วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ไอลอว์ ชี้ปฏิรูปของคสช. แค่ข้ออ้างสืบทอดอำนาจ - แฉ! ข้อเสนอ สปท. หลายชิ้นก๊อปคนอื่น

ณัชปกร นามเมือง ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน 

ไอลอว์ มองการปฏิรูปของคสช. แค่ข้ออ้างสืบทอดอำนาจ แฉรายงาน สปท. หลายชิ้น "ลอกข้อสอบ" โจ่งแจ้ง บางรายงาน "ก๊อปปี้ เพสต์" จากรายงานเก่าของ สปช. อย่างชัดเจน ข้อเสนอหลายอย่างซ้ำกับกฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว หรือซ้ำกับที่หน่วยงานราชการทำอยู่ก่อนแล้วด้วย
31 ก.ค.2560 รายงานข่าวจากโครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ แจ้งว่า วันนี้ (31 ก.ค.60) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการประชุมเพื่อส่งมอบผลงานให้กับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีจะพบปะสมาชิก สปท. เพื่อกล่าวขอบคุณและกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศ โดยมีแม้น้ำทั้งห้าสาย อันได้แก่ คสช. ครม. สนช. สปท. และ กรธ. เข้าร่วมรับฟัง
ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวว่า ขั้นตอนดังกล่าวคงไม่ต่างอะไรกับพิธีกรรม เพราะการเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศประมาณ 1 ปี 10 เดือน ของสปท. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าไม่ได้มีผลงานปฏิรูปอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับรายงานของไอลอว์ที่พบว่า ข้อเสนอการปฏิรูปนั้นเป็นนามธรรมกว่า 75%
นอกจากนี้ หลายข้อเสนอยังซ้ำ ไม่ได้สร้างสรรค์หรือลึกซึ้งกว่าข้อเสนอที่มีอยู่แล้วในสังคม เช่น รายงานเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง และรายงานเรื่องการจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วย ยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่เรียกได้ว่านำรายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มาแล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
“สปท. มีชื่อว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิิรูปประเทศ แต่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะข้อเสนอขาดรูปธรรมที่ชัดเจน อีกส่วนเพราะ สปท. ไม่มีอำนาจอะไรจริงๆ ทุกข้อเสนอต้องรอรัฐบาลเห็นชอบ ทำให้ สปท. ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทำได้แต่เพียงการมอบภารกิจให้หน่วยงานรัฐไปปรับปรุงแก้ไขการทำงาน แต่ไม่มีแนวคิดปฏิรูปใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้” ณัชปกร กล่าว
ทั้งนี้ ในมุมของ สมาชิกสปท.หลายท่าน เห็นว่าการเข้ามาทำหน้าที่ครั้งนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ เพราะจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประทศ และจะมีประโยชน์ต่อประเทศจากนี้เป็นต้นไป อย่าง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. ก็เคยกล่าวว่า สปท.ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ คุ้มค่าต่อการรัฐประหาร และถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศอย่างแท้จริง
แต่ทว่า ถ้าประเมินจากผลงานการปฏิรูปตั้งแต่ สปช. จนมาถึง สปท. จะเห็นว่า เรายังไม่ได้ก้าวไปไหนไกล ข้อเสนอแต่ละเรื่องสนใจแค่การแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ก็พอจะทำกันได้เองอยู่แล้ว ไม่ได้เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว มิหนำซ้ำ บางข้อเสนอยังพาให้ประเทศถอยหลังไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมายควบคุมสื่อ การเสนอมาตรการควบคุมการแสดงออกของประชาชน ภาพรวมมีแต่การเพิ่มอำนาจรัฐ โดยมองข้ามความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม
"สามปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปประเทศ เรายังไม่ค่อยเห็นข้อเสนอใหม่ สร้างสรรค์ ลึกซึ้ง หรือแม้แต่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ สปท. ตั้งงบประมาณให้ตัวเองไว้เป็นพันล้าน จนคล้ายว่า การพูดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป็นเพียงข้ออ้างที่จะขออยู่ต่อในอำนาจของคสช. ต่อไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด"
“และแม้ว่า สปท.จะต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ แต่คสช. ก็ยังขอพื้นที่ทำแผนปฏิรูปต่อภายใต้ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลคสช. แต่งตั้งกรรมการปฏิรูปอีก 140 คน เข้ามาหน้าที่ต่อภายใน 15 วัน ซึ่งก็น่าจับตาดูว่าจะได้คนหน้าซ้ำมาทำงานอีกหรือไม่ และแผนที่คนชุดใหม่จะมาเขียนจะเป็นรูปธรรมหรือสร้างสรรค์ขนาดไหน เพราะในสามปีที่ผ่านมาล้มเหลวไม่เป็นท่า" ณัชปกร กล่าว
ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'iLaw'

แฉข้อเสนอ สปท. หลายชิ้น 'ลอกข้อสอบ' คนอื่น

นอกจากนี้ ไอลอว์ยังโพสต์ภาพพร้อมข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'iLaw' โดยระบุว่า ในโอกาสที่ สปท. เลี้ยงอำลากันเองไปแล้ว และจะส่งมอบข้อเสนอปฏิรูปทั้งหมด 1,342 ข้อ จากรายงาน 131 ฉบับ ให้คนอื่นเอาไปทำต่อ เมื่อสแกนรายงานหลายฉบับ เปรียบเทียบกับรายงานหัวข้อเดียวกันที่สภาเก่าอย่าง #สภาปฏิรูปแห่งชาติ เคยทำไว้ ก็ต้องตกใจทีเดียว
ไอลอว์ ระบุว่า ในรายงานของสปท. เรื่อง การจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... เมื่ออ่านหัวข้อ "สภาพปัญหา" ในหน้า 1-2 แล้วจะพบว่า เป็นการคัดลอกเนื้อหาจาก รายงานของ สปช. วาระปฏิรูปพิเศษ 4 การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ในหัวข้อ "เหตุผลที่ต้องปฏิรูป" หน้า 1-2 แบบยกเนื้อหาทั้งหมดมาจากรายงานของ สปช. แต่ผู้เขียนรายงานได้ แก้ไขแต่งเติม สลับตำแหน่ง หรือเปลี่ยนถ้อยคำเพียงเล็กน้อย โดยอาศัยโครงสร้าง การย่อหน้า การกำหนดเลขข้อตามรายงานของเก่าทั้งหมด
 
ส่วนที่ลอกแบบไม่เนียนก็มีบ้าง คือ หัวข้อ "ประสบการณ์ของนานาประเทศ" ในหน้า 3-7 แล้วจะพบว่า เป็นการคัดลอกเนื้อหาจากรายงานเดิมของ สปช. ในหัวข้อเดียวกัน ตั้งแต่หน้า 5-10 แบบชัดเจน แต่ในส่วนนี้คัดลอกมาแบบไม่แก้ไขตัดทอนอะไรเลย
 
ไอลอว์ ชี้ถึงสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น ว่า คือ หัวข้อ “สรุปผลการพิจารณาศึกษาและการกำหนดกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ” ตั้งแต่หน้า 11-21 ก็พบว่า เป็นการคัดลอกมาจากรายงานของสปช. ในหัวข้อ "ข้อเสนอแนะและแนวทางการปฏิรูป" ตั้งแต่หน้า 16-25 แบบตัวต่อตัวชนิดไม่ได้แก้ไขเลย เนื่องจากในรายงานฉบับเดิมมีการทำภาพแผนผัง 4 ภาพ ในรายงานฉบับใหม่ ก็ทำภาพแผนผัง 4 ภาพเช่นเดียวกัน เพียงแค่ลงสีใหม่หรือปรับถ้อยคำใหม่บางส่วนเท่านั้น แต่โดยโครงสร้างของแผนผังเหมือนกันทั้ง 4 ภาพ 
 
ส่วนที่เป็นข้อแตกต่างบ้าง คือ รายงานของ สปท. ได้เอาเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ มาจัดวางใหม่เป็นรูปแบบตาราง แต่เนื้อหาในตารางไม่ได้ต่างไป มีการแก้หัวข้อหนึ่งแห่งจาก "ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์ชาติกับยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ" เป็น "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ" ส่วนเนื้อหาภายใต้หัวข้อนั้นยกจากของเก่ามาเป็นโครงหลัก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น