วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เริ่มนัดแรกสืบพยานคดี 4 แกนนำ กปปส. ข้อหากบฏ ปิดสถานที่ราชการ-ขัดขวางการเลือกตั้ง


สืบพยานโจทก์นัดแรก คดี สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, สกลธี ภัททิยกุล, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และเสรี วงศ์มณฑา เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่นๆ จากการชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการและขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 56-57

15 พ.ย. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.พร้อมอดีตแนวเข้าร่วมรับฟังการสืบพยานโจทก์ตามที่ศาลอาญานัดแรกคดีที่อัยการยื่นฟ้อง สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, สกลธี ภัททิยกุล, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และเสรี วงศ์มณฑา เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่นๆ จากการชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการและขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2556-2557
สุเทพ กล่าวว่า วันนี้ตนเดินทางมาร่วมฟังการสืบพยานโจทก์ ในคดีที่อัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน กรณีที่ร่วมกับตนในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557 ซึ่งอยู่ในกระบวนการของชั้นศาล และวันนี้เป็นการนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก หลังจากขอศาลเลื่อนมาจากสัปดาห์ก่อน ตนในฐานะที่เป็นแกนนำ และรู้เรื่องราวทุกอย่าง จึงอยากมาร่วมฟังข้อเท็จจริง และตอบข้อซักถามของโจทก์
ในส่วนคดีของตนเองในข้อหาเดียวกันนั้น ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหารวม 58 คนนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของอัยการที่ส่งกลับไปให้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พิจารณาอีกครั้ง ตามที่ ถาวร เสนเนียม เป็นผู้ร้องขอให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งตนพร้อมชี้แจงในทุกเรื่องส่วนมั่นใจหรือไม่ว่าจะสู้คดีได้หรือไม่ ไม่ขอพูดถึงเนื่องจากจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล

'มีชัย' ย้ำไม่มีเซ็ทซีโร่พรรคการเมือง-กกต. ด้าน 'สมชัย' อัดนวัตกรรมฟุ้งซ่านปมผู้ตรวจฯเลือกตั้ง


รักษาการเลขาฯกกต.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเซ็ตซีโร่ กกต. 'กกต. สมชัย' อัดนวัตกรรมฟุ้งซ่าน ปมเสนอแนวคิดผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ขณะที่ 'มีชัย' ย้ำไม่มีเซ็ทซีโร่พรรคการเมือง-กกต. 
15 พ.ย. 2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) จัดงานเสวนา "ทิศทางการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ" โดยได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชน พบว่าเห็นด้วยกับการเซ็ทซีโร่พรรคการเมือง และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กรธ.คงไม่ทำการเซ็ทซีโร่ พรรคการเมืองและกกต. เว้นแต่บางพรรคที่อยู่ในกระบวนการที่อาจถูกยุบ เช่น พรรคการเมืองเล็กที่ไม่ได้ทำตามกฎหมาย หรือ คนที่กำลังจะหมดวาระ แต่ด้วยขณะนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับความเห็นดังกล่าวจาก สพม.จึงยังไม่รู้ว่าจะนำประเด็นนี้หารือในการสัมมนา รับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ที่จะจัดขึ้นในวันนี้ (16 พ.ย. 59) หรือไม่ แต่ กรธ.ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นในประเด็นนี้ และการพิจารณาจะต้องรอบคอบ มองถึงความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะหากทำอะไรที่เกินกว่าเหตุก็อาจเกิดความวุ่นวายได้
ส่วนที่อ้างว่าอาจจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หากต้องมีการเซ็ทซีโร่ใหม่นั้น มีชัย กล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะกระบวนการต้องใช้เวลาเป็นปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับความเห็นในเรื่องดังกลล่าวอย่างเป็นทางการ  จึงยังตอบไม่ได้  การพิจารณาเรื่องใดก็ต้อง จะต้องคำนึงถึงใจเขาใจเรา

รักษาการเลขาฯกกต.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเซ็ตซีโร่ กกต.

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการเลขาธิการ กกต. ให้การต้อนรับคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (พสบ.บก.ทท.) รุ่นที่ 8 จำนวน 75 คน เพื่อเข้าศึกษาดูงานของสำนักงาน กกต.  นอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงศักดิ์ บรรยายสรุปในหัวข้อ การเตรียมการเลือกตั้งในปีพุทธศักราช 2560 ใจความว่า ที่ผ่านมา กกต.ได้เตรียมการเลือกตั้งด้วยการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีประเด็นเพิ่มเติม เช่น การลดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดย กกต.จะจัดทำจุดติดตั้งป้ายหาเสียงของผู้สมัครแต่ละพรรคในย่านชุมชน และไม่อนุญาตให้ติดป้ายหาเสียงริมถนนแบบเดิม รวมถึงจัดสรรเวลาในการออกอากาศให้ทุกพรรคการเมือง จัดเวทีดีเบตให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครเกินร้อยละ 50 ส่วนคดีทุจริตการเลือกตั้ง หากศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครหรือสิทธิการเลือกตั้งแล้วสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง พร้อมต้องจ่ายค่าชดเชยการเลือกตั้งอีกร้อยละ 2 เพื่อเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง
พ.ต.อ.จรุงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันได้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. โดยเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการไต่สวนและพนักงานสืบสวนมีอำนาจเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในคดีเลือกตั้ง พร้อมจัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามทุจริตเลือกตั้ง ให้การคุ้มครองพยานโดยสำนักงานคุ้มครองพยานในคดีอาญา และให้มี กกต.จังหวัดละ 5 คนเพื่อช่วยในการจัดการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการซักถามจากผู้เข้ารับฟังการบรรยาย มีการถามความคิดเห็นต่อประเด็นการเซ็ตซีโร่ กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า จากที่ทราบแนวทางของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คิดว่าคงจะไม่มีการเซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งหมด แต่จะตัดเฉพาะคนที่คุณสมบัติไม่ครบตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ฉบับใหม่ที่จะออกมา ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะคนที่เข้ามาแล้วมีคุณสมบัติครบตามกฎหมายเก่า แต่ต้องออกไปตามคุณสมบัติที่กำหนดในกฎหมายใหม่ ทั้ง ๆ ที่วาระยังเหลืออยู่ประมาณ 4-5 ปี จะเอาอะไรมาชดเชยได้

'สมชัย' อัดนวัตกรรมฟุ้งซ่าน ปมผู้ตรวจการการเลือกตั้ง

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง แถลงถึงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ของ กรธ. ว่า เท่าที่เห็นเนื้อหาพบว่ากรธ.มีการออกแบบเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไทย โดยการให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ขึ้นมาทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด จำนวน 5-8 คน รวมทั่วประเทศประมาณ 500-600 คน มีระยะเวลาทำงาน 50 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง แบ่งเป็นคนในพื้นที่ 2 คน นอกพื้นที่ 3-6 คน ในส่วนคนนอกพื้นที่ให้มีการจับฉลากว่าจะได้ไปลงพื้นที่ใด การออกแบบดังกล่าวเป็นนวัตกรรมมุ่งกำจัดอิทธิพลจากนักการเมืองท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมา กกต.จังหวัดที่เป็นข้าราชการอาจถูกอิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นครอบงำทำให้การเลือกตั้งขาดความสุจริต
“แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเจตนาดี แต่กระบวนการคิดเป็นนวัตกรรมฟุ้งซ่าน จะหาคน 500-600 กว่าคนที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกจังหวัดได้อย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีงานประจำทำอยู่แล้ว ดังนั้นการให้ไปทำงานอยู่จังหวัดอื่นเกือบถึง 2 เดือน เป็นไปไม่ได้ และถ้าจับฉลากได้จังหวัดที่ไม่อยากไปจะทำอย่างไร ก็จะเป็นปัญหา รวมถึงงบประมาณทั้งค่ารถ ค่าที่พัก ค่าสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงต่างๆ รวมกัน ใช้งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างมาก และการให้คนนอกพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่ไม่รู้จักพื้นที่จริง ก็จะเป็นปัญหาในการทำงาน ไม่กล้าที่จะลงพื้นที่ โดยหลักอยากให้ กรธ.พิจารณาทบทวน เพราะการออกแบบดังกล่าวเป็นการคิดที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่ทำงานได้” สมชัย กล่าว
สมชัย กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีบทบัญญัติที่มีปัญหาในการตีความหลายมาตรา นำไปสู่ความยุ่งยากในการดำเนินการ เช่นเรื่องคุณสมบัติของ กกต.ในมาตรา 8 (1) ที่กำหนดคุณสมบัติว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด อาจทำให้มีการตีความได้ว่า กกต. ชุดปัจจุบัน ถือว่าเป็นกรรมการองค์กรอิสระไปแล้ว ทำให้กลับมาเป็นไม่ได้อีกหรือไม่ และมาตรา 8 (19) ที่กำหนดห้ามว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา จะนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ หรือจะนับย้อนกลับไป 3 ปี ตั้งแต่ กกต.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ซึ่ง กรธ.ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณาตีความคุณสมบัติ ตนเห็นว่าเป็นการโยนภาระเกินไป ต้องมีความชัดเจนในชั้นของ กรธ.จะเป็นผลดีกว่า เพราะคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดอาจตีความแตกต่างกัน ถ้ากล้าจริง กรธ.ก็ต้องตีความด้วยตัวเอง
สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนของมาตรฐานการบังคับใช้กับองค์กรอิสระทุกแห่ง ขณะนี้มีการพูดถึงแต่ กกต.เพียงอย่างเดียว อยากได้ยินคำพูดตรงๆ เต็มปากเต็มคำ จาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ว่าหลักการดังกล่าวจะมีการบังคับใช้กับองค์กรอิสระทุกแห่ง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ กกต.ไม่มีปัญหาที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ขอให้เป็นกฎกติกาที่มีความเป็นธรรม อย่างกรณีคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มาจากผู้เชี่ยวชาญสายนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างละ 1 คน แต่ขณะนี้มีอยู่สายละ 2 คน ต้องจับฉลากออกสายละ 1 คนหรือไม่ เช่นเดียวกับที่กำหนดคุณสมบัติเรื่องการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี อยากถามว่าคนที่เป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี จะถูกตัดออกหรือไม่ รวมถึงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษจะถือเป็นศาสตราจารย์หรือไม่ ทาง กรธ.ต้องตอบสังคมให้เกิดความชัดเจน ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีการกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สูงขึ้นเช่นกัน จึงอยากได้คำตอบว่าจะดำเนินการอย่างไร และหากมีการดำเนินการก็ควรทำในระยะเวลาพร้อมกันด้วย

รมว.ยุติธรรม พอใจสถานการณ์หมิ่นฯ ในต่างประเทศนิ่งไปเยอะ ชี้เป็นยากนำตัวกลับ เหตุอธิปไตยเขา



 
16 พ.ย. 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตัวผู้ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ว่า ตนได้หารือกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แล้ว ซึ่งแนวคิดในการขอความร่วมมือกับต่างประเทศเพราะหากใช้การบังคับทางกฎหมายอาจทำไม่ได้ เพราะกฎหมายแต่ละประเทศต่างกัน จึงใช้วิธีการขอความร่วมมือ ซึ่งมี 2 กรณีคือ เราเอาตัวเขากลับมาก็จบ และการไม่นำตัวกลับแต่ทำให้เขาหยุดเคลื่อนไหว ทั้งนี้ เราดำเนินการเรื่องการขอความร่วมมือเรื่องการขอตัวคนทำผิดกลับ เราทำมาเป็น 10 ปีแล้ว และจะทำต่อไป แต่สิ่งที่เราทำได้และยังมีโอกาสเป็นไปได้คือ การทำให้เขาหยุดเคลื่อนไหว อย่างประเทศนิวซีแลนด์ก็ดำเนินการช่วยเหลือเราอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีขึ้น
 
ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวว่า แม้การขอตัวผู้กระทำผิดกลับมาดำเนินการตามกฎหมายจะเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ได้พยายามดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องกฎหมายภายในประเทศ จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปละเมิดต่ออธิปไตยของประเทศนั้น ๆ แต่กำลังดูอยู่ว่า ใครที่ไปใช้ประโยชน์ในการลี้ภัย โดยอ้างเรื่องการเมือง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งทางการไทยได้สอบถามข้อมูลการอ้างดังกล่าว เพื่อทำข้อมูลทักท้วงกลับไป
 
"มันเป็นเรื่องกฎหมายภายในประเทศ มันยากต่อการไปละเมิดอธิปไตยเขา แต่เรากำลังจะดูว่าใครที่ไปใช้ประโยชน์ในการลี้ภัย อ้างเป็นการเมืองบ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมประเทศไทยบ้าง อะไรพวกนนี้นะ เราก็พยายามถามข้อมูลว่าเขาไปยื่นอย่างไร เราจะได้ทำข้อมูลทักท้วงไป แต่ได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง กระบวนการใหม่ก็พยามจะทำหลายๆ ช่องทางอย่างนี้" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงสถานการณ์ด้วยว่า หลายประเทศนิ่งไปเยอะ เกือบทุกประเทศเขาก็นิ่ง ซึ่งจะเห็นทั้งในออนไลน์ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ประกอบกับเราคุยกับยูทูบ คุยกับไลน์ด้วย จึงผลสมกัน ดังนั้นทั้งต้นเหตุคือแหล่งที่เขาเคลื่อนไหว และกลางทางคือพวกยูทูบอะไรพวกนี้ ส่วนปลายทางก็ใช้กฎหมายและเข้าเจรจาด้วย จึงทำให้สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้น
 
"เราพอใจ ทุกคนพอใจ" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว 
 

ถกเดือด เวทีฟังความเห็นกฎหมายลูก ‘สมชัย’ ซัด ‘มีชัย’ “เกิดก่อนใช่จะเก่งกว่า”


เวทีสัมนากฎหมายลูก ระอุปมกฏหมาย กกต. ‘มีชัย’ ระบุทำงานอย่างหนักไม่มีเวลาคิดฟุ้งซ่าน ยันร่างกฎหมายลูก ยึดตามร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ด้าน กกต. ‘สมชัย’ หวังเวทีวันนี้ไม่ใช่แค่พิธีกรรม ซัดแรง “คนเกิดก่อน ร่างกฎหมายมาหลายฉบับ ไม่ได้แปลว่าเก่งกว่า”
16 พ.ย. 2559 ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดงานสัมนา “การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมด้วนว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.” โดย มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กล่าวถึงการร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กรธ. ไม่ได้แก้ไขหรือแตะต้องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามใดๆ อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจผิดว่า กรธ. กลั่นแกล้ง ทั้งที่เรื่องคุณสมบัติคณะกรรมการ กรธ. ได้คัดลอกมาจากเนื้อหาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ แต่กลับมีคนเข้าใจผิดคิดว่า กรธ. เขียนต่างไปจากกฎหมายแม่ เพื่อต้องการกลั่นแกล้งกัน
มีชัยกล่าวต่อไปว่า คุณสมบัติไม่ว่าของ กกต. หรือองค์กรอิสระอื่น กรธ. เข้าใจว่า กรรมการเหล่านี้มีที่มาตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ขณะที่ กรธ. ได้กำหนดคุณสมบัติใหม่ขึ้นมา อาจทำให้หลายคนหงุดหงิดอยากให้ กรธ. ชี้ขาด แต่ กรธ. ทำไม่ได้ เพราะผู้ที่จะทำหน้าที่ชี้ขาดเรื่องนี้คือ คณะกรรมการสรรหา ขณะที่หลายคนอยากให้ผ่อนปรนเรื่องคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งกรธ. ได้ผ่อนปรนเอาไว้ในบางส่วนคือ สนช. ที่จำเป็นต้องทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ มีทั้งเรื่องที่ยกเว้นและไม่ยกเว้นให้ ถ้าไม่มีเหตุผลพอ เช่น ยกเว้นให้ สนช. ที่เป็นเจ้าของกิจการได้ แต่ในกรณีที่ถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานรัฐ เราก็ไม่ผ้อนให้ เพื่อเป็นมาตราฐานเดียวกับ ส.ส. แต่ทั้งนี้ผู้ชี้ขาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ สนช. ต้องยื่นถามเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ส่วนกรรมการสรรหาที่ลงคะแนนกัน 30 รอบ ไม่ควรเกิดขึ้นอีก เลือกกัน 2-3 รอบควรพอได้แล้ว และหากถูกสภาปฏิเสธ ก็ไม่ควรถูกเสนอเข้ามาอีก เหมือนอย่างการเลือกตรวจการแผ่นดินของ สนช.
“กรธ. ไม่เคยคิดฟุ้งเฟ้อเพ้อเจ้อตามอารมณ์ เราเขียนกฎหมายลูกให้สอดคล้องไปตามหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงการรปฏิรูป ขจัดการทุจริตอย่างจริงจังด้วยการลงโทษอย่างรุนแรง จนทำให้บางท่านที่ตามไม่ทันรับไม่ได้ คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งเฉพาะตัว แต่ยืนยันว่า ข้อกำหนดที่ใช้กับ กกต. ก็จะนำไปใช้กับองค์กรอิสระอื่น รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ต้องขึ้นกับรายละเอียดที่แตกต่างกัน มันจึงอาจเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะกฎหมาย กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงต้องออกมาก่อน กรธ. ทำงานกันอย่างหนัก ไม่มีเวลาว่างคิดฟุ้งซ่าน” มีชัย กล่าว
กรธ. ยันนวัตกรรมใหม่ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ช่วยจัดการปัญหาการทุจริตเลือกตั้งได้
มีชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่อง กกต.จังหวัด ได้ฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ที่ กกต.จังหวัดไว้ใจได้ และปัญหามักเกิดมาจาก กกต.จังหวัด ที่ให้เหตุผลว่าต้องดูแลเลือกตั้งท้องถิ่น ก็พบว่า ทำหน้าที่มอบหมายให้ส่วนท้องถิ่นไปจัดการเลือกตั้ง จับการทุจริตไม่ได้สมกับเรื่องเล่าลือ กำนันเงินหมื่น อบต.เงินแสน ประสิทธิภาพการทำหน้าที่กกต.จังหวัดไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด กรธ.จึงเสนอผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อลองเปลี่ยนใหม่ ยืนยันว่า ไม่ได้ฟุ้งซ่าน แต่เกิดจากความคิดตรึกตรองกันอย่างดี แล้วเจ้าหน้าที่ กกต. ที่มารับฟัง กรธ. ก็บอกสามารถทำได้ ขณะที่บทบาทของ กกต. ได้เพิ่มอาวุธ ช่องทางหาข้อมูลหลักฐาน และอาจไปไกลถึงให้รางวัลนำจับ แต่ก็ยอมรับว่าอันตรายหากมีการกลั่นแกล้งกัน แต่กำหนดไว้ว่า หากกลั่นแกล้งจะเจอโทษที่รุนแรง สำหรับโครงสร้าง กกต. 7 คน ที่เพิ่มมา 2 คน จากสายศาล เป็นไปเพื่อเน้นป้องกันการทุจริต ต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญทางกฎหมาย โดยถอดแบบมาจากองค์คณะผู้พิพากษา
“ภาพรวมของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกทั้งหมด ที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้ง 5 และศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเครื่องค้ำยันระบอบการเมืองการปกครองของเราให้ไปข้างหน้าอย่างมีสมเหตุสมผล เพื่อพัฒนาประเทศของเราได้อย่างเต็มที่ อาจดูเข้มงวดรุนแรงบ้าง แต่ทั้งหมดเราเขียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมยังแอบฝันถึงวันนึงที่สหรัฐอเมริกาจะต้องมาเลียบแบบอะไรที่แปลกใหม่จากเรา เนื่องจากเรามีประสบการณ์มามาก แล้วก็พยายามแก้ปัญหาทุกรูปแบบมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก” ประธาน กรธ. กล่าว
กกต. หวังอย่าให้สัมนาเป็นแค่พิธีกรรม ขออนุญาติทำวงแตกปม กกต.จังหวัด-ผู้ตรวจการเลือกตั้ง
ด้านสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง กล่าวว่า อยากให้การสัมมนาครั้งนี้ไม่ใช่พิธีกรรม กรธ .ควรเอาข้อเสนอแนะที่ได้ ไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมระบุว่า การออกแบบร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.ต้องอยู่บนหลัก 3 ประการ คือ 1.ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเลือกตั้ง เข้าใช้สิทธิ์ได้สะดวกมากที่สุด กลไกของ กกต. ที่ออกแบบจะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งให้ได้มากสุด ขยายเวลา เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในและนอกประเทศได้ใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่ 2.การใช้สิทธิ์ของประชาชนต้องเป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ รู้จักพรรคและนักการเมืองอย่างแท้จริง ว่ามีคุณภาพมีนโยบายอย่างไร และ 3.ทำให้ กกต. มีกลไกในการจัดการทุจริตการเลือกตั้ง การซื้อเสียงน้อยลง อยู่บนกฎเกณฑ์กติกาเหมือกันไม่แบ่งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก
“แต่ร่างที่ กกต. เสนอมาเป็นคนละเรื่องกับที่ กรธ. เขียน ผมอาจทำให้ต้องวงแตกกันนิดนึง เช่น เราเสนอมาให้มี กกต.จังหวัดเหมือนเดิม แต่ กรธ. เขียนกลับไม่มี แล้วมีผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาแทน ซึ่งผมว่ามันเป็นกลไกที่ใช้ไม่ได้ กรธ. ควรเขียนกฎหมายแล้วเปิดให้เราได้วิจารณ์กัน แล้วผมจะวิจารณ์เอง เพราะผมทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อรักษาหน้าใคร กกต. เสนออะไรไม่เหมาะสมก็วิจารณ์ได้ อยากให้สังคมไทยใช้ความจริงมาคุยต่อหน้ากัน ไม่ใช่เกิดมานานกว่า ร่างกฎหมายมาหลายฉบับกว่า แล้วหมายความว่าต้องเก่งกว่า” สมชัย กล่าว
สมชัยระบุด้วยว่า สำหรับกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ที่จะใช้เกณฑ์คุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่ ในการเปลี่ยนแปลงกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะตัวเองจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมั่นใจว่าตัวมีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรมนูญใหม่กำหนด เพราะเคยทำงานภาคประชาสังคมมาไม่น้อยกว่า 20 ปีตนทำงานองค์กรกลางมาตั้งแต่ ปี 2535 ดังนั้นในส่วนตัวปัญหานี้จึงไม่ได้กระทบกับตัวเอง แต่ที่พูดเพราะเห็นว่าเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นธรรม และจะมีกรรมการองค์กรอิสระอื่นได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยปกติเมื่อมีการร่างกฎหมายใหม่ ก็จะมีการเขียนในบทเฉพาะกาลว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมนั้นอยู่ต่อไปจนครบวาระแต่ในครั้งนี้กลับจะมีการเขียนว่าให้เป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือว่าไม่เป็นธรรมพอสมควร
"ถ้า กรธ. จะยึดหลักเกณฑ์จริงจะก่อให้เกิดความวุ่นวายกับองค์กรต่างๆ มากมาย การที่บอกว่า กกต. ต้องเป็นองค์กรแรกที่ต้องดำเนินการ ถ้าจะทำต้องทำพร้อมๆ กัน ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ กสม. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ล้วนแต่ทำให้คนอยู่เดิมได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ซึ่งในเวลานี้เรากำลังจะเปิดศักราชทางการเมืองใหม่ การทำงานหลายอย่างต้องการทำงานต่อเนื่อง ต้องการคนเก่าที่รู้ปัญหา ผมไม่เชื่อว่าการเอาคนมาใหม่ทั้งหมดจะตอบโจทย์ได้มากกว่า" สมชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ตามกฎหมายใหม่ กกต. จะมีอำนาจมาก กรธ. จึงมองว่าจำเป็นต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถพอสมควร จึงกำหนดคุณสมบัติไว้สูง สมชัย กล่าวว่า เป็นความคิดที่ดี แต่การเชื่อว่ากำหนดคุณสมบัติไว้สูงแล้วจะได้คนดีนั้น ตนเห็นว่าผลงานสำคัญกว่าคุณสมบัติ คนไม่จบดอกเตอร์อาจทำงานได้ดีกว่าคนจบดอกเตอร์ หลายคนที่ไม่จบปริญญาก็ทำงาน และประสบความสำเร็จมากกว่าคนจบปริญญา คุณสมบัติจึงเป็นเพียงมายาภาพที่สังคมควรเลิกติดยึดได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่แค่ 4 เดือน หรือ 4 ปี จากนี้ก็จะทำงานอย่างเต็มที่ไม่มีลดราวาศอก ถ้าเขาให้อยู่ทำก็ทำ ไม่ให้อยู่ทำก็ไม่ทำ ไม่เป็นปัญหา