วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนี้เสียพุ่งคาดแบงก์เทขายแสนล้าน



22 พ.ย. 2559 หลังจาก เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2559 ระบุว่า คุณภาพสินเชื่อด้อยลงอย่างต่อเนื่องทั้งในสินเชื่อธรุกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค สัดส่วน NPL หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.89 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.72 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีการปรับตัวขึ้น ตัว NPL จาก 4.25 เป็น 5.10 ถ้าไปดูตั้งแต่เรามีข้อมูลก็เป็นระดับตัว NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตที่สูงที่สุดตั้งแต่มีข้อมูลมาประมาณ 10 กว่าปีนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
วานนี้ (21 พ.ย.59) เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า ปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีหน้ามีแนวโน้มที่ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)จะประกาศขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณ 1แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจทำให้สินเชื่อทั้งในส่วนที่นอนแบงก์และสถาบันการเงินรุกทำตลาดโดยมีการเติบโตในอัตรา 30% ก่อนหน้ากลายเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
สำหรับสิ้นปีนี้มีเอ็นพีแอลออกเสนอขายจำนวน 6 หมื่นล้านบาท โดยเจเอ็มทีซื้อเข้ามาแล้ว 1 หมื่นล้านบาทที่เหลือเดือนพ.ย.-ธ.ค. จะซื้ออีก 1 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นไปตามเป้า 2 หมื่นล้านบาทใช้งบลงทุน 1,200 ล้านบาทโดยสิ้นปีพอร์ตรวมจะอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันกำลังเจรจากับ 5 สถาบันการเงินคาดว่าจะไปตกลงกันในปีหน้า ซึ่งตั้งเป้าซื้อทั้งปี 3 หมื่นล้านบาท ใช้งบลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทปัจจุบันเจเอ็มทีมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในสัดส่วน 90%
“ปีนี้หนี้ค้างชำระ 12 งวดสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะบันทึกค่าใช้จ่ายทางบัญชีแล้วขายออกเลยซึ่งกระชับขึ้น เมื่อก่อนหลังตัดหนี้แล้วเจ้าหนี้จะติดตามทวงถามระยะหนึ่งก่อนจะนำออกขาย แต่เป็นผลบวกกับเราโดยยังสามารถรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 12% ที่สำคัญหลังกฎหมายทวงถามหนี้มีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องการมืออาชีพ” ปิยะ ระบุ

บัตรเครดิตใหม่ยอดร่วง

วันนี้ (22 พ.ย. 59) เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ  ยังรายงานสถาการณ์ธุรกิจบัตรเครดิตกับการจัดการหนี้เสียด้วย โดย พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(เคทีซี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือผิดนัดชำระตั้งแต่ 31-90 วัน ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.3% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 2.0% มาอยู่ที่ 2.1%
ทั้งนี้ภาพรวมหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษและเอ็นพีแอลยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก บริษัทจึงยังต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของลูกค้าเก่าจะดูแลการชำระหนี้ ส่วนลูกค้าใหม่จะดูในเรื่องของการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อย่างไรก็ตามบริษัทไม่มีการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด แต่ด้วยคุณภาพของลูกค้าที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การอนุมัติ ส่งผลให้ยอดการอนุมัติบัตรใหม่ตกลงเหลืออยู่ที่ 44-45% จากปีก่อนอยู่ที่ 49-50% เนื่องจากลูกค้ามีภาระหนี้ต่อรายได้ที่สูงกว่าเกณฑ์และไม่ผ่านเครดิตบูโร
วรรณวิมล กนกธนาพร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ให้พนักงานติดตามทวงถามหนี้(Collection) หยุดติดตามหนี้หรือส่งข้อความเตือนลูกค้า เนื่องจากไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่ควรเรียกเก็บเงิน อาจมีผลให้การชำระหนี้คืนล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อตัวเลขหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษและภาพรวมเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากกลางเดือนนี้บริษัทได้เริ่มให้พนักงานกลับมาติดตามหนี้เป็นปกติแล้ว คาดว่าตัวเลขเอ็นพีแอลทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-1.9%
 
ขณะที่ยอดการอนุมัติปรับตัวลดลงจากระดับ 40-45% ในปีก่อนเหลือประมาณ 40% เป็นผลมาจากบริษัทเพิ่มความเข้มงวดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จึงทำให้สัดส่วนการอนุมัติบัตรปรับลดลง ส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านจะเป็นเรื่องของภาระหนี้ต่อรายได้ที่เกินกำหนดที่ 40% โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มบัตรใหม่อยู่ที่ 2 แสนใบ คาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะสามารถทำได้เป้าหมาย จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าบัตรกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่ 1.9-2 ล้านใบ
 

ชาวนาค้านรัฐขายหนี้เสียให้เอกชนหวั่นถูกเร่งรัดทวงหนี้สินค้างจ่าย

ขณะที่ โพสต์ทูเดย์ รายงานวันนี้(22 พ.ย.59) ว่า บำรุง คำอยู่ แกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เปิดเผยว่า ได้ตัวแทนเครือข่ายชาวนาฯ จำนวน 13 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะขายหนี้เสียให้แก่ผู้ต้องการนำไปเพื่อบริหารจัดการหนี้เสีย แบบบรรษัท บริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพราะผู้ซื้อหนี้เสียไปจะเร่งรัดทวงถามหนี้ค้างจ่าย
บำรุง กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน คนท.มีสมาชิกมากกว่า 8 แสนคน มีการเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนามานานถึง 13 ปีแล้ว ยังไม่ประสบผลสำเร็จทั้งหมด โดยทุกวันนี้ชาวนาเป็นลูกหนี้ ยังไม่มีหนทางใช้คืนเงินต้น ของวงเงินกู้ และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการเงิน รวมถึงแหล่งเงินกู้นอกระบบอยู่ ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงต้นทุนการผลิตสูง ค่าครองชีพสูง และราคาขายพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเนื่องจากถูกนายทุนกดราคารับซื้อ
ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มี สมคิด รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย โดยให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ประกาศตัดหนี้สะสมของเกษตรกรไทยทั้งประเทศ โดยแยกออกเป็นหนี้สินดีและหนี้สินเสีย ซึ่งหนี้สินดีให้จัดตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ขณะที่ในส่วนหนี้สินเสียนั้นทางทีมเศรษฐกิจได้เสนอให้ดำเนินการบริหารจัดการหนี้เสียแบบ บสท.เพื่อขายหนี้สินให้แก่ผู้ต้องการซื้อ ซึ่งตรงจุดนี้ทางเครือข่ายชาวนาฯ ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะเท่ากับว่าจะเปิดช่องให้มีการเร่งรัดทวงถามหนี้จากบริษัทเอกชนที่ซื้อหนี้สินไปยิ่งจะเติมทุกข์ให้กับชาวนาทั่วประเทศ ดังนั้นทางเครือข่ายหนี้ชาวนาฯ เสนอให้รัฐบาลยกหนี้สินทั้งหมดเป็นศูนย์แทน

ผบ.ตร.ชี้ คลิป 'เบส อรพิมพ์' พูดถึงคนอีสาน น่าจะเข้าข่ายยุยงให้แตกแยก


พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชี้ คลิป 'เบส อรพิมพ์' พูดถึงคนอีสาน น่าจะเข้าข่ายความผิดยุยงให้มีการแตกแยก พร้อมสั่งจับตามวลชนปลุกกระแส วอนคนไทยรักและสามัคคีกัน 
ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Best Orapim
22 พ.ย. 2559 จากกรณีที่ คารม พลพรกลาง ทนายความ แจ้งความดำเนินคดีกับ อรพิมพ์ รักษาผล หรือเบส นักพูดชื่อดัง กล่าวหาว่าพูดในลักษณะหมิ่นประมาทคนอีสานนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) วันนี้สื่อหลายสำนัก เช่น มติชนออนไลน์  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และโพสต์ทูเดย์ รายงานตรงกันว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งพยาน หลักฐาน ว่าเข้าข่ายยุยงให้มีการแตกแยกหรือไม่ จากที่ดูคลิปวีดีโอคร่าวๆ ส่วนตัวก็มองว่าน่าจะเข้าข่ายความผิด แต่ต้องขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนในการพิจารณา และยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนตัวคิดว่าการพูดในที่สาธารณะต้องใช้วิจารญาณในการสื่อสารว่าสิ่งใดควรพูดหรือไม่ควรพูด ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เฝ้าติดตามในเรื่องการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงกับกลุ่มที่เห็นต่าง อย่างไรก็ตามขอฝากไปถึงกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดีย ไม่อยากให้คนกลุ่มนี้ออกมาโต้เถียงกัน เพราะอยากให้คนไทยรักและสามัคคีกัน 
ทางด้าน พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ส่วนจะมีการกระทำใดที่เป็นการหมิ่นประมาท หรือไม่นั้น จะต้องมีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์ ส่วนกรณีที่มีผู้เข้ามาแจ้งความไว้ พนักงานสอบสวนจะต้องมีการรวบรวมหลักฐาน ตามกฎหมาย หากพบว่ามีการกระทำที่หมิ่นประมาทจริง ก็จะนำหลักฐานไปขอความเห็นชอบจากศาล หากพบว่าไม่เข้าข่ายก็จะมีการยกฟ้องต่อไป

ต่อกรณีคำถามกว่าเจ้าหน้าที่มีความเป็นห่วงกรณีที่มีผู้ใช้สังคมออนไลน์ในการตอบโต้กัน ระหว่างผู้เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย จะสร้างความแตกแยกในสังคมหรือไม่นั้น พล.ต.อ. ศรีวราห์ กล่าวว่า แม้สังคมออนไลน์ไม่มีในระเบียบราชการ แต่เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามขั้นตอบของกฎหมาย หากพบว่าใครหมิ่มประมาทหรือทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกจับ พร้อมฝากเตือนประชาชนการกระทำสิ่งใดไม่ควรฝ่าฝืนกฎหมาย