วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แถลงจับ 15 รายไม่พบโยงเหตุระเบิด ตำรวจระบุเป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาล เตรียมส่งฝากขัง


กองปราบรับตัว 15 รายจากทหาร แถลงแจ้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร และขัดคำสั่ง คสช. เตรียมส่งฝากขัง ระบุไม่พบหลักฐานโยงเหตุระเบิด ญาติโวยขอให้ทนายที่เตรียมมา ตำรวจไม่อนุญาต ส่งนอนเรือนจำ ทนายยื่นประกันตัวไม่ทัน เหตุหมดเวลาราชการ 

19 ส.ค.2559 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปราม มีการนำตัวผู้ต้องหา 15 รายซึ่งถูกควบคุมตัวที่ มทบ.11 และศาลทหารออกหมายจับมาแถลงข่าว โดย พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ ระบุว่าเบื้องต้นทั้งหมดมีการติดต่อกันเป็นกลุ่มขบวนการในนาม พรรคปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งคล้ายกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ และมีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาล แต่ทั้งหมดปฏิเสธความเกี่ยวโยงกับเหตุระเบิดหลายจุดที่เกิดขึ้น และตามหลักฐานก็ยังไม่พบความเชื่อมโยงเช่นกัน ทั้งหมดจะถูกแจ้งข้อหาตาม มาตรา 209 ประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาการกระทำผิดอั้งยี่ซ่องโจร และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หลังจากนี้จะนำตัวทั้งหมดไปทำการสอบสวนก่อนที่จะส่งตัวไปฝากขังยังศาลทหารต่อไป
ขณะนี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญผู้แจ้งความกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าจะมีการคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาในการฝากขังยังศาลทหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 15 คนตำรวจจัดเตรียมทนายความให้ผู้ต้องหาโดยเป็นทนายความจากสภาทนายความ ขณะที่ญาติของผู้ต้องหา 10-15 คนที่มาดักพบผู้ต้องหาที่กองปราบในวันนี้ต่างคัดค้าน และขอใช้ทนายที่ญาติได้เตรียมมาแล้วจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและทนายส่วนตัว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายที่เตรียมมาเข้าร่วมฟังการสอบสวนแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. นำเอกสารหลักฐานเดินทางเข้าแจ้งความกับทางพนักงานสอบสวน กองปราบ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องจากเหตุระเบิดและวางเพลิงหลายจุดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ และทางกองปราบได้ยื่นขออนุมัติหมายจับจากศาลทหาร
สำหรับผู้ต้องหา 15 คน ประกอบด้วย 1.ด.ต.ศิริรัตน์ มโนรัตน์ อายุ 71 ปี ชาว จ.พัทลุง, 2.นายวีระชัฏฐ์ จันทร์สะอาด อายุ 62 ปี ชาว จ.นนทบุรี, 3.นายประพาส โรจนพิทักษ์ อายุ 67 ปี ชาว จ.ตรัง, 4.นายปราโมทย์ สังหาญ อายุ 63 ปี ชาว จ.สตูล, 5.นายสรศักดิ์ ดิษปรีชา อายุ 49 ปี กทม., 6.นางสาวมีนา แสงศรี อายุ 39 ปี กทม., 7.นายศิริฐาโรจน์ จินดา อายุ 56 ปี ชาว จ.หนองคาย, 8.นายชินวร ทิพย์นวล อายุ 71 ปี ชาว จ.เชียงราย, 9.นายณรงค์ ผดุงศักดิ์ อายุ 60 ปี ชาว จ.อ่างทอง, 10.นายศรวัชษ์ กุระจินดา อายุ 60 ปี ชาว จ.มหาสารคาม, 11.นายเหนือไพร เซ็นกลาง อายุ 41 ปี, 12.นายวิเชียร เจียมสวัสดิ์ อายุ 59 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช, 13.นายบุญภพ เวียงสมุทร อายุ 61 ปี ชาว จ.เชียงราย, 14.นางสาวรุจิยา เสาสมภพ อายุ 52 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด, 15.นายวิโรจน์ ยอดเจริญ อายุ 67 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช
ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 คนประกอบด้วย ร.ต.ต.หญิง วิลัยวรรณ คูณสวัสดิ์ อายุ 54 ปี ชาว จ.หนองคาย และ ร.ต.ท.สมัย คูณสวัสดิ์ อายุ 57 ปี ชาว จ.หนองคาย อยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ล่าสุด วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมื่อเวลา 16.40 น. ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน นอนเรือนจำ ทนายยื่นประกันตัวไม่ทัน เหตุหมดเวลาราชการ ทั้งนี้ ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 12 วัน พร้อมระบุว่า พนักงานสอบสวนส่งตัวใกล้หมดเวลาราชการ

ประวิตร ยันศาลทหารออกหมายจับ 17 ผู้ต้องหา ไม่เกี่ยวเหตุระเบิดภาคใต้


19 ส.ค. 2559 จากกรณีศาลทหารกรุงเทพ อนุมัติหมายจับ 17 ผู้ต้องหา ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารมาแล้วหลายวันนั้น และต่อมาวันนี้ (19 ส.ค.59) มีการนำตัวมาแถลงข่าวที่กองบังคับการปราบปราม ในข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร และฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ศาลทหารอนุมัติออกหมายจับ 17 ผู้ต้องหาวานนี้  ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการก่อกวน และความไม่สงบ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการจับกุมผู้ต้องหากลุ่มนี้ใกล้เคียงกับการหาเบาะแสผู้ก่อเหตุหลายจังหวัดภาคใต้ นั้น ไม่ใช่เพ่งเล็งเฉพาะช่วงนี้เพราะเจ้าหน้าที่ติดตามมาโดยตลอด และการจับกุมผู้ต้องหาคงไม่ใช่การจับผิดตัว ไม่เช่นนั้นศาลคงไม่อนุมัติออกหมายจับ ทั้งนี้จะยังไม่มีการปรับโครงสร้างกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (รส.) ซึ่งตนเองไม่ได้ให้คำแนะนำเป็นพิเศษ เพราะมีหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงอยู่แล้วจึงต้องทำงานให้เป็นไปตามโรดแมป
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ยังไม่ผ่อนปรนให้ประชุมพรรคการเมืองตามที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีที่มีการออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร นั้น ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย อะไรที่ทำให้เกิดความสงบก็ต้องทำ และจะไม่ยอมให้ทำอะไรที่เกิดความไม่เรียบร้อยกับบ้านเมือง

สนช. มีมติถอดถอน 'ประชา ประสพดี' อดีตรมช.มหาดไทย หลังถูกป.ป.ช. ชี้มูลแทรกแซงบอร์ดอต.


19 ส.ค. 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน ประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนนเสียง 182 : 7 เสียง และไม่ออกเสียง 2 เสียง ซึ่งถือเป็นคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือ 131 คะแนน ของจำนวนสมาชิก สนช. ที่มีอยู่ 218 คน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สนช. จะแจ้งมติไปยัง ปปช. และ ประชา ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ ซึ่งผลจากการถอดถอน ยังส่งผลให้ ประชา ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี  นับแต่วันลงมติ
ทั้งนี้  มติดังกล่าวถือว่า สนช. เห็นชอบให้ถอดถอน ประชา ออกจากตำแหน่ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  หลังกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีก้าวก่าย แทรกแซง การทำงานของบอร์ดองค์การตลาด (อต.) เพื่อช่วยเหลือคดีทุจริตแก่ ธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้อำนวยการ อต. ในขณะที่ ประชา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2555 
สำหรับ ประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ถือเป็นรายที่ 5 และเป็นนักการเมือง รายที่ 4  ที่ถูก สนช. ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้  ในปี 2558  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกถอดถอนจากกรณีไม่ระงับยั้บยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  ที่ถูกถอดถอนในคดีทุจริตระบายข้าว G TO G   ซึ่งในคดีนี้มีข้าราชการระดับสูงถูกถอดถอนด้วย  คือ มนัส สร้อยพลอย  อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ     

ศาลให้ประกันตัว 'ไผ่ ดาวดิน' พ่อใช้ตำแหน่งทนายประกันพร้อมเงิน 3 หมื่น


19 ส.ค. 2559 อานนท์ นำภา ทนายความจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว "ไผ่ ดาวดิน" คิดหลักทรัพย์ตีเป็นเงิน 150,000 บาท โดยคุณพ่อของไผ่ หรือ วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ซึ่งเป็นทนายความใช้ตำแหน่งทนายความค้ำประกันและวางเงินสดเพิ่มอีก 30,000 บาท
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานก่อนหน้านั้นด้วยว่า จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกควบคุมตัวและฝากขังจากกรณีการแจกเอกสารประชามติที่ตลาดสดภูเขียว จนครบกำหนดฝากขังผัดแรกในวันนี้ และทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวจตุภัทร์มาศาลในวันฝากขังครั้งที่สอง เนื่องจากต้องการคัดค้านการฝากขังครั้งที่สอง
โดยเช้าวันนี้ เวลา 9.30 น. ภายหลัง จตุภัทร์ถูกนำตัวจากเรือนจำมายังศาลจังหวัดภูเขียว พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดภูเขียวในทันที โดยฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจำเลยที่ 1 และ วศิน พรหมณี เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 โดยทั้งสองเป็นนักศึกษาและสมาชิกของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ในภาคอีสาน และได้ร่วมกันแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในบริเวณตลาดสดภูเขียวเมื่อวันที่ 6 ส.ค.59
ต่อมา จตุภัทร์ได้ถูกนำตัวมายังห้องเวรชี้ และทนายจำเลยได้แถลงว่าคดีจะครบกำหนดส่งตัวจำเลยที่ 2 ในวันที่ 22 ส.ค.59 จึงขอให้ศาลสอบคำให้การจำเลยทั้งสองคนพร้อมกัน ศาลพิเคราะห์เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล จึงให้เลื่อนไปสอบคำให้การจำเลยทั้งสองพร้อมกันในวันที่ 22 ส.ค.59 เวลา 9.00 น.
ขณะเดียวกันทนายจำเลยยังยื่นคำร้องคัดค้านการขังระหว่างพิจารณา แต่ศาลจังหวัดภูเขียวได้พิเคราะห์เห็นว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง และศาลประทับฟ้องแล้ว ศาลจึงมีอำนาจออกหมายขังจำเลยที่ 1 ไว้ระหว่างพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 และมาตรา 88 จึงให้ออกหมายขังจำเลยที่ 1 ไว้ เว้นแต่มีประกัน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 ระบุว่าเมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตาม มาตรา 87 หรือ มาตรา 88 ก็ได้ ส่วนในมาตรา 88 ระบุว่าคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เมื่อศาลประทับฟ้องและได้ตัวจำเลยมาศาลแล้ว หรือคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้

ยิ่งลักษณ์ ระบุ การขยายความคำถามพ่วง ต้องคำนึงถึงกรอบที่ได้เสนอไว้ก่อนหน้าด้วย


ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นศาลคดีจำนำข้าว ชี้หากให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ ได้ อาจไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเจตนารมณ์ประชาชน ด้าน ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ชี้ ต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อ และไม่มีข้อยกเว้น
19 ส.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 08.45 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนาย เดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีโครงการรับจำนำข้าว เพื่อขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยเป็นนัดที่สอง โดยนัดนี้ ยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องตอบคำถาม แต่จะเป็นส่วนของฝ่ายพยานตอบข้อสงสัยแก่อัยการฝ่ายโจทก์ รวมถึงการซักถามจากผู้พิพากษาองค์คณะในคดี โดยมีบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีต ส.ส. อาทิ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรค เป็นต้น พร้อมมวลชนร่วมให้กำลังใจ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย ทั้งนี้ทันทีที่ ยิ่งลักษณ์มาถึง กลุ่มมวลชนได้มอบดอกไม้และตะโกน “นายกฯ ปูสู้ๆ”
ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าศาลถึงกรณีมีบาง ฝ่ายกล่าวหา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดชายแดนใต้ว่า นายทักษิณได้ปฏิเสธและส่งทนายดำเนินคดีแล้ว ส่วนตนอยากให้ผู้เกี่ยวข้องสืบเรื่องให้ชัดเจนก่อน
ยิ่งลักษณ์ กล่าวกรณีเอกสารลับการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้นโยบายอย่าให้ความเป็นธรรม สั่งเร่งรัดดำเนินคดีว่า ตนหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม เพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ตนคงพูดได้เท่านี้
ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกระบวนการแก้ไขคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พยายามจะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ และจะขอลดขั้นตอนการเสนอชื่อนายกฯคนนอก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนเพราะการเลือกนายกฯ ต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองก่อนซึ่งเป็นเจตนารมณ์เริ่มต้น ส่วนจะไปตีความขยายอะไร อย่างไรนั้นขอให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนว่าประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างไร การขยายความอะไรต้องคำนึงถึงกรอบที่ได้เสนอไว้เริ่มต้นด้วย อย่างไรก็ตามหากสุดท้าย ส.ว.เสนอนายกฯ คนนอกขึ้นจริงก็หวังว่าทุกฝ่ายจะไม่ทำอะไรผิดเจตนารมณ์แและเคารพเสียงของประชาชน แม้ผลประชามติจะออกมาอย่างไร อยากให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงเจตนารมณ์นี้เพราะหากเดินหน้าตามกติกา ทุกอย่างก็จะเข้าสู่ความสงบ
เมื่อถามถึงกรณีหากมีการแก้ข้อกฎหมายให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ ชูศักดิ์กล่าวว่า บทถาวรของรัฐธรรมนูญให้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ดังนั้น เบื้องต้นจำเป็นต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประชามติตามคำถามพ่วง แต่ชั้นแรก ส.ว.สามารถร่วมเลือกได้ก็หมายความว่าทั้งบทถาวรถูกต้อง และคำถามพ่วงตามประชามตินั้นถูกต้อง ไปด้วยกันได้
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้การเปิดช่องให้นายกฯ เข้ามาสูงมาก จะเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่ ชูศักดิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคำถามพ่วงตามประชามติ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำถามพ่วง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องบรรจุคำถามพ่วงไป แต่ยืนยันหลักการเดิมคือ ต้องเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อ และไม่มีข้อยกเว้น คำถามพ่วงไม่สามารถมาลบล้างหลักการนี้ จำเป็นต้องเดินตามนี้
เมื่อถามว่า หากเป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าว พรรคเพื่อไทย จะมีท่าทีอย่างไรต่อไป ชูศักดิ์กล่าวว่า ท้ายที่สุดเรื่องนี้ต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่าที่ร่างกันมานั้น สอดคล้องต้องกันกับบทถาวรและคำถามพ่วงหรือไม่
เมื่อถามถึงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเซตซีโร่พรรคการเมือง ชูศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วกฎหมายพรรคการเมืองที่จะร่างขึ้นมีรัฐธรรมนูญกำกับอยู่แล้ว ว่าจะต้องร่างในแนวทางอย่างไร ดังนั้น เราได้แต่ติดตามดูว่าแนวทางนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ มีอะไรนอกเหนือจากแนวทางที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้หรือไม่ ค่อยมาว่ากันต่อ

ชาญวิทย์พยากรณ์นองเลือด-ธำรงศักดิ์ชี้ไทยเป็นรัฐทหารตลอด 84 ปี


วิชา มธ.111 เปิดบรรยายสาธารณะ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หวังพยากรณ์ผิดว่าขัดแย้งถึงขั้นนองเลือด ธำรงศักดิ์ ล้มทฤษฎี ไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตย ทหารเป็นนายกฯ 65.5% ตลอดอายุประชาธิปไตยไทย ถอดสูตรเก่า-ความฉลาดใหม่ทหารไทย ปิยบุตรอธิบายการเอารัฐประหารไปใส่ในรธน. จีรนุชระบุ ประชามติ-รัฐธรรมนูญเทียม ไม่มีอนาคต
19 ส.ค.2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวิชา มธ.111 ประเทศไทยในมิติประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม มีการจัดบรรยายในหัวข้อ รัฐธรรมนูญ ประชามติและอนาคตประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท



ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-ปิยบุตร แสงกนกกุล
 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หวังพยากรณ์ผิดว่าขัดแย้งถึงขั้นนองเลือด

ชาญวิทย์ กล่าวว่า การต่อสู้รบรากันมาจนเป็นศึกสงครามย่อยๆ หลายปีมานี้เป็นการต่อสู้ของตัวแทนสองฝ่าย (proxy war) ฝ่ายแรกคือ อำนาจเดิม บารมีเดิม เงินทุนเดิม และความคิดอนุรักษ์นิยมเดิม กับ อำนาจใหม่ บารมีใหม่ เงินทุนใหม่ และความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยใหม่ การต่อสู้นี้ยาวยืดและรุนแรงข้ามทศสมัยและกำลังข้ามรัชสมัย ดังนั้นสิ่งที่เราไม่เคยคิดจะได้เห็นก็ได้เห็นอย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญสิ่งที่ได้เห็นมาชั่วชีวิตก็จะไม่มีให้เห็นอีกต่อไปในไม่ช้านาน สังคมจากระดับกลางถึงระดับล่างได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ผู้คนจำนวนหนึ่งในระดับกลางบนและระดับบนอาจนึกไม่ถึงและมองไม่เห็นด้วยซ้ำ วันเวลาการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ยิ่งกว่าการเสียกรุงศรีกำลังมาถึง ต่างแค่นี่เป็นศึกของคนไทยด้วยกัน
ในการต่อสู้เพื่อชิงชัยระหว่างฝ่ายเดิมและฝ่ายใหม่ คนคงต้องการคำตอบว่าใครจะชนะ ตนเองเคยตอบว่า ฝ่ายชนะคือฝ่ายที่มีความอดทนสูง มีขันติบารมี ใครอดทนรอจนถึง “ชั่วขณะของสัจธรรม” (moment of truth) คือฝ่ายชนะ สิ่งที่เห็นจึงเป็นเกมรอ เกมรั้ง เกมยื้อ ไม่แตกหักให้รู้แล้วรู้รอด แต่เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบในการกำหนดทิศทางชั่วขณะของสัจธรรมประหนึ่ง manager of the big change

นอกจากนี้ยังอยากคาดคะเนอนาคตด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าตนเองคาดคะเนผิดมาตลอดและหวังว่าครั้งนี้จะคาดคะเนผิดอีก คิดว่าในศึกครั้งนี้ไม่สามารถประนีประนอมปรองดองและเกี้ยเซี้ยกันได้อีกต่อไป สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปจะไม่เกิด เพราะรัฐธรรมนูญที่กำหนดโรดแม็ปของสังคมและประเทศชาติไม่ใช่ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่เป็นการรักษาสถานะเดิมของเสนาอำมาตย์ตุลาการ การแตกหักจนถึงขั้นมีการจลาจลปั่นป่วนนองเลือดคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
“ผมอยากเชื่อ แต่ไม่อยากได้เห็น ดังที่เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยากล่าวไว้...ผมหวังว่าจะคาดคะเนผิดอีกเช่นเคย และเพลงยาวที่แต่งไว้สองสามร้อยปีก็จะผิดด้วย” ชาญวิทย์กล่าว

ธำรงศักดิ์ ล้มทฤษฎีไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตย ทหารเป็นนายกฯ 65.5% ตลอดอายุประชาธิปไตยไทย

ธำรงศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการล้มความคิดเดิมของรูปแบบรัฐไทยที่ทุกคนเชื่อ โดยกล่าวว่า เราถูกบรรจุในซอฟต์แวร์ว่า รัฐไทยคือรัฐประชาธิปไตยที่เริ่มต้นตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 และเรายังมีซอฟต์แวร์อีกตัวหนึ่งในหัวของเราซึ่งเป็นผลงานสำคัญของโลกตะวันตกที่ศึกษาคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของไทยแล้วเรียกรัฐไทยว่าเป็นรัฐราชการ ราชการเป็นใหญ่ ทั้งสองสิ่งไปด้วยกันได้อย่างไรก็ยังน่าแปลกใจ อย่างไรก็ตาม วันนี้จะขอล้มซอฟต์แวร์ทั้งสองตัวนั้นแล้วนำเสนอใหม่ว่า รัฐไทยเป็นรัฐทหาร (military state) ตลอด 84 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธราชย์เริ่มสร้างตนเอง โดยมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างสถาบันการศึกษาที่สำคัญที่สุดแห่งแรกคือ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นโรงเรียนการศึกษาขั้นสูงที่ก่อตั้งก่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกือบ 3 ทศวรรษ ฐานกองทัพจึงเป็นฐานสำคัญของการเมืองสมัยใหม่ และผ่านไปเพียง 25 ปีก็พบว่าทหารลุกขึ้นมาจะเปลี่ยนระบอบ นั่นคือ กบฏยังเติร์กหรือกบฏหมอเหล็ง และต่อมาก็ทำการปฏิวัติปี 2475 ทหารกลายเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันสังคมไทยเข้าสุ่ยุคใหม่
คณะราษฎรมีสมาชิก 102 คนโดยครึ่งหนึ่งเป็นทหาร ครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน ตัวบุคคลที่สำคัญสุดคือ หัวหน้าคณะยึดอำนาจ ในรอบ 84 ปีที่ผ่านมา ขอแบ่งออกเป็นสามช่วงคือ ช่วง 41 ปีแรก ระหว่างปี 2475-2516 เรามีนายกฯ ที่เป็นทหารอยู่ 4 คน คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกฯ เกือบ 6 ปี จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกฯ 15 ปี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกฯ 5 ปี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ 11 ปี รวมแล้วทหารเป็นนายกฯ 37 ปี แล้วยังมีนายกฯ ตัวแทนของคณะยึดอำนาจคือ ควง อภัยวงศ์ และ พจน์ สารสิน อีก 2 ปี เหลือเวลาแย่งชิงกันของพรรคการเมือง 3 ปี เรียกได้ว่ายุคนี้เป็นรัฐทหารสมบูรณ์แบบ

หลังพลังนักศึกษาล้มรัฐบาลทหารถนอมซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะล้มได้ ในช่วงที่สองนั้นนับตั้งแต่ปี 2517-2533 รวมระยะเวลา 17 ปี เรามีนายกฯ ทหาร 2 คน คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกฯ 2 ปีครึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ 8 ปีครึ่ง นายกฯ ตัวแทนคณะยึดอำนาจ คือ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ อีก 1 ปี รวมแล้วนายทหารเป็นผู้นำ 12 ปี เหลือเวลาให้การเมืองแบบการเลือกตั้งของพลเรือนแย่งชิงกัน 5 ปี

ช่วงเวลาที่สาม ตั้งแต่ปี 2534-2559 รวมระยะเวลา 26 ปี ในช่วงนี้มีนายพล 3 คนเป็นนายกฯ คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ได้ 48 วัน ทำสถิติต่ำสุดของกองทัพไทย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ 1 ปีครึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มาแล้ว 2 ปี 3 เดือนและอาจจะอยู่นิรันดร อันนี้เป็นเรื่องตามใจท่าน นอกจากนี้ยังมีนายกฯ ที่คณะรัฐประหารตั้งมาคือ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ อยู่ 1 ปีครึ่ง รวมแล้วทหารรวมกับอานันท์อยู่ได้ 5 ปี แปลว่าช่วงนี้เจอผู้นำทหารน้อยมาก มาแล้วไปเร็ว เรามีเวลา 21 ปีที่พรรคการเมืองต่างๆ จะแข่งขันกันเป็นรัฐบาล และในช่วงนี้ก็มีนายกฯ พลเรือนจำนวนมาก แต่เราแทบจดจำอะไรเขาไม่ได้เลยนอกจากความรักและความเกลียด

“นักการเมืองไทยถูกทำให้ไม่เป็นที่จดจำ ถูกทำให้เป็นมนุษย์ที่ไร้ตัวตน เป็นบุคคลที่ถูกทำให้มีแต่ภาพด้านลบ”
รวมเวลาของเส้นทางประชาธิปไตยทั้งหมด 84 ปี มีนายกฯ เป็นทหาร 9 คน ตัวแทนทหาร 4 คน ใน 13 คนนี้รวมเวลาปกครอง 55 ปี คิดเป็น 65.5% ของชีวิตประชาธิปไตย ในขณะที่ 29 ปีที่เหลือที่มีนายกฯ พลเรือนก็ขาดวิ่นเป็นช่วงๆ
ช่วงมีนายกฯ พลเรือนดูเหมือนบ้านเมืองวุ่นวาย พอมีนายกฯ ทหารบ้านเมืองดูสงบราบคาบ อะไรคือสิ่งที่ทำให้รัฐทหารของไทยเสถียรและมั่นคงมาก ขอชี้ให้เห็นถึงวิธีการทางอำนาจทหารที่ใช้ในการเข้าสู่อำนาจและรักษาอำนาจ นั่นคือ
1. การรัฐประหารหรือยึดอำนาจ ใน 84 ปีมีการรัฐประหารทั้งหมด 13 ครั้ง เฉลี่ย 6 ปีครึ่งมีการยึดอำนาจ 1 ครั้ง โดยเฉพาะครึ่งหลังช่วงระหว่างปี 2516-ปัจจุบัน รวมเวลา 43 ปีมีรัฐประหารเกิดขึ้น 5 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว 8 ปีต่อครั้ง

โดยรูปแบบที่ผ่านมาเมื่อยึดอำนาจแล้วทหารจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในช่วง 2-3 ปีแรก แต่ช่วงสฤษดิ์และถนอมใช้อำนาจเบ็ดเสร็จนานถึง 10 ปี รัฐทหารไทยเติบโตมาพร้อมกับการปฏิวัติ 2475 ดังนั้น รัฐทหารไทยจึงไม่อาจปฏิเสธข้ออ้างการสร้างประชาธิปไตยได้ รัฐทหารจะกระชับอำนาจอย่างเต็มที่ 2-3 ปีแล้วจะคลายตัวให้คนอื่นมามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ในช่วงปลายๆ ก็จะเริ่มต้นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนแล้วกระชับอำนาจใหม่

“มันคือพฤติกรรมที่ปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นแนวทฤษฎีของการเมืองไทยได้เลย นี่เป็นการอธิบายว่า ท่านอยู่กับอะไร จะได้ไม่เพ้อฝัน และสิ่งนี้ในทางการเมืองเราเรียกว่า วงจรอุบาทว์ ทหารจะต้องกระชับอำนาจของตนเองเป็นระยะๆ”
เวลากระชับอำนาจครั้งหนึ่งทหารจะได้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น เงินเดือนเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นการบำรุงบำเรอให้ทหารมีความสุขในหน่วย

2. รัฐทหารต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมา ตอนนี้กำลังอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อไปสู่รัฐธรรมนูญถาวร ซึ่งเป็นวิธีการรักษาอำนาจอย่างมีจังหวะจะโคน ในยุคของจอมพลสฤษดิ์และถนอม ใช้การสร้างรัฐธรรมนูญกันถึง 10 ปี วิธีการง่ายมาก เนื่องจากพลเรือนนั้นชอบเถียงกันทุกถ้อยคำ ทหารปล่อยให้เถียงเต็มที่ เถียงอยู่ 10 ปีแล้วพอรัฐธรรมนูญจะออก ทหารจะบอกว่าต้องการอะไร ที่เถียงกันมาทิ้งหมด เมื่อเทียบกับปัจจุบัน วิธีการหนึ่งที่เห็นว่าใหม่และเพิ่มเติมขึ้นมา คือ คณะทหารแต่งตั้งคน 2 กลุ่ม คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เราแทบไม่เคยรู้เรื่องของ สนช. เพราะมีสภาอีกอัน คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตั้งพลเรือนฝีปากกล้าอยู่ในนี้เพื่อให้เป็นเป้า ขณะที่ สนช.ไม่มีใครสนใจแต่มีอำนาจจริงและจะสแตมป์ทุกอย่างเพื่อรับรองอำนาจทหาร นี่เป็นกลยุทธ์ใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาได้

วิธีที่ทหารใช้ในครั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วแท้งโดยไม่มีปัญหาใด ร่างฉบับที่สองของมีชัย ฤชุพันธุ์ ก่อนร่างจะเสร็จได้มีข้อเสนอของคณะทหาร 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือให้ ส.ว.มี 250 คนและให้แต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพเข้าไปอยู่ในนั้นโดยตำแหน่ง ถามว่าทำไมไม่เสนอตั้งแต่ฉบับแรก นี่คือยุทธวิธี “อยากได้อะไรเอาไว้ตอนท้าย” ตอนประชามติก็มีคำถามพ่วงท้าย มันเป็นจังหวะค่อยๆ ใส่ทีละเล็กน้อย

“การสร้างรัฐธรรมนูญถาวรเป็นการรักษาอำนาจในแง่ของเวลา ยุทธวิธีพวกนี้เขาใช้มาตั้งนานแล้ว เพราะคณะทหารนั้นเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วไม่เคยบอกว่าตนเองจะจบจากอำนาจเมื่อไร แต่รัฐสภาของพลเรือนนั้นชัดเจนว่ามีอายุ 4 ปีหรือยุบสภาหรือลาออก แต่ทหารนั้นแล้วแต่จังหวะเวลาและแรงบีบ เรียกว่าอยู่ไปวันๆ แต่อยู่ยาว”

ประเด็นต่อมา ในรัฐธรรมนูญถาวร อะไรคือสิ่งที่ทหารต้องการมากที่สุด 1.ทหารต้องการให้ “ทหารหรือข้าราชการประจำเป็นนายกฯ ได้” ส่วนคณะรัฐมนตรี ช่วงจังหวะใดที่ตั้งเพื่อนทหารมาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ก็จะยอมคุมแค่นายกฯ และจะแจกจ่ายตำแหน่งรัฐมนตรีให้ข้าราชการเกษียณทั่วไป จากนั้นค่อยปรับให้ทหารจากเหล่าต่างๆ มาเป็นรัฐมนตรี นี่คือ พรรคการเมืองที่สำคัญที่สุดของประเทศคือ พรรคทหาร ที่มีฐานจากภาษีทุกท่าน 2. ทหารแบ่งสภาเป็นสองส่วน วุฒิสภานั้นต้องการให้ทหารข้าราชการประจำเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ รัฐธรรมนูญก็มีข้อยกเว้นให้ข้าราชการประจำเป็นวุฒิสภาได้ และอยากออกแบบให้วุฒิสภาร่วมอภิปรายและยกมือไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้เพื่อให้วุฒิสภาเป็นหน่วยค้ำจุนสนับสนุนรัฐบาลทหาร
ตอนนี้คำถามพ่วงท้ายประชามติ ทำให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ได้ด้วย นี่เป็นมิติใหม่มาก ทหารสามารถเพิ่มอำนาจตัวเองเพิ่มขึ้นได้มาก ในส่วน ส.ส. ทหารต้องการให้บางจังหวะทหารสร้างพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมาโดย ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อลงเล่นในสนามการเลือกตั้งได้ เช่น จอมพล ป.ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา, จอมพลถนอมสร้างพรรคสหประชาไทย อีกวิธีคือตั้งพรรคการเมืองที่ไม่มีทหารแต่มีเครือข่ายทหารเป็นผู้นำ หรืออีกวิธีคือ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่มีใครกุมเสียงสภาได้เลย ทำให้ต้องยก ผบ.ทบ.ขึ้นเป็นนายกฯ เหตุการณ์นี้เกิดในทศวรรษ 2520 ส่วนในกระบวนการเลือกตั้ง มุ่งเน้นกำจัด ส.ส.และพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามทหาร ในการเลือกตั้งปี 2495 ตอนนั้นทหารให้เลือกตั้งได้แต่มีข้อห้ามคือ 1.ห้ามปราศรัยหาเสียง 2.ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มันก็เหมือนกับประชามติที่ห้ามรณรงค์ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เขาทำมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2495 และต่อมา ทำให้พรรคต่างๆ ไม่มีพละกำลังต่อรอง ทำให้ทหารคุมทั้งวุฒิสภา และคุม ส.ส.ซึ่งเสียงแตก และรัฐบาลในท้ายสุดก็เป็นรัฐบาลทหาร

อีกจุดหนึ่งที่คิดค้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จมาก คือ องค์กรอิสระจากฝ่ายการเมือง ทหารสามารถใช้องค์กรเหล่านี้คุมรัฐบาลพลเรือนได้อย่างดี

จีรนุช เปรมชัยพร-ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์


ปิยบุตรอธิบายการเอารัฐประหารไปใส่ในรธน.

ปิยบุตร กล่าวถึงหลักการโดยทั่วไปของรัฐธรรมนูญว่า มันคือกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างคนในรัฐกับผู้ปกครอง ในอดีตที่มาของรัฐธรรมนูญคนคิดว่ามาจากพระเจ้า ต่อมานั้นมาจากกษัตริย์ และยุคสมัยใหม่ยึดหลักประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญจึงเกิดจากประชาชน ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการทำรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับระบบการเมืองในแต่ละประเทศ รัฐบาลที่มีอายุยาวในไทยคือรัฐบาลที่มาจากทหารทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญที่อายุยาวนานในไทยส่วนใหญ่คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากทหารที่ยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญถาวร ตัวอย่างสำคัญคือธรรมนูญการปกครองของสฤษดิ์ปี 2502 มีอายุยาวถึง 9 ปี

ถามว่าทำไมรัฐธรรมนูญของไทยจึงโดนฉีกบ่อย นั่นเพราะรัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางการเมืองต่างๆ ยกตัวอย่าง ธรรมนูญปกครองสยามปี 2475 ที่ปรีดี พนมยงค์จัดทำขึ้นมา รัชกาลที่7 ก็ได้เติมคำว่า “ชั่วคราว” ทำให้ต้องทำใหม่เป็นฉบับ 10 ธ.ค.2475 นั่นสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่พลังการเมืองสองฝ่ายไม่ชนะขาด และการต่อรองนั้นเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของการอภิวัฒน์เลย จนตกลงกันได้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาซึ่งต่างจากฉบับแรกโดยเพิ่มพระราชอำนาจให้กษัตริย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงกระดาษ เมื่อหลุดจากมือคนร่างก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เล่นฝ่ายต่างๆ ที่เอารัฐธรรมนูญไปใช้ 1 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการสู้กันของสองฝ่าย รัชกาลที่ 7 อยากวีโต้กฎหมายหลายฉบับ แต่รัฐบาลบอกว่าทำไม่ได้เพราะผิดหลัก ทำให้นำมาสู่การสละราชสมบัติ และพอคณะราษฎรเริ่มแตกกันก็ยิ่งแย่ แต่สถานการณ์ก็หยุดลงชั่วคราวเพราะสงครามโลก จนเมื่อสงครามสิ้นสุด มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นฉบับที่ 3 ในปี 2489 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก เข้าใจว่าปรีดีอยากทำใหม่เพราะต้องการแก้มือจากฉบับ 10 ธันวาเนื่องจากตอนนั้นคณะกรรมการร่างเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหมด มีเขาเป็นฝ่ายก้าวหน้าเพียงคนเดียว แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันว่าทำไมไม่แก้ฉบับ 10 ธันวา อย่างไรก็ตาม อายุของรัฐธรรมนูญ 2489 ก็สั้นมาก ซึ่งสัมพันธ์กับการสวรรคตของในหลวงอานันท์ ในปี 2490 ก็มีรัฐประหารเป็นจังหวะอันดีที่จะล้มกลุ่มของปรีดี จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญกลายเป็นเดิมพันของสองฝ่ายที่สู้กัน คนชนะจะไปกำหนดรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เมืองไทยไม่สู้แบบอารยะ ใช้กระบวนการนอกรัฐธรรมนูญมาทำลายรัฐธรรมนูญแล้วกำหนดรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง

หากพิจารณารัฐประหารเราจะพบว่าแต่ละครั้งมีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกัน บางคณะอยากอยู่สั้น บางคณะอยากอยู่ยาว คณะที่อยากอยู่สั้นคือ ปี 2549 ส่วนที่อยากอยู่ยาวคือ สฤษดิ์ อยู่ยาวถึง 16 ปี, ธานินทร์ มีแผน 12 ปีเพื่อปฏิรูปประเทศ แต่อยู่ได้ปีเดียว, คสช. ไม่เคยพูดแต่วิธีการนั้นใช่ว่าจะอยู่ยาว

แล้วมีเหตุอะไรที่ทำให้อยากอยู่ยาว ในปี 2500-2516 มีอะไรมาท้าทายพลังกลุ่มของเขา มีอะไรอันตรายต่อชนชั้นนำจารีตประเพณี ในสมัยธานินทร์นั้นอยากสู้กับคอมมิวนิสต์ชัดเจน ในยุค พล.อ.ประยุทธ์มีอะไรเป็นเรื่องท้าทาย ขอให้ผู้ฟังพิจารณากันเอง

รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารทุกครั้งต้องสนองวัตถุประสงค์ของรัฐประหาร สำหรับฉบับนี้กล่าวโดยย่อ เป็นการลดทอนอำนาจประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งเพื่อเลือกรัฐบาลตัวเอง รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะอ่อนแอ คนมาจากการเลือกตั้งจะเป็น เพียงหน้ากาก เป็นเสื้อผ้าอาภรณ์เพื่อบอกโลกว่าประเทศไทยมีเลือกตั้ง แต่คนที่ได้รับเลือกตั้งจะไม่มีอำนาจอะไรเลย แล้วเพิ่มอำนาจให้รัฐทหาร รัฐราชการ ผ่านกลไกต่างๆ ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ฯลฯ เราจะนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปปี 2520

“การทำรัฐประหารในศตวรรษที่ 21 น่าอับอายมาก จึงต้องเอารัฐประหารที่ดูไม่สวยงามนั้นไปใส่ในรัฐธรรมนูญ ต่อไปนี้ถ้าเกิดวิกฤตอะไร รัฐธรมนูญจะให้งดเว้นบางมาตราในรัฐธรรมนูญโดยรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ทำ เช่น เกิดวิกฤตหาทางออกไม่ได้ อย่างเกิดการปิดถนนชุมนุม รัฐธรรมนูญใหม่มีกลไกแก้โดยทหารไม่ต้องออกมาทำรัฐประหารโดยให้มีกรรมการพิเศษ มีที่ประชุมร่วมชี้ขาดว่าจะเอายังไง สิ่งที่เคยผิดรัฐธรรมนูญก็จะถูกรัฐธรรมนูญทั้งหมดเพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว องค์กรที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตนอกจากกองทัพ ต่อไปคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะดูศิวิไลซ์กว่าให้ทหารทำ”

ในเรื่องประชามติ จะขอพูดถึงกระบวนการและผลประชามติ เรื่องกระบวนการ ประชามติที่เป็นสากลได้มาตรฐานประชาธิปไตย มีเงื่อนไขของมันอยู่ ฟรี และ แฟร์ ทั้งนี้ ฟรีคือเป็นอิสระ สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิของทุกคนที่จะได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญหน้าตาเป็นอย่างไร ฝ่ายเห็นด้วยและเห็นแย้งแสดงความเห็นเต็มที่หรือมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูด ชุมนุม เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน ส่วนแฟร์คือเป็นธรรม เป็นธรรมในการเลือก ทางเลือกมี yes, no, no vote คนที่ไปโหวตเยสต้องรู้ว่าได้อะไรตามมา นั่นตอบง่ายก็คือได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนโหวตโนรู้ไหมว่าได้อะไรตามมา มันไม่รู้เลยที่ผ่านมา การรณรงค์ทั้งหมดต้องเต็มที่เสมอกัน แต่ประชามติที่ผ่านมาไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการใช้เสียงประชาชนเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้อำนาจตัวเอง แต่เสียงประชาชนไม่สะท้อนความเป็นจริงเพราะไม่ได้เปิดอย่างฟรีและแฟร์

ผลของประชามติ มีผู้ออกใช้สิทธิ 55% สัดส่วนรับต่อไม่รับคือ 60:40 ไม่ค่อยต่างจากปี 2550 แต่ถ้าคิดจากฐานประชากรทั้งประเทศ มีจำนวนเพียง 30% ของประชาชนทั้งประเทศ และเหตุผลที่คน 16 ล้านคนรับร่าง คิดว่า คนจำนวนมากอยากเลือกตั้งให้เข้าสู่ระบบปกติ นักการเมืองท้องถิ่นอยากเลือกตั้งเร็ว ซึ่งเป็นความเหนื่อยหน่ายของประชาชนที่ผ่านการต่อสู้มายาวนาน ยกตัวอย่างฝรั่งเศสซึ่งต่อสู้กันมานานมาระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐนิยมและกษัตริย์นิยม ทำให้ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนรับ หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นผู้ปกครอง ทั้งที่คนฝรั่งเศสฉลาดมาก นั่นเป็นคนฝรั่งเศสช่วงนั้นคือ “ชาวฝรั่งเศสที่อ่อนล้า” และยินดีที่จะให้เผด็จการยึดครองเพื่อความสงบ

เรื่องอนาคต จะพูดถึง 4 อย่าง คือ
1. รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งกำหนดวิธีการแก้ไว้ยากมาก ยืนยันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากที่สุดในโลก และไม่มีทางแก้ได้ในทางปฏิบัติ ถ้ามีคนอยากแก้แต่แก้ไม่ได้ในความเป็นจริงก็จะเกิดวิกฤต

“กระบวนการไม่อนุญาตให้แก้ก็ต้องแก้นอกกระบวนการรัฐธรรมนูญ มันต้องถูกฉีกแน่นอน ไม่รู้เมื่อไร เหลือแต่ว่าจะถูกฉีกโดยกองทัพ หรือมือและตีนของประชาชน ซึ่งอย่างหลังยังไม่เคยเกิดขึ้น”

2. ความขัดแย้ง จากความขัดแย้งในรูปกฎหมายจะกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ที่ผ่านมาเราเถียงกันในเชิงประเด็นทางกฎหมายกันเยอะมาก แต่ผลจากรัฐธรรมนูญใหม่ทำให้เราไม่ได้เถียงในเชิงกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญใหม่เขียนเอาไว้หมดแล้ว มันจะกลายเป็นการยกระดับให้กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองแทน พลังของกฎหมายจะแก้ปัญหาไม่ได้อีกต่อไป เมื่อก่อนสู้ในกรอบรัฐธรรมนูญแต่อนาคตจะไม่อยู่ในกรอบแล้วเพราะกรอบไม่อนุญาตให้สู้ ความขัดแย้งว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จะหายไป จะกลายเป็นความชอบธรรมของระบอบการปกครองแทน

3. ขบวนการหรือพลังทางการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยจะเปลี่ยนรูปมากขึ้น จะไม่ผูกกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่กระจายเป็นเน็ตเวิร์ก มีความแตกต่างหลากหลายแต่มีจุดร่วมกันคือ อยากให้เป็นประชาธิปไตยเสียที

4. เราจะเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ และเกิดขึ้นอย่างไร การเปลี่ยนผ่านของประเทศต่างๆ มีสองแบบ คือ ปฏิรูปกับปฏิวัติ การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ผู้ทรงอำนาจเผด็จการในเวลานั้นต้องยินยอมให้เปลี่ยนแล้วนำสู่การเจรจา ส่วนการปฏิวัติเกิดจากฝ่ายเผด็จการกดขี่ปราบปรามหนักขึ้นๆ ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนก็เปลี่ยนทั้งกระดานกรณีของไทยตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นไร จะเป็นปฏิรูปหรือปฏิวัติ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในเวลานี้ว่าจะมีสายตายาวแค่ไหน

จีรนุชระบุ ประชามติ-รัฐธรรมนูญเทียม ไม่มีอนาคต

จีรนุช ระบุว่า เพื่อนฝรั่งที่ติดตามสถานการณ์เมืองไทยมานานให้นิยามว่าที่ผ่านมาคือ fake constitution, fake referendum and no future (รัฐธรรมนูญปลอม ประชามติปลอม และไม่มีอนาคต) นอกจากนี้เธอยังหยิบยกกฎบัตรแมคนาคาร์ตาของอังกฤษเมื่อ 800 ปีก่อนที่อาจนับได้ว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในสมัยพระเจ้าจอห์น เป็นรัฐธรรมนูญแรกของอังกฤษ แม้อังกฤษจะไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้มันยังเป็นต้นทางของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็อ้างอิงไปถึงกฎหมายนี้ด้วย แมคนาคาร์ตาเกิดขึ้นจากการที่เหล่าขุนนางลุกขึ้นมาร่วมกันจำกัดอำนาจกษัตริย์ที่ขูดรีดเอาเปรียบอย่างมาก ในกฎบัตรดังกล่าวมีเรื่องการพูดถึงสิทธิที่เท่าเทียมเสมอกันต่อหน้ากฎหมายและจะลงโทษใครไม่ได้หากไม่ได้ถูกพิพากษาโดยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นยังมีคนบางส่วนที่ไม่ได้ถูกนับเป็น free man

ส่วนในสวีเดน ก็มีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 1766 ซึ่งพูดเรื่องเสรีภาพสื่อเป็นฉบับแรกของโลก และฉลองครบ 250 ปีในปีนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ในสวีเดนมีกษัตริย์และมีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกัน กษัตริย์บางองค์ก็ไม่ค่อยพอใจบทบาทของหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์และล้อเลียนสถาบันจึงพยายามจะให้มีกฎหมายเซ็นเซอร์ แต่กลุ่มสื่อได้ต่อรองต่อสู้จนมีบทบัญญัติเรื่องนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสืบมาจนปัจจุบัน
“รัฐธรรมนูญที่ไหนก็ตาม เกิดขึ้นบนการต่อรองเพื่อการจัดการความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ แต่รัฐธรรมนูญไทยอายุสั้น ไม่มีโอกาสได้ต่อรองและจัดการกับอำนาจ แต่การต่อสู้ไม่เหมือนในหนังที่ม้วนเดียวจบ บางทีมันต้องการความต่อเนื่อง”

ส่วนเรื่องประชามตินั้น หากเราเปรียบรัฐประหารเหมือนการข่มขืน ประชามติก็เหมือนกับการบังคับแต่งงาน โดยขันหมากก็ไม่ให้ดูว่ามีอะไรบ้าง จึงอยากเรียกมันว่าประชามัดติดมากกว่า ไม่ใช่ free and fair (เสรีและเป็นธรรม) แต่เป็น fake and fear referendum (ประชามติแห่งความกลัวและจอมปลอม) นอกจากนี้ยังหยิบยกสิ่งตกค้างที่เกิดขึ้นในช่วงประชามตินั่นคือ การดำเนินคดีกับคนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นธรรมดา เช่น กรณีของไผ่ ดาวดิน กรณีของโตโต้ที่แสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับโดยการฉีกบัตรประชามติ หรือคดีที่เกิดขึ้นกับนักการเมือง นักกิจกรรมจำนวนมากที่พยายามรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจยอมรับได้ว่านี่คือประชามติที่ชอบธรรม

แอบปล่อย 'ศักรินทร์' ผู้ต้องสงสัยเผาโลตัสนครศรีฯ เจ้าตัวขอกลับบ้านบวชล้างซวย 7 วัน


19 ส.ค. 2559 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า ทางตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ปล่อยตัว ศักรินทร์ คฤหัสถ์ อายุ 32 ปี ชาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ผู้ต้องสงสัยในคดีวางเพลิงเผาห้างเทสโก้โลตัส สาขานครศรีธรรมราช เมื่อคืนวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา และตำรวจปล่อยตัวในคืนวันที่ 18 ส.ค. โดยซื้อตั๋วเครื่องบินจากนครศรีธรรมราช-ดอนเมือง แล้วซื้อตั๋วต่อเครื่องไปยังสนามบินนานาชาติเชียงใหม่
โดยมีการจัดกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบไปส่งนายศักรินทร์ ถึงสนามบินนครศรีธรรมราช แบบเงียบๆ ไม่มีใครรู้ และรายงานข่าวแจ้งว่าหลังได้รับการปล่อยตัว ศักรินทร์ ก็เดินทางกลับบ้านเกิดที่  อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ ศักรินทร์ได้รับอิสรภาพโดยสิ้นเชิง หลังจากนั้น ศักรินทร์ บอกกับตำรวจชุดคลี่คลายคดีว่า อาจจะบวชพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาว เพื่อล้างซวยที่บ้านเกิด 7 วัน แต่ต้องปรึกษาญาติก่อนว่าจะบวชกันที่วัดไหน หลังจากนั้นจะกลับไปทำงานตามเดิม
ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า ในส่วนของการคลี่คลายคดีล่าคนร้ายที่วางเพลิงเผาห้างเทสโก้โลตัสนครศรีธรรมราช ในภาพจากกล้องวงจรปิดคาดว่า น่าจะหลบหนีออกนอกพื้นที่ไปแล้ว ซึ่งทางตำรวจชุดกองปราบปราม และกก.สส.ภาค 8 ประสานกับตำรวจทุกส่วนรวมทั้งภาค 9 เร่งไล่ล่าติดตามผู้ต้องสงสัยแล้ว ในส่วนของสำนวนคดีเผาห้างเทสโก้โลตัส ชุดคลี่คลายคดีนี้ โดยสภ.เมืองจะนำขึ้นกทม.ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อมอบให้กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เพื่อรวมสำนวนกับคดีอื่นๆ ในการติดตามคนร้ายต่อไป

ตร.ย้ำ ขอหมายจับคดีระเบิดและไฟไหม้ใต้เพียง 1 คน

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ำว่า ตำรวจขอหมายจับผู้ต้องหาคดีระเบิดและเพลิงไหม้ 7 จังหวัดภาคใต้ เพียง 1 คน คือ อาหะมะ เลงหะ ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด และยังไม่พบว่าหนีออกนอกประเทศ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเพิ่มความเข้มงวดตรวจตราตามช่องทางต่างๆ พร้อมประสานไปยังประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังเส้นทางหลบหนีของคนร้ายตั้งแต่หลังเกิดเหตุแล้ว ขณะเดียวกัน จะตรวจสอบว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย หรือ นปป.17 คน ซึ่งถูกศาลทหารออกหมายจับในข้อหา อั้งยี่ ซ่องโจร และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไปหรือไม่ แม้ยังไม่พบว่ากลุ่มนี้ เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดก็ตาม ที่มีการเผยแพร่ภาพผู้ต้องสงสัย 3 คน ในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงภาพต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยเท่านั้น โดยยังไม่มีการขอหมายจับผู้ใดเพิ่มเติม เนื่องจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นย้ำเรื่องการขอหมายจับ ต้องเป็นไปอย่างรัดกุมและรอบคอบ

ยูเอ็นเรียกร้องยุติข้อหา-ปล่อยนักกิจกรรมกรณีประชามติ รธน.


19 ส.ค. 2559 ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย พร้อมเรียกร้องให้กลับสู่หลักการของพลเมืองโดยทันที
แถลงการณ์ระบุว่า นับแต่รัฐประหาร เมื่อเดือนพ.ค. 2557 มีข้อจำกัดร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความเห็นรวมถึงเสรีภาพในการรวมตัว ผ่านการใช้กฎหมายและคำสั่งทางอาญาและของกองทัพ
จนถึงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนนี้ มาตรการเหล่านี้ก็เพิ่มสูงขึ้น รวมแล้ว มีคนไม่ต่ำกว่า 1,300 คนถูกเรียกรายงานตัว ถูกจับ หรือถูกตั้งข้อหา และมีพลเมือง 1,629 รายต้องขึ้นศาลทหาร
ตั้งแต่มิ.ย. มีประชาชนอย่างน้อย 115 คนถูกจับกุมหรือตั้งข้อหาตามคำสั่งของกองทัพ กฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ประชามติ จากการแสดงออกซึ่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ หรือจากการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการทรมาน
มีคน 12 คนถูกจับที่เชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนก.ค. และมีนักกิจกรรมนักศึกษาถูกจับกุม เมื่อ 6 ส.ค. ยังคงถูกควบคุมตัว ทั้งนี้ มีบางส่วนถูกปล่อยตัวแต่ยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวนหรือถูกตั้งข้อหา
"เราเรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการตั้งข้อหาต่อนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที รวมถึงปล่อยผู้เห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคุมขังด้วย" แถลงการณ์ระบุและเรียกร้องต่อทางการไทยให้หยุดการใช้ศาลทหารและคำสั่งของกองทัพต่อพลเรือน โดยชี้ว่ามาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย เพื่อที่ก้าวไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา ตามโรดแมปของรัฐบาลทหารเอง

"การเลือกตั้งในปีหน้าเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะตอบสนองคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในช่วงที่มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (ยูพีอาร์) เมื่อเดือน พ.ค. 2559 ว่าจะเคารพเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงรับประกันว่าจะมีกระบวนการมีส่วนร่วมที่นับรวมคนทุกกลุ่ม รวมถึงพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และสื่อ ในสภาวะที่เปิดกว้างและปราศจากการคุกคาม