วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

ผบ.ทบ.แจงเลิกใช้เรือเหาะ เทียบซื้อของตามห้าง บางอย่างคิดว่าดี แต่เมื่อใช้จริงอาจไม่ 100%


พล.อ.เฉลิมชัย แจงกรณีเลิกใช้เรือเหาะ ยันคุ้มค่า พร้อมให้ สตง.ตรวจสอบ เทียบซื้อของตามห้าง บางสิ่งบางอย่าง เราคิดว่าดีแล้ว แต่เมื่อมาใช้จริง รายละเอียดการใช้อาจไม่ 100% วอนเห็นใจทหารภาคใต้

 22 ก.ย. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุว่า เรือเหาะตรวจการณ์รุ่น Aeros 40D S/ N 21 หรือ sky dragon ที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น บอลลูนตอนนี้หมดอายุการใช้งานแล้ว เพราะเป็นผืนผ้า แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน โดยอาจจะนำไปติดอากาศยานแทน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังดำเนินการอยู่นั้น จนต่อมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารย์ พร้อมร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการจัดซื้อเรือเหาะดังกล่าวตั้งแต่สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น

ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ย.60) รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.เฉลิมชัย ชี้แจงการยุติการใช้เรือเหาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตั้งแต่ปี 2547 สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2551-2552 กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ออกปฏิบัติการจนทำให้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะก่อเกิดเหตุในพื้นที่ขอบเมืองและตัวเมือง กองทัพบกจึงพยายามหามาตรการที่จะดูแลความปลอดภัย จึงได้มีการจัดหาเรือเหาะ ความมุ่งหมายหลัก คือ ดูแล ตรวจการณ์พื้นที่ 3 ตัวเมืองหลัก สนับสนุนปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ซึ่งการจัดหาเกิดขึ้นในปี 2552 มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุดมาพิจารณา แต่หลังจากใช้มาได้ระยะหนึ่ง ก็มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบและสรุปว่าขั้นตอนการดำเนินการจัดหาเรือเหาะ รวมถึงราคา ไม่มีสิ่งใดผิดปกติ ทั้งนี้เรือเหาะเริ่มใช้งานปี 2553 ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ใหม่ที่กองทัพ และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนไม่เคยใช้งานมาก่อน

“ด้วยความเป็นยุทโธปกรณ์ใหม่ ในช่วงแรกอาจจะขลุกขลักอยู่บ้าง ต่อมาก็ใช้งานต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2556 ได้ประสบอุบัติเหตุจากสภาพอากาศ ทำให้ลงฉุกเฉินจนชำรุด แล้วก็ซ่อมจนใช้งานต่อไปได้ในระยะหนึ่ง ในช่วงผมเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ก็ได้ลงไปตรวจสอบการใช้งาน เนื่องจากเห็นว่าสถิติการใช้งานลดลงมาก ก็เลยให้มีการตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งพบว่าเกิดปัญหา จึงให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาความคุ้มค่าหากมีการส่งซ่อม ทางคณะกรรมการเห็นว่าตัวผ้าใบบอลลูนชำรุดตามห้วงเวลา ไม่คุ้มค่าต่อการส่งซ่อม จึงดำเนินการจำหน่ายตามขั้นตอน โดยเฉพาะตัวเรือเหาะมีมูลค่า 66 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 340 ล้านบาท โดยผมได้อนุมัติให้จำหน่ายตัวเรือเหาะไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2560” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ในความคิดของตน ถือว่าเรือเหาะมีความคุ้มค่ากับงบประมาณ เพราะหลังจากนำมาใช้ สถิติเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามลดลงเรื่อย ๆ เรือเหาะเป็นยุทโธปกรณ์ด้านการป้องปราม ซึ่งต้องสรุปอีกครั้ง แต่ในส่วนของตนยินดีและพร้อมชี้แจง

ต่อกรณีคำถามถึงเมื่อเกิดปัญหากับเรือเหาะ จะถูกโยงไปถึงเครื่องตรวจหาสารเสพติดและสารระเบิด หรือ จีที 200 ซึ่งถือเป็นตราบาปของกองทัพบก ดังนั้นกองทัพได้บทเรียนอะไรจากการซื้อ 2 โครงการนี้หรือไม่ นั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า คิดว่ากองทัพได้ประสบการณ์ แต่จีที 200 ตนไม่ทัน ไม่ได้ศึกษาในรายละเอียด

“การซื้อยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ก็เหมือนซื้อของตามห้าง บางสิ่งบางอย่าง เราคิดว่าดีแล้ว แต่เมื่อมาใช้จริง รายละเอียดการใช้อาจไม่ 100% แต่ก็สามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่ง จึงขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ และควรมองในหลายมุม อย่ามองเพียงด้านเดียว” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ไม่ได้พูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ในเรื่องนี้เป็นพิเศษ และถือเป็นเรื่องของกองทัพ ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ติดใจเรื่องนี้ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ถาม แต่ได้อธิบายที่มาของโครงการนี้แก่ตน ทั้งนี้กองทัพพร้อมให้สำนักงานตรวจงานแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ และพร้อมชี้แจงถึงกระบวนการจัดซื้อและใช้งานเรือเหาะ

“ขอยืนยันว่าการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ต้องมาจากความต้องการของหน่วย และกองทัพบกก็จะพิจารณาในรายละเอียดตามความจำเป็นและความเหมาะสม สอดคล้องกับแผนงาน ไม่เกี่ยวข้องกับนัยทางการเมือง เช่น การจัดซื้อรถถังจากจีน เพราะรถถังยูเครนประสบปัญหาล่าช้าในการส่งมอบ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น รถถังจีนก็มีประสิทธิภาพ ราคาเหมาะสม เป็นไปตามที่กองทัพบกำหนด” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น