วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไอลอว์เปิดรายงาน 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”


ไอลอว์เปิดรายงาน 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  ชี้ คสช.พาไทยถอยหลังกลับรวมศูนย์อำนาจ ทำลายการมีส่วนร่วมและระบบตรวจสอบโดยตุลาการ สร้างกลไกสืบทอดอำนาจให้แก่ตนเอง 

22 พ.ค. 2560 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เผยแพร่รายงานเรื่อง 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  เนื่องในวันครบรอบ 3 ปีการเข้าปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า คสช. ใช้เวลา 3 ปีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองการปกครองของไทยไปอย่างใหญ่หลวง ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การดึงอำนาจการปกครองกลับไปอยู่ที่หน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่, การตัดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน, การใช้กฎหมายควบคุมเสรีภาพของสื่อมวลชน, การสถาปนาอำนาจทหารในกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจสูงสุดอย่างที่ไม่มีกระบวนการใดสามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ไอลอว์ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นการประมวลภูมิทัศน์ทางการเมืองภายใต้การปกครองของคสช. โดยรวบรวมข้อมูลจากการติดตามกระบวนการออกกฎหมายและเก็บข้อมูลของไอลอว์ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า คสช. ได้นำพาประเทศไทยย้อนกลับไปในยุคการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอีกครั้ง ผ่านการออกกฎหมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560, พระราชบัญญัติอย่างน้อย 239 ฉบับ, คำสั่งที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 อย่างน้อย 151 ฉบับ และประกาศและคำสั่งคสช. อีกมากมาย 
แฟ้มภาพ
“คสช. ได้ทำลายกลไกและวัฒนธรรมการปกครองประเทศโดยประชาชนที่พัฒนาขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาไปจนหมดสิ้น ระยะเวลาสามปีของ คสช. ถือว่า นานมาก อาจจะนานพอที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย และรู้สึกชินชากับวิธีการปกครองแบบผู้นำใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้อันตราย ทำให้ประเทศไทยกลับสู่วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยได้ยาก” ยิ่งชีพ กล่าว
ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คสช. ยังบ่อนทำลายการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วยการปิดกั้นการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามการชุมนุมโดยสงบของประชาชน, การควบคุมตัวโดยอำนาจพิเศษของทหาร, การดำเนินคดีด้วยข้อหาความมั่นคง ส่งผลให้สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้ความเงียบงัน แต่อย่างไรก็ดี ตลอดสามปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนก็พยายามเคลื่อนไหวสร้างพื้นที่การส่งเสียงตลอดมา ตั้งแต่การชุมนุม การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ การใช้กลไกองค์กรอิสระ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่ก็เป็นสามปีที่สร้างประสบการณ์ให้ภาคประชาสังคมไทยอย่างมากทีเดียว
สำหรับ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย ติดตามจับตาการออกกฎหมาย โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และการออกประกาศ คำสั่ง โดย คสช. รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เช่น การปรับทัศนคติ, การจับกุม, การดำเนินคดีต่อประชาชนในศาลยุติธรรมและศาลทหาร โดยได้บันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ คสช.เข้าปกครองประเทศและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น