วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สปสช.ยืนยัน 30 บาทไม่มีการเปลี่ยน ไม่ใช่การสงเคราะห์


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากว่า 1 ปี และระหว่างกระบวนการคัดสรรเลขาธิการ สปสช.คนใหม่นั้น งานของ สปสช.ยังเดินหน้าต่อไป การแต่งตั้งรองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการก็เพื่อเสริมการทำงานในตำแหน่งที่ว่างเว้นลงเนื่องจากเกษียณอายุราชการ
เขากล่าวอีกกว่า ที่ผ่านมามีกระแสว่าจะมีการล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิ 30 บาท บ้างก็ว่าจะเปลี่ยนหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขอยืนยันว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด
“ในฐานะของหน่วยงานระดับปฏิบัติการด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทำงานร่วมกับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้บริการการแพทย์แก่ประชาชน สปสช.ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นเช่นที่ รมว.สาธารณสุขกล่าวย้ำตลอดคือ สิ่งที่ดีอยู่แล้วยังคงอยู่ต่อไป และจะทำให้ดียิ่งขึ้น ส่วนที่เป็นปัญหาและอุปสรรคก็แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาต่อไป โดยคงหลักการสำคัญคือการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และป้องกันการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งทุกอย่างอยู่บนฐานของการเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสิทธิตามกฎหมายของประชาชน” รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว

เจิมศักดิ์ ดราม่า ไม่รับร่าง รธน. หวั่นได้เลือกตั้งก่อนปฏิรูป


4 ส.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (3 ส.ค.59) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง' ของ เจิมศักดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมีผู้กดถูกใจประมาณ 1.8 แสนถูกใจ ได้โพสต์บทความในหัวข้อ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”
โดยเจิมศักดิ์ ระบุว่า ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่จะแสดงจุดยืนยากลำบาก เพราะ รัฐธรรมนูญมีหลากหลายประเด็นที่มีทั้งบวกและลบ แกนนำเสื้อแดงแสดงจุดยืน “ไม่รับ” ก่อนหน้าไปแล้ว กำนันสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ก็แสดงจุดยืนว่ารับ หากเราแสดงจุดยืนไม่รับ ก็จะดูว่าขัดกับกำนันสุเทพ ถูกป้ายสีว่าเห็นดีกับระบอบทักษิณ
เจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จึงตั้งดัชนีชี้วัดรัฐธรรมนูญว่าต้อง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ลดทุจริตเล่นพรรคเล่นพวกในระบบอุปถัมภ์ โดย นำเอาดัชนีชี้วัดข้างต้น ไปเปรียบเทียบประเด็นสำคัญที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ การทำสัญญากับต่างประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับฝ่ายบริหารและราชการ ลดการมีส่วนร่วมในการรับรู้และให้ความเห็นของประชาชนเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 50 การคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ร่างรัฐธรรมนูญลดความสำคัญและบทบาทขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต่างกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่ให้ความสำคัญกับองค์การอิสระดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างสำคัญและชัดเจน
ขณะที่ประเด็น เสรีภาพสื่อมวลชน เจิมศักดิ์ ระบุว่า เสรีภาพคนทำสื่อที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้รับการคุ้มครองเทียบเท่าคนทำสื่อเอกชน เพราะร่างรัฐธรรมนูญระบุมีเสรีภาพแต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัด ไม่ห้ามเอกชนผู้เป็นเจ้าของสื่อหลายประเภท วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ในเวลาเดียวกันเหมือนรัฐธรรมนูญ 50  ไม่ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ห้ามผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อเป็น ส.ส.  งบประมาณของรัฐที่ซื้อสื่อให้เปิดเผยซึ่งเป็นจุดแข็ง แต่ไม่ได้กำหนดให้กระจายสัดส่วนของผู้ที่ได้รับงบประมาณ
เรื่องทุจริตการเลือกตั้ง เจิมศักดิ์ ระบุด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญเอาผิดเฉพาะผู้สมัคร แต่ไม่เอาผิดกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่รู้เห็นแล้วไม่แก้ไขเยียวยา ต่างกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่ให้กรรมการบริหารพรรคต้องร่วมป้องกันการทุจริต หากรู้แล้วไม่แก้ไขถือว่ามีความผิดด้วย ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภา ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพเลือกกันเองหรือเลือกข้ามกลุ่ม ดูจะเป็นของแปลกและเข้าใจถึงที่มาที่ไปได้ยาก ในความเป็นจริงจะสรรหา ส.ว. จากบุคคลที่หลากหลายฐานะ หลากหลายอาชีพ เพื่อประนอมอำนาจและใช้รัฐสภาเป็นเวทีของการประนอมอำนาจ โดยไม่ให้วุฒิสภามีอำนาจมากนัก น่าจะเหมาะสมกว่า วุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญดูจะมีอำนาจมาก ที่มาไม่ชัดเจนซ้อนเร้น
เจิมศักดิ์ ระบุว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไม่เป็นจริง หมวดการปฏิรูปประเทศ ได้แต่บอกความฝันว่าอยากเห็นอะไรเกิดขึ้น แต่ขาดวิธีการปฏิรูป ไม่เห็นภาพชัดว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างอย่างไร โยนภาระการปฏิรูปไปสู่อนาคต แต่กำหนดเงื่อนเวลาให้ จึงยากที่จะเข้าใจและมองเห็นช่องทาง และแนวทางการปฏิรูปที่แท้จริง
"สิ่งที่เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เราจะได้เลือกตั้งก่อนปฏิรูปและหลังเลือกตั้งเราอาจได้ปฏิรูปโดยไม่รู้ว่าปฏิรูปอย่างไร" เจิมศักดิ์ ระบุ
เจิมศักดิ์ สรุปว่า 1) ขอไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 50 ดีกว่ามาก 2) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ให้ทำงานต่อไป และ 3) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องใช้ในระยะยาว ไม่ใช่ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เชื่อว่าคนไทย จะร่างรัฐธรรมนูญได้ดีกว่านี้

โค้งสุดท้ายประชามติ #5 ตัดอำนาจท้องถิ่น-กระทบกระจายอำนาจ


ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ตัดอำนาจท้องถิ่นหลายด้าน ไม่มีข้อความ ‘ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเอง’ ไร้ ‘แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ’ เปิดทาง ‘ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ’ ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกระจายอำนาจในอนาคต
บรรยากาศนับคะแนนหลังการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อ พฤศจิกายน2556 ซึ่งเป็นเทศบาลนครแห่งแรกของประเทศจัดตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.. 2478

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำลังจะทำให้การกระจายอำนาจที่มีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ถอยหลัง โดยมีการตัดข้อความที่สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจที่ลดลง
โดยเนื้อหาเริ่มต้นของหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 282 และ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 281 วรรค 1 ระบุว่า ‘ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น’ ขณะที่หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ตัดข้อความ ‘ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเอง’ ออกไป โดยระบุในมาตรา 249 เพียงว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 1 ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ”
ในขณะที่ สิทธิการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 283 และรัฐธรรมนูญ 2550 วรรค 2 ระบุว่า ‘ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิได้รับจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ’ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 249 วรรค 2 ได้เพิ่มเงื่อนไขสำหรับจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ‘การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน’
ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังได้ตัดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ เช่นที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 กำหนดไว้ ทั้งยังตัดเนื้อหาที่ระบุถึง ‘ความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย’ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 284 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 283 ด้วย แต่กลับเขียนไว้ในมาตรา 250 วรรค 5 แทนว่าให้กฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ อปท. ตามมาตรา 250 วรรค 1 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้ อปท. ‘มีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ’ แทน
ขณะเดียวกันในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังตัดเรื่องอำนาจของ อปท. ในการ ‘บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น’ รวมทั้ง ‘จัดการศึกษาอบรม และการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ’ และ ‘อำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม’ ซึ่งเดิมปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 289 และ 290 และ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 289 และ 290
อีกจุดหนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ลดทอนอำนาจประชาชนในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่น คือในมาตรา 252 วรรค 2 ที่แม้จะระบุให้ผู้บริหารท้องถิ่น ‘มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น’ เช่นกัน แต่ก็เปิดช่องให้ อปท. รูปแบบพิเศษมีผู้บริหารมาจากวิธีอื่นได้ โดยระบุข้อความว่า ‘ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ’
ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น เริ่มกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 287 วรรค 1 ที่ระบุให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนวรรค 2 ระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบก่อนการกระทำที่จะ ‘มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ’ นอกจากนี้ ในกรณีที่เห็นสมควรหรือได้รับการร้องขอยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดรับฟังความคิดเห็นหรือออกเสียงประชามติตามที่กฎหมายบัญญัติ
แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 253 กลับกำหนดไว้เป็นหลักการกว้างๆ ว่า ‘ในการดำเนินงาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ รวมตลอดทั้งมีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ’
000
“ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่มีพลังแห่งความเปลี่ยนแปลง อย่างที่รัฐธรรมนูญ 2540 เคยทำได้มาแล้วในหลายมิติของการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างบริหารภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสัดส่วนงบประมาณ”

 

จับตา มาตรา 252 เปิดทางผู้บริหาร อปท. / อปท.พิเศษ ไม่ต้องเลือกตั้งโดยตรง

ด้าน ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นว่า “จากการสำรวจร่างรัฐธรรมนูญในหมวดอื่นนอกจากหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังพบว่าไม่ว่าจะหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ และหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ก็ไม่พบว่ามีบทมาตราใดที่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น”
ณัฐกรกล่าวถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไปว่า บ่อยครั้งที่สอบป้องกันการค้นคว้าอิสระแล้วพบว่านักศึกษาพูดอธิบายได้ดีมาก แต่สิ่งเหล่านั้นมักไม่ได้ถูกเขียนอยู่ในเล่ม ทำนองเดียวกับที่กรรมร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็พยายามอธิบายกรณีที่ไม่ได้กำหนดรูปแบบโครงสร้างภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบบ 'ตายตัว' ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ตามมาตรา 252 ระบุว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากเลือกตั้งและผู้บริหาร อปท. ต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีความหลากหลาย โดยมักยกตัวอย่างรูปแบบการบริหารเมืองแบบ “City Manager” หรือ “ผู้จัดการเมือง” ในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้กำหนดรูปแบบที่เขาต้องการด้วยตนเอง ทั้งนี้มีคำถามว่า ถ้าไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
ประเด็นคือตามร่างรัฐธรรมนูญ ผู้บริหาร อปท. โดยทั่วไปจะมีได้ 2 แบบเท่านั้น 1.สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งทุกวันนี้เป็นรูปแบบนี้ทั้งหมด กับ 2.สภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง และผู้บริหารท้องถิ่น มาจากความเห็นชอบของสภา
แต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนเปิดช่องไว้ว่าผู้บริหารท้องถิ่น “มาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น” เช่นนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ทั้งนั้นในอนาคต โดยในทางบวก อาจหมายถึงการแก้ไขกฎหมายลูกในอนาคต เพื่อให้มี “ผู้จัดการเมือง” ที่ถูกว่าจ้างโดยได้รับความเห็นชอบของสภา ในทางร้ายอาจย้อนกลับไปหาระบบที่ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากข้าราชการประจำโดยให้สภาท้องถิ่นให้ความเห็นชอบ ก็ได้
แต่ในส่วนของผู้บริหาร “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ที่ระบุในมาตรา 252 ว่า “จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เป็นไปได้หรือไม่ว่า เป็นการบัญญัติไว้สำหรับรองรับการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งให้ผู้บริหารมาจากการแต่งตั้งโดยส่วนกลางแทน
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตพื้นที่ 10 แห่ง ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษไปก่อนหน้านี้ จะทำให้ อปท. ที่มีอยู่เดิมถูกยกเลิก แล้วตั้ง อปท. รูปแบบพิเศษ ขึ้นมาแทนที่

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่มีพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงต่อท้องถิ่น
เท่ากับที่รัฐธรรมนูญ 2540 เคยทำได้

ณัฐกรกล่าวด้วยว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 อาจไม่ส่งผลต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นในทันที เพราะสาระสำคัญเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นถูกกำหนดไว้ในกฎหมายระดับรองหลายฉบับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2542), พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545, พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 รวมถึงกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ เช่น พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540, พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496, พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แต่ทิศทางในอนาคตก็ยังคลุมเครือ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังทำให้หลักประกันหลายเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เคยรับรองไว้หายไป
“ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่มีพลังแห่งความเปลี่ยนแปลง อย่างที่รัฐธรรมนูญ 2540 เคยทำได้มาแล้วในหลายมิติของการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างบริหารภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสัดส่วนงบประมาณ”
นอกจากนี้ ถึงแม้รัฐธรรมนูญ 2559 ผ่าน อีกเรื่องที่สำคัญคือคำสั่งและประกาศของ คสช.หลายฉบับก็ยังคงมีผลต่อไปอยู่ เช่น ประกาศ คสช. ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว, ประกาศ คสช. ที่ 86/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น ซึ่งทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารที่ครบวาระแล้วอยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ
หรือกรณีที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดความลักลั่นตามมาได้ ระหว่าง อปท.ที่มาจากการแต่งตั้งในยุค คสช. เช่น เมืองพัทยา กับ อปท. ที่มาจากการเลือกตั้งหลังยุค คสช.

กกต.สุรินทร์ จัดเวทีดีเบตร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ห้ามมือถือ ห้ามสื่อฟัง


เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2559  รายงานข่าวแจ้งว่า จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ กกต.สุรินทร์ จัดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็น (ดีเบต) เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และประเด็นคำถามเพิ่มเติมขึ้น ที่ห้องรัตนสยาม โรงเเรมทองธารินทร์ มีผู้เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นราว 350 คน ประกอบด้วย พ่อค้า ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ นักศึกษา กลุ่มการเมืองท้องถิ่นและสื่อมวลชนในจังหวัดสุรินทร์
นายอรรถพร สิงหวิชัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ”จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พ.ต.ท.อุกฤษฏ์ ภู่หริย์วงศ์สุข ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จ.สุรินทร์ กล่าวรายงานว่า ด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติการประชุม ครั้งที่ 35/2559 เมื่อวันที่ 25 ก.ค.59 รับทราบหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดเวทีเพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง  “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และประเด็นคำถามเพิ่มเติม”ประจำจังหวัด เพื่อเป็นวิถีการหนึ่งในการเผยแพร่และอธิบายให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้เข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติ ตลอดจนกระบวนการขั้นตอนการออกเสียงประชามติได้อีกทางหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้าร่วมเวทีดีเบตดังกล่าวได้มีการห้ามผู้เข้าร่วมเวทีนำอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเข้าไปในห้องประชุม ในส่วนสื่อมวลชนที่รับเชิญไปร่วมทำข่าวเพียงอนุญาตให้ถ่ายบันทึกภาพช่วงทำพิธีเปิดและการเปิดช่วงแนะนำตัวผู้เข้ารับการดีเบตเท่านั้น เว้นแต่ช่างภาพที่ทางสำนักงาน กกต.สุรินทร์ ได้ตกลงว่าจ้างให้มาบันทึกภาพวีดีโอเท่านั้นที่สามารถบันทึกเก็บภาพได้ตลอดเวลาและอย่างอิสระ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็น ข้าราชการ สังกัดกรมประชาสัมพันธ์และยังเป็นเจ้าหน้าที่ของ สวท.สุรินทร์  
นอกจากนี้ยังมีการจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้กับผู้เข้าร่วมเวที และสื่อมวลชนท้องถิ่น คนละ 250 บาท โดยขอเก็บสำเนาบัตรประชาชน พร้อมมีการลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน ภายในงานยังมีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อาสารักษาดินแดน (อส.)ไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งในเเละนอกเครื่องแบบ เพื่อป้องกันกลุ่มต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สร้างสถานการณ์ปั่นป่วนขึ้น
พ.ต.ท.อุกฤษฏ์ ภู่หริย์วงศ์สุข ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า การเปิดเวที ดีเบต “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” เพื่อให้พี่น้องประชาชาชนรับรู้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติและประเด็นคำถามเพิ่มเติมมากขึ้น คาดหวังและตั้งเป้าการออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงลงประชามติ 80% ในโค้งสุดท้ายตนขอเชิญชวนพี่้องประชาชนชาวสุรินทร์ และชาวไทย ออกมาใช้สิทธิกันมากๆ เพื่อลบคำสบประมาทว่านาทีสุดท้ายกันเสียที
ทั้งนี้ ทาง สำนักงาน กกต.สุรินทร์กำหนด หน่วยลงประชามติไว้ 2,127 หน่วย และหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดอีก 2แห่ง ที่หอประชุม วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ 2 หน่วย และที่อำเภอพนมดงรัก 2 หน่วย สถานที่ส่วนใหญ่เป็น ศาลากลางหมู่บ้าน โรงเรียน และวัด ล้วนเป็นสถานที่ ลักษณะแข็งแรง ปลอดภัย สามารถกันฟ้าฝนและลมพายุได้เป็นอย่างดี และจากการลงพื้นที่สำรวจไม่พบการนำเต๊นท์มากาง เพื่อเตรียมเป็นหน่วยออกเสียงประชามติแต่อย่างใด
พ.ต.ท.อุกฤษฏ์ กล่าวว่า การออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หน่วยเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีจำนวน 2,127 หน่วย สำหรับมาตรการต่างๆ อนุกรรมการเลือกตั้งประจำอำเภอ ได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วย รปภ.ประจำหน่วยเรียบร้อยเเล้ว โดยใช้ ตำรวจ อส. กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นหลัก สำหรับมาตรการเผชิญเหตุคิดว่าพี่น้องชาวจังหวัดสุรินทร์คงไม่มีเหตุรุนแรง กระทบกระเทือนในการออกเสียงประชามติ ได้มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธาน ส่วนทาง สำนักงาน กกต.จังหวัดสุรินทร์ก็มีการจัดตั้งศูนย์เช่นกัน คาดว่าการใช้สิทธิคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากประชาชนขัดข้องอะไรให้ประสานไปที่อนุกรรมการการเลือกตั้งประจำอำเภอ และในการออกเสียงตนคิดว่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วยหน่วยที่อยู่ห่างไกลและกันดาร บางที่โดยเฉพาะหน่วยทหารในพื้นที่ชายแดน พื้นที่อำเภอพนมดงรักได้มาขอใช้รถ ถ้าหน่วยงานใดมาขอใช้รถต้องเป็นหน่วยงานราชการ รับผู้ออกเสียงประชามติให้ขอมาที่จังหวัดเพื่อแจ้งกรรมการประจำเขตเพื่ออนุญาตต่อไป

'ประยุทธ์' เปิดงานฉลองอาเซียน 50 ปี บอกเพื่อนบ้านอย่าห่วงช่วงประชามติ ทหารดูแลอยู่


นายกรัฐมนตรี เปิดงานฉลองวันอาเซียนเข้าสู่ปีที่ 50  หวังร่วมกันแก้ไขปัญหาข้ามชาติ ระบุสั่งยกเลิก “โมเดลเห็บสยาม” เพราะเป็นการพูดที่เกินเลย พร้อมขอเพื่อนบ้านอย่าห่วงช่วงประชามติ เพราะทหารดูแลอยู่
4 ส.ค. 2559 โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ และกรุงเทพธุระกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานฉลองวันอาเซียน (ASEAN Day 2016) ซึ่งกต.จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4, 5 และ 8 ส.ค. นี้ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในวงกว้าง โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะทูตจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเชิญธงอาเซียนขึ้นสู่ยอดเสา การเปิดตัวสมุดภาพที่ระลึกการสถาปนาประชาคมอาเซียน พิธีเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์และภาพพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารีซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 4-11 ส.ค. นี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนที่จะถูกนำไปจัดแสดงที่มิวเซียมสยาม ระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-29 ก.ย. นี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มก่อตั้งที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 ส.ค. 2510 และมีความเจริญกล่าวหน้าจนกลายเป็นประชาคมอาเซียนในวันนี้ ทุกอย่างต้องมีประวัติศาสตร์ ว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เรามีเหตุผลที่น่าภาคภูมิใจในการเฉลิมฉลองอาเซียนเข้าสู่ปีที่ 50 เพราะอาเซียนได้ร่วมกันสร้างบรรทัดฐานการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในภูมิภาค จากการเป็นเพื่อนบ้านที่มีความแตกต่าง ทั้งระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ จนสามารถนำเข้ามาสู่ความร่วมมือตามวิถีอาเซียน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างความเข้าใจ และไว้เนื้อเชื่อใจ ยึดหลักผลประโยชน์ร่วมกัน ป้องกันความขัดแย้ง และร่วมกันส่งเสริมบทบาทของอาเซียน ในการปฏิสัมพันธ์กับสหประชาชาติ เราต้องมองทั้งประเทศ ภูมิภาค และการเชื่อมกับประชาคมโลก เราไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกนี้ ดังนั้นทำอะไรต้องนึกถึงคนอื่นด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความสมดุลระหว่างกัน ถ้าจะมองอนาคตที่ดีในวันข้างหน้า จำเป็นต้องมองวันนี้ว่าจะทำอย่างไรไปสู่อนาคต จากอดีตที่ล้มเหลว ก็นำมาเป็นบทเรียนที่จะไม่ทำให้เกิดขึ้นอีก เราจะกลับหน้ามือเป็นหลังมือ จากซ้ายกลายไปเป็นขวาทีเดียวคงเป็นไปได้อยาก วันนี้เราจำเป็นต้องปรับตัวเองให้ได้ทั้งในและนอกภูมิภาค ทั้งการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของสันติภาพ การฝ่าฟันวิกฤตต่าง ๆ ทั้งภัยจากมนุษย์ที่มีความขัดแย้งกันเอง และภัยจากธรรมชาติ ทั้งโรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่เตรียมการ และช่วยกันในอาเซียนก็แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน ก็กั้นเขตประเทศไม่ได้ ที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาหมอกควันข้ามชาติ ไปพร้อมกับอาชญากรข้ามชาติ ต้องช่วยกันแก้ไขจะมัวทะเลาะกันไม่ได้ โทษกันไปมาแก้ปัญหาไม่ได้เลย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีสำคัญที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตนพบกับผู้นำประเทศต่าง ๆ หลายครั้ง ได้มีการหารือร่วมกันมาโดยตลอด ร่วมกันผลักดันมาตรการต่างๆ ในลักษณะการเชื่อมโยงของอาเซียน รัฐบาลไทยได้เพิ่มพูลศักยภาพของประเทศและอาเซียน เราเข้มแข็งประเทศเดียวไม่ได้ ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็ไม่ได้ เราต้องไปด้วยกันเพื่อให้เกิดศักยภาพในการต่อรอง เพราะที่ยืนเราเล็กจำเป็นต้องรวมกันทำให้เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเข้มแข็ง ในลักษณะสนับสนุนกันของไตรภาคี ประเทศใครใหญ่กล่าวหรือมีศักยภาพมากกว่าก็ต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน อย่างคำกล่าววานนี้ของนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ปาฐกถา “เศรษฐกิจโลกขยับก้าว...เศรษฐกิจไทยขยับไกล” ในสัมมนาหัวข้อ “เศรษฐกิจโลกขยับก้าว... เศรษฐกิจไทยขยับไกล: กบข.เดินหน้าอย่างไร” ที่จัดโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
โดยเปิดโมเดลใหม่กู้เศรษฐกิจไทย “เห็บสยาม” เกาะเศรษฐกิจประเทศใหญ่แล้วดูดเลือดจนอ้วน ไม่เป็นศัตรูกับใคร ที่มี่ประเด็นเรื่องเห็บสยามนั้น ตนก็คิดว่าพูดเกินไปหน่อย ได้สั่งการให้ยกเลิกไปแล้ว มันใช้ไม่ได้ทั้งหมดเราต้องยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทุกคนควรภาคภูมิใจในการเดินหน้าไปพร้อมกัน จากนี้ไปจะไม่มีใครเป็นพี่เป็นน้อง แต่จะใช้คำว่าเป็นญาติกันดีกว่า ตนได้คุยกับเอกอัครราชทูตสถานรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าตอนที่ยังไม่เป็นประเทศก็อยู่ใกล้กัน เพราะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เมื่อมีผู้นำที่แข็งแกร่ง รวบรวมคนได้มากกว่า ก็ไปตั้งหลักอยู่ตรงนั้นตรงนี้ แล้วจดทะเบียนเป็นประเทศ แต่ถึงวันนี้ยังตีเส้นเขตแดนยังไม่เสร็จเลย ตนถึงพูดมาตลอดว่าวันนี้อาเซียนอย่าเอาเขตแดนมาเป็นปัญหา หรืออุปสรรคทางด้านการค้า การลงทุน หรือการสัญจรไปมา ตรงไหนก็ตรงนั้นตามกติกา และคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ที่มีอยู่ ใครถือเขตแดนเส้นไหนก็เส้นนั้นอย่าไปทะเลาะกันมากเดี๋ยวจะไปไม่ได้ทั้งหมด

“อาเซียนเรายึดมั่นว่าอาเซียนจะต้องเป็นเสียงเดียวกัน ใช้หลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคได้รับการจ้างงานที่ดีขึ้น มีชีวิตที่เพรียบพร้อม คำว่า มนุษย์ ภาษาไทยเรียนว่า คน ซึ่งถ้าเปิดพจนานุกรมคนก็คือการทำให้ยุ่ง อย่าคนในหม้อ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบได้ถูกต้องมันถึงได้ยุ่งกันทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าคนอย่างไรก็ไม่มีทางเข้ากัน พยายามแล้วพยายามอีก ใช้เครื่องปั่นก็ยังไม่เข้ากันเลย จนเครื่องปั่นอย่างผมจะพังอยู่แล้ว ผมเข้ามาผมเป็นเครื่องปั่นให้มันเร็วขึ้น คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ไม่รู้ว่าเครื่องปั่นอย่างผมจะพังเสียก่อนก็ไม่รู้” นายกฯ กล่าว

ฝากบอกเพื่อนบ้าน ไม่ต้องเตือนระวังไทย ช่วงประชามติ บอกทหารดูอยู่

นายกฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิตอลที่รัฐบาลกำลังทำนั้นคือหัวใจของทุกประเทศอาเซียน ซึ่งสิ่งสำคัญในแต่ละประเทศคือเราเป็นประเทศที่มีสถาปัตย์ชีวิตของเรา ประเทศไทยเราสามารถกินข้าวกินก๋วยเตี๋ยวได้ถึงเช้า ที่ไหนมีบ้าง แต่ขอให้ถูกกฎหมายแล้วกัน ส่วนประเทศสมาชิกทั้งหมดก็เป็นเพื่อนทั้งนั้น แล้วไม่ต้องไปเตือนใครให้ระวังประเทศไทยช่วงประชามติ ไม่ต้องกลัว ทหารเขาดูแลอยู่ แต่ถ้าจะมีก็คนไม่ดี คนชั่ว คนบ่ดี เดี๋ยวจะส่งไปให้เพื่อนลาวดูแลหน่อย

นายกฯ กล่าวด้วยว่า บางครั้งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นต้อง เพราะคนเห็นต่างคือเห็นต่าง แต่การเห็นต่าง รวมถึงสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ผิดกฎหมาย แค่นี้เองแยกให้ออก แต่ถ้ากฎหมายไปละเมิดสิทธิเขา ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน เราอย่าคิดอะไรนอกกรอบจนมากเกินไป ต้องเอากรอบมาเทียบหากอยากทำอะไรต้องดูกฎหมาย ถึงจะไม่ผิด บ้านเมืองไม่วุ่นวาย
นายกฯ กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการเรียนภาษาอาเซียน โดยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง และประเทศอาเซียนต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันลดความหวาดระแวงอะไรที่ เรายังไม่เรียบร้อยดูแลไม่ดีก็ต้องขอโทษเพื่อนด้วย เช่นเดียวกับที่ขอให้เพื่อนดูแลคนไทยเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลบนความแตกต่าง เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ชี้การพัฒนาประเทศ เหมือนยุทธ์ศาสตร์ปฏิบัติทางทหาร ขอประชาชนเป็นกองหน้า กองหนุน และกองหลัง

นายกฯ กล่าวว่า อยากให้นักเรียนพัฒนาตนเอง ทั้งด้านการศึกษาและคุณธรรม เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอาเซียน แล้ววันหน้าอยากให้มีกิจกรรมแข่งขันเขียนเรียงความประวัติศาสตร์ของประเทศตน เอง เพราะตนได้ข้อมูลมาว่าเด็กที่ไปเรียนต่างประเทศเขียนประวัติศาสตร์ของไทยไม่ ได้ การเรียนประวัติศาสตร์จะทำให้เรารู้ว่าจะรักประเทศไทยอย่างไร ไม่ใช่เรียนแต่ในยูทูป ต้องให้ครูกับนักเรียนมาถกแถลงกันเพื่อสร้างบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริง นึกออกหรือไม่ว่าสมัยก่อนเขารักษาแผ่นดินกันอย่างไร เขารบกันด้วยดาบด้วยหอก รบกันทั้งวันทั้งเช้าและกลางคืน ข้าวก็ไม่ได้กิน มีการสักยันต์กันเต็มตัว แต่วันนี้ทะเลาะกันด้วยปากเสียส่วนใหญ่ แต่กลับเจ็บกว่าฟันกันด้วยมีดอีกเพราะเราไม่สามารถที่จะปกป้องตัวเองได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนพัฒนาตัวเอง ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ถ้าหากไม่มีการปฏิรูป การปฏิรูปจะต้องเกิดมาโดยตลอดตามห้วงเวลาตามลำดับ หากเราไม่มีกลไก ระยะเวลาในการพัฒนาเราจะไม่รู้ว่าถึงเวลาหรือยัง แต่ถ้าถึงเวลาอีกทีมันก็ระเบิดออกมาแล้ว อย่างนี้มันไม่ได้ แล้วใครจะต้องมาแก้อีกมันไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้จะต้องเลิกให้ได้มีเวลาเท่านี้แค่นั้น ที่อยากให้ทุกคนพิจารณาด้วยสติปัญญาของทุกคน ตนไม่อาจจะพูดอะไรได้มากกว่านี้ ขอให้ทุกคนฟังและคิด ส่วนจะเชื่อหรือไม่ให้ไปคิดเอาเอง อยากให้ทุกคนเรียนรู้เราจะต้องร่วมกัน เราจะต้องมีคนนำพา หากนำพาในสิ่งที่ถูกและคิดว่าถูกก็เดินตามไป แต่ถ้านำไม่ถูกก็อย่าไปเดินแค่นั้นเอง ดังนั้นเราต้องรู้จักการเปรียบเทียบ

“ดังนั้นต้องรู้จักการเปรียบเทียบวิธีการ อย่างทหารเขาเรียกว่า หนทางปฏิบัติที่ดีกว่าดีที่สุด มีสามเส้นทางตายสองเส้น อีกเส้นตายน้อยก็ไปเส้นตายน้อย เขาเรียกหนทางปฎิบัติส่งเสริมยุทธศาสตร์ในการตัดสินใจในการปฏิบัติทางทหาร ในการเข้าตีหรือต่างๆ ต้องขจัดข้าศึกที่อยู่ข้างทางมีกองระวังหน้า ระวังหลัง ระวังปีกกองหนุน ฟื้นฟู วันนี้เราต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเรากำลังจะปฎิรูป พวกเราทุกคนต้องเป็นกองหน้า กองหลัง กองหนุน ของผมไปด้วย” นายกฯ กล่าว

ศาลสั่งจำคุก หมอเลี้ยบ 1 ปี คดีตั้งบอร์ด ธปท.โดยมิชอบ แต่ให้รอลงอาญา


4 ส.ค. 2559 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นจำเลย จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ โดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดยศาลฯ พิพากษาว่า จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท พิเคราะห์พฤติกรรมแห่งคดีแล้ว ภายหลังจากจำเลยมีคำสั่งแต่ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการค ธปท.แล้ว แม้คณะกรรมการคัดเลือกจะได้คัดเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ธปท.ก็ตาม ต่อมีการยเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการ ธปท.ที่ได้รับการแต้งตั้งดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56  
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อปี 2551 ระหว่างที่ นพ.สุรพงษ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีวาระการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงได้เสนอรายชื่อจากการคัดเลือกบุคคล เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. เพื่อให้ นพ.สุรพงษ์ เห็นชอบแต่งตั้งตามขั้นตอน
แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่เห็นด้วยกับรายชื่อดังกล่าว และได้ใช้อำนาจสั่งการแทรกแซง  แต่งตั้งวิจิตร สุพินิจ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นกรรมการ ทั้งที่บุคคลทั้ง 3 เป็นกรรมการในสถาบันการเงิน จึงถือเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดต่อหลักการการมีส่วนได้ส่วนเสีย อันจะกระทบต่อภาพลักษณ์ความโปร่งใสของ ธปท. และเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 28/1
โดย ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  พิจารณาแล้ว เห็นว่า สถิตย์ วิจิตร และชัยวัฒน์ ต่างเป็นตัวแทนสถาบันการเงิน ที่อยู่ภายใต้ก่ารกำกับของ ธปท. เข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการ ธปท. ถือว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นผู้มีผลประโยชน์ หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตามความหมายของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 28/1 วรรคสาม เมื่อจำเลยแต่งตั้งบุคคลทั้ง 3 เป็นคณะกรรมการคัดเลือก จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามฟ้อง

สุเทพ ระบุ ทักษิณ ประกาศไม่รับร่าง รธน. เป็นเรื่องแปลก เพราะไม่มีสิทธิออกเสียงเหมือนคนอื่นเขา


สุเทพ เทือกสุบรรณ บอกมวลมหาประชาชน ‘ทักษิณ’ ประกาศรับไม่ร่าง มีนัยสำคัญ ต่อการเคลื่อนไหวล้ม คสช. หากร่างไม่ผ่านประชามติ ชี้จะไปทำหน้าที่ประชาชนไทย โดยการรับร่าง และคำถามพ่วง เพื่อประเทศรอดพ้นอำนาจนักการเมือง
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2559 ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ได้มีการเผยแพร่รายการ เดินหน้าปฎิรูปประเทศไทย ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2559 โดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ได้ออกมาระบุว่า ได้ทราบมาว่า ทักษิณ ชินวัตร ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมา พานทองแท้ ชินวัตร ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่า ทักษิณ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เหตุใดทักษิณ จึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนอื่นๆ สามารถที่จะประกาศรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ แต่การที่ทักษิณประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะความจริงแล้วทักษิณ ไม่มีวันได้ลงประชามติกับเขา เพราะไม่มีที่ให้ลง เนื่องจากไม่ได้อยู่ในประเทศไทย หนีคดีไปอยู่ดูไบ ไปเร่ร่อนอยู่ประเทศนั้นประเทศนี้ ใครเขาจะตามไปทำหน่วยเลือกตั้งให้ทักษิณได้ ฉะนั้นไม่ได้ลงอยู่แล้ว แต่ที่ประกาศไม่รับมันเป็นส่งสัญญานบอกสมุน บริวาร ให้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้
“ผมไปดูครับ คนเหล่านี้ คนในระบบทักษิณ เขาทำทุกอย่าง เพื่อที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้ พี่น้องได้ยินข่าวนี่ครับ ถึงขนาดพิมพ์รัฐธรรมนูญปลอมออกไปแจกจ่าย ทำจดหมาย ฝ่าฝื่นกฎหมายประชามติ บิดเบือนข้อเท็จที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้ ไปอ้างว่าเขียนเอาไว้ แล้วทำให้ประชาชนเดือดร้อน” สุเทพ กล่าว
สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เหตุที่มีกระบวนการในการทำไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่าน เป็นเพราะมีการเสียประโยชน์ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ และมีการบังคับใช้ ต่อไปคนชั่ว คนโกง คนทุจริตคอร์รัปชัน คนที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะไม่มีทางกลับเข้ามาเป็นนักการเมืองได้ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้มาตรา 98
สุเทพ ยังระบุด้วยว่า คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 160 โดยระบุว่า รัฐมนตีจะต้องเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่ใช่คนที่ถูกคำพิพากษาให้จำคุก หรือริบทรัพย์ ฉะนั้นบทบัญญัตินี้ ทักษิณ จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้  และแม้ทักษิณจะเป็นบุคคลต้องห้ามทางการเมือง แต่ยังมีความพยายามที่จะเป็นผู้บงการประเทศไทย จึงได้ส่งสัญญาณให้มีสการคว่ำรัฐธรรมนูญ
“แล้วบอกเลยครับ ประกาศกันเลย โอหังมาก นี่ออกมาเคลื่อนไหวกันแล้วครับ บอกว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ผ่านประชามติวันที่ 7 สิงหาคม พวกเขาจะออกมาขับไล่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และ คสช. อ้างว่าไม่มีความชอบธรรมชอบอีกต่อไป เห็นไหมครับคนเหล่านี้ เขามีแผนมีความตั้งใจที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหาเกิดความวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะยังอยากจะกลับมามีอำนาจในประเทศไทยอยู่”สุเทพ กล่าว
สุเทพ ระบุ ด้วยว่า การออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มคนดังกล่าว ยิ่งทำให้ตนมีความตั้งใจที่จะออกไปทำหน้าที่ของประชาชน เพื่อจะกำหนดอนาคต ของประเทศไทยด้วยมือของประชาชน เพื่อพาประเทศให้รอดพ้นจากอำนาจของนักการเมือง ในระบบทุนสามานย์ ไม่ให้ประเทศตกอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างที่แล้วมา ตนจึงจะไปลงประชามติ รับรัฐธรรมรูญฉบับนี้ และรับคำถามพ่วงด้วย

ศาลทหารให้ประกัน 5 แสน แม่จ่านิว คดี 112 ปมแชท 'จ้า' พร้อมเงื่อนไขห้ามเคลื่อนการเมือง-ออกนอก

แฟ้มภาพ

4 ส.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา พัฒน์นรี ชาญกิจ เดินทางมายังศาลทหารกรุงเทพฯ กรณีอัยการทหารมีความเห็นฟ้องในคดีความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112,83,91 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 41)
ด้านจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวด้วยวงเงินจำนวน 500,000 บาท ศาลได้พิจารณาและอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาตและห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
เมื่อเวลา 17.00 น. พัฒน์รี ถูกปล่อยตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ และขั้นตอนต่อไปทนายความฯกล่าวว่า ต้องรอให้ศาลนัดวันสอบคำให้การจำเลยอีกครั้ง
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 59 ที่ผ่านมาอัยการศาลทหารมีความเห็นสั่งฟ้อง พัฒน์นรี และบุรินทร์ ในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชทผ่านเฟซบุ๊ก แต่ทนายความขอศาลทหารเลื่อนนัดพัฒน์นรี เข้ารายงานเป็นวันที่ 1 สิงหาคม เนื่องจากได้รับการติดต่อกะทันหัน ทำให้ทนายไม่สามารถเตรียมตัวได้ทันและยังไม่ได้เตรียมเงินประกันตัว และศาลอนุญาตให้เลื่อนได้
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ก่อนอัยการศาลทหารจะมีความเห็นสั่งฟ้องในครั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องพัฒน์นรีในข้อหาดังกล่าว
ทั้งนี้พัฒน์นรี ถูกออกหมายจับและตั้งข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับ บุรินทร์ อินติน เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 59 ซึ่ง บุรินทร์ ถูกจับเมื่อวันที่   27 เม.ย.59 ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จากกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” โดยเป็นการพูดคุยในลักษณะตอบข้อความผ่านช่องแชทของเฟสบุ๊คระหว่างบุรินทร์ และพัฒน์นรี และมีข้อความตอบกลับบุรินทร์ด้วยคำว่า “จ้า”