วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'วัฒนา' ถาม 'ป.ป.ช.-สตง.' คนขยันในรบ.ปู อยู่ไหน รบ.นี้กู้เงินแบงก์แจกคนโดยไม่ออกกม.รองรับ


วัฒนา เมืองสุข ชี้ รบ.แจกเงินผู้มีรายได้น้อย โดยให้ ธกส. ออมสิน และ กรุงไทย สำรองจ่ายไปก่อน เท่ากับทำผิดกฎหมายก่อหนี้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยไม่ได้ออกเป็นกฎหมายรองรับ จึงไม่ผูกพันที่รัฐสภาจะต้องอนุมัติงบฯปี 61 วอน 'ป.ป.ช. สตง.' ที่เคยขยันเล่นงานแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กรุณาอย่าเพิกเฉยกับเรื่องนี้
30 พ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยตามที่กระทรวงการคลังเสนอในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมาตรการแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 100,000 บาท รวม 5.4 ล้านคน จากที่ก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติช่วยเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว 2.9 ล้านคนไปแล้ว ภายใต้วง เงิน 6,540 ล้านบาท โดยอนุมัติวงเงินงบประมาณปี 61 จำนวน 12,750 ล้านบาท ส่วนวิธีการแจกเงินจะใช้วิธีการโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค.59 
วันนี้ (30 พ.ย.59) วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงความเห็นวิจารณ์มาตรการดังกล่าวว่ามีกระบวนการเข้าข่ายผิดในทางกฎหมาย โดยระบุในหัวข้อบทความว่า “สิ้นคิดแถมยังผิดกฎหมาย” ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Watana Muangsook'
 
วัฒนา ระบุว่า มติ ครม. ที่เห็นชอบกรอบวงเงินจำนวน 12,750 ล้านบาท เพื่อแจกผู้มีรายได้น้อยโดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2560 ในส่วนของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเห็นสมควร โดยให้ธนาคาร ธกส. ออมสิน และ กรุงไทย สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อนและชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคาร เท่ากับรัฐบาลทำผิดกฎหมายก่อหนี้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยไม่ได้ออกเป็นกฎหมายรองรับ จึงไม่ผูกพันที่รัฐสภาจะต้องอนุมัติงบประมาณประจำปี 2561 จำนวนดังกล่าวให้ จึงถือเป็นมติ ครม. ที่ขัดต่อกฎหมายและธนาคารที่ปล่อยกู้อาจจะไม่ได้รับเงินคืน ป.ป.ช. และ สตง. ที่เคยขยันเล่นงานแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กรุณาอย่าเพิกเฉยกับเรื่องนี้
 
การแจกเงินยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขาดสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรที่มีปัญหาเรื่องราคา ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพด วิสัยทัศน์ของ นรม. จึงมีเพียงชวนข้าราชการออกกำลังในเวลาราชการและใช้ปากแก้ปัญหา เช่น โทษเกษตรกรที่ปลูกกันมากเอง หรืออยากได้ราคาให้เอาไปขายที่ดาวอังคาร หรือขอให้เห็นใจรัฐบาลที่มีงบประมาณจำกัด เมื่อจนตรอกก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการแจกเงิน ซึ่งตนไม่ได้คัดค้านผลประโยชน์ของประชาชน แต่รัฐบาลจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
"หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจคือความเชื่อมั่น แต่การที่ประเทศเป็นเผด็จการ มีหัวหน้ารัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์แต่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือทุกองค์กรและทุกคนตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไม่มีใครกล้ามาลงทุน เพราะอาจสิ้นคิดออกคำสั่งยึดกิจการของนักลงทุนแบบที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกาใต้ หรือยึดทรัพย์นักลงทุนแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ ดังนั้น หากรักชาติและต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น หัวหน้ารัฐบาลจะต้องกำหนดเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง ประกาศว่าตัวเองและพรรคพวกจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศอีกต่อไปเว้นแต่จะลงเลือกตั้ง เพียงเท่านี้บรรยากาศของการลงทุนจะดีขึ้นและขยะสังคมที่พูดถึงก็จะหมดไปทันที ทำประเทศเสียหายมามากแล้ว ไม่คิดแก้ตัวทำความดีให้ประเทศบ้างเหรอครับ" วัฒนา โพสต์

ประยุทธ์ขออย่ากดดันตร. แนะ 'ธัมมชโย' มอบตัวสู้คดี ศรีวราห์ขีดเส้นตายเที่ยงคืนนี้


พล.อ.ประยุทธ์ ขอปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน แนะ 'พระธัมมชโย' มาสู้คดีก็จบแล้ว ไม่ใช่ใช้วิธีการเอาคนหมู่มากมาต่อสู้คดีแบบนี้ รอง ผบ.ตร.ขีดเส้นตายมอบตัวเที่ยงคืนนี้
30 พ.ย. 2559 กรณีการดำเนินการกับพระเทพญาณมหามุนีหรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังศาลจังหวัดเลย และศาลจังหวัดสีคิ้ว อนุมัติหมายจับ คดีบุกรุกพื้นที่ป่า และอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องฐานร่วมฟอกเงิน-รับของโจร ทุจริตสหกรณ์ยูเนียนคลองจั่น
วันนี้ (30 พ.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จะต้องดูว่าเป็นคดีระหว่างใคร ซึ่งขณะนี้เหมือนประชาชนทั้งประเทศเข้าไปร่วมเป็นจำเลยทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้ไปละเมิดใคร พระสงฆ์ก็คือพระสงฆ์ แต่กฎหมายรัฐก็คือกฎหมายรัฐ จึงต้องให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่เจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าไปดำเนินการจับกุมในขณะนี้ เนื่องจากเกรงว่า ประชาชนจะได้บาดเจ็บ ซึ่งหากเกิดการสูญเสียแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วสังคมรับได้หรือไม่ จึงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขออย่ามากดดันเจ้าหน้าที่ เนื่องจากต้องจะดูเวลาที่เหมาะสมในการเข้าไป จึงขอปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน
"ถามว่าอยากให้เกิดไหม ถ้าอยากให้เกิดเดี๋ยวไปวันนี้ ให้เวลาเขาสิ ต้องไปกดดันคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่ากดดันเจ้าหน้าที่ จะให้ตีกันตั้งแต่เข้าประตู สังคมยอมรับได้หรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ก็ต้องดูเวลาที่เหมาะสมว่าจะเข้าไปตอนไหน ท่านต้องไปไล่คนที่ทำความผิดให้ออกมาข้างนอก คนอื่นจะได้ไม่เดือดร้อน ไม่เจ็บตัว มาสู้คดีก็จบแล้ว ไม่ใช่ใช้วิธีการเอาคนหมู่มากมาต่อสู้คดีแบบนี้ ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการใช้คนเยอะๆ นั้นเกิดอะไรขึ้น มีบทเรียนอยู่แล้ว ถ้าบอกว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามหน้าที่ แต่หน้าที่พลเมืองก็อย่าขัดขวางการดำเนินการ ที่พูดมาไม่ได้อารมณ์เสีย แต่หลายเรื่องมันมีปัญหา ซึ่งก็กำลังแก้ไขอยู่ แต่ยังทำไม่ได้ทั้งหมดเพราะยังมีปัญหาเช่นนี้อยู่ และสื่อก็ต้องช่วยเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขอให้ออกมามอบตัวต่อสู้คดี ผมต้องการแค่นี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า จะต้องไปไล่คนที่ทำความผิดออกมามอบตัวแล้วสู้คดี อย่าเอาคนหมู่มากมาต่อสู้ ซึ่งประชาชนเองก็ไม่ควรขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
 

ศรีวราห์ขีดเส้นตายเที่ยงคืนนี้

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จะให้เวลาพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถึงเที่ยงคืน วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2559  ) หากยังไม่มามอบตัวพนักงานสอบสวนจะพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย และเตรียมดำเนินคดีกับรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาให้ที่พักพิงกับผู้ต้องหาตามหมายจับ หลังจากปรากฏในการให้สัมภาษณ์ของโฆษกวัดพระธรรมกาย ว่าพระธัมมชโย รักษาอาการอาพาธอยู่ภายในวัด และจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการประสานงานใดๆจากทางวัด จำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ให้การช่วยเหลือพระธัมมชโย เพิ่มเติมด้วย
 
ส่วนที่ผู้บังคับการจังหวัดปทุมธานี นำหนังสือแจ้งให้พระธัมมชโย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาของตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปติดประกาศที่ประตูวัดพระธรรมกาย นั้นมีกำหนดให้เข้ามอบตัวภายในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ส่วนจะนำกำลังเข้าจับกุม หรือ ตรวจค้นนั้นตำรวจมีแผนปฎิบัติการแล้วตามขั้นตอน

เกษียณแล้วมีงานทำ ครม.อนุมัติ 'พล.อ.ธีรชัย' อดีต ผบ.ทบ. นั่งประธานบอร์ดประปาส่วนภูมิภาค


คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นประธานกรรมการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมอนุมัติกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งครบวาระ 1 ปี คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ จำนวน 20 ราย พล.อ.ปัฐมพงศ์ ไพศาล พืชมงคล นั่งต่อ

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา จากรายงานสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) 29 พ.ย. 2559 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ อื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 8 คน เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปีแล้ว เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2559 ดังนี้
1. พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ประธานกรรมการ 2. พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ กรรมการ 3. ประยูร รัตนเสนีย์ กรรมการ 4. ฉัตรชัย พรหมเลิศ (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ  5. ร.ต.ท อาทิตย์ บุญญะโสภัต (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ 6. จรินทร์ จักกะพาก (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ 7. เวทย์ นุชเจริญ (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ  8. เยาวนุช วิยาภรณ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2559 เป็นต้นไป 
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้  1. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 เรื่อง ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่อีกหนึ่งวาระ (จำนวน 6 ราย) และ  2. ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งครบวาระ 1 ปี คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ จำนวน 20 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งทุกราย ดังนี้
1) พล.ต.ท.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 2) ธวัช สุนทราจารย์ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 3) พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 4) พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 5) วีระศักดิ์ ฟูตระกูล ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2559 6) วินิจฉัย แจ่มแจ้ง ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2559 7) ไพศาล พืชมงคล   ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 8) รศ.ไชยา ยิ้มวิไล ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 9) พล.อ.รุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 10) รศ.ชวนี ทองโรจน์ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 11) พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 12) พล.ต.ท.ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 13) พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 14) ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2559 15) พรชัย ตระกูลวรานนท์ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2559 16) จินตนา ชัยยวรรณาการ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 17) ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 18)  สุปราณี จันทรัตนวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 19)  เพิ่มศักดิ์ บ้านใหม่ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559  20) เกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559
สำหรับการแต่งตั้งอดีต ผบ.ทบ. ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญนั้น เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายชื่อแล้ว จำนวน 13 คน โดย มีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีต ผบ.ทบ. เป็นเป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในคณะขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า(คปต.ส่วนหน้า)

เดือนเดียวว่างงานเพิ่ม 1.16 แสนคน ต.ค.59 คนว่างงานรวมทะลุ 4.5 แสนคน


'สถิติแห่งชาติ' เผยภาวะการทํางานของประชากร ต.ค.59 ผู้ว่ างงานรวม 4.5 แสนคน หรือ ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้น 1.22 แสนคน เมื่อเทียบกับช ่วงเวลาเดียวกันของปี 58 ขณะที่เมื่อเทียบกับ เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.16 แสนคน จาก 3.34 แสนคน
30 พ.ย. 2559 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่ สรุปผลการสํารวจ ภาวะการทํางานของประชากร (เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559) โดยมีผู้ว่างงานจํานวน 4.50 แสนคน  คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2  ขณะที่มีกําลังแรงงานประมาณ 37.72 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้มีงานทํา 37.14 ล้านคน และผู้รอฤดูกาล 1.34 หมื่นคน
ผลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากร เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 พบว่ า จํานวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.71 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู ในกําลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทํางาน 37.72 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทํา 37.14 ล้านคน ผู้ว ่างงาน 4.50 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.34 แสนคน ส ่วนผู้ที่อยู่ นอกกําลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่ พร้อมทํางาน 17.99 ล้านคน ได้แก่ แม่ บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สําหรับจํานวนผู้ว่ างงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 มีทั้งสิ้น 4.50 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่ างงาน ร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช ่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 จํานวนผู้ว่ างงานเพิ่มขึ้น 1.22 แสนคน จาก 3.28 แสนคน เป็น 4.50 แสนคน แต่ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 จํานวนผู้ว ่างงานเพิ่มขึ้น 1.16 แสนคน จาก 3.34 แสนคน เป็น 4.50 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว ่างงานกับช่ วงเวลา เดียวกันของปีที่ผ่ านมา พบว่ าอัตราการว่ างงานเพิ่มขึ้น จาก ร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 1.2 หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อัตราการว่ างงานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 1.2
ที่มา เว็บไซต์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
สําหรับระดับการศึกษาที่สําเร็จของผู้ว่ างงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 พบว่ า ผู้ว่ างงานที่สําเร็จการศึกษาใน ระดับอุดมศึกษา 1.91 แสนคน (อัตราการว ่างงานร้อยละ 2.3) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.05 แสนคน (ร้อยละ 1.7) ระดับประถมศึกษา 6.7 หมื่นคน (ร้อยละ 0.8) ระดับ มัธยมศึกษาปลายหรือเทียบเท ่า 6.5 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) และ ผู้ที่ไม ่มีการศึกษาและต่ํากว าประถมศึกษา 2.2 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) เมื่อเปรียบเทียบกับช วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว ่า จํานวนผู้ว่ างงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 5.5 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 5.0 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษา ตอนปลายหรือเทียบเท่ าเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน และระดับ ประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นคน ส ่วนผู้ ที่ไม่ มีการศึกษาและต่่ำ กว่ าประถมศึกษาลดลง 4.0 พันคน

'มีชัย' เตือน รบ.ใหม่ ไม่ทำตาม 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี' จะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ


ประธาน กรธ. ถก กม.ยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำ รบ.หน้าไม่ทำ ส่อผิดรัฐธรรมนูญ ระบุแก้ไขได้โดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาก่อน เชื่อ คสช. ดูเวลาเหมาะสมปลดล๊อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม

30 พ.ย. 2559 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ที่โรงแรมเอบิน่า เฮ้าส์ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ณ ขณะนี้ได้มีการหารือถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งตนจะเข้าหารือกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในนามกฤษฏีกาด้วย ทั้งนี้หลังจากร่างรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้แล้ว กฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำการปฏิรูปนั้น ก็จะต้องออกมาภายในระยะเวลา 120 วันเช่นกัน ดังนั้น คงต้องรีบจัดทำให้เสร็จ และจากนั้นก็จะนำไปสู่การมียุทธศาสตร์และวิธีการปฏิรูปภายในระยะเวลา 1 ปี ส่วนที่ฝ่ายการเมืองกลัวกันว่ายุทธศาสตร์ชาติจะไปบังคับการทำงานของรัฐบาลหลังจากนี้นั้น คิดว่าเวลาเขียนวิธีจัดทำกฎหมายต่างๆ รัฐบาลจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ยุทธศาสตร์ชาติก็เปรียบเสมือนกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาถูกทอดทิ้งพอสมควร เวลาจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ถ้าหากรัฐบาลถัดๆมาไม่ทำตามก็เท่ากับว่าเสียของ ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ
“ยุทธศาสตร์ที่กำลังจะถูกกำหนดขึ้นมาใหม่นั้นจะเป็นยุทธศาสตร์ระยะเวลายาวถึง 20 ปี เพื่อกำหนดว่าอนาคตของประเทศไทยข้างหน้า จะมีหน้าตาจะเป็นอย่างไร การกำหนดยุทธศาสตร์ไม่ได้คิดขึ้นมาได้เองแต่เกิดจากแม่น้ำสายต่างๆอาทิ สปท. สนช. ได้ไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆมา แล้วนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์อนาคต สมมติว่า รัฐบาลนี้มีแผนกำหนดว่าประเทศไทยวันข้างหน้าต้องเป็นแบบ 4.0 แต่พอรัฐบาลใหม่มา เขากลับกำหนดว่า ไม่เอา กลับไปขี่เกวียนดีกว่า เอาแค่ 1.0 พอ เขาก็ต้องไปทำกระบวนการถามความเห็นชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเขาเห็นด้วยว่าขี่เกวียน จะได้ไม่เหม็นน้ำมัน รัฐบาลก็ต้องไปปรับยุทธศาสตร์ว่าให้ขี่เกวียนแทน แล้วถ้าชาวบ้านเอาก็ไม่มีใครเขาห้าม นี่เป็นกระบวนวิธีการ ไม่มีบทลงโทษ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ เขาก็จะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายจะไม่มีโทษอะไร แต่ในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เว้นแต่ว่ารัฐบาลนั้นได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติโดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาก่อน” มีชัย กล่าว
ต่อกรณีคำถามถึงขั้นตอนและกำหนดการเวลาจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ นั้น มีชัย กล่าวว่า กรธ.ได้ทำตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องระวัง ไม่ควรออกกฎหมายมารวดเดียว เพราะถ้าทำแบบนั้นก็จะดูเหมือนว่าเป็นการกลั่นแกล้งพรรคการเมือง ส่วนเรื่องการปลดล๊อคให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น ไม่ใช้เรื่องของกรธ. แต่ขึ้นอยู่กับ คสช.และรัฐบาลจะเป็นผู้ปลดล๊อคให้ ดังนั้นกรธ.ก็ต้องนึกถึงเขาว่าจะมีกำหนดเวลาทำงานได้เมื่อไร จะสามารถทำงานได้นานเท่าไรด้วย ถ้ากำหนดระเวลาสั้นไป เขาคงลำบาก
ต่อกรณีคำถามถึงความเห็นการปลดล๊อคห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองว่าควรจะกำหนดให้ทำได้หลังจาก พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งออกมาครบทั้ง 4 ฉบับ อาจจะมีปัญหาได้ เพราะจะเข้าสู่ระยะเวลาการเลือกตั้งภายใน 150 วันแล้ว นั้น มีชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับคงออกมาพรวดเดียวไม่ได้ คงต้องออกมา 2 ฉบับก่อน คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังจากนั้น จึงจะรู้ว่าควรจะต้องใช้เวลากี่วัน แล้ว กรธ.ก็จะคำนวนเวลาที่จะต้องออก พ.ร.บ.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ที่มา ส.ว. ทั้งนี้ตนเชื่อว่าทางรัฐบาลและ คสช.นั้นคงจะดูแลในเรื่องกำหนดเวลาที่เหมาะสมตรงนี้อยู่แล้ว คงจะไม่เกิดปัญหาตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังพูดในวันนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ไปให้ สนช.พิจารณาแล้ว สนช.จะแก้อย่างไรบ้าง หากเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะมีการปรับกำหนดเวลาที่เหมาะสมกันอีกทีหนึ่ง