วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ศาลทหารพิพากษาคดี 112 ทอม ดันดี จำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมคดีเก่าเป็น 10 ปี 10 เดือน

ศาลทหารพิพากษาคดี 112 ทอม ดันดี จำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมคดีเก่าที่ศาลอาญา เป็น 10 ปี 10 เดือน คาดยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเร็วๆ นี้




11 ก.ค. 2559 ที่ศาลทหาร มีนัดฟังคำสั่งคดีของทอม ดันดี หรือนายธานัท ธนวัชรนนท์ จำเลยในคดีตามความผิดมาตรา 112 โดยนัดที่แล้วอัยการทหารได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารนับโทษคดีของทอม ดันดี ต่อจากศาลอาญาที่พิพากษาคดีลักษณะเดียวกันไปแล้ว (อ่านที่นี่) และทนายความจำเลยได้คัดค้านการนับโทษต่อดังกล่าวไว้ พร้อมทั้งทำคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีด้วยว่าควรอยู่ที่ศาลอาญาหรือไม่  
คดีนี้ศาลสั่งให้พิจารณาคดีลับตามที่อัยการทหารร้องขอ ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคดีว่า วันนี้จำเลยถอนคำคัดค้านทั้งหมดทั้งในเรื่องการนับโทษต่อและการพิจารณาเขตอำนาจศาล ศาลทหารจึงพิพากษาเลยในวันนี้ โดยใหลงโทษจำคุก 5 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา รวมแล้ว จำคุก 10 ปี 10 เดือน 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยระบุว่าจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเร็วๆ นี้ แต่ยังมีคดี 112 ที่ค้างอยู่ในชั้นสอบสวนอีก 2 คดีคือการปราศรัยที่จังหวัดลำพูนปี 2556 และคดีที่จังหวัดราชบุรีที่บวร ยะสินธร เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อปี 2553

ขณะที่ทนายจำเลยให้ความเห็นว่า คดีนี้มีลักษณะพิเศษที่แปลกไปกว่าคดีอื่นๆ เนื่องจากการโพสต์คลิปในยูทูปเกิดขึ้นในเวลาห่างกันเพียง 1 สัปดาห์ มีผู้ร้องเรียนถึงลิงก์ยูทูปทั้งสองลิงก์ดังกล่าวไปยัง ปอท. แต่ ปอท.กลับแยกฟ้องไปที่ศาลอาญาคดีหนึ่ง และศาลทหารคดีหนึ่ง ทั้งที่ควรรวมเป็นคดีเดียวกัน ทำให้จำเลยในคดีนี้ต้องขึ้นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน

นอกจากนี้ทนายยังระบุด้วยว่า การคุมขังจำเลยอย่างยาวนานระหว่างการดำเนินคดีโดยไม่ให้ประกันตัวน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจยุติการต่อสู้คดีในครั้งนี้ 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ทอม ดันดี มีคดี 112 ที่พิจารณาในศาลอยู่สองคดี คดีหนึ่งขึ้นศาลอาญา คดีหนึ่งขึ้นศาลทหาร ทั้งสองคดีล้วนมาจากการถูกกล่าวหาว่าปราศรัยหมิ่นเบื้องสูงและโพสต์คลิปการปราศรัยขึ้นยูทูปในระยะเวลาห่างกันราว 1 สัปดาห์ ทั้งสองคลิปดังกล่าวเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 เขายืนยันต่อสู้คดีเรื่อยมาจนกระทั่งไม่นานนี้หลังจากถูกควบคุมตัวในเรือนจำนานเกือบสองปี เขาได้ตัดสินใจรับสารภาพ ทำให้ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 15 ปีจากการกระทำผิด 3 กรรม โดยศาลนับเป็น หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 1 กรรม สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ 1 กรรม และการโพสต์ยูทูบ 1 กรรม แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก  7 ปี 6 เดือ
ก่อนหน้านี้ ทอม ดันดี ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2557 เขาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี จากนั้นเขาถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 คดีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) (3) และ (5)

องค์กรสิทธิเรียกร้องถอนข้อหานักรณรงค์ประชามติ


12 ก.ค. 2559 สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จับกุมนักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 4 คนและผู้สื่อข่าวประชาไท 1 คน เนื่องจากมีเอกสารประชามติในครอบครองและมีพฤติการณ์เชื่อว่าจะมีการแจกเอกสารถูกตั้งข้อหาความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ประชามติ ต่อมา วานนี้ ศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 5 ราย โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสดรายละ 140,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า การจับกุมนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมอย่างสันติก็แย่พอแล้ว แต่การคุมขังนักข่าวที่ไปรายงานข่าวยิ่งเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อในไทยอย่างรุนแรง รวมถึงยังกระทบต่อความหวังว่าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะชอบธรรมด้วย
"นับวันรัฐบาลทหารยิ่งทำลายความชอบธรรมของการประชามติลงด้วยตัวเอง" ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า ทั้งสหประชาชาติและต่างชาติควรกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยุติการจับกุมผู้วิจารณ์และผู้เห็นต่างโดยพลการโดยทันที และยุติข้อกล่าวหาต่อผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสันติ พร้อมชี้ว่า รัฐบาลทหารไม่สามารถคาดหวังให้ประชาชนเงียบเสียงและโหวตประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยปราศจากการถกเถียง
ด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เรียกร้องให้ทางการไทยถอนข้อหา ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ซึ่งถูกจับกุมระหว่างติดตามทำข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาและได้รับอนุญาตให้ประกันตัววานนี้

เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิกของ RSF ระบุว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ล้มเหลวในการแยกแยะระหว่างนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้สื่อข่าวที่ตามทำข่าวพวกเขา
เขาชี้ว่า นอกจากการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและการแสดงความเห็นแล้ว รัฐบาลยังละเมิดเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพสื่อด้วย
"จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จะมีการจับกุมนักข่าวที่ไปทำข่าวการจับกุมนี้หรือไม่ รัฐบาลต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อสื่อที่รายงานเสียงวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้าม" หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิกของ RSF กล่าว

วินธัยแจงจนท.กำลังตรวจสอบกรณีจับนักข่าว จาตุรนต์ "เถื่อนเกินไป" จับนักกิจกรรมที่บ้านโป่ง



11 ก.ค. 2559 โพสต์ทูเดย์รายงานว่า พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีการจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไทเมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง ควบคุมตัว ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่ลงพื้นที่ทำข่าว พร้อมสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 3 ราย คือ ปกรณ์ อารีกุล, อนันต์ โลเกตุ และ อนุชา รุ่งมรกต ไปสอบปากคำ และตั้งข้อหาว่ามีความผิดตาม มาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ว่าเพราะอยู่ในกลุ่มที่มาด้วยกัน และภายในรถคันที่มานั้นพบว่ามีเอกสารในเรื่องการชี้นำการลงประชามติ ตอนจับกุมตำรวจคงไม่ได้แยกว่าใครเป็นใคร แต่มาทราบว่าเป็นนักข่าวภายหลังจากการสอสวน ขณะนี้ตำรวจกำลังเร่งตรวจสอบว่านักข่าวคนดังกล่าวเป็นนักข่าวแบบไหน ทำประจำที่ประชาไทหรือไม่ และไปด้วยหน้าที่อะไร

ด้าน BBC Thai รายงานว่า  พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่นักข่าวเดินทางไปพร้อมกับรถของนักกิจกรรมเพื่อไปทำข่าว และเจ้าหน้าที่เห็นว่าเดินทางมาด้วยกันโดยนั่งมาในรถคันเดียวกัน จึงยังไม่มีการแยกแยะอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสอบสวนเพิ่มเติม ขณะที่ น.ส. จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการสำนักข่าวประชาไทชี้แจงว่า ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวเป็นนักข่าวประจำ ทำงานมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นนักข่าวที่รับผิดชอบติดตามเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และข่าวเกี่ยวกับภาคประชาสังคม เคยทำข่าวเรื่องผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่กับการใช้สิทธิโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และได้รับรางวัลข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนจากมูลนิธิผู้บริโภค ส่วนเรื่องการประกันตัวนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของเจ้าตัว อย่างไรก็ตาม องค์กรได้เตรียมหลักทรัพย์ไว้ประกันตัวแล้ว

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทชี้แจงด้วยว่า ไม่ได้มีนโยบายห้ามนักข่าวในสังกัดเดินทางไปพร้อมกับแหล่งข่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ขึ้นกับสถานการณ์และความสะดวก และยืนยันว่าผู้สื่อข่าวของประชาไทไม่ได้สวมเสื้อรณรงค์โหวตโน หรือต้านรัฐธรรมนูญในวันเกิดเหตุ แต่เป็นเสื้อยืดรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันของบุคคลซึ่งเป็นคุณค่าในทางสังคมเสรีประชาธิปไตย 
ขณะที่นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่ถูกจับกุมกล่าวที่สถานีตำรวจก่อนถูกนำตัวไปขึ้นศาลในเช้าวันนี้ว่า เขาติดรถมาจริงเพื่อสัมภาษณ์นายอนันต์ โลเกตุ นักศึกษารามที่ถูกคุมขัง 1 ผัดพร้อมนายรังสิมันต์ โรมและเพื่อนกรณีแจกใบปลิวที่เคะบางพลี  ซึ่งนั่งมาในรถคันดังกล่าวด้วยและนัดหมายสัมภาษณ์นักศึกษาแม่โจ้ในพื้นที่ราชบุรีเพียงเท่านั้น

นายกฯ ระบุรัฐบาลถูกใส่ไฟ จับนักข่าว อย่ามองว่าตนมารัฐประหารเหมือนประเทศคนอื่นทำกัน

มติชนออนไลน์รายงานว่า 10.00 น. ที่ห้องรอยัล จูบิลี่บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ตอนนี้สื่อต่างประเทศรายงานว่ารัฐบาลจับนักข่าวขัง ปิดหนังสือพิมพ์ปิดทีวี ฆ่าคนตาย แต่ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 มีใครตายไปแล้วบ้าง ทุกคนต้องช่วยกันพูด อย่าให้ใครมามองว่าการที่ตนเข้ามาเป็นการปฏิวัติรัฐประหารเหมือนประเทศอื่น
“ผมอยากถามว่าใครคิดแบบนี้บ้าง แล้วทำไมจึงมีการพูดลักษณะนี้อยู่แบบนี้ มันทำให้เกิดความสับสนทั้งหมด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกคนต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ปัญหาลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นตลอด ผมเข้ามาเพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจน แล้วผมก็ไป ผมเข้ามาว่างพื้นฐานให้กับทุกคน แต่ถ้ายังมีคนทำแบบนี้สร้างความบิดเบือน ประเทศก็ยังคงเป็นอยู่แบบนี้ วันข้างหน้าปัญหาทุกอย่างก็จะกลับมาใหม่ทั้งหมด จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน และผมที่ต้องแก้ไขและทำทุกอย่างใหม่ไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาด้วยการทำกฎหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ผมจึงเน้นในเรื่องของการทำกฎหมายใหม่ ให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรม ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่คนไหนละเว้นก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ผู้กระทำความผิดก็ต้องถูกลงโทษตามบทบัญญัติที่มี ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องโดนทั้งคู่ ไม่ว่าเป็นเรื่องทุจริตหรืออะไรก็ตาม ถ้ามันไม่มีคนเสนอก็ไม่มีคนเรียกรับผลประโยชน์ เมื่อไม่มีคนเรียกก็ไม่มีคนจ่าย กฎหมายทำให้แรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรสามารถแก้ได้ สุดท้ายต้องกลับมาที่หัวใจและจิตสำนึกของทุกคน”

“เรื่องดีๆ มีไหม ไม่มี ต่างประเทศก็ไปพูดว่ารัฐบาลจับนักข่าวขัง ปิดหนังสือพิมพ์ปิดทีวี ฆ่าคน แล้วมีใครตายสักคนไหม มีใครตายบ้างตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีใครตายบ้าง ท่านต้องช่วยผมพูดอย่าให้เขามองว่าการที่ผมเข้ามามันคือการปฏิวัติรัฐประหารเหมือนที่คนอื่นในโลกเขาทำกัน ถ้าทำแบบนั้นผมทำง่ายจะเปลี่ยนให้เป็นแบบนั้นหรือเปล่า ที่นึกจะปิดอะไรก็ปิดนึกจะยึดอะไรก็ยึด นึกจะให้มีการปฏิรูปตำรวจใหม่ก็ปลดตำรวจแม่งทั้งหมดทีเดียวจะเอาไหม จะได้จบเสียทีถอดยศกันให้หมด แล้วตั้งใหม่สตาร์ทสิบตรีมา คิดอย่างนี้ซิว่าอะไรที่มีอยู่แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งทุกอย่างเริ่มที่คนทั้งสิ้น ผมไม่อยากจะโทษใคร แต่ถ้าทำกันแล้วมีปัญหากันมากๆ เดี๋ยวผมจะทำเองให้ทั้งหมด” นายกกล่าว
จาตุรนต์ ชี้ การจับกุม 3 นศ. 1 นักข่าว ลิดรอนเสรีภาพและละเมิดสิทธิรุนแรง
เวลา 10.12 น. เฟซบุค Chaturon Chaisang หรือจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การจับกุมนักศึกษากับผู้สื่อข่าว เมื่อ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า การที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่ามีการปล่อยร่างรัฐธรรมนูญปลอมหรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายประชามติหรือกฎหมายอื่นๆ ความเห็นดังกล่าวของหัวหน้า คสช. ส่งผลต่อผู้ที่เห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างปกติจนนำไปสู่การถุกจับกุมในครั้งนี้  ทั้งนี้ในดพสต์ดังกล่าวจได้มีการอ้างถึง สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ว่าทั้งสองเคยมีการพูดคุยเรื่องเอกสารเห็นแย้งต่อร่างประชามติ ซึ่งสมชัย กล่าวว่า ไม่มีอะไรผิดกฎหมายประชามติ ดังนั้นการจับกุมนักศึกษา 3 คนกับผู้สื่อข่าวอีก 1 คนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยตั้งข้อหาว่ากระทำผิดพ.ร.บ.ประชามติและนำตัวไปคุมขังทั้งยังไม่ให้ประกันตัวนั้น จึงเป็นการทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพโดยไม่มีเหตุอันควร ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ต้องบอกพล.อ.ประยุทธ์ว่า เถื่อนเกินไปแล้วครับ
ตอนแรกที่คสช.กับนายกฯปูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญปลอมขึ้นมา ผมก็นึกว่าเพื่อดิสเครดิตเอกสารที่เห็นแย้งหรือแค่ขู่เพื่อให้นักศึกษาไม่กล้าทำอะไรต่อไป กับสร้างเรื่องให้ดูเลวร้ายน่ากลัวว่ามีคนหนุนหลังออกทุนให้ ทั้งๆที่เรื่องทั้งหมดไม่มีมูลอะไรเลย
พอมาจับนักศึกษากับผู้สื่อข่าวคราวนี้ ก็เข้าใจแผนโฉดแล้ว ว่าทำไมจู่ๆกุเรื่องร่างปลอมกันขึ้นมา
ร่างปลอมไม่เคยมี ถ้าฝ่ายทางการว่ามีจนบัดนี้ก็ไม่เห็นเอามาแสดงได้ ส่วนเอกสารที่พูดถึงกันนั้น ก็คือ เอกสารเห็นแย้งที่เขาก็บอกอยู่ชัดเจน ไม่ได้อ้างหรือหลอกลวงว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาก็ไม่มีอะไรผิดกฎหมายประชามติหรือกฎหมายอื่นใด
กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากรเองก็ยังให้ความเห็นว่าไม่มีอะไรผิดกฎหมายประชามติ
ผมเอารูป 4 รูปมาให้ดูเพื่อจะเล่าให้ฟังว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนผมไปร่วมเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญกับประชามติที่ห้องส่งสถานีไทยพีบีเอส ถึงเวลาทานข้าว แมน ปกรณ์ อารีกุล ก็เอาเอกสารแสดงความเห็นแย้งมาแจกผู้เข้าร่วมเสวนา กกต.สมชัยนั่งอยู่กับผม ก็ยังบอกว่าการแจกเอกสารไม่ผิดกฎหมายประชามติ ผมก็ขอเอกสารจากแมน ปกรณ์มาปึกเล็กๆเพื่อช่วยแจก ผมยังแจกให้กกต.สมชัยด้วยเลย ก่อนแจก ผมถามคุณสมชัยว่าจะขอถ่ายรูปยืนคู่กันรับส่งเอกสารได้มั้ย คุณสมชัยบอกว่าอย่าเลย เดี๋ยวใครเอาไปขยายความผิดๆ ผมถามว่าถ้าผมแจกคนที่อยู่ที่นี่ รวมทั้งคุณสมชัยๆจะรับมั้ย คุณสมชัยบอกว่ารับ ผมก็เลยแจกให้คุณสมชัย อาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติช่วยถ่ายรูปไว้ให้ ซึ่งผมก็พูดกับคุณสมชัยแล้วว่า ถ้าไม่ได้ตั้งใจโพสต์ท่าถ่ายรูปคงไม่เป็นไรนะ คุณสมชัยก็ไม่ว่าอะไร
ที่เล่ามาเพื่อจะบอกว่าเอกสารนี้ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย การแจกก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะการแจกเอกสาร ก็คือ การเผยแพร่ความคิดเห็นวิธีหนึ่งซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 7 การมีเอกสารนี้ไว้ในครอบครองก็ไม่ผิดกฎหมายอะไรเช่นกัน
การที่ตำรวจไปจับนักศึกษา 3 คนที่ไม่ได้ทำผิดอะไรเลยกับผู้สื่อข่าวอีก1 คนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยตั้งข้อหาว่ากระทำผิดพ.ร.บ.ประชามติและเอาพวกเขาไปขัง ทั้งยังไม่ให้ประกันตัว จึงเป็นการทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพโดยไม่มีเหตุอันควร ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
เข้าใจได้ไม่ยากว่าจุดมุ่งหมายของตำรวจคงไม่ใช่แค่ต้องการสกัดกั้นขัดขวางไม่ให้นักศึกษากลุ่มนี้เผยแพร่เอกสารความเห็นแย้ง แต่น่าจะมาจากระดับสูงกว่านั้นที่ต้องการยับยั้งการเผยแพร่ความเห็นต่างให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดลงไป
การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดูจะสอดคล้องกับการกุเรื่องไปจากส่วนกลาง คือ คสช.และรัฐบาล โดยเฉพาะตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเอง
คงบอกพล.อ.ประยุทธ์ว่า เถื่อนเกินไปแล้ว คุณพร่ำพูดอยู่ตลอดว่าให้ทุกคนทำตามกฎหมาย แต่ที่ทำนี่กลับไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายอะไรเลย นึกจะทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องดูตัวบทกฎหมายอะไร อยากจะจับใครไปขังเพื่อขู่ใครก็ทำกันตามใจชอบ แถมยังพูดส่งเดชเรื่อยเปื่อยอยู่เสมอว่าเพื่อรักษากฎหมาย
ถ้าร่างรัฐธรรมนูญของพวกคุณดีจริง ทำไมถึงกลัวความเห็นต่างขนาดนี้
ถึงแม้จะต้องพบเห็นเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ผมก็ไม่เสนอให้ใครทำอะไรที่ทำให้เกิดความวุ่นวายเพื่อให้เข้าล็อคเข้าทางผู้มีอำนาจหรอกครับ
เขากำลังจะหาเหตุล้มประชามติกันอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้
ก็คงต้องสู้ทางกฎหมายกันไป ช่วยกันทำให้คนไทยและชาวโลกเห็นความไม่เป็นธรรม ช่วยกันเรียกร้องให้หยุดการคุกคามย่ำยีนักศึกษา ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
การที่จะหยุดการใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบนี้ มีวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการและชอบธรรมอย่างยิ่งอยู่ทางหนึ่ง คือ การแสดงออกในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ครับ อย่าไปรับรองการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมและช่วยกันบอกผู้มีอำนาจว่า เลิกทำอะไรตามอำเภอใจได้แล้ว

……………….
‪#‎ประชามติ ‪#‎ความเห็นแย้ง ‪#‎แมนปกรณ์ ‪#‎ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
‪#‎จาตุรนต์ฉายแสง

วิษณุ เครืองาม ยืนยันแจกเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญทำได้ไม่ผิด


รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ชี้แจงว่าการแจกจ่ายเอกสารความเห็นแย้งสามารถทำได้ ไม่เข้าข่ายปลุกระดม แต่ขออย่าใช้ปกหรือข้อความที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารของ กรธ. เพราะจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ตอบว่าผ่อนปรนหรือไม่ ขอให้ถาม คสช. เอาเอง
ในรายงานของ มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษาว่า การแจกจ่ายเอกสารความเห็นแย้งสามารถทำได้ เพราะเป็นความเห็นแย้งเป็นความเห็นส่วนตัวและไม่เข้าข่ายเป็นการปลุกระดม หากทำเป็นทำได้อยู่แล้ว อีกทั้งคนที่ทำก็มีจำนวนมาก ไม่ได้ตื่นเต้นหรือสะทกสะท้านอะไรกับสิ่งที่ดำเนินการ แต่หากเป็นกรณีปลอมแปลงขอให้ดูที่เจตนาว่าต้องการทำอะไร วันนี้ศัพท์เรียกกันว่าปลอมรวมความคือไม่ใช่ของจริงของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นฉบับที่ กรธ.ทำ หากเป็นเช่นนั้นก็เข้าข่ายมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
แต่ถ้าเป็นความเห็นต่างจาก กรธ.แปลว่าเป็นความเห็นต่าง ไม่ใช่การปลอมอะไร แต่อย่าใช้ปกหรือข้อความที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารที่มาจาก กรธ. ซึ่งเรื่องเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร และไม่มีใครเคยพูดว่า หากเห็นแย้งจากผู้มีอำนาจจะเข้าข่ายมาตรา 61 วรรคสอง
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนโทษในเรื่องดังกล่าวจะเป็นการระวางโทษตามมาตรา 61 วรรคสอง หากดูโทษขั้นสุดท้ายก็จะหนักสุด แต่โทษขั้นต่ำไม่มีอะไรมากขึ้นอยู่กับศาลว่าจะลงโทษอย่างไร ทั้งนี้ ถ้าเป็นตามที่สื่อบอกว่าเป็นความแตกต่างในเรื่องความเห็น ไม่บิดเบือน ไม่เท็จถือว่าไม่ผิด ไม่มีโทษอะไรที่ต้องพูด แต่ถ้าเป็นเท็จ บิดเบือนถือว่าผิด ส่วนจะรับโทษเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับศาลตัดสิน ขณะเดียวกันไม่ทราบว่าตอนนี้เสียงประชาชนเป็นอย่างไรเพราะไม่ได้เจอประชาชน แต่เจอเฉพาะตามเวทีที่เคยจัดไป ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่หากอยากแก้ไขขอให้รอฉบับหน้า
เมื่อถามว่า หากไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่ไปผิดคำสั่ง คสช.จะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว อย่าประมาท อย่าแสดงอาการไม่สะทกสะท้านอะไร มีหลายอันที่จะเข้าข่ายได้ ถ้าดูครบหมดและคิดว่าปลอดภัยก็ทำไป และไม่ใช่หน้าที่ผมหรือหน้าที่รัฐที่ต้องไปบอกว่าดูฉบับนู้น ดูฉบับนี้ ส่วนมาตรการผ่อนปรนขณะนี้ผมไม่ทราบจะมีหรือไม่ ต้องถามคสช.”

กรธ.ออกผลสอบเอกสารเห็นแย้งร่าง รธน. เข้าข่ายบิดเบือน ยังไม่สรุปจะเอาผิดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในรายงานของคมชัดลึก นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำเนื้อหาในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ. เป็นประธานอนุกรรมการ  โดยได้รายงานผลตรวจสอบเอกสารความเห็นแย้งร่างรธน.ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ให้ที่ประชุม กรธ. รับทราบ โดยสรุปเนื้อหาบางประเด็นว่า เข้าข่ายบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ที่ประชุม กรธ.ยังไม่สรุปจะเอาผิดตามกม. หรือไม่ นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า มี 3 ทางเลือก คือ 1.กรธ.แจ้งความเอาผิด 2.ส่ง กกต. ดำเนินการ และ 3.ทำความเข้าใจเพิ่มเติมเอง
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยปกรณ์ อารีกุล แจกเอกสารความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ในโครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรระบวนการ (ครู ก) จัดโดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อ 18 พฤษภาคม 2559 โดยยังแจกให้กับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ซึ่งรับเอกสารพร้อมกล่าวว่า "ทำไมถึงเอารูปหน้าปกผมไปใช้ล่ะ"

ปมเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ จาก NDM ถึง มีชัย และ สภ.บ้านโป่ง
สำหรับประเด็นเรื่องเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. นั้น เผยแพร่โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา เคยนำไปแจกให้ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มากับมือด้วย โดยมีชัย เมื่อได้รับแจกก็หันมาถามว่า ทำไมเอารูปหน้าปกผมไปใช้ล่ะ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม มีการแจกเอกสารความเห็นแย้งในการประชุมที่จัดโดย สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร เวที “รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติที่ถูกต้อง” โดยเวทีซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนักศึกษาสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฯ เดินแจกเอกสาร “ความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ” แต่แจกไปได้ 5 นาที ก็ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินเก็บเอกสารคืนทั้งหมด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ทำให้ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สั่งฝ่ายเกี่ยวข้องรวบรวมพยานหลักฐานการแจกเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นของปลอมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมอ้างว่าเอกสารดังกล่าวทำหน้าปกแบบเดียวกับเอกสารสรุปเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาภายในถูกบิดเบือน เคยถูกนำมาแจกในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระทำเป็นขบวนการและมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ขณะนี้รวบรวมได้แล้ว 100 กว่าฉบับ หากตรวจสอบพบมีความผิด จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ขณะที่ ปกรณ์ อารีกุล สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) .ในฐานะที่เคยแจกเอกสารความเห็นแย้งดังกล่าวกับมีชัยเอง ได้ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ประเด็นแรกเรื่องเอกสารดังกล่าวบิดเบือนหรือไม่ เอกสารนี้มีการแจกกันมา 2 เดือนแล้ว และมีการส่งตามที่ต่างๆ ทั้งรถรถทัวร์และไปรษณีย์ ซึ่งพิมพ์มาจริงๆ นั้น ไม่เกิน 10,000 เล่ม หากเอกสารนี้บิดเบือน การที่ตนได้เคยนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้ อ.มีชัย เมื่อเดือนที่แล้ว อ.มีชัย น่าจะตรวจสอบและมีความเห็นมาตั้งนานแล้ว การที่ อ.มีชัย เพิ่งมามีความเห็นว่าเอกสารนี้มีการบิดเบือนในช่วงที่มีการจับกุมนักโทษประชามตินั้น จึงคิดว่าอาจารย์น่าจะออกมาเพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า เพราะการกล่าวหามาเป็นประเด็นทางการเมือง และมีการบอกว่านี่เป็นของปลอม เป็นเท็จแบนี้ เมื่อดูเอกสารจริงๆ แล้ว เป็นเอกสารที่เราให้ความเห็นเหตุผลว่าถ้าจะโหวตโนเรามีเหตุผลอย่างไร อีกส่วนหนึ่งเป็นความเห็นแย้งกับที่ กรธ. บอกถึงข้อดีของ ร่าง รธน. นี้
ทั้งนี้ กรธ. ก็สรุปข้อดีของรัฐธรรมนูญมา เวลาเราอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วเราสรุปว่าข้อไหนเป็นข้อดี มันก็วิจารณญาณแต่ละคนไม่เหมือนกัน กรธ. สรุปแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการชี้นำและก็เนื้อหาบางอย่างก็อาจจะถ้าบอกว่าเราบิดเบือน กรธ. เองก็ต้องระวังตัวเองเหมือนกันว่าสุ่มเสี่ยงที่จะบิดเบือนเหมือนกัน" ปกรณ์ กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องการมีกลุ่มทุนหนุนหลัง ปกรณ์ กล่าวว่า กลุ่ม NDM ชัดตลอดว่าเรามีเลขบัญชีให้บริจาคเข้ามา มีกล่องบริจาค และเรื่องนี้ทาง NDM จะชี้แจงว่าสรุปแล้วรายรับเท่าไหร่ พิมพ์เอกสารมา 10,000 ฉบับ ต้นทุนเท่าไหร่ ทำเสื้อมาใช้เงินเท่าใด ดังนั้นเรื่องการกล่าวหาว่ามีกลุ่มทุนหรือใครหนุนหลังนั้น เป็นประเด็นที่มีการกล่าวหามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่านักศึกษาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับนักการเมืองคนนั้นนี้ แต่สุดท้ายผ่านมาปีกว่าก็ไม่มีการตรวจสอบได้ว่าเกี่ยวกับใคร ดังนั้นยืนยันว่าหากมีข้อเท็จจริงอะไรทางเราก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบอยู่แล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยล่าสุด ปกรณ์ ถูกจับพร้อมนักกิจกรรมกลุ่ม NDM 3 คน หลังเดินทางไป สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อให้กำลังใจ 18 ชาวบ้านโป่งรายงานตัวสู้คดีตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ปกรณ์ และพวกจะถูกตำรวจค้นรถและยึดเอกสารประชามติ และดำเนินคดีข้อหาผิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยดำเนินคดีพร้อมนักข่าวประชาไทที่เดินทางไปทำข่าวด้วย 1 คน และมีการจับกุมนักศึกษา ม.แม้โจ้ ในพื้นที่อีก 1 คน รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 5 คน ล่าสุดบ่ายวันนี้ (11 ก.ค.) ศาลจังหวัดราชบุรีอนุมัติปล่อยตัวชั่วคราววงเงินประกันรายละ 1.4 แสนบาท

ประยุทธ์ ย้ำ ทูลเกล้าฯ นามสังฆราชเมื่อปัญหาจบ ระบุกฤษฎีกาชี้ก็ว่าไปตามนั้น


12 ก.ค.2559 วานนี้ (11 ก.ค.59) สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลความคืบหน้าหลังจากรัฐบาลได้ส่งเรื่องมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประเด็นอำนาจของผู้เสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราช ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าสิ่งที่สำนักงานพระพุทธศาสนา (พ.ศ.) ส่งรายชื่อสมเด็จพระสังฆราชตามที่มหาเถรสมาคม(มส.) เสนอนั้นไม่ขัดต่อมาตรา 7 พ.ร.บ.สงฆ์ และจากการตรวจสอบมติ ครม. ที่ผ่านมา 28 ก.พ. 2482 ระบุว่าเมื่อส่วนราชาการขอความเห็นกฤษฎีกาไปแล้ว มีผลอย่างไร ให้ยึดถือตามนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมกฤษฎีกาดังกล่าวว่า อำนาจใครพิจารณาก็ว่าไปตามนั้น  ส่วนตนมีหน้าที่ในการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเรื่องใดที่เป็นปัญหา ก็จะยังไม่ดำเนินการ  ต้องรอให้กระบวนการทุกอย่างเรียบร้อยก่อน
 
“ผมจะทูลเกล้าฯ ในสิ่งที่มีปัญหาได้หรือไม่ ไม่ได้ก็จบ กระบวนการต้องเรียบร้อยก่อน  ไม่กลัวเกิดการทะเลาะเบาะแว้งต่อต้านกันหรืออย่างไร มีกี่พวก อย่ามองบ้านเมืองในแง่ดีแง่เดียว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว  
 
ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ค.59) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรีฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจในการตรวจสอบรายนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดตามสมณศักดิ์ ตามที่มหาเถรสมาคม เสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการทูลเกล้าฯ และรับสนองพระราชโองการ
 
“นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงต้องตรวจสอบก่อนดำเนินการ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ตรวจสอบเรื่องอะไรบ้าง เพราะเรื่องการทุจริตไม่ควรพูดในที่สาธารณะ  มส.มีอำนาจในการส่งเรื่องมายังรัฐบาล  แต่เมื่อเรื่องส่งมายังรัฐบาลแล้ว นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการตรวจสอบ” วิษณุ กล่าว
 
วิษณุ กล่าวด้วยว่า สมเด็จพระราชาคณะที่มีความอาวุโสตามสมณศักดิ์ ถัดจากสมเด็จช่วง ยังมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ แต่ขณะนี้อาพาธหนัก ส่วนองค์ถัดมาคือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ และสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตามลำดับ ซึ่งการแต่งตั้งจะพิจารณาจากอาวุโสตามสมณศักดิ์สมเด็จก่อน โดยไม่พิจารณาเรื่องนิกาย
 
ส่วนที่มีการแบ่งฝ่าย หลังจากที่มีการเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องดังกล่าวนั้น วิษณุ มองว่า เป็นการแบ่งฝ่ายที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว  ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาลจึงต้องทำความเข้าใจ และอธิบายต่อสังคมต่อไป
 
วิษณุ ยังกล่าวถึง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ที่มีคณะสงฆ์บุกรุกพื้นที่ป่า ว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบและกวดขันการดำเนินการของเจ้าหน้าที่  หากพบว่าพื้นที่ใดเข้าข่ายเกิน 100 ไร่ หรือ 500 ไร่ หรือ เป็นพื้นที่ที่ศาลวินิจฉัยแล้วว่าผิด ก็ต้องดำเนินการทางกฎหมายทันที 

ประยุทธ์เผยมีแท็กซี่บิดเบือนชวนคนไม่ไปประชามติ ระบุ "ถ้ามันไม่เรียบร้อยผมก็เขียนมันเอง"


ประยุทธ์เผยได้รับแจ้งมีแท็กซี่ บิดเบือนเรื่องบัตรทอง-เรียนฟรี ชวนคนไม่ไปประชามติ ยันจะไม่ปล่อยให้มีการสร้างความเข้าใจผิด ระบุ "ถ้ามันไม่เรียบร้อยผมก็เขียนมันเอง" แนะ จนท.รัฐสร้างความเข้าใจอนาคตประเทศกับประชาชน ชี้ปฏิวัติรัฐประหารไม่เหมือนใครในโลก
11 ก.ค.2559  เวลา 09.00 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2559 จัดโดย กระทรวงการคลัง  ผู้ร่วมงานประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง หัวหน้าหน่วยราชการและหน่วยงานภาครัฐเจ้าสังกัดทุนหมุนเวียน คณะกรรมการประเมินผลทุนหมุนเวียน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 800 คน
 

เผยมีแท็กซี่ชวนคนไม่ไปประชามติ บิดเบือนเรื่องบัตรทอง-เรียนฟรี

"เราไม่สามารถจะปล่อยให้มีการสร้างความเข้าใจผิดหรือบิดเบือนต่อไปอีกได้ เมื่อเช้าผมได้รับแจ้งมาว่ามีคนนั่งแท็กซี่ แล้วบอกว่าการไปประชามติครั้งนี้ ไม่ต้องไปหรอก จะไปหรือจะไปผ่านไม่ผ่านไม่รู้นะ ผมไม่พูดตรงนั้น เพราะผมไม่ได้เชียร์ทั้ง 2 อย่าง แล้วแต่ท่าน เขาบอกว่าถ้ารัฐบาลเข้ามาหรือมีการเลือกตั้งครั้งหน้า เกิดไม่ใช่รัฐบาลเขา ผมไม่รู้เขาไหนนะ สิทธิ 30 บาท บัตรทองหายไป การเรียน 10 ปี 15 ปี หายไป ผมถามว่าใครคิดว่าเป็นอย่างนั้นบ้างยกมือสิ แล้วทำไมถึงมีการพูดอยู่ขณะนี้ มันทำให้เกิดการสับสนไปทั้งหมด แล้วนี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ท่านต้องยอมรับว่าวันนี้มันมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ ผมก็เข้ามาเพื่อให้มันเกิดความชัดเจน แล้วผมก็ไป ผมก็วางพื้นฐานให้กับท่าน แล้วมันจะเกิดไหมแบบนี้ ถ้ามันยังมีคนทำแบบนี้อยู่ มันก็เป็นอยู่แบบนี้ วันหน้าทุกอย่างก็กลับมาใหม่ทั้หมด นั่นล่ะครับคือสิ่งที่เป็นหน้าที่ของท่านกับของผม ที่ต้องทำให้ตอนนี้ให้ได้ และจะต้องไม่กลับมาที่เดิมอีก  ด้วยการทำกฏหมายให้มันชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นผมจะเน้นเรื่องการทำกฏหมายใหม่ เน้นในเรื่องการทำกฏหมายให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องปฏิบัติตามกฏหมาย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในตอนหนึ่ง
 

แนะ จนท.รัฐสร้างความเข้าใจอนาคตประเทศกับประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่รัญต้องสามารถอธิบายแทนตนได้ว่า จะทำแล้วนะเรื่องนี้ 1 2 3 หนึ่งคืออยู่กับตนนี่ทำให้เสร็จ สอง สาม สี่ ไปหลังเลือกตั้งโน้น แผนปฏิรูป แผนสภาพัฒน์ 5-5-5-5  รวม 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยหากมองอย่างนี้จะเห็นอนาคตประเทศขงเรา เจ้าหน้าที่รัฐต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า ว่าอนาคตให้ประชาชนเข้าใจ
 
"ที่ผ่านมาเขาก็ไม่เข้าใจ อันหนึ่งก็คือเขาทำมาหากินอย่างเดียว วันนี้การทำมาหากินอยู่เหมือนเดิม เพราะเศรษฐกิจมันก็แย่ลงๆ ก็ต้องช่วยตัวเองมากขึ้น จากการสำรวจต่างๆ เขาสนใจน้อยมากเกี่ยวกับเรื่อง ที่จะทำกันอยู่ทุกวันนี้ ทะเราะกันทุกวันตามหน้าหนังสือพิมพ์ 70% 80% ไม่รู้เรื่อง แล้วผมถามมันจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อถึงเวลาไปสู่การเลือกตั้ง มันก็เหมือนเดิมอีก นะ ก็แล้วแต่ มันเป็นชะตากรรม ผมว่า ผมก็ทำได้แค่นี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
นอกจากแผลแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการนำไปปฏิบัติ โดย ยกการปฏิบัติการของทหารว่า "การนำสู่การปฏิบัติ ทหารจะเก่งเรื่องนี้ ทำอย่างไรมันจะเสร็จเร็วๆ เพราะว่าผมต้องเข้าตีที่หมายให้เสร็จเร็วๆ ถ้ายึดที่หมายช้า ทหารผมก็ตายเยอะ ยึดที่หมายให้ได้เร็วที่สุด ตีที่หมายระหว่างทางให้หมด ยึดที่หมายใหญ่ให้ได้ตอนท้าย สูญเสียให้น้อยที่สุด วันนี้เราปล่อย ไม่มีแม่ทัพเดินไปเดินมากี่ปีมาแล้ว ที่หมายตรงไหนก็สะเปะสะปะไปเรื่อย แล้ววันนี้เป็นไง พอเอาเข้ามาประเมินจากต่างประเทศแล้วเป็นไง ลำดับที่เราอยู่ทีเท่าไหร่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 

ปฏิวัติรัฐประหารไม่เหมือนใครในโลก

"ไอ้ที่มันดีๆ มีไหม ไม่มีอะ ต่างประเทศก็ไปพูดรัฐบาลจับนักข่าวขัง ปิดหนังสือพิมพ์ ปิดทีวี ฆ่าคน ไม่มีใครตายสักคนเลย ไหนใครตายบ้าง ตั้งแต่ 22 (พ.ค.57) มีใครตายบ้าง ท่านต้องช่วยผมพูด อย่าให้เขามองว่า เออการที่ผมเข้ามาก็คือการปฏิวัติรัฐประหารเหมือนที่ในโลกเขาทำ ถ้าทำแบบนั้นผมทำง่าย ให้ผมเปลี่ยนเป็นแบบนั้นไหมล่ะ นึกจะปิดอะไรก็ปิด นึกจะยึดอะไรผมก็ยึด หรือจะให้ผมปฏิรูปตำรวจใหม่ ผมปลดตำรวจแม่งทั้งหมดเลยทีเดียว เอาไหมเล่า จะได้จบสักที ถอดยศมันให้หมด แล้วตั้งใหม่ สตาร์ทสิบตรีมา เอาไหมเล่า คิดอย่างนี้สิคิด ว่าเออไอ้ที่มีอยู่แล้วจะทำยังไง เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเริ่มที่คนทั้งสิ้น ผมไม่อาจจะโทษใครล่ะ แต่ถ้ามันทำกันแล้วมีปัญหามากๆ เดี๋ยวผมทำเองให้ทั้งหมด"
 

กฏหมาย "ถ้ามันไม่เรียบร้อยผมก็เขียนมันเอง"

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจกฏหมาย กฏหมายมานี่เขาออกมาเพื่ออะไร อย่าให้ประชาชนเข้าใจว่ากฏหมายที่ออกมานี้ออกมาเพื่อเจ้าหน้าที่ไปบังคับประชาชน และต้องสร้างความไว้วางใจ โดยมันต้องมีบทที่จะต้องบังคับเจ้าหน้าที่บ้าง เช่น วรรค 1 ระบุว่า ประชาชนถ้าทำความผิดจะเป็นอย่างไร ขณะที่ วรรค 2 ระบุว่าหากเจ้าหน้าที่กระทำผิดหรือต้องทำอย่างไร นี่มันถึงจะเป็นกฏหมายที่ทุกคนไว้วางใจ
 
"ผมถึงบอกไงถ้ามันไม่เรียบร้อยผมก็เขียนมันเองก็ได้ เขียนเองแบบที่ ผมเขียนแบบประชาชนต้องการ ผมไม่ได้เขียนแบบผมอยากเขียน ผมไม่มีความรู้ทางกฏหมาย ผมอ่านเอา และผมเอาความรู้สึกของประชาชนมาว่าเขาต้องการอะไรและผมก็จะเขียนมันเอง ดูสิมันจะผ่านไม่ผ่านไม่รู้ ไม่ผ่านเหมือนเดิมหรือเปล่าไม่รู้ นะ มันอยู่ที่ใจทุกคนทั้งนั้นล่ะครับ ถ้าใจทุกคนอย่างจะทำ มันทำได้หมดในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรในโลกใบนี้ที่มนุษย์ทำไม่ได้ ไอ้ที่ผมคิดแบบนี้เพราะว่าพวกเราทหารตำรวจเขาผ่านอะไรมาเยอะแยะพอสมควร ผ่านการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาเยอะแยะ"
 

หวังทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาทุนหมุนเวียน

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวมอบนโยบายทุนหมุนเวียนด้วยว่า ขอให้ช่วยกันพัฒนาศักยภาพของทุนหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและสังคมมากที่สุด ต้องวางรากฐานกองทุนหมุนเวียน เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ร่วมกันเดินหน้าการพัฒนาไปพร้อมกันในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดความเท่าเทียม และใช้ประโยชน์ได้จริง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จะต้องสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ทำให้งบประมาณเหล่านี้สามารถกระจายไปได้อย่างทั่วถึง ร่วมกันประสานความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ทำให้เจริญก้าวหน้าโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ รัฐบาลจะช่วยส่งเสริมสนับสนุน ปรับปรุงกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้การดำเนินการสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องร่วมกันช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ดำรงชีวิตได้อย่างมีความมั่นคง ช่วยกันลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้เกิดความเสมอภาค และกองทุนยุติธรรมต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ประชาชนก็ต้องเข้าใจกฎหมายให้ชัดเจน โดยรัฐบาลจะปรับปรุงกฎหมายให้มีความเท่าเทียม จะต้องมีบทกฎหมายบังคับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

อภิสิทธิ์ขอทราบร่างรธน.ไม่ผ่านแล้วอย่างไรต่อ ชี้ถ้าไม่รับ แล้วได้สิ่งที่แย่กว่าก็ต้องคิดหนัก


เตือนไม่ว่า รธน.จะผ่านหรือไม่ ถ้าบ้านเมืองวุ่นวายจะไม่มีใครชนะ ทุกคนจะเดือดร้อน ขออย่าบิดเบือน ร่าง รธน. ชี้ผิดกฏหมาย พร้อมแนะผู้มีอำนาจตีความให้ ปชช.ได้แสดงออกเต็มที่อย่างสุจริต ระบุถ้าประยุทธ์ร่างฯใหม่ แนะเปิดให้ประชาชนร่วมออกความเห็นแด้วย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำประชามติว่า ตนไม่อยากให้มองแค่วันที่ 7 ส.ค. แต่อยากให้คนไทยมองเลยไปข้างหน้า เพราะท้ายที่สุดที่เราต้องการคือให้ประเทศพ้นจากปัญหาเดิม ๆ ไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ทั้งผู้ต้องการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายผู้มีอำนาจ ก็ต้องประคับประคอง การทำประชามติคือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ต้องยอมรับว่าจนถึงวันนี้ก็ยังทำไม่ได้เต็มที่
ดังนั้นตนอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หลังวันที่ 7 ส.ค. ถ้าเราไม่สามารถทำให้หลุดจากปัญหานี้ได้ บ้านเมืองก็จะเข้าสู่วังวนเดิม ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ถ้าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอย่างนี้ก็ไม่มีใครชนะ สุดท้ายทุกคนก็เดือดร้อนกันหมด ใครที่บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผิดกฎหมาย ตนขออย่าทำเลย ขณะเดียวกันทางผู้มีอำนาจก็ต้องตีความกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้แสดงออกเต็มที่อย่างสุจริต
เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (เอ็นดีเอ็ม) จะเดินสายพบพรรคการเมือง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย อภิสิทธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิของเขา การแลกเปลี่ยนความเห็นกันเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไร และคิดว่าต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ
ต่อข้อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะมีการร่างเองนั้น อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เป็นอำนาจของท่านอยู่แล้ว แต่ประเด็นอยู่ว่าจะทำด้วยวิธีไหน อย่างไร ตนเห็นว่าคงไม่มีประโยชน์ถ้าจะตั้งในรูปแบบคณะกรรมการอีก แต่น่าจะเปิดให้ประชาชนร่วมออกความเห็นและรับฟังพวกเขา อย่าลืมว่าหลังจากการรัฐประหารถ้าท่านไปร่างเองก็หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน 2 ฉบับ ซึ่งก็ต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าที่ไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร การที่ไปร่างรัฐธรรมนูญเองโดยที่ไม่สรุปส่วนนี้ด้วยก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะแม้จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ แต่การยอมรับก็จะไม่เกิด
“สิ่งที่เราต้องการมีอยู่ 2 ประเด็น 1. ผมต้องการทราบว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะดำเนินการต่ออย่างไร เพราะถ้าไม่รับแล้วได้สิ่งที่แย่กว่า ก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน 2. ผมไม่ต้องการเห็นบรรยากาศความขัดแย้ง ที่ผ่านมาก็ยังกังวลอยู่ เนื่องจากมีการพูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาผมขอยืนยันว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องคิดไปไกลกว่าวันที่ 7 ส.ค. ส่วนเรื่องการแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผมไม่มีปัญหา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องแสดงจุดยืนอยู่แล้ว” อภิสิทธิ์ กล่าว

ศาลราชบุรีให้ประกัน 4 นักกิจกรรมโดนจับ ‘เชื่อว่าจะแจกเอกสารประชามติ’ พ่วง 1 นักข่าว




ปกรณ์ อารีกุล จากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แถลงหลังศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 5 ราย คดี พ.ร.บ.ประชามติ โดยเขาแสดงความห่วงใยไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดูแลการลงประชามติว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนั้น แสดงให้เห็นว่าแค่มีเอกสารไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกจับกุมแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปการรณรงค์ประชามติ ประชาชนที่เห็นต่างจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแสดงออกได้เลย



บรรยากาศหลังศาลอนุมัติปล่อยตัวผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.ประชามติ 5 ราย ด้านทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่ถูกพ่วงจับกุมไปด้วยแถลงหลังได้รับการปล่อยตัวว่าถือว่าการลงพื้นที่แล้วถูกจับกุมที่ สภ.บ้านโป่ง นั้นเป็นการรายงานข่าวชิ้นหนึ่งก็แล้วกัน ยืนยันทำหน้าที่สื่อต่อไป



เหน่อ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ แถลงหลังได้รับการประกันตัวที่ศาลจังหวัดราชบุรี เผยเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม มารายงานตัวที่ สภ.บ้านโป่ง ร่วมกับประชาชนอีก 18 ราย คดีตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ต่อมาในช่วงค่ำถูกจับถึงบ้านข้อหาฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 นำไปคุมขังที่ สภ.บ้านโป่ง ก่อนส่งฟ้องศาลเช้าวันถัดมา

ภานุวัฒน์กล่าวด้วยว่า เขาเชื่อว่าการตรวจสอบก่อนมีการประชามติจะช่วยทำให้กระบวนการมีความโปร่งและชอบธรรมมากขึ้น "ยิ่งเราตรวจสอบ ประชามติจะมีความชอบธรรม" อย่างไรก็ตามเขาก็มาถูกจับในช่วงเย็นวันดังกล่าว โดยเขายังยกความเห็นของนักปรัชญาการเมืองยุโรป จอห์น ล็อค และโธมัส ฮอบ ที่อธิบายว่ากฎหมายที่ดีต้องมีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม คือประชาชนมีส่วนร่วม ถ้ากฎหมายไม่ได้มาจากส่วนร่วมของประชาชน ความชอบธรรมย่อมลดลงด้วย เหมือนร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่มีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ก็ขอให้ท่านพิจารณากันเองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป



11 ก.ค.2559 เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. ศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 5 รายที่ถูกจับกุมเนื่องจากมีเอกสารประชามติในครอบครองและมีพฤติการณ์เชื่อว่าจะมีการแจกเอกสารถูกตั้งข้อหาความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ประชามติ ศาลกำหนดให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสดรายละ 140,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 4 รายใช้เงินสดจากกองทุนการประกันตัวที่อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิเปิดระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีการเมือง ขณะที่ทวีศักดิ์ เกิดโภคา นักข่าวประชาไทนั้นใช้เงินจากองค์กรต้นสังกัด

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากช่วงเที่ยงวานนี้ (10 ก.ค.) หลังจากตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เข้าเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มชาวบ้านราชบุรีที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.จากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จากนั้นตำรวจ สภ.บ้านโป่งได้เข้าตรวจค้นรถนายปกรณ์ อารีกุล หรือแมน สมชิก NDM พบเอกสารรณรงค์จึงควบคุมตัวสมาชิก NDM 3 ราย คือ ปกรณ์ อารีกุล, อนันต์ โลเกตุ และ อนุชา รุ่งมรกต รวมถึงทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่โดยสารในรถคัดเดียวกันเพื่อลงพื้นที่ทำข่าวไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการไปควบคุมตัว เหน่อ หรือ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้จากบ้านพักในจังหวัดราชบุรีมาเพิ่มเติมในช่วงค่ำทั้ง 5 คนถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตาม มาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จากกรณีเจ้าหน้าที่พบมีเอกสารรณรงค์ประชามติในรถกระบะดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีพฤติการณ์เตรียมแจกจ่ายเอกสาร (อ่านข่าวที่นี่) จากนั้นในเช้าวันนี้ตำรวจจึงนำตัวทั้งหมดมาขออำนาจศาลจังหวัดราชบุรีเพื่อฝากขัง 12 วัน (อ่านข่าวได้ที่นี่)

หลังจากผู้ต้องหาทั้งหมดมาศาล ต่อมาเวลา 14.00 น. ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังในคดีดังกล่าว โดยมี ร.ต.อ.ยุทธนา ภูเก้าแก้ว ร้อยเวร สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผู้ยื่นคำร้องขอฝากขังและคัดค้านการประกันตัว ชี้แจงเหตุผลระบุว่า จำเป็นต้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดเพราะยังทำสำนวนสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติมเป็นทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองผู้จับกุมอีก 3 ปาก เจ้าของรถกระบะของกลาง 1 ปาก และพยานบุคคลที่ฝ่ายผู้ต้องหากล่าวอ้าง 1 ปาก คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 10 วันและใช้เวลาตรวจสอบลายนิ้วมือผู้ต้องหาที่ 5 อีกประมาณ 3 อาทิตย์

ร.ต.อ.ยุทธนา ตอบคำถามทนายด้วยว่า รับทราบแล้วว่าผู้ต้องหานั้นเป็นนักศึกษา 2 คน เป็นนักข่าว 1 คน และเป็นนักกิจกรรมอีก 2 คน

ร.ต.อ.ยุทธนากล่าวว่า เหตุที่คัดค้านการขอประกันตัวเพราะเป็นคดีที่มีโทษสูง เมื่อพบเอกสารในรถ จึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อความไม่สงบเรียบร้อยประการอื่นอีก

อย่างไรก็ตาม ศาลถามเพิ่มเติมถึงพฤติการณ์การจับกุม เขากล่าวว่า พนักงานชุดจับกุมพบเอกสารแผ่นพับสื่อต่างๆ รวม 19 รายการ ถือว่ามีพฤติการณ์เป็นการปลุกระดม แต่ยังไม่มีพฤติการณ์นำเอกสารไปแจก

นายปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในผู้ต้องหาแถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า เขาเชื่อโดยสนิทใจและบริสุทธิ์ใจว่าการรณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติยังกำหนดรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต เอกสารต่างๆ ที่มีนั้นเป็นเอกสารสาธารณะและที่ผ่านมาก็เคยแจกเอกสารเหล่านี้ต่อหน้าเจ้าพนักงาน ตำรวจ ทหาร กกต. มาแล้ว คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการจับกุมดังเช่นกรณีนี้ นอกจากนี้การบรรยายการจับกุมนั้นยังผิดไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากตนอยู่ที่ สภ.บ้านโป่ง 2 ชม. เพื่อให้กำลังใจกลุ่มประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งมารับทราบข้อหาคดีเปิดศูนย์ปราบโกงฯ โดยไม่มีการแจกเอกสารแต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่มีการเผยแพร่ และเมื่อกลับไปที่รถ มีเจ้าหน้าที่หยิบเอกสารดังกล่าวออกมาหรือแตะต้องของกลางก่อนแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงแสดงตนเพื่อขอตรวจค้น ไม่ใช่การแสดงตนเพื่อขอจับกุม ซึ่งตนเองก็ยินดีให้ตรวจค้นโดยสุจริตใจ ดังนั้นในบันทึกการจับกุมจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และคิดว่าการจับกุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฏหมาย เนื่องจากตนได้รับเชิญตัวให้ขึ้นไปบน สภ. เพื่อรอการตรวจค้นเท่านั้น

ด้านนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทแถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า ในวันที่ 10 ก.ค. มีนัดหมายแหล่งข่าวเพื่อสัมภาษณ์ คือ นายอนันต์ โลเกตุ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกคุมขัง 1 ผัดพร้อมรังสิมันต์ โรมและคนอื่นๆ อนันต์เพิ่งออกจากเรือนจำสัปดาห์ก่อนและแจ้งว่าจะนั่งรถมากับสมาชิก NDM เพื่อลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวบ้านที่ราชบุรี ตนจึงขอติดรถมาด้วยเพื่อทำการสัมภาษณ์ นอกจากนี้ยังนัดนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย (เหน่อ) ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหารายหนึ่งจากการเปิดศูนย์ปราบโกง ที่สภ.บ้านโป่งด้วย

"ผมไม่ได้มีการแจกเอกสาร แค่ติดรถมาด้วยเท่านั้น ในระหว่างจับกุมผมก็ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นผู้สื่อข่าว ติดรถมาเพื่อสัมภาษณ์ผู้ต้องหาในคดีอื่น" ทวีศักดิ์กล่าว