วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คสช. ระบุจับตา 'สุเทพ' ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กอยู่เหมือนกัน


ทีมโฆษกระบุ คสช.จับตา 'สุเทพ' ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนจับตาความเคลื่อนไหวกลุ่มอื่นเช่นกัน ยืนยันต้องไม่มีการสร้างกระแสนำไปสู่ความรุนแรง พร้อมระบุยังไม่มีรายงานด้านการข่าวว่าจะมีกลุ่มป่วนวันลงประชามติ
 
 
26 มิ.ย. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ถ่ายทอดสดผ่านสื่อเฟซบุ๊ก “Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)” ระบุจะรับร่างรัฐธรรมนูญ พูดถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญว่า คสช.ได้ติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่เหมือนกับกลุ่มอื่นๆ เพราะ คสช.ต้องยืนอยู่บนหลักการที่จะไม่ให้เกิดปัญหาบ้านเมืองในเรื่องการสร้างกระแส การปลุกปั่น นำไปสู่ความไม่สงบ แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีกระแสอะไรที่นำไปสู่ความรุนแรง หากมีแนวทางว่าจะนำไปสู่ความไม่เรียบร้อยก็จะมีการเตือน เพราะสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ต้องการความสงบ ร่มเย็น
 
“คสช.เมื่อเข้ามาบริหารราชการแล้วได้แยกผู้ขัดแย้งออกไป และรักษาบรรยากาศบ้านเมืองเพื่อความสงบสุข ดังนั้น หากจะปฏิบัติอะไรที่ปลุกกระแสก็ไม่ถูกต้อง เพราะมี กกต. กรธ. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เราไม่พยายามสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งที่จะก่อความวุ่นวาย ตอนนี้ฝ่ายกฎหมายดูอยู่ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องติดตาม หากไม่มีอะไรละเมิดก็สามารถทำได้ แต่หากมีแนวทางว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวาย จะต้องมีการตักเตือน” พ.อ.ปิยพงษ์ กล่าว
 
ทีมโฆษก คสช. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เหลือเวลากว่า 40 วัน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้ช่วยติดตามข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆ ในบ้านเมือง และให้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ แต่จะตัดสินใจอย่างไร ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ ทั้งนี้ ยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มมีมากขึ้น แต่ยังสามารถดูแลให้เกิดความเรียบร้อยได้ และยังไม่มีรายงานว่าจะมีการก่อความวุ่นวายในวันที่ 7 สิงหาคม มีเพียงกระแสออกมาบ้าง แต่การข่าวยังไม่มีอะไร อย่างไรก็ตาม ถือเป็นอำนาจของ กกต. ในฐานะที่ดูแลและจะจัดการเลือกตั้งให้เกิดความเรียบร้อย ดังนั้น กกต.สามารถขอความร่วมมือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดที่สามารถบูรณาการคนในพื้นที่ ทั้งทหาร ตำรวจ ครู ข้าราชการ เพื่อให้การจัดทำประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ ซึ่งทราบว่าในเบื้องต้นได้มีการประสาน และมีการประชุมกันไปบ้างแล้ว

'เหรียญทอง' ท้าทายาทคณะราษฎร ฟ้องปมเรียก 24 มิถุนา 'วันขยะแผ่นดิน'

Image result for เหรียญทอง คณะราษฎร

26 มิ.ย.2559 จากกรณี นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และประธานองค์กรเก็บขณะแผ่นดินโพสต์ภาพและข้อความ โพสต์ข้อความ ถึง วันที่ 24 มิ.ย.2475 ว่าเป็น 'วันขยะแผ่นดิน' ซึ่งต่อมา  ฐิติ ชัยนาม หลาน ดิเรก ชัยนาม สมาชิกคณะราษฎร สายพลเรือน ลำดับที่ 21 ที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ให้ สัมภาษณ์ Thaivoicemedia ตอบโต้ นพ.เหรียญทองว่าเป็นการทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของคณะราษฎรอย่างรุนแรงทั้งๆ ที่ได้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ประชาชนไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง คณะราษฎรเป็นที่ยอมรับขอบคนทั่วโลกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต และข้อกล่าวหาว่า คณะราษฎร คิดจะกำจัดสถาบันกษัตริย์ก็ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเป็นจริงคงจะกำจัดไปนานแล้ว แต่คณะราษฎรต้องการให้คงสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายเท่านั้น ซึ่งหาก นพ.เหรียญทองไม่หยุดทำลายชื่อเสียงของคณะราษฎร ทายาทของคณะราษฎร จะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายต่อไป (อ่านเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (26 มิ.ย.59) นพ.เหรียญทอง โพสต์คำท้าถึงทายาทคณะราษฏรผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เหรียญทอง แน่นหนา' โดยระบุว่า ได้โปรดแชร์หรือเผยแพร่คำท้าถึงทายาทคณะราษฎรให้ผมด้วยครับ เนื่องจากมีรายงานว่าทายาทคณะราษฎรบางคนจะดำเนินการทางกฎหมายกับตน ตนขอท้าให้ทำจริง อย่าอวดดี แต่ตนว่าทายาทคณะราษฎรไม่กล้าหรอก แล้วศาลก็คงจะไม่รับฟ้องด้วย ซึ่งตนอยากให้ศาลรับฟ้อง เมื่อเกิดการฟ้องร้องแล้วตนในฐานะจำเลยจะไม่ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคณะราษฎรถอนฟ้องเด็ดขาด ตนจะได้พิสูจน์ว่า “24 มิถุนายน 2475...วันขยะแผ่นดิน” ซึ่งหมายถึงวันของพวกเนรคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โดยคณะราษฎรนั้นถูกต้องหรือไม่หรือผิดตรงไหน สังคมไทยจะได้รู้กันเสียที

รำลึก 1 ปี จับกุมประชาธิปไตยใหม่-ตำรวจห้ามแสดงสัญลักษณ์ Vote No

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่บุกถามผู้กำกับ สภ.บางเสาธง ทำไมรับแจ้งความ พ.ร.บ.ประชามติ ทั้งที่ยังมีปัญหาอยู่ พร้อมขอคำตอบว่าจะให้แจกเอกสารได้แค่ไหน จัดรำลึก 1 ปีการจับกุม 14 นักศึกษา เจ้าหน้าที่ขอให้จัดกิจกรรมนอกบริเวณเรือนจำอ้างวันนี้เป็นวันหยุดราชการ ด้านตำรวจสั่งห้ามแสดงสัญลักษณ์ Vote No ระบุมีอำนาจจับกุมตามคำสั่ง คสช. 
 

 

 
 
26 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 13.40 น. ที่สถานนีตำรวจภูธร บางเสาธง สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้เดินทางมาเพื่อเข้าขอพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากเกิดกรณีการจับกลุ่มสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่และสมาชิกสหภาพเเรงงานไทม์อัมพ์ หลังจากไปแจกเอกสารรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปนั้น
 
นายปกรณ์ อารีกุล ได้แถลงข่าวว่าการเดินทางมาในวันนี้ไม่ได้ต้องมาสร้างความวุ่นวาย เป็นเพียงการเดินทางมาเพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะกรณีการดำเนินคดีความตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง เรื่องจากประเด็นดังกล่าว นายจอน อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วยนักวิชาการทั้งหมด 107 รายชื่อ ได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ ซึ่งหมายความว่าตัวกฎหมายดังกล่าวยังเป็นกฎหมายที่มีปัญหาและรอการตีความลงมติจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่เหตุใดจึงยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว จนถึงที่สุดแล้วทำให้มีเพื่อน 7 คนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
 
นายปกรณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังต้องการขอความเห็นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกว่า การแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ซึ่งในเอกสารไม่มีข้อความใดที่เขียนว่า Vote NO จะสามารถทำได้หรือไม่
 
"เราออกมาเคลื่อนไหวไม่ใช่เพราะต้องการถูกจับ เราต้องการรู้ว่าตอนนี้เราทำอะไรได้แค่ไหน และเห็นว่าการจับคนเพิ่ม ไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการทำประชามติ" ปกรณ์ กล่าว
 
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้การต้อนรับด้วยความเป็นมิตรและขอให้ตัวแทน 3 คน ประกอบด้วยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นายปกรณ์ อารีกุล และนางสาวชลธิชา เเจ้งเร็ว เข้าพบกับผู้กำกับ เพื่อเข้าพูดคุย
 
ต่อมาในเวลา 14.20 น. หลังจากการพูดคุยเสร็จ นายปกรณ์ได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้ให้คำตอบว่า การแจ้งข้อกล่าวหานั้นยังเป็นไปตามกฎหมายเนื่องจากกฎหมายยังคงบังคับใช้อยู่ และหากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามาตรา 61 ขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะยกฟ้องคดีดังกล่าวเอง สำหรับการแจกเอกสารนั้นเจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่สามารถให้คำตอบได้และขอให้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไปขอคำตอบจาก กกต.
 
ทั้งนี้ปกรณ์ยังกล่าวต่อว่าไม่่ว่าคำตอบของกกต. จะเป็นอย่างไร ทางขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะเดินหน้าแจกเอกสารรณรงค์ต่อไป เพียงแค่ต้องการความชัดเจนจากเจ้าหน้าที่รัฐว่า ประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้าง
 
รำลึกหนึ่งปีการจับกุม 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ ในความเงียบเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามใช้เครื่องขยายเสียง
 
 
อีกหนึ่งในกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในวันนี้ (26 มิ.ย. 2559) หลังจากเกิดเหตุการณ์การจับกุม 20 นักศึกษา นักกิจกรรม และสหภาพแรงงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 7 คน จากการแจกเอกสารความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญและเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้วันนี้ยังเป็นวันครบรอบ 1 ปีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่
 
ปกรณ์ อารีกุล ได้ระบุว่ายังจำเหตุการณ์วันที่ถูกจับกุม แล้วนำตัวส่งศาลทหารได้ดี โดยวันนั้นคำพูดของรังสิมันต์ โรม ที่พูดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมตัวพวกเขาคือ "ผมเข้าใจว่า พี่ทำตามหน้าที่ของพี่ แต่ในทุกๆปีของวันนี้พี่จะจดจำได้ทุกครั้งว่า พี่จับพวกผมส่งเข้าคุกโดยไม่เป็นธรรม"
 
ซึ่งปัจจุบัน รังสิมันต์ โรม ถูกคุมขังอีกครั้งในเรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกครั้ง จากการยืนแจกใบปลิวรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ
 
ด้านจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระบุว่าตนเองเข้าใจเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เรือนจำดี ในการมาจัดกิจกรรมแล้วถูกห้ามทำอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่เรือนจำ ปัญหาจริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ทุกคนมาอยู่ตรงนี้
 
ทั้งนี้ก่อนการจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งห้ามไม่ให้มีการใช้เครื่องขยายเสียง เนื่องจากอาจถูกตีความได้ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง
 
เจ้าหน้าที่เรือนจำขอให้จัดกิจกรรมนอกบริเวณเรือนจำอ้างวันนี้เป็นวันหยุดราชการ
 
 
เวลา 18.05 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่นัดจัดกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เจ้าหน้าที่เรือนจำได้เข้ามาเจรจากับสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่โดยขอให้ย้ายสถานที่จัดกิจกรรมจากในบริเวณรั้วเรือนจำออกไปด้านนอกโดยให้เหตุผลว่าวันนี้เป็นวันหยุดข้าราชการไม่สามารถอนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมได้
 
ทั้งนี้ได้มีประชาชนบางส่วนเข้ามาในบริเวณรั้วเรือนจำแล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปิดประตูให้ ทำให้หลายคนต้องปีนรั้วออกมาจากเรือนจำเพื่อมาจัดกิจกรรมด้านนอก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าการจัดกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในวันนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อกรณีการจับกุม 20 นักศึกษา นักกิจกรรม และสหภาพแรงงาน ซึ่งในจำนวนนี้มี นักศึกษา นักกิจกรรม ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทั้งหมด 7 คน ในข้อหา ขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 จากการแจกเอกสารความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. และเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
 
โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะมีการพูดถึงนักศึกษานักกิจกรรมทั้ง 7 คนที่ถูกคุมขัง มีการรำลึกบรรยากาศครบหนึ่งปี การถูกจับกุมของ 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ รวมทั้งจะมีการแจกสติ๊กเกอร์ Vote No
 
ตำรวจสั่งห้ามแปะสติ๊กเกอร์ Vote No ยื่นคำขาด ระบุมีอำนาจจับกุมตามคำสั่ง คสช. 3/2558
 
 
 
 
 
 
 
ต่อมาในเวลา 19.45 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนจบกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการแปะสติ๊กเกอร์ Vote No บนผ้าดำที่เตรียมไว้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าห้ามในทันที โดยระบุว่าหากมีการแปะสติ๊กเกอร์ Vote No จะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง
 
ทั้งได้มีการถกเถียงระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ประมาณ 5 นาที จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครืองแบบ 2 คนเข้ามากระชากผ้าผืนดังกล่าวแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นเจ้าตำรวจได้เข้ามาเจรจาเพื่อยุติเหตุการณ์ จากนั้นขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ยุติการจัดกิจกรรมในวันนี้ พร้อมชี้แจงว่าจะกิจกรรมต่อไปทุกวันโดยขอให้ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่

องค์กรสิทธิ-กิจกรรม ร้องยุติดำเนินคดี 13 รณรงค์ประชามติ


26 มิ.ย.2559 จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 มีนักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นักกิจกรรม รามคำแหง และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่วันนี้ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ (อ่านข่าวที่นี่)  ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยืนประกันตัวนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ชมรมศึกษาสิทธิฯ มหิดล ขอรัฐยุติดำเนินคดี 13 รณรงค์ประชามติ

ล่าสุดมีองค์กรสิทธิและกิจกรรมทางสังคมออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว วันนี้ (26 มิ.ย.59) ชมรมศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติภาพมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า การจับกุมและดำเนินคดีต่อนักศึกษาและประชาชน ในครั้งนี้เป็นเรื่องไร้ซึ่งความชอบธรรม เพราะการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติไม่ควรถือเป็นความผิด
เนื่องจากการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ กำลังจะใกล้เข้ามา ทว่าจนบัดนี้ ประชาชนจำนวนมากยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและไม่มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจในการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ ทางชมรมศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ มีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. การรณรงค์ของประชาชนเพื่อชี้แจงและอธิบายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญควรสามารถ ทำได้อย่างเปิดเผย ดังที่ กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้กล่าวในการประชุม Briefing on the 7th August Referendum on the Draft Constitution ว่า "ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นตามสิทธิ เสรีภาพเกี่ยวกับการลงประชามติ และ กกต. เห็นว่า ทำได้โดยไม่ผิด หากอยู่ภายใต้กฎสามข้อ ใน พ.ร.บ. ประชามติ คือ 1.) ไม่เป็นข้อความที่มีเนื้อหาเป็นเท็จ 2.) ไม่เป็นข้อความหยาบคาย ดูหมิ่น และ 3.) ไม่เป็นข้อความปลุกระดม ให้เกิดความไม่สงบ

2. คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์และสามารถรับรู้ข้อมูลในทุกด้านเกี่ยวกับ ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ
3. ผู้มีอำนาจควรยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักศึกษา และประชาชน ทั้ง 13 คน และปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 7 คนที่ยังถูกคุมขัง โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข 
"ทางชมรมศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะสามารถจัดการ ออกเสียงประชามติในครั้งนี้ โดยประชาชนสามารถ ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ในการมีส่วนร่วมและแสดงเจตจำนงค์ของตนเอง ได้อย่างเสรี รวมไปถึงการยอมรับผลของการออกเสียงประชามติอย่างมีอารยะ" แถลงการณ์ ทิ้งท้าย 

สถาบันสิทธิฯ มหิดล ขอเลิกตั้งข้อกล่าวหา

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ออกแถลงการณ์ เรื่อง “การรณรงค์ประชามติและเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สามารถกระทำได้ โดยไม่ควรมีการตั้งข้อหาว่าชุมนุมทางการเมือง” โดยเห็นว่า การจับกุมดังกล่าวจะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อบรรยากาศการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ควรเป็นไปอย่างเสรีและเที่ยงธรรม จึงขอให้ฝ่ายความมั่นคงทบทวนการปฏิบัติ ด้วย 4 เหตุผลดังนี้ 1. ประชาชนควรมีสิทธิแสดงออกถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 การรณรงค์ถือเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นรูปแบบหนึ่ง สามารถทำได้ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
2. การแจกเอกสาร สวมเสื้อ พูดคุย และวิธีการอื่น โดยมิได้มีการข่มขู่คุกคาม ย่อมไม่ขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ดังกล่าว 3. การรณรงค์ประชามติไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เพราะไม่ได้มุ่งหวังลดทอนให้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจ การใช้อำนาจดังกล่าวจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กลายเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว แทนที่จะเป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อนวันตัดสินใจลงคะแนน และ 4. ผู้รณรงค์ประชามติมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากเจ้าหน้าที่เลือกตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงกับเฉพาะฝ่ายที่เห็นต่าง ก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติและนำไปสู่ความไม่เที่ยงธรรม อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันฯขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจพิจารณายกเลิกการตั้งข้อหาผู้รณรงค์ประชามติ ฐานขัดคำสั่งคสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และให้ประกาศอย่างชัดเจนว่า การรณรงค์ประชามติสามารถทำได้ เท่าที่ไม่ขัดกับมาตรา 61 ของ กฎหมายประชามติ

ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือแถลงประณาม

ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ ออกแถลงการณ์ต่อต้านการจับกุมผู้เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องประชามติดังกล่าว พร้อมทั้งชื่นชมความกล้าหาญและเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนเราที่ถูกจับกุมในการแสดงสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นของประชาชนทุกคน
"เราขอประณามความอ่อนแอและเย้ยหยันต่อคณะรัฐประหาร ในการทำลายสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นของประชาชนทุกคนและเราจะยืนอยู่ฝ่ายสามัญชน ผู้เชื่อมั่นในอำนาจการกำหนดอนาคตของตนเองโดยประชาชน" ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
 

เครือข่ายเพื่อการเมืองและความยุติธรรมในอีสาน

เครือข่ายเพื่อการเมืองและความยุติธรรมในอีสาน ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งยังระบุถึงเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิ.ย.ทีผ่านมา นิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์และสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่รวม 7 คนได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุมตัวจากการจัดกิจกรรมทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ณ วงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน ในขณะเดียวกัน ขบวนการอีสานใหม่ได้ทำกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน” ก็ปรากฏให้เห็นความพยายามที่จะทำให้หยุดการเคลื่อนไหวจากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วย 
"ข้อเสนอต่อสถานการณ์ "เหมือนเส้นทางทุกสายมุ่งสู่ประชาธิปไตย" นี้ ว่า แม้ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ยืนยันว่าจะมีใครเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเหมือนยาวิเศษ แต่กระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยยังเปิดโอกาสให้กับผู้เดือดร้อนสามารถเรียกร้องได้อย่างปลอดภัยไม่ขมขื่น ดังนั้น เราเสนอให้ผู้ที่ยังมีดวงตาเห็นธรรม โปรดปล่อยให้คนที่เรียกร้องเขามีเสรีภาพที่จะแสดงออก ที่สำคัญเราขอให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมและผู้มีความหวังทุกคนยืนหยัดและแสวงหาวิธีการให้เส้นทางทุกสายมุ่งสู่ประชาธิปไตย" เครือข่ายเพื่อการเมืองและความยุติธรรมในอีสาน  ระบุ
 
นอกจากนี้ยังมี เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา บางแสน เป็นต้น ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานดังกล่าว

ประยุทธ์ยันไม่ลาออกแม้ประชามติไม่ผ่าน ระบุ "ผมเป็นคนกำหนดกติกาของผม"


27 มิ.ย.2559  จากกรณีผลประชามติของประเทศอังกฤษและ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ยอมลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ตั้งคำถามโดยนักการเมืองไทยว่า หากประชามติในไทย รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ควรเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเช่นกันเพื่อแสดงความรับผิดชอบหรือไม่นั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า "ทำไมจะให้ผมลาออกใช่ไหม ผมไม่ออก ผมเป็นคนกำหนดกติกาของผม เขาไม่ได้มาแบบผม บ้านเมืองเขาไม่ได้มีปัญหาแบบบ้านเรา ไม่รับผิดชอบกันเลยหรอ ทุกคนไม่รับผิดชอบอะไรกันเลย ร่วมกับผมไม่มีเลยหรอ ผมรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่ผมเข้ามานี่ แล้วคนอื่นไม่รับผิดชอบอนาคตประเทศไทยเลยหรือไง ทำไมอนาคตประเทศไทยมันอยู่ที่ผมคนเดียวเลยหรือไง ทำไมไม่ช่วยกันเล่า"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อด้วยว่า นี่ใจเย็นแล้ว เพราะสวดมนต์มา