วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชวนส่งเสียงค้าน พ.ร.บ.คอมฯ ให้ถึง สนช. เข้าสภา 15 ธ.ค.นี้ ย้ำ ไม่ค้านผ่านแน่ๆ

13 ธ.ค. 2559 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ต รณรงค์ผ่าน change.org เชิญชวนให้ประชาชนร่วมแสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 3 ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาใหม่ โดยชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.โดยรวมทั้งฉบับ "แย่ลงกว่าเดิม"
โดยเชิญชวนให้ส่งอีเมล ทวีตเมนชั่น เขียนข้อความ/อัปโหลดภาพและแท็กเฟซบุ๊ก ส่งไลน์ ถึงสมาชิก สนช.ทุกคนที่รู้จัก ก่อนเช้าวันพฤหัสที่จะถึงนี้ เพื่อแสดงความกังวลต่อประเด็นที่แต่ละคนสนใจ และหยุดร่าง พ.ร.บ.คอมฉบับนี้ ให้สภาพิจารณาใหม่ โดยจะคิดข้อความเองหรือใช้รูปและข้อความตามที่ iLaw แนะนำก็ได้ ตามลิงก์ https://www.ilaw.or.th/node/4364 และส่งไปตามช่องทางต่างๆ (ดูรายละเอียดด้านล่าง)
ล่าสุด ข้อมูล ณ วันนี้ เวลา 13.40 น. มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 46,744 ราย

รณรงค์: ขอเสียงประชาชนหยุด! ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่

ตามระเบียบวาระการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 มีการกำหนด "เรื่องด่วน" ไว้สี่อย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว มีความเป็นไปได้มาก ที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ" ฉบับใหม่ จะผ่านวาระ 3 ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทั้งที่ กลุ่มพลเมืองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกับผู้ให้บริการจำนวนไม่น้อยต่างก็ประสานเสียงกันว่า กฎหมายฉบับนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหา เช่น นิยามความผิดที่ห้ามนำข้อมูลเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างกว้างขว้าง จนประชาชนไม่สามารถรู้ได้ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน นอกจากนี้ ยังเพิ่มอำนาจการบล็อคเว็บแม้เนื้อหาจะไม่ผิดกฎหมายให้กับ "คณะกรรมการกลั่นกรอง" ซึ่งมีได้มากกว่าหนึ่งคณะ เป็นต้น (อ่านรายละเอียดได้ที่นี้)
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ออกแคมเปญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่งเสียงค้ดค้านไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ชะลอหรือยับยั้งการพิจารณากฎหมายฉบับนี้

โดยพวกเราสามารถรวมพลังกันเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ได้ดังนี้

1) โพสต์-แชร์ รูปภาพรณรงค์ (อยู่ด้านล่างสุด) ในประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยไปยังหน้าเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ ของประธาน รองประธาน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามช่องทางนี้

1.1) เฟซบุ๊ก

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (@SenateThailand)
สนช. พบประชาชน (@NLAMeetPeople)
วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา (@Thaiparliamentchannel)
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย  (@สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย)
สุรางคณา วายุภาพ (@surangkana.wayuparb)

1.2) ทวิตเตอร์
วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา @TPchannel
สุรางคณา วายุภาพ @SurangkanaWayup


2) ส่งอีเมลพร้อมรูปภาพรณรงค์ไปที่ยัง ประธาน รองประธาน และสมาชิก สนช. ซึ่งเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง
พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่สอง
พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ภัทรศักดิ์ วรรณแสง รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ คนที่หนึ่ง
กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ คนที่สอง
จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพจ
สุรางคณา วายุภาพ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร กรรมาธิการวิสามัญและที่ปรึกษา
พลตำรวจโท วิบูลย์ บางท่าไม้ กรรมาธิการวิสามัญและที่ปรึกษา
ธานี อ่อนละเอียด กรรมาธิการวิสามัญและที่ปรึกษา
ฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล กรรมาธิการวิสามัญ
ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล กรรมาธิการวิสามัญ
ประมุท สูตะบุตร กรรมาธิการวิสามัญ

คัดลอกอีเมลทั้งหมดได้ตามนี้

chatchawal_su@police.go.th, sen031@senate.go.th, phattarasak.v@coj.go.th, jintanant.sub@mahidol.ac.th, sen057@senate.go.th, sen103@senate.go.th, sen007@senate.go.th, surangkana@etda.or.th, sen215@senate.go.th, sen085@senate.go.th, sen127@senate.go.th, sen058@senate.go.th, chatchai@metroply.com, sen115@senate.go.th, chusak.l@psu.ac.th, sen171@senate.go.th, sen080@senate.go.th, sen089@senate.go.th,
jatingja2479@hotmail.com, sen170@senate.go.th, p_senate@hotmail.com, sen096@senate.go.th,
wp2557@hotmail.com, ilaw@ilaw.or.th
สามารถดาวน์โหลดรูปภาพรณรงค์ไปใช้ได้ ตามนี้
หนึ่ง: ไม่เห็นด้วยกับ "การมีคณะกรรมการมาคิดแทนเราว่า เราควรดูอะไร ไม่ควรดูอะไร" (ดาวน์โหลดภาพขนาดใหญ่ได้ที่นี่)
 

สอง: ไม่เห็นด้วยกับ "การกำหนดนิยามความผิดกว้างขว้าง จนโพสต์อะไรแทบไม่ได้" (ดาวน์โหลดภาพขนาดใหญ่ได้ที่นี่)
 


สาม: รูปภาพรณรงค์ขอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติยับยั้งการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ (ดาวน์โหลดภาพขนาดใหญ่ได้ที่นี่)



 
ข้อมูลประกอบเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อน 'ศรีสุวรรณ' ร้องสอบ 'ศานิตย์' สนช.ป้ายแดง นั่งที่ปรึกษาไทยเบฟฯ

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Srisuwan Janya

13 ธ.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 จำนวน 31 ตำแหน่ง เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 จำนวน 2 ตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา อีกจำนวน 1 ตำแหน่ง
โดยจำนวนนี้ มีกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ซึ่ง ระบุว่ามีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 ได้เงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท จนส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
ล่าสุดวันนี้ (13 ธ.ค.59) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อาคาร B ศูนย์ราชการฯ เพื่อร้องเรียนกล่าวโทษต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อไต่สวน ตรวจสอบว่ามีความผิดต่อจริยธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 (4) และมาตรา 103 ด้วยหรือไม่อย่างไร โดยระบุว่า อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจและประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2550 เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย

ประยุทธ์ขอสื่ออย่าประโคมข่าว 'ธัมมชโย' หวั่นขัดแย้งบานปลาย ขอเวลาให้จนท.ดำเนินการตาม กม.

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ

ย้ำไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างความเชื่อกับการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย กรณีปรับ ครม. ชี้ รบ.-คสช. บริหารต่างจากนักการเมือง เหตุตนมีอำนาจสั่งการทุกกระทรวงด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีมันมีค่าเท่ากัน
13 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ (13 ธ.ค.59) เวลา 13.40 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณี ดีเอสไอได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลเพื่อเข้าจับกุมตัวพระเทพญานมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดพระธรรมกาย ว่า คดีดังกล่าวถือเป็นคดีปกติทั่วไปที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องสั่งการอะไรเพิ่มเติม ทุกอย่างต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรม และมาตรการทุกอย่างตามกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างความเชื่อกับการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
"สิ่งใดก็ตามที่มันเป็นสิ่งที่ละเมิดกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังฝากสื่อมวลชนและสังคมด้วยว่า อย่าประโคมข่าวให้เกิดความขัดแย้ง เพราะจะทำให้แนวโน้นการแก้ไขปัญหามีความยุ่งยาก และบานปลาย ก็ให้เวลา เดี๋ยวก็ดำเนินการเอง ตนให้แนวทางไปแล้วในการดำเนินการตามกฎหมาย

ปมปรับ ครม. ชี้ รบ.-คสช. บริหารต่างจากนักการเมือง 

"การจะปรับครม. แล้วใครจะเป็นรัฐมนตรี ผมคิดว่าในสถานการวันนี้ ไม่ใช่สถานการณ์การบริหารราชการแผ่นดินด้วยนักการเมือง ซึ่งผมไม่ได้รังเกียจนักการเมืองนะ พูดไว้ก่อน เป็นการบริหารราชการภายในกรอบนโยบาย คสช. เพราะฉะนั้นเรามีอำนาจ เรียกว่ามีอำนาจในการกำกับดูแล การปฏิบัติงานที่ลงลึกไปถึงทุกกระทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเองนั้นมีอำนาจในการที่จะสั่งการทุกกระทรวงด้วยตัวเอง ทั้งในส่วนของความคิดริเริ่ม ในส่วนของมองวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ชาติ และกำหนดแนวทางปฏิบัติกว้างๆ ลงไป กระทรวงก็มีหน้าที่ในการนำไปสู่การปฏิบัติ นำไปสู่การขับเคลื่อน คิดแผนงานโครงการต่างๆ ขึ้นมา เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีมันมีค่าเท่ากันนั่นล่ะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมระบุว่าไม่เหมือนกับรัฐมนตรีที่มาจากนักการเมือง เพราะทำตามนโยบายของพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งคนละกระทรวง เพราะฉะนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคการเมืองด้วย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงเป็นคนละแบบกัน เพราะฉะนั้นการบริหารราชการแผ่นดินมันต่างกัน
 
ส่วนเรื่องการประกันสุขภาพข้าราชการ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะต้องหาวิธีการดูแลให้ดีที่สุดเหมือนเดิม ขออย่าขยายความให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้ ขอให้ระมัดระวังการรั่วไหลของการเบิกจ่ายยา และต้องมีความซื่อสัตย์ ขออย่าเบิกจ่ายยาเกินความเป็นจริง
 
เรื่องการปลดล็อคพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตัวพรรคการเมืองยังไม่ปลดล็อคตัวเองเลย ยังพูดขัดแย้งกันอยู่ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาก็ไปสู่การเลือกตั้งเอา

‘โตโต้’ และเพื่อนนอนคุกคดีฉีกบัตรประชามติ วืดประกันหลัง 2 อาจารย์ใช้ตำแหน่งยื่น

ที่มา: เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์'


13  ธ.ค.2559  ดนตร์ เกษมรัชดารักษ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้อัยการนัดส่งสำนวนคดีฟ้องศาลจังหวัดพระโขนง คดีที่นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ นายกสมาคมเพื่อเพื่อน และเพื่อนอีก 2 คนถูกแจ้งข้อหาหลังปิยรัฐฉีกบัตรประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คูหาออกเสียง เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 เมื่ออัยการส่งฟ้องคดีต่อศาลในวันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัวในชั้นศาล โดยใช้ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย 2 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้มีอาจารย์อีก 1 คนใช้ตำแหน่งยื่นประกันด้วยแต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเอกสารไม่ครบและตำแหน่งอาจารย์เพียง 2 คนก็ครอบคลุมวงเงินที่ต้องใช้ประกันทั้ง 3 คนแล้ว ต่อมาในช่วงบ่ายศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้ง 3 คนโดยให้เหตุผลว่า อาจารย์ไม่ใช่ญาติพี่น้องและไม่ใช่นายจ้างของผู้ต้องหา จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ทั้ง 3 คนถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น
ทนายความระบุด้วยว่า วันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.) ทางทีมทนายจะนำเงินสดไปยื่นประกันตัวอีกครั้ง โดยจะวางหลักทรัพย์รายละ 200,000 บาท คาดว่าจะสามารถระดมเงินประกันตัวได้ทัน
ปิยรัฐ ถูกแจ้งข้อกล่าวทั้งหมด 4 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วยความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 59 มาตรา 60 (9) และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 และมาตรา 358 ขณะที่ จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัตร และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ เพื่อนทั้งสองคนของปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาด้วย ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 60 (9) ร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงหรือกระทำการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคต่อการออกเสียงในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง โดยตำรวจระบุว่าเห็นทั้งสองคนมากับปิยรัฐและใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายคลิปขณะปิยรัฐฉีกบัตร

ครม.เห็นชอบ 'ช้อปช่วยชาติ' ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 1.5 หมื่น เริ่ม 14-31 ธ.ค.นี้


13 ธ.ค. 2559 กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช้อปช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในโค้งสุดท้ายปลายปี หวังส่งเสริมการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า ของขวัญ สินค้าจำเป็นทั่วไป โดยไม่รวมถึงการซื้อสุรา ยาสูบ เบียร์ ไวน์ น้ำมัน รถยนต์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายเรื่องทัวร์ มัคคุเทศน์ ที่พักโรงแรม เนื่องจากมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปแล้วสัปดาห์ที่ผ่านมา  มาตรการดังกล่าวกำหนดให้เริ่มระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค. 59 ระยะเวลา 18 วัน จากปี 58 กำหนดให้ช้อปเพียง 7 วันช่วงปลายปี  ด้วยการนำใบเสร็จภาษีมูลค่าที่เป็นค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย สำหรับการยื่นแบบภาษีประจำปี 59  โดยยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในเดือน ม.ค.-มี.ค. 60
แม้คาดว่ารัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 3,200 ล้านบาท  แต่คาดว่าจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบถึง 2 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายผู้ช้อปสินค้าตามนโยบายรัฐบาล 2 ล้านราย  จึงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศได้ร้อยละ 0.2  เกิดการจ้างงาน การเพิ่มยอดขายสินค้า ช่วยลดภาระภาษีให้กับประชาชน และดึงเอกชนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จากมากตรการช้อปช่วยชาติในปี 58 มีผู้ซื้อสินค้า 1 ล้านราย ส่งผลต่อรัฐเสียรายได้ 1,200 ล้านบาท มียอดซื้อสินค้า 10,000 ล้านบาท
กอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติและรับทราบ ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ซึ่งได้คับใช้มาแล้ว 20 ปี  และได้มีการแก้ไขแล้ว 2 ครั้ง ดังนั้นเพื่อคุ้มครองผู้เอาประกัน บริษัทเอกชนจากการฉ้อฉล การใช้ระบบออนไลน์ขายประกัน จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เช่น ป้องการฉ้อฉล จากการหลอกลวงทำประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ชาวบ้านจ่ายเบี้ยประกันแต่ตัวแทนไม่ได้ส่งเงินชำระให้กับบริษัทประกัน จึงถือว่าเป็นการหลอกหลวง  รวมทั้งการสร้างเอกสารหลักฐานเท็จ เพื่อเบิกสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันในการเรียกรับผลประโยชน์ เช่น ไม่ได้ป่วย แต่นำหลักฐานยา การรักษามาเบิกเงินประกัน  และการแก้ไขเกี่ยวกับการทำหลักฐานจากตัวแทนนายหน้า เพื่อรับสินไหมแล้วนำเงินมาแบ่งกับผู้เอาประกันถือว่ามีวามผิด โดยความผิดดังกล่าวในระบบประกันที่ผ่านมาถือว่าการยอมความ เมื่อชดเชยเงินคืนให้ถือว่าคดีส้ินสุดลง แต่ได้แก้ไขให้เจ้าพนักงาน คปภ.เป็นเจ้าทุกข์แจ้งความดำเนินคดี แม้จะมีการยอมความ เพื่อไม่ให้เอาเป็นแบบอย่างหรือมีคดีเกิดขึ้นอีก
สำหรับสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกัน วินาศภัย พ.ศ. 2535 ให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของธุรกิจ เหมาะสมกับสภาวการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันโดยปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติในการกำกับดูแลตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ผู้ประเมินวินาศภัย ตัวแทนประกันวินาศภัย และนายหน้าประกันวินาศภัย ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับการทำธุรกิจประกันภัยผ่านเทคโนโลยี ตลอดจนเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้ธุรกิจประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงของตน เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการทำประกันภัยที่สามารถสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิต รวมถึงช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ

ครม. ยังมีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 17  พ.ย. 2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลใช้บังคับต่อไป โดยสาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงแรงงาน รายงานว่า  คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ได้ดำเนินการจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ  3 กลุ่มอุตสาหกรรม 12 สาขาอาชีพ  โดยพิจารณาข้อมูลผลการสำรวจ ลักษณะการทำงานการจ่ายค่าจ้างจริงในตลาดแรงงาน  และความสามารถในการจ่าย รวมถึงความเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ  เมื่อวันที่  6 ก.ย.2559 แล้ว  และมีมติเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ผ่านกา ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ระดับ  ให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม ดังนี้
 
กลุ่มอุตสาหกรรม/สาขาอาชีพ
อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ (บาท)
ระดับที่ 1*
ระดับที่ 2 **
ส่วนต่าง
จักรกลและโลหะการ



1.  ช่างเทคนิคเขียนแบบเครื่องกล
460
550
90
2. ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ
500
600
100
3.  ช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง
450
540
90
4.  ช่างเทคนิคระบบไฮโดรลิก
460
550
90
เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น



1. ช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น
400
485
85
2. ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่
385
470
85
3.  ช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก
385
470
85
4. พนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ
370
455
85
ม่พิมพ์



1.   ช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ
450
540
90
2.  ช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม
430
515
85
3.  ช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัทอีดีเอ็ม
430
515
85
4.  ช่างขัดเงาแม่พิมพ์
380
455
75
 
*มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 ผู้เข้ารับการทดสอบต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์  นับถึงวันสมัครเข้ารับการทดสอบ  และมีประสบการณ์การทำงานหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาอาชีพ  ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของแต่ละสาขาอาชีพ   หรือผ่านการฝึกฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพในสาขาอาชีพตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของแต่ละสาขาอาชีพและมีประสบการณ์จากการฝึกหรือปฏิบัติงานในกิจการในสาขาที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของแต่ละสาขาอาชีพ หรือเป็นผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง
** มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ  ระดับ 2 ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องมีประสบการณ์การทำงานหรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 1 ปี  หรือ 2 ปี  ในบางสาขาอาชีพ นับตั้งแต่ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติระดับ 1  หรือได้คะแนนรวมในการทดสอบระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 สามารถเข้ารับการทดสอบได้ทันที โดยไม่ต้องรอระยะเวลา 1ปี
ทั้งนี้  ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป  โดยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือตามประกาศฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค   ราชการส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  นายจ้างที่จ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย นายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล  นายจ้างที่ตกลงจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน นายจ้าง  ที่จ้างลูกจ้างในงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างทำงานตลอดปี หรือมิได้ให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่เป็นงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานเกษตรกรรม