วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ศาลปกครองชี้บัวแก้วเลือกปฏิบัติต่อ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' สั่งคืนหนังสือเดินทาง 3 ฉบับ

จาตุรนต์ ฉายแสง (ที่มา: เพจจาตุรนต์ ฉายแสง)

ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง 3 ฉบับ ให้มีผลย้อนหลัง ศาลปกครองกลางระบุ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' แม้ถูกห้ามออกนอกประเทศตามคำสั่ง คสช. และศาลทหาร ก่อนเดินทางต้องขออนุญาตทุกครั้ง จึงถือว่าถูกจำกัดเสรีภาพการเดินทางอยู่แล้ว ที่ผ่านมาไปต่างประเทศก็กลับมาตามกำหนด นอกจากนี้ยังไม่เคยถอนหนังสือเดินทางกับผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และ ม.116 กรณีที่เกิดขึ้นกรมการกงสุล-อธิบดีกรมการกงสุล จึงปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
31 มี.ค. 2560 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ มีการอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 57/2559 ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ, กรมการกงสุล, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมการกงสุล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1-7 ขอให้ศาลเพิกถอนคำร้องและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดที่ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของนายจาตุรนต์ ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดี ระบุว่า กระบวนการยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีเร่งรีบผิดปกติ ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ในรายงานของมติชนออนไลน์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 และ 23 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอหรือแก้ไขหนังสือเดินทาง รวมทั้งยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือเดินทางไปแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาผู้กระทำความผิดคดีอาญา ซึ่งกำลังรับโทษอยู่ หรือตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในศาลและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวได้ 
แต่ข้อเท็จจริงรากฏแต่เพียงว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ไปรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกเพียงไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนข้อหากระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
จากกรณีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ผู้ฟ้องคดีได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก กรณีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งว่า การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2558 ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยและเป็นการทำลายหลักการเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามอย่างร้ายแรง ซึ่งเรื่องการถอดถอนนี้สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 253 กับมาตราอื่นที่เชื่อมโยงกันนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิเสธข้อหานี้และอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี เพียงแต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น
ดังนั้น ถึงแม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2557 และศาลทหารกรุงเทพก็ตาม
แต่ที่ผ่านมานายจาตุรนต์เคยได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปประเทศจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี รวมหลายครั้ง
กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ที่ศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ เนื่องจากได้รับอนุมัติให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ ประกอบกับหากผู้ฟ้องคดีมิได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและศาลทหารกรุงเทพตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้เสียก่อน ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องเป็นบุคคลที่ต้องห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ฟ้องคดีถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรอยู่แล้ว
และช่วงที่ผ่านมานายจาตุรนต์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรบ่อยครั้ง และก็เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งที่ได้รับอนุมัติทุกครั้ง โดยไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีคดีอาญาออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด จึงไม่เป็นภาระหน้าที่แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จะต้องกังวลในการสืบหา ระบุถิ่นที่อยู่เพื่อใช้เป็นข้อมูลหลักฐานประกอบคำร้องขอให้ส่งตัวผู้ฟ้องคดีเข้ามาดำเนินคดีหรือรับโทษทางอาญาในฐานะที่เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีโดยมีเจตนาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจอ้าง ชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามาตรการในการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้
กรณีจึงยังมิอาจถือได้ว่ามาตรการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีมีความเหมาะสมหรือสมควร ตรงกันข้าม มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการใช้สิทธิ มีและใช้หนังสือเดินทางเพื่อการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ฟ้องคดีอย่างรุนแรง จึงเท่ากับว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้มาตรการดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี
อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 ได้ใช้มาตรการยกเลิกหนังสือเดินทางกับบุคคลอื่นที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกับผู้ฟ้องคดีที่ฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกันกับผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่ากรมการกงสุลและอธิบดีกรมการกงศุลใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยอธิบดีกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ที่ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่มีคำสั่งยกเลิก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น