วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประยุทธ์คาด ระเบิด รพ.พระมงกุฎ ทำเป็นขบวนการ ชี้บางครั้งจ้าง 500 บ. ไปวาง


ศรีวราห์ เผยกำลังเช็คที่มา จดหมายเตือน ยันขณะนี้ตำรวจยังไม่มีการควบคุมตัวบุคคลใด การสืบสวนขณะนี้ ยังไม่ได้ตัดประเด็นใดทิ้ง รวมประเด็นที่อาจเกิดจากความไม่พอใจการจัดสรรพื้นที่การค้าใน รพ.ก็สามารถเป็นไปได้ ส่วนกล้องวงจรปิด อยู่ระหว่างไล่ตรวจ 

24 พ.ค. 2560 ความคืบหน้าเหตุระเบิดในช่วงสาย วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณที่เกิดเหตุเป็นห้องรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ หน้าห้องวงษ์สุวรรณ ภายใน รพ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย นั้น

ประยุทธ์ คาดทำเป็นขบวนการ ชี้บางครั้งจ้างคนไปวางแค่ 500 บ.

นี้ (24 พ.ค. 60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวยืนยันมีข้อมูลกลุ่มที่ก่อเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแล้ว พร้อมประณามและสาปแช่งผู้ก่อเหตุทั้งหมด และขอให้ประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง
"มันมีหลายส่วน มันยึดโยงกันหมด หลายอย่างมันทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว แต่บางอย่างมันทำได้คนเดียว เพราะอะไร มันจ้างเขาทำ เผาโน้เผานี่มันจ้างเด็กอายุ 14 เผาอย่างนี้ 200 บาท เดี๋ยวมันจับได้เองล่ะ ..วิธีการแบบนี้มันก็มีขบวนการ คนไปวาง บางทีไอ้คนถือไปยังไม่รู้เลยว่าอะไร หรือไม่ก็รู้ว่าไม่อันตรายก็เลยรับจ้างมา 500 บ้าง เอาไปวางเสียบปั๊บ ไอ้คนทำอยู่ข้างนอก ไอ้คนบัญชาการอยู่โน้น ในประเทศนอกประเทศก็ไม่รู้ ไปหามา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ศรีวราห์ เผยกำลังเช็คที่มา จม.เตือน

วันเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมคลี่คคลายคดีระเบิดใน รพ.พระมงกุฎเกล้า โดยยืนยันขณะนี้ทางตำรวจยังไม่มีการควบคุมตัวบุคคลใด ส่วนที่มีข่าวจากฝ่ายความมั่นคงว่าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้แล้วนั้น ตนยังไม่ได้รับการประสานจากฝ่ายความมั่นคงหรือทหารแต่อย่างใด ส่วนความคืบหน้าคดี ได้มีการเชิญพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุมาให้การเพื่อสเกตช์ภาพผู้ต้องสงสัย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี 
สำหรับประเด็นที่มีบุคคลส่งจดหมายเตือนว่าจะมีเหตุระเบิดในโรงพยาบาลนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบหาที่มา เบื้องต้นพบว่าต้นทางถูกส่งผ่านตู้ไปรษณีย์ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีตราประทับมาจาก 3-4 เขต กำลังตรวจสอบอย่างละเอียด เนื่องจากตู้ไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ มีถึงกว่า 400 ตู้ แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นจดหมายเตือนระเบิดนั้น เบื้องต้นยังไม่เกี่ยวกับเหตุระเบิดที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า เพราะเป็นการเตือนโรงพยาบาลคนละแห่งกัน ส่วนกรณีที่จดหมายระบุผู้ส่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น ตนยังไม่ขอตอบ เพราะหวั่นจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน
พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการสืบสวนขณะนี้ ยังไม่ได้ตัดประเด็นใดทิ้ง รวมประเด็นที่อาจเกิดจากความไม่พอใจการจัดสรรพื้นที่การค้าใน รพ.ก็สามารถเป็นไปได้ ส่วนกล้องวงจรปิด อยู่ระหว่างไล่ตรวจ ซึ่งก็พอได้เบาะแส พร้อมยืนยันว่าคดีนี้ไม่ตันแน่นอน ส่วนผู้ที่ก่อเหตุ เชื่อว่าคนร้ายที่ทำแบบนี้ได้มีไม่กี่กลุ่ม เพราะวิธีการประกอบระเบิดเหมือนกับเหตุระเบิดเมื่อปี 2550 โดยจะนำไปเทียบกับแผนประทุษกรรมเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศด้วย
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ตำรวจได้ควบคุมตัว อาแว ยูโซป ซึ่งมีชื่อในจดหมายข่มขู่ จากบ้านย่านบรรทัดทอง ไปสอบสวน เบื้องต้นเจ้าตัวให้การปฏิเสธไม่ได้เขียนหรือส่งจดหมายทั้ง 3 ฉบับ พร้อมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เจ้าหน้าที่ยังไม่มีหลักฐานจึงปล่อยตัวไป ส่วนการตรวจค้นบ้านพักก็ไม่พบหลักฐานเชื่อมโยง ส่วนจดหมายข่มขู่ทั้ง 3 ฉบับได้ส่งตรวจพิสูจน์ พบว่าเขียนด้วยลายมือคนเดียวกันและข้อความเหมือนกัน อยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบตัวผู้เขียน

มีชัยการันตี ไม่ขัด รธน. ปมงัด ม.44 ผ่อน 3 กฎระเบียบเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก


ประธาน กรธ. ชี้ คสช. ใช้ ม.44 ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3 ด้านเพื่อให้การเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเร็วขึ้น ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 

24 พ.ค. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานวา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีมติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า กรณีดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมันให้กับนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีหลายกลไกที่เอื้อประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศในด้านการลงทุนและการบริการประชาชนให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น พร้อมเห็นว่า การออกคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องอื่น ก็ต้องระมัดระวังในการพิจารณาว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยส่วนตัวไม่สามารถบอกได้ว่ากฎหมายลักษณะใดที่ไม่สามารถออกโดยมาตรา 44 ได้
มีชัย ระบุด้วยว่า ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ กรธ. จะส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณา พร้อมย้ำถึงเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มุ่งเน้นเรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกสรรหาที่ต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหาก สนช. ยังยืนยันให้ กกต. ชุดเก่าทำหน้าที่ต่อไป เห็นว่าหากไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากเป็นความเห็นต่างที่ต้องรับฟัง
โดยวานนี้ (23 พ.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 รวมทั้งสิ้น 3 เรื่อง ประกอบด้วย สำหรับเรื่องแรก คือ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการหรือกิจการสำคัญและเร่งด่วนของอีอีซีเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกัน ยังให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติม จากผู้ขออนุญาตได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยให้ใช้เวลาพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน 
ส่วนเรื่องที่สอง คือ กระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันจะใช้เวลาอย่างน้อย 8-9 เดือน ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการจึงให้นายกรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการตามมาตรฐานการร่วมทุนได้เป็นการพิเศษ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ

เรื่องสุดท้าย คือ ให้หน่วยซ่อมอากาศยานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามลักษณะการลงทุน ซึ่งเดิมกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซ่อมต้องมีสัญชาติไทย หรือมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50% แต่ตามกิจการ เช่น การซ่อมเครื่องบิน อะไหล่ และชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตริสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ จึงจะไม่ยอมลงทุนโดยมีผู้ถือหุ้นอื่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจึงปรับปรุงลักษณะของผู้ได้รับใบรับรองในเขตอีอีซีเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น 

ผบ.ทบ.ชี้ 'โกตี๋' เพียงแค่ผู้ต้องสงสัย แต่ยังไม่ชัดว่าผู้ก่อเหตุระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ คือใคร


พล.อ.เฉลิมชัย ชี้ 'โกตี๋' เป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย แต่ยังไม่ชัดว่าผู้ก่อเหตุระเบิดคือใคร ไม่กล้าฟันธงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติกับเหตุระเบิด ย้ำยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะยังมีเพียงผู้ต้องสงสัย  ผบ.ตร.ย้ำผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มนิยมความรุนแรงเดิม แจงไม่พบโยงก่อการร้ายในอาเซียน

25 พ.ค. 2560 ความคืบหน้าเหตุระเบิดในช่วงสาย วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณที่เกิดเหตุเป็นห้องรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ หน้าห้องวงษ์สุวรรณ ภายใน รพ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย นั้น
วันนี้ (25 พ.ค.60) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของเหตุระเบิดดังกล่าวว่า ขณะนี้ ภาพรวมมีความคืบหน้าทางคดีไปพอสมควร เท่าที่ทราบ คือ มีพยานและหลักฐานในที่เกิดเหตุ และมีกล้องวงจรปิดที่ให้ข้อมูลพอสมควร เบื้องต้นมีผู้ต้องสงสัยแล้ว แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีผู้ต้องสงสัยกี่คน เพราะในส่วนของคดีความเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังดำเนินการติดตาม คาดว่ามีโอกาสที่จะได้ตัวผู้กระทำผิดในอนาคต ขณะที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของทหารพร้อมสนับสนุนในเรื่องของกำลังพล หากตำรวจขอความช่วยเหลือ ส่วนตัวได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว ซึ่งเป็นภาพรวมของบุคคลที่เข้าออกภายในบริเวณที่เกิดเหตุ

ชี้ 'โกตี๋' เป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย แต่ยังไม่ชัดว่าผู้ก่อเหตุระเบิดคือใคร 

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าผู้ก่อเหตุมีทั้งคนในและคนนอกประเทศนั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า เชื่อว่านายกรัฐมนตรีพูดในภาพรวม เพราะที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งที่หลบหนีคดีไปอยู่ในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านแล้วแสดงท่าทีก้าวร้าว ใช้กำลังและปลุกระดมให้คนใช้กำลัง ส่วนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการก่อเหตุระเบิดนั้น ตนไม่แน่ใจว่าจะเป็นกลุ่มนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่าเป็นคนภายในที่มีการเชื่อมโยงกันในกลุ่มฮาร์ดคอร์ที่เคยจับกุมตัวไป 
“อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กลุ่มที่หลบหนีคดีในประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีความเกี่ยวโยงกับ วุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ซึ่งเท่าที่ผ่านมามีการปลุกระดมเรื่องการใช้อาวุธผ่านทางโซเชียลมีเดียมาโดยตลอด ซึ่งได้มีการประสานงานกับทางการลาวไปแล้ว แต่ขณะนี้เรื่องยังเงียบ” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก โกตี๋ เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีวางระเบิด ทางการไทยจะประสานงานกับทางการลาวเพิ่มเติมจากคดีหมิ่นเบื้องสูง เพื่อให้ส่งตัวกลับมาหรือไม่นั้น ผบ.ทบ. กล่าวว่า โกตี๋อยู่ระหว่างการหลบหนีคดีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจึงประสานงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางการลาวยังอยู่ระหว่างการติดตามตัวอยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุระเบิดนั้นคือใคร ยังมีเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย
ต่อกรณีคำถามผู้ที่ก่อเหตุจะเป็นทหารแตงโมหรือไม่นั้น ผบ.ทบ.ตอบว่า ยังไม่สามารถระบุไปได้ว่ากลุ่มใดบ้าง ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องสงสัย เพราะถ้ายังไม่มีหลักฐานก็ยังไม่อยากระบุลงไป

ไม่กล้าฟันธงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติกับเหตุระเบิด

ส่วนจะเป็นกลุ่มเกี่ยวกับที่เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ จ.ขอนแก่นหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการปลุกระดมให้กลุ่มคนมาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ แต่ไม่ทราบ และไม่กล้าฟันธงว่าจะเชื่อมโยงกับกรณีเหตุระเบิดหรือไม่ จึงขอให้แยกออกเป็นสองกรณี 
“ในกรณีเผาซุ้มนั้น ได้จับกุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง 9 คน และส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายไปแล้ว ซึ่งไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งในกรณีของ 9 คนนี้ มีผู้จ้างวานเป็นผู้ใหญ่ 1 คน นอกนั้นเป็นเด็กทั้งหมด ซึ่งรับค่าจ้างมาคนละ 200 บาท โดยไม่รู้เรื่องอะไร เด็กแค่ต้องการได้เงิน 200 บาท จึงไม่ใช่กระบวนการของผู้ใหญ่ และไม่ได้มีสิ่งใดมาเชื่อมโยง” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้เพิ่มกำลังเข้าดูแลรักษาความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ทั้งสถานที่ราชการ สถานที่ที่มีประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพยายามขยายกำลังพลให้มากที่สุด รวมทั้งต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ยังให้ความรู้กับพนักงานรักษาความปลอดภัยในการดูแลความปลอดภัย พร้อมขอให้ประชาชนมั่นใจ อย่าตื่นตระหนก
ส่วนการตรวจสอบจดหมายขู่วางระเบิดนั้น ผบ.ทบ. กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ตามข่าวที่ออกมา ชื่อที่ถูกอ้างก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง

ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะยังมีเพียงผู้ต้องสงสัย 

“การก่อเหตุครั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะยังมีเพียงผู้ต้องสงสัย ซึ่งจะสงสัยใครก็ได้ ในการที่จะสรุปว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุนั้นจะต้องมีหลักฐานอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งไปสู่ตัวผู้ก่อเหตุ เพราะฉะนั้นการจะระบุว่าใครเป็นผู้ต้องสงสัยนั้นไม่เป็นผลในเชิงบวกกับสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่ความปรองดอง และส่วนตัวไม่กล้าวิเคราะห์ว่าจะเกี่ยวข้องกับทหารแตงโมหรือไม่ รอฟังความคืบหน้าจากตำรวจอีกครั้ง เพราะการเดาสุ่มนั้นไม่เกิดประโยชน์กับสังคม” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
ส่วนเหตุระเบิดภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเกี่ยวข้องกับการลดบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่นั้น ผบ.ทบ. กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้อง เพราะผู้ก่อเหตุจะหาจังหวะ เวลา และโอกาสเพื่อก่อเหตุอยู่แล้ว อย่าไปมองที่ตัวบุคคล พร้อมย้ำว่า พล.อ.ประวิตร แค่ต้องการดูแลสุขภาพช่วงหนึ่งเท่านั้น และล่าสุดได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่แล้ว
ผบ.ทบ.ยังกล่าวถึงกรณีที่หน่วยงานความมั่นคงเตรียมพิจารณานำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 เรื่องการดำเนินคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้ในสงคราม รวมถึงคดีความมั่นคงบางคดีให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร นำกลับมาบังคับใช้ใหม่อีกครั้งหลังจากเคยยกเลิกไปแล้ว ว่า ได้มีการหารือในระดับผู้ใหญ่ แต่ยังเป็นเพียงการหารือเท่านั้น ยังไม่เป็นนโยบาย และยังไม่มีการเสนอไปยังหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด

ผบ.ตร.ย้ำผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มนิยมความรุนแรงเดิม 

วันเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้มีการสอบปากคำพยานในคดีระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ไปแล้ว 61 ปาก ในจำนวนนี้มี 4-5 ปาก ให้การเป็นประโยชน์ โดยจะเร่งสอบพยานอีก 10-20 ปาก ให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ คาดจะมีความชัดเจนมากขึ้น พร้อมปฏิเสธว่า ภาพสเก็ตที่ปรากฎ ยังไม่ยืนยันว่าเป็นผู้ต้องสงสัย เป็นเพียงคำให้การจากพยานบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น และขณะนี้ มอบหมายให้แต่ละฝ่ายไปรวบรวมข้อมูลหลักฐานให้มากที่สุด และยังไม่ตัดประเด็นใดในการก่อเหตุทิ้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ทุกประเด็น แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนข้อมูลของแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ระบุว่า ทราบตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุ ก็ถือเป็นข้อมูลจากฝ่ายกองทัพ ซึ่งตำรวจมีการประสานข้อมูลกันอยู่ตลอดเวลา
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยังย้ำว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุ เป็นกลุ่มการเมืองที่นิยมความรุนแรงกลุ่มเดิม ซึ่งเชื่อว่า มีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม จึงให้แนวทางการสืบสวน มุ่งไปที่ทั้ง 3 คดี ว่ามีจุดเชื่อมโยงกันหรือไม่ แต่เชื่อว่าผู้ก่อเหตุคดีโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ยังหลบหนีอยู่ในประเทศไทย
ผบ.ตร. ยังเชื่อว่า จะสามารถออกหมายจับผู้ก่อเหตุได้ โดยให้ฝ่ายสืบสวนจำลองเหตุการณ์เส้นทางเข้า-ออกของผู้ก่อเหตุ และเชื่อว่า อาจมีการดูต้นทางก่อน เพราะจุดเกิดเหตุ เป็นพื้นที่เปิด โดยกลุ่มนี้ทำเป็นขบวนการ ไม่ต่ำกว่า 5 คน  ส่วนจดหมายแจ้งเตือนเหตุระเบิดที่ส่งไปยังสถานพยาบาลก่อนหน้านี้ ยังไม่ชี้ชัดว่า กลุ่มที่ส่งจดหมายกับกลุ่มที่ก่อเหตุระเบิด เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ 

ไม่พบโยงก่อการร้ายในอาเซียน

สำหรับเหตุก่อการร้ายหลายประเทศในอาเซียนช่วงนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุว่า ยังไม่พบความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เพราะกลุ่มที่ก่อเหตุส่วนใหญ่ จะมีการประกาศตัวชัดเจน พร้อมเตรียมรับมือ หลังทางการอินโดนีเซีย แจ้งเตือนว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิด อาจหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย

ประวิตร มาแล้ว ชี้ระเบิด รพ.พระมงกุฏฯ "พวกใกล้ๆ เรานี่แหละ" - รบพิเศษสับกำลังคุมเข้มทำเนียบ


พล.อ.ประวิตร ยันไม่ได้ป่วย ไม่ได้นอนอยู่โรงพยาบาล ชี้เหตุระเบิด รพ.พระมงกุฏฯ "ไม่มีใครหรอก พวกใกล้ๆเรานี่แหละ" ขณะที่วานนี้รบพิเศษ สับเปลี่ยนกำลังคุมเข้มทำเนียบ ยันไม่โยงเหตุระเบิด - รวบ 2 ชายต้องสงสัยพร้อมวัตถุคล้ายระเบิดที่สายใต้ใหม่ สุดท้ายเป็นระเบิดปลอม

25 พ.ค. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับไทยรัฐทีวี ด้วยน้ำเสียงแจ่มใส โดยยืนยันไม่ได้ป่วย และไม่ได้นอนอยู่ที่โรงพยาบาลตามที่มีข่าวออกมา และไม่ขอแก้ข่าว ปล่อยให้คิดกันไปเอง "ฉันไม่อยู่สักคน มันแปลกประหลาดรึไงนะ" 
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครขณะนี้ ได้สั่งการให้ทหารเร่งระบายน้ำออกจากถนนใหญ่ให้หมดโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน และให้รถแล่นได้ ส่วนปัญหารถติดก็พยายามแก้ไขอยู่
 
ส่วนเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร บอกว่า "ยังไม่ฟันธง แต่ไม่มีใครหรอก พวกใกล้ๆเรานี่แหละ"
 
โดยช่วงสายของวันนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แจ้งข่าวผ่านไลน์ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล  ว่า พล.อ.ประวิตร สั่งการให้ทุกเหล่าทัพติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุฤดูฝน ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบระบายและเก็บกักน้ำที่จัดทำขึ้น ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขังและดินถล่ม ให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยให้ประสานและสนับสนุนส่วนราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
 
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังให้ทุกเหล่าทัพดำเนินการฝึก และให้ความรู้แก่นักศึกษาวิชาทหารและกำลังพลสำรอง ที่จะเข้ารับการฝึกตามแผนเรียกพลประจำปี 60  ในการบรรเทาสาธารณภัยควบคู่กันไป เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ในภาวะวิกฤตของทุกภัยพิบัติ โดยเฉพาะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในทุกปี
 
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.ท.คงชีพ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนทางโทรศัพท์ กรณีวันนี้ (25 พ.ค.) พล.อ.ประวิตร จะเข้าปฏิบัติภารกิจที่ใด ว่า วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงกลาโหม ไม่มีภารกิจหรือวาระงาน ที่ พล.อ.ประวิตรต้องเข้าไปร่วมประชุม  จึงคาดว่าอาจจะปฏิบัติภารกิจ และนั่งทำงานอยู่ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ  

รบพิเศษ สับเปลี่ยนกำลังคุมเข้มทำเนียบ ยันไม่โยงเหตุระเบิด

ขณะที่วานนี้ (24 พ.ค.60) สื่อหลายสำนัก เช่น ไทยพีบีเอส ผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า กองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี 20 นาย เข้าตรวจความเรียบร้อย สถานที่โดยรอบทำเนียบรัฐบาล รวมถึงภายในอาคารทุกอาคาร เพื่อเตรียมสับเปลี่ยนกำลังสำหรับรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาลกับทหารชุดเดิม ที่ประจำการมากว่า 6 เดือน ถือเป็นการผลัดเปลี่ยนตามวงรอบตามปกติไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้
การตรวจตราพื้นที่ทำเนียบฯ จะเน้นทางเข้าออก เพราะกำลังมีการก่อสร้าง และกิจกรรมตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ทำให้มีคนพลุกพล่านจำนวนมาก นอกจากนี้ยังคงมีตำรวจสันติบาลและทหารประจำตามจุดต่างๆ ตรวจตราบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่อย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เคยเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หรือเบเรต์แดง เมื่อปี 2556 ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่ การรักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลและทหารประจำตามจุดต่างๆ ตรวจตราบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่อย่างเข้มงวด

รวบ 2 ชายต้องสงสัยพร้อมวัตถุคล้ายระเบิดที่สายใต้ใหม่ สุดท้ายเป็นระเบิดปลอม

วันนี้ (25 พ.ค.60) ไทยพีบีเอสผู้จัดการออนไลน์ และสื่ออีกหลายสำนัก รายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 16.30 น.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ หลังมีรายงานว่ามีชายต้องสงสัยเตรียมก่อเหตุก่อกวนกรณีวางวัตถุต้องสงสัย หน้าธนาคารออมสิน สาขาสายใต้ใหม่ โดยถือวัตถุคล้ายระเบิดอยู่ในสถานี
เมื่อเข้าตรวจสอบพบผู้ต้องสงสัย 2 คนดังกล่าวจึงเข้าตรวจค้น พบกระเป๋าพลาสติกภายในกระเป๋าเป็นอุปกรณ์คล้ายระเบิดพร้อมถ่านประจุจึงทำการจับกุม และเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นระเบิดปลอม จึงนำสองผู้ต้องหาไปสอบสวนที่ สน.ต่อไป
รายงานข่าวระบุ ข้อมูลผู้กำกับการ สน.ตลิ่งชัน ว่าหลังได้รับแจ้งเหตุดังกล่าวจึงเข้าทำการตรวจค้นพร้อมกับเจ้าหน้าที่อีโอดีเข้าตรวจสอบ ยืนยันว่าเป็นระเบิดปลอม 

ประยุทธ์ โวยอดีตรัฐบาลมากดดันให้ทำโน่นทำนี่ ย้อนมาคิดได้อะไรตอนนี้แต่ที่ผ่านมาไม่แก้


พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ไม่ควรจะถือเอาว่า “การเลือกตั้ง” คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ต้องตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันได้ รัฐบาลยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” ย้ำจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันจากการถูกละเมิด ระบุ 'ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้' 
26 พ.ค. 260 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปประเทศเช่นนี้ ประเทศชาติของเรานั้น เราต้องการมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งโดยเนื้อแท้ แล้วนั้น เราไม่ควรจะถือเอาว่า “การเลือกตั้ง” คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  หรือไม่สนใจแต่เพียงการมี “อำนาจอธิปไตย” จากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่หากเราไม่มีการตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลก็จำเป็นต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านั้น  กำลังปลูกฝัง เร่งสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่เราอาจจะห่างหายลืมเลือน หรือขาดแคลน บนเส้นทางของการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่บางคน คิดดังๆ ออกสื่อฯ  Social นั้น อยู่บนพื้นฐานหลักการและเหตุผล ที่ถูกที่ควร หรือไม่ อย่างไร เช่น หลายคนมักพูดติดปากว่ารัฐบาลและ คสช. จำกัดเสรีภาพ คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ให้ถ่องแท้ อันนี้คงจะไม่ไปพูดถึงกรณีละเมิดสถาบันซึ่งยังมีอยู่ บุคคลธรรมดาก็เราก็ยังมีกฎหมาย ในเรื่องของการฟ้องหมิ่นประมาท แต่เราก็ยังต้องดูแลสถาบันอันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทย กฎหมายฉบับนั้นมีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน แล้วพระองค์ท่านก็ปกป้องพระองค์เองไม่ได้  เพราะฉะนั้นสถาบันก็มีแต่พระเมตตามาโดยตลอด  มีการลดโทษให้ มีการนิรโทษให้ตลอดมา ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้ หลายคนก็เคยตัววันนี้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน อย่าปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่เลย  อย่าแชร์ อย่าแพร่ เพราะผิดกฎหมายมาแล้วก็เป็นปัญหาอีกเพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออก
"ประเด็นของเสรีภาพในที่ต่างๆ ที่ว่ามานั้น การเดินขบวน  สร้างความวุ่นวาย การปราศรัยที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท  หมิ่นสถาบัน โดยการขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ไร้ความน่าเชื่อถือนั้นเพราะว่า นอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมาย  ละเมิดสิทธิผู้อื่นแล้ว ยังกีดขวางการจราจร กีดขวางการใช้รถ ใช้ถนน โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมลักษณะดังกล่าว หากไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนะครับ กฎหมายออกมาแล้ว ต้องมีกำหนดเวลา มีจำนวน  มีสาเหตุประเด็น ทั้งหมดต้องมีกติกา อย่าไปมองรัฐธรรมนูญอย่างเดียวว่าทุกคนมีสิทธิโน่นสิทธินี่ แต่กฎหมายอื่นๆ  มีข้างล่างหลายตัว จะมาอ้างอันโน้นอันเดียว มาทับอันล่าง ข้างล่างก็ไม่ต้องมีกฎหมายถ้าเป็นแบบนั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่แล้วที่มีปัญหาทุกวันนี้ เป็นการดำเนินการที่มีเบื้องหน้า เบื้องหลังทั้งสิ้น  หวังผลทางการเมืองด้วย  อาจเดือดร้อนจริง แต่ก็มีการเมืองมาใช้ประโยชน์ด้วย  นำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ในการสร้างความชอบธรรมทำนอง เพราะฉะนั้นลักษณะเช่นนี้ ท่านจะอ้างประชาธิปไตย อ้างสิทธิเสรีภาพ อ้างรัฐธรรมนูญต่างๆ แล้วเราไปปิดกั้น คงไม่ถูก ช่องทางที่ทุกคนจะแสดงความคิดเห็นได้ รัฐบาลได้ทำให้แล้ว  อาทิเช่น ศูนย์ดำรงธรรม (สายด่วน 1567) หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สายด่วน 1111) ซึ่งทุกคนก็สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย และเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำติชม ได้ด้วยตนเอง อย่าทำอะไรให้เสียภาพลักษณ์ เสียความน่าเชื่อถือของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ในสายตาชาวต่างชาติอีกเลย บางคนก็เอาไปขยายความให้ต่างชาติมาโจมตีประเทศไทย  ไม่รู้เป็นคนไทยหรือเปล่า  เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง  
"ประชาชนลองคิดตามดูว่าสิ่งเหล่านี้สมควรหรือไม่ คนเหล่านี้กำลังคิดอะไรอยู่ มีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นักกฎหมาย  อดีตรัฐบาล นักการเมืองบางคน ออกมากดดันให้รัฐบาล และ คสช.ทำโน่น ทำนี่ ที่ผ่านมาปัญหามากมาย ก็ไม่ได้ทำไม่ได้แก้ไขกันมาก่อน มาคิดได้ตอนนี้ แล้วมาไล่รัฐบาลนี้ให้ทำ แล้ววันหน้าถ้าไม่มีใครทำ ผมก็คงจะทำเริ่มไว้ให้แล้ววันนั้นท่านมีอำนาจหน้าที่เข้ามาทำใหม่แล้วกัน ให้ประชาชนเขาตรวจสอบ ติดตามดูบ้าง เพราะฉะนั้นทุกคนลองเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาตัวเองกันบ้างในขณะนี้  ลองมาช่วยกันทำอะไรที่สร้างสรรค์ เช่น ชี้ประเด็นปัญหา จุดอ่อน ประสบการณ์ที่ทำมาแล้วเจอ แล้วพบ แล้วถ้าแก้ไม่ได้  แล้วท่านมาทำให้ผมแก้ให้ได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผมรับได้หมด ให้มีการรับฟังความคิดเห็น ขอให้เสนอแนะแนวทางในทัศนะของท่านมา แต่อย่ามาโจมตีผมว่าผมทำโน่นทำนี่อะไรทำนองนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จะต้องเป็นประชาธิปไตย ที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” นำพาให้ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้ได้  โดยตนอยากฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป คือ (1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ (2) หากไม่ได้ จะทำอย่างไร (3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ (4) ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาซ้ำอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ขอให้ส่งคำตอบ และความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวมรวมส่งมาตนยินดีรับฟัง 

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

'เรืองไกร' เตรียมยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ 'อรรชกา' แจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จหรือไม่


'เรืองไกร' เตรียมยื่นตรวจสอบ 'อรรชกา สีบุญเรือง' แจ้งทรัพย์สินมีการให้กู้ยืมแก่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ตนตรวจสอบไม่พบการแสดงบัญชีของบริษัทดังกล่าวว่าเป็นการแจ้งเท็จหรือไม่ ชี้ต้องเทียบเคียงมาตรฐานจากกรณีที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบ 'เสธ.สนั่น'
 
 

 
21 พ.ค. 2560 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าจากการติดตามตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า กรณีของ นางอรรชกา สีบุญเรือง ที่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินในตำแหน่งรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวม 3 ครั้ง คือ เมื่อรับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม เมื่อพ้นจากตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และเมื่อรับตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พบว่ามีการแสดงรายการเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จำนวนเงิน 39,333,333.33 บาท ไว้ด้วย ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวต้องมีนางอรรชกา แสดงไว้เป็นเจ้าหนี้ในงบการเงินด้วยยอดเงินที่เท่ากันไว้ด้วย
 
นายเรื่องไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบเพื่อยืนยันยอดจากข้อมูลของบริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด ที่ขอมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรากฏว่าไม่พบการแสดงบัญชีของบริษัทดังกล่าวว่ามีเงินกู้ยืมจากนางอรรชกา แต่อย่างใด โดยงบการเงินตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2559 ปรากฏว่า มีนางฉฎา สีบุญเรือง เป็นกรรมการเพียงคนเดียว และเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด จากจำนวน 500,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท ยกเว้นเพียง 2 หุ้น ที่เป็นบุคคลอื่นคนละ 1 หุ้น
 
"จากข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน จึงมีเหตุที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไปว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินของนางอรรชกา ต่อ ป.ป.ช.ว่ามีเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จำนวนเงิน 39,333,333.33 บาท แต่ในงบการเงินของบริษัทดังกล่าวไม่มีเงินดังกล่าวที่กู้ยืมนั้น จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ ทั้งนี้ เทียบเคียงมาตรฐานจากกรณีที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ มาก่อนแล้ว" นายเรื่องไกร กล่าว
 
ทั้งนี้ จึงจะไปยื่นหนังสือด้วยตนเองเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการยื่นบัญชีเงินให้กู้ยืมของนางอรรชกาว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ พร้อมทั้งทวงถามเรื่องที่ร้องนายกฯ กับ 2 รมต.ด้วยว่าดำเนินการแล้วหรือไม่ โดยจะไปยื่นหนังสือในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) เวลา 10.00 น.ที่สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเศรษฐกิจ 3 ปีหลัง คสช. ยึดอำนาจ เอกชนลงทุนเติบโตต่ำ


คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. พบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ชี้ภาคการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ  
 
21 พ.ค. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช และภาวะเศรษฐกิจว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ในปี พ.ศ. 2557 มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาสรแรกปี พ.ศ. 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับ 3.6% การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 57 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในปัจจุบันแต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจสามปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัวหรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้ 
 
การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำแม้นกระเตื้องขึ้นและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ทุนข้ามชาติสัญชาติไทยไหลออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากอย่างที่คาดการณ์และยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ 
 
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้า นโยบายเหล่านี้รัฐบาลมีความคืบหน้ามากพอสมควร แต่สิ่งที่จะประกันความสำเร็จ คือ เสถียรภาพของระบบการเมือง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันและระบบนิติรัฐ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ในส่วนนี้รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอีกมากและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้เกิดผลจึงต้องส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนนักต่อประชาคมอาเซียนหรือการมียุทธศาสตร์อาเซียนของประเทศไทยและยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต่อนโยบายสำคัญ One Belt One Road ของจีน 
 
ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่องฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจ โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อน คสช เข้ายึดอำนาจในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และรัฐบาล คสช เข้ามาบริหารประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 
 
ประเมินผลงานเศรษฐกิจมีทั้งดีขึ้น ทรงตัวและแย่ลง ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ระดับ ดีพอใช้ B ด้านความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีมากระดับ A ด้านความสามารถในการแข่งขันได้ระดับดีพอใช้คะแนนระดับ B ด้านการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแย่ลงต้องปรับปรุง คะแนนระดับ D ด้านการพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ด้านความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขันยังต้องปรับปรุงอีกมากได้คะแนนระดับ D ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ด้านฐานะทางการคลัง ก่อหนี้มากขึ้น ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ได้คะแนนพอใช้หรือระดับ C ฐานะการคลังแย่ลงเพราะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็น รายจ่ายด้านสวัสดิการสูงขึ้นและไม่พยายามลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธ ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ ได้คะแนนระดับ B สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หารายได้เข้ารัฐ ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ประเทศมีฐานรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จมากกว่านี้ 3 ปีที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าระดับหนึ่งเท่านั้นจึงได้คะแนนในระดับ C 
 
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% แต่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องมาตลอดสองปีกว่าๆเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีและปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย 1-5 บาทในช่วงต้นปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ 
 
ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการมีระบอบการเมืองที่มีคุณภาพและมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการวางรากฐานสู่ประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน หากไม่สามารถทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นได้ ไทยจะเผชิญกับทศวรรษที่สองแห่งการสูญเสียโอกาส ถดถอยและจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย
 
ด้านการปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงินโดยเฉพาะในส่วนของกองทุนประกันสังคมมีความคืบหน้าดีพอใช้ ได้ระดับคะแนน B ส่วนในระบบสาธารณสุขนั้นยังไม่มีข้อสรุปหรือความก้าวหน้าชัดเจนนัก ยังไม่สามารถให้คะแนนได้ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ตกผลึก 
 
ประเมินผลงานด้านการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวและเป้าหมาย มีความคืบหน้าและรูปธรรมชัดเจนแต่การมีส่วนร่วมมีข้อจำกัด ได้ระดับคะแนนดีพอใช้ B 
 
ประเมินผลงานด้านการยุติความขัดแย้งรุนแรงอันนำมาสู่สงครามกลางเมือง คสช มีผลงานอย่างชัดเจนในการลดความเสี่ยงและขจัดเงื่อนไขเฉพาะหน้าอันนำไปสู่ความรุนแรงและการนองเลือด จึงได้คะแนนในระดับ A แต่ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง เนื่องจากการปรองดองอย่างแท้จริงต้องเกิดจากกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง ใช้กระบวนการประชาธิปไตย แสวงหาข้อเท็จจริง สถาปนานิติรัฐเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ คืนให้ความเป็นธรรมให้นักโทษทางการเมือง 
 
ประเมินผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ผลงานด้านนี้ไม่ผ่าน ได้ระดับคะแนน F แม้นจะมีการผ่อนคลายทางด้านสิทธิเสรีภาพบ้าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง แต่ได้มีการสร้างกลไกสถาบันและกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมและไม่ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นอกจากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆการรับรองอนุสัญญาต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิแรงงานดีขึ้น
 
ประเมินผลงานทางด้านการศึกษา คะแนนอยู่ในระดับ A มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนและกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวทางการศึกษาอยู่บนข้อมูลการวิจัยและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเพิ่มการกระจายอำนาจทางการศึกษา ปฏิรูปครูและปฏิรูปการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น 
 
3 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ คสช ก่อนการเลือกตั้ง ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจาก Supply-side เป็น Demand-side มากขึ้นเพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาและงบประมาณ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น 
 
ผลงานด้านความมั่นคงและระบบการป้องกันประเทศ ได้คะแนนภาพรวมพอใช้ หรือ ระดับ C เท่านั้น เพราะจัดสรรงบประมาณจำนวนมากซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แทนที่จะนำงบประมาณมาลงทุนวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศเองผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ควรนำงบประมาณลงทุนพัฒนาบุคลากรของกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ เพิ่มระบบทหารอาสา ลดสัดส่วนทหารเกณฑ์และทำให้คุณภาพชีวิตและผลตอบแทนของทหารเกณฑ์และกำลังพลดีขึ้น ขณะที่การก่อเหตุความไม่สงบในประเทศลดลงแต่ไม่ได้หมดไปจึงต้องลดเงื่อนไขการก่อเหตุที่กระทบความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนลดลงอย่างชัดเจนอันเป็นผลบวกต่อการค้าการลงทุนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2560 สามารถเติบโตได้ในระดับ 3.6-4.2% ดีขึ้นกว่าปี 2557 (จีดีพีขยายตัว 0.8%) 2558 (2.9%) และ ปี 2559 (3.2%) (โปรดดูตารางตัวเลขเศรษฐกิจเปรียบเทียบ) อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่กระจายตัวมายังกิจการขนาดเล็ก เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและประชาชนระดับฐานรากมากนัก “ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก 
 
เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแม้นไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง แต่ยังมีความหวังว่า การร่างกฎหมายลูกที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของประชาชนมากขึ้น เพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมืองมากขึ้น จะทำให้ปัญหาบางอย่างในรัฐธรรมนูญบรรเทาลงและไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ 
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง จะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วม รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีก 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับ พลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และ คสช ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสองพลังอำนาจนี้โดยไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศึกษาความผิดผลาดในอดีตไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ย้ำรอยความล้มเหลว หากผู้ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งและการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาจะทำให้ระบบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง อันนำมาสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน 
 

ไอลอว์เปิดรายงาน 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”


ไอลอว์เปิดรายงาน 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  ชี้ คสช.พาไทยถอยหลังกลับรวมศูนย์อำนาจ ทำลายการมีส่วนร่วมและระบบตรวจสอบโดยตุลาการ สร้างกลไกสืบทอดอำนาจให้แก่ตนเอง 

22 พ.ค. 2560 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เผยแพร่รายงานเรื่อง 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  เนื่องในวันครบรอบ 3 ปีการเข้าปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า คสช. ใช้เวลา 3 ปีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองการปกครองของไทยไปอย่างใหญ่หลวง ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การดึงอำนาจการปกครองกลับไปอยู่ที่หน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่, การตัดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน, การใช้กฎหมายควบคุมเสรีภาพของสื่อมวลชน, การสถาปนาอำนาจทหารในกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจสูงสุดอย่างที่ไม่มีกระบวนการใดสามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ไอลอว์ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นการประมวลภูมิทัศน์ทางการเมืองภายใต้การปกครองของคสช. โดยรวบรวมข้อมูลจากการติดตามกระบวนการออกกฎหมายและเก็บข้อมูลของไอลอว์ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า คสช. ได้นำพาประเทศไทยย้อนกลับไปในยุคการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอีกครั้ง ผ่านการออกกฎหมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560, พระราชบัญญัติอย่างน้อย 239 ฉบับ, คำสั่งที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 อย่างน้อย 151 ฉบับ และประกาศและคำสั่งคสช. อีกมากมาย 
แฟ้มภาพ
“คสช. ได้ทำลายกลไกและวัฒนธรรมการปกครองประเทศโดยประชาชนที่พัฒนาขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาไปจนหมดสิ้น ระยะเวลาสามปีของ คสช. ถือว่า นานมาก อาจจะนานพอที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย และรู้สึกชินชากับวิธีการปกครองแบบผู้นำใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้อันตราย ทำให้ประเทศไทยกลับสู่วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยได้ยาก” ยิ่งชีพ กล่าว
ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คสช. ยังบ่อนทำลายการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วยการปิดกั้นการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามการชุมนุมโดยสงบของประชาชน, การควบคุมตัวโดยอำนาจพิเศษของทหาร, การดำเนินคดีด้วยข้อหาความมั่นคง ส่งผลให้สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้ความเงียบงัน แต่อย่างไรก็ดี ตลอดสามปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนก็พยายามเคลื่อนไหวสร้างพื้นที่การส่งเสียงตลอดมา ตั้งแต่การชุมนุม การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ การใช้กลไกองค์กรอิสระ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่ก็เป็นสามปีที่สร้างประสบการณ์ให้ภาคประชาสังคมไทยอย่างมากทีเดียว
สำหรับ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย ติดตามจับตาการออกกฎหมาย โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และการออกประกาศ คำสั่ง โดย คสช. รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เช่น การปรับทัศนคติ, การจับกุม, การดำเนินคดีต่อประชาชนในศาลยุติธรรมและศาลทหาร โดยได้บันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ คสช.เข้าปกครองประเทศและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน