วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

มีชัยการันตี ไม่ขัด รธน. ปมงัด ม.44 ผ่อน 3 กฎระเบียบเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก


ประธาน กรธ. ชี้ คสช. ใช้ ม.44 ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3 ด้านเพื่อให้การเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเร็วขึ้น ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 

24 พ.ค. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานวา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีมติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า กรณีดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมันให้กับนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีหลายกลไกที่เอื้อประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศในด้านการลงทุนและการบริการประชาชนให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น พร้อมเห็นว่า การออกคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องอื่น ก็ต้องระมัดระวังในการพิจารณาว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยส่วนตัวไม่สามารถบอกได้ว่ากฎหมายลักษณะใดที่ไม่สามารถออกโดยมาตรา 44 ได้
มีชัย ระบุด้วยว่า ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ กรธ. จะส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณา พร้อมย้ำถึงเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มุ่งเน้นเรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกสรรหาที่ต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหาก สนช. ยังยืนยันให้ กกต. ชุดเก่าทำหน้าที่ต่อไป เห็นว่าหากไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากเป็นความเห็นต่างที่ต้องรับฟัง
โดยวานนี้ (23 พ.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 รวมทั้งสิ้น 3 เรื่อง ประกอบด้วย สำหรับเรื่องแรก คือ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการหรือกิจการสำคัญและเร่งด่วนของอีอีซีเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกัน ยังให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติม จากผู้ขออนุญาตได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยให้ใช้เวลาพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน 
ส่วนเรื่องที่สอง คือ กระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันจะใช้เวลาอย่างน้อย 8-9 เดือน ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการจึงให้นายกรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการตามมาตรฐานการร่วมทุนได้เป็นการพิเศษ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ

เรื่องสุดท้าย คือ ให้หน่วยซ่อมอากาศยานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามลักษณะการลงทุน ซึ่งเดิมกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซ่อมต้องมีสัญชาติไทย หรือมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50% แต่ตามกิจการ เช่น การซ่อมเครื่องบิน อะไหล่ และชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตริสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ จึงจะไม่ยอมลงทุนโดยมีผู้ถือหุ้นอื่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจึงปรับปรุงลักษณะของผู้ได้รับใบรับรองในเขตอีอีซีเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น