วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

ทนายยิ่งลักษณ์ร้องประยุทธ์-รมว.คลังทบทวนกระบวนการปมจำนำข้าว


28 ก.ย. 2559 นพดล หลาวทอง ทนายความ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ทบทวนและวินิจฉัยสั่งการให้การสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ
นพดล กล่าวว่า กระบวนการสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนของคณะกรรมการทั้งสองชุด ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรค 2 ที่วินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดเพียงผู้เดียวกว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐไม่ได้เกี่ยวกับการค้ากำไรส่วนบุคคล  เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรฐานรากให้เกิดความแข็งแรง เพราะชาวนาเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศ หากให้นางสาวยิ่งลักษณ์รับผิดคนเดียวจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกทั้งมติของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายทดแทนจำนวน 3.57 หมื่นล้านบาท จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าความเสียหาย ขาย 1.78 แสนล้านบาท จาก การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวฯ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพราะยังไม่สามารถคิดสัดส่วนความเสียหายที่ต้องรับผิดได้ นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่อาจนำพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบที่มีความเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดจากที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบทั้งสิ้น ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องดำเนินการตามกฏหมายละเมิดปกติที่ใช้บังคับกับบุคคลทั่วไป
“ผมมาขอความเป็นธรรมให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้ ว่ากระบวนการทุกอย่างควรจะต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน ไม่ควรยกเว้นหรือเลือกปฎิบัติกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ผมจึงต้องมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมก่อนที่คณะกรรมการทั้งสองชุดจะมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป” นพดล กล่าว

ประยุทธ์มอบ รมว.คลัง ลงนามเรียกค่าเสียหาย

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (27 ก.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผย ถึงกรณีการดำเนินคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า จะมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ลงนามคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไว้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ากรณีนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงคลัง และข้าราชการของกระทรวงที่รับผิดชอบ ในฐานะกรรมการตรวจสอบ และให้รัฐมนตรีลงนาม ในฐานะเจ้ากระทรวง ตนเองสามารถมอบหมายให้ลงนามแทนได้ ยืนยันว่า ดำเนินการส่งฟ้องศาล ทันอายุความ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้
สำหรับกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย จาก ยิ่งลักษณ์ 20% หรือ 35,700 ล้านบาท จากความเสียหายทั้งหมด 178,000 ล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการดำเนินการ ในฐานะที่อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ และไม่ระงับยับยั้งโครงการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ได้แจ้งเตือน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนความเสียหายที่เหลือ 80% หรือ 142,000 ล้านบาท ที่มีการฟ้องร้องผู้ที่กระทำทุจริตอีก 850 คดีนั้น จะมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. เข้าไปร่วมในการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดในระดับผู้บริหาร ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องตรวจสอบหาผู้กระทำผิด และเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และเอกชน
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า การใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด  ไม่ใช่เป็นการเข้าไปตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าว แต่เพื่ออำนวยความสะดวก ให้ข้าราชการมั่นใจในการตรวจสอบคดีนี้
“ผมมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจชี้ผิด ชี้ถูก แต่ปกป้องเจ้าหน้าที่ไว้ เพราะเขาไม่กล้า ที่ผ่านมามีการขู่ ผมต้องมีมาตรการของผมปกป้องเขา ไม่ใช่ปกป้องให้เขารังแกคน แต่ให้เขากล้าทำงานแค่นั้น ม.44 ไม่ใช่ไปตัดสินชี้ผิดชี้ถูก ไม่ได้ไปตัดสินจำนำข้าว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะฟ้องกลับ ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นายกรัฐมนตรียืนยันไม่กังวลต่อเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่า “ผมทำตามหน้าที่ ในการทำให้คดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น”

ผลประเมิน 'คุณธรรม-ความโปร่งใส' สนง.ป.ป.ช. ได้ที่ 100 จาก 115 หน่วย สนง.ศาลรธน.ได้ที่ 94


29 ก.ย. 2559 จากกรณี ที่ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ผลจากโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 115 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สำนักงานศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานสังกัดรัฐสภา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน นั้น ซึ่งปรากฏว่า สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ในอันดับที่ 100 ได้เพียง 73.52 คะแนนเท่านั้น
ขณะที่ อันดับ 1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ 96.02 คะแนน 2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ 94.50 คะแนน 3. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ 91.41 คะแนน 4. องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ 90.79 คะแนน 5. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ 90.39 คะแนน 6. การไฟฟ้านครหลวง ได้ 90.30 คะแนน 7. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ 90.23 คะแนน 8. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ 89.98 คะแนน เป็นต้น
โดย มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เราไม่ได้ตกใจกับผลประเมินที่ออกมา เนื่องจากการประเมินดูเรื่ององค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส เรารู้ก่อนการประเมินอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้เตรียมการนัดแนะกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องภายใน ว่าต้องเตรียมถูกประเมินอะไรบ้าง ดังนั้น เมื่อมีการประเมินจึงถือว่าวัดผลได้จริงและเป็นผลดีกับเราที่ทำรู้ตัวเองว่า ความจริงขณะนี้เราเป็นอย่างไร การประเมินดังกล่าว เพื่อให้แต่ละหน่วยงานรู้ตัวว่ามีจุดบกพร่องใดต้องแก้ไขให้ดีขึ้นในปีถัดไป เพื่อจะได้เป็นหน่วยงานที่มีมีคุณธรรม ความโปร่งใส เจตนาเป็นอย่างนั้น ถ้าทุกองค์กรพัฒนาขึ้นจากคะแนนประเมินมาตรฐานที่ 80 คะแนน และดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยโปร่งใสแน่
“อาจจะมีส่วนว่าคะแนนที่สะท้อนการประเมินสำนักงานป.ป.ช.อาจจะไม่โปร่งใส เป็นต้นว่าการขอทราบความคืบหน้าของคดี หรือการขอสืบค้นสำนวนคดีต่างๆ ว่าการเปิดเผยข้อมูลยังไม่ดีพอ แต่เรื่องคดีเป็นข้อมูลเชิงลึกที่เปิดเผยลำบาก เนื่องจากมีข้อจำกัด ถ้าไปกระทบถึงบุคคลอื่น คนให้ข้อมูลหรือคนที่กล่าวหาจะเดือดร้อน แต่ก็จะพยายามให้มีการเปิดเผยให้มากกว่านี้” สรรเสริญ กล่าว

เสียดสีศาล! ศาลทหารตีกลับคำแถลงปิดคดี ‘รุ่งศิลา’ คดีไม่รายงานตัวคสช.




เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา นายอานนท์ นำภา ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับคำแถลงการณ์ปิดคดีในคดีที่ นายสิรภพ นักเขียนผู้ใช้นามปากกา รุ่งศิลา ซึ่งตกเป็นจำเลยจากการไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 เรื่องให้บุคคลเข้ารายงานตัว เพื่อให้ทำการแก้ไขคำแถลงเนื่องจากศาลทหารเห็นว่ามีเนื้อหาที่ส่อถึงการเสียดสีศาลทหาร โดยมีทั้งหมด 3 จุด และเมื่อแก้ไขเสร็จแล้วให้ยื่นใหม่อีกครั้งภายใน 7 วันซึ่งครบกำหนดในวันที่ 4 ต.ค. นี้

ข้อความที่ศาลทหารแจ้งแก้ไขในสองจุดแรกอยู่ในส่วนของคำแถลงข้อ 2.3 ที่กล่าวถึงการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ41/2557 และ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 44/2557เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก คสช. เข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศด้วยการทำรัฐประหารซึ่งมีความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และการยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงเป็นการยอมรับต่ออำนาจของผู้ปกครองประเทศที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเนื้อความจุดที่ศาลทหารให้มีการแก้ไขมีดังนี้

“…หากอำนาจตุลาการไม่รับใช้หลักการแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยและประชาชน แต่กลับไปโอนอ่อนผ่อนตามหรือยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลงจนไม่เหลือสถาพแห่งความเป็นนิติรัฐได้…”

“…หากตุลาการยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป เปิดช่องทางหรือยอมรับให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้าปกครองประเทศ ตุลาการจึงไม่ควรที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หากแต่ต้องใช้อำนาจตุลาการในการพิพากษาวินิจฉัยให้คณะรัฐประหารต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง หากตุลาการรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชน หันไปรับใช้อำนาจอันโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็จะกลายเป็นบ่าวรับใช้อำนาจเผด็จการไปเสีย…”

ส่วนจุดที่สามที่ศาลทหารให้แก้ไขอยู่ในข้อ 3 ของแถลงการณ์ซึ่งเป็นส่วนปิดท้ายที่นายสิรภพกล่าวถึงการที่ตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. ที่ได้มาโดยการรัฐประหารจึงขอทำการอารยะขัดขืน และยังขอต่อศาลให้อำนวยความยุติธรรม โดยข้อความที่ศาลให้แก้ไขมีดังนี้

“…ขอศาลได้โปรดตีความและบังคับใช้กฎหมายภายใต้ความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย…”

ภายหลังจากที่นายอานนท์ทราบเรื่องวันนี้จึงเข้าเยี่ยมนายสิรภพในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเช้าวันนี้เพื่อสอบถามและให้คำปรึกษา ทั้งนี้ทีมทนายความจะปรึกษากันถึงแนวทางก่อน แต่จะยื่นแถลงการณ์ต่อศาลอีกครั้งภายในวันจันทร์ที่ 4ต.ค.ที่จะถึงนี้
ในคดีนี้นายสิรภพได้เคยให้การต่อศาลว่าการกระทำของ คสช. ที่ทำการรัฐประหารถือว่าเป็นการกบฏ และเชื่อว่าจะกระทำการไม่สำเร็จ การออกคำสั่งของ คสช. จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย นอกจากนี้ เขายังได้ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลอาญาในคดีดำที่ 1805/2558

ปนัดดา ยกสถาบันกษัตริย์ปกป้องความมั่นคงของชาติ ทำไทยรอดพ้นประเทศราช-คอมมิวนิสต์



29 ก.ย. 2559 เมื่อเวลา 09.20 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคง" จัดโดย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อร่วมกันดำเนินงานด้านความมั่นคงชาติ และเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ส่วนราชการให้มีประสิทธิผลสูงสุด โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย องคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย พล.อ. จรัล กุลละวณิชย์ สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงานจำนวนประมาณ 300 คน
โอกาสนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวเปิดงานว่า ในนามของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขอกล่าวขอบคุณ นพ.เกษม ที่เป็นผู้ร่างนโยบายแผนงานความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคง สำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น มีความสำคัญ และผูกพันกับสังคมไทยมาโดยตลอด ในฐานะที่ทรงมีคุณูปการต่อความมั่นคงของชาติ ที่ส่งนำพาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัยเป็นศูนย์กลางความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจ และยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเกิดวิกฤตการณ์ เช่น การนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการเป็นประเทศราชของชาติตะวันตก และในช่วงสงครามเย็นที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยคุกคามจากระบอบคอมมิวนิสต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาจนกระทั่งรอดพ้นจากปัญหาดังกล่าวได้
ม.ล.ปนัดดา กล่าวต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชกรณี ยกิจด้วยพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่น เสียสละ เพื่อประชาชนและประเทศชาติ ให้มีความมั่นคง สถาพรมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ นอกจากนี้ พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานไว้ในโอกาสต่าง ๆ ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อวิธีคิด และวิธีดำเนินชีวิตของประชาชน ตลอดจนวิธีดำเนินงานด้านความมั่นคงของประเทศ
นอกจากนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวขอบคุณสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบเรื่องความมั่นคงของประเทศ ที่ได้ตระหนัก ถึงความสำคัญของการธำรง ไว้ซึ่งความมั่นคงยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้จัดทำแนวทางการรักษาความมั่นคงสถาบันหลัก ของชาติ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยตอนท้าย ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวถึงการคาดหวังว่างานในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนในสังคมไทย เพื่อให้รำลึกถึงคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อประเทศชาติ และประชาชนมาอย่างยาวนานด้วย

คนการเมืองจ้างบิดเบือน 'สถาบันเบื้องสูง' โยงขัดแย้งทักษิณ

นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ สื่อมวลชนอาวุโส ด้านความมั่นคง กล่าวว่า จากการติดตามการรายงานข่าวของสื่อต่างชาติในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง มักมีเจตนาเชื่อมโยงว่ามีสถาบันเป็นคู่ขัดแย้งกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่อธิบายข้อมูลพื้นฐานของสถานการ์ความเป็นมา และนำเสนอไปโดยไม่มีการอ้างอิงบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น และที่น่าตกใจมีการพูดถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ทำนองว่าอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากต้องการโยงว่าเป็นเรื่องสถาบันฯ การที่สื่อต่างชาตินำเสนอย่อมต้องการให้เชื่ออะไรบางอย่าง เช่นเดียวกับที่พยายามดึง มาตรา112 เข้ามาโดยระบุว่า รัฐบาลใช้กฎหมายนี้เพื่อคุมฝ่ายเห็นต่าง สะท้อนว่าที่ผ่านมามีความพยายามดิสเครดิตให้เสียชื่อเสียง

ขณะที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การนำเสนอข้อมูลละเมิด ลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันฯ ล้วนดำเนินการจากต่างประเทศมีคนที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองจ้างวานให้ทำข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับสถาบัน เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร ส่วนที่บางคนพยายามหยิบยก มาตรา 112 มาโจมตีทางการเมืองนั้น อย่าอ้างกันพร่ำเพรื่อ พูดกันบ่อยครั้งไม่น่าจะเหมาะสม ตนไม่อยากให้พูดกันผ่านสื่อมาก ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดกันเรื่อยเปื่อย หลายอย่างต้องพูดกันด้วยเหตุด้วยผลและมองว่าสีเสื้อมีไว้สำหรับแข่งกีฬา ไม่มีประเทศใด นำสีเสื้อมาแบ่งแยกผู้คนในชาติให้มาประหัดประหารกัน