฒิสมาชิกโรมได้เชิญให้ Cincinnatus นักการเมืองโรมันผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเกษียณอายุไปทำไร่ ให้มาเป็นผู้สั่งการ (dictator) มีอำนาจสิทธิขาดทุกอย่าง เพื่อปราบสงครามขบถ เขาใช้เวลาเพียง 15 วันเอาชนะข้าศึก จากนั้นก็สละตำแหน่งกลับไปทำไร่เหมือนเดิม ครั้งที่ 2 ก็ได้รับเชิญให้ไปทำหน้าที่คลี่คลายวิกฤติการเมืองภายในของโรม ซึ่งเขาก็ใช้เวลาไม่นานเท่าที่จำเป็น แล้วก็กลับไปทำไร่ตามเดิม ชื่อของเขาจึงเป็นตำนานและถูกนำไปใช้ตั้งชื่อเมือง สถานที่ต่าง ๆ มากมาย เพื่อสะท้อนคุณธรรม การใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจริงจังเท่าที่จำเป็นเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์อื่นใด ช่วงปัจจุบันซึ่งมองได้ว่า พลเอกประยุทธ์ได้รับมอบอำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษ เพื่อจะแก้ปัญหาที่เป็นหัวใจของห่วงโซ่ปัญหาของประเทศ จะให้ประชาชนแต่ละคนหรือบางกลุ่มลุกขึ้นมาทำก็ยังไม่พร้อม จึงยังเป็นโอกาสที่ทหารจะทำได้ แต่ก็ต้องยึดหลักว่า การปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องถือเอาการมีส่วนร่วม การขยายอำนาจ และการรับผิดชอบของประชาชนมาเป็นเครื่องค้ำจุน
  • 3. การปฏิรูปเป็นแผนการดำเนินการ (plan of action) ไม่ใช่โปรแกรมทางความคิด (program of ideas) ทางปฏิบัติยังทำได้ทีละเรื่องหรือไม่กี่เรื่อง เป็นเรื่องของศิลปะการใช้อำนาจและเจตจำนงทางการเมืองของคนนำ การเลือกเรื่องที่จะทำกับแผนดำเนินงานที่จะให้เกิดผลสำเร็จจริงประเด็นที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การเริ่มแก้ความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ ซึ่งสรุปคือปัญหาที่คนจนถูกรุมผลักไสจาก ของทุกฝ่าย ให้ถอยร่นไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ที่สุด เพราะห่างไกลโรงพยาบาล โรงเรียน ที่ทำงาน ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งคนรวยอาจใช้เพียง 1.5 ชั่วโมง คนจนบริโภคอาหารที่คุณภาพต่ำสุด เป็นของเจือปน มีสารพิษ อันตราย สังคมไทยไม่ค่อยได้ตระหนัก เงินทุกบาทที่ใช้ไปในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทุกโครงการ มีส่วนผลักไสให้คนจนจนมากขึ้น และคนรวยรวยมากขึ้น ธุรกิจบ้านจัดสรร คอนโด รถยนต์จะรุ่งเรืองขึ้น ชาวบ้านถูกผลักให้อยู่ไกลออกไปมากขึ้น โครงการรถไฟฟ้าเกือบล้านล้านบาทที่รัฐบาลกำลังจะลงเพิ่มขึ้น จะมีส่วนผลักให้กรุงเทพฯ มีออฟฟิศ คอนโด เกิดขึ้นอีกมากมาย ที่ดินราคาสูงขึ้น แผงลอย ตลาดนัด ร้านอาหาร หนังสือพิมพ์ ตัดผม ร้านขายของชำตามตรอกซอกซอยจะถูกไล่รื้อ ร้านสะดวกซื้อที่ขายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จะร่ำรวยขึ้น รถยนต์จะมากขึ้น รถจะติดมากขึ้น คนจนจะลำบากขึ้นมนทุกๆ ด้าน ถ้าเรายังมีนโยบายพัฒนาระบบคมนาคมแบบเดิมก็จะเป็นการปล่อยให้เมืองใหญ่เติบโตแบบไล่ถีบเตะคนจนไปเรื่อยๆ จนสักวันหนึ่งก็จะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทางแก้คือต้องบูรณาการเรือ รถ รถไฟ รถจักรยาน มอเตอร์ไซค์เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางกายภาพมากขึ้น เช่น ทุกโครงการใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่ ทุกสถานีใหญ่ต้องจัดสรรงบประมาณ 15-25% เพื่อพัฒนาระบบถนน รถสาธารณะเชื่อมโยงพื้นที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกัน ทุกสถานีรถไฟฟ้าต้องพิจารณาเชื่อมโยงการขยายถนนหรือเพิ่มรถสาธารณะ ต้องบังคับให้เชื่อมโยงกับรถขนส่งต่างจังหวัด รถไฟธรรมดา เป็นต้น ต้องให้ทุกองค์กรบริการท้องถิ่นจังหวัด รัฐสวัสดิการท้องถิ่นจัดให้มีรถสาธารณะเชื่อมโยงเขตอำเภอต่าง ๆ อย่างพอเพียง

         ทุกฝ่ายยอมรับว่าควรจะปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำ แต่จะทำทุกระดับทุกด้านคงเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลน่าจะพิจารณาแนวปฏิรูปแบบ 2 ทาง (dual track) คือ สร้างระบบจูงใจแล้วคัดกรองครู อาจารย์ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ที่จะเข้ามาเป็นสถานศึกษาในระบบปฏิรูป เริ่มต้นเพียงจังหวัดละ 1 แห่ง ภาคละ 1 แห่ง แล้วค่อยขยายต่อไป ทั้งนี้ควรระดมกำลังปัญญาในสังคม แก้ไขปรับปรุงหลักสูตรให้ง่ายขึ้น เหมาะสมกับโลกาภิวัตน์ด้วย
  • 4. การปรองดอง ถ้าเป็นการปรองดองในครอบครัวหรือความขัดแย้งในชีวิตประจำวันจะทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าเป็นความขัดแย้งทางความคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ (เช่น ศาสนา ชาติพันธุ์) ก็จะแก้ได้ยากขึ้นตามลำดับ หรือสงครามกลางเมืองในสหรัฐ ต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี กว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะคลายความแคลงใจและยอมรับร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน ในประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ใช้เวลาใกล้เคียงกันเกือบ 15 ปี กว่าฝ่ายซ้ายกับขวาจะเริ่มเข้าใจ พูดจา ไม่รังเกียจเดียดฉันท์กันได้

         การปรองดองจะเกิดได้จริงๆ ต่อเมื่อ 2 ฝ่ายอยู่ในฐานะที่ชัดเจนแล้ว เช่น มองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายได้ว่าแพ้-ชนะได้แน่นอนแล้ว ถ้ายื้อต่อไปจะเป็นสถานการณ์ต่างฝ่ายต่างสูญเสียเพิ่ม (loss-loss) แต่ถ้าหันมาพูดจากันจะเป็นทุกฝ่ายต่างชนะ (win-win) ที่ทำมาก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่จะได้ผลจริงๆ อาจต้องใช้เวลา ที่สำคัญคือต้องมีแนวนโยบายที่ถูกต้อง สำหรับ คสช. การสร้างความปรองดองที่ดีที่สุดคือ ทำงานของตนโดยเฉพาะการปฏิรูปให้ได้ผล จะมีผลลดทอนเลี่ยงที่จะขัดแย้งกันได้ผลชะงัดที่สุด
          ผู้เขียนประเมินว่า งานในระดับจัดระเบียบ ปัญหาพื้นผิว หรืองานเชิงเร่งรัดนโยบาย เช่น เรื่องรถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟฟ้า จะไม่ทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมเพิ่มมากนัก แต่งานในระดับโครงสร้างอำนาจหรือโครงสร้างรากฐาน เช่น การปราบคอร์รัปชั่น การเร่งรัดคดีคอร์รัปชั่นที่ค้างคา ที่รัฐเคยประกาศว่าจะจัดการให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วก็ยังไม่คืบหน้า แถมมีคดีใหม่ เช่น เชฟร่อน รถยนต์ญี่ปุ่น เลี่ยงภาษี ปตท. ไม่ยอมคืนท่อแก๊ส การปราบปรามอิทธิพลนอกระบบที่รัฐประกาศจริงจังมานานแล้วก็ไม่คืบหน้า งานในระดับนี้จึงจะดึงศรัทธาประชาชนกลับมาได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจจะนึกถึงภาพรัฐบาล ตู่ต้นเตี้ย หรือ ตู่เตี้ยลงก็มีโอกาสเป็นไปได้ก่อนจะจบตามโรดแมปของ คสช.
000

ไม่เห็นด้วยมหิดลสอบสถาบันสิทธิ ห่วงไผ่ ดาวดิน หวั่นคนไทยเสพติด ม.44

          หลังธีรยุทธ์ แถลงมีผู้สื่อข่าวถามธีรยุทธ กรณีมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งกรรมการสอบ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา หลังจากออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 โดยธีรยุทธยืนยันว่า เป็นเสรีภาพทางวิชาการ ถ้าเราเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็น ก็จะได้สิ่งที่ดีๆ มา เหมือนผมเคยอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สามารถแถลงข่าวได้ เป็นสิทธิที่จะพูดทั่วไปทั้งเรื่องที่กระทบกับสังคมและการเมือง เพียงแต่ผมคิดว่าพูดดีก็มีคนฟัง พูดไม่ดีคนก็ไม่นิยมฟัง ทั้งนี้ธีรยุทธกล่าวด้วยว่าผลงาน 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ความสบายใจ คือได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่สนุกดี คุยกับนักข่าวสนุกวัน มีผลงานหลายอันด้านจัดระเบียบและนโยบายที่คนอื่นไม่ทำ แต่เขาทำ แต่หลายเรื่องผมไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการรังแกคนจนในเมือง เช่น เรื่องคลองถม
        เมื่อมีผู้ถามว่าหลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนแล้ว สังคมไทยจะเสพติดมาตรา 44 หรือไม่ ธีรยุทธแสดงความเป็นห่วงว่า สังคมไทยเคยเสพติดอำนาจมาพอสมควร ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ใช้มาตรา 17 ยิงเป้าคนกลางสนามหลวง เราต้องให้ความรับรู้กับคนทั่วไปว่าต้องระวัง อย่าให้ความชอบธรรมกับภาวะพิเศษนี้ หรือไปเชียร์ให้ทหารปฏิวัติแบบนี้ไม่ถูก
         กรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ ท้าทายอำนาจรัฐแล้วถูกจับไม่ได้ประกันตัว ธีรยุทธกล่าวว่า กรณีของ ไผ่ ดาวดินนั้น โดยธรรมชาติแล้วรู้สึกเห็นใจคนที่ออกมาต่อสู้ทุกคน เว้นแต่คนบางคนที่ทำเพราะว่าได้สินจ้าง รางวัล ส่วนคนที่ต่อสู้ในเชิงความคิด ถึงจะคิดถูก คิดผิดอย่างไร ผมเห็นใจทุกคน ในอนาคตเขาอาจถูกก็ได้ ผมก็เคยเผชิญปัญหานี้มาก่อน
        คนจะด่าจะโจมตีก็ถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าไปตัดตรงนี้ทิ้งตั้งแต่ต้นโดยใช้อำนาจรัฐ การเปลี่ยนแปลงมันก็จะไม่เกิด เช่น การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 ทำแบบนั้น 14 ตุลาคม 2516 อาจไม่เกิดก็ได้ แต่ผมขอติงว่า บางทีบางเรื่องนั้น ทุกท่านที่เคลื่อนไหวขอให้เป็นนักยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่อยากทำงานให้สังคมอย่างยั่งยืนจริงๆ เพราะอย่างที่ผมทำ ผมก็ทำเรื่องที่ประชาชนสนับสนุน ไม่ได้ไปทำเรื่องไกลตัว หรือเรื่องที่สังคมไม่เห็นด้วย ผมก็เคารพทุกความคิด แต่ก็ต้องรับผิดชอบการเคลื่อนไหวของตัวเองด้วย แต่อย่างไรผมก็เห็นใจ จะให้ผมช่วยเรื่องข้าวปลาอาหารก็ยินดี