วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประยุทธ์ โวยอดีตรัฐบาลมากดดันให้ทำโน่นทำนี่ ย้อนมาคิดได้อะไรตอนนี้แต่ที่ผ่านมาไม่แก้


พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ไม่ควรจะถือเอาว่า “การเลือกตั้ง” คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ต้องตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันได้ รัฐบาลยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” ย้ำจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันจากการถูกละเมิด ระบุ 'ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้' 
26 พ.ค. 260 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปประเทศเช่นนี้ ประเทศชาติของเรานั้น เราต้องการมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งโดยเนื้อแท้ แล้วนั้น เราไม่ควรจะถือเอาว่า “การเลือกตั้ง” คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  หรือไม่สนใจแต่เพียงการมี “อำนาจอธิปไตย” จากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่หากเราไม่มีการตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลก็จำเป็นต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านั้น  กำลังปลูกฝัง เร่งสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่เราอาจจะห่างหายลืมเลือน หรือขาดแคลน บนเส้นทางของการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่บางคน คิดดังๆ ออกสื่อฯ  Social นั้น อยู่บนพื้นฐานหลักการและเหตุผล ที่ถูกที่ควร หรือไม่ อย่างไร เช่น หลายคนมักพูดติดปากว่ารัฐบาลและ คสช. จำกัดเสรีภาพ คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ให้ถ่องแท้ อันนี้คงจะไม่ไปพูดถึงกรณีละเมิดสถาบันซึ่งยังมีอยู่ บุคคลธรรมดาก็เราก็ยังมีกฎหมาย ในเรื่องของการฟ้องหมิ่นประมาท แต่เราก็ยังต้องดูแลสถาบันอันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทย กฎหมายฉบับนั้นมีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน แล้วพระองค์ท่านก็ปกป้องพระองค์เองไม่ได้  เพราะฉะนั้นสถาบันก็มีแต่พระเมตตามาโดยตลอด  มีการลดโทษให้ มีการนิรโทษให้ตลอดมา ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้ หลายคนก็เคยตัววันนี้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน อย่าปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่เลย  อย่าแชร์ อย่าแพร่ เพราะผิดกฎหมายมาแล้วก็เป็นปัญหาอีกเพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออก
"ประเด็นของเสรีภาพในที่ต่างๆ ที่ว่ามานั้น การเดินขบวน  สร้างความวุ่นวาย การปราศรัยที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท  หมิ่นสถาบัน โดยการขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ไร้ความน่าเชื่อถือนั้นเพราะว่า นอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมาย  ละเมิดสิทธิผู้อื่นแล้ว ยังกีดขวางการจราจร กีดขวางการใช้รถ ใช้ถนน โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมลักษณะดังกล่าว หากไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนะครับ กฎหมายออกมาแล้ว ต้องมีกำหนดเวลา มีจำนวน  มีสาเหตุประเด็น ทั้งหมดต้องมีกติกา อย่าไปมองรัฐธรรมนูญอย่างเดียวว่าทุกคนมีสิทธิโน่นสิทธินี่ แต่กฎหมายอื่นๆ  มีข้างล่างหลายตัว จะมาอ้างอันโน้นอันเดียว มาทับอันล่าง ข้างล่างก็ไม่ต้องมีกฎหมายถ้าเป็นแบบนั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่แล้วที่มีปัญหาทุกวันนี้ เป็นการดำเนินการที่มีเบื้องหน้า เบื้องหลังทั้งสิ้น  หวังผลทางการเมืองด้วย  อาจเดือดร้อนจริง แต่ก็มีการเมืองมาใช้ประโยชน์ด้วย  นำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ในการสร้างความชอบธรรมทำนอง เพราะฉะนั้นลักษณะเช่นนี้ ท่านจะอ้างประชาธิปไตย อ้างสิทธิเสรีภาพ อ้างรัฐธรรมนูญต่างๆ แล้วเราไปปิดกั้น คงไม่ถูก ช่องทางที่ทุกคนจะแสดงความคิดเห็นได้ รัฐบาลได้ทำให้แล้ว  อาทิเช่น ศูนย์ดำรงธรรม (สายด่วน 1567) หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สายด่วน 1111) ซึ่งทุกคนก็สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย และเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำติชม ได้ด้วยตนเอง อย่าทำอะไรให้เสียภาพลักษณ์ เสียความน่าเชื่อถือของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ในสายตาชาวต่างชาติอีกเลย บางคนก็เอาไปขยายความให้ต่างชาติมาโจมตีประเทศไทย  ไม่รู้เป็นคนไทยหรือเปล่า  เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง  
"ประชาชนลองคิดตามดูว่าสิ่งเหล่านี้สมควรหรือไม่ คนเหล่านี้กำลังคิดอะไรอยู่ มีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นักกฎหมาย  อดีตรัฐบาล นักการเมืองบางคน ออกมากดดันให้รัฐบาล และ คสช.ทำโน่น ทำนี่ ที่ผ่านมาปัญหามากมาย ก็ไม่ได้ทำไม่ได้แก้ไขกันมาก่อน มาคิดได้ตอนนี้ แล้วมาไล่รัฐบาลนี้ให้ทำ แล้ววันหน้าถ้าไม่มีใครทำ ผมก็คงจะทำเริ่มไว้ให้แล้ววันนั้นท่านมีอำนาจหน้าที่เข้ามาทำใหม่แล้วกัน ให้ประชาชนเขาตรวจสอบ ติดตามดูบ้าง เพราะฉะนั้นทุกคนลองเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาตัวเองกันบ้างในขณะนี้  ลองมาช่วยกันทำอะไรที่สร้างสรรค์ เช่น ชี้ประเด็นปัญหา จุดอ่อน ประสบการณ์ที่ทำมาแล้วเจอ แล้วพบ แล้วถ้าแก้ไม่ได้  แล้วท่านมาทำให้ผมแก้ให้ได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผมรับได้หมด ให้มีการรับฟังความคิดเห็น ขอให้เสนอแนะแนวทางในทัศนะของท่านมา แต่อย่ามาโจมตีผมว่าผมทำโน่นทำนี่อะไรทำนองนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จะต้องเป็นประชาธิปไตย ที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” นำพาให้ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้ได้  โดยตนอยากฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป คือ (1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ (2) หากไม่ได้ จะทำอย่างไร (3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ (4) ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาซ้ำอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ขอให้ส่งคำตอบ และความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวมรวมส่งมาตนยินดีรับฟัง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น