วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ความเจ็บปวดของการ (บังคับ) รับสารภาพ : มอง ‘ไผ่’ ผ่านหนัง Fire Under the Snow




Published on Fri, 2017-08-18 23:44

เมตตา วงศ์วัด

Palden พระทิเบตผู้ถูกทัณฑ์ทรมานแสนสาหัสในคุกยาวนาน 33 ปีเพราะความคิด คุกไม่อาจทำให้เขาพูดในสิ่งที่ตนไม่ได้คิดได้ เทียบกับสภาวการณ์เมืองไทย มิได้หมายให้นักโทษความคิดต้องยืนยันด้วยชีวิตเช่นลามะทิเบต หากพยายามทำความเข้าใจ “ความทรมาน” จากการถูกบีบบังคับให้สารภาพว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นความผิด เป็นภัยต่อผู้คน


“They say, everything is great in Tibet. Tibetans enjoy human rights.

But I am living proof of how they treated us.

If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”


นั่นเป็นคำพูดแรกเริ่มในหนังสารคดีเรื่อง Fire Under the Snow (เผยแพร่ปี 2008) ที่สถาบันวัชรสิทธาจัดฉายเมื่อวัน 13 สิงหาคมที่ผ่านมา



คนที่พูดคือพระสูงวัย อดีต(พระ)นักโทษการเมืองที่เรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพในทิเบตจากการรุกรานของจีน ชื่อ Palden Gyatso (พาลเด็น เก็ตโซ) เขาใช้ชีวิตในคุกและในค่ายแรงงานรวม 33 ปี ผ่านการถูกทรมานสารพัดจนเหลือเชื่อว่าจะรอดชีวิตมาได้ และคงเป็นประโยคข้างบนนั่นเองที่เป็นแรงจูงใจสำคัญ การเล่าเรื่องดูเหมือนเป็นอาวุธเดียวที่เขาใช้

ประเด็นที่น่าสนใจและร่วมสมัยกับประเทศไทยซึ่งมีนักโทษทางความคิด นักโทษการเมืองด้วยเช่นกันคือ เสรีภาพในการแสดงออก การซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่คิดที่เชื่อนั้นมีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่เพียงไหน

“เพียงตอบว่า ใช่ (ทิเบตเป็นของจีน) ยอมรับว่าเปลี่ยนความคิดแล้ว คุณก็จะได้ออกจากคุก แต่นักโทษส่วนใหญ่ยังคงยืนยันคำเดิม”

“เราถูกถามคำถามเดิมเป็นเดือนๆ และทุกทีที่ตอบว่า “ไม่” ก็จะถูกตี ถูกซ้อม” Tenzin Tsundue นักกิจกรรมรณรงค์ Free Tibet อดีตนักโทษการเมืองที่เคยติดคุกแล้วลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเล่า


หลังจากจีนเริ่มบุกทิเบตในปี 1949-1950 ทำลายวัดวาอารามและห้ามผู้คนในดินแดนที่ศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตนับถือศาสนาอีกต่อไป Palden ซึ่งเป็นพระธรรมดาๆ ก็เริ่มเข้าร่วมขบวนต่อต้าน เขาบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตามธรรมเนียมชาวทิเบตที่ว่า หากบ้านใดมีลูกชาย 3 คน ลูกชายคนเล็กสุดจะต้องบวชเป็นพระ นั่นหมายความว่าประเทศนี้ชายฉกรรจ์เป็นพระกันจำนวนมาก และพระก็กลายสภาพเป็นนักโทษกันจำนวนมากเช่นกัน เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องทิเบตระบุว่า เมื่อก่อนพระทิเบตมีจำนวน 15,000-10,000 รูปแต่ตอนกดปราบหนักนั้นเหลือ 300-600 รูปได้ ส่วนใหญ่เข้าคุก อีกส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศ และจำนวนไม่น้อยที่ตาย

Palden นับเป็นนักโทษการเมืองรุ่นบุกเบิก ถูกจับตั้งแต่ปี 1959 ที่ประชาชนทิเบตลุกขึ้นประท้วงจีนครั้งแรก ก่อนที่ประเด็นการละเมิดสิทธิและ “Free Tibet” จะโด่งดังในโลกตะวันตกหลังการลุกขึ้นประท้วงอย่างสันติของชาวทิเบตครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1998 อันนำมาซึ่งการจับกุมคุมขัง เข่นฆ่าและทำให้หายตัวไปของผู้ประท้วงจำนวนมาก

Palden ติดคุกระหว่างการพาอาจารย์ของเขาหลบหนีไปอินเดียในปี 1959 ขณะนั้นอายุ 28 ปี เขาถูกคุมขังในอารามที่ถูกปรับให้เป็นคุกชื่อว่า Drapchi prison ใน LHASA เมืองหลวงของทิเบต

ภาพจากนักโทษการเมืองทิเบตเล่าถึงตัวอย่างการทรมานในคุก

สิ่งที่เขาเจอคือการสอบสวนพร้อมๆ กับการทรมาน เพราะเขายืนกรานว่าทิเบตเป็นของคนทิเบต เขาถูกซ้อมอย่างหนัก ถูกจับแขวนโยงกับขื่อ ถูกเอาน้ำร้อนสาด เขาเล่าว่าหลังจากนั้นเขาถูกขังในห้องมืด รู้สึกเหมือนใกล้จะตาย จากนั้นก็มีคนเปิดประตูเข้ามา เขาได้กลิ่นสบู่ มีเสียงผู้หญิงถามขึ้นว่า “คุณชื่ออะไร” หลังจากตอบชื่อ เจ้าหน้าที่หญิงถามว่า คุณได้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนไหม อีกครั้งที่เขาตอบความจริง "ใช่” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำกระดาษที่พิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปีมาให้เขาลงชื่อในสภาพใกล้ตายแบบนั้น

ในหน้าหนาวผู้คุมจะเอาน้ำเย็นสาดนักโทษ ในหน้าร้อนพวกเขาจะก่อไฟเพื่อให้ควันและความร้อนจากเปลวไฟรมนักโทษ เวลาจะโดนสอบสวน Palden ต้องถอดกางเกง คลานเข่าไปในห้องสอบสวนที่เต็มไปด้วยเศษแก้วและหินแหลมคม หลังติดคุกมา 1 ปีเขาถูกถามคำถามเดิมว่า คิดว่าดาไลลามะควรกลับมาทิเบตไหม และทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ตามลำดับ เขาถูกซ้อมอย่างหนัก

AMA ADHE อดีตนักโทษการเมืองหญิงเล่าว่า ในคุกแห่งนี้ มีนักโทษอดอาหารตาย 12,019 คน นักโทษที่เหลือต้องกินทุกอย่าง เช่น แมลง เศษหนังจากรองเท้า กระทั่งบางคนต้องกินศพของคนอื่น “I swear it is true”


ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ถึงขีดสุดในคุก Palden เห็นว่าอยู่ไปต้องตายแน่ จึงวางแผนหลบหนีออกจากคุกกับเพื่อน เขาหนีออกมาได้ แต่นี่ไม่ใช่หนังฮอลีวูด เขาและเพื่อนถูกจับได้ระหว่างทางแล้วนำกลับมายังคุกเดิมอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พยายามกดดันให้เพื่อนนักโทษทำร้ายเขา แต่ไม่มีใครซักคนที่ยอมทำตาม เพื่อนๆ ได้แต่ลงโทษด้วยตะโกนใส่หน้าว่า “พวกแกทำให้พวกเราลำบากขึ้นอีก” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สอบสวนเขา เขาพูดความจริงอีกครั้งถึงจุดประสงค์ที่จะหนีไปอินเดียว่าต้องการไปพบดาไลลามะเพื่อเล่าเรื่องการทรมานที่เกิดขึ้น และต้องการ “enjoy freedom” เจ้าหน้าที่ลงโทษเขาด้วยการใช้กระบองไฟฟ้ายัดเข้าไปในปากแล้วช็อตไฟ เพื่อนของเขาในคุกเดียวกันเล่าว่า มันรุนแรงมากจนทำให้ฟันของเขาร่วงหมดปาก และยังถูกซ้อม ถูกพันธนาการอย่างหนัก ก่อนจะถูกตัดสินเพิ่มโทษฐานหลบหนีอีก 8 ปี รวมเป็น 15 ปี

Palden เป็นกรณีที่ทั้งสร้างความสะเทือนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และกระทั่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเขาจึงไม่ยอมพูดคำลวงอย่างที่ผู้มีอำนาจอยากได้ยิน

Manfred Nowak ผู้ตรวจการพิเศษจากสหประชาชาติที่ทำรายงานเรื่องการทรมานในทิเบต ระบุว่า การทรมานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นยิ่งกว่าอาชญากรรมธรรมดา ผู้กระทำไม่ได้ต้องการเพียงยึดครองดินแดนหรือเอาชนะกดข่มประชาชนที่นั่น แต่ต้องการให้เปลี่ยน personality และยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นเป็นเรื่องผิด การทรมานอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจจึงเกิดขึ้นเพื่อที่ท้ายที่สุดแม้ผู้นั้นอาจจะไม่ยอมรับ เมื่อเขาออกจากคุกไปก็จะหมดสภาพที่จะทำการใดๆ ต่อ

แน่นอน หลายคนยอมซัดทอดเพื่อน คนจำนวนมากล้มตายในคุก หลายคนออกมาตายที่บ้านหลังออกจากคุกมาไม่นาน ล่าสุดคือปี 2014 ในกรณีของ Goshul Lobsang (อ่านที่นี่) และปัจจุบันก็ยังมีการจับกุมผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านจีนอยู่ ส่วนจำนวนนักโทษการเมืองที่แน่ชัดนั้น HRW ระบุว่าเป็นการยากมากที่จะเข้าถึง (อ่านที่นี่)

ในกรณีของไทย แม้เรื่องราวการทรมานให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดจะไม่เทียบเท่ากับในทิเบต และมีปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันมากมาย แต่กล่าวให้ถึงที่สุด การจองจำผู้คนในคดีเกี่ยวกับความคิดและการพยายามทำให้บุคคลเหล่านั้นรับสารภาพก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารที่พลเรือนจำนวนมากต้องไปขึ้นศาลทหารในความผิดเกี่ยวกับความคิดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ (มาตรา 112) กระบวนการที่ยาวนานอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง และสภาพย่ำแย่ในเรือนจำ ทำให้หลายต่อหลายคนยินยอมรับสารภาพทั้งที่ต้องการสู้คดี (อ่านที่นี่) หรือกรณีของคนที่ต่อสู้คดีก็แทบไม่มีใครสามารถชนะคดีได้และต้องถูกลงโทษอย่างหนัก เช่นกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำคุก 10 ปี


ไม่ต้องกล่าวถึงความสมเหตุสมผลของโทษ (ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่) ความผิดปกติในกระบวนการระหว่างสู้คดี แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สาธารณชนก็ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่พวกเขาพูดหรือเขียนนั้นคืออะไร

กรณีล่าสุดของเด็กหนุ่มนักศึกษาชื่อ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ เป็นเพียงไม่กี่กรณีที่เรารู้ว่าเขา “พูด” อะไร เนื่องจากเป็นการแชร์บทความจากเพจสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตัดเอาย่อหน้าหนึ่งมาโพสต์ตั้งต้นเท่านั้น

“ลูกชายพูดมาตลอดว่า การต่อสู้คดีครั้งนี้เพื่อจะพิสูจน์เรื่องความเป็นกฎหมาย ความเป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งลูกชายไม่เคยได้รับ เขาจึงต้องการต่อสู้”

“ไผ่ไม่ได้ต่อสู้คนเดียว ไผ่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อไผ่ ไผ่ต่อสู้เพื่อคนอื่น ต่อสู้เพื่อลูกคนอื่น ต่อสู้เพื่อประชาชนที่มีโอกาสจะถูกกระทำแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นการต่อสู้ของไผ่ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวม”

คำให้สัมภาษณ์ของพ่อไผ่ถึงการยืนยันต่อสู้คดีตลอด 7 เดือนที่ถูกคุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัวแม้ยื่นเรื่องไปแล้วถึง 9 ครั้ง

แต่เมื่อมีการสืบพยานนัดที่สอง เขาก็เปลี่ยนมา “รับสารภาพ” ผู้ใกล้ชิดไผ่คาดว่าเหตุที่เขาเปลี่ยนใจเป็นเพราะแม่ของเขาตรอมใจอย่างหนักและเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ยากจะกล่าวแก่สาธารณะ

ส่วนทนายความของไผ่ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนการรับสารภาพไว้อย่าง “น่าสนใจยิ่ง” ว่า

“ผมจำได้ว่า ผมเรียนท่านผู้พิพากษาไปอย่างชัดเจนว่า ผมขอให้ไผ่และครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจดีกว่า แล้วในที่สุดผมก็ปล่อยให้ไผ่กับพ่อแม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 กับผู้พิพากษาเพื่อใคร่ครวญเอง ประมาณเกือบชั่วโมงพ่อกับแม่ของไผ่เดินออกมาจากห้องพิจารณาและขอให้ผมกับทนายแสงชัยเข้าไปคุยกับไผ่...”

“ผมพูดกับไผ่อยู่สามประโยคทั้งที่เขาไม่ได้ถามอะไร
ผมบอกเขาว่า ผมเชื่อว่าคุณไม่มีวันชนะในการตัดสินคดีนี้อย่างแน่นอน ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ของคุณในวันนี้นอกจากเพื่อตัวเองแล้วคงต้องคิดเพื่อพ่อกับแม่ที่รักคุณสุดหัวใจด้วย และสุดท้ายอย่างหวังว่าการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมจะได้รับชัยชนะได้ในเร็ววัน แต่ที่สำคัญกว่าคือประสบการณ์ความเจ็บปวดที่คุณได้รับเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาจะสอนให้คุณรู้คุณค่าของความถูกต้องเป็นธรรมที่คุณใฝ่ฝันหา
ไผ่มองหน้าเราสองคนและพยักหน้า
ผมเดินกลับไปหาผู้พิพากษาและบอกว่า จำเลยจะรับสารภาพ
คำถามสุดท้ายของผู้คนที่มีต่อผมคือ “ทำไม่ไผ่จึงรับสารภาพ”
ขอตอบว่า ผมไม่รู้และไม่อยากรู้”

หลังจากนั้นพ่อของเขาก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังศาลพิพากษาโทษจำคุก 2 ปีครึ่งว่า มีการผิดข้อตกลงอันไม่เป็นทางการและปิดลับซึ่งใช้เวลาเกือบชั่วโมงก่อนการตัดสินใจสารภาพครั้งนี้

เบื้องหลังการรายงานข่าวสารทั้งปวง ไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจของเขายากเพียงไหน ไผ่กับ Palden จะรู้สึกร่วมหรือต่างกันอย่างไร สำหรับมนุษย์สมัยใหม่ มันอาจไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะรับสารภาพเพื่อให้ตนเองได้พ้นสภาวะเลวร้ายแม้จะรู้สึกไม่ยุติธรรม สำหรับนักยุทธศาสตร์ยิ่งอาจเห็นว่า การเสียเวลาเปล่าในเรือนจำเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หรืออาจเข้าขั้นโง่เง่า

สิ่งที่พอจะเป็นร่องรอยให้เราจินตนาการความยากลำบากของการรับสารภาพได้นั่นก็คือ ข้อความของผู้ที่ได้เห็นสภาพของเขาในวันนั้น

“ขอสรุปสั้นๆ ช่วงเช้า (หลังคุยกับผู้พิพากษาและกำลังรอผลคำตัดสิน) ตัวเลขไผ่ไม่ติด และเข้าใจเหตุผล แต่...มันติดที่ว่ามันไม่ผิด และตั้งแต่เลี้ยงไผ่มาจนโต มีวันนี้เป็นครั้งแรกที่มันร้องไห้โฮ มือกำนิ้ว ขยับไปมา นานเป็นชั่วโมง ลงมาห้องขังศาล ใครขอพูด มันไม่มารับ มันนั่งนิ่งของมัน”


หลัง Palden ออกจากคุกรอบแรก ทัณฑ์ทรมานไม่อาจทำลายจิตใจของเขาได้ เขาออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องอิสรภาพอีก และทำให้โดนโทษจำคุกอีก 8 ปี หลังครบกำหนดโทษ เขายังถูกส่งไปค่ายใช้แรงงานอีกหลายปี เพื่อ “รับการศึกษา” ที่ถูกต้องเพราะดูเหมือนความคิดของเขาก็ยังไม่เปลี่ยน

กระทั่ง 33 ปีของชีวิตหมดไปกับการจองจำ เขาออกมาจากคุกในวัยชราและยังคงเดินหน้ารณรงค์เรื่องเดิม มันอาจมีแรงผลักดันจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องทางจิตวิญญาณ แต่อันหนึ่งที่เข้าใจง่ายกว่าก็คือ คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนๆ ที่ต้องตายไประหว่างถูกจองจำ เขาเดินสายจัดกิจกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา แน่นอนว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววของชัยชนะแม้แต่น้อย

“I am living proof of how they treated us.
If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”


มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยาม “โลก” อย่างไร มีตัวเรารวมอยู่ในนั้นเพียงไหน ที่รู้ๆ คือ มันไม่แน่เสมอไปที่เมื่อโลกเห็นความอยุติธรรมแล้วจะพากันก้าวออกมาหยุดยั้งสิ่งนั้นเป็นผลสำเร็จ...ในชั่วชีวิตของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น