วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ทีมตรวจสอบระบุ ไทยพีบีเอสซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟได้ ไม่ผิดธรรมาภิบาลและจริยธรรม


รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีไทยพีบีเอสซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ (เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) ระบุ ซื้อได้ ไม่ส่อผิดธรรมภิบาลแม้คณะผู้บริหารยังมิได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนทุกขั้นต้อนตามกฎหมาย ระเบียบ ชี้ ยังไม่ปรากฏหลักฐานบ่งชี้ว่ามีผู้ได้ผลประโยชน์เพราะซื้อขายตามราคาใกล้เคียงกับรายอื่นในเวลาเดียวกัน
21 มิ.ย. 2560 สืบเนื่องจากกรณีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคประชาชนและสังคมเกิดข้อสงสัยและความคลางแคลงใจในเรื่องความเป็นกลาง แม้ทางผู้อำนวยการองค์การฯ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ จะออกมาชี้แจงว่าเป็นการดำเนินงานที่ถูกต้อง แต่ก็รับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนและเครือข่ายที่ร่วมทำงานมากับไทยพีบีเอสด้วยการลาออกเมื่อ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ทางคณะกรรมการนโยบายได้มีคำสั่งองค์การฯ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขึ้นมา ได้ปฏิบัติงานโดยอาศัยเอกสารที่ทีมเลขานุการจัดหาให้ ประกอบด้วย พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 พ.ร.บ. ระเบียบองค์การฯ ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบเกี่ยวกับการลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และเชิญผู้เกี่ยวข้อง 3 รายมาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา
เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) เว็บไซต์ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่เอกสาร “รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ)” โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ (อ่านเอกสารตัวเต็ม)
ในส่วนสรุปความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ระบุไว้ ดังนี้
พิจารณาจาก พ.ร.บ. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เห็นว่า ส.ส.ท. สามารถซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ แม้ว่าการดำเนินการของคณะผู้บริหารยังมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกียวข้องกำหนดไว้
นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฎหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า การซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เนื่องจากราคาซื้อ-ขาย เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับรายอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน
กรณีที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบ่งชี้ถึงการกระทำที่ผิดหลักธรรมาภิบาล ในบทบาทหน้าที่ของสื่อสาธารณะ ทั้นี้โดยอ้างอิงกับ ข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ. 2551 และข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ. 2552 การซื้อหุ้นกู้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมดังกล่าว

ในส่วนข้อเสนอแก่คณะกรรมการนโยบาย มีใจความว่า
  • ให้ดำเนินการติดตามเรื่อง ข้อหารือเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ของ ส.ส.ท. จากกระทรวงการคลัง เพื่อนำมากำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป
  • หาก ส.ส.ท. จะพิจารณาจำหน่ายหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) ควรพิจารณาถึงผลกำไรขาดทุนที่จะเกิดขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ
  • แก้ไขแนวทางการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน
    ในส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟนั้น ระบุว่า มีการเสนอขออนุมัติซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผ่านธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 193,615,453.80 บาท (หุ้นกู้มีราคาตามมูลค่า 180,000,000 บาท + ส่วนต่างการลงทุนเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นอันตราตลาด ณ ขณะนั้น 13,615,453.80 บาท) อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในหุ้นกู้ร้อยละ 4.90 ต่อปี้ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ ส.ส.ท. ได้รับ ร้อยละ 3.06 ต่อปี วันครบกำหนดอายุหุ้นกู้ 2 ส.ค. 2564
    ตามรายงาน มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ใจความว่า เมื่อ 12 ม.ค. 2560 ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เสนอข้อมูลหุ้นกู้ 2 บริษัท ตามคำขอของภิญญาพัชญ์ หงส์พิมลมาศ เจ้าหน้าที่การเงิน ส.ส.ท. เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 โดยเสนอหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) รุ่นที่ CPF218B อันดับเครดิต A+ อัตราผลตอบแทนร้อยละ 3.06 ต่อปี อายุหุ้นกู้คงเหลือ 4.53 ปี และ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) รุ่นที่ BTSC19NA อันดับเครดิต A อัตราผลตอบแทนร้อยละ 2.46 ต่อปี อายุหุ้นกู้ประมาณ 3 ปี จากนั้น ภิญญาพัชญ์ ได้นำข้อมูลหุ้นกู้ 2 บริษัทไปปรึกษากับอัจฉรา สุทธิศิริกุล ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลัง และได้ข้อสรุปที่จะลงทุนในหุ้นกู้ CPF218B

    นักวิชาการแนะเลิกดึงดันแก้ ก.ม.บัตรทอง ชี้หากเดินหน้าให้ประชาชนยอมรับคงสู้กันไม่จบ


    นพ.สุธีร์ อาจารย์คณะแพทย์ มศว แนะนับหนึ่งใหม่แก้กฎหมายบัตรทอง ชี้กระบวนการไม่เป็นธรรมตั้งแต่เริ่มต้น หากเดินต่อโดยขาดการยอมรับจากประชาชน เรื่องคงไม่จบลงง่ายๆ
    21 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ว่า การแก้กฎหมายในรอบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรมรอบใหม่โดยที่รัฐเป็นคนก่อให้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากกระบวนการแก้กฎหมายไม่แฟร์กับประชาชน หากเดินหน้าต่อหรือข่มเหงความรู้สึกกันให้ยอมรับแบบนี้ เชื่อว่าการต่อสู้จะไม่จบลงง่ายๆ
    นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ความไม่เป็นธรรมเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดประเด็นแก้ไขกฎหมาย 14 ประเด็น โดยไม่ผ่านการถกเถียงวิเคราะห์ทางวิชาการด้วยมุมมองที่รอบด้าน แต่เป็นการหยิบยกประเด็นขึ้นมาตามที่กรรมการส่วนใหญ่เห็นสมควร แล้วนำไปสู่กระบวนการรับความความคิดเห็นเลย ซึ่งโดยขั้นตอนที่ควรจะเป็นแล้ว ก่อนจะผ่านไปถึงขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นได้ ควรจะต้องทำการศึกษาในเชิงวิชาการอย่างรอบด้านจนสะเด็ดน้ำเสียก่อน
    “การประชาพิจารณ์จะเริ่มก็ต่อเมื่อสะเด็ดน้ำจากวิชาการแล้ว มองครบทุกมุมแล้ว แต่นี่ชงปุ๊ปตบปั๊ป ยังไม่ได้ส่องดูให้รอบด้านเลย แบบนี้มันไม่ใช่” นพ.สุธีร์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ในขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็มีตัวแทนประชาชนเข้าไปมีสิทธิมีเสียงเพียง 2 คน ซึ่งมติใดๆ ก็ตามที่ต้องโหวตสู้กันก็ไม่มีทางชนะอยู่แล้ว
    “ให้คนหนึ่งทำ แต่ผลกระทบไปตกอยู่กับอีกคนหนึ่ง ถ้าคุณกล้าเอาข้าราชการมาทำให้ประชาชน อย่างนั้นกล้าเอาประชาชนไปออกแบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไหม แล้วส่งตัวแทนไป 2 คนท่ามกลางประชาชน 10 คน ผลออกมาอย่างไรก็เอาแบบนั้น อย่างนี้เอาไหม” นพ.สุธีร์ กล่าว
    นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากขั้นตอนการกำหนดประเด็นแก้ไขกฎหมาย สัดส่วนคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแล้ว กระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่เป็นธรรม เพราะมีการเร่งรัดดำเนินการอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้มีกว่า 40 ล้านคน ซึ่งการทำให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจคงไม่เร็วขนาดนี้
    “ดูตอนวันที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้ แต่เวลาแก้ใช้เวลาปุ๊ปปั๊ปแค่ 2 เดือน” นพ.สุธีร์ กล่าว และกล่าวว่า นอกจากนี้ บรรยากาศในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่เอื้อต่อการพูดคุย ยกตัวอย่างเช่นตนไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา บรรยากาศเหมือนอยู่ในสนามรบ มีตำรวจ มีหมวกแดง มีการสแกน มีการตรวจค้นกระเป๋าซักถามตลอดเวลา เมื่อเดินเข้าไปแล้วเหมือนมีคนจับจ้องอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่ไปร่วมแสดงความคิดเห็นรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดหรือสื่อสารอย่างเปิดอก
    “ผมเดินออกมาเจอรถกรงขังจอดอยู่ข้างหน้า สีดำมืดเลย มันรู้สึกว่าประชาชนมาแสดงความคิดเห็นถึงขนาดต้องเอารถกรงขังมาจ่อแบบนี้เลยเหรอ รัฐบาลทหารไม่จำเป็นต้องมาสร้างบรรยากาศตรงนี้ มันสามารถเปิดพื้นที่ให้คนพูดคุยได้ หากทำได้มันก็จะเกิดความชอบธรรมในเชิงกระบวนการไปในตัว” นพ.สุธีร์ กล่าว
    นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการไม่ยอมรับและกลายเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายประชาชนและผู้ให้บริการที่มาทะเลาะกัน มุมมองในการพูดคุยก็กลายเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะกัน ไม่มีมุมมองจากคนกลางมาไกล่เกลี่ย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นชนวนลุกลามในอนาคต ตนเสนอว่าควรเริ่มนับหนึ่งกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ โดยที่ต้องใช้ประเด็นปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพเป็นตัวตั้ง อย่าพึ่งไปเริ่มที่จำนวนหรือสัดส่วนกรรมการแก้กฎหมาย
    “ตอนนี้ยังไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดการแก้กฎหมายเพราะเริ่มต้นมันก็ผิดแล้ว ผมเลยไม่อยากไปวิเคราะห์องค์ประกอบสัดส่วนกรรมการหรือเนื้อหาอื่นๆ ตอนนี้มันอยู่ในขั้นตอนการสร้าง platform ถ้าเวทีมันดี เนื้อหามันก็เดินไปได้ แต่ถ้าพื้นที่มันไม่ดี ไม่ชอบธรรม ต่อให้ประเด็นดียังไง มันก็ไม่ยอมรับกัน แล้วคนเราถ้ามันข่มเหงข่มความรู้สึกกันแล้วมันไม่จบหรอก ต้องเริ่มใหม่เอา issue มาตั้งก่อน แล้วพูดคุยให้มันสะเด็ดน้ำ ขืนเดินหน้าไปแบบนี้มันอึดอัดกันหมด เมื่อไหร่มันร้อนขึ้นมา คนลุกขึ้นมา ประเทศชาติมันไม่สงบสุข” นพ.สุธีร์ กล่าว

    จี้ 'สรรเสริญ-รมว.สาธารณสุข' ขอโทษ ปชช. เหตุบิดเบือน หวังแก้ ก.ม.บัตรทองง่อยเปลี้ยเสียขา

    กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน 

    แจงเอ็นจีโอรับงบสนับสนุนกิจการภาครัฐ อภ.แค่ 6 แสน 0.38% ของงบทั้งหมดปี 57 จี้ผู้บริหาร สปสช. ออกโรงแจงข้อเท็จจริง ระบุกรณี ปลัด สธ.เอ่ยน้ำตาตกในกลางเวทีเสวนา ชี้เหตุจาก คตร.ไม่ใช่ สปสช.ใช้วิธีนักบัญชีตีความกฎหมายทั้งที่ไม่พบทุจริตจนสร้างปัญหา ด้านสรรเสริญขอโทษรมว.สธ.กรณีสื่อสารประเด็นบัตรทองคลาดเคลื่อน เตือนตั้งใจล้มประชาพิจารณ์อาจเจอโทษได้
    22 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงการแก้ไขกฎหมายบัตรทองว่าเป็นไปเพื่อปิดช่องเงินเหลือให้เอ็นจีโอว่า การออกมาระบุของ พล.ท.สรรเสริญ เป็นการอ้างอิงรายงานของ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในที่ประชุม ครม. ซึ่งไม่เชื่อว่าคนระดับโฆษกรัฐบาลจะรายงานผิดพลาด และเรื่องนี้มองว่า รมว.สาธารณสุขต้องออกมาขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ เพราะทำให้ประชาชนเสียหายจากการพูดโกหก
    ทั้งนี้เมื่อดูรายงานเบิกจ่ายงบสนับสนุนกิจการภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่เป็นการกันเงินเพื่อจ่ายให้กับหน่วยงานที่ชำระค่ายาและเวชภัณฑ์ตามกำหนด โดยในปี 2557 จากการจัดซื้อยาเพียงร้อยละ 4 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อภ.ได้กันงบนี้ไว้จำนวน 157 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบนี้มากที่สุด คือ 50 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 32.17 เครือข่ายหน่วยบริการที่เป็นการจัดซื้อยารวมของ รพ. และ รพ.สต.ระดับเขต 41 ล้านบาท หรือร้อยละ 26 เป็นต้น ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ได้รับเพียง 6 แสนบาท หรือร้อยละ 0.38 เท่านั้น แต่กลับนำข้อมูลนี้มาปรับปรำภาคประชาชน ใส่ร้ายป้ายสี เพื่อพยายามแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ง่อยเปลี้ยเสียขา 
    “ที่ผ่านมา สธ.เคยเป็นหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าที่สุดในหน่วยราชการในการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอจนทำให้งานด้านสาธารณสุขเข้มแข็ง ทั้งงานคุ้มครองผู้บริโภค การสาธารณสุขมูลฐาน และการควบคุมโรคต่างๆ ประสบผลสำเร็จ ซึ่งที่เห็นชัดเจนคือการควบคุมการติดเชื้อเอชไอวี ที่ล่าสุด ศ.นพ.ปิยะสกล ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยรับรางวัลจากองค์การอนามัยโลกในฐานะประเทศที่สามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกสำเร็จเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ซึ่งเกิดจากการประสานร่วมกันระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบบริการกระทรวงสาธารณสุข และเอ็นจีโอ และทุกปีเฉพาะกรมควบคุมโรคก็สนับสนุนงบประมาณทำงานร่วมกับภาคประชาชนสังคมไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท เพราะตระหนักดีว่า เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลจริง” กรรณิการ์ กล่าว พร้อมกล่าวว่าสิ่งสำคัญคือทั้งโฆษกรัฐบาล และ รมว.สาธารณสุขต้องออกมาชี้แจง ถึงสิ่งที่พูดว่าเป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องโกหก และกล่าวขอโทษเอ็นจีโอและสาธารณชน
    "แค่โฆษกรัฐบาลขอโทษรัฐมนตรี ง่ายไปไหมคะ สังคมมีอารยะ ทำหน้าที่ของตัวเองได้แย่ขนาดนี้ เขาก้มหัวขอโทษประชาชนลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ต้องออกมาขอโทษเอ็นจีโอที่ถูกคุณกล่าวหาซะ เพราะนอกจากคุณจะรายงานมติครม.ผิดพลาด ยังให้ทีมงานเขียนบทให้นักเล่าข่าวเอาไปเล่าข่าวอย่างผิดพลาดกล่าวหาผู้คนในรายการเดินหน้าประเทศไทยด้วย"
    กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง การจะระบุเพียงว่า เชื่อว่า รมว.สาธารณสุขไม่ได้พูดไม่ได้ และ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เองยังกำหนดให้ สปสช.ต้องทำงานร่วมกับ อปท. และองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อทำให้ระบบบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมา สปสช.จึงไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ได้ทำงานตามหลักการของกฎหมายแล้ว 
    กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวบนเวทีเสวนาแก้ไข กม.บัตรทอง ที่จัดโดย สธ.วานนี้  (21 มิ.ย.) โดยระบุถึงปัญหาการบริหารโรงพยาบาลที่มาจากผลกระทบของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ทั้งค่าใช้จ่ายค่าน้ำและค่าไฟ การเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ที่ประสบอุบัติเหตุนั้น เรื่องนี้ต้องโทษ คตร.ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น ที่พยายามตรวจสอบทุจริต เมื่อไม่พบก็พยายามหาเรื่องโดยใช้วิธีนักบัญชีตีความกฎหมายด้วยการอ่านตามตัวอักษร โดยภายหลัง คสช.รู้ว่า คตร.ดำเนินการผิดพลาด จึงได้ออก ม.44 เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นเรื่องนี้ ปลัด สธ.อย่าโบ้ยว่าเกิดจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.  ขณะเดียวกันควรกลับไปสำรวจตัวเองว่า ได้ทำอะไรให้บุคลากรในสังกัดต้องน้ำตาตกในหรือไม่ เช่นการดึงตำแหน่งบรรจุไว้ที่ส่วนกลางทำให้ลูกจ้าง รพ.ในสังกัดไม่ได้รับการบรรจุ การค้างจ่ายเงินเดือนแพทย์และบุคลากร 4-5 เดือนที่เกิดจากการบริหารจัดการของ สธ.เอง และการไม่ปรับตัวของ รพ.ขนาดกลางบางแห่งที่ยังเป็นภาระงบประมาณ เป็นต้น 

    สรรเสริญขอโทษรมว.สธ.กรณีสื่อสารประเด็นบัตรทองคลาดเคลื่อน 

    ขณะที่ สำนักข่าว TNN24 รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ กล่าวขอโทษ นพ.ปิยะสกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา  ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  หรือ กฏหมายบัตรทอง ว่าเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว การซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในจำนวนมากๆ จะได้ราคาที่ลดลง ซึ่งราคาที่ลดลงนี้ จะนำมาสนับสนุนภารกิจของเอ็นจีโอที่ร้องขอมา จนเกิดการเข้าใจผิดขึ้น และนพ.ปิยะสกล ก็ได้โทรศัพท์มาชี้แจ้งเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.)
    แฟ้มภาพ
    สำหรับ 14 ประเด็น ที่มีการแก้ไข จะมุ่งไปที่การบริหารจัดการขององค์กรทั้งกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิสวัสดิการหรือการดูแลประชาชน  โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งนพ.ปิยะสกลก็บอกว่ารัฐบาลเอง ไม่ควรออกความคิดเห็นอะไรมาก เพราะจะกลายเป็นการตั้งธงไว้ตั้งแต่ต้น  แต่ควรรอให้กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ปัญหาก่อน  ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงของประชาชน แล้วจึงนำมาปรับแก้ให้ตรงกับความต้องการอยู่แล้ว

    เตือนตั้งใจล้มประชาพิจารณ์อาจเจอโทษได้

    ส่วนการล้มเวทีประชาพิจารณ์  พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลนี้จะไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย  แต่ก็พร้อมจะรับฟังความเห็นบนรากฐานของระบอบประชาธิปไตย  เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเห็นต่าง แต่ก็ไม่ควรจำกัดสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะการล้มเวทีประชาพิจารณ์นั้นถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ตำรวจในพื้นที่ได้รวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว และจะดำเนินการไปตามกระบวนทางกฎหมาย

    คสช.แจง 'เสธ.พีท' ค้นบ้าน 'ดาวดิน' อ้างคำสั่งปราบผู้มีอิทธิพล


    โฆษก คสช. แจ้ง ทหารค้น 'บ้านดาวดิน' ไม่ต้องมีหมายศาล หรือหมายค้นใดๆ เหตุทหาร ไปตรวจค้น เพิ่อความสงบเรียบร้อย โดยอาศัยตามคำสั่ง คสช.ที่13/2559 โดยคำสั่งดังกล่าวให้อำนาจทหารปราม กลุ่มมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพล

    22 มิ.ย. 2560 จากกรณีช่วงเช้าวานนี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. จะมาปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตรวจราชการด้านการพัฒนาการเกษตร เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ นำโดยพันโทพิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชายและหญิงรวมแล้วราว 30 นาย ได้ทำการเข้าตรวจค้นบ้านนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยไม่มีหมายตรวจค้นจากศาลนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
    ล่าสุดวันนี้ (22 มิ.ย.60) วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึงการร้องเรียน กรณี "เสธ.พีท" พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นำกำลัง เข้าตรวจค้นดังกล่าวนั้น เป็นวันที่ นายกฯลงพื้นที่ ขอนแก่น นั้น ว่า ไม่ต้องมีหมายศาล หรือหมายค้นใดๆ เพราะ เจ้าหน้าที่ทหาร ไปตรวจค้น เพิ่อความสงบเรียบร้อย โดยอาศัยตามคำสั่ง คสช.ที่13/2559 ในนามของ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เพิ่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง อีกทั้งให้ฝ่ายทหาร ทำหน้าที่เป็น เจ้าพนักงาน อีกด้วย โดยครั้งนี้ไปในนาม กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มทบ.23
    สำหรับ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 นั้น เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานป้องกันและปราบปราม กลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดหรือมีเหตุอันสงสัยว่ากระทำความผิด อาทิกลุ่มมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพล และมีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เพื่อตรวจค้น เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามพยานหลักฐาน 

    ไร้เสียงค้าน สนช. ผ่าน ก.ม.ยุทธศาสตร์ชาติ - ก.ม.ขั้นตอนปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมาย


    สนช.มีมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.. ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

    22 มิ.ย. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 218  ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3  เสียง   ทั้งนี้  เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560  ที่กำหนดว่าภายใน 120 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้  ต้องตรากฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จ   เพื่อเป็นกรอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติวางเป้าหมายในการพัฒนาประเทศต่อไป    
    โดยในร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... นี้  กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน   โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาคณะหนึ่งหรือหลายคณะ  เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ    
    สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ  จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง, ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง, รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม, มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมคมธนาคารไทย และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มี 17 คน อายุไม่เกิน 75 ปี แต่งตั้งโดยคำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและช่วงอายุ ประกอบด้วย  ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านความมั่นคง  ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน  ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ด้านสาธารณสุข  ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นี้  ทั้งนี้  ในส่วนของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น  คณะกรรมาธิการฯ วิสามัญของ สนช. ได้บัญญัติเพิ่มเติม จากเดิมมี 14 คน  เพิ่มเป็น 17 คน ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขนั้น ที่ประชุมฯ ได้เพิ่มเติมขึ้นในการพิจารณาในวาระ2 ตามคำแนะนำของสมาชิก สนช.  เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 และแผนปฏิรูปประเทศ
    ส่วนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านต่าง ๆ   จะมีด้านละไม่เกิน 15 คน  ซึ่งการแต่งตั้งให้คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและความหลากหลายของช่วงอายุ   ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ตาม 3 เป้าหมายหลัก  คือ 1 เป้าหมายด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ  2.เป้าหมายคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน  และ3 บทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน  ขณะที่การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมหรือภารกิจขององค์กรอิสระ ให้แต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหรืองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการด้วย
    สำหรับการติดตามพิจารณาผลนั้น หน่วยงานรัฐต้องรายงานผลการดำเนินการประจำปีต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงาน และรัฐสภา  ทราบภายใน 90 วัน  หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าหน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์  ก็ให้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.  เพื่อดำเนินการสอบสวนกับผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนั้น    ขณะที่ในกรณีหน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขการดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหลังได้รับแจ้งให้ปรับปรุง ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดกับกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป

    เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมาย

    วันเดียวกัน สนช. ยังมีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ...ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 216 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 220 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ
    สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น ตามมาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีจัดทำแผนขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน รวมทั้งกำหนดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ ขณะที่การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศควรพิจารณาถึงความเร่งด่วนของการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน เพื่อกำหนดลำดับขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศ และต้องคำนึงถึงความพร้อมทางด้านบุคลากรและการเงินการคลังของประเทศ
    ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

    'เกษตรกรใต้' ค้าน คสช.ใช้ ม.44 ใช้ประโยชน์อื่นในพื้นที่ ส.ป.ก. นอกเหนือจากการทำเกษตร


    สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ออกแถลงการณ์ คัดค้าน มติ คสช. ใช้ ม.44 ทำประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ ในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม ระบุไม่คำนึงเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมที่แท้จริงระหว่างเกษตรกรรายย่อย กับนายทุน
    22 มิ.ย. 2560 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์ คัดค้าน มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ในการทำประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม

    โดยระบุว่า ตามที่ โฆษกรัฐบาล ได้แถลงเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า การประชุมของ คสช.มีมติให้ใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ในการทำประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การสำรวจปิโตเลี่ยม  การติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ การสำรวจทำเหมืองแร่ โดยให้กิจการเหล่านี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ทั้งนี้ ต้องการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ทั้ง 3 กิจการ รวมทั้งสิ้น 3.6 พันไร่ จากพื้นที่ ส.ป.ก.ทั้งหมด 41 ล้านไร่

    สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) มีความเห็นคัดค้าน ต่อมติ คสช.ในเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผล ดังนี้ คือ 1. กิจการปิโตเลี่ยม เหมืองแร่ และการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันลม มิได้มีเจตนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เป็นการลงทุนของบริษัทฯ เพื่อแสวงหาผลกำไร เป็นจุดมุ่งหมายหลัก 2. ดังนั้น จึงมิควรที่ คสช.ที่ถือครองอำนาจรัฐ จะใช้อำนาจตาม มาตรา 44 มาเบียดบังเอาที่ดิน ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม ของเกษตรกร ที่จะได้เข้าใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร ไปปรนเปรอความมั่งคั่งร่ำรวยให้นายทุน

    3. มติ คสช. ดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ดำเนินไปในลักษณะ 2 มาตรฐาน กล่าวคือ มติ คสช.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. กำลังจะมอบที่ดินแปลงใหญ่ ให้กับบริษัทฯ หรือนายทุน ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ไม่นาน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน กลับมีมติจัดสรรที่ดินทำกินและอยู่อาศัยให้เกษตรกรเพียงครอบครัวละ 6 ไร่ เท่านั้น

    เหตุการณ์นี้ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการดำเนินนโยบายของ คสช. และรัฐบาล ในปัจจุบัน มิได้เล็งเห็นถึงสิทธิ และความเท่าเทียมที่แท้จริงระหว่างเกษตรกรรายย่อย กับนายทุน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จึงขอแสดงความเห็นคัดค้าน มติ คสช. ในเรื่องการใช้ พื้นที่ในเขต ส ป.ก. เพื่อกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากเกษตรกรรมและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
    และขอเรียกร้อง ให้ยกเลิกมติดังกล่าว โดยด่วน

    กกต. ยื่นข้อโต้แย้งร่าง พ.ร.ป.กกต. ให้สนช. พิจารณา ชี้เซ็ตซีโร่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


    เลขาวุฒิสภาเผยข้อโต้แย้ง พ.ร.ป.กกต. ส่งมาถึง สนช. แล้ว พบ 6 ประเด็นโต้แย้ง เตรียมบรรจุเข้าวาระพิจารณา 29 มิ.ย. เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน สนช.5 กรธ.5 กกต.1 พิจารณาภายใน 15 วัน
    23 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาวุฒิสภา ได้รับคำแย้งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว และ จะสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. ได้ ในวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อให้ที่ประชุม สนช. พิจารณา ตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจาก สนช. 5 คน กรธ.5 คน และ ประธาน กกต. 1 คน โดย กรรมาธิการร่วม จะมีเวลาพิจารณา 15 วัน และ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว ต้องส่งกลับมาให้ ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบ หาก สนช. ไม่เห็นชอบ เกิน 2 ใน 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถือว่าตกไป ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 
    สำหรับข้อโต้แย้งของ กกต.ได้แก่ 1 มาตรา 11 วรรคสามมีการกำหนดเพิ่ม เรื่องการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการสรรหากกต.ว่า ให้คัดเลือกบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเข้าใจภารกิจของ กกต.ไม่มีพฤติกรรมยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด ซึ่งถือว่าเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 203 ประกอบมาตรา 201 และมาตรา202 บัญญัติไว้ 
    2. มาตรา 12 วรรคหนึ่ง มีการกำหนดเพิ่มเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า บุคคลที่จะเป็นกกต.ต้องไมมีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใดๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคท้าย ประกอบ 206 และ 222 บัญญัติไว้ 
    3 มาตรา 26 ที่บัญญัติให้กกต.คนเดียวหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทุจริตสามารถสั่งระงับ ยั้บยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้และให้รายงานต่อกกต.ทราบโดยเร็ว เห็นว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสามที่บัญญัติให้เรื่องดังกล่าวกกต.คนเดียวมีอำนาจเด็ดขาดดำเนินการได้โดยไม่ต้องรายงานต่อกกต. 
    4. มาตรา 27 ให้กกต.มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขณะที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 224 (1) และ (2) บัญญัติให้กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เองหรือมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้ 
    5. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่ให้กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการกกต.หรือพนักงาน กกต.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวนได้ ซึ่งเป็นการเขียนเกินกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสองที่บัญญัติให้อำนาจดังกล่าวเป็นของกกต. เท่านั้น
    6. มาตรา 70 ที่ให้กกต.ปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยเห็นว่าบทบัญญัตินี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 26 และ 27 ในเรื่องของหลักนิติธรรมและหลักนิติประเพณีที่ปฏิบัติมา

    ประยุทธ์ห้ามนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว แนะใช้รูปภาพ เตือนสื่อไม่ควรสัมภาษณ์


    ประยุทธ์กำชับตำรวจห้ามนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว ให้ใช้รูปภาพผู้ต้องหาแทน เตือนสื่อไม่ควรสัมภาษณ์ผู้ต้องหา พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคล และองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2560

    23 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (23 มิ.ย.60) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2560 โดยมี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการป้องกัน  และปราบปรามยาเสพติด เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหาร ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคธุรกิจเอกชน องค์กรภาคประชาชน และผู้เข้ารับรางวัล
    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในงานดังกล่าว ว่า ขอให้ตำรวจปรับรูปแบบการนำผู้ต้องหามานั่งแถลงข่าว โดยไม่ต้องนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวโดยตรง อาจจะใช้รูปภาพของผู้ต้องหา มาแถลงข่าวแทน  ก็เพียงพอแล้ว
    "ไม่ใช่ให้ออกมาพูดจาเลอะเทอะ ไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นผู้ต้องหา ไม่มีสิทธิพูดอะไรทั้งสิ้น จะพูดก็ต้องพูดในกระบวนการยุติธรรม  ไม่ใช่พูดกับสื่อ แล้วสื่อก็ไม่ต้องไปถามเขา ต้องรับผิดชอบด้วยนะ ผมก็เห็นใจทุกคนอยากได้ข่าว แต่ก็จะทำให้เกิดผลเสีย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
    สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กร ผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งเชิดชูเกียรติผู้เสียชีวิตและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติงานที่ได้รับบาดเจ็บ โดยในปี พ.ศ. 2560 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 24 มีผู้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลองค์กร รวมทั้งสิ้น 216 ราย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลองค์กร จำนวน 47 ราย
    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชื่นชมแสดงความยินดีกับบุคคลและองค์ที่ได้รับรางวัล ขอให้ผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคนภาคภูมิใจ พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย โดยขอให้ครอบครัวผู้สูญเสียภาคภูมิใจกับความเสียสละในการหน้าที่เพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ พร้อมกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก” เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และเพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาชนคนไทยเกิดความตระหนักว่ายาเสพติดเป็นปัญหาของคนไทยทั้งชาติ ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการปราบปรามยาเสพติด แต่ก็มียังมีการลักลอบผลิต ขนส่งตามพื้นที่ และตามแนวชายแดนต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องพัฒนาปรับรูปแบบการป้องกันและปราบปรามให้ทันต่อกระบวน ยาเสพติด โดยการนำเทคโนโลยี และระบบไอทีเข้ามาช่วยการทำงาน รวมทั้งต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น
    พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อการทำงานปราบปรามขบวนการยาเสพติด โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะการใช้อาวุธในการจับกุม ซึ่งบางครั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ใช้อาวุธ จึงขอให้คำนึง และพึงระลึกอยู่เสมอเรื่องความปลอดภัย ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด โดยมอบหมายให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทำหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ ให้มีความพร้อม  ในการเผชิญเหตุ ใช้กลยุทธ์ในการปิดล้อม และตรวจค้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ดำเนินการกับขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการปราบปรามขบวนยาเสพติดรายใหญ่ เร่งนำคดีเกี่ยวกับยาเสพติด รวมไปถึงการค้ามนุษย์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
    ในส่วนของรัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่อันตรายร้ายแรงต่อสังคม และเป็นบ่อนทำลายชีวิตของประชาชน โดยในปี พ.ศ. 2560 ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ พร้อมทั้งจัดทำแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคงปลอดภัยจากยาเสพติด ซึ่งปัญหาจะแก้ไขไม่ได้ ถ้าสังคมไม่มีความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาในรูปแบบของประชารัฐ ภาคราชการต้องทำงานตามหน้าที่ ตามกฎหมาย ภาคประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เป็นเครือข่ายให้กับภาครัฐ โดยนายกรัฐมนตรีคาดหวังให้การป้องกัน ปราบปราม ตลอดจนการฟื้นฟูมีประสิทธิผลมากขึ้น ส่วนราชการจะต้องทำงานเชิงรุกอย่างมีเอกภาพและครบวงจร มีการลงพื้นที่ในระดับจังหวัด อำเภอ ชุมชน เพื่อป้องกัน ปราบปราม บำบัดเพื่อสร้างความเข้มแข็งในหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ สามารถควบคุมดูแลปัญหายาเสพติดทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ออกคำสั่ง หน.คสช. ใช้ประโยชน์อื่นในพื้นที่ ส.ป.ก. นอกจากการเกษตรกรรม


    งัด ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้ประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก.นอกจากการเกษตรกรรม เช่น พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก สํารวจและใช้ปิโตรเลียม แร่ ทําเหมือง ฯลฯ
    23 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. 
    โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทํากิน และให้การใช้ที่ดิน เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรและลดความเหลื่อมล้ําทางเศรษฐกิจและสังคม ของบุคคล ดังที่ได้จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 นั้น ต่อมาความต้องการของประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลกซึ่งจําเป็นต้องพัฒนาการใช้ ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นอันมีความจําเป็นอย่างยิ่งควบคู่กันไปกับการแก้ปัญหา ของเกษตรกรดังกล่าวข้างต้นโดยยังคงหลักการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
    โดยที่ในปัจจุบันพลังงานเป็นปัญหาสําคัญอย่างหนึ่งของสถานการณ์โลก ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้ กําหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนให้มีการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานอย่างยั่งยืน รวมทั้งการดําเนินการ ด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อป้องกันการขาดแคลนพลังงาน สร้างความมั่นคง ด้านพลังงานและลดการพึ่งพาการนําเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ในขณะที่นโยบายในการบริหารจัดการ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและกระจายการพัฒนา ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ก็เป็นนโยบายสําคัญของรัฐบาลในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเช่นกัน แต่โดยที่ในการ ดําเนินการเพื่อให้นโยบายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล มีความจําเป็นต้องเข้าไปดําเนินการภายในที่ดินของรัฐ บางประเภทโดยเฉพาะที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีสภาพไม่เอื้อหรือไม่เหมาะสมต่อการทําเกษตรกรรม อย่างคุ้มค่า ซึ่งในปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเขตปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 40 ล้านไร่ ได้มีการยินยอมหรืออนุญาตให้เอกชนเข้าใช้ หรือหาประโยชน์ที่ดินตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นจํานวนเนื้อที่เพียงประมาณร้อยละ 0.1 ของเนื้อที่ เขตปฏิรูปที่ดินทั้งหมดของประเทศ แต่การจะเข้าใช้หรือหาประโยชน์ที่ดินดังกล่าว เพื่อประโยชน์ สาธารณะอื่นนั้น ยังมีข้อจํากัดทางด้านกฎระเบียบบางประการที่มีมาตั้งแต่ในยุคสมัย ที่ความจําเป็น สําคัญเร่งด่วนยังไม่ปรากฏดังเช่นในปัจจุบัน
    ในบางเรื่องรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ให้สัมปทาน ยินยอมหรืออนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตดังกล่าวไปก่อนแล้วตามระเบียบจนมีการลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงาน อย่างกว้างขวางและมีภาระผูกพันกับรัฐโดยเกษตรกรเองก็ได้รับค่าตอบแทนหรือชดเชยการให้เข้าใช้ ประโยชน์ที่ดินจนเป็นที่พอใจ ทั้งบางแห่งมีการจัดทําบริการสาธารณะให้เกษตรกรในพื้นที่เหล่านั้น ตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม และก่อให้เกิดรายได้เสริมจากทางอื่นต่อเนื่องตามมาแก่เกษตรกรอีกด้วย โดยประเทศชาติสามารถใช้ประโยชน์สาธารณะจากทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าว ประโยชน์ตอบแทน ส่วนหนึ่งตกเป็นรายได้ของท้องถิ่นนั้น ๆ รายได้ที่เหลือนําเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเมื่อสิ้นสุดเวลาเข้าใช้ประโยชน์แล้วก็ยังสามารถคืนที่ดินนั้นให้เกษตรกรนําไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เช่นทําเป็นแหล่งน้ําเพื่อการเกษตร แหล่งเก็บน้ําตามโครงการแก้มลิง หรือเพื่อทําการเกษตรโดยตรง ตามปรัชญาของการปฏิรูปที่ดิน หากยกเลิกพันธะผูกพันดังกล่าว เกษตรกรและประเทศชาติก็จะเสียประโยชน์ และเกิดการฟ้องร้องติดตามมาอีกมากมาย จึงจําเป็นต้องลดข้อจํากัดอันเป็นอุปสรรคดังกล่าวภายใต้ หลักการใช้ที่ดินของรัฐให้สมประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายทั้งแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ ในขณะเดียวกันการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นต้องให้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกลับคืนสู่เกษตรกร ในรูปแบบที่อาจแตกต่างไปจากเดิมนอกเหนือจากการทําเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมแก่เกษตรกร
    อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะ รักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
    ข้อ 1 ในกรณีมีเหตุจําเป็นเพื่อประโยชน์ด้านพลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอํานาจพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อดําเนินกิจการอื่นใดนอกเหนือจากที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้คํานึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ ประโยชน์แก่เกษตรกร และประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เป็นสําคัญ
    หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ ประโยชน์ที่ดิน ประเภทของกิจการหรือโครงการ เนื้อที่ วัตถุประสงค์ และมูลค่าของการดําเนินกิจการ ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยจะต้อง กําหนดขนาดเนื้อที่และประเภทของวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องเสนอ ขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีก่อนพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตไว้ด้วย ทั้งนี้ ต้องดําเนินการ ให้มีการออกกฎกระทรวงไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ
    ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอํานาจออกระเบียบกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการกําหนดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม กับวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินตามวรรคหนึ่ง
    ข้อ 2 ให้สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดให้ผู้ขอใช้ประโยชน์ที่ดินเยียวยา หรือจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบนั้น และให้นําส่ง ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามข้อ 1 และข้อ 5 เข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยไม่ต้องนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
    ข้อ 3 การพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตตามคําสั่งนี้ ไม่มีผลเป็นการยกเว้น การปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
    ข้อ 4 ให้ผู้ได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียม ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม การสํารวจแร่ การทําเหมือง หรือการทําเหมืองใต้ดินตามกฎหมาย ว่าด้วยแร่ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนําทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2541 หรือระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาต และการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สําหรับ กิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2541 อยู่ในวันก่อนวันที่ คําสั่งนี้ใช้บังคับ ยื่นคําขอตามข้อ 1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามข้อ 1 วรรคสอง ใช้บังคับ ในระหว่างนั้นให้ผู้ได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตใช้ที่ดินได้ไปพลางก่อนหรือจนกว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
     
    ข้อ 5 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเข้าใช้ที่ดินที่สํานักงาน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว โดยยังไม่ได้รับความยินยอมตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอม ในการนําทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2541 ไม่ว่าจะเป็น การใช้เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมในขั้นตอนใดก็ตาม ให้ผู้รับสัมปทานนั้นยื่นคําขอตามข้อ 1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามข้อ 1 วรรคสอง ใช้บังคับ ในระหว่างนั้นให้ผู้รับสัมปทาน ใช้ที่ดินได้ไปพลางก่อนหรือจนกว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น โดยต้องชําระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่เมื่อเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมกําหนด
    ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมไม่อาจเข้าใช้พื้นที่ที่ขอสงวนไว้ ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีมติให้ชะลอ การให้ความยินยอมในการใช้ที่ดินเพื่อการสํารวจหรือใช้หรือหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนําทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2541 เพื่อรอการพิจารณาคดีเกี่ยวกับอํานาจ ในการออกระเบียบดังกล่าว ให้ระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ดังกล่าวขยายออกไปเท่ากับระยะเวลา ที่ไม่อาจเข้าใช้พื้นที่ที่ขอสงวนได้ ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีอํานาจพิจารณาคืนค่าสงวนพื้นที่ ให้แก่ผู้รับสัมปทานเป็นรายกรณี สําหรับช่วงเวลาที่ผู้รับสัมปทานไม่อาจเข้าใช้พื้นที่ที่ขอสงวนไว้และ การไม่อาจเข้าใช้พื้นที่นั้นเป็นเหตุให้ไม่สามารถดําเนินการสํารวจปิโตรเลียมในพื้นที่สงวนได้
    ระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ที่ขยายออกไปตามวรรคหนึ่ง เมื่อรวมกับระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ ก่อนวันที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีมติให้ชะลอการให้ความยินยอมแล้ว ต้องไม่เกิน ระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานกําหนดตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532
    ในช่วงระยะเวลาในการสงวนพื้นที่ที่ขยายออกไปตามวรรคหนึ่ง ให้นําบทบัญญัติมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 และมาตรา 46 แห่งพระราชบญญั ัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
    ข้อ 7 ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามข้อ 1 ใช้บังคับให้นํา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความยินยอมตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนําทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับกับผู้รับสัมปทานที่ได้ยื่นแผนการผลิตในรายละเอียด สําหรับพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีกฎกระทรวง หรือระเบียบที่ออกตามข้อ 1 ใช้บังคับ
    ข้อ 8 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดําเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยการปฏิรูป ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้มาเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร และประโยชน์สาธารณะของประเทศ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาอนุญาตให้สํารวจหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การให้ใช้ที่ดินเพื่อดําเนินกิจการด้านพลังงาน และการดําเนินกิจการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร และประโยชน์สาธารณะของประเทศด้วย
    ข้อ 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอํานาจออกกฎกระทรวงตามคําสั่งนี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ข้อ 10 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบ แห่งชาติเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้ ข้อ 11 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2560