วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โค้งสุดท้ายประชามติ #1 ‘สิทธิชุมชนถูกลดทอน’

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
ภาพจาก iLaw photo (CC BY-NC-SA 2.0)

 

สิทธิชุมชนถูกย้ายหมวด ถูกลดทอน เหลือเป็นแค่หน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่สิทธิของชุมชน หวั่นรัฐจะทำหรือไม่ทำให้เกิดสิทธิชุมชนก็ได้
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้ ในประเด็นเรื่องความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมว่า สิ่งที่ขาดหายไปคือเรื่องสิทธิของประชาชน เดิมรัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิเรื่องการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550  มาตรา 17 แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีมาตราไหนที่จะเทียบเคียงรองรับกับสิทธิตรงนี้ได้
ส่วนมาตรา 67 วรรค 2 เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม การฟังความเห็น และเรื่องการถ่วงดุลโดยองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบรรจุอยู่ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ความแตกต่างอย่างสำคัญคือ เดิมมาตรานี้อยู่ในหมวดสิทธิชุมชน แต่ตอนนี้มาอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ในความเห็นของบัณฑูรถือว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก
"การที่เปลี่ยนมาตรานี้มาอยู่ในหน้าที่ของรัฐเท่ากับไปลดทอนสิทธิชุมชนที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ลง ต้องรอให้รัฐริเริ่มดำเนินการก่อน ถ้ารัฐไม่จัดให้ก็ต้องไปเรียกร้องฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการ”
“มาตรา 67 พูดถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หามาตราเทียบเคียงก็หาไม่ได้ ในขณะเดียวกันมาตรา 67 วรรค 2 เดิม โยกมาเป็น มาตรา 58 และเปลี่ยนจากที่อยู่ในหมวดสิทธิชุมชนมาเป็นหมวดหน้าที่ของรัฐ
“แต่เดิมที่บรรจุอยู่ในหมวดที่เป็นสิทธิชุมชน อย่างน้อยก่อให้เกิดความผูกผันกับหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับรอง คุ้มครอง และให้สิทธิเหล่านั้นเกิดความสมบูรณ์ แต่การที่เปลี่ยนมาตรานี้มาอยู่ในหน้าที่ของรัฐเท่ากับไปลดทอนสิทธิชุมชนที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ลง ต้องรอให้รัฐริเริ่มดำเนินการก่อน ถ้ารัฐไม่จัดให้ก็ต้องไปเรียกร้องฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการ”
ตรงนี้เป็นความพยายามแก้ให้ปัญหาการที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้ดำเนินการในเรื่องของสิทธิหลายประการ ความพยายามแก้ของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็เป็นความพยายามตั้งใจที่ดี แต่ว่าโดยวิธีการเปลี่ยนจากหมวดสิทธิกลายเป็นหมวดหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาสาเหตุที่ถูกต้อง สาเหตุที่ทำให้สิทธิที่มีอยู่แต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติเกิดจาก 3 ประการ
1.กฎหมาย ที่จะต้องออกตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดความสมบูรณ์ไม่ได้มีการออกมา
2.กฎหมายในลำดับรอง กฎหมายพระราชบัญญัติที่ต้องปรับแก้ไขให้สออดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาตั้งแต่ปี 2540 และปี 2550 ไม่ได้ถูกปรับแก้ให้สอดคล้อง ทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในโครงสร้างกฎหมาย
3.ความเข้าใจทัศนะคติของหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพ
“ดังนั้น ถ้าจะแก้ ต้องไปแก้ใน 3 ประการนี้ ไม่ใช่แก้โดยการโยกหมวดสิทธิมาอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ” 

ม.เที่ยงคืน ลั่น 3 ไม่รับ ไม่รับร่างรธน.-คำถามพ่วง-กระบวนร่างแบบอำนาจนิยม


คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์การลงประชามติ “3 ไม่รับ” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ไม่รับคำถามพ่วงและไม่รับกระบวนการจัดทำร่างรธน.แบบอำนาจนิยม ขณะเดียวกันถูกคณบดีเบรคแถลงข่าวจึงเปลี่ยนเป็นแจกอย่างเดียว
 
1 ส.ค. 2559 คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง การลงประชามติ “3 ไม่รับ” โดยเป็นการแสดงจุดยืนต่อการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยชู “3 ไม่รับ” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ไม่รับคำถามพ่วง (หรือประเด็นเพิ่มเติม) และไม่รับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยม
 
"ขอแสดงความเห็นทางวิชาการโดยสุจริตใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวมทั้งคำถามพ่วงและกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรได้รับความเห็นชอบจากมติมหาชน อย่างไรก็ตาม การลงประชามติเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่สามารถตัดสินใจได้อย่างเสรี จึงขอให้คนไทยทุกคนโปรดใช้สติปัญญาในการพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและรอบคอบ ก่อนที่จะไปลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้" มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ระบุในแถลงการณ์
 
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเติม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะมีการแถลงด้ววาจา แต่เนื่องจากได้รับคำสั่งห้ามด้วยว่าจากจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ ในวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอ้างอิงถุงคำสั่งจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนี้นั้น คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเปลี่ยนเป็นการแจกแถลงการณ์ โดยไม่มีการแถลงข่าวแทน
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง การลงประชามติ “3 ไม่รับ”

การลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอแสดงจุดยืนต่อการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยการประกาศ “3 ไม่รับ” ดังนี้
 
“ไม่รับ 1” คือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย
เป็นที่ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่มีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ด้วยการสถาปนาระบอบการปกครองที่มี “อภิชนเป็นใหญ่” ดังจะพบว่าแม้ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เปิดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการสรรหาโดยมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างเบาบาง นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระอย่างไพศาลในการเข้ามาทำหน้าที่กำกับและตัดสินความขัดแย้งต่างๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่านับตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความเข้มข้นมากขึ้น องค์กรต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจทำหน้าที่เกื้อหนุนให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง นอกจากนี้ การที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรอิสระมาจากการสรรหาโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน ย่อมทำให้ขาดความชอบธรรมและขาดการยอมรับจากทุกภาคส่วน การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระเหล่านี้จึงมีแต่จะทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับความยุ่งยากมากขึ้น การร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้สถาบันการเมืองที่ไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนมีอำนาจเหนือกว่าสถาบันการเมืองที่สัมพันธ์กับประชาชน เช่น รัฐสภาและรัฐบาล ในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่เอื้อให้สังคมไทยจัดการกับความขัดแย้งและเดินหน้าได้อย่างสันติ หากแต่จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
 
“ไม่รับ 2” คือไม่รับคำถามพ่วง (หรือประเด็นเพิ่มเติม)
การกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น หากพิจารณาควบคู่ไปกับอำนาจในการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกในระยะแรกเริ่มซึ่งเป็นอำนาจของ คสช. เป็นหลัก ก็ย่อมทำให้เห็นได้ชัดว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้เปิดช่องให้กับ “นายกฯ คนนอก” นั่นเอง เพราะวุฒิสมาชิกจะกลายเป็นกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการให้ความเห็นชอบแก่ผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 
“ไม่รับ 3” คือไม่รับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยม
นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง ซึ่งทำให้สังคมไทยต้องสูญเสียทั้งเวลา ทรัพยากร งบประมาณ (อย่างน้อย 3,000 ล้านบาท) แต่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตย และไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่สำคัญคือกระบวนการร่างที่มีการผูกขาดอำนาจและใช้อำนาจในการออกแบบและกำหนดบทบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เปิดโอกาสแก่การถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเสรี ไม่ใส่ใจในความรู้และบทเรียนของคนแต่ละกลุ่มในสังคม ไม่เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย อาจกล่าวได้ว่าอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกอยู่ในกำมือของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลมาจากมุมมองและเป้าหมายทางการเมืองของคนจำนวนเพียงหยิบมือเดียว แทนที่จะเกิดจาก “วิสัยทัศน์ร่วม” ของคนทั้งหมดในสังคมซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกระบวนการที่เปิดกว้างและเสรีเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอแสดงความเห็นทางวิชาการโดยสุจริตใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวมทั้งคำถามพ่วงและกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรได้รับความเห็นชอบจากมติมหาชน อย่างไรก็ตาม การลงประชามติเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่สามารถตัดสินใจได้อย่างเสรี จึงขอให้คนไทยทุกคนโปรดใช้สติปัญญาในการพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและรอบคอบ ก่อนที่จะไปลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1 สิงหาคม 2559

เลิก!จัดเสวนาประชามติ ม.อุบลฯ เหตุผู้ว่าฯ กังวลขัด พ.ร.บ.ประชามติ


ยกเลิกการจัดงานการเสวนา ‘การลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมและนัยต่อประชาธิปไตยไทย’ ที่ ม.อุบลฯ เนื่องจาก ผู้ว่าฯ และมหาวิทยาลัย กังวลกระทบ พ.ร.บ.ประชามติ แม้ทหารอนุมัติให้จัดงานได้
1 ส.ค.2559 เวลา 16.00 น. ฐิติพล ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โพสต์ผ่านเฟซบุคส่วนตัว Titipol Phakdeewanich ประกาศยกเลิกการจัดงานการเสวนา ‘การลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมและนัยต่อประชาธิปไตยไทย’ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 2 ส.ค.2559 ที่ห้อง CTB201 ชั้น 2 อาคารศูนย์เครื่องมือกลางและปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยากร จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, รศ.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ตรีเนตร สาระพงษ์  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีผู้ดำเนินรายการ  ฐิติพล ภักดีวานิช
ฐิติพล กล่าวว่า การจัดงานเสวนาครั้งนี้ตั้งใจจะเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งกลุ่มที่เห็นและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะลงประชามติ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งแม้ในงานจะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมาร่วมงานแต่ก็คิดว่าจำเป็นเพราะมองว่ากลุ่มคนที่เห็นด้วยกับร่างฯมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนมากอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยถูกจำกัดพื้นที่ในการแสดงความเห็น การจัดเสวนาจึงใช่การจัดเพื่อขัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการจัดให้คนที่คิดต่างได้เจอกัน เป็นงานวิชาการ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคิดว่าจำเป็นมากในเวลานี้ที่จะมาพูดคุยกัน
‘ทหารอนุมัติให้มีการจัดเสวนา ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมาก็ได้มีการขออนุญาต มณฑลทหารบกที่.22(มทบ.22) มาโดยตลอดก็ได้รับการอนุมัติเพราะการจัดงานที่ผ่านมาไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็นงานวิชาการ เน้นเรื่องความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหา และทหารไม่เคยมองว่าส่งผลกระทบต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ ขัดต่อความสงบ งานครั้งนี้ก็เช่นกันทหารอนุมัติให้จัด สักครู่ยังมีทหารโทรมาสอบถามเพื่อแสดงความกังวลใจต่อมหาลัยในการยกเลิกการจัดกิจกรรมเสวนา’ ฐิติพล กล่าว
ฐิติพล กล่าวต่อว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นมติของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่จัดงานเสวนาครั้งนี้เพราะเคยจัดงานลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นการร่วมมือของเครือข่ายนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆมาร่วมแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะจัดงานเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยเกิดขึ้น แต่การระงับการจัดเสวนาครั้งนี้เนื่องจากทางจังหวัดและมหาวิทยาลัยเกรงว่าอาจจะหมิ่นต่อ พ.ร.บ.ประชามติ และไม่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาหรือไม่
 ‘ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอให้ระงับการจัดเสวนา เพราะเห็นว่าในวันนี้ทางจังหวัดก็ได้จัดงานเกี่ยวกับเรื่องประชามติแล้ว แต่เรามองว่ายิ่งมีหลายหน่วยงานจัดก็จะยิ่งดีในภาพรวม นโยบายใหม่ของ คสช.ส่วนกลาง ให้จัดงานกิจกรรมลักษณะนี้ได้ และไม่ให้ทหารในเครื่องแบบเข้ามาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหน่วยงานราชการยังไม่ทันเข้าใจนโยบายส่วนนี้จึงเป็นปัญหาเกิดขึ้น’ ฐิติพล กล่าว

ไพศาล ชี้หากคนมาโหวตไม่ถึงครึ่ง ไม่ถือเป็นประชามติ เป็นได้แค่มติของเสียงข้างน้อย


1 ส.ค. 2559 ไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภาและกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Paisal Puechmongkol' ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน แสดงความเห็นทางการเมืองระบุว่า ตนสังหรณ์ใจว่า ผลการลงประชามติครั้งนี้ พวกทำโพลอาจจะแพ้พวกหมอดู
โดยไพศาล ระบุว่า
"1. ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งประเทศมีจำนวน 51 ล้านคน พวกทำโพลอ้างว่า จะมีผู้ไปใช้สิทธิ์ ถึง 87% หรือกว่า 40 ล้านคน แต่พวกหมอดูว่า จะพลิกล็อคเพราะคนไปใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งไม่เป็นประชามติ
2. การลงประชามติ ก็เพื่อเอาเสียงข้างมากไปตัดสินในมติที่จะให้ลงนั้น ดังนั้นถ้าหากมีผู้ไปลงประชามติไม่ถึง 25.5 ล้านคน ก็จะเป็นแค่ มติของเสียงข้างน้อย ไม่ใช่ประชามติ
3. ถ้าประชาชนไปใช้สิทธิ์ไม่ถึง 25.5 ล้านคน หรือ เพียงสิบกว่าล้านคน ก็จะมีผลเป็นมติของคนข้างน้อย ไม่ใช่ประชามติ หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ให้ราคากับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และประชาชนต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องใคร่ครวญให้จงหนัก
เราคอยดูกันครับว่า มีผู้ไปใช้สิทธิ์ เกิน 25.5 ล้านคนหรือไม่ จะได้รู้กันว่าโพลหน้าแตกหรือหมอดูหน้าแตก"  ไพศาล ระบุ

เคาะแล้วตัวเลขฟ้องยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว 2.86 แสนล้าน ชี้เป็นบทเรียนสอนขรก.รุ่นใหม่


1 ส.ค. 2559 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังพูดคุยกับ จิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงและความผิดทางละเมิดที่เข้ารายงานโครงการรับจำนำข้าวและกระบวนการรวมถึงการระบายสต๊อกข้าวที่มีปัญหา ว่าได้รับทราบตัวเลขฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งในโครงการรับจำนำข้าวกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้วจำนวน 286,639.6 ล้านบาท ส่วน บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพวก จำนวน 18,743.7 ล้านบาท นอกจากนี้ยังรับทราบตัวเลขในส่วนของข้าวคงค้างการระบาย อยู่ที่จำนวน 13.357 ล้านตัน แต่ได้ส่งออกไปยังต่างประเทศแล้วไม่ถึง 1 ล้านตัน
“ข้อมูลดังกล่าวจะส่งไปยังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.)ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อเตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป ขอยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน และไม่เคยเลือกปฎิบัติหรือลำเอียง ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาตามกลไกข้าราชการ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกกระทรวง และถือเป็นบทเรียนที่จะสอนข้าราชการรุ่นใหม่ ต้องรอบคอบไม่เร่งรีบ ผลีผลามและไม่ให้ทำอะไรตามอำเภอใจ” ม.ล.ปนัดดา กล่าว
ด้าน จิรชัย กล่าวว่า เป็นการรายงานสถานการณ์เรื่องข้าวโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ความเสียหายในส่วนของ ยิ่งลักษณ์ จำนวน 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเคยให้การต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไป โดยเป็นตัวเลขที่ต้องรอคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ต้องพิจารณาอีกรอบหนึ่ง
ในส่วนของนายบุญทรง ที่เป็นค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบจีทูจี จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท แต่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง พิจารณาแล้วเห็นว่าควรปรับเพิ่มเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็น 2 หมื่นล้านบาท และเรื่องการระบายข้าวในสต็อกข้าวและข้าวคงเหลือในสต็อก ของรัฐบาลในอดีต โดยทั้งหมดจะมีการรายงานต่อที่ประชุม นบข.รับทราบ ในวันที่ 3 ส.ค.