วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

อาเซียนไม่ใช่ของเรา #1: รัฐแสดงนำ ภาคประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วม และเอ็นจีโอปลอม




Published on Fri, 2017-11-17 19:46


เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา: สัมภาษณ์/เรียบเรียง/ภาพ
อิศเรศ เทวาหุดี: กราฟิกประกอบข่าว

          ส่วนร่วมภาคประชาชนภาพรวมที่น้อยนิด ผลักดันประเด็นไม่ได้ และข้อสังเกตด้านพัฒนาการ โครงสร้างอาเซียนไม่เอื้อการมีส่วนร่วม ชาติสมาชิกปิดประเด็นจากประชาชนเอง GONGO (กองโก้) - เอ็นจีโอปลอม (?) ตัวแทนรัฐในเวทีประชาชน ความท้าทายของประชาสังคมในการเดินหน้าไปด้วยกัน



           เรา บรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน

          รับทราบด้วยความพึงพอใจในความสําเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียน นับตั้งแต่มี การก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน

        “เรา ประชาชน (We, the people)”
เป็นคำแรกของประโยคแรกในอารัมภบทหน้าแรกของกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่รับรองกันเมื่อปี 2540 ท่ามกลางการรวมกลุ่มภายของสิบชาติในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปีนี้เป็นวาระดิถีครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งกรอบความร่วมมือภูมิภาคขึ้นมาตั้งแต่ปี 2510

ในเดือน พ.ย. ปีนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 31 ที่มีเวทีพูดคุยกับประเทศคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ รัสเซีย และองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังมีแคนาดา และสหภาพยุโรปเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกรับเชิญพิเศษของฟิลิปปินส์ผู้เป็นเจ้าภาพที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นตามกรอบเวลา ถึงแม้จะพบเจอกับการประท้วง ต่อต้านจากกลุ่มประชาชนจนถึงกับมีการปะทะกันระหว่ามวลชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงมะนิลาก็ตามที


              ภาพการจับมือในเวทีสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเมื่อวันที่ 13-14 พ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มา: flickr/The ASEAN Secretariat)

             ณ เมือง เกซอน ห่างจากกรุงมะนิลาไปราว 20 กม. ภาคประชาชนของอาเซียนก็มีการจัดเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนขึ้น (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum: ACSC/APF) เป็นการประชุมภาคประชาสังคมจากทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศติมอร์ เลสเต เข้าร่วมงานในพิธีเปิดจำนวนหลายร้อยคน คู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ






           ตลอด 50 ป่ีของการก่อตั้งอาเซียน การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการร่วมกำหนดชะตากรรมของภูมิภาคนั้นถือว่ามีน้อย นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกทั้งหลายยังมีแนวโน้มเพิกเฉยต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของ “เรา ประชาชน” แห่งอาเซียนอยู่เป็นระยะ


           คำถามที่ตามมาคือ ภาคประชาชน ประชาสังคมของอาเซียนประสบกับความล้มเหลวในการส่งเสียงของประชาชนที่ถูกกดขี่และสะท้อนปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิต่างๆ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองทางสังคม ฯลฯ หรือไม่ อะไรเป็นปัญหาที่ทำให้ท้ายที่สุด อาเซียนกลับกลายเป็นของรัฐบาลไป

           อาเซียนไม่ใช่ของเรา ตอนที่ 1 พาผู้อ่านสำรวจภาพรวมพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเวทีอาเซียน สภาพการก่อตัวของประชาสังคมที่ก่อร่างช้ากว่าอาเซียนของรัฐ ข้อสังเกต บทบาทของภาคประชาสังคมที่สนับสนุนโดยรัฐบาลในเวทีภาคประชาชนที่ส่งผลให้เกิดคำถามต่อความทุลักทุเลของขบวนภาคประชาสังคม
ส่วนร่วมภาคประชาชนภาพรวมที่น้อยนิด ผลักดันประเด็นไม่ได้ และข้อสังเกตด้านพัฒนาการ

          ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์ จากมูลนิธิส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการอำนวยการภาคประชาชนอาเซียน (Regional Steering committee) จากประเทศไทย กล่าวว่าส่วนร่วมบทบาทภาคประชาชนอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก อันเป็นผลมาจากทัศนคติของประเทศสมาชิกที่ไม่ยอมรับภาคประชาสังคม ต้นเหตุของปัญหามาจากโครงสร้างกระบวนการของอาเซียนในภาพรวมที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจทิศทางในประเด็นต่างๆ และโครงสร้างการสื่อสารในอาเซียนยังไม่มีการพูดคุยกันที่ดีพอ และไม่มีพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุย


ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์

          “(ส่วนร่วมภาคประชาชน) น้อยมาก โดยเฉพาะอาเซียนโดยรวม เราก็รู้ว่า บางประเทศไม่เปิดรับอยู่แล้ว อาเซียนเวลามีส่วนร่วมใหญ่ๆ อย่างเช่นการพบกับผู้นำเพื่อหารือก็มีบางประเทศที่ไม่ยอมรับภาคประชาสังคม” ศันศนีย์ กล่าว

         “ในกระบวนการทำเอกสารต่างๆ ของอาเซียนไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาหรือข้อตกลงจะไม่ผ่านการหารือกับภาคประชาสังคม หรือบางครั้งมีการจัดบ้าง แต่เอกสารไม่มีการแชร์ เวลาร่างแล้วก็อาจจะมีการจัดบ้างบางประเทศ แต่ในระดับภูมิภาคเกิดขึ้นได้น้อย จะมีก็แต่เมื่อตอนร่างกฎบัตรอาเซียนที่มีการพบปะ ปรึกษากับภาคประชาสังคม แต่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารรายย่อย รายเสานั้นไม่มี เขาก็บอกว่าไม่เปิดเผยเพราะเอกสารนั้นเป็นร่าง จะเปิดเผยก็ต่อเมื่อลงนามแล้ว”

           กระบวนการของเวทีภาคประชาชนอาเซียนจะเริ่มต้นจากการหารือกันถึงประเด็นปัญหาต่างๆ จากประชาสังคมที่เข้าร่วม จากนั้นจะไปสู่การร่างแถลงการณ์ร่วมกัน และหาตัวแทนจากภาคประชาชนแต่ละประเทศไปแถลงในประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งเป็นที่ๆ พวกเขาจะได้พบกับผู้นำจากชาติสมาชิก กระนั้น ศันศนีย์ระบุว่า การแถลงถึงปัญหาต่างๆ ยังไม่นำไปสู่พูดคุยต่อยอด และติดตามแก้ไขปัญหานั้นๆ ต่อไปในอนาคต การพบกันเพื่อแถลงจึงเป็นไปในลักษณะพิธีการเท่านั้น แต่ทางภาคประชาสังคมก็พยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือให้เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่ก็มีความคืบหน้าเพราะอย่างน้อยในส่วนการแถลงการณ์ก็มีการขยายเวลาแถลงการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นระยะๆ

         กฤษกร ศิลารักษ์
ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ประเด็นเขื่อนปากมูล หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีภาคประชาชนอาเซียนครั้งนี้ให้ความเห็นว่าการก่อร่างสร้างตัวของภาคประชาชนในอาเซียนเกิดขึ้นช้ากว่าการรวมตัวของอาเซียนในระดับรัฐต่อรัฐเป็นสาเหตุที่ทำให้อำนาจต่อรองยังน้อย แต่หากมองจากมุมของประเทศไทยก็พบว่ารัฐบาลพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีภาคประชาชน ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญ แต่กระนั้นภาคประชาชนยังไม่ถึงจุดที่จะผลักดันข้อเสนอให้อาเซียนทำตามได้




       กฤษกร ศิลารักษ์  ผมถือว่าภาคประชาชนรวมตัวกันค่อนข้างช้า เท่าที่รู้คือเพิ่งรวมกันไม่น่าจะเกินสิบปี ในขณะที่อาเซียนของรัฐรวมกันห้าสิบปีแล้ว การก่อรูปของภาคประชาชนที่จะสร้างอำนาจต่อรองต่อฝ่ายอาเซียนของรัฐย่อมน้อยเป็นธรรมดา ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเอกภาพยังไม่เกิดขึ้น อำนาจต่อรองย่อมน้อยอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะไทย ที่หันหน้ามาจับตาการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) ที่มาเข้าร่วมเวที ACSC/APF แทบทุกครั้งการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐก็ถือว่าเขาให้ความสำคัญ และกรณีอย่างเช่นการรับรองคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) กระทรวงการต่างประเทศก็เคยถามมาที่เวที ACSC/APF ว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าเหล่านี้คือการทีรัฐเริ่มให้ความสำคัญกับท่าทีของเวทีภาคประชาชนพอสมควร อย่างเช่นกรณีข้อเสนอปีที่แล้วที่ภาคประชาชนรับรองให้ติมอร์ เลสเตเป็นสมาชิกภาคประชาชนประเทศที่ 11 ก็ถูกนำไปถกเถียงในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ผมก็คิดว่ามันเริ่มมีการตระหนักถึงบทบาทของเวทีภาคประชาชนอาเซียนอยู่ระดับหนึ่ง เพียงแต่ข้อเสนอที่แหลมคมที่จะกระทุ้งให้อาเซียนทำตาม มันยังไม่ถึงขั้นนั้นก็จริง แต่มันก็เริ่มเป็นพัฒนาการที่รัฐก็จะนิ่งเฉยต่อเสียงทักท้วงเรียกร้องของประชาชนไม่ได้ ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพอยู่นะ” กฤษกรกล่าว

โครงสร้างอาเซียนไม่เอื้อการมีส่วนร่วม ชาติสมาชิกปิดประเด็นจากประชาชนเอง


           อีกหนึ่งปัญหาที่ถือเป็นจุดตั้งต้นการของความล้มเหลวของภาคประชาชนอาเซียนในการผลักดันให้รัฐบาลและภูมิภาคหันมารับฟังเสียงของพวกเขามาจากหลักการใหญ่ของอาเซียนสองหลักการ หนึ่ง หลักการที่ชาติสมาชิกจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่น และหลักการตัดสินใจระดับภูมิภาคด้วยระบบฉันทามติ (ทุกชาติเห็นตรงกันหมด) ที่ให้อำนาจกับรัฐบาลชาติสมาชิกในการปกปิดปัญหาและเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนไว้ใต้หลักการดังกล่าว

         “สองหลักการว่าด้วยการไม่แทรกแซงเรื่องของประเทศอื่น (Non Inteference) และหลักการตัดสินใจแบบฉันทามติ (Consensus)
นี้ถือเป็นปัญหาในการทำงาน นอกไปจากเรื่องเจตจำนงทางการเมืองของประเทศต่างๆ เราเรียกร้องได้แต่ว่าการที่อาเซียนจะเอาไปทำได้มันไปขึ้นอยู่กับหลักการใหญ่ว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ ถ้าถามว่าแล้วถ้าประชาสังคมในประเทศนั้นพบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ภาคประชาสังคมไม่สามารถมีปากเสียงในระดับประเทศหรือเรียกร้องถึงรัฐบาลได้ แต่ถ้าจะเรียกร้องไปทางอาเซียนในเวทีอาเซียนก็ไม่ได้รับการตอบสนองเพราะหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในจึงให้แต่ละประเทศจัดการกันเอง” ศันศนีย์อธิบาย

         ตัวแทนคณะกรรมการอำนวยการเวทีภาคประชาชนจากประเทศไทยยังระบุว่า กระบวนการรับฟังข้อคิดเห็นและนำไปปฏิบัติของอาเซียนในภาพรวมนั้นไม่มี แต่อาจจะมีบางประเด็นย่อยๆ เช่นการคุ้มครองทางสังคม จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานส่วนมากมาจากชาติสมาชิกเป็นสำคัญแล้วจากนั้นจึงเข้าสู่ความเห็นร่วมในเวทีอาเซียนแล้วจึงมีการลงมติร่วมกัน “เราพยายามผลักดันเรื่องมาตรฐานคนทำงานในภาพรวมของอาเซียน เราก็พยายามผสานกับทางกระทรวงแรงงานเพื่อให้เขาผลักประเด็นนี้เข้าอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกันเราก็ผลักดันจากข้างนอกให้ประเด็นมันเคลื่อนไปได้ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีการตอบรับ”

          ศันศนีย์ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาอาจมาจากความอ่อนแอของภาคประชาชนเองด้วยที่ตามประเด็นของภาครัฐบนกรอบความร่วมมืือของอาเซียนไม่ทันจนกลายเป็นฝั่งรัฐเป็นคนจัดตั้งประเด็นแล้วภาคประชาสังคมวิ่งตามอย่างเดียว “ถ้าถามว่ามีใครบ้างอ่านพิมพ์เขียวอาเซียน ถามว่ารู้ไหมว่าอาเซียนจะพัฒนาอะไร เมื่อไหร่ เราอาจจะไม่ได้ตามเอกสารเท่าใดนัก การเคลื่อนไหวของเรา เราก็มีความร่วมมือกันอยู่ เช่นประเด็นการสร้างเขื่อน ปัญหาที่ดิน ก็มีการพูดคุยร่วมกันบ้างอยู่ แต่ถ้าจะตามให้ทัน เราก็ต้องรู้ว่าเขาจะทำอะไรเมื่อไหร่ ตอนนี้เหมือนเราวิ่งตามแก้ปัญหา บางทีเราต้องศึกษาเพื่อไปดักหน้าว่า ถ้ามันจะมีจะทำให้เกิดอะไรก่อน เรียกว่าหยุดยั้งหรือชะลอมันก่อน”

GONGO (กองโก้):เอ็นจีโอปลอม (?) ตัวแทนรัฐในเวทีประชาชน ความท้าทายของประชาสังคมในการเดินหน้าไปด้วยกัน
          สภาวะการรวมตัวของภาคประชาสังคมเองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ขบวนภาคประชาสังคมอาเซียนยังขยับไปได้ไม่ไกล สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาในเวทีภาคประชาชนคือภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอที่จัดตั้ง หรือได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ (Government Non Government Organization - GONGO - กองโก้) ที่หลายคนเรียกไปจนถึงขนาดว่าเป็น “เอ็นจีโอปลอม” การปรากฏตัวและปฏิบัติการของกองโก้มีผลกับบทบาทของเวทีภาคประชาชนอาเซียนมาก และยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงต่อไปว่าใครกันแน่คือกองโก้ และกลไกการตัดสินใจในเวทีภาคประชาชนอาเซียนที่จะใช้รวบรวมความเห็นที่แตกต่างออกมาทิศทางการดำเนินงานจะทำได้อย่างไร

           ศันสนีย์ กล่าวว่า GONGO คือเอ็นจีโอที่จัดตั้งโดยรัฐ หรือรัฐควบคุม ในเวที ACSC/APF จะเห็นได้ชัดเจนจากลาวและเวียดนาม จะมีปัญหาหน่อยหนึ่ง เพราะว่าพี่น้องที่ลาวที่ทำงานเรื่องทรัพยากร ที่ดิน แบบสมบัด สมพอน เขาก็ไม่สามารถมานำเสนออะไรได้เพราะกลัวว่ากลับไปแล้วจะมีผลกระทบอะไรกับเขาหรืออาจจะถูกจับตามอง เข้าประเทศไม่ได้ ทำให้ทำงานลำบาก

          “ปัญหาของลาวกับเวียดนามก็มีความซับซ้อนระดับหนึ่ง อย่างเช่นในการประชุมครั้งนี้ที่มี NOC ของเวียดนามที่เขาบอกว่าเป็น GONGO แล้วก็มีเวียดนามที่มาจากต่างประเทศ ก็จะมีข้อขัดแย้งบนเวทีนิดหน่อย อย่างประเด็นการร่างแถลงการณ์ก็มีเนื้อหาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็คุยกับ NOC ของเวียดนามเขาบอกว่าคนเวียดนามกลุ่มมาจากต่างประเทศไม่ใช่คนสัญชาติเวียดนาม พี่ก็เลยถามว่า แล้วคุณยอมรับไหมว่ามีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นจริงในเวียดนาม เขาก็ยอมรับ แต่ก็บอกว่ามันไม่แฟร์ที่จะใส่เอาไว้ในแถลงการณ์”

        “ในการขับเคลื่อนของเราก็อยากให้เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สำหรับไทยเองก็ต้องมองดูว่า มูลนิธิสภาสังคมสงเคราะห์ หรือมูลนิธิใดๆ ที่ลงท้ายด้วยคำว่าในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นประชาสังคมหรือเปล่า แล้วเขาเป็น GONGO หรือเปล่า พี่คิดว่าเราอาจจะต้องกลับไปนั่งคุยกัน”

            กฤษกรเล่าประสบการณ์การพบเจอกับประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐว่า “ปีนี้การประชุม APF คนที่เข้าร่วมมีมาจาก 10+1 ประเทศ 1 คือติมอร์ เลสเต แต่ภาคประชาชนรับเป็นสมาชิกภาคประชาชนอาเซียนแล้ว แต่ทางการยังไม่มีการรับรอง ในกลุ่มคนที่มาจะมีอยู่สองส่วนภายใต้ความต่างระหว่างการทำงานและความเป็นอิสระของคนที่ทำงาน ภาคประชาชนในความหมายที่นิยามคือคนที่ทำงานพัฒนาที่ไม่ใช่รัฐ แต่เนื่องจากความหลากหลายของประเทศสมาชิกภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่ต่างกันทำให้คนทำงานภาคประชาชนไม่ได้แยกขาดจากรัฐ เป็นเอ็นจีโอที่ทำงานกับรัฐ ในความต่างตรงนี้ก็ทำให้ข้อเสนอที่เป็นข้อเท็จจริงที่นำมาถกเถียงกันมันมีข้อขัดแย้งกัน เช่น เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่มีการคุยกลุ่มย่อยเรื่องเหมืองแร่และพลังงาน ครั้งนั้นก็จะมีเอ็นจีโอจากกัมพูชาที่ทำงานกับรัฐ นำเสนอว่าเขื่อนมีประโยชน์และบริหารจัดการได้ ภายหลังก็มีตัวแทนชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นมาตอบโต้ว่าข้อมูลที่คุณพูดมาไม่เป็นความจริง คนท้องถิ่นไม่เห็นเช่นนั้น”

          “เอ็นจีโอที่ทำงานกับรัฐเราเลยเรียกว่าเป็นภาคประชาชนของรัฐ ไม่ใช่ภาคประชาชนที่บริสุทธิ์จริงๆ เลยเรียกขาน ตั้งสมญานามว่า GONGO ทีนี้ GONGO ที่เห็นเป็นปรากฏการณ์จะมีอยู่สามประเทศ ได้แก่กัมพูชา ลาวและเวียดนาม อย่างกรณีเวียดนามชัดเจนมาก ตอนร่างแถลงการณ์ในห้องประชุมใหญ่ก็จะมีภาคประชาชนที่ได้รับผลจากการละเมิดสิทธิฯ จนครอบครัวเขาต้องลี้ภัยในต่างประเทศ เขาก็พยายามอธิบาย เรียกร้องสิทธิ ที่เขาถูกรัฐบาลละเมิดว่ารัฐบาลเวียดนามละเมิดสิทธิเขา แต่ในขณะเดียวกัน เอ็นจีโอที่มาจากเวียดนามเองก็มองว่าเขาเป็นคณะกรรมการตัวจริง คนที่พูดไม่ได้ฟังเสียงจากคนที่อยู่ในเวียดนาม ความต่างตรงนี้ทำให้เรามองว่าพวกนี้เป็นเอ็นจีโอที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งมันไม่ใช่บทบาทของเอ็นจีโอที่ทำกัน หน้าที่เอ็นจีโอคือการสะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งที่รัฐเข้าไปละเมิดสิทธิของชุมชน คนที่ออกไปปกปิดข้อมูลส่วนนี้แล้วมองว่ารัฐบาลทำดีแล้ว สวยงามแล้ว คนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะทำในฐานะที่เป็นเอ็นจีโอหรือประชาสังคมอย่างแท้จริง เราไม่ได้มาฟังคำชื่นชมรัฐบาล แต่เรามาพยายามที่จะสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมีผลกระทบอะไรกับชาวบ้านบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีความพยายามที่จะปกป้อง (รัฐบาล)”


(ยืน)ประชาสังคมจากเวียดนามจะบันทึกภาพและวิดีโอทุกครั้งที่มีสมาชิกคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นแสดงความเห็นในเวทีหารือเพื่อร่างแถลงการณ์ร่วมกัน


           กลุ่มประชาสังคมเวียดนามที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวทีประชาชนอาเซียนเพื่อตามหานักกิจกรรมที่ถูกรัฐจับไป ประชาสังคมเวียดนามที่ทำงานเหล่านี้บางคนก็กลับเข้าเวียดนามไม่ได้แล้ว

         “อย่างกรณีของลาว คนที่จะเป็นเอ็นจีโอหรือคนที่จะมาร่วมประชุมคือคนที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาล จึงไม่มีโอกาสเลยที่ข้อมูลจะสะท้อนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ โดยรัฐ จะถูกนำมาเสนอในที่ประชุม ทุกข้อมูลที่นำเสนอก็จะพยายามบอกว่ารัฐบาล สปป. ลาว ทำนู่นนี่ดีตลอด การทำดีตลอดเป็นสิ่งที่เราควรต้องรับฟัง แต่เบื้องหลังการทำดีมันมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ถูกนำมาเสนอ”

        “มันเป็นเรื่องน่าเบื่อ คือจริงๆ แล้วรากหญ้าไม่มีพื้นที่สะท้อนการถูกละเมิดโดยรัฐบาลอยู่แล้ว แต่คนที่เอาข้อมูลมานำเสนอกลับพยายามปกป้องรัฐบาล พยายามเสนอข้อมูลสวยหรู ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่ว่าพื้นที่เลห่านั้นคือพื้นที่ของรัฐบาล ไม่ใช่พื้นที่ของภาคประชาชน คุณไม่พูดรัฐบาลก็พูดอยู่แล้ว น่าเสียดายโอกาสที่พวกเราจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงจากพื้นที่ของภาคประชาชนจากเวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมทั้งที่จะคิดค้นหาทางออกร่วมกันในฐานะพลเมืองอาเซียนมันก็ไม่เกิดขึ้น เป็นที่น่าเสียดายโอกาส”

          “ขณะนี้ผมยังไม่ได้อยากจะคิดไปว่าอันนี้คือการวางแผนมาเพื่อที่จะคว่ำบาตร แทรกแซงภาคประชาสังคม แต่พฤติกรรมหลายๆ อย่างก็ทำให้เราต้องคิดเหมือนกันว่า หรือสิ่งที่เกิดขึ้นคือการตั้งใจมาเพื่อไม่ให้เกิดข้อสรุปในขบวนของภาคประชาชนหรือเปล่า ตรงนี้น่าเป็นห่วงมากเพราะมันจะสร้างรอยปริในขบวนการภาคประชาชนเอง อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่างซึ่งบางครั้งมันหาจุดร่วมยาก แต่ผมว่าตรงนี้เป็นพัฒนาการของการเรียนรู้จากความแตกต่างทางวัฒนธรรมการทำงาน ในช่วง 2-3 ปีที่ได้เข้าร่วมขบวนการก็ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคณะกรรมการที่รับผิดชอบการจัดงานได้คิดค้นเครื่องมือในการหาจุดร่วมถึงข้อขัดแย้งของประเทศนั้นๆ แต่ทำให้มติเอกฉันท์ ฉันทานุมัติไม่เกิด มันมีความพยายามหาจุดจบของเรื่องนี้ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้อยู่ เพราะอย่างไรก็ตามแต่ ไม่น่าจะมีใครกล้าถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาคประชาชนอาเซียน การที่เขาไม่กล้าถอนตัวน่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ฝ่ายที่เป็น GONGO เองต้องเปลี่ยยนท่าที เพราะถ้าคุณหลุดขบวนไป การที่จะกอบกู้กลับเข้ามาอย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเรื่องยาก ผมคิดว่ายังมีโอกาสอยู่ว่าความเป็นเอกภาพอย่างพร้อมเพรียงกันจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะปีสองปี ซึ่งก็ถือเป็นพัฒนาการของการรวมตัวภาคประชาชนที่คิดว่าไม่นานเกินไป”

         กฤษกรตั้งข้อสังเกตต่อเงื่อนไขและบริบทของไทยในฐานะเจ้าภาพเวทีภาคประชาชนอาเซียนในปี 2562 ว่าตอนนี้ไทยยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันจนกลายเป็นปฏิปักษ์กัน “แต่อาจเป็นรูปแบบขบวนที่เห็นต่างกันเวที ACSC/APF มีจุดยืนที่มีท่วงทำนองในการถนอมและประสานงานกับฝ่ายรัฐ เป็นหลัก ซึ่งในไทยเองก็มีกลุ่มที่มีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างจะเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวมวลชน สองรูปแบบก็มีเป้าหมายเดียวกันคือปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนคนเล็กคนน้อย ความต่างของรูปแบบและวิธีการไม่น่าจะมีเหตุผลหรือปัจจัยเพียงพอที่จะทำให้เกิดการปะทะกันเอง แต่อาจจะมีความต่างของการแสดงออกในทางสัญลักษณ์ในการประชุมที่จะเกิดขึ้น ยังไม่กังวลถึงขนาดทีี่จะมี GONGO ที่สนับสนุนรัฐบาลได้”

“เรามีเวลาสองปีในการเตรียมตัว สิ่งที่คณะกรรมการต้องคิดหนักคือไม่ควรที่จะใจดีเกินไปว่าไทยไม่มีปัญหาอะไร ควรที่จะสร้างความเข้าใจที่จะดึงทุกภาคส่วนมาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ผมคิดว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น