วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทหาร-ตร. ยึดลูกโป่ง 'รณรงค์ไม่ผิด' นศ.แม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย


3 ก.ค.2559 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วานนี้ (2 ก.ค.59) เวลา 16.00 น. กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรมถ่ายรูปหมู่ร่วมกันพร้อมกับลูกโป่งสีม่วงที่มีคำความเขียนว่า "รณรงค์ไม่ผิด" ที่บริเวณสำนักฟาร์ม 900 ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยระบุว่าเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559
โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหาร กว่า 10 นาย เข้าเจรจาให้กลุ่มนักศึกษายุติกิจกรรม ระบุกิจกรรมลักษณะนี้จะเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ถ้ามีการทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่จะทำการเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรแม่โจ้ทันที และอาจถูกดำเนินคดี
กลุ่มนักศึกษาจึงตัดสินใจไม่ปล่อยลูกโป่ง แต่เจ้าหน้าที่ยังพยายามกักตัวไว้ เพื่อขอถ่ายบัตรประชาชน ในที่สุดจึงยอมให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปบัตรประชาชนของนักศึกษาสองราย เจ้าหน้าที่จึงยินยอมให้แยกย้ายกลับได้ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังได้เข้าปลดลูกโป่งที่กลุ่มนักศึกษาเตรียมเอาไว้ปล่อย และตรวจยึดทั้งหมดไป
โดยผู้ร่วมกิจกรรมเปิดเผยว่ากิจกรรมนี้ทางกลุ่มมองว่าเป็นการแสดงจุดยืนเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมกันในการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 โดยไม่ได้มีเจตนาในการแสดงจุดยืนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด ด้วยความคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมบอกตรงกันว่าการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนมุมมองจะนำไปสู่การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง รัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่วมกันลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้

รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมายที่ มธ.-เรียกร้องปล่อยตัว 7 ผู้รณรงค์ประชามติ


ประชาธิปไตยใหม่จัดงาน "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ - ชำนาญ จันทร์เรือง - พวงทอง ภวัครพันธุ์ - สาวตรี สุขศรี - เดชรัต สุขกำเนิด - สมบัติ บุญงามอนงค์ ร่วมอภิปรายทำไมรณรงค์ต้องเป็นสิทธิ และวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ เปิดทางให้ 250 ส.ว. ที่ คสช. เลือกในช่วงที่ใช้บทเฉพาะกาล ไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี - นอกจากนี้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัว 7 ผู้รณรงค์ประชามติบางพลี
ผู้ร่วมกิจกรรมชูโปสเตอร์ และตะโกนคำขวัญ "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" และ "ปล่อยเพื่อนเรา" เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้รณรงค์ประชามติที่บางพลี จ.สมุทรปราการ ทั้ง 7 ราย
ผู้ร่วมกิจกรรม "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูโปสเตอร์ข้อความ "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" พร้อมตะโกน "ปล่อยเพื่อนเรา" เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา 7 คนซึ่งถูกจับกุมคุมขังจากการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่เคยถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อปีก่อน กล่าวให้กำลังใจ 7 ผู้รณรงค์ประชามติที่บางพลี ซึ่งถูกควบคุมตัว
3 ก.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงาน "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเมื่อเวลา 15.30 น. พิธีกรบนเวทีได้เชิญชวนผู้ร่วมงานชูนิตยสารก้าวข้าม ด้านที่เป็นโปสเตอร์ "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" พร้อมตะโกน "ปล่อยเพื่อนเรา" เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา 7 คนซึ่งถูกจับกุมคุมขังจากการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่บางพลี จ.สมุทรปราการ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวเปิด เผยสยามประเทศเผชิญวิกฤตรัฐธรรมนูญมาแล้ว 132 ปี
ต่อมา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มกล่าวเปิดงานว่า  วันนี้เราต้องมายืนยันสิทธิของเราในการลงประชามติร่างร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 ส.ค.ว่า การรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างฯ เป็นสิทธิไม่ผิดกฎหมาย เหตุที่ต้องมารวม ณ ที่นี้ เนื่องจากเยาวชนของเราจำนวน 7 คนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่น่าเชื่อ 40 กว่าปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ยังจำได้ว่าได้ไปเยี่ยม 13 กบฏรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ปีนี้เราต้องไปเยี่ยม 7 คนกบฏประชามติ
ในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์อยากบอกว่า สยามประเทศไทยเรามีวิกฤตรัฐธรรมนูญมา 132 ปีแล้วไม่ใช่เพียง 10 ปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น ได้แก่
- ร.ศ.103 มีข้าราชการหัวก้าวหน้าทำคำร้องขอรัฐธรรมนูญต่อ ร.5
- ร.ศ.130 ทหารหนุ่มวางแผนยึดอำนาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญสมัย ร.6ถูกจับขังคุกฐานกบฏ
- พ.ศ.2475 ทหารและขุนนางในนามคณะราษฎรทำการยึดอำนาจ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2
- 14 ตุลาคม 2516 นักเรียนนิสิตนักศึกษาประท้วงรัฐบาลถนอม ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10
- พฤษภาคม 2535 คนชั้นกลางประท้วงรัฐบาลเรื่องการมีนายกฯ คนนอก รัฐบาลสุจินดาปราบปรามประชาชน
- พ.ศ.2540 ประชาชนคนชั้นกลางเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมืองจนได้รัฐธรรมนูญ 2540 มีหลักการสำคัญ "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง"
- พ.ศ.2549 คปค.ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่
- ร.ศ.233 หรือ พ.ศ.2557 คสช.ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลเพื่อไทยล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่
"ประชามติในวันที่ 7 สิงหาน่าจะต้องมีการรณรงค์ใดๆ ก็ตามเยี่ยงนานาอารยประเทศ สยามเราถูกบังคับโดยอำมายาเสนาตุลาการ นายพล ขุนศึก ศักดินา พาสังคมพาเรือในอ่างน้ำเน่าซ้ำๆ ซากๆ มาเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว คงไม่มีใครรู้ผลประชามติ (ถ้าจะมี) แต่การจับคนหนุ่มสาวไปขังไว้ในคุกนั้นเป็นสิ่งผิดอย่างแน่นอน สังคมใดก็ตามที่จับคนหนุ่มสาวมาขังคุกสังคมนั้นไม่มีอนาคต และยิ่งไม่มีอนาคตมากขึ้นเมื่อคนกำหนดอนาคตประเทศ เป็นผู้สูงวัยอายุ 60-กว่า 90 ปี แต่ท่ามกลางความหดหู่ ขอให้เรามองไปยังคนหนุ่มสาว ดังที่ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดได้โดยคนหนุ่มสาวทั้งสิ้น กบฏหมอเหล็ง (ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2455) เป็นคนหนุ่มทั้งสิ้น ปรีดี พนมยงค์ ก็อายุเพียง 32 ปี ขณะที่คนหนุ่มสาว 14 ตุลาไม่มีใครอายุเกิน 30 ปีเลย ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดแต่ประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกก็เกิดจากหนุ่มสาวทั้งสิ้น"
"ขอให้ผู้บริหาร ผู้กุมอำนาจ ผู้กุมกลไกความรุนแรงเปิดตาเปิดใจเห็นความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ้านเมืองเราเสียเวลามามากแล้วต้องเลิกพายเรือในอ่างน้ำเน่าและที่สำคัญเราต้องออกไปจากกะลา ไปให้พ้นความมืดบอดอคติและความเห็นแก่ตัว เห็นแก่หมู่คณะตนเอง ต้องกำหนดสติยึดมั่นคำสัญญาว่า เราจะอยู่เพื่อชาติและราษฎรของสยามประเทศ" ชาญวิทย์กล่าว
จากนั้นชาญวิทย์ได้มอบหนังสือให้แก่ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจาย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปฝากนักโทษประชามติที่เรือนจำในวันพรุ่งนี้ "สี่สิบปีที่แล้วผมฝากหนังสือให้นักศึกษา ปีนี้ยังต้องมาฝากอีก" ชาญวิทย์กล่าว
รายชื่อหนังสือ ประกอบด้วย ประวัติการเมืองไทยสยาม 2475-2500, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, ตุลา ตุลา , พฤษภา พฤษภา, ชุมชนจินตกรรม, ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป, อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
หลังชาญวิทย์ กล่าวจบ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี พิธีกรบนเวที กล่าวว่า วันนี้มีแต่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยืนอยู่ที่นี่ แต่สมคิด เลิศไพฑูรย์ ทอดทิ้งรังสิมันต์ โรม ธรรมศาสตร์ไม่มีแม้แต่แถลงการณ์สักฉบับ

ชำนาญ จันทร์เรือง ชี้ประชามติฉบับกลัวแพ้
ต่อมา ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. กล่าวว่า ประชามติที่จะเกิดขึ้นน่าจะเรียกว่า "อคติ" มากกว่า เป็นอคติจากความกลัวแพ้ เพราะมีการทำทุกวิถีทางเล่นงานคนที่ทำกิจกรรมรณรงค์
สำหรับทุกวันนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่า ถ้าประชามติผ่านหรือไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร หรือถ้าคำถามพ่วงผ่านแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวมองในเชิงเปรียบเทียบว่า ถ้าลูกในท้องตาย แม่ก็ต้องตายด้วย
ชำนาญย้ำว่า ทุกคนในที่นี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว มีบทเรียนประวัติศาสตร์จากเพื่อนบ้านหลายประเทศแล้วว่า แม้จะพยายามหยุดเวลาอย่างไร สุดท้ายเวลาก็ต้องเดินต่ออยู่ดี

การรณรงค์วันนี้ ถอยหลังยิ่งไปกว่าสองปีก่อน 
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนหลายคนที่ติดตามการเมืองไทยเข้าใจความยุติธรรมในสังคมดีว่าสองมาตรฐานยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
กว่าสองปีก่อนเกิดรัฐประหาร กลุ่มนักวิชาการกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) รณรงค์หลักการคนเท่ากัน หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ยืนยันสิทธิทางการเมืองของประชาชนต้องเท่ากัน เพราะเชื่อว่ามีความพยายามของกลุ่มอำนาจเก่าพยายามดึงเอาอำนาจที่เท่าเทียมของประชาชนไป แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่ต่อสู้กันวันนี้เรื่องสิทธิในการรณรงค์ ถอยหลังไปกว่าการรณรงค์เมื่อสองปีก่อน ตอนนั้นยังมีโอกาสรณรงค์ในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องกลัวถูกจับกุม มาวันนี้จะรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนกลับทำไม่ได้ นี่คือความล้าหลังที่เห็น

คำถามพ่วงประชามติเปิดทาง คสช. เลือก ส.ว. 250 คน ไปลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นแรก หน้าที่ของการณรงค์มีความสำคัญมาก เพราะการอ่านร่างฉบับที่เขียนยอกย้อนมากเช่นนี้ไม่ง่าย ขณะเดียวกันมีสิทธิบางอย่างของประชาชนที่หายไป การณรงค์จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจ ยกตัวอย่าง สิทธิการศึกษา รัฐธรรมนูญนี้ตัดสิทธิ์การศึกษาในช่วงม.ปลายและอาชีวะศึกษาเหลือแค่การศึกษาภาคบังคับ โชคดีที่น้องๆ มัธยมเป็นแนวหน้าลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องนี้จนในที่สุด แม้กระทั่ง คสช.สุดท้ายยังต้องยอมถอยออกประกาศให้มีการศึกษาฟรีจน 15 ปีเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างว่าเรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คน ก็เพราะน้องๆ เขาออกมารณรงค์
"ฉะนั้น การณรงค์ไม่ใช่แค่เป็นสิทธิ แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ แต่เขาไม่ให้มีการรณรงค์เพราะไม่อยากให้รู้ว่าร่างนี้มีอะไรไม่ดีบ้าง" เดชรัตกล่าว
"มีคนถามว่าทำไมเขาไปเพิ่มสิทธิการศึกษาให้กลับมาเท่าเดิมผ่านประกาศ คสช. ผมตอบว่าอันนี้เป็นวิธีการทั่วไปของผู้กดขี่ เปาโล แฟร์ เขียนไว้นานแล้วว่า ผู้กดขี่ต้องการแสดงออกถึงความเมตตาปราณีอันจอมปลอม จะมีการแสดงออกจอมปลอมได้ต้องมีกฎกติกาอันไม่ยุติธรรม กฎเหล่านี้แหละจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้กดขี่แสดงอาการเมตตาปราณีอันจอมปลอมได้ ดังนั้นผู้กดขี่จึงต่อสู้เอาเป็นเอาตายเมื่อกติกานั้นจะได้รับการแก้ไข เพราะถ้ามันถูกแก้ไขเขาก็ไม่มีโอกาสแสดงความเมตตาปราณีอันจอมปลอมนั้นได้" เดชรัตกล่าว
ประเด็นต่อมา เดชรัตกล่าวถึง "คำถามพ่วง" ที่มาพร้อมร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เพื่อนมากกว่าครึ่งของเขาสงสัยว่ามีคำถามพ่วงด้วยหรือ? คำถามพ่วงถามว่า ช่วง 5 ปีแรกเห็นชอบไหมให้ที่ประชุมรัฐสภาร่วมเลือกนายกฯ
"ถามว่ามันแปลว่าอะไร ในร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก แต่ช่วง 5 ปีแรกดันไปฝากไว้ในคำถามพ่วง ถ้าเราการับคำถามพ่วง ก็แปลว่าจะมี ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วย แล้วในร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่า ส.ว.มาจากการเลือกกันเอง แต่พออ่านบทเฉพาะกาล บอกว่า ส.ว. 250 คน คสช.เป็นคนเลือก จะเห็นได้ว่าเวลาอ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีสติอย่างมาก ไม่รู้อยู่ตรงไหนแน่" เดชรัตกล่าว
เขากล่าวอีกว่า ตอนนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 50 ล้านคน ถ้ามาใช้สิทธิ 70% ก็เท่ากับราว 35 ล้านคน เมื่อมาหารเฉลี่ยจะพบว่า ส.ส. แต่ละคนต้องมีเสียงประชาชนในการเลือก 70,000 เสียง แต่คสช. คณะเดียวเลือกได้ 250 คน เท่ากับปวงชนชาวไทย 17 ล้านคน อันนี้เป็นประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตย เป็นคณะเดียวที่เลือกเท่ากับ 50%ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
"นี่คือสิ่งที่เราต้องรณรงค์ ชี้แจงว่าอะไรจะเกิดขึ้น อนาคตของไทยจะเป็นอย่างไร นี่เป็นภารกิจ เป็นหน้าที่ของเราทุกคน เราต้องยืนยันว่าต้องไปคุยกับเพื่อนกับพี่น้องของเรา และเรามีสิทธิจะบอกว่า เราไม่รับร่างรธน.ฉบับนี้และเราไม่รับคำถามพ่วงที่มากับร่างนี้" เดชรัต

4 ที่สุดยุค คสช.-ปัญหามาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติ
สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่า ยุคนี้น่าจะเป็นยุค "ที่สุด" ของกฎหมายในหลายเรื่อง ประกอบด้วย
1. เป็นยุคที่ออกกฎหมายเร็วที่สุด ชนิดที่นักกฎหมายยังอ่านไม่ทัน วันเดียวรับหลักการสิบฉบับรวดยังเคยมี แล้วกฎหมายที่ออกมาจะดีหรือไม่
2. ถ้า สนช. หรือรัฐบาลนี้อยู่ต่อ อาจเป็นยุคที่มีการออกกฎหมายมากที่สุด แค่ประกาศ คสช. ออกมาครึ่งพันแล้ว ยังไม่นับกฎหมายอื่นที่ถูกแก้ไข
3. รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อ้างกฎหมายเพื่อรับรองการกระทำต่างๆ ของตัวเองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยลืมไปว่า ตัวเองเป็นที่สุดแห่งผู้ละเมิดกฎหมาย
4. กฎหมายสำคัญหลายฉบับเขียนให้อำนาจกับตนเองกว้างขวางที่สุด อย่าง มาตรา 44 หรือเกิดปัญหาการตีความมากที่สุด
สำหรับกฎหมายล่าสุดที่ต้องพูดถึงคือ มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเป็นมาตราที่นักศึกษาทั้งเจ็ดถูกตั้งข้อหา ในมุมกฎหมายอาญา มาตรานี้ขัดกับกฎหมายอาญาหรือไม่ สาวตรี อภิปรายถึงคำถามนี้ว่า โดยหลักการ หลักกฎหมายที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญคือ "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" หมายความว่า รัฐบาลไหนจะกำหนดให้การกระทำของประชาชนเป็นความผิดที่มีโทษอาญา ต้องมีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในขณะ หรือก่อนที่จะทำความผิด โดยมีหลักย่อยที่ผู้บังคับใช้ต้องยึดถือสี่หลักคือ
หนึ่ง ห้ามใช้จารีตประเพณีในทางที่เป็นโทษต่อบุคคล (เพราะไม่มีบัญญัติลายลักษณ์อักษร)
สอง ห้ามใช้ย้อนหลังในลักษณะเป็นโทษต่อบุคคล
สาม ห้ามเทียบเคียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายอาญา ในทางเป็นโทษต่อบุคคล
สี่ ต้องบัญญัติโดยไม่ใช้ภาษาที่ไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ เพราะจะทำให้ประชาไม่รู้ว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้
หากมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติขัดกับสี่หลักนี้ โดยสภาพแล้วขัดรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไม่ได้
ตามมาตรา 61 วรรคสอง เรารณรงค์ชี้นำได้ ทั้งบอยคอต โหวตโน โหวตเยส เพราะมาตรานี้ ชัดว่าจะทำไม่ได้ ก็ต่อเมื่อข้อความที่พูดบิดเบือนข้อเท็จจริง หยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ หากไม่ทำ ย่อมไม่ผิดกฎหมาย
มาตรานี้ขัดกับหลักข้างต้นที่กล่าวมา คำว่า ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่ นั้นมีความคลุมเครือแต่ละคนตีความต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อความที่ระบุว่า รณรงค์ไม่ได้ ถ้าข้อมูลที่รณรงค์ผิดไปจากข้อเท็จจริง ถามว่าทำไมนักศึกษาที่นำเสนอการตีความร่างรัฐธรรมนูญจึงมีความผิด แต่ทำไมคลิปของสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงไม่ผิด สุเทพชี้นำให้ไปรับ นักศึกษาให้ไปโหวตไม่รับ ประเด็นคือทำไมสุเทพไม่ผิด นอกจากนี้ มาตรานี้ยังมีโทษที่สูง ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดด้วย
สาวตรีชี้ว่า ประชามติในอังกฤษกับไทย เหมือนกันแค่การใช้คำว่า "ประชามติ" นอกนั้นไม่มีอะไรเหมือนกัน ในอังกฤษ มีกฎหมายเรื่องการประชามติ แต่เปิดกว้างให้ประชาชนโหวตอยู่หรือโหวตออกได้เต็มที่ ไทยมีมาตรา 61 วรรคสอง แล้วยังมีมาตรา 44 ด้านหน้าที่ กกต. กกต.อังกฤษต้องทำหน้าที่สนับสนุนประชามติ แต่กกต.ไทย ไล่ล่าข่มขู่ นายกฯอังกฤษที่ริเริ่มการทำประชามติ ประกาศชัดว่าให้อังกฤษอยู่ในอียู แต่ไม่เคยบอกว่าต้องทำอย่างไร หรือห้ามทำอะไร แต่รายการคืนความสุข บอกว่าห้ามชี้นำ จะผิดกฎหมาย
"ถ้าเรายังคงมีได้แค่ประชามติแบบไทยๆ ที่สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นยังถูกลิดรอนอยู่ตลอด คงไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง" สาวตรี กล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์ ชี้"เราต้องไม่ลืมว่า เราเป็นคน ไม่ได้เป็นลิง"
สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) กล่าวว่า หากพิจารณาจากกระแสวิทยาศาสตร์ของโลกใบนี้อธิบายได้ว่า ไกลที่สุดและชัดเจนที่สุดคือ มนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง แล้วอะไรคือสิ่งที่เราแตกต่างจากลิง มีคนเล่าซึ่งอาจไม่จริงแต่น่าประทับใจว่า ลิงตัวแรกที่ตัดสินใจยืนตรง เลิกใช้สี่ขาคลาน วันที่ลิงมันตัดสินใจยืนตัวตรงคือจุดเปลี่ยนของความแตกต่างระหว่างลิงกับมนุษย์ คำถามคือเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะย้อนกลับไปเป็นลิงเหมือนเดิม ใครก็แล้วแต่ที่พยายามจะสวนอารยธรรม ทำให้คนในสังคมยืนไม่ตรง ความพยายามนั้นเป็นความพยายามที่จะไม่ประสบความสำเร็จ
สมบัติกล่าวด้วยความคับแค้นว่า ไม่กี่วันก่อนศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าเขาขัดคำสั่ง คสช. ไม่รายงานตัว เขาขอพูดเรื่องคำสั่ง คสช. เพราะตอนนี้เวลาคนวิจารณ์นักศึกษาหรือคนแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญเขาจะใช้วาทกรรมว่า คนเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย
"แต่สองปีที่แล้วไม่มี คสช. และผมเคารพกฎหมาย แต่พอมีคนยึดอำนาจสถานปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ปกครองแล้วประกาศนู่นประกาศนี่ ประกาศเหล่านี้ผมไม่ถือเป็นกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติไม่ใช่กฎหมาย การที่ผมนอนอยู่บ้านเพื่อนแล้วไม่ไปหาเขา ผมผิด ผมถูกตัดสินว่าผิด!! เขาตัดสินว่าคำสั่ง คสช.ถูกและการนอนอยู่บ้านนั้นผิด"
"ทีนี้ร่างร่างรัฐธรรมนูญของคสช.ก็จะต้องมีมาตราที่เขียนว่า รัฐธรรมนูญนี้ตราแล้วห้ามมิให้ฉีก มิให้ทำลายกฎหมายสูงสุด เหมือนรัฐธรรมนูญอื่นๆ คำถามคือ รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ แล้วเกิดมีคสช.2 ผมต้องทำยังไง แล้วคสช.2 ดันบ้าจี้เรียกผมอีก แล้วผมนอนอยู่บ้านเพื่อนอีก ถ้าจะให้ทำตามมาตรฐานที่เขาบอกว่าถูก ใครเอารถถังมายึดอำนาจเรียกรายงาน แล้วรีบวิ่งไปหา
เอาอย่างนั้นใช่มั้ย เราจะอยู่อย่างนั้นใช่ไหม ผมจะลงประชามติได้ยังไง ในเมื่อวัฒนธรรมทางการเมืองเราไม่เป็นประชาธิปไตย ผมไม่กล้าหวังเหมือนในต่างประเทศที่จะมีการจับคณะรัฐประหารย้อนหลังมาติดคุก พูดตรงๆ ว่าผมไม่กล้าหวัง แต่ผมประชาชนคนนึงผมนอนอยู่บ้าน ผมผิด มันเป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ และฎีกาแน่นอน แม้จะติดคุกสองเดือน ผมยอมเรื่องนี้ไม่ได้"
"ผมพูดถึงน้องๆ ในเรือนจำ ตอนเริ่มทำกิจกรรมมักมีการพูดถึงครู โกมล คีมทอง ไปเป็นครูบ้านนอก วันนึงแก่เสียชีวิต มีคนเขียนถึงแกว่าแกเหมือนอิฐก้อนแรกที่ถมไปในหลุม ตอนนี้เราอยุ่ในหลุม แล้วน้องๆ ที่อยู่ในเรือนจำ หรือคนจัดงานวันนี้ แม้แต่พวกเราด้วย ก็เหมือนอิฐก้อนแรกที่ลงไปในหลุมแล้วจะมีอิฐก้อนอื่นๆ ทับถมไปเรื่อยๆ คนจะมองไม่เห็นหรอก แต่มันไม่มีทางจะเห็นอิฐก้อนบนได้เลยถ้าไม่มีอิฐก้อนแรก"
"พวกที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ สิ่งที่โรมเขาเขียนออกมา เขาเอาตัวเองเป็นเทียน พวกนี้ต้องเผาตัวเอง เสียสละเพื่อให้เกิดแสงสว่าง แล้วบรรยากาศการเมืองตอนนี้เต็มไปด้วยความกลัว ผมคิดว่าเขาเลือกแล้วที่จะให้แสงสว่างนั้นออกมาได้กว้างที่สุด ส่วนพวกเรา เราต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคน ไม่ได้เป็นลิง ดังนั้นเราต้องยืนให้ได้"

บุญเลิศ วิเศษปรีชา เรียกร้องปล่อยลูกศิษย์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวว่า การมาอยู่ที่นี่มาด้วยความรู้สึกคล้ายกันคือเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้น การจับกุมนักศึกษาครั้งนี้เกิดจากการแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโน แม้แต่ชาวบ้านยังรู้ว่าการแจกใบปลิวเป็นสิ่งสามัญ ทำไมจึงต้องติดคุก ไปเยี่ยมนักศึกษา เห็นเยาวชนเจ็ดคน รังสิมันต์ถามตลอดเวลาว่าสถานการณ์ข้างนอกเป็นอย่างไร
บุญเลิศตั้งคำถามว่า เผด็จการกลัวนักศึกษาเยาวชน แผ่นพับ และลูกโป่ง ขนาดนี้เชียวหรือ คงจะวิปริตเกินไปที่เราต้องมาพูดว่า คนแจกแผ่นพับถูกจับ ทั้งที่ กกต.สมชัย เพิ่งบอกว่าการรณรงค์ไม่ใช่เรื่องผิด ขอแค่อย่าก้าวร้าว หยาบคาย

เวียง วชิระ บัวสนธ์ ขอโทษที่รับร่าง รธน. ไม่ได้จริง
เวียง วชิระ บัวสนธ์ บก.สำนักพิมพ์สามัญชน กล่าวว่า อยากเรียนรัฐบาล คสช. และผู้สนับสนุน คสช. ให้ทราบว่า การที่เพื่อนหลายคน ทั้งขบวนการประชาธิปไตยใหม่และพลเมืองโต้กลับ ทำกิจกรรมที่อาจสร้างความรำคาญใจนั้นเกิดจากความไม่พอใจรัฐบาล คสช. ที่ออกกฎกติกาข้อห้ามจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการรณรงค์ประชามติ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความไม่พอใจที่ความหมายของความเป็นมนุษย์ได้ถูกพรากไปแล้วตั้งแต่หลังรัฐประหาร
"การหมิ่นหยามคุณค่าของความเป็นคน ถ้ามีความคิดเช่นนั้นอยู่ ไม่แน่ใจว่ายังมีความเป็นคนหลงเหลือหรือไม่" เวียงฯ ฝากถึงรัฐบาล คสช.
เขากล่าวด้วยว่า จากการอ่านร่าง รธน. ฉบับมีชัย แล้วมองว่าไม่ชอบธรรม เพราะถูกผลิตขึ้นโดยผู้คนฝ่ายเดียว โดยส่วนตัว คิดว่าไม่อยากสังฆกรรมกับประชามติด้วย เพราะตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่หลังรัฐประหาร แต่เผอิญเขาไม่นับหากอยู่บ้านเฉยๆ จึงคิดว่าจำเป็นต้องไป เพื่อบอกว่าตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 คุณทำผิดและผิดมาตลอด "ขอโทษ กูรับมึงไม่ได้จริงๆ" เวียงฯ ทิ้งท้าย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชี้ประชามติต้องทำบนพื้นฐานความเท่าเทียม ไม่มีการข่มขู่คุกคาม
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ นำเสื้อ "โหวตโน" ขึ้นมาสวมบนเวที เขาเล่าว่า สองวันก่อน ได้ไปที่เรือนจำพิเศษ เป็นครั้งที่สอง เหมือนรียูเนียน ปีที่แล้วไปเยี่ยม 14 คน เพื่อยืนยันว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องในการแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่เอารัฐประหาร และเมื่อไปเยี่ยม ถูกมองว่าเป็น "นักเขียนอันธพาล" "ทักษิณซื้อตัวไปแล้ว" ปีนี้ก่อนไปเยี่ยมได้ประกาศในเฟซบุ๊กว่าอยากให้เพื่อนนักเขียน ศิลปิน โดยเฉพาะนักเขียนรางวัลช่อการะเกด มาร่วม แต่ปรากฏว่ามีนักเขียนช่อการะเกดมาร่วมสองคน อาจเพราะกลัว หรือเปลี่ยนไปแล้ว
สุชาติ กล่าวว่า การทำประชามติต้องตั้งบนพื้นฐานความเท่าเทียม การตัดสินใจสุดท้ายเป็นของแต่ละคน ต้องไม่มีการออกกฎหมายประชามติ ที่ข่มขู่ คุกคาม คนที่รณรงค์โหวตโน
"สิ่งที่คนหนุ่มสาวรณรงค์ประชามติเป็นสิ่งชอบธรรม เพราะแสดงให้เห็นความชอบธรรมว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" สุชาติกล่าวพร้อมย้ำว่า "การโหวตโนคือการไม่ยอมรับรัฐประหาร"

ปล่อยลูกโป่ง 'รณรงค์ไม่ผิด' ที่ธรรมศาสตร์-อัดเขียนกฎหมายจากปลายปืนคืออาชญากรรม


เคลื่อนขบวนหลังเวที 'รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย' ปล่อยลูกโป่ง 'รณรงค์ไม่ผิด' และ 'โหวตโน' เรียกร้องปล่อยตัว 7 นักศึกษาผู้ถูกคุมขังหลังรณรงค์ประชามติที่บางพลี พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แถลงก่อนปล่อยลูกโป่งว่า กฎหมายจากปลายกระบอกปืน คุกคามคนไม่เห็นด้วยต่างหากที่เป็นอาชญากรรม
คลิปปล่อยลูกโป่ง รณรงค์ไม่ผิด ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
19.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมบนเวที "รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย" ที่จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) ต่อมาผู้ร่วมกิจกรรมได้ตั้งขบวนด้านหน้าหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเดินมายังลานปรีดี หน้าตึกโดม เพื่อร่วมปล่อยลูกโป่ง "รณรงค์ไม่ผิด" และ "โหวตโน"
โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) แถลงด้วยว่ามีแผนจะจัดรณรงค์ครั้งใหญ่อีกครั้งวันที่ 24 ก.ค.นี้ด้วย ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 2 กองร้อยตั้งขบวนอยู่ในสนามหลวงเนื่องจากไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กล่าวก่อนปล่อยลูกโป่งว่า เมื่อเราตัดอารัมภบทออก เราย่อมเห็นแจ้งว่าเราเป็นคนไทย และเมื่อเราตัดความกลัวระหว่างบรรทัดออก เราย่อมประจักษ์และเข้าใจว่า ศัตรูที่แท้จริงอาจจะเป็นตัวเราเองก็ได้ มิตรสหายท่านนั้นกล่าวกับผม
จากนั้นพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า "พี่น้องครับ" ผู้ชุมนุมตอบว่า "ครับ" จากนั้นเขากล่าวต่อไปว่าการรวมตัวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ที่เผด็จการทหารพรากไปจากพวกเรา มันฟังดูเงียบสงัดเหลือเกินในค่ำคืนอันมืดมิด แต่เราขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะรวมตัวกัน ไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหน ใช่ไหมครับ
"น้องๆ นักศึกษา และพี่น้องประชาชนร่วมชะตากรรมที่อยู่ในแดนตาราง เคยยืนเคียงข้างกับพวกเราที่นี่ แต่การใช้กำลังอำนาจ กดขี่ คุกคาม การปรามาสจากองคาพยพของอีกฝ่ายนับไม่ถ้วน ทว่าพวกเขายังยึดมั่น และแน่วแน่ ที่จะยืนยันว่าการแสดงหาและเรียกร้องสิทธิภาพ อันติดตัวมาแต่กำเนิดไม่ใช่เรื่องผิดบาปหรืออาชญากรรม การปล้นสิทธิเสรีภาพไปจากประชาชนต่างหากคืออาชญากรรม การเขียนกฎหมายจากปลายกระบอกปืน คุกคามคนไม่เห็นด้วย นั่นคืออาชญากรรมใช่ไหมครับ"
พี่น้องครับวันนี้ความจริงและหลักการที่ถูกต้องถูกทำให้สับสนและพร่าเลือน ศาลทหารเป็นเพียงกลุ่มข้าราชการทหารภายใต้บงการเผด็จการ ที่สั่งให้ไล่ล่าเอาผิดคนที่ต่อต้านนายของพวกมัน แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ก้มหน้าเอามือซุกหว่างขาอย่างนั้นหรือครับ วางเฉยทำไม่รู้ไม่ชี้ใช่ไหม
"ในโมงยามของความมืดมิด มิตรสหายท่านนั้นกล่าวกับผม เราไม่ต้องการกำลังใจ เพราะกำลังใจเรามีอยู่เต็มเปี่ยม เราไม่ต้องการคลิกไลค์ เพราะเราซื้อไลค์เองได้ เราไม่ต้องการคนแชร์กิจกรรมของเรา มากเท่ากับความต้องการที่เราให้คนมาร่วมกิจกรรมจริงๆ และที่เราต้องการมากที่สุดคือมิตรสหายญาติพี่น้องมาร่วมยืนหยัดเคียงข้างเราเพื่อยืนยันว่า น้องๆ นักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับคือเพื่อนของเรา" จากนั้นผู้ชุมนุมร่วมกันตะโกนคำขวัญว่า "เราคือเพื่อนกัน"
พันธ์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า วันอังคารที่ 5 ก.ค.นี้ขอให้ประชาชนไปร่วมยืนยันที่ศาลทหารร่วมกันในเวลา 8.30 น. เพื่อยืนยันว่า "เพื่อนเราไม่ผิด" "รณรงค์เป็นสิทธิ" "ปล่อยเพื่อนเรา"

รู้จัก 7 ผู้ต้องขัง คดีแจกเอกสารประชามติ จากปากเพื่อนๆ


7 ผู้ต้องขัง คดีรณรงค์ประชามติ นอกจาก โรม NDM ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ยังมี 'ปอ เสรีเกษตร' 'กุ๊ก เสียงจากคนหนุ่มสาว' 'เคิร์ก ศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม'  'บอย อาสาพัฒนาราม-อีสาน' 'เทค อดีตเลขาฯ สนนอ.' และ 'ต้อม ศึกษาปัญหายาเสพติด'
จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 มีนักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่วันนี้ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ (อ่านข่าวที่นี่)  ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป  และข้อหาตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ขอประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 50,000 บาท ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืน 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยืนประกันตัวนั้นถูกฝากขังผัดแรกที่เรือนจำดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
สำหรับ 7 คน ที่ถูกฝากขัง นอกจาก รังสิมันต์ โรม หรือ โรม อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) โฆษก NDM ซึ่งเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะแล้ว (อ่านเรื่องราวของโรมได้ที่ 1 และ 2 ) อีก 6 คน ที่เป็นทั้งนักศึกษาและนักกิจกรรม ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะเท่าไหร่ ในโอกาสนี้จึงรวบรวมข้อเขียนจากบรรดาเพื่อนๆ ของคนทั้ง 6 พร้อมทั้งบางส่วนจากรายงานของ ilaw มานำเสนอเพื่อทำความรู้จักพวกเขามากขึ้น ประกอบด้วย ปอ เสรีเกษตร กุ๊ก เสียงจากคนหนุ่มสาว เคิร์ก ศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม  บอย อาสาพัฒนาราม-อีสาน เทค อดีตเลขาฯ สนนอ. และต้อม ศึกษาปัญหายาเสพติด
กรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ) 

ปอ เสรีเกษตร

กรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ) อายุ 24 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เขาปรากฏชื่อใน 1 ใน 5 ผู้ถูกศาลทหารอนุมัติหมายจับ กรณีร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
โดย จิมมี่ อติวิชช์ ปัทมาภรณ์ศิริกุล ซึ่งเป็นเพื่อของปอกล่าวถึง ปอ รู้จักกับ ปอ ในช่วงที่เริ่มเข้าทำกิจกรรมในกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และร่วมงานด้วยกันตลอดมาทั้งการเข้าร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย หลังการรัฐประหาร 2557 และการเข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่หลังจากครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร 
ทั้งแง่มุมในการทำงานร่วมกัน และแง่มุมของความเป็นเพื่อน จิมมี่ มองว่า ปอ เป็นอีกหนึ่งคนในรุ่นที่ทำงานหนัก แต่ส่วนมากเขาพึงพอใจที่จะทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่า ทั้งการวางแผน การออกแบบกิจกรรม การประสานงานต่างๆ ส่วนในแง่ของความเป็นเพื่อน ปอ คือ เพื่อนที่เข้าใจ และคำว่าเข้าใจสำหรับจิมมี่ ไม่ใช่คำที่ใช้ได้ง่ายๆ

แม้หลายคนอาจจะไม่ค่อยรู้จัก ปอ ในฐานะนักกิจกรรมมากเท่าไหร่ แต่ จิมมี่ เล่าว่า ปอติดตามเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองตลอด และเป็นคนที่จริงจังในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเขาพร้อมตลอดที่จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง แม้รู้ว่าการออกไปทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง สุดท้ายแล้วหายจะนำไปสู่การถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

กินแซนวิชต้านรัฐประหาร ยืนดูนาฬิกาหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร และนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในการถูกจับกุมสูง แต่ปอ เข้าร่วมทั้งกิจกรรมทั้งหมด เพียงเพราะหวังว่า การเคลื่อนไหวเหล่านี้ จะกระตุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้หันกลับมาตั้งคำถาม กับความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น

"ตั้งแต่รู้จักกันมาเขาเป็นคนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ และแนวคิดที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่คิดว่าเขาจะยอมประกันตัว เพราะเขามีอุดมการณ์ที่ชัดเจน และน่าจะยืนยันอุดมการณ์ของตัวเองตรงนั้น” จิมมี่ กล่าว

จิมมี่ยังเชื่ออีกว่า การถูกจับกุมคุมขังของปอครั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาล หรือ คสช. อาจจะมองว่าเป็นการจับกุมเพื่อที่จะทำให้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หยุดจัดกิจกรรม แต่เขากลับเห็นว่า ยิ่งรัฐจับกุมผู้ที่เห็นต่าง นั่นยิ่งทำให้กระบวนการการต่อสู้ของประชาชนและนักศึกษา ยิ่งเดินหน้าต่อไป

"ครั้งนี้ คสช. ไม่ชอบธรรมในหลายประการ ทั้งเรื่องของการควบคุมตัว และในเรื่องของพ.ร.บ. ประชามติ ที่มีการเปิดช่องให้มีการตีความได้สูง อีกทั้งยังมีโทษสูงมากถึง 10 ปี และเห็นได้ชัดจากการที่มีคนออกมารณรงค์โหวตโนแล้วถูกจับกุม”

"การจับกุมครั้งนี้มันทำให้การรณรงค์ ประสบความสำเร็จ เพราะอย่างน้อยคนทั้งประเทศไทยรู้แล้วว่า ขนาดออกมาบอกข้อมูล อีกด้านหนึ่งยังไม่ได้เลย แสดงว่าถ้ารับร่างไปประเทศล้มจมแน่นอน"

“เขาอาจคิดว่าการจับคนไป จะทำให้ทุกอย่างหยุด แต่ไม่ประสบความสำเร็จหรอกค่ะ กลุ่มหนึ่งถูกจับไป ก็จะมีกลุ่มใหม่ขึ้นมาทำแทน เพราะว่าประชาธิปไตยมันอยู่ในหัวใจของคนทุกคนอยู่แล้ว" จิมมี่ กล่าว
นันทพงศ์ ปานมาศ (กุ๊ก) 

กุ๊ก เสียงจากคนหนุ่มสาว

นันทพงศ์ ปานมาศ (กุ๊ก) อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตสมาชิกกลุ่มกล้าคิด มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกกลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว โฆษก NDM โดยก่อนที่เขาถูกจับกุมในครั้งนี้ เขาเพิ่งเป็นข่าวจากกรณีพยายามจัดกิจกรรมเสวนา 3 ฝ่าย 'Vote Yes - No - บอยคอต' ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลับถูกเจ้าหน้าที่ห้าม (อ่านรายละเอียด)จนต้องย้ายไปจัดที่อนุสารณ์สถาน 14 ตุลา
วิดีโอเล่าเรื่องราวของ กุ๊ก โดย NDM
 
โดย iLaw รายงานด้วยว่า เมื่อปีปลาย 2557 หลังการรัฐประหารกุ๊กและเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง  รวมกลุ่มกันโดยใช้ชื่อกลุ่ม  “เสียงจากคนหนุ่มสาว” จัดกิจกรรมเสวนาเรื่องประชาธิปไตยกันหลายครั้ง เพื่อแสดงจุดยื่นว่าพวกเขาไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร หลังจากมีการตั้งรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศแล้ว เขาเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฝืดเคือง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ จึงสนใจเรื่องปัญหาปากท้องชาวบ้านมากขึ้น เขากับเพื่อนๆ เคยทำหนังสือยื่นอต่อรัฐบาลเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ถึง  2  ครั้ง  แต่เรื่องก็เงียบหาย จากนั้นดขากับเพื่อนๆ จึงตัดสินใจทำใบปลิวและขึ้นป้ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเร็ว ทำให้เขาถูกผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและทหารเรียกไปตักเตือนว่ากล่าวให้หยุดการกระทำและให้เก็บป้ายดังกล่าว  
กุ๊กเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า รู้สึกอึดอัดมากที่เขาและเพื่อนๆ ไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดความเห็นใดๆ แม้กระทั่งการจัดกิจกรรมบางอย่างที่เห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์
 
กุ๊ก กล่าวว่า การที่ตัดสินใจออกมารณรงค์เรื่องการลงประชามติครั้งนี้เพราะอยากให้ประชาชนตื่นตัว ร่วมกันกำหนดอนาคตของตัวเรา และส่วนตัวของเขาเองมีเหตุผลที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เพราะเห็นว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องชอบธรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าทหารไม่สามารถบริหารประเทศได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ยอมรับไม่ได้กับประเด็นนายกฯ คนนอกที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เท่ากับว่าเรากำลังหลงลืมอดีตที่ผู้คนมากมายยอมเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อต่อสู้ให้มีนายกที่มาจากการเลือกตั้ง
 
กุ๊ก เห็นว่า การที่เขาต้องถูกจับโดยทหารเข้ามาใช้กำลังฉุดกระชาก และนำมาจองจำมัน ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่านี่คือความเลวร้ายของเผด็จการ 
 
“ผมรู้สึกหดหู่ใจยิ่งนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมมองว่าการที่ผมถูกจับต้องมาติดคุกติดตะรางนี่เป็นเรื่องทุเรศสิ้นดี ถึงตอนนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าผมทำผิดอะไร แต่ผมไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการอย่างแน่นอน ผมต่อสู้ด้วยหัวจิตหัวใจที่บริสุทธิ์ ผมสูญเสียเสรีภาพ เพียงเพื่อความหวังว่าเราจะลุกขึ้นสู้ร่วมกัน และได้ร่วมเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยด้วยกัน” กุ๊ก กล่าว
 
“ถ้าขณะที่ผมกำลังบอกเล่าเรื่องราวของผมอยู่ขณะนี้มีคนได้ยิน ผมอยากบอกว่าการทำกิจกรรมต่างๆ  ผมทำด้วยหัวใจ ทำด้วยอุดมการณ์  ผมไม่เคยได้รับเงินจากการทำกิจกรรมใดๆ มาใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลย  และผมต้องทำงานเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือตลอดมา ผมเลี้ยงดูครอบครัวช่วยค่าใช้จ่ายครอบครัวทุกเดือน เดือนละ  5,000 – 6,000  บาท พ่อแม่ผมประกอบอาชีพเกษตรกรตอนนี้ก็ลำบากครับ  ขณะที่ผมถูกจองจำอยู่ผมเป็นห่วงครอบครัวนะครับ” กุ๊ก กล่าว
 
สมสกุล ทองสุกใส (เคิร์ก) 

เคิร์ก ศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม

สมสกุล ทองสุกใส (เคิร์ก) อายุ 20 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม (ศ.ป.ส.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งใน 7 ผู้ถูกฝากขังที่อายุน้อยที่สุด ซึ่งประชาไทเคยรายงาน เรื่องเล่าของเคิร์กผ่านมุมมองของ แมน ปกรณ์ หนึ่งในสมาชิก NDM ไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติม)
 
เมื่อ ม.ค.57 ช่วงชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.และ คปท. ขณะนั้นเคิร์กเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ได้ร่วมกันในนาม โรงเรียนมัธยม 5 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ได้แก่ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ จัดกิจกรรม ‘Respect My Future’ จุดเทียนเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคารพในอนาคตของนักเรียน เคารพสิทธิในการที่จะได้เรียนหนังสือ และเรียกร้องไม่ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง ที่เกาะกลางถนนสิบสามห้าง บางลำพู กรุงเทพฯ  (อ่านรายละเอียด)
 
 
 

บอย อาสาพัฒนาราม-อีสาน

อนันต์ โลเกตุ (บอย) อายุ 21 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตประธานชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังรัฐประหารไม่นาน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.57 บอย กับเพื่อนอีก 3 คน ถูกจับในขณะที่ติดสติ๊กเกอร์ต่อต้านรัฐประหารในเขตมหาวิทยาลัย (อ่านรายละเอียด)
 
รายงานของ iLaw ระบุตอนหนึ่งถึง บอย ว่า สมัยเรียนมัธยมเขาเคย "บวชเรียน" อยู่ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี จ.ลำปาง และเรียนจนจบชั้นเปรียญธรรม 7 ประโยค หลังจากนั้นเขารู้สึกอิ่มตัวกับการศึกษาทางธรรมจึงลาสิกขาและออกมาสมัครเรียนทางโลกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตามคำแนะนำของรุ่นพี่ที่ลาสิกขาออกมาก่อนหน้านั้น แม้จะละทิ้งเพศบรรพชิตไว้เบื้องหลังแล้วแต่บอยก็ยังเลือกเรียนสาขาปรัชญาซึ่งเป็นศาสตร์ความรู้ทางเดียวกับศาสนาที่เคยศึกษามา 
 
บอยเล่าว่า ตอนที่เข้ามาเรียนที่รามคำแหงใหม่ๆ เขามีเป้าหมายชีวิตคล้ายๆกับคนส่วนใหญ่ คือ เรียนให้จบแล้วหางานดีดีทำ แต่หลังจากเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมค่ายอาสา บอยมีโอกาสเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น การออกค่ายครั้งแรกบอยไปที่จังหวัดสกลนคร ไปเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านที่ถูกประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกิน สิ่งที่บอยเรียนรู้จากการทำกิจกรรมมาทำให้เขาเกิดความรู้สึกในใจว่า ปัญหาต่างๆที่เขาได้เรียนรู้อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบตัวได้ไม่ยาก บอยจึงทำกิจกรรมค่ายอาสามาอย่างต่อเนื่อง จากคนเข้าร่วมค่าย มาเป็นคนจัดค่าย และขึ้นเป็นประธานชมรม
 
"สมัยเรียนที่โรงเรียนปริยัติธรรม ก็มีแต่กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ เช่น แจกของช่วยชาวบ้าน แจกผ้าห่มให้กับคนในพื้นที่รอบๆ วัด ซึ่งไม่ได้แก้จุดที่เป็นปัญหาจริงๆ พอได้ทำกิจกรรมมากขึ้นแล้วได้เห็นว่า มีปัญหาในสังคมอยู่เต็มไปหมด ปัญหาอาจไม่เกิดขึ้นกับเราตอนนี้โดยตรง แต่อาจเกิดขึ้นกับเราในอนาคตโดยอ้อมก็ได้ เราก็เลยอยากทำงานเพื่อสังคมให้มากขึ้น สิ่งที่ได้ก็ได้กับเราและแบ่งให้คนอื่นด้วย" บอยกล่าว
 
ในส่วนกิจกรรมการเมือง บอยก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นบางครั้ง เพราะเขามองว่า การเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตและเกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวันของชีวิตทุกคน เช่นการรัฐประหาร 2557 ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ 
 
หลังการรัฐประหารบอยเคยรวมตัวกันกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยอย่างหลวมๆ เพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง เขาเคยถูกจับไปปรับทัศนคติแล้วหนึ่งครั้งช่วงปี 2557 หลังไปติดสติ๊กเกอร์รณรงค์ไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่การถูกเรียกปรับทัศนคติก็ไม่ได้ทำให้บอยกลัวหรือยุติการทำกิจกรรมแต่อย่างใด ยังคงร่วมกิจกรรมเท่าที่สามารถทำได้ จนกระทั่งมาแจกใบปลิวและถูกจับ
ยุทธนา ดาศรี (เทค) ภาพจากเฟซบุ๊ก Jam Chatsuda 

เทค อดีตเลขาฯ สนนอ.

ยุทธนา ดาศรี (เทค) อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) เช่นเดียวกับ บอย หลังรัฐประหารไม่นาน เทค ถูกจับในขณะที่ติดสติ๊กเกอร์ต่อต้านรัฐประหารในเขตมหาวิทยาลัย
อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตเลขาธิการ สนนท. เขียเล่าเรื่องราวเดกี่ยวกับ เทค พร้อมเผยแพร่วิดีโอคลิปร่วมกิจกรรมบทเวทีผ่านฟ้า นปช.ปี 53 ซึ่งเป็นการขึ้นเวทีประกาศตัวร่วมเสื้อแดงครั้งแรกของพวกเขา อนุธีร์ ระบุว่า เทค คือผู้นำขบวนจากภาคอีสาน เป็นเพื่อนที่เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันมาเสมอทั้งในยามสุข และยามทุกข์ยามยาก
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Jam Chatsuda เขียนถึงเทคด้วยว่า เทคเป็นเพื่อนที่น่ารัก อยู่กับเพื่อนตลอด ดูแลเพื่อนดีมาก เป็นคนจิตใจดีเลยหละ เป็นคนที่บางทีก็เหมือนจะยอมๆ ให้ใครๆ บางทีก็รั้นมาก เป็นคนที่เสียสละมาก มากๆ เสียสละได้ทุกอย่างเพื่องานขบวน  Jam เล่าต่อว่า เทคเข้ามาทำกิจกรรมตั้งแต่สมัย ม.ปลาย เคลื่อนไหวตลอด อยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม 
ธีรยุทธ นาบนารำ (ต้อม) ภาพจากเฟซบุ๊ก  'แมค ผู้ฆ่ายักษ์' 

ต้อม ศึกษาปัญหายาเสพติด

ธีรยุทธ นาบนารำ (ต้อม) อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตประธานชมรมศึกษาปัญหายาเสพติด มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อนของต้อม ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'แมค ผู้ฆ่ายักษ์' โพสต์เฟซบูีกว่า  เขาเป็นอดีตนักกิจกรรมที่ราม และเคลื่อนไหวกับตนมาตั้งแต่รัฐประหารปี 49 ตนติดต่อเขาไม่ได้ตั้งแต่ปี 51 มาเจอเขาอีกทีแถวบ่อนไก่ ปี 53 แล้วเงียบยาวเลย มาติดต่อได้อีกที เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 
 
จากรายงานของ iLaw 'ต้อม' เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เข้ากรุงเทพเมื่อปี 2549 หลังมีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  เขารู้สึกประทับใจมากว่าทำไมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาชนถึงกล้าต่อสู้กับทหารอย่างไม่กลัวตาย ทั้งที่ทหารมีอาวุธ และศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นเมื่อเริ่มทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย  
 
ชีวิตกิจกรรมของต้อมเริ่มจากการเข้าชมรมศึกษาปัญหายาเสพติด  ทำค่ายอบรมกับเยาวชนระดับม.ต้นในต่างจังหวัด เช่น ปราจีนบุรี สระบุรี เพราะมองว่ากลุ่มช่วงอายุนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเริ่มใช้ยาเสพติดได้ โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่พาน้องๆ เล่นเกมส์ต่างๆ ให้เห็นว่ายาเสพติดมีโทษอย่างไร หลังกิจกรรมดังกล่าว'ต้อม'รู้จักเพื่อนที่อยู่ชมรมข้างเคียง เช่น ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม ชมรมค่ายอาสาพัฒนารามอีสาน ทำให้ได้รู้จักเพื่อนที่สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น  และต่อมาถูกชักชวนกันไปเข้าร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.
 
หลังรัฐประหารปี 2549 'ต้อม' เคยไปร่วมกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารกับสนนท. เช่น กิจกรรมหน้าทำเนียบรัฐบาล ชุมนุมหน้ากองทัพบก และแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ท้องสนามหลวง
 
"ตอนนั้นไม่แรงเหมือนตอนนี้ ตอนนั้นเราไปหน้ากองทัพบก ไปยืนด่าทหารก็ไม่เห็นโดนเหมือนตอนนี้ มีการปราศรัยด่าโจมตีกันเรื่อยๆ ก็ไม่เห็นมีอะไร เป็นเรื่องไร้สาระมากที่การแจกใบปลิวทำให้ถูกจับ สมัยปี 2550 ก็ไปแจกกันกว่าสิบครั้ง ตื่นเช้าประท้วงตื่นเช้าประท้วง"  ต้อม กล่าว
 
หลังหยุดเรียนแล้วไปทำงานโรงงานทำให้'ต้อม'ห่างหายจากการร่วมกิจกรรมทางสังคมไปบ้าง แต่ก็ยังได้ติดต่อกับเพื่อนๆนักกิจกรรมอยู่และชวนมาร่วมกิจกรรมกันอีกในปีนี้  เขาเล่าว่า "สถานการณ์ตอนนี้ประชาชนไม่ค่อยกล้าออกมาทำอะไร และรับข่าวสารจากรัฐบาลฝั่งเดียวทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม  การโพสต์ข้อมูลรณรงค์ประชามติ บนเฟซบุ๊กก็ยังเข้าไม่ถึงประชาชนอีกจำนวนมาก"