วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หมอวรงค์เผยลางสังหรณ์วันประชามติ คงได้เห็นประชาชนสั่งสอนพวกบิดเบือนประชาธิปไตย


24 ก.ค. 2559  นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Warong Dechgitvigrom' ในลักษณะสาธารณะ ถึงความเห็นต่อการลงประชามติ โดยระบุว่า 
"ผมมีลางสังหรณ์ว่า วันออกเสียงประชามติ คงได้เห็นประชาชน ออกมาสั่งสอนพวกที่ชอบเอาประชาธิปไตยมาหากินเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยเฉพาะพวกบิดเบือนประชาธิปไตย ที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งแล้วทำอะไรก็ได้ วันที่มีอำนาจกลับไม่สนใจประชาชน
ผมฟังเสียงสะท้อน ทุกคนไม่ต้องการประชาธิปไตยจอมปลอม เผาบ้านเผาเมือง ซื้อ ส.ว. กกต.ติดคุก ลืมถุงขนมที่ศาล จังหวัดไหนไม่เลือกไม่ได้งบ จาบจ้วง ใช้ความรุนแรง ออกกฏหมายล้างผิด โกงแบบไม่แคร์ สร้างกระแสถ้าแบ่งกันไม่เป็นไร ผิดไม่ยอมรับผิด ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม แล้วมาอ้างว่านี่คือประชาธิปไตย
คนจำนวนมากสะท้อนว่า เบื่อความวุ่นวาย รำคาญพวกป่วนเมือง อยากได้ประชาธิปไตยเพื่อชาวบ้านไม่ใช่เพื่อนายทุน ลองติดตามดูน่ะว่า ลางสังหรณ์นั้นจะเป็นจริงหรือไม่"  นพ.วรงค์ ระบุ

ปชป.เรียกร้องทุกฝ่ายเคารพจุดยืนผู้เห็นต่างลงประชามติ รธน.


พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องทุกฝ่ายให้เกียรติและเคารพจุดยืนของทั้งผู้เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
 
24 ก.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ออกมาแสดงจุดยืนเห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญพร้อมเหตุผลประกอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะแสดงออกถึงจุดยืนของตนและหมู่คณะ เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าในโลกสื่อโซเชียลได้มีปฏิกิริยาแสดงออกต่อผู้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่แสดงออกว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะแม้เราจะมีความเห็นต่างหรือแย้งกับผู้ที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ควรใช้ถ้อยคำที่ รุนแรง ก้าวร้าว บิดเบือนข้อเท็จจริงโจมตีกันโดยไม่มีเหตุผล แต่ควรให้เกียรติและเคารพในความเห็น จุดยืนที่แตกต่าง
 
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ออกมาแสดงจุดยืนเห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญพร้อมเหตุผลประกอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะแสดงออกถึงจุดยืนของตนและหมู่คณะ เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าในโลกสื่อโซเชียลได้มีปฏิกิริยาแสดงออกต่อผู้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่แสดงออกว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะแม้เราจะมีความเห็นต่างหรือแย้งกับผู้ที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ควรใช้ถ้อยคำที่ รุนแรง ก้าวร้าว บิดเบือนข้อเท็จจริงโจมตีกันโดยไม่มีเหตุผล แต่ควรให้เกียรติและเคารพในความเห็น จุดยืนที่แตกต่าง
 
“เพื่อให้การทำประชามติเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น ควรคำนึงถึงพื้นฐานที่สำคัญ คือ ไม่ควรสร้างบรรยากาศการทำประชามติ เป็นเรื่องการเอาชนะคะคานกันโดยไร้เหตุผล ไม่ว่าผลการทำประชามติจะออกมาว่าเห็นชอบหรือ ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตามไม่ควรเป็นเรื่องแพ้ ชนะ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรทำให้ผลการทำประชามติเป็นชัยชนะร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งการทำให้เกิดชัยชนะร่วมกันของทุกฝ่ายได้ ต้องช่วยกันทำให้ผลการทำประชามติเกิดความชอบธรรมจึงควรละเว้นการกระทำใดๆที่จะก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรม และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้ความเคารพจุดยืนที่แตกต่างของกันและกัน พร้อมที่จะรับฟังความเห็นต่างด้วยเหตุผล” นางองอาจ กล่าว

ตระกูล 'บูรณุปกรณ์' แจงไม่เกี่ยว จม.บิดเบือนร่าง รธน. ที่เชียงใหม่


นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่แจงตระกูล "บูรณุปกรณ์" ไม่เกี่ยวแจกจ่ายจดหมายบิดเบือนร่าง รธน. ที่เชียงใหม่ ด้าน นายก อบจ.เชียงใหม่ ระบุไม่หนีไปต่างประเทศ แค่ไปเยี่ยมลูกสาว
 
24 ก.ค. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าจากกรณีเจ้าหน้าที่ค้นบริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด ถ.เชียงใหม่-สันกำแพง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกันกับบ้านของนายวิศรุต คุณะนิติสาร อายุ 35 ปี ถูกดำเนินคดีแจกจ่ายจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญตามตู้ไปรษณีย์ในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งในบริษัทพบของกลางจำนานมากที่เกี่ยวข้องกับการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นซองจดหมาย เครื่องปริ๊นเตอร์ คอมพิวเตอร์ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการบิดเบือนเนื้อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น 
 
นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนพอจะทราบเรื่องดังกล่าวอยู่บ้างจากข่าวที่ออกมา แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายบ้านเมืองและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงผู้กระผิด ทำผิดอะไรไว้ก็รับโทษกันไปตามกฏหมาย 
 
ส่วนเรื่องการเกี่ยวข้องกับตระกูลบูรณุปกรณ์นั้น ส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างทำงาน ขณะที่ทางด้านของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไปต่างประเทศจริง เพื่อเยี่ยมลูกสาวในต่างประเทศ ซึ่งได้แจ้งลาล่วงหน้าแล้ว ไม่ได้หลบหนีตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง พร้อมยืนยันความบริสุทธ์เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศ

ชาวบ้าน 11 เครือข่ายประกาศชัด Vote NO ไม่รับร่าง รธน.


เก็บประเด็นเหตุผลชาวบ้าน 11 เครือข่าย ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ผิดตั้งแต่ที่มา ริดรอนสิทธิเสรีภาพ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำลายความเข้มแข็งภาคประชาชน มองคนไม่เท่ากัน ยันชัดทำ 1 สิทธิ 1 เสียง ไร้ความหมาย
24 ก.ค. 2559 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเวที “เสียชาวบ้านกับร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ” ซึ่งเวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน ซึ่ง 43 องค์กรร่วมจัดขึ้น และสำหรับเวทีเสียงชาวบ้านครั้งนี้มีเครือข่ายชาวบ้านร่วมเวทีทั้งหมด 11 เครือข่ายประกอบด้วย 1.เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ 2.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 3.สมัชชาคนจน 4. เครือข่ายสลัม 4 ภาค 5.เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ 6.เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ 7.สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง 8.กลุ่มคนงานย่านรังสิต 9.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 10.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจาก ม.44 และคำสั่ง คสช. และ 11.เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas)
จะรับร่างได้อย่างไร เมื่อรัฐธรรมนูญยังมองคนไม่เท่ากัน
สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ เริ่มต้นการแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยระบุว่า หลังจากปี 2545 ประเทศไทยได้เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบที่ให้ประชาชนได้เข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ซึ่งคำว่า เสมอภาค และเท่าเทียมกัน มีนัยคัญคือ เมื่อใดก็ตามที่เข้ารักการรักษาผู้ใช้บริการไม่ต้องแสดงให้เห็นถึงความยากจน ทุกคนเป็นคนไทยที่มีเลขประจำตัวประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
“ในมาตรา 51 ในรัชฐธรรมนูญปี 2550 ในนั้นเขียนว่า บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตราฐาน สังเกตุคำว่า เสมอกัน นะครับไม่มีอย่างอื่น ฉะนั้นกฎหมายลูกจึงได้มีการจัดตั้งระบบประกันสุขภาพได้และจัดบริการให้กับคนทุกคน แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ในมาตราที่ 47 เขียนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และช่วงหนึ่งเขียนอีกว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สิ่งที่หายไปก็คือสิทธิด้านการรักษาของประชาชนออกไป แล้วให้เหลือเฉพาะผู้ยากไร้” สมชาย กล่าว
สมชายวิเคราะห์ว่า เรื่องระบบประกันสุขภาพที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนทุกคนอาจจะไม่ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันอีกต่อไป และมีลักษณะของการให้บริการในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ได้มองว่าสิทธิเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนพึ่งมีพึ่งได้
“ข้อสังเกตุของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญนี้ มันเป็นการเอาสิทธิของประชาชนออกไป และเมื่อเอาสิทธิออกไปแล้ว สิ่งที่เขาทำ ซึ่งทำก่อนที่จะมีการลงประชามติด้วยซ้ำไปคือ การทำระบบรับลงทะเบียนคนจน ฉะนั้นมันมีเจตนารมย์ที่สอดรับกันระหว่างสองเรื่องนี้ นอกจากลดทอนสิทธิแล้ว การลงทะเบียนการหาว่าใครคือคนจน อันนี้มันการริดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ของคน ฉะนั้นพวกเราไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ริดรอนสิทธิ และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” สมชาย กล่าว
การกระจายการถือครองที่ดินอาจจะไม่มีอยู่จริง
“แต่ว่าการกระจายการถือครองที่ดินในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ เขียนไว้ในมาตราที่ 72 ในแนวนโยบายแห่งรัฐ เขียนไว้กว้างๆ ว่ารัฐพึ่งกระจายการถือครองที่ดิน เขียนไว้แค่นี้ คือทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ประเทศไทยปฎิรูปที่ดินมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ก็ทำไม่สำเร็จจนกระทั่งปัจจุบัน ฉะนั้นการมาเขียนไว้ง่ายๆ ว่ารัฐพึ่งกระจายการถือครองที่ดิน มันก็เป็นเรื่องสิ้นหวัง” อุบล อยู่หว้า กล่าว
อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก ได้ระบุถึงประเด็นการกระจายการถือครองที่ดินในร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่สิ้นหวัง ด้วยเหตุว่าไม่ได้มีการที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงว่ารัฐจะต้องดำเนินการปฎิรูปการถือครองที่ดิน มีแต่เพียงแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่อาจจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้
คนจนคือผู้ได้รับผลกระทบมาตลอดหลังจากการเข้ามาของ คสช.
ไพฑูรย์ สร้อยสอด สมัชชาคนจน ได้แถลงถึงจุดยืนของสมัชชาคนจนว่า หลังจากการเข้ามาของ คสช. คนจนกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งเรื่องการทวงคืนผืนป่า ซึ่งแม้จะการกำหนดว่าจะไม่ให้ส่งผลดระทบต่อผู้ยากไร้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นคนจนเป็นกลุ่มแรกที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่ เขากล่าวต่อว่า แม้แต่กรณีการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร ซึ่งโครงการถูกหยุดพักไป คสช. ก็ได้มีการดำเนินโครงการต่อ โดยไม่มีการรับฟังความคิดของชาวบ้าน
"สิ่งเหล่านี้ที่เขาทำคือ การทำร้ายคนจน เขาพยายามจะกดหัวเราไม่ให้เราได้แสดงออก ฉะนั้นพวกเรารับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้" ไพฑูรย์ กล่าว
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดทอน และทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้แถลงจุดยืนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดทอน และทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่การดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง
เขากล่าวต่อไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พื้นที่ทางการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ ลดทอนอำนาจ ศักดิ์ศรความเป็นมนุษย์ของประชาชน ไม่เหลือพื้นที่การมีส่วนร่วมในการบวนการใช้อำนาจทางการเมือง ประชาชนจะไม่สามารถกำกับสถาบันทางการเมือง หรือกลไกต่างๆ ทางการเมืองได้เลย และร่างจะก่อให้เกิดสภาวะระบบข้าราชการเป็นใหญ่ ทำให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตัวแทนสประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง จะถูกกำกับถูกควบคุมโดยกลไกจากองค์กรต่างๆ ที่มาจากการแต่งตั้ง และองค์กรเหล่านี้มีอำนาจมีบทบาทมากกว่าตัวแทนของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งเข้าไป
“ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ 1 สิทธิ 1 เสียง ของประชาชนเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ หรือมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นแต่อย่างใด เมื่อไร้สิทธิเสรีภาพ ก็ไร้อำนาจการต่อรองทางการเมือง และจะถามหาสิ่งที่เป็นเรื่องของความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ประชาชนพอจะลืมตาอ้าปาก ได้พัฒนาชีวิความเป็นอยู่ ถ้าระบบสูงสุดผิดพลาดคลาดเคลื่อนและบิดเบือนไปจากสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ประชาชนทั้งหลายจะกลายเป็นเหยือสังเวยอำนาจไปโดยปริยาย รัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของบ้านเมืองจะนำพาประเทศชาติไปสู่หายนะ” สุรพล กล่าว

เครือข่ายประชาชนประกาศ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”


24 ก.ค. 2559 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงาน "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประชาชน" ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาคนจน-สลัมสี่ภาค-กลุ่มรัฐสวัสดิการ-เหมืองแร่-เกษตรทางเลือก-เครือข่ายพลเมืองเน็ต-เอฟทีเอวอทช์-เครือข่ายกระเหรี่ยง-ประชาชนเจ้าของแร่-การศึกษาทางเลือก ประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอมุมมองปัญหาอันหลากหลายของแต่ละกลุ่ม พุ่งตรงปมปัญหาในร่างมีชัย รายละเอียด มีดังนี้

ชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า “พวกเราพาสังคมเดินมาถึงจุดที่ได้รับสิทธิถ้วนหน้า หลุดพ้นจากการสงเคราะห์มาแล้วกว่า 15 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มีการเลือกว่าคนรวยหรือจน ฉะนั้น ณ วันนี้ การที่รัฐจะมาออกนโยบายขึ้นทะเบียนคนจนเป็นการตีตราแบ่งแยกชนชั้นประชาชน ทั้งที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เราต้องเท่าเทียมกัน รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสวัสดิการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน”

“ปัจจุบันรัฐมีสวัสดิการแล้วสามเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญควรรับรองสิทธิถ้วนหน้าจากรัฐ แต่มาตรา 47และ 48 เห็นว่ามีการแบ่งแยก ทุกมาตรามีคำว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร”

“เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานและลดทอนผู้ยากไร้ เป็นการสงเคราะห์ เป็นการตีตราคนจน การลงทะเบียนคนจนจะทำให้สวัสดิการทั่วหน้าไม่มีอีกต่อไป เครือข่ายฯ จึงขอประกาศว่าเราไม่เห็นชอบร่างร่างรัฐธรรมนูญที่เลือกปฏิบัติและลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวว่า “ตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ที่มีการยึดอำนาจ สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย แต่หลังจากวันนั้นเกือบสองปีเราแทบไม่มีเวทีพูดคุยกับประชาชน วันนี้เราของแถลง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวคนจน”

เขากล่าวว่า จากการที่ คสช. ยึดอำนาจ 26 เดือนมาแล้ว ผลการบริหารงานก่อให้เกิดความเดื้อดร้อนและละเมิดสิทธิคนจนำนวนนมาก เช่น โครงการทวงคืนผืนป่า โครงการสร้างเขื่อน การไล่รื้อคนจนเมือง การไม่อุดหนุนราคาผลผลิตการเกษตร การปล่อยให้แรงงานถูกเลิกจ้างโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือ มีการเรียกตัวผู้นำชาวบ้านไปปรับทรัศนคติ มีความพยายามจะยกเลิกสวัสดิการของประชาชน เช่น การให้ร่วมจ่ายในหลักประกันสุขภาพ การปลดคณะกรรมการประสังคม การพยายามลดค่าตอบแทนผู้สูงอายุ การพยายามขึ้นทะเบียนคนจน และยังแต่งตั้ง สนช. สปท. ออกกฎหมายที่ทำร้ายและลิดรอนสิทธิคนจน เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้ง กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างรัฐธรรมนูญสามานย์ฉบับนี้ พยายามเปิดช่องให้มีนายกฯ จากคนนอก ตระเตรียมเป็นกระบวนการให้มีบทเฉพาะกาล ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจเลือกนายกฯ

“พวกเราไม่สามารถไว้ใจและรับรองร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ ดังนั้น 7 ส.ค.นี้เราจะไปโหวตโน”

จำนงค์ หนูพันธ์ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เมื่อเกิดรัฐประหารสลัมสี่ภาคไม่ยอมรับมาตลอด เมื่อมาเจอเรื่องร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาหลายเรื่อง สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานเราก็ไม่มี เราจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนว่า ร่างรรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน คลุมเครือทุกอย่าง และเรื่องของพรรคการเมืองก็ปิดกั้นทุกอย่าง แล้วยังมาวางยุทธศาสตร์ยาวให้ประเทศชาติอีก เราจึงขอแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และขอแถลงว่า คนสลัมรู้ทันร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ลดอำนาจประชาชน ลดความสำคัญของการเลือกตั้ง ขอแถลงท่าทีว่า 1. เห็นว่ากระบวนการก่อนลงประชามติ รัฐไม่มีความจริงใจให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลเนื้อหาอย่างรอบด้าน เนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับไม่ถูกกล่าวถึง 2.เราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งทำให้คนทุกคนมีส่วนกำหนดตัวนายกฯ และนโยบายที่ประชาชนต้องการ

แววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย
เธอกล่าวว่า ทรัพยากรเป็นของประชาชนทุกคน ในยุคเผด็จการคสช. เราเฝ้าติดตามดูสถานการณ์บ้านเมือง ทั้งปัญหาสัมปทาน สำรวจการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ และการละเมิดสิทธิของประชาชน รัฐบาลคสช. ขอเสนอประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ออกกฎหมายปิดกั้นการชุมนุม เหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับนักลงทุนปกป้องผลประโยชน์ของกันและกัน มาร่วมขุ่มขู่ บังคับ และฟ้องคดีประชาชน 2. สนช.ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไขกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยให้กันเขตเหมืองแร่ออกจากพื้นที่หวงห้าม เพราะที่ผ่านมากฎหมายไม่อนุญาตให้บริษัทมีสิทธิในที่ดินของตนเอง ทำให้ต้องขออนุญาตสัมปทาน ยุ่งยากเดินเรื่องหลายขั้นตอน เกิดความล่าช้า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในไทยเข้าสู่ทางตีบตันพอสมควรในการสัมปทานพื้นที่ใหม่ ที่ผ่านมาตลอดร้อยปีก็ต่อสู้กันเรื่องนี้ จนสบโอกาสในรัฐบาลคสช. ที่เห็นโอกาสว่า mining zone ก็ไม่ต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเสษและมีการปรับปรุงพ.ร.บ.แร่ทั้งฉบับ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นคือ หลักการของไมนิ่งโซนกดทับกฎหมายหลักหลายฉบับ ทำให้พื้นที่ทุกประเทศที่ไม่เหมาะกับกิจกรรมเหมืองแร่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม 3.ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตยจะดีพอหรือไม่ก็ตาม แต่เราต้องการให้การออกกฎหมายต่างๆ มีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผ่านการได้ตัวแทนที่ยึดโยงกับเสียงประชาชนเท่านั้น ซึ่งส.ว.แต่งตั้งไม่ได้สะท้อนหรือยึด

“เราจะผลักดันให้ยกเลิกเพิกถอน พรบ.ชุมนุม ไม่ขอรับร่างกฎหมายแร่ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้”

“เราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ โดยการไปใช้สิทธิออกเสียงโหวตโน, ไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่างร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” กับคำถามพ่วง”

พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือและกลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาของประชาชนชาวกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่ามายาวนานจนเกิดกฎหมายป่าไม้ที่ต้องการจะขายไม้ในช่วงแรกและให้สัมปทานนายทุน จากนั้นก็เข้าสู่ยุคอนุรักษ์ประกาศกฎหมายอีกมากมายที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เดือดร้อน จนกระทั่งนโยบายทวงคืนผืนป่า หลายหมู่บ้านติดคุกติดตะรางกันทั้งหมู่บ้าน ต่อมามีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เอื้อให้กับสิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังพอใช้ได้

“เขาบอกวันที่ 7 สิงหา ฮะ!! อะไร เข้าพรรษาเหรอ วันเตะฟุตบอลเทศบาลเหรอ จนลงมากรุงเทพฯ มาเอาร่างรัฐธรรมนูญ ก็อ่านไม่รู้เรื่อง ก็คุยกับนักวิชาการ เรื่องของพวกผมอยู่ในมาตรา 70 หมวดแนวนโยบาย คำว่าแนวคือทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อยากให้ไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ และขอให้แก้ไขเนื้อหาในมาตรา 70  เป็นรัฐต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ต่างๆ และขอตัดทิ้ง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ถามว่าใครเป็นคนตัดสิน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาวะอนามัย เขาทำเป็นยื่นให้นิดหน่อยแต่เอาชีวิตผมไปหมดเลย และเรื่องที่สาม เรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ทั้งนี้ เป็นไปตามที่รัฐจะให้หรือไม่ เราควรมีสิทธิ สิทธิเป็นของผมอยู่แล้วไม่ใช่รัฐจะให้หรือไม่ให้”

“ตอนนี้คนดอยไม่รู้ คนดอยชอบคิดว่า เอาไปซะ ให้เขาไปๆ ซะ แต่หารู้ไม่เขาจะได้อยู่ต่อยาว” พฤกล่าว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอวอทช์ กล่าวว่า ในมาตรา 178 กมธ.ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากมาตรา 190 เดิม (เรื่องการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ) ซึ่งมองว่ากระทบหลักสำคัญ กัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล ตัดส่วนที่กำหนดให้ ครม.ชี้แจงให้ข้อมูลตั้งแต่จัดทำกรอบเจรจา, ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตัดที่ ครม.ต้องเสนอกรอบให้ความเห็นชอบ, กมธ.ยังกำหนดว่าถ้ารัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จใน 60 วันให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ, สาม ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหารเอง ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจา ทำให้ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจต่อรอง, สี่ จำกัดประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา ตัดเนื้อหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่จะช่วยทำให้การทำข้อตกลงมีความรอบคอบ ดังนั้น ตนเองจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และพร้อมเข้าร่วมเวทีถกแถลงถกเถียงเรื่องนี้อันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า จะโหวตไม่เห็นชอบ เพราะสิทธิเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติในทันที ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะหยิบยื่นให้ เอาสิทธิจำนวนมากไปเขียนในแนวนโยบายแห่งรัฐ “สิทธิมีได้ตามวิธีการและกฎหมายบัญญัติ” เครือข่ายขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ทำกินกับการเพาะปลูกต้องได้รับสิทธิที่จะมีที่ดินทำกิน ประเด็นนี้เราทำไม่สำเร็จ เช่น กรณี สปก. ที่ห้ามซื้อขายแต่ก็ยังทำกันทั้งแผ่นดิน ทำให้เห็นว่าต้องมีหลักประกันในระดับรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สอง สิทธิการถือครองปัจจัยการผลิต เราล่อแหลมว่าจะมีกฎหมายละเมิดต่อวัฒนธรรมชุมชน สิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนต้องไปด้วยกัน
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นที่ทำงานร่วมกับตัวรัฐธรรมนูญนี้ สิ่งที่เรากลัว คลางแคลงใจในตัวร่างรัฐธรรมนูญ จริงๆ ทำงานมาก่อนแล้ว มีสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว มีอะไรมาข้องเกี่ยวอยู่บ้าง ถ้าดูร่างมาตราสุดท้าย 279 บอกว่า ประกาศ คำสั่งใดๆ ที่ประกาศใช้มาของ คสช.เองหรือ หัวหน้า คสช. ให้ใช้ต่อไปและมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ไขต้องออก พ.ร.บ. เข้าใจว่า ขณะนี้คำสั่งและประกาศต่างๆ น่าจะมีเกือบสามร้อยฉบับแล้ว

ยกตัวอย่างตั้งแต่รัฐประหารมีคำสั่งหลายอันที่ควบคุมอินเทอร์เน็ต สุดท้ายเกิด คณะกรรมการติดตามสื่อสังคมออนไลน์ ทำงานร่วมกับไอซีที ตั้งคณะทำงานอีกชุด เข้าไปถอดรหัส สิ่งที่เราส่งส่วนตัว เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เขาสามารถดูได้ คณะกรรมการต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีอายุต่อไปอีก ตราบใดที่ประกาศนี้ยังชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีการออก พ.ร.บ.ออกมาแก้ไข
มาตรา 60  เรื่องคลื่นความถี่ เดิมในรัฐธรรมนูญ 2550  อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ มาตรา 47 มีความเชื่อมโยงว่าประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ของตัวเอง ดังนั้น จึงมีการบริหารคลื่นความถี่ไว้ในหมวดนี้ แต่ร่างนี้ ปรับเปลี่ยนหมวด จากสิทธิเสรีภาพ ไปหมวดหน้าที่ของรัฐ และเปลี่ยนสาระสำคัญคือ สิ่งที่หายไป มีการตัดคำว่า ตัวองค์กรบริหารคลื่นความถี่ ต้องจัดให้มีการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ เดิมในมาตรา 47 กำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ก็หายไปเหมือนกัน สุดท้ายที่หายคือ ในการจัดกิจการสื่อสารมวลชนต่างๆ ตัวองค์กรจะต้องปกป้องไม่ให้มีการขัดขวางเสรีภาพหรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน แต่มาตรา 60 ใช้คำว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชน ต่อไป กสทช.ก็มีอำนาจที่จะตัดสินว่า ข้อมูลแบบไหนถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

กนกพร สบายใจ ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า เรื่องการศึกษาทางเลือกได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ร่างนี้ตัดทิ้งไป โดยที่เราไม่เข้าใจทั้งที่มันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากล ในกฎหมายใหญ่ควรเขียนเรื่องหลักการที่จะให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกการศึกษาและหลักการที่จะได้รับการสนับสนุนสวัสดิการที่ถ้วนหน้าที่รัฐจัดให้ ยังมีปัญหารวมศูนย์จัดการศึกษาไว้ทุกด้านทุกระบบไว้ที่รัฐ สิ่งที่ควรทำคือ ควรร่างให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, สิทธิมนุษยชน, เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เป็นกลไกหลักของสากล ที่ระบุเรื่องการศึกษาไว้ชัดเจน ทั้งนี้ มีข้อเสนอ คือ หนึ่ง การจัดการศึกษาเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยได้ สอง รัฐส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับจัดการศึกษาได้ สาม เด็กและผู้เยาว์ควรได้รับสิทธิในการไม่เลือกปฏิบัติ สี่ รัฐธรรมนูญควรบัญญัติสาระหลักตามกติกาสากลที่ไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะการส่งเสริมสิทธิต่างๆ เขียนหลักการไว้อย่างชัดแจ้ง และไม่เปิดช่องให้กฎหมายลูกบัญญัติบิดพริ้วไปจากหลักสากล

สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า หลังรัฐประหารมีการปิดกั้นคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนในวงกว้าง คำสั่งเรื่อง สปก. จริงๆ แล้วพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของเกษตรกร รวมแล้วไม่น้อยกว่าพันครอบครัว ออกโดยมาตรา 44 สื่ออาจเห็นว่าเป็นเรื่องไล่นายทุน แต่ในพื้นที่สุราษฎร์นั้นไม่ใช่ การขับไล่คนจนออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่และทำกิน จะทำให้คนเหล่านี้เป็นแรงงานเร่ร่อนรับจ้าง จึงขอประกาศจุดยืน 1. ร่างนี้ลดทอนทำลายหลักฐานพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย 2.ร่างนี้ทำให้พื้นที่ทางการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ ลดทอนจนประชาชนไม่เหลือพื้นที่มีส่วนร่วมในทางการเมือง 3.ระบอบราชการจะเป็นใหญ่ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเพราะถูกควบคุมจากองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง 4.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะจะถูกปิดกั้น 5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ จะถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ  6. ไม่มีการรับรองสิทธิเกษตรกรและไม่คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พร้อมขอเรียกร้องเร่งด่วนให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 ต้องการให้กองทัพหรือทหารหยุดแทรกแซงการทำงานของระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย สกต.ขอประกาศต่อสาธารณะว่าไม่สามารถรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
สุภาพร มาลัยลอย ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 และประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. กล่าวว่า มีหลายคำสั่งกระทบต่อประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยฯ ข้อ12 ห้ามมั่วสุม 5 คนขึ้นไปและใช้ศาลทหารพิจารณาคดี (ประกาศ คสช. ที่ 37/2557) เป็นคำสั่งที่ไม่จำเป็น และยังบังคับใช้อย่างกว้างขวาง ละเมิดสิทธิประชาชนโดยง่าย

อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ หัวหน้าและ คสช. และการออกประกาศคำสั่ง บทเฉพาะกาล มาตรา 265 มีผลให้ คสช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ครม.หลังการเลือกตั้ง และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว หมายความว่า คสช.ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และมาตรา 279 ให้ประกาศ คำสั่ง ที่ใช้บังคับอยู่ หรือจะประกาศ ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การจะยกเลิกต้องออกพ.ร.บ. ดังนั้น บทเฉพาะกาลสองมาตรานี้ รับรองความชอบธรรมของประกาศคำสั่งของ คสช. และยินยอมให้มีอำนาจออกคำสั่งต่อไปทั้งที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องในการยกเว้นการรับผิดของผู้ใช้อำนาจ เครือข่ายจึงเห็นว่า แค่สองมาตรานี้ก็ไม่สามารถรับร่างนี้ได้แล้ว
ตูแวนียา ตูแวแมแง เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) กล่าวว่า จุดยืนของเครือข่ายคือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ สันติภาพ ของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ การยึดอำนาจนำมาสู่การละเมิดสิทธิจำนวนมากโดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง พบว่าร่างนี้ขัดหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงทางการเมืองของประชาชน ไม่เคารพสิทธิชุมชน และรองรับคำสั่ง คสช. เช่น การยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง การลดขั้นตอนทำอีไอเอ

นอกจากนี้ ร่างนี้ยังส่งเสริมการเผยแพร่พุทธศาสนาเถรวาท ไม่รองรับศาสนาอื่นและพุทธนิกายอื่นๆ อาจนำสู่การละเมิดสิทธิของคนนับถือศาสนาอื่น รวมถึงมีการลดทอนอำนาจทางการเมืองท้องถิ่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ปิดกั้นเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ตรงนี้อาจทำให้การก่อเหตุในพื้นที่รุนแรงขึ้น ทั้งยังสร้างเงื่อนไขบังคับใช้กฎหมายในนามความมั่นคง แทบไม่หลงเหลือกระบวนการเสรีภาพ อาจรุนแรงหนักกว่าเดิม และขอเรียกร้องให้ คสช.ยุติบทบาทและเปิดให้ประชาชนเลือกตั้ง สสร. และนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้เพื่อเปิดให้เกิดการเลือกตั้ง
ขดดารี บินเส็น ตัวแทนภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมแดนใต้ กล่าวว่า ร่างนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่กำลังทำให้คนทั้งประเทศได้รับการศึกษาน้อยลง และทำให้คนสามจังหวัดแตกแยกครั้งใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมาตรา 54 ที่ระบุว่ารัฐต้องจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล นอกจากนี้ ยังมีท่อนหนึ่งบอกว่าทุกคนต้องมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ “ต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเขียนเช่นนี้ ฉบับอื่นบอกว่า รัฐต้องส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนต่างศาสนา แปลว่าอะไร ถ้าพี่น้องผมจะรวมตัวกันละหมาดที่มัสยิด ถ้ามีคนพูดว่าเป็นภัยต่อรัฐ จะทำอย่างไร มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่ในเรื่องการศึกษาศาสนา ไม่ระบุถึงศาสนาอื่น นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว เขามองว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม การฉีกรัฐธรรมนูญที่ดีแล้วเอารัฐธรรมนูญร้ายมาให้ เป็นเรื่องรับไม่ได้ พร้อมชี้ว่ารัฐธรรมนูญต้องไม่เขียนเพื่อประโยชน์ทับซ้อนของตัวเอง เช่น กรณีเขียนให้ ส.ว.มาจาก คสช. และอยู่ในตำแหน่งหลายปี สุดท้าย ย้ำว่า การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปอย่างมีเสรีภาพและเป็นธรรม

เงิบ! ศรีสะเกษ จนท.เก็บธง 'กาโน' หวั่นป่วนประชามติ ที่แท้ธงยี่ห้อกาแฟ


24 ก.ค.2559 เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวศรีสะเกษ รายงานว่า ธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับรายงานด่วนจาก สุรชาติ แก้วศิลา นอภ.อุทุมพรพิสัย ว่าศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) อ.อุทุมพรพิสัย เพื่อสนับสนุนการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่า พบการเขียนข้อความลงในกระดาษผูกติดกับไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายธง จำนวนมาก เขียนข้อความว่า “กาโน” ปักเรียงรายเป็นแถวแนวยาว เต็มสองข้างทาง ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา (สพป.) ศรีสะเกษ เขต 2 ถึงสี่แยกบ้านสองห้อง หมู่ 8 ต.กำแพง ระยะทางรวม 200 เมตร
จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองลงพื้นที่ตรวจสอบ พบธงกระดาษสีขาวลักษณะคล้ายกระดาษสมุด ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม เขียนด้วยตัวอักษรสีแดง ข้อความว่า “กาโน” ผูกติดกับไม้ไผ่ สูงประมาณ 1 เมตร ปักเรียงรายเต็มสองข้างทาง ตามที่ได้รับแจ้ง ซึ่งอาจเป็นการก่อกวน สร้างความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงประชามติ ไม่เป็นไปโดยเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่าง รธน.59 เพราะคำว่า “กาโน” อาจเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คล้ายๆ กับ “โหวตโน” โดยสื่อความหมายคือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำการตรวจยึดธงกาโน จำนวน 47 อัน ไว้เพื่อตรวจสอบ
ซึ่ง ธวัช ได้รีบรุดเดินทางไปที่ ศรส.อ.อุทุมพรพิสัย ทันทีที่ได้รับรายงาน พร้อมกับเรียกประชุมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบหาแหล่งที่มาของธงดังกล่าว ต่อมาเหตุการณ์กลับกลายเป็นโอละพ่อ เมื่อสืบทราบว่าต้นตอของธงดังกล่าวและวัตถุประสงค์ในการปักไม่เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติเลยสักนิด แต่เป็นชื่อยี่ห้อกาแฟปรุงสำเร็จผสมเห็ดหลินจือ ที่ผู้แทนจำหน่ายมาเช่าประชุม ที่ร้านอาหารในละแวกนั้น นำมาปักไว้ เพื่อนำทางแก่ผู้เข้าร่วมประชุม อีกทั้งยังไม่มีเจตนา ที่จะสร้างความปั่นป่วนในสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ กาโน หรือ GANO นั้น เป็นยี่ห้อผลิตภัณฑ์สกัดจากเห็ดหลินจือ นอกจากจะมีกาแฟสำเร็จรูปแล้ว ยังมียาสีฟัน แคปซูลหลินจือ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเห็ดหลินจือ เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของกาโนในเพจ GANO กาโน ผลิตภัณฑ์สกัดจากเห็ดหลินจือ

โหวตโนชนะแล้วอย่างไรต่อ? 'ปิยบุตร' ชี้ประเด็นนี้อาจยังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาพูด

ปิยบุตร ระบุเหตุที่ต้องออกไปโหวตโน 1. เนื้อหาของร่างรธน.เอง 2. เป็นการไม่ยอมรับรัฐประหารและคสช. พร้อมข้อเสนอหลังโหวตโนเราอาจหารธน.ก่อนรัฐประหารมาจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ แล้วรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ไปหาทางตั้ง สสร.  พร้อมทั้ง คสช.ต้องออกไปจากกระบวนการร่างฯ
คลิปเสวนา "ทางเลือกประเทศไทย หลัง 7 สิงหา 59 การเสนออนาคตทางเลือกของประเทศไทย" ผู้ดำเนินรายการ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอโดย บดินทร์ สายแสง สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอภิปรายนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน  ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 24 ก.ค. 2559

24 ก.ค.2559  ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าวถึง  ข้อเสนอหลังโหวตโน ต่อ คสช.และประชาชน  ที่ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก มธ.) ท่าพระจันทร์ ในเวทีเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จัดโดย 43 องค์กรภาคประชาชน  สรุปได้ดังนี้
ทำไมเราถึงต้องออกไปโหวตโน เหตุผลหลักคือ 1. เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเอง 2. เป็นการไม่ยอมรับรัฐประหารและคสช. โดย ข้อแรก ตัวร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาให้ต้องโหวตไม่รับ โดยสรุปคือ 1) การยกร่างไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากรัฐประหาร 2) เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หากผ่านเราจะได้สภาพสังคมการเมืองถอยหลังไปอย่างน้อย 40 ปี สมัยรัฐบาลพลเอเปรม ติณสูลานนท์ 3) ร่างนี้จะทำให้ระบอบรัฐประหาร การใช้อำนาจของคสช. ถูกทำให้กลายเป็นสถาบันอยู่ภายใต้รธน. จากสิ่งที่ผิดกลายเป็นถูกรับรองอยู่ในร่างนี้ 4) หากร่างนี้ผ่านจะแก้ไขไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ
และ 5) ถ้าร่างนี้ผ่านไป แรกๆ อาจเหมือนไม่มีปัญหา แต่สักระยะจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและน่าอาจจะรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะร่างนี้ปิดกั้น กดขี่ คนจำนวนมากด้วยกติกาของระบอบรัฐประหาร ถ้าร่างนี้ผ่านไปได้ และคนกลุ่มใหญ่ส่งเสียงเรียกร้องไม่เอาร่างนี้ อยากแก้ตามกระบวนการก็ทำไม่ได้ ก็เหลือวิธีเดียวคือ วิธีนอกรัฐธรรมนูญ
ข้อที่สอง การโหวตโนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและ คสช. อย่างไร เราจะเห็นคนจำนวนมากที่แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็มีกลุ่มอีกมากที่ไม่ได้แสดงออก อาจเพราะถูกกดไว้อยู่ด้วยอำนาจปืนและปืนในกฎหมาย เราปฏิเสธว่ามีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการใช้อำนาจคสช. ภายใต้ข้อจำกัดของระบอบปัจจุบัน ภายใต้กติกาที่เขาขีดเส้น มันจะเหลือหนทางอะไรให้เราแสดงออกได้อีกว่าเราไม่เอารัฐประหารและอำนาจของ คสช. เพราะเราไม่สามารถชุมนุมหรือแสดงออกได้ หากท่านอยู่เฉยๆ ไม่แสดงออก คสช.จะเคลมว่า ทุกคนโอเค มันจึงเหลือช่องเดียวที่จะแสดงออกได้ ไม่ถูกจับ มีผลนับเป็นตัวเลข
ประเด็นว่า โหวตโนชนะแล้วจะทำอย่างไรต่อ ประเด็นนี้อาจยังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาพูด เพราะประชามติจะเกิดหรือเปล่ายังไม่รู้ชัด ต่อให้เกิดเราก็ยังไม่รู้ว่าโหวตโนจะชนะหรือไม่ แต่เนื่องจากคณะรณรงค์ต่างๆ เห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพูด ผมจึงต้องขอออกตัวก่อนว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับนิติราษฎร์ เพราะทางกลุ่มยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้
ขอแยกตรงนี้เป็นสองประเด็น ประเด็นแรก พิจารณาสภาพเหตุปัจจัยทางการเมืองอย่างไม่หลอกตัวเอง ถ้าโหวตโนชนะ ผมคิดว่า คสช.ก็ยังอยู่ในอำนาจต่อไป หาคนมาล้ม คสช.ฉับพลันทันทีคงทำไม่ได้ เพราะดูแล้วเหตุผลของรัฐประหารยังไม่เสร็จ เขาต้องอยู่ต่อแน่นอน พลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารยังไม่มากเพียงพอ มีคนจำนวนมากที่อาจไม่ชอบ คสช.แล้ว แต่ยอมทน เพราะกลัวว่าเลือกตั้งแล้วจะได้พรรคที่เขาไม่ชอบ ประเมินดุลกำลังแล้วเรายังไม่สามารถหาฐานความชอบธรรมที่ชัดแจ้งจนคสช.อยู่ไม่ได้ การล้มเผด็จการที่ผนึกทุกอย่างอย่างเหนียวแน่นเช่น คสช. เราไม่สามารถใช้กำลังของฝ่ายเราอย่างเดียว มันต้องเอาคนอื่นมาเติมด้วย อย่างไรก็ตาม หากโหวตโนชนะ คสช.จะอยู่ต่อในสภาวการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม อย่างน้อยจะทำลายความชอบธรรมของ คสช.ไม่มากก็น้อย
ประเด็นที่สอง ข้อเสนออย่างกว้างที่สุดหากโหวตโนชนะ คือ คสช.ต้องยุติและออกไปจากกระบวนการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ท่านอาจจะถามต่อ คสช.เกี่ยวอะไร เพราะ กรธ.เป็นคนร่าง จริงๆ แล้ว คสช.เกี่ยวอย่างยิ่ง ดูตัวบทก็ได้ ร่างนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่วางกลไกการร่างรัฐธรรมนูญไว้ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกิดมาหลังการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 โดยคสช.
ดูตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 35 บอกไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดต้องมีเนื้อหา 10 ข้อดังต่อไปนี้ ผู้ร่างไม่มีทางร่างอย่างเป็นอิสระ ดังนั้น ร่างมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็คือการร่างตามกรอบของมาตรา 35 ตัวกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คสช.ก็เลือกตอนสุดท้าย นอกจากนี้ คสช.ยังมีบทบาทหลังทำร่างเสร็จต้องส่งเวียนไปแม่น้ำห้าสาย แม้ไม่ได้ร่างแต่เกี่ยวทุกกระบวนการ 

แล้วจะยุติบทบาท คสช.ได้อย่างไร

ปิยบุตร กล่าวว่า ร่างที่กำลังทำนั้นถูกชักใยจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถ้ามันยังอยู่ ร่างยังไงก็ถูกล็อค จึงต้องหาทางยกเลิก รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้ได้ ถามว่าใครจะเป็นคนร่าง โรดแม็พพล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่ายังไงก็ต้องเลือกตั้งจะตามเดิมไม่ว่าเยสหรือโนชนะ ดังนั้น เราอาจหารัฐธรรมนูญก่อนรัฐประหารมาจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ แล้วรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ไปหาทางตั้ง สสร. และวิธีการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป อย่างไรก็แล้วแต่ คสช.ต้องออกไปจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ
“ข้อเสนอนี้อาจดูเป็นอุดมคติ ให้ตายคสช.ท่านก็ไม่ออก ผมเข้าใจภารกิจของ คสช. ในการยึดอำนาจ และภารกิจท่านก็ยังไม่เสร็จ แต่ข้อเสนอให้ท่านออกจากากรทำรัฐธรรมนูญมันมีประโยชน์ต่อทั้งประเทศชาติ และ คสช.เองด้วย หากเราลองศึกษาประสบการณ์ประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนผ่านจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตยสำเร็จ มี 2 แบบ แบบหนึ่งเผด็จการรู้แล้วว่าถอยดีกว่า จึงเปิดโต๊ะเจรจากับฝ่ายประชาธิปไตยแล้วลงแบบสวยๆ ตัวอย่างนี้เกิดในหลายประเทศในละตินอเมริกา หรือเกาหลีใต้ หรือสเปน อีกแบบคือเผด็จการที่ประเมินตัวเองสูง คิดว่าใครก็ล้มไม่ได้ วันหนึ่งประชาชนก็ลุกขึ้นมาไล่เผด็จการออกไป การไล่แบบนี้เผด็จการจบไม่สวยสักราย ถ้าวันที่ 7 ส.ค.โหวตโนชนะ มันมีทางออกของ คสช.แบบสวยๆ เลย คือ ออกไปด้วยตัวคุณเอง แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทำรัฐธรรมนูญของเขาเองจริงๆ มันจะไม่เกิดความรุนแรง ไม่ต้องล้างโต๊ะกัน แต่ถ้าคสช.อยู่ต่อไปเรื่อยๆ วันหน้าต้องมาถึงแน่นอน ทุกคนอาจไม่รู้ว่าวันไหน แต่มันต้องมาถึงแน่ มันเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของโลก เรากำลังหมุนเวลาย้อนกลับขณะที่โลกเดินหน้า ถ้าวันนั้นมาถึงมันจะมีลักษณะรุนแรง” ปิยบุตร กล่าว
“การโหวตโนคือการปฏิเสธ Dead hand มือที่(เขียนรัฐธรรมนูญ)ตายแล้ว พวกเขาตายไปแล้วยังปิดช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยคนรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องการกำหนดชะตากรรมตัวเองอีก” ปิยบุตร กล่าว

ประยุทธ์ฝากขอบคุณประชาชนที่สนับสนุนใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาบ้านเมือง


24 ก.ค.2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน หรือ ซุปเปอร์โพล ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาบ้านเมือง ว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากขอบคุณพี่น้องประชาชนที่เข้าใจและให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ติดตามความคืบหน้าของสิ่งที่รัฐบาลทำ และเป็นห่วงบ้านเมือง
"ท่านนายกฯ เชื่อว่า พี่น้องประชาชนอยากเห็นประเทศชาติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาบ้านเมืองบอบช้ำมามาก และหลายปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การปราบปรามผู้มีอิทธิพล การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ฯลฯ แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะใช้กฎหมายปกติ ในการแก้ไขปัญหาทั่วไปที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากหรือกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เว้นแต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน  สลับซับซ้อน หรือใช้เวลาในการแก้ไขมาก จึงอาจจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น เช่น การตรวจค้นตามจับกลุ่มผู้มีอิทธิพลกลุ่มมาเฟีย เพราะหากล่าช้าอาจมีการซุกซ่อนของกลางหรือทำลายหลักฐานสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อจับได้แล้วก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ไม่ได้ตัดสินถูกผิดโดยเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้กฎหมายพิเศษอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ปัญหาสำคัญหลายอย่างอยู่แล้ว เช่น การดำเนินการกับคดีทุจริตคอร์รัปชัน การจัดการปัญหาที่ดิน การทะเลาะวิวาทของเด็กและเยาวชน เป็นต้น
"จึงอยากให้พี่น้องประชาชนสบายใจ และเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล ว่าจะดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบกติกาที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและหลักสากล เป็นสำคัญ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการรักษาบรรยากาศที่ดี เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

43 องค์กรนักวิชาการ-นักศึกษา-ประชาชน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

24 ก.ค. 2559 ตามที่มีการจัดเวที "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประชาชน" โดย เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาและประชาชนรวม 43 องค์กร ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น
ในช่วงท้ายเวทีมีการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย 43 องค์กร โดยมีข้อสรุปเกี่ยวกับการลงประชามติโดยเห็นร่วมกันที่จะ “โหวตโน” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ 1. กระบวนการขาดความชอบธรรม 2. เนื้อหาทำประเทศถอยหลัง 3. ไม่ควรฝากอนาคตไว้กับ คสช. 4. หากรัฐธรรมนูญรับแล้วแก้แทบไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้ คสช. หยุดกดดัน คุกคาม ดำเนินคดีผู้ที่คิดต่าง เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปอย่างเปิดเผยและยุติธรรม
โดยแถลงการณ์ซึ่งอ่านโดยอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาและประชาชน 43 องค์กร
เรื่อง รัฐธรรมนูญของประชาชน
วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในการกำหนดอนาคตของสังคมไทย เพราะเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และเครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาและประชาชนรวม 43 องค์กร มีข้อสรุปเกี่ยวกับการลงประชามติที่ขอประกาศต่อสาธารณะ ดังนี้
1. พวกเราทั้ง 43 องค์กร เห็นร่วมกันที่จะ “โหวตโน” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ
1.1) กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้น เนื่องจาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มิได้มาจากประชาชนและเป็นการร่างที่ปราศจากการรับฟังเสียงและความเห็นของประชาชน โดยกรธ.ให้ความสำคัญกับความต้องการของคสช. ผู้ฉีกร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจำเป็นต้องมีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มต้น
1.2) เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะนำพาประเทศให้ถอยหลัง ทั้งในด้านหลักการประชาธิปไตยและด้านสิทธิและสวัสดิการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การให้คสช.มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มีจำนวนมากถึง 250 คน และคำถามพ่วงที่จะให้สว. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ นอกจากนี้ องค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนจะมีอำนาจกว้างขวางสามารถถอดถอนและควบคุมรัฐบาลได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้เสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งสส. เพื่อไปตั้งรัฐบาล ไม่เป็นผล การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นเพียงเครื่องมือรองรับความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจของคสช. เท่านั้น
ในด้านสิทธิและสวัสดิการของประชาชน ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างน้อยสามประการคือ การศึกษา การรักษาพยาบาล และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แทนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะคงไว้และสืบทอดสิทธินี้ แต่กลับย้อนหลังไปใช้วิธีการสงเคราะห์ ทำให้ผู้ที่จะเข้าถึงสวัสดิการข้างต้นต้องแสดงตัวเป็นคนอนาถาผู้ยากไร้ เท่ากับเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนคนไทย อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญยังจะทำให้เกิดการแบ่งแยกและเหลื่อมล้ำทางด้านศาสนา
1.3) บทเรียนการบริหารประเทศที่ผ่านมาของคสช. ทำให้ประชาชนรู้ชัดว่า ไม่อาจฝากอนาคตไว้กับ คสช. ได้อีกต่อไป เพราะ คสช.บริหารประเทศด้วยการลิดรอนสิทธิและไม่รับฟังเสียงของประชาชน เช่น ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและการควบคุมอาคารในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และออกพรบ.เหมืองแร่ที่เอื้อกับนายทุน นโยบายคืนผืนป่าที่มุ่งยึดที่ดินของคนจนมากกว่านายทุน การไม่อุดหนุนราคาพืชผลเกษตรกร ปล่อยให้เกษตรกรเดือดร้อน การหักล้างหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศ การผลักดันโรงงงานไฟฟ้าเทพา การคุกคามประชาชนด้วยการเรียกไปปรับทัศนคติ รวมถึงการคุกคามแม้กระทั่งประชาชนที่รณรงค์อย่างสันติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
1.4) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบให้แก้ไขแทบจะเป็นไปไม่ได้ เช่น ต้องผ่านถึงสามขั้นตอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรคในสภา จึงทำให้ คำกล่าวที่ว่า รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วไปแก้ที่หลัง ในคราวลงประชามติปี 2550 ใช้ไม่ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
2. เราขอเรียกร้องให้ คสช. หยุดกดดัน คุกคาม ดำเนินคดีที่คิดต่าง เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปอย่างเปิดเผยและยุติธรรม และหยุดการใช้กลไกของราชการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว ตรงกันข้ามต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั้งที่ได้แสดงความเห็นและและได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน
วันที่ 24 กรกฎาคม 2559
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
องค์กรร่วมจัดงาน 
1. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง 
2. สมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
3. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 
4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 
5. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 
6. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม 
7. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ 
8. มูลนิธิบูรณะนิเวศ 
9. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 
10. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) 
11. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 
12. สมัชชาคนจน 
13. กลุ่มละครมะขามป้อม 
14. เครือข่ายพลเมืองเน็ต 
15. สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง 
16. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ 
17. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 
18. กลุ่ม Mini Drama 
19. กลุ่มการเมืองครั้งแรก 
20. กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
21. Focus on the Global South 
22. เครือข่ายสลัม 4 ภาค 
23. มูลนิธิโลกสีเขียว 
24. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา 
25. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย 
26. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (พื้นที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุงจ.เลย) 
27. กลุ่มรักษ์บ้านแหง(พื้นที่คัดค้านสัมปทานทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง) 
28. ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ (พื้นที่การขอสัมปทานสำรวจแร่เหล็กและทองคำ) 
29. เครือข่ายการศึกษาทางเลือก 
30. กลุ่มเสรีนนทรี 
31. กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ 
32. กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย 
33. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) 
34. กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา 
35. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) 
36. กลุ่มแก็งค์ข้าวกล่อง ม.รามคำแหง 
37. กลุ่มเพื่อนประชาชน 
38. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 
39. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) 
40. กลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ 
41. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก 
42. โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 
43. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน