วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สื่อต่างชาติวิจารณ์ประชามติปิดกั้น-เผยแชทไลน์โฆษก รบ. อัดมหาอำนาจแทรกแซงไทย


ดิอินดิเพนเดนต์ รายงานว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยในไทยอย่างไร และการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นช่วงก่อนลงประชามติทำให้คนมองไม่เห็นหลุมพรางของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องที่รองโฆษกสำนักนายกฯ ส่งข้อความทางไลน์ให้กับนักข่าวต่างประเทศอ้างการลงประชามติของพวกเขาโปร่งใส
สื่อต่างประเทศ ดิอินดิเพนเดนต์ รายงานเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดว่า "ชาวไทยโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเผด็จการทหารหนุนหลัง" ซึงเป็นรัฐธรรมนูญที่กองทัพคอยควบคุมและแต่งตั้งแทนการเลือกตั้งเข้ามา ดิอินดิเพนเดนต์ระบุอีกว่ากลุ่มคนที่โค่นล้มอดีตนายกฯ ทักษิณ ในตอนนี้พยายามทำให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ อ่อนแรงลง เพื่อทำให้แน่ใจว่าตัวพวกเขาเองจะคงอำนาจไว้ได้ภายใต้ระบอบราชการถาวรแบบที่มีกองทัพ ศาล และกลุ่มผู้ปกครองสายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ดิอินดิเพนเดนต์ รายงานว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนโหวตรับน่าจะเป็นเพราะมีการล่อลวงด้วยเรื่องเสถียรภาพ และถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานเรื่องการโกงการเลือกตั้งในระดับกระบวนการแต่ฝ่ายโหวต "ไม่รับ" ถูกปฏิเสธโอกาสไม่ให้สามารถนำเสนอความคิดเห็นฝ่ายตัวเองได้รวมถึงการวางข้อห้ามต่างๆ ช่วงก่อนการลงประชามติ เช่นการห้ามชุมนุมทางการเมือง การรณรงค์อย่างเสรี รวมถึงการถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญทำให้นักวิจารณ์มองว่าข้อห้ามเหล่านี้อาจจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่วิตกกังวลและมองไม่เห็นหลุมพรางของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
นอกจากนี้เจอโรม เทยเลอร์ ผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอเอฟพียังเปิดเผยในทวิตเตอร์ของตัวเองว่าเขาได้รับข้อความจากไลน์ของ พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายคนระบุว่า "รัฐบาลได้รับฟังเสียงของประชาชนทุกคนแล้วไม่ว่าท่านจะออกมาใช้สิทธิหรือไม่ก็ตาม"
ข้อความดังกล่าวยังระบุต่อไปว่ารัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องจัดประชามติครั้งนี้ก็ได้แต่ทำไปด้วยความสมัครใจจากนโยบายเน้นประชาชนและมีการดำเนินการที่ "เปิดกว้าง" และ "โปร่งใส" โดยที่รัฐบาลจะเดินหน้าตามโรดแมปเพื่อการ "ปฏิรูปการเมือง" เพื่อ "ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง" ต่อไป
ข้อความจากรองโฆษกรัฐบาลที่ไม่ใช่คำแถลงอย่างเป็นทางการยังระบุตอบโต้รายงานข่าวเกี่ยวกับ "การแทรกแซง" ของต่างประเทศโดยอ้างว่าพวกเขาผิดหวังที่มี "การแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสม" จากต่างชาติในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ละเอียดอ่อน ข้อความระบุต่อไปว่า "การแทรกแซง" ดังกล่าวมาจากกลุ่มที่อ้างเป็น "เพื่อน" กับไทย
โดยที่เทย์เลอร์ระบุพร้อมกับข้อความนี้ในทวิตเตอร์ของเขาว่าข้อความนี้พวกเขาได้รับมาหลังจากเพิ่งมีผลการลงประชามติดูเหมือนจะเป็นข้อความที่ต้องการโต้กลับการวิจารณ์ของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ
เรียบเรียงจาก
Thailand votes by public referendum - to make its government even less accountable to the people, The Independent, 07-08-2016 http://www.independent.co.uk/news/world/asia/thailand-votes-by-public-referendum-to-make-its-government-even-less-accountable-to-the-people-a7177526.html
ทวิตเตอร์ของ Jerome Taylor https://twitter.com/JeromeTaylor

ให้ประกันตัว ปิยรัฐ จงเทพ หลังฉีกบัตรประชามติ โดน 4 ข้อหา เพื่อนอีกสองคนโดนด้วย


ตำรวจ สน.บางนา ให้ประกันโตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ หลังฉีกบัตรลงประชามติ โดน 4 ข้อกล่าวหา  แต่เพื่อนอีกสองคนโดนแจ้งข้อกล่าวหาด้วย เหตุถ่ายคลิป ล่าสุดได้ประกันตัว
7 ส.ค. 2559 เวลา 22.40 น. ที่ สน.บางนา เจ้าหน้าตำรวจกำลังทำการสอบสวน พร้อมแจ้งข้อกล่าว โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ, จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ หลัง โต้โต ได้ฉีกบัตรเลือกลงคะแนนเสียงประชามติ ที่หน่วยลงคะแนนเสียงประชามติ สำนักงานเขตบางนา
โดย โตโต้ ปิยรัฐ ถูกแจ้งข้อกล่าวทั้งหมด 4 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วยความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 59 มาตรา 60 (9) และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 และมาตรา 358 โดยขณะนี้ได้รับการให้ประกันตัวแล้ว โดยยื่นหลักทรัพย์ 20,000 บาท
ขณะที่ จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัตร และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ถูกเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาด้วย ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 60 (9) โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าทั้งสองคนอยู่ในเหตุการณ์ และถ่ายคลิปขณะที่ปิยรัฐเดินออกจากคูหามาฉีกบัตร โดยขณะนี้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กำลังยื่นขอประกันตัว
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2559 เวลา 03.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อนุญาติให้ประกัน จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัตร และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 10,000 บาท

เอฟทีเอ ว็อทช์ห่วงร่าง รธน.ฉบับใหม่-ไม่เอื้อธรรมาภิบาลเรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ


เอฟทีเอ ว็อทช์ออกแถลงการณ์หลังผลประชามติ ห่วงเนื้อหารัฐธรรมนูญ เรื่องทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศสุดล้าหลัง ดึงอำนาจการตัดสินใจไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน "หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเอแบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจายสิ่งเหล่านี้ จะหวนกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้"
วันนี้ (8 ส.ค.) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)  ออกแถลงการณ์ "เมื่อทุนรัฐทหารสบคบ รัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล ภาคประชาชนมุ่งมั่นเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มความเข้มข้น" มีรายละเอียดดังนี้
ที่มาของภาพประกอบ: เพจเอฟทีเอว็อทช์
แถลงการณ์เอฟทีเอว็อทช์: เมื่อทุนรัฐทหารสบคบ รัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล ภาคประชาชนมุ่งมั่นเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มความเข้มข้น
เอฟทีเอ ว็อทช์ยอมรับผลการลงประชามติที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยเสียง 61% แม้จะมีผู้ไปใช้สิทธิ์ต่ำมากเพียงแค่ 54% ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เปิดกว้างและปราศจากการถกแถลงในวิถีประชาธิปไตย
เอฟทีเอ ว็อทช์เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
มีเนื้อหารัฐธรรมนูญในส่วนของการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยดึงอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดเนื้อหาเชิงกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นยังเปลี่ยนการเยียวยาที่รวดเร็ว เหมาะสม เป็นธรรม เป็นแค่การเยียวยาเท่าที่จำเป็นโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น นอกจากนี้ เดิมจะต้องมีงานวิจัยรองรับการเจรจา แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนการเจรจาและไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่รัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบการเจรจา งานวิจัยจึงอาจจะถูกตัดทิ้งไปในที่สุด
จากนี้เราจะเห็นความน่ากลัวอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากเทียบเนื้อหาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความน่ากลัวน้อยกว่านี้ ความก้าวร้าวในเชิงเนื้อหาไม่มากเท่านี้ ฉะนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไปไม่ทันโลก
“หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเอแบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจายสิ่งเหล่านี้ จะหวนกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้”
การตัดขั้นตอนธรรมาภิบาลออกไปเป็นความพยายามชนชั้นนำไทยไม่ว่าภาคธุรกิจหรือภาคราชการ นับตั้งแต่มาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถือกำเนิดขึ้นมา
ตลอดชีวิตของมาตรา 190 ได้ก่อให้เกิดคุณูปการมากมายต่อประเทศไทย ได้วางรากฐานกระบวนการการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ดี แต่ขณะเดียวกัน มาตรานี้ ก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม ดูเหมือนผู้มีอำนาจปัจจุบันจะมองเห็นเพียงประโยชน์อย่างหลัง ณ นาทีนี้ กระบวนการที่ดีและมีธรรมาภิบาลและเป็นประชาธิปไตยจึงถูกกำจัดทิ้ง
ย้ำอีกครั้ง กระบวนการธรรมาภิบาลซึ่งประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้สร้างความขัดแย้งหรือความเกลียดชังทางการเมืองแต่อย่างใด และไม่ได้ลดประสิทธิภาพการเจรจา ดังนั้น การกำจัดหลักการเหล่านี้ออกไป จึงเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
เอฟทีเอ ว็อทช์ ก็เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทางสังคมอื่นๆที่เผชิญความยากลำบากในการอธิบายเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้สาธารณชนได้รับทราบ ก่อนหน้าการลงประชามติ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ในการถกแถลงที่เปิดกว้าง อีกทั้งสังคมยังตกอยู่ในความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาทดท้อหรือถอดใจในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะและสร้างธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบกับประชาชน แน่นอนว่า เราจะเผชิญความยากลำบาก แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยง่าย ครั้งหนึ่งทุนเคยจับมือนักการเมือง-ข้าราชการในการแสวงประโยชน์ในนาม 'ผลประโยชน์ของประเทศ' แต่ปัจจุบันพวกเขาได้รับการเสริมกำลังจากชนชั้นนำและขุนทหาร
พวกเราจะพยายามอย่างสร้างสรรค์ที่จะนำหลักการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมกลับมาสู่การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ เราจะยืนหยัดสร้างเสรีภาพและขยายพื้นที่แสดงออกของเราไว้ให้ได้แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันมากมายแค่ไหนก็ตาม เราจะยิ่งมุ่งมั่นในการทำข้อมูลความรู้เพื่อตรวจสอบนโยบายรัฐ เพื่อไม่ให้ผลได้กระจุกตัวแต่ในกลุ่มทุนชนชั้นนำ แล้วปล่อยให้สาธารณชนไทยแบกรับผลเสียอีกต่อไป
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
(เอฟทีเอ ว็อทช์)
8 ส.ค.59

ยิ่งลักษณ์เสียดายประเทศถอยหลังใช้ รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตย-อภิสิทธิ์ย้ำ ปชป.ไม่แตกแยก

ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊คยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้อบรับการตัดสินใจประชาชน แต่ไม่แปลกใจผลประชามติเพราะไม่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญเต็มที่ เสียใจและเสียดายที่ประเทศถอยหลังไปใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย้ำจุดยืนเดิมไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ แต่ขอทุกฝ่ายยอมรับผลประชามติ เชื่อมั่นประชาธิปัตย์พรรคไม่แตก เพราะผลประชามติ
วันนี้ (8 ส.ค.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คหลังผลประชามติ มีรายละเอียดดังนี้
"ก่อนอื่นดิฉันขอน้อมรับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับผลประชามติในครั้งนี้ แต่ขอแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า
1. ไม่แปลกใจกับผลประชามติเพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เสมือนเป็นการรับฝ่ายเดียวและต่างจากการทำประชามติครั้งอื่นและที่ประเทศทั่วโลกเขาทำกัน
2. ไม่เสียดายที่ได้ทำหน้าที่พลเมืองคนหนึ่งตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยในการไปใช้สิทธิลงประชามติแม้จะเป็นเสียงส่วนน้อยก็ตาม
3. แต่เสียใจและเสียดายกับประเทศที่กำลังจะก้าวถอยหลังไปใช้รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
8 สิงหาคม 2559"

อภิสิทธิ์ยอมรับผลประชามติ แต่ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน. - ยืนยันพรรค ปชป. ไม่แตกแยก
ขณะที่สำนักข่าวไทย รายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงของ สนช. ว่า ตนไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืน แต่คงต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน ที่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป ดังนั้นทางพรรคก็จะรับเรื่องนี้ เพื่อเดินหน้าสู่กระบวรการเลือกตั้ง แม้จะแสดงจุดยืนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ แต่เป็นเรื่องของการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น  ไม่เกี่ยวกับเรื่องระบบการเลือกตั้ง แต่ขึ้นอยู่กับว่า คสช. จะผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้มากน้อยแค่ไหน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ขอทุกฝ่ายยอมรับผลการทำประชามติ  และในส่วนของพรรคการเมืองทุกพรรค ก็ต้องกลับไปทบทวนว่าผลของการทำประชามติครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งของประเทศ  ส่วน คสช. ก็ต้องให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อยที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ ยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
"ไม่กังวลผลการทำประชามติ ที่จะสะท้อนกับฐานเสียงภาคใต้ของพรรค  เพราะการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่การเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นเรื่องของพรรค หรือกลุ่มการเมือง และคะแนนจะคล้ายกับการทำประชามติปี 2550 ซึ่งเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งพรรคที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้ ส่วนความขัดแย้งภายในพรรคนั้น ผู้บริหารและสมาชิกพรรคต้องช่วยกันทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน และเชื่อถือในอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งผลการลงประชามติ ไม่ได้ทำให้พรรคแตก จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าจะต้องรอดูว่ากรธ.จะปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติอย่างไร แล้วจึงจะจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคพร้อมให้ข้อมูล

‘ไผ่’ นศ.ขอนแก่นไม่ประกันตัวพร้อมอดอาหาร หลังศาลอนุมัติฝากขังกรณีแจกเอกสารค้าน รธน.


ภาพจากเฟซบุ๊กอานนท์ นำภา ที่สภ.ภูเขียว วันที่ 6 ส.ค.2559

ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ถูกจับกุมตาม พ.ร.บ.ประชามติ จากการแจกเอกสารค้านร่างรธน.ตัดสินใจไม่ประกันตัว ยืนยันสิ่งที่ทำถูกต้อง ต้องการพิสูจน์ความล้มเหลวของกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ส่วนเพื่อนที่ถูกจับด้วยกันยื่นประกันเพราะติดภาระทางการศึกษา หลักทรัยพ์ 1.5 แสน


ภายหลังศาลอนุมัติฝากขัง และไผ่ จตุภัทร์ ไม่ประกันตัว นักศึกษา 5 คนจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน
อ่านแถลงการณ์ขอโทษต่อคนรุ่นหลัง ซึ่งจตุภัทร์และวศิณ ผู้ต้องหาจาก พ.ร.บ.ประชามติ
เขียนขึ้นระหว่างถูกขังที่คุกสภ.ภูเขียว
ยืนยันเคารพเสียงของประชาชนแต่ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ 
8 ส.ค.2559 เมื่อเวลา 12.35 น.ห้องเวรชี้ ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ศาลได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วัย 25 ปี และนายวศิน พรหมมณี นักศึกษามหาวิทยาลัยสุรนารี วัย 20 ปี ผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหา "ร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออีเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่น ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ปลุกระดม หยาบคาย หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงและความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ตาม พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่ 25/2549 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน1,000 บาท
ในห้องพิจารณาคดีได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนโดยมีแผ่นอะครีลิกหนากั้นกลางระหว่างผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี  ผู้ต้องหา  ผู้พิพากษา,พยาน,ทนาย และในระหว่างการไต่สวนผู้เข้าร่วมรับฟังสามารถได้ยินแต่เสียงของผู้พิพากษาที่พูดผ่านไมโครโฟนเท่านั้นโดยที่ไม่สามารถได้ยินเสียงของโจทก์ ผู้ต้องหาหรือทนายความได้เลย
หลังการพิจารณาคดี วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์และทนายความ ได้เล่าถึงกระบวนการในการพิจารณาคดีว่า ร.ต.อ.รังสรรค์ เอี่ยมไธสง พนักงานสอบสวนได้ร้องต่อศาลขอฝากขังผู้ต้องขังทั้งสองโดยให้เหตุผลว่ายังต้องมีการสอบพยานอีก 4 ปาก คดีมีอัตราโทษสูงเกรงว่าผู้ต้องขังจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายประการอื่น นายจตุภัทร์และนายวศินได้แย้งเหตุผลของพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหาทั้งสองอยู่ในระหว่างการศึกษา มีครอบครัวและที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่มีเหตุที่จะหลบหนีคดีทางการเมืองในลักษณะนี้ ศาลฟังคำร้องของพนักงานสอบสวนและคำคัดค้านฝากขังของผู้ต้องหาทั้งสองพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหามีโทษทางอาญาอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนีจึงอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของเจ้าพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันที่ 12-19 ส.ค.2559 หลังจากศาลถามต่อว่าผู้ต้องหามีข้อข้องใจตรงไหนหรือไม่ นายวศินยืนขึ้นกล่าวว่าตนประสงค์ขอประกันตัว จากนั้นนายจตุภัทร์แสดงความประสงค์ไม่ขอประกัน ศาลกล่าวว่า ก็แล้วแต่ แล้วลุกออกจากบัลลังก์
วิบูลย์ กล่าวว่า เดิมผู้ต้องขังทั้งสองคนยืนยันที่จะไม่ประกันตัวและจะอดอาหาร แต่นายจตุภัทร์ได้ขอให้นายวศินประกันตัวเพื่อที่จะได้ออกไปศึกษาต่อ โดยญาติของวศิณได้ยื่นหลักทรัพย์ 150,000 บาทและศาลอนุญาตให้ประกันตัว  ส่วนเหตุผลที่นายจตุภัทร์ยืนยันไม่ขอประกันเนื่องจากต้องการยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งถูกต้อง และต้องการพิสูจน์ความล้มเหลวของกระบวนการทางกฎหมายและและกระบวนการยุติธรรม โดยนอกจากการไม่ประกันตัวแล้ว นายจตุภัทร์จะทำการอดอาหารประท้วงจากการจับกุมและกระบวนการดำเนินคดีด้วย
ทั้งนี้ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เริ่มอดอาหารมาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. เวลา 10.00 น.
วศิน พรหมณี หรือ ปาล์ม เล่าเหตุการณ์ในการไปเดินแจกเอกสารของ NDM ในตลาดสดเทศบาลชุมแพจนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมว่า ตนเองกลับมาภูเขียวเพื่อลงประชามติ ก่อนหน้านี้ ไปไหนมาไหนก็มีคนถามบ่อยๆ ว่า รัฐธรรมนูญนี้มีอะไรบ้าง เมื่อไผ่มาชวนจึงอยากทำกิจกรรมให้ข้อมูลประชาชนได้รู้ข้อมูลเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวก็เห็นว่าข้อมูลที่จะไปแจกจ่ายเป็นความจริง ตอนเราไปแจกก็ไม่ได้ชี้นำ แจกแล้วก็บอกให้คนรับพิจารณาเอาเอง ตอนนั้นคิดว่าแจกเสร็จแล้วจะแยกย้ายกันกลับ แต่เดินแจกได้ไม่ถึง 300 เมตรก็โดนจับเสียก่อน เขาคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ผิดอะไร ตอนตำรวจให้พิมพ์ลายนิ้วมือจึงไม่พิมพ์ นอกจากนี้ก็ยอมรับผลโหวตตามที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศออกเสียงมา แต่ยังยืนยันว่าจะสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อไป
แถลงการณ์ สองเสียงที่หายไป

เราโตพอที่จะยอมรับการตัดสินใจของประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เราโตพอที่จะไม่ใช้วิธีการอย่างที่ คสช. ทำกับรัฐธรรมนูญปี 50 บรรยากาศในการลงประชามติครั้งนี้ คสช.ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราได้รณรงค์อย่างเต็มที่ตามที่ทุกท่านเห็น เรายอมรับอำนาจการตัดสินใจของประชาชน ไม่ได้แปลว่า เรายอมรับอำนาจเผด็จการ การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่เพียงแค่การออกเสียงประชามติเท่านั้น แต่หมายถึง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราเชื่อว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมา “จากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เท่านั้น ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง เราขอโทษคนรุ่นหลังที่ตอนนี้อำนาจเผด็จการได้บัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญ เรียบร้อยแล้ว เราทำเต็มกำลังที่เรามี เราทำได้แค่นี้จริงๆ
ขอโทษครับ
R.I.P.ประเทศไทย
7 สิงหาคม 2559 23.58 น.
ณ ห้องขัง สภ.ภูเขียว

ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ สมศักดิ์ เจียมฯ เฟซบุ๊กไลฟ์ แสดงความความนับถือผู้รณรงค์โหวตโน


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กไลฟ์ หลังผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งนับคะแนนแล้วกว่า 90% โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 
"สวัสดีจากปารีส ผมตั้งใจทำคลิปวิดีโอนี้เป็นพิเศษ เพิ่งตัดสินใจเมื่อสักครู่เลยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ถึงตอนนี้การนับคะนนล่าสุดที่ผมดูรู้สึกจะ 91-92% แล้ว เพราะฉะนั้นผลคะแนนที่เรียกว่าประชามติคงไม่เป็นปัญหาแล้วว่า เสียงที่รับทั้งรัฐธรรมนูญแล้วก็ทั้งคำถามพ่วงนี่ คงมีมากกว่าเสียงที่ปฏิเสธแน่ ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซนต์ ต่อ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ผมทำคลิปนี้เป็นพิเศษสำหรับเพื่อนนักกิจกรรม เพื่อนนักศึกษาปัญญาชนแล้วก็ประชาชนทั่วไปที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้โหวตโน ให้ปฏิเสธทั้งร่างรัฐธรรมนูญ คสช. แล้วก็คำถามพ่วง ก็ขอแสดงความเสียใจด้วยนะครับ แต่ว่าที่ผ่านมาเรามีความเห็นต่างกันอย่างไรบ้าง ผมก็ได้เขียนกันไปบ้างแล้ว แต่ ณ ที่นี้ วันนี้ คงไม่ใช่เวลาที่เราจะมาพูดกันเรื่องนี้ เรายังมีเวลาอีกเยอะที่เราจะมาพูดมาหาบทเรียนอะไรนะ 
 
ผมเพียงแต่อยากจะบอกเพื่อนๆ ทุกคนว่า ก็ขอแสดงความเสียใจแล้วก็สิ่งที่พวกคุณทำเป็นความพยายามอย่างที่สุดแล้ว หลายคนได้เสียสละไปเยอะ หลายคนแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยในบางสิ่งบางอย่างนี่ ผมก็มีความนับถืออยู่ และผมอยากจะถือโอกาสนี้แสดงความนับถือมายังเพื่อนๆ เหล่านั้น ระดับการอุทิศตัวเองให้กับการรณรงค์ครั้งนี้นี่เป็นอะไรที่ผมนับถือ ผมนึกถึงคนอย่างคุณโบว์ อย่างคุณโรม เพื่อนใน NDM แล้วก็อีกหลายๆ ท่านที่ผมขออภัยที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อในที่นี้ทั้งหมดได้ ขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณ
 
แล้วก็ความนับถือมายังคุณโตโต้ คุณปิยรัฐ เมื่อกลางวันไปฉีกบัตร แล้วก็โดนจับไป ทั้งที่รู้ว่ามีโอกาสที่จะเจอกับข้อหาร้ายแรง โทษจำคุกถึง 10 ปี ใครที่ติดตามเฟซบุ๊กมาตลอดโดยละเอียด คงอาจจะจำได้ว่าเมื่อหลายเดือนที่แล้วผมดีเบตกับคุณโตโต้อยู่นานเลย เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องระบบการเลือกตั้ง แล้วผมก็ยังหวังว่าสักวันหนึ่ง โตโต้ จะมีโอกาสในฐานะที่เป็นนักเรียนนิติศาสตร์ ผมยังยืนยันว่าคุณโตโต้เข้าใจผิดในเรื่องนั้น แต่สิ่งที่คุณโตโต้ทำในวันนี้ อันนี้เล่าให้ฟังตรงๆ เลยนะ ตอนที่ผมเห็นภาพคุณโตโต้ฉีกบัตรน้ำตาผมซึมอยู่นานมาก ขอฝากความรำลึกถึงแล้วก็นับถือไปยังคุณไผ่ ดาวดิน ที่โดนจับไป แล้วก็ไปถึงทุกๆ คนในตลอด หลายเดือนที่ผ่านมาที่รณรงค์โหวตโนในภาวะที่ลำบากอย่างมาก แล้วถูกจับถูกตั้งข้อหา ถูกเล่นงานต่างๆ ขอได้รับความนับถือจากผมทุกคน
 
สิ่งที่ผมอยากจะบอกในที่นี้ก็คือว่าไม่เป็นไรนะฮะ คืนนี้กลับบ้านไปนอนหลับให้สบาย ไม่ต้องคิดอะไรลืมมันไปเลย ถือโอกาสพักผ่อน take a few days off ก็ได้  แล้วเราค่อยมาว่ากันใหม่  อย่างหนึ่งที่เรารู้แน่ๆ คือว่ายังไงมันก็ต้องมีพรุ่งนี้อีก ยังไงก็มีวันพรุ่งนี้ ยังไงก็มีอนาคต ระบอบอำนาจแบบ คสช. นี่ ไม่มีทางที่จะยืนยงคงอยู่ ตลอดไปได้ ปัญหาอยู่แค่ว่ามันจะล้มไปเมื่อไหร่ ผมจะได้มีโอกาสไปเจอพวกคุณที่กรุงเทพดูวันที่ระบอบแบบนี้ ที่กดหัวคนมันล่มหรือไม่ ผมก็ยังไม่แน่ใจนะ อาจจะไม่มีโอกาสก็ได้ 
 
แต่พวกคุณ ซึ่งโดยเฉพาะคนที่อายุยังน้อยนี่จะมีชีวิตอยู่ ทันได้เห็นวันนั้นแน่นอน อันนี้ผมมั่นใจ ก็ขอเป็นกำลังใจแก่ทุกคน อย่างที่บอกคืนนี้กลับไปนอนหลับให้สบายเลยไม่ต้องคิดอะไร หยุดพักผ่อน 2-3 วัน เป็นอาทิตย์ก็ได้ เรายังมีเวลา เวลาอยู่กับเรา อนาคตอยู่กับเรา ราตรีสวัสดิ์ล่วงหน้าจากปารีส เดี๋ยวถ้าผมขยันและมีโอกาสอาจจะมาทำคลิปกับเพื่อนบางคนเรื่องการวิเคราะห์อะไรบางอย่าง"

จตุพร ปลอบผู้รักประชาธิปไตย ท่านไม่ได้แพ้ แต่อยู่ในสงครามที่ไม่มีสิทธิ์รบชนะ


นปช. แถลงรับผลประชามติ ชี้เแพ้เพราะกติกา ปลอบผู้รักประชาธิปไตย ท่านไม่ได้แพ้ แต่ท่านอยู่ในสงครามที่ไม่มีสิทธิ์รบชนะต่างหาก ซัดรธน.ใหม่จะสร้างความขัดแย้งครั้งใหญ่
7 ส.ค. 2559 จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.พร้อมแกนนำ นปช. ร่วมกันแถลงถึงผลคะแนนประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ว่า พวกตนติดตามการทำประชามติตั้งแต่ต้น รู้ทั้งรู้ว่าเป็นกติกาที่ยากจะได้รับชัยชนะ แต่ก็ยังกล้ำกลืนต่อสู้ เมื่อผลลัพธ์ออกมา พวกตนก็มีจิตใจเป็นนักกีฬาเพียงพอ แม้เป็นเรื่องยากหลังจากนี้ เราจะทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองไทย ขอฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า แม้วันนี้ดูเหมือนท่านจะชนะ แต่เป็นชัยชนะที่ไม่น่าภาคภูมิใจ เพราะผู้แพ้ไม่ได้มีโอกาสเช่นเดียวกับท่าน
 
ส่วนภาพรวมการนับคะแนนหลายหน่วยนั้น จะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีการเข้าไปสังเกตการณ์ มีเพียงเจ้าหน้าที่นับคะแนน 1-2 คน ดูกันเอง สถานการณ์ทั้งหมดอยู่ในสภาพนี้ แต่เราไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นพวกขี้แพ้ขวนตี ค่ำคืนนี้ คสช.อาจจะมีความสุข แต่แน่นอนคำถามพ่วง เราจะมี ส.ว.แต่งตั้งไปเลือกนายกฯ เราจะได้นายกฯ คนนอก ส.ส.ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดนกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่หน่วยของนายชวน หลีกภัย ใน จ.ตรัง ไม่มีเหตุผลตามหลักคณิตศาสตร์ พรรคการเมืองทุกพรรคไม่มีใครรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผลลัพธ์สวนทางกันหมด เมื่อคะแนนสวนทางกับความตั้งใจ เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะโวยวาย
 
จตุพร กล่าวว่า ตนไม่ต้องการให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย มีความรู้สึกเสียขวัญและพ่ายแพ้ ท่านไม่ได้แพ้ แต่ท่านอยู่ในสงครามที่ไม่มีสิทธิ์รบชนะต่างหาก ท่านไม่ได้พ่ายแพ้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ยังเป็นประชาชนเหมือนเดิม ตนขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ร่วมทุกข์กัน ในช่วงการทำประชามติ คืนนี้ขอให้คสช.นอนหลับอย่างอบอุ่นและสบาย
 
"ผมทราบว่าในวันที่ 8 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จะมีการแถลง ไม่ทราบว่าท่านจะคงศูนย์รักษาความสงบหรือไม่ เพราะจากนี้ไปคาดว่าจะมีคนไม่ยอมรับ ถ้าไม่มีการพบทุจริตก็ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงคะแนนได้ วันนี้เราไม่เห็นแต่วันพรุ่งนี้เราอาจจะเห็น ซึ่งหากไม่มีเรื่องนี้เลยเราก็ต้องอยู่กันไป 20 ปี ไม่ใช่ก้มหน้ารับชะตากกรม แต่ต้องเชิดหน้ารับชะตากรรม" จตุพรกล่าว
 
ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้หากเดินหน้าใช้จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ อีกมากมาย นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง แต่ยอมรับการตัดสินใจของประชาชน เราเคารพและพร้อมยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แต่ภารกิจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่ยุติ และยังเดินหน้าต่อไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยอำนาจเผด็จการ แล้วประชาชนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2550 และไม่ใช่ประเทศแรกที่อำนาจเผด็จการสามารถกำหนดผลประชามติ