วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'ประยุทธ์' แจงประชุม ครม. 29 พ.ย.นี้ ก่อนส่งต่อ สนช.พิจารณาวาระสำคัญ ทุกอย่างตามขั้นตอน



25 พ.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีสนช.จะประชุมในวันที่ 29 พ.ย. มีวาระอะไรพิเศษหรือไม่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นการประชุมหลังจากที่คณะรัฐมนตรีประชุมเสร็จ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนสำคัญทุกเรื่อง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน อย่าไปพูดอะไรให้วุ่นวายวันที่ 29 พ.ย. ประชุมเสร็จ ก็ส่งต่อให้ที่ประชุม สนช. ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอนเหมือนเดิม
ขณะที่วานนี้ (24 พ.ย.59) คำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงผลการประชุมว่า วันที่ 29 พ.ย. สปท.มีมติให้งดประชุม เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ขอใช้ห้องประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล
ขณะที่ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ สนช.ขอใช้ห้องประชุมรัฐสภาวันที่ 29 พ.ย. นี้ว่า เท่าที่คุยกับ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยังไม่ทราบว่ากฎหมายสำคัญเร่งด่วนจากรัฐบาลคือกฎหมายอะไร เนื่องจากรัฐบาลยังไม่แจ้งมาอย่างเป็นทางการว่าเป็นกฎหมายสำคัญเร่งด่วนฉบับใด แต่ประธาน สนช.อยากให้สมาชิก สนช.ในฐานะที่ไม่ใช่ฝ่ายนำแต่เป็นฝ่ายรับปฏิบัติต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลาตามรัฐธรรมนูญกำหนด และ สนช.จะเป็นผู้พิจารณากฎหมาย ดังนั้น ในขณะนี้นายพรเพชรจึงสั่งให้สมาชิกทุกคนบริหารการลาการประชุมให้เรียบร้อยและไม่ให้ลาการประชุมไปต่างประเทศในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว เพื่อให้มีสมาชิกครบองค์ประชุม ถ้าหากจำเป็นต้องมีการประชุม สนช.ในช่วงนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม สนช.ในวันที่ 29 พ.ย.จะเริ่มในเวลา 11.00 น. โดยจะมีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธาน

ประยุทธ์ ปาฐกถาหอการค้าร่วมต่างประเทศ ระบุไม่นานจะมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่


พล.อ.ประยุทธ์ ปาฐกถาปลุกความเชื่อมั่นแก่สมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ขออย่ากังวลทุกอย่างในประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพ ไม่นานนับจากนี้ จะมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ รัฐบาลจะทำหน้าที่เหมือนที่ผ่านมา ทุกอย่างยังเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ มีการเลือกตั้ง นำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามหลักสากล 
25 พ.ย. 2559 เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาแก่สมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ
โดย สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอเป็นตัวแทนรัฐบาลและประชาชน ขอบคุณนักลงทุนต่างประเทศที่ไม่ทิ้งประเทศไทย เป็นเพื่อนแท้ในยามยาก ซึ่งรัฐบาล มุ่งมั่น เดินหน้าพัฒนาประเทศ ตามพระบรมราโชบาย ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มุ่งดูแลทุกภาคส่วน ปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศที่เรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 สร้างความเข้มแข็งจากภายใน และขอให้ต่างประเทศเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
“ขอให้ความมั่นใจ อย่ากังวลทุกอย่างในประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพ และในเวลาไม่นานนับจากนี้ จะมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจะทำหน้าที่เหมือนที่ผ่านมา ทุกอย่างยังเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ มีการเลือกตั้ง นำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามหลักสากล จึงหวังว่านักลงทุน จะคลายความกังวลในเรื่องนี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า  3 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรก เป็นการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ แต่ช่วงนี้ปี 2559-60 เป็นการเริ่มปฏิรูป ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน ดังนั้นอยากให้นักลงทุนมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูป ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้ความการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างประเทศอย่างเท่าเทียม

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังเสร็จสิ้นการปาฐกถา พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ซึ่งเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลได้เผยแพร่ไว้ดังนี้
นายกรัฐมนตรีมีความยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พบปะกับผู้บริหารและสมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ขณะนี้ประชาชนชาวไทยอยู่ในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รัก เทิดทูนและทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ รัฐบาลมีเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานและเจริญตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศให้มีความเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการค้า การลงทุนและให้การสนับสนุนผุ้ประกอบธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง คมนาคม การประสานนโยบายการเงินและการคลัง การวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. สถานการณ์ประเทศไทย 2. สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ 3. ทิศทางของประเทศไทยในอนาคต

สถานการณ์ประเทศไทย

สถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศ 3 แห่ง คือ International Institute for Management Development (IMD) ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 28 จาก 61 ประเทศทั่วโลก World Economic Forum (WEF) ได้จัดให้อยู่ในลำดับที่ 34 จาก 138 ประเทศทั่วโลก  และธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดให้อยู่ในลำดับที่ 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ผลการจัดอันดับของทั้ง 3 สถาบัน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านเศรษฐกิจ
ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการในระยะที่ผ่านมา และต้องดำเนินการต่อเนื่อง

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยได้ดำเนินการให้มีการปฏิรูปครอบคลุมในทุกมิติ รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเดือนกันยายน 2558 – เมษายน 2559 โดยรัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อดูแลรายได้และสวัสดิการของเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย และสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs
รัฐบาลได้วางกรอบการบริหารด้านสถาบัน ดำเนินการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลได้เร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ให้รวดเร็วขึ้น โดยออกกฎหมายที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
การปฏิรูปศึกษา รัฐบาลได้เริ่มวางรากฐานโดยการลงทุนพัฒนาเพิ่มศักยภาพเด็กปฐมวัย ปรับปรุงระบบการศึกษาโดยขยายผลโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) และการผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงให้สถานศึกษามีการเตรียมกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงาน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงานไทยในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ภาคบริการและการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง รวมถึงพัฒนาฝีมือแรงงานให้รองรับการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจชายแดน  จึงได้พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมสมรรถนะแรงงานให้ได้มาตรฐานตามระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่มประสิทธิภาพระบบการทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาสำคัญ การพัฒนา Mobile Application ในชื่อ Smart Labor เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านแรงงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ (National Labor Center: NLIC)
การวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่จะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจการค้าและการลงทุน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจการค้าและการลงทุนด้วยอีกทางหนึ่ง รัฐบาลดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเชื่อมโยงให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค การบริหารจัดการพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงาน การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การส่งเสริมการลงทุนรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการค้าและการลงทุนภูมิภาค  รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เอื้อต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันตลอดห่วงโซ่มูลค่า ประกอบด้วย นโยบาย Super Cluster เพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนโยบาย Double S-Curve มุ่งให้เกิดการลงทุนเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 5 อุตสาหกรรมปัจจุบัน ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  (4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ (5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และกลุ่ม 5 อุตสาหกรรมในอนาคต (New S-curve) ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ (5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เหนือกว่านโยบาย Super Cluster
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ โดยกำหนดนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดนซึ่งเป็นช่องทางการค้าสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำไปสู่การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ด้านการพัฒนาธุรกิจเอกชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพของภาคการผลิตรัฐบาลตระหนักดีว่า SMEs ซึ่งเป็นวิสาหกิจส่วนใหญ่และเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม โดยได้ผลักดันเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาผ่านกลไกการสนับสนุนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติในระยะเบื้องต้น (Pre R&D Lab) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการใหม่ สร้าง incubation facilities (เช่น co-working space) ในเมืองหลัก ศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ่มเพาะผู้ประกอบการ Tech Startup, SME และ Micro SMEs และสร้างผู้ประกอบการใหม่
การอำนวยความสะดวกด้านการค้า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้การเจรจาระหว่างประเทศเพื่อสร้างความคล่องตัวและลดอุปสรรคด้านการนำเข้าส่งออก ส่งเสริมขยายการค้าในตลาดศักยภาพใหม่ๆ สร้างสังคมผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม โดยได้ผลักดันเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา ด้านการเกษตรรัฐบาลได้ผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรในภาพรวมของประเทศ ตลอดจนปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้ออำนวย จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล ด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ยกระดับมาตรฐานบริการท่องเที่ยวในทุกสาขา โดยการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการคมนาคมขนส่ง ประชาสัมพันธ์มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย การดูแลรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

ทิศทางของประเทศไทยในอนาคต

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560– พ.ศ. 2579) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่เป็นเอกภาพและเป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคมไทย คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีสาระสำคัญ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตรด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ดานการสรางความสามารถในการแขงขัน (3) ยุทธศาสตรการพัฒนาและเสริมสรางศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตรดานการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเทาเทียมกันทางสังคม (5) ยุทธศาสตรดานการสรางการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เปนมิตรกับสิ่งแวดลอม และ(6) ยุทธศาสตรด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การขับเคลื่อนหรือแนวทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายอนาคตประเทศไทยดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นนโยบายหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ คือ “ประเทศไทย 4.0” เพื่อนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมและมีรายได้สูงได้ในอนาคต
รัฐบาลจะดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตาม Roadmap ที่รัฐบาลได้วางไว้ การแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างและวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการผลักดันให้การดำเนินโครงการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและบรรลุผลสัมฤทธิ์ ที่จะส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น สนับสนุนให้โอกาสในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเปิดกว้างมากขึ้น มีความคล่องตัวทั้งในด้านกฎระเบียบ การได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ การมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่ดี การมีกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าร่วมในกระบวนการผลิตการบริการธุรกิจ  การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

ประยุทธ์ ยังหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไตรมาส 4 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6%


พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังรายงานสถานการณ์ด้านท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2550 -2559 ชี้ตัวเลขจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 10% มีเพียงปี 2557 ที่ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบ 
25 พ.ย. 2559 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมี กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะผู้บริหารกระทวงการท่องเที่ยวและกีฬา เช่น พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อธิบดีกรมพลศึกษา ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา รองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับฟังรายงานสถานการณ์ด้านท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2550 -2559 ซึ่งตัวเลขจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 10% มีเพียงปี 2557 ที่ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบ และชะลอตัวในไตรมาสสี่ของปีนี้ซึ่งขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีการเตรียมมาตรการที่จะผลักดันดำเนินการให้มีอัตราจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ย 10% ให้ได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ส่วนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีอยู่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็จะเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป ขณะที่สถานการณ์ด้านกีฬา ประชาชนร้อยละ 26.1 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นักท่องเที่ยวกว่า 2.5 ล้านคน เข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา อุตสาหกรรมกีฬาสร้างรายได้เฉลี่ย 9.9% ต่อปี จ้างงานกว่า 180,000 อัตรา นักกีฬาอาชีพและสมัครเล่นของประเทศไทยติดอันดับโลก เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้กำหนดวิสัยทัศน์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2579 สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20  คือ “ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก ที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานความเป็นไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน”
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (พ.ศ.2557 - 2559) เช่น การจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560 - 2564) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เน้นส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็น “Quality Leisure Destination” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ โดยกำหนด 7 สินค้าวิถีไทย ได้แก่ อาหารไทย ศิลปะไทย วิถีชีวิตไทย สุขภาพดีแบบไทย เทศกาลไทย ความเชื่อไทย สนุกแบบไทย การพัฒนา 12 เมืองต้องห้าม...พลาด และพัฒนา 12 เมืองต้องห้ามพลาด...พลาด Plus ซึ่งปี 2558 รายได้เพิ่มขึ้น 13.57% และปี 2559 รายได้เพิ่มขึ้น 8.04% การเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day) เปิดตัว TOURISM FOR ALL Technical Tour ณ ขอนแก่น ASEAN CONNECT ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มในกลุ่มประเทศ CLMV ( Cambodia Laos Myanmar Vietnam ) ทำให้ปัจจุบันเกิดการท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมาร์ ไทย-ลาว ไทยเวียดนาม และไทย-กัมพูชา รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวไทยควบคู่การทำการตลาด โดยได้จัดทำและพัฒนามาตรฐานไปแล้ว 52 มาตรฐาน มีสถานประกอบการผ่านการรับรอง ปีละ 1,000 กว่าแห่ง มัคคุเทศก์ได้รับการรับรอง 236 ราย อบรมเจ้าบ้านน้อย/เจ้าบ้านที่ดี 1,140 คน ส่งเสริมกลยุทธ์รายสาขา เช่น การประชุม กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทางน้ำและการท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม การวางแผนเตรียมความพร้อมเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะด้านแหล่งข้อมูล Tourism Intelligence Center/Digital Tourism รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยการศึกษาข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตถึง 70% – 80% โดยได้มีการหารือความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้ลงนาม MOU ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนการป้องกันทัวร์ผิดกฎหมายและ NOMINEE
พร้อมทั้ง ได้รับฟังแผนการดำเนินงานปี 2560 เช่น การออกกฎหมายกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่มเติม 2 เขต เขตกรุงเทพมหานครและหมู่เกาะทะเลใต้ ส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว อาทิ Sport hub Medical hub Wedding hub ระบบประกันภัยนักท่องเที่ยว การพัฒนาขอนแก่นให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักตั้งเป้า 5 ล้านคนต่อปี พัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศเพื่อรองรับการท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกระจายรายได้ เน้น Local Experience ขยายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ CLMV และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ฯลฯ รวมทั้งแผนงานสำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่น ด้านความมั่นคง อาทิ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชิงกลุ่มพื้นที่ เมืองรอง และเมืองชายแดน ด้านเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพัฒนายกระดับสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ด้านพัฒนาศักยภาพคน อาทิ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและบุคลากรการท่องเที่ยวทั้งระบบ ด้านความเสมอภาคและเท่าเทียม อาทิ การส่งเสริมการกระจายโอกาสในการท่องเที่ยวแก่คนไทย ด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การขยายฤดูกาลท่องเที่ยวและกระจายพื้นที่ท่องเที่ยว ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว การจัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งระบบ/Digital Tourism เป็นต้น
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทุกคนที่ร่วมกันทำงานจนสามารถทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเพราะเรื่องของการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP หรือรายได้มวลรวมของประเทศโดยหวังว่าในไตรมาสสี่การท่องเที่ยวปีนี้จะเติบโตกว่าไตรมาสสี่ของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันขอให้มีการแก้ปัญหาทัวร์ผิดกฎหมายและเตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยใช้หลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ควบคู่กับการพิจารณาประกอบการดำเนินการและให้สอดคล้องทันต่อสถานการณ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดและประเทศมีความเข้มแข็งสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน
อีกทั้งได้ย้ำให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างเรื่องของการท่องเที่ยวและกีฬาทั้งระบบเริ่มตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง บริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ขององค์กรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดตามประเมินผล กำกับดูแล แก้ปัญหาการทำงานต่าง ๆ  เพื่อให้งานเกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิผลอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตนเองอันจะส่งผลทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งด้วยตนเอง ขณะเดียวกันบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอดคล้องทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งจัดทำแผนงานยุทศาสตร์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ตลอดจนการจัดทำงบประมาณต้องแบ่งเป็นงบประมาณที่เกี่ยวกับงาน function และงบประมาณตามแผนงาน agenda หรืองานตามนโยบาย คำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยงานใดที่เป็นงานเร่งด่วนสามารถดำเนินการได้ก่อนให้เร่งดำเนินการาภายปี 2560 ส่วนงานใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการในห้วงเวลานี้ให้ไปดำเนินการในระยะต่อไปตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  นอกจากนี้ต้องมีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและสังคมรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจอันจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือพร้อมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐและกระทรงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
พร้อมทั้งเน้นให้จัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติ และชุมชนเชื่อมโยงสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันให้มีการบริหารการท่องเที่ยวเชิงภูมิภาคโดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มจังหวัด ไปสู่จังหวัด และชุมชน เพื่อให้การท่องเที่ยวของประเทศเกิดการเชื่อมโยงทั้งด้านกิจกรรมและมูลค่าอย่างเป็นระบบครบวงจรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่แหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การให้บริการ สถานประกอบการ ร้านค้า เพื่อทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพในชุมชนและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่ทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลในปี 2559 - 2560 ว่า ต้องการให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะในไตรมาสที่สี่ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 อย่างไรก็ตามตัวเลขการท่องเที่ยว 3 ไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และคาดว่าไตรมาสสี่ก็จะเป็นไปตามเป้าหมายเช่นกัน ส่วนการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวผิดกฎหมายให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย พร้อมขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดเชื่อมั่นที่จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมด้ว

สุณัย ชี้คลิปครูฝึกกระทืบทหาร ไม่เพียงละเมิดสิทธิฯ ยังละเมิดกม.วินัยทหารเองด้วย


ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ชี้คลิปครูฝึกกระทืบทหาร ไม่ใช่การฝึก แต่เป็นการทารุณ ไม่เพียงละเมิดสิทธิฯ ยังละเมิดกม.วินัยทหารเองด้วย วอนอย่าปล่อยให้เรื่องเงียบ ด้านหน่วยทหารม้าเร่งหามือปล่อยคลิปจ่อเล่นงานทางวินัย ขณะที่พ่อทหารปิดบ้านเงียบหนีสื่อ คาดเกรงกระทบกับบุตรชายที่เป็นทาร
25 พ.ย. 2559 หลังจากมีการเผยแพร่วิดีโอคลิปวิดีโอครูฝึกของหน่วยทหารศูนย์กลางทหารม้า จ.สระบุรี ทำโทษ ส.ต.ปรัชญา วัฒนสนธิ นักเรียนหลักสูตรจู่โจมของหน่วยทหารม้า ซึ่งกระทำความผิดวินัย ด้วยการใช้ไม้ฟาดเข้าที่แผ่นหลังและใช้รองเท้าคอมแบต ถีบเข้าที่ศีรษะและหลังหลายครั้งอย่างรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
วานนี้ (24 พ.ย.59) สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ประจำประเทศไทย ( Human Rights Watch ) ให้สัมภาษณ์ Thaivoicemedia เกี่ยวกับการลงโทษทหารดังกล่าวว่า การลงโทษดังกล่าวถือเป็นการละเมิดวินัยทหาร เพราะกฎการลงโทษตามระเบียบทหารนั้นห้ามถูกเนื้อต้องตัว และเข้าข่ายการทารุณ ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การฝึกอย่างที่นายทหารออกมาโพสต์หรือทหารบางคนอธิบาย เรื่องนี้ ผู้บัญชาการกองทัพบก ไม่ควรปล่่อยให้เรื่องเงียบไป ควรจะแสดงท่าทีแก้ปัญหาและยืนยันกับสังคมว่าจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกกับกำลังพลของกองทัพ ถ้ากองทัพเห็นความสำคัญของกำลังพล ก็ควรมองกำลังพลทุกคนเป็นคน ไม่ใช่กระทำกับกำลังพลเหมือนไม่ใช่คน และนับจากนี้ไปผู้ชายไทยส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะโดนทารุณแบบนี้ เพราะมีกฎหมายเรียกกำลังพลสำรองออกมาแล้ว ดังนั้นสังคมไทยไม่ควรจะเฉยกับเรื่องแบบนี้ จะต้องเคลือ่นไหวกดดันให้กองทัพรับผิดชอบในเรื่องนี้
"คลิปล่าสุดเป็นเรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่ามีการลงโทษที่มีลักษณะของการทำร้ายร่างกาย และไปไกลถึงขั้นที่เข้าข่ายซ้อมทรมานเป็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องของการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากลแต่เพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว เป็นการกระทำผิดกฎหมายของทหารเองด้วย นั่นคือ พ.ร.บ.วินัยของทหาร ซึ่งใช้กันมานานมากแล้ว" สุณัย กล่าว 

หามือปล่อยคลิป

ขณะที่สปริงนิวส์รายงาน เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีรายงานว่า หน่วยทหารม้าสระบุรี เตรียมดำเนินการสอบสวนหาตัวบุคคลที่เผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการเร่งด่วน หากพบว่า ผู้เผยแพร่คลิป เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ต้องถูกดำเนินการทางวินัยทันที นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการบันทึกภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ของหน่วยฝึกต่าง ๆ อีกด้วย

พ่อปิดบ้านเงียบหนีสื่อ คาดเกรงกระทบกับบุตรชายที่เป็นทาร

สำหรับบิดา ของ ส.ต.ปรัชญา คือ ร.ต.สุรเชษฐ์ วัฒนสนธิ อายุ 58 ปี ทหารบำนาญ ซึ่งเคยรับราชการทหารสังกัดเหล่าม้า ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงหลักการลงโทษตามวินัยทหารว่าไม่ควรกระทำลักษณะดังกล่าวและเรียกร้องให้มีการทบทวนการลงโทษอย่างรุนแรงนั้น
คมชัดลึกออนไลน์ ในวันนี้ 20 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตามมาทำข่าวดังกล่าว ที่บ้านพักของ ร.ต.สุรเชษฐ์ ที่ จ.ปราจีนบุรี อย่างไรก็ตามเมื่อไปถึงพบว่า บ้านปิดเงียบ แต่จากการสอบถามญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง ทราบว่าหลังจากเป็นข่าวว่าทางบิดาของสิบตรีปรัชญาได้ให้ข่าวสื่อมวลชนไปเมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) แล้วนั้น ปรากฏว่าได้มีบุคคลบางคนได้โทรศัพท์มาขอให้ทาง ร.ต.สุรเชษฐ์ ซึ่งเป็นอดีตกำลังพลกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ หยุดให้ข่าวกับสื่อมวลชน ทั้งนี้ทางญาติระบุว่า อ้างว่าการให้ข่าวที่มีการนำเสนอผ่านสื่อทุกแขนง มีผลกระทบกับชื่อเสียงของหน่วย และพร้อมกันนี้ทราบจากญาติว่าทาง ร.ต.สุรเชษฐ์ นอกจากมีบุตรชายที่เป็นนายสิบ ที่เข้ารับการฝึกในหลักสูตรจู่โจม ซึ่งถุกครูฝึกลงโทษตามคลิปแล้ว ยังมีบุตรชายคนโตอีก 1 คน ยศสิบเอก รับราชการเป็นทหารสังกัดเหล่าม้าในศูนย์กลางทหารม้า จ.สระบุรี ด้วยเช่นกัน เกรงว่า จะกระทบกับบุตรชายทั้งคู่ ที่รับราชการเป็นเพียงทหารชั้นประทวนสังกัดทหารม้าดังกล่าว

รบ.แจกเงิน 5.4 ล้านคน 'สรรเสริญ' ขอให้เรียกว่า 'สวัสดิการแห่งรัฐ' ไม่ใช่ 'ประชานิยม'


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาตรการเพิ่มรายได้ 1,500-3,000 บาทแก่ผู้มีรายได้น้อย น่าจะเรียกว่าเป็นสวัสดิการแห่งรัฐ มิใช่ประชานิยม เพราะไม่สร้างปัญหาไว้เบื้องหลัง โดยไม่หวังคะแนนเสียงและความนิยมจากประชาชน
24 พ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อวาน (22 พ.ย. 59) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ คือ เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500-3,000 บาท จำนวน 5.4 ล้านคน เริ่มจ่ายตั้งแต่ 1-30 ธ.ค. 2559 ซึ่งต่อมา วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น 'ประชานิยมสิ้นคิด' (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น 
วันนี้ (24 พ.ย.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักการเมืองบางคนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์มาตรการเพิ่มรายได้ 1,500-3,000 บาทแก่ผู้มีรายได้น้อยว่าไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมในอดีต ว่า รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนดูแลพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฐานะ ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข ลดช่องว่างทางสังคมและมีศักดิ์ศรีตามสมควร ด้วยมาตรการที่แตกต่างกันไปตามความจำเป็นทั้งระยะสั้นและระยะยาว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการดำเนินการใดๆ จะต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่ทำเพื่อคะแนนเสียงหรือสร้างฐานความนิยม โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ กับลูกหลานในภายหน้า แต่จะต้องดำเนินการด้วยความจริงใจ โปร่งใส ชัดเจน รอบคอบ ไม่สร้างผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของชาติ ที่สำคัญผู้นำและผู้บริหารในทุกระดับ จะต้องมีธรรมาภิบาลในการทำงาน เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีต่อบ้านเมืองต่อไป
“สำหรับผมแล้ว การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่สมควรได้รับ โดยไม่สร้างปัญหาไว้เบื้องหลัง น่าจะเรียกว่าเป็นสวัสดิการแห่งรัฐ มิใช่ประชานิยม ในนิยามที่เราเข้าใจหรือคุ้นเคยกัน ว่า คิดทำเพื่อหวังคะแนนเสียง และความนิยมจากประชาชน โดยไม่สนใจผลระยะยาวต่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำให้พี่น้องประชาชนที่เข้าข่ายได้รับการดูแลจากมาตรการนี้ ใช้จ่ายเงินอย่างมีเป้าหมาย เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว อย่าคิดว่าได้มาโดยง่าย ก็จะใช้โดยสะดวก เพราะจะผิดวัตถุประสงค์ที่ต้องการแบ่งเบาภาระ มิใช่การสร้างหนี้เพิ่ม” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว