วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

มีชัย เผยเตรียมกำหนดให้พิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลับหลังได้


ประธาน กรธ. เผย เตรียมกำหนดลงใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ชี้เป็นไปเพื่อความรวดเร็ว ย้ำเพราะนักเมืองบางคนหนีคดีไปต่างประเทศ แต่ยังส่งทนายมาฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม

9 มี.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า เท่าที่พิจารณาในเบื้องต้น มีแนวโน้มจะกำหนดให้สามารถพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องยกเว้นการนับอายุความในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปศาล ตามร่างของศาลที่เสนอมา เพราะการใช้วิธีไม่นับอายุความ เกรงว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจมีผลกระทบต่อพยานหลักฐาน
ประธาน กรธ. กล่าวว่า การดำเนินคดีกับ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความจำเป็นต้องใช้มาตรฐานสูงกว่า ประชาชนทั่วไป เพราะการดำเนินการของนักการเมือง มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตส่วนใหญ่เมื่อทำผิดแล้วมักจะหนีคดีไปต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่ในทางกลับกันสามารถส่งทนายความไปฟ้องร้องคนอื่นได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม
“ไม่ถือเป็นการริดรอนสิทธิ เพราะไม่ได้ห้ามนักการเมืองมาสู้คดี แต่หากไม่มี ก็ต้องให้พิจารณาคดีได้ ไม่เช่นนั้นคดีจะค้างอยู่ที่ศาลจำนวนมาก แต่ในทางกลับกัน นักการเมืองที่ทุจริตได้เงินไปมาก ๆ หนีคดีไปต่างประเทศ ยังสามารถส่งคนมาฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับคนอื่นเหมือนกัน” มีชัย กล่าว
มีชัย กล่าวว่า เรื่องของอายุความในคดีต่าง ๆ นั้นยังคงมีอายุความ 10 ปี มีเพียงกรณีเดียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ คือการแปรญัตตินำเงินงบประมาณไปให้ ส.ส. ใช้โดยมิชอบ ที่กำหนดให้มีอายุความเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีเป็น 20 ปี
ทั้งนี้เมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะใช้กับคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยไม่มีผลย้อนหลัง เว้นแต่กรณีที่เป็นคุณ อย่างเช่น การให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอุทธรณ์ได้ ทั้งข้อกฎหมายและหลักฐานใหม่ กรณีที่ไปศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น