วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

อภิสิทธิ์สอนยิ่งลักษณ์ต้องเรียนรู้เพื่อป้องกันเงื่อนไขสู่การรัฐประหาร


22 ก.ย. 2559 จากกรณเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yingluck Shinawatra” ว่า วันนี้ 19 กันยายน 2559 ครบรอบ10 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ไม่ต่างจาก 22 พฤษภาคม 2557 แม้เวลาจะผ่านไป หลายปีแล้วแต่ก็เหมือนวงจรนี้ไม่มีวันจบสิ้นไปจากสังคมไทย
"การรัฐประหารแต่ละครั้งทำให้ขาดโอกาสในการที่ประเทศจะยืนอยู่ในเวทีโลกอย่างสง่างาม ขาดการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนจากนานาอารยประเทศ รวมถึงสิทธิเสรีภาพของคนไทยก็ถูกลิดรอน ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกและขอให้ดิฉันเป็นผู้รับเคราะห์คนสุดท้ายจากเหตุการณ์รัฐประหารค่ะ" ยิ่งลักษณ์ กล่าว
 
วันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความดังกล่าวว่า ถ้าจะมีความไม่ต่าง หรือ ความเหมือน ก็ต้องบอกว่า เป็นเพราะเราไม่เรียนรู้ ว่าเงื่อนไข ของการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นเงื่อนไขของสภาวะแวดล้อม ที่ผู้ที่เข้ามาทำรัฐประหาร บอกว่ามีความจำเป็นในการที่จะต้องมาหยุดยั้งสภาวะความขัดแย้งของมวลชนอย่างรุนแรงในทั้ง 2 ครั้ง ถ้าเราหยุดเพียงแค่นี้ แล้วพยายามจะสื่อสารเสมือนกับว่ามันเป็นความผิดของคนที่เข้ามาทำรัฐประหารอย่างเดียว เราก็จะไม่เรียนรู้และจะเห็นภาพไม่ครบ
 
อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เราก้าวไม่พ้น เป็นเพราะว่าพอเราได้สิ่งที่เป็นประชาธิปไตย หรือ กติกาที่เราคิดว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีตั้งแต่กติกาที่เป็นรัฐธรรมนูญปี 40 ที่คนอ่านแล้วบอกว่าดีมาก ไปจนถึงรัฐธรรมนูญปี 50 ที่อาจจะดูประนีประนอมกับบางสิ่งบางอย่างมากขึ้น หรือฉบับล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะวินิจฉัย ทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นอีกมาตรฐานหนึ่ง แต่จะกติกาอย่างไรก็ตามประเด็นคือในฐานะผู้เล่น นักการเมืองทุกคน ทุกฝ่าย ต้องมาทบทวน เรียนรู้เหมือนกันว่าทำไมใช้กติกาไปแล้วถึงไปไม่ได้ ทำไมถึงเกิดปัญหาขึ้น เพราะเราไม่สามารถทำให้ระบบการเมืองสามารถสะท้อนความหลากหลายทางความคิด เกิดมีแนวคิดทางการเมืองในลักษณะของการรวบอำนาจ หมายความว่า เอาอำนาจที่ประชาชนมอบให้ แล้วคิดว่านั่นคือใบอนุญาตที่จะไปทำอะไรสารพัด ซึ่งไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตย การแทรกแซงสื่อคือที่มาที่ทำให้การเมืองต้องไปสู่ท้องถนน เพราะเวทีของสื่อสารมวลชนอย่างที่เราเห็นในประเทศประชาธิปไตย คือการจัดให้มีที่ยืนสำหรับทุกคน ให้เสียงต่างๆสะท้อนออกไปได้ สามารถเปิดโปง ซักถามกันเอาเป็นเอาตายได้ แต่เมื่อมีความพยายามหลบเลี่ยงตรงนั้น สุดท้ายถึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า สื่อเลือกข้าง สื่อการเมือง แล้วนำไปสู่การปลุกระดม เราต้องคิดถึงตรงนี้
 
“ต้นทุนการรัฐประหารมีจริง สิ่งที่ ยิ่งลักษณ์ เขียนบางส่วนว่าโอกาสที่มันเสียไปมันมีจริง ตรงนี้คิดว่าไม่มีใครปฏิเสธได้เหมือนกัน แต่ถ้าบอกว่าเมื่อต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้แล้ว อะไรที่เราจะได้กลับคืนมาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก เรื่องสำคัญที่สุดวันนี้คือสังคมต้องมาช่วยกันประคับประคองว่าทำอย่างไรให้เราทุกคนเรียนรู้ แล้วแก้ไขปัญหาเก่าๆ ให้ได้ หรือป้องกันไม่ให้ปัญหาเก่าๆ กลับมาเกิดใหม่ให้ได้” อภิสิทธิ์ กล่าว

นิวยอร์คไม่ได้มีเพียงคนเชียร์ประยุทธ์ 4 คนไทยชูป้ายชวนนานาชาติบอยคอตเผด็จการทหาร



กลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่หน้าโรงแรม Plaza Athenee (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

21 ก.ย. 2559  จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.  พร้อมคณะ เดินทางถึงที่พักโรงแรม Plaza Athenee เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ระะหว่างวันที่ 18-25 ก.ย.นี้ 
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า คนไทยจากหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว มีรูปนายกรัฐมนตรีพร้อมข้อความ “We love you uncle Tu” มารอต้อนรับ มอบดอกกุหลาบพร้อมตะโกนให้กำลังใจว่า “ลุงตู่สู้ๆ” แม้จะมีฝนตกลงมาก็ตาม โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณที่มาให้กำลังใจ และเรียกภริยาให้ไปรับดอกกุหลาบ ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
กลุ่มต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ที่หน้าโรงแรม Plaza Athenee 
วันต่อมา 20 ก.ย. 59 เวลาประมาณ 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า บริเวณหน้าโรงแรม  Plaza Athenee ซึ่งเป็นสถานที่พักของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีกลุ่มคนไทย 4 คน ในสหรัฐฯ ชูป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ 
โดย ฤทธิ์ (สงวนชื่อและนามสกุล) อายุ 30 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ทสหรัฐฯ มา 5 ปี หนึ่งในผู้ร่วมการประท้วงครั้งนี้เปิดเผยว่า ได้ทำกิจกรรมชูป้ายประท้วงพล.อ.ปะยุทธ์ ที่หน้าโรงแรมประมาณ 1 ชั่วโมง โดยตอนไปชูป้ายนั้นไม่มีกลุ่มผู้สนับสนุนอยู่ แต่มีอยู่ที่หน้ายูเอ็นซึ่งจำนวนไม่มาก ถ้าเทียบกับกรณีประเทศจีนที่มีจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มต่อต้านโดยเฉพาะกลุ่มนปช.นั้นตนก็ไม่เห็นเลย ไม่เหมือนในครั้งก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมา
 
ฤทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบกำหนดการก่อนหน้านี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ และเข้าใจว่ามีการเปิดเผยเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุน คสช. ถึงได้ไปรับกันได้ขนาดนั้น แต่เนื่องจากตนทราบจากข่าววานนี้ว่ามาพักที่โรงแรมดังกล่าวและจะไปประชุมที่ยูเอ็น จึงชวนเพื่อนมาประท้วงดังกล่าว
 
สำหรับเหตุผลที่ประท้วงนั้น ฤทธิ์ กล่าวว่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีเพียงคนที่สนับสนุนเท่านั้น แต่มีคนที่ค้าน คสช.ด้วย แม้จะไม่มีทรัพยากรอะไรมาสู้ แต่ก็มีข้อความที่จะสื่อต่อสาธารณะของเรา 
 
"เราอยากให้โลกช่วยบอยคอตคนพวกนี้ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ อยากให้โลกช่วยลิดรอนคนที่ริดรอนเสรีภาพหน่อย" ฤทธิ์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่าเราอยู่ในประเทศเราสู้เขาไม่ได้ แต่เราอยากให้โลกหรือประเทศที่เชื่อในประชาธิปไตย ช่วยลิดรอนเสรีภาพของคนพวกนี้ที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทยด้วย
 
"มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่มันขโมยสิทธิเสรีภาพของคนในประเทศ แล้วไปเสพสิทธิเสรีภาพในประเทศอื่น" ฤทธิ์ กล่าว  และกล่าวว่า เราไม่ได้มาด้วยสี แต่เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความหวัง อยากให้ประเทศไทยมีทางออก
 
ฤทธิ์ กล่าวด้วยว่าตนและเพื่อนๆ ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา มีแผนว่าจะรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารต่อไป โดยอาศัยการเคลื่อนไหวจากข้างนอกประเทศ โดยยกตัวอย่างกรณีกลุ่มคนพม่าที่รณรงค์ในต่างประเทศแล้วประสบความสำเร็จ จากฐานของคนที่ประท้วงต่อเนื่องหลายทศวรรษ ขณะที่คนไทยนั้นยังมีปัญหาการรณรงค์ทำให้แรงต้านจากข้างนอกยังไม่ชัดเจน จึงคิดว่าต้องมีการรณรงค์ระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวงจรอุบาทรัฐประหารไปเรื่อยๆ แต่ต้องมีกระบวนการสร้างประชาธิปไตย 

คุก 3 ปี 'แทน เทือกสุบรรณ' คดีบุกรุกที่เขาแพง ไม่รอลงอาญา ประกันตัว 5 แสน


21 ก.ย. 2559 ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีบุกรุกที่เขาแพงเกาะสมุย หมายเลขคดีดำ อ.3534/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พงษ์ชัย ฟ้าทวีพร อายุ 51 ปี ผจก.ห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, สามารถ หรือ โกเข็ก เรืองศรี อายุ 59 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน, แทน เทือกสุบรรณ อายุ 35 ปี บุตรชายของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 61 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของ สุเทพ อายุ เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดร่วมฐาน ร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ,108 ทวิและ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2518 มาตรา 22 
โดยอัยการ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 23 ก.ย.56 บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.43–5 ต.ค.44 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำลาย แผ่วถางป่าเขาแพงอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา โดยจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลายแผ่วถางป่าเขาแพงอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ชั้นพิจารณาจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ 
 
ศาลพิเคราะห์ พยานหลักฐานสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาว่า พงษ์ชัย และ สามารถ หรือโกเข็ก จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ,72 ตรี วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 5ปี 
 
ส่วน แทน และบรรเจิด จำเลยที่ 3-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) , 108 ทวิ วรรค1 และ พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง , 72 ตรี วรรคหนึ่ง โดยการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฏหมายหลายบทให้ลงโทษความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกคนละ 3ปี 
 
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์เห็นว่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติ ควรที่ประชาชนจะต้องร่วมกันหวงแหน บำรุงรักษาให้อุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ไม่ให้เป็นของส่วนตัวแก่ผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ทั้งโดยตรงและทางอ้อม อันเป็นต้นเหตุของความแห้งแล้ง และภัยพิบัติจากน้ำป่าไหลหลาก สภาพความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ 
 
นอกจากนี้ยังให้จำเลยทั้งสี่ คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินและป่าไม้บริเวรที่เกิดเหตุ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก 
 
ภายหลัง ทนายความ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ อาทิ สมุดเงินฝากธนาคาร หนังสือ น.ส.3 ก. เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ต่อสู้คดี 
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ต่อมาเวลา 16.15 น. ศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ โดยตีราคาประกัน พงษ์ชัย และ สามารถ หรือโกเข็ก จำเลยที่ 1-2 คนละ 800,000 บาท และ แทน และบรรเจิด จำเลยที่ 3-4 คนละ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสี่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
 

อบต.-นายอำเภอสั่งห้ามจัดงาน “วันสันติภาพสากล” ที่มัสยิดหรือเซะ


เจ้าหน้าที่จาก อบต.ตันหยงลุโละ รวมทั้งนายอำเภอเมือง ปัตตานี ห้ามกลุ่มประชาสังคมจัดงาน “วันสันติภาพสากล” ที่มัสยิดกรือเซะ ด้านผู้จัดงานชี้แจงกิจกรรมจัดขึ้นโดยสันติวิธี ไม่ใช่กิจกรรมแง่ลบ ระบุสันติภาพที่แท้จริงต้องมีเกียรติและยึดโยงประชาชน มิเช่นนั้นสันติภาพที่สร้างขึ้นเป็นได้เพียงภาพลวงตา
21 กันยายน 2559 รายงานจากโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ระบุว่า ว่าวันนี้ที่หน้ามัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาขอให้งดกิจกรรม “ร่วมกันรำลึกวันสันติภาพสากล และร่วมรณรงค์ สันติภาพที่มีเกียรติ สันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชน" ซึ่งจัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เนื่องในวันสันติภาพสากล โดยกิจกรรมดังกล่าวจะมีการเสวนาหัวข้อ "สันติสุขชายแดนใต้ + สันติภาพปาตานี = สันติสุขประเทศไทย หรือสันติภาพสากล"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนให้การสนใจเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเที่ยง แต่หลังจากนั้นกลับมีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงลุโละแจ้งว่าไม่มีการจัดงานนี้โดยให้เหตุผลว่าผู้จัดงานไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน
อารีฟืน โซะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานี หรือ เปอร์มัส (PerMAS) กล่าวว่า ตนได้ยื่นหนังสือขอใช้สถานที่จาก อบต. ตันหยงลุโละแล้ว อีกทั้งตนได้ถามย้ำอีกครั้งว่าจัดได้หรือ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าจัดได้ แต่เมื่อถึงวันงานกลับสั่งให้ยกเลิก
“เมื่อวานนายอำเภอได้เรียกผมไปพบและบอกว่าไม่อยากให้จัดงานนี้ ผมก็จำเป็นต้องยกเลิก ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังมีการสร้างบรรยากาศของสันติภาพ แต่เมื่อประชาชนจะมีเวทีมาพูดคุยกันทางเจ้าหน้าที่กลับมองว่าเป็นปัญหาต่อความมั่นคง” อารีฟืน กล่าว
ทั้งนี้เฟซบุ้กส่วนตัว Noi Thamsathien ได้อัพโหลดคลิปวีดีโอการอ่านแถลงการณ์ของ ตูแวดานียา ตูแวแมแง. ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยตูแวตานียากล่าวว่า เสียใจกับการตัดสินใจของภาครัฐในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกิจกรรมวิชาการซึ่งจัดโดยสันติวิธี ไม่ได้เป็นกิจกรรมในแง่ลบอย่างที่รัฐให้เหตุผลไว้ ทางเครือข่ายฯ จึงประกาศว่าหากเกิดการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนในพื้นที่และรัฐจากเหตุการณ์ในวันนี้ รัฐจะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ
"สันติภาพที่แท้จริงคือสันติภาพที่มีเกียรติและยึดโยงกับประชาชน เมื่อรัฐระแวงประชาชนสันติภาพที่สร้างขึ้นก็เป็นได้แค่ภาพลวงตาเท่านั้น" ตูแวตานียา กล่าว
สององค์กรชายแดนใต้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสันติภาพสากล
ขณะเดียวกันเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสันติภาพโลก (คลิกเพื่ออ่านแถลงการณ์)
โดยแถลงการณ์ของ คปส. มีข้อเรียกร้องต่อรัฐและขบวนการเอกราชปาตานี 3 ข้อ ซึ่งประกอบไปด้วย 1. การสร้างสันติภาพที่ไม่ปฏิเสธปัญหารากเหง้าความขัดแย้งของชายแดนภาคใต้ 2. สร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยอย่างเห็นเป็นรูปธรรม และ 3. ให้เคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของคนมลายูปาตานีว่ามีสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ ที่เห็นค่าของทุกชนชาติมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
ในขณะที่แถลงการณ์ของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ได้มีการนำเสนอ 3 แนวทาง ดังนี้ 1. ให้คู่สงครามคำนึงถึงเจตนารมณ์ของหลักกฏหมายมนุษยธรรมสากล หากในกรณีที่มีการละเมิดกฏกติกา ให้ยกระดับกระบวนการตรวจสอบโดยกลไกระหว่างประเทศและภาคประชาสังคมที่มาจากความเป็นร่วมของประชาชน 2. ให้ประชาชนร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันโครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองในแบบประชาธิปไตย 3. ให้รัฐไทยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และยอมรับสิทธิในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเอง

ประยุทธ์ให้ถ้อยแถลง UN ย้ำทุกคนต้องเคารพ-ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการเปิดอภิปรายทั่วไป ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ในหัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา” (The Sustainable Development Goals: a universal push to transform our world) 
โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ไว้ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเมื่อปีที่แล้วประชาคมโลกได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030  ร่วมกันเพื่อผลักดันให้การพัฒนาของโลกดำเนินไปอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ “คน” ทุกกลุ่ม เพิ่มการเข้าถึงโอกาสและความเจริญอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันเป็นการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาครั้งสำคัญของสหประชาชาติให้ครอบคลุมและสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้เป็นปีที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติครบ 70 ปี และเป็นปีแรกที่เริ่มต้นนำวาระสำคัญของโลกสู่การปฏิบัติ กรอบเซนไดเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  แผนปฏิบัติการระดมทุนเพื่อการพัฒนา และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน  รัฐบาลไทยเชื่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากสันติภาพและความมั่นคง หรือหากสิทธิของประชาชนถูกละเมิดและไม่ได้รับการยอมรับ ทางกลับกันสันติภาพและความมั่นคงก็จะไม่ยั่งยืนหากขาดการพัฒนาที่เหมาะสม หรือสิทธิของประชาชนถูกลิดรอน ทั้ง 3 เสาหลักของสหประชาชาติดังกล่าวมีความเชื่อมโยง และเกื้อกูลกันอย่างแยกออกจากกันมิได้  กรณีผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้พลัดถิ่นในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างความเชื่อมโยงดังกล่าวที่แสดงให้เห็นด้วยว่า ไม่มีประเทศใดหลุดพ้นจากผลกระทบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของโลกได้ และเราต้องร่วมกันรับผิดชอบหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน

ย้ำทุกคนต้องเคารพ-ปฏิบัติตามพันธกรณีของกฏหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ยุคปัจจุบันที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากมิติที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ความหลากหลายของประชากรกว่า 7,000 ล้านคน ในเกือบ 200  ประเทศ เพิ่มความท้าทายในการรับมือกับปัญหา และการแสวงหาทางออกที่เป็นสากล เนื่องจากแต่ละประเทศมีแนวคิด ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศต้องหาแนวทางและวิธีการที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ มีความเข้าใจ รับผิดชอบ และเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถเข้าถึงโอกาส และสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ อย่างทัดเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในประเด็นที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมอย่างรุนแรง เช่น พันธกรณีเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแบ่งปันความรับผิดชอบ พร้อมกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาร่วมกันของประเทศสมาชิก ตลอดจน บทบาทของกลุ่มภูมิภาค กลุ่มการเมือง กลุ่มเศรษฐกิจ และกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ว่า  เป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะประเทศหนึ่งประเทศใดย่อมไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกได้โดยลำพัง การบรรลุเป้าหมายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเหนือ-ใต้  ใต้-ใต้ และไตรภาคี เพื่อสร้างแรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา

บทบาทไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไทยได้รับเกียรติและโอกาสให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ในปีนี้ และได้วางเป้าหมายที่จะนำวิสัยทัศน์ระดับโลกข้างต้นมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ โดยมีบทบาทประสาน ผลักดัน เชื่อมโยงผลประโยชน์ของกลุ่มฯ ในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การได้รับเกียรติในฐานะประธานกลุ่ม  77  ให้เข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม 20  เป็นครั้งแรก ที่นครหางโจว โดยไทยร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลักดันและขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะความสำคัญของการร่วมมือระหว่างกลุ่ม 20 ในฐานะกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจการเงินกับกลุ่ม 77  ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ ไทย ได้นำเสนอตัวอย่างประสบการณ์และบทเรียนของไทยในการก้าวผ่านอุปสรรคด้านการพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมบนแนวคิดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมกับปลูกฝังคุณธรรม และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สังคมพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน  โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำหลัก SEP ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในบริบทต่าง ๆ กันแล้วกว่า 20  ประเทศ
ตั้งแต่รับตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 เมื่อต้นปี ไทยได้ดำเนินโครงการ SEP for SDGs Partnership การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศผ่านความร่วมมือทวิภาคี และไตรภาคีในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และไทยยังพร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม BRICS อาเซียน ฯลฯ ที่หันมาให้ความสำคัญกับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้น โดยในเดือนตุลาคมนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ครั้งที่อ2 ซึ่งสามารถหารือเพื่อส่งเสริมประเด็น SDGs ในระดับภูมิภาคต่อไปด้วย
การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อต้นเดือนนี้ที่เวียงจันทน์ เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวถึงความสำคัญของกลไกระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้นำอาเซียนและไทยเชื่อว่า การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปในทางที่ดีขึ้น
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ทำให้ประชาชนอาเซียนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นแล้ว การพัฒนาความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันยังนำไปสู่การลดความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในภูมิภาคด้วย

ย้ำไทยได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในระดับชาติ ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่  12 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20  ปี พร้อมนำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาดังกล่าวแปลงไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการระดับชาติ ได้แก่ การยกระดับการบริการดูแลด้านสุขภาพ และส่งเสริมการศึกษาของประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรือแรงงานต่างชาติในประเทศ โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การรณรงค์ด้านสาธารณสุข เช่น การดื้อยาต้านจุลชีพ และส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศ
รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เสรีภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยได้วางโครงสร้างและปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ออกกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี และให้ความคุ้มครองกับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ  ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ดูแลสวัสดิการเด็กแรกเกิด คนพิการและผู้สูงอายุ จัดที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย จัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เนื่องจากรัฐบาลตระหนักว่า กลุ่มคนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมที่สำคัญในการผลักดัน เปลี่ยนแปลงสังคม และโลกของเราอย่างยั่งยืนได้
การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้ให้สัตยาบันข้อตกลงปารีสแล้ว และขอเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เร่งให้สัตยาบันความตกลงฯ โดยเร็ว เพื่อแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความรับผิดชอบร่วมกันต่อปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบกับมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก

โชว์แนวคิด “ประเทศไทย 4.0” 

ด้านเศรษฐกิจ ไทยได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีทิศทางและยั่งยืน ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเน้นส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นสากล พร้อมขจัดปัญหาคอรัปชั่น เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศ
ประเด็นสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยได้สนับสนุนภารกิจรักษาและสร้างสันติภาพของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของไทยได้เข้าร่วมภารกิจต่าง ๆ ราว  20 ภารกิจ ซึ่งได้ใช้โอกาสดังกล่าวพัฒนาคนไปพร้อมกันด้วย โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข สร้างสังคมที่เข้มแข็ง และพัฒนาประเทศต่อไปได้ในระยะยาว  ซึ่งสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 16 เรื่องสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17  ข้อมาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยเห็นว่า ไม่มีสูตรตายตัวในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เป็นไปตามศักยภาพและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศและความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างเอกภาพบนความแตกต่าง ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน

ลั่น 7 ส.ค. ปชช.ไทยลงประชามติรับรองร่าง รธน.ตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว

โอกาสนี้  นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภายในประเทศว่า รัฐบาลได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประชาชนได้ใช้สิทธิลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว และกำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ นำไปสู่ การเลือกตั้งทั่วไปตาม Roadmap ได้ในปลายปี  2560
การออกเสียงลงประชามตินี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้น ศาลทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาความมั่นคง การทุจริต การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังและรอการแก้ไข เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอซึ่งเป็นการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและส่งเสริมธรรมาภิบาล โดยหวังให้ประเทศไทยและประชาชนไทยเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสหประชาชาติตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ที่ได้ริเริ่มและผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มการบูรณาการเรื่อง สิทธิมนุษยชนในงานของสหประชาชาติ หรือวาระเพื่อมนุษยธรรม และขออวยพรให้เลขาธิการสหประชาชาติประสบความสำเร็จในภารกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบในอนาคต

ถ้อยแถลงประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ

นอกจากนี้ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ  พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ร่วมพิธีเปิดการประชุมและกล่าวถ้อยแถลง ในฐานะกลุ่ม 77 และจีน ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High-Level Meeting on Anti-Microbial Resistance (AMR)  นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีประธานสมัชชาสหประชาชาติเลขาธิการสหประชาชาติ  และผู้บริหารระดับสูงขององค์การสหประชาชาติเข้าร่วมด้วย อาทิ  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เป็นต้น 
โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวรู้สึกเป็นเกียรติเป็นตัวแทนกล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่ม 77 และจีน สำหรับการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพทั่วโลก และยังเป็นโอกาสกระตุ้นเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูงเพื่อสนับสนุนความพยายามเร่งด่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกในเรื่องนี้ และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 5 ประการที่สนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคการสาธารณสุข และภาคสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพบนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
ทั้งนี้ การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นความท้าทายของมวลมนุษยชาติ และส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ในขณะที่ขีดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแตกต่างกันอย่างมาก ตามระดับการพัฒนาประเทศและศักยภาพของระบบสุขภาพ ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบอย่างมากหากไม่แก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างมีประสิทธิภาพ  กลุ่ม 77 และจีน เน้นประเด็นทั้งหมดนี้ โดยการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัยการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องสนับสนุนเป้าหมายต่างๆ ที่ครอบคลุม ดังนี้ 1. ส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้กรณีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ คน และการเกษตรอย่างเหมาะสม 2. เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันการเข้าถึงน้ำสะอาด สุขลักษณะและสุขอนามัย การสร้างภูมิคุ้มกัน และการควบคุมการติดเชื้อทั้งในและนอกสถานพยาบาล 3. สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพและส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
4. สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนายาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะ ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และนวัตกรรม ซึ่งรวมถึง ยาแผนดั้งเดิมและยาสมุนไพร อย่างเร่งด่วน โดยมีหลักประกันว่าต้องเป็นไปตามความจำเป็น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และรับผิดชอบร่วมกัน โดยยึดหลักราคาสมเหตุสมผล มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความเท่าเทียม โดยตัดความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนการวิจัยและพัฒนาจากราคาและปริมาณในการขาย กลุ่ม 77 และจีน ยินดีที่หลักการการตัดความเชื่อมโยงนี้ได้รับการเน้นความสำคัญในปฏิญญาทางการเมือง  5. สร้างหลักประกันให้ราคายาไม่สูงเกินไปและสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งที่มีอยู่และแบบใหม่ ซึ่งยินดีต่อผลลัพธ์ของการอภิปรายระดับสูงเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งจัดโดยเลขาธิการสหประชาชาติ 6. เสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ  ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ และการติดตามดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพ เราต้องสนับสนุนการวิจัยระบบสาธารณสุข และการวิจัยและพัฒนา ทั้งประเด็นการใช้ยาปฏิชีวะอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนการคุ้มครองและสร้างหลักประกันในการเข้าถึงยา ทั้งหมดนี้ จะต้องทำโดยคำนึงถึงการมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม โดยไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ หรือก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกอีกครั้งผ่านปฏิญญาทางการเมือง โดยให้คำมั่นที่จะลงมือปฏิบัติในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ การระดมกำลังคนและแหล่งเงินทุน การสนับสนุนด้านเทคนิคและด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ  โดยเฉพาะให้ความสำคัญในมิติด้านสาธารณสุขในความพยายามประสานงาน และ ความร่วมมือของเราจะต้องก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับคนรุ่นเราและคนรุ่นลูก ทั้งนี้ กลุ่ม 77 และจีน จะรอคอยรายงานที่อ้างถึงในปฏิญญาทางการเมืองเพื่อสานต่อการพิจารณาและการดำเนินงานที่สำคัญในเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ

ในส่วนของประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของไทยได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฉบับแรกของประเทศ ทั้งนี้ ไทยเน้นการส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล การเข้าถึงยาต้านจุลชีพที่จำเป็นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 เป็นหลัก เพื่อให้บรรลุปณิธานทั้งสอง เราได้ริเริ่มสิ่งจูงใจเพื่อให้เกิดหนทางในการลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาบาดแผลถลอก การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และอาการท้องร่วง อนึ่ง การบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน ข้อ 3.8 และความพยายามในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นการรวมสรรพกำลังในบริบทของประเทศไทย และอาจเป็นโอกาสเพิ่มเติมให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างความพยายามด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจเพื่อต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ เรายินดีที่จะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและมีส่วนร่วมในความพยายามระดับโลกอย่างสร้างสรรค์ 

เตรียมเชิญประยุทธ์ เป็นประธานเปิดงาน 'ประชาสังคมเข้มแข็ง สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์'


22 ก.ย. 2559  เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.เอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ครั้งที่ 3/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดย เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล  ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการจัดงานตามโครงการ “ประชาสังคมเข้มแข็ง สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนการส่งเสริมภาคประชาสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกำหนดการจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 3 ต.ค. 2559 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของ คสป. และผลการดำเนินงานเชิงนวัตกรรมด้านการพัฒนาสังคมขององค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้แนวคิด “ภาคประชาสังคมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ” ซึ่งแต่ละนิทรรศการมีองค์ประกอบ คือ นิทรรศการหลัก และนิทรรศการมีชีวิต ดังนี้ ชุดที่1 : สรุปผลการดำเนินงาน คสป. ประจำปี 2559 ชุดที่ 2 : บทบาทภาคประชาสังคม ต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 1) ด้านการศึกษา : เครือข่ายรักการอ่าน 2) ด้านสุขภาพ : เครือข่ายองค์กรงดเหล้า 3) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค : เครือข่ายเพื่อผู้บริโภค 4) สิ่งแวดล้อม : เครือข่ายเมาไม่ขับ 5) ด้านแรงงาน : การจ้างงานคนพิการในรูปแบบใหม่ 6) ด้านสวัสดิการสังคม : เครือข่ายท้องไม่พร้อม และ7) ด้านเกษตร : เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เป็นต้น
รวมทั้ง ที่ประชุมได้รับทราบสรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการด้านการจัดทำฐานข้อมูลและส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการจัดทำฐานข้อมูลฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. 2559 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารดรุณวิถี สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี โดยมีมติที่ประชุมที่สำคัญ คือการกำหนดนิยามศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการนิยามขอบเขตของ “องค์กรภาคประชาสังคม” ตามที่ คสป. เห็นชอบแล้วในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ก.ค. 2559 ดังนี้ องค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organizations (CSOs) องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organizations (NGOs) องค์กรภาคประชาชน (People Organizations (POs) พลังพลเมือง (Active Citizen)
พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะทำงานด้านการวางฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคม จัดทำโครงการและแผนปฏิบัติการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ภายใต้ “โครงการสานพลัง นโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ” โดยกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,000 เครือข่าย พื้นที่ 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร