วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ฎีกายกฟ้องอดีตรองโฆษกเพื่อไทยหมิ่นอภิสิทธิ์ ปมแถลงพาดพิงแทรกแซงคดีฟิลิปมอร์ริส


23 มิ.ย. 2559 นพดล หลาวทอง  ทนายความ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่ศาลอาญารัชดา เพื่อยื่นอุทธรณ์ โต้แย้งคำพิพากษาศาลอาญาที่ยกฟ้องคดีกรณี ยิ่งลักษณ์เป็นโจทก์ฟ้อง จิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 ไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดย นพดล ระบุ เป็นการยื่นอุทธรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจากศาลอาญาได้สั่งคำร้องและดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่เป็นปกติ มีการให้จิรชัย ที่เป็นจำเลย แถลงโต้แย้งคำฟ้องโจทก์ได้และศาลสั่งรับไว้พิจารณา และยกฟ้องทั้งที่ยังไม่มีการสั่งฟ้องก่อน

ฎีกายกฟ้องอดีตรองโฆษกเพื่อไทยหมิ่นอภิสิทธิ์

ขณะที่วันเดียวกัน ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษา ศาลฎีกา ในคดีที่ เกียรติ สิทธิอมร  คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  และประธานผู้แทนหอการค้าไทยเป็นโจทก์ฟ้อง ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ฯ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทยเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท จากกรณีระหว่างวันที่ 6 – 7 มี.ค. 54 จำเลย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย ได้แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการไม่ไว้วางใจ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น โดยมีการพาดพิงมาถึงโจทก์ทำนองว่าโจทก์เป็นบุคคลที่วิ่งเต้น แทรกแซงคดี ของบริษัทฟิลิป มอร์ริสฯ ซึ่งแสดงราคานำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยโจทก์อาจได้ผลประโยชน์จากต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นเท็จทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เห็นว่าจำเลยกระทำผิดจริง ให้จำคุก 3 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท พร้อมโฆษณาคำพิพากษาใน หนังสือรายวัน โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณี ที่จำเลยได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น โดยสุจริตเป็นการนำข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีบุหรี่ ของ บริษัท ฟิลิปมอริส มาเปิดเผยความคืบหน้าต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังผลประโยชน์ของประเทศชาติ และทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้าน ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ฎีกาฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยในวันที่ 6 มีนาคม 2554 จึงไม่มีพฤติการณ์กระทำความผิด พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น
 

สืบพยานนัดหน้า 27 ก.ย.คดีพ่นสีสเปรย์-ปล่อยลมรถทหาร


เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2559 เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพมีการสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ 6 ก./2557 ที่อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ฟ้องพรรณมณี ชูเชาวน์ จำเลยที่ 1 และนายสมบัติ โกมัยพันธ์ จำเลยที่ 2 ความผิดทางอาญาข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 ทำลายทรัพย์สินทางราชการ ต่อสู้และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ โดยในวันนี้เป็นวันนัดสืบพยานโจกท์ซึ่งเป็นทหารที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 28 พ.ค.2557 หรือการชุมนุมประท้วงรัฐประหารของประชาชนที่ไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ทั้งนี้ ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ย.2559
พรรณมณี ชูเชาวน์ จำเลยที่1 อายุ  42 ปีเป็นข้าราชการอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวตามหมายจับศาลทหารเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2557 เธอยอมรับว่าได้พ่นสีสเปรย์รถทหาร ขณะมีการชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จริงแต่ทำไปโดยไม่ทราบว่าเป็นความผิด และยืนยันว่าไม่มีใครจ้างวาน วันที่ 31 พ.ค. 2557 หลังพรรณมณีถูกควบคุมตัวนำฝากขัง เธอได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 40,000 บาท พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อสู้และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ส่วนสมบัติ โกมัยพันธ์ วัย 43 ปีถูกจับกุมและควบคุมตัววันที่ 2 มิ.ย.2557ตามหมายจับศาลทหาร เขายอมรับว่าได้ไปร่วมการชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ แต่ไม่ได้ปล่อยยางลมรถทหารส่วนที่นำมือวางตรงจุกเติมลมยางรถของทหารเพราะนึกสนุกแต่มีคนถ่ายรูปไว้ พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อสู้และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ต่อมา 3 มิ.ย.2557 สมบัติได้รับการประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 40,000 บาท อย่างไรก็ตามตั้งแต่ได้รับการประกันตัวเมื่อปี 2557 ถึงปัจจุบันทั้งคู่ยังถูกห้ามชุมนุมและแสดงความคิดเห็นใดๆ ทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
พรรณมณีกล่าวว่า การถูกกำจัดสิทธิเสรีภาพไม่ให้ร่วมชุมนุมหรือแสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ นั้นส่งกระทบต่อเธอเพราะเดิมอยู่ในกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่แล้ว ซึ่งเธอมองว่าเป็นการห้ามที่ผิดแปลกไปจากหลักการทั่วไป
ด้านสมบัติบอกว่าไม่ได้หวังสิ่งใดมากนัก เพราะคู่ความคือเป็นทหารแล้วต้องมาขึ้นศาลทหารอีก นอกจากนี้แม้ว่าจำเลยได้รับการประกันตัว แต่การต่อสู้คดีที่ยาวนานมรวมถึงก่อนหน้านี้ได้ร้องขอต่อศาลแล้วว่าไม่ขอสืบพยานที่ไม่มีความสำคัญแต่ศาลไม่อนุญาตนั้นส่งผลกระทบต่อสมบัติที่ต้องลางานเพื่อมาศาลบ่อยครั้ง
ในการสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้ พยานเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยพยานเบิกความว่า ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดคุ้มครองความปลอดภัยให้กับกองทัพปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ พัน ปจว. เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ประมาณ 15.00 น.-18.00 น. โดยช่วงแรกสถานการณ์ปกติแต่ เมื่อเวลา 17.00 น. ผู้ชุมนุมราว 50 คน เริ่มทยอยเข้ามาตรงเกาะกลางอนุสาวรีย์ชัยฯ เจ้าหน้าที่พูดให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมเริ่มมีการใช้คำพูดด่าและขว้างปาสิ่งของใส่สห. ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง สุดท้ายจึงให้ตำรวจมาล้อมพาชุดปฏิบัติหน้าที่ของพยานโจทก์ออกไปอยู่ที่เกาะราชวิถีโดยรถต้นแบบยังอยู่ที่เดิม ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานโจทก์บาดเจ็บบริเวณเท้า ขา แข้ง ประมาณ 2-3 ราย และจำไม่ได้ว่าผู้ชุมนุมคนใดทำอะไรกับเจ้าหน้าที่บ้าง เพราะสถานการณ์คับขันและผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก โดยชุดปฏิบัติหน้าที่ของพยานโจทก์ได้รับการเน้นย้ำจากผู้บังคับบัญชาว่าหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นให้ใช้เพียงโล่กันภัยเท่านั้นและพยานไจทก์ไม่ได้โต้กลับทั้งไม่รู้จักผู้ร่วมชุมนุมมาก่อน
พยานตอบทนายความถามค้านว่า อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมนั้นมีลักษณะเดินผ่านไปมา และสิ่งที่ได้ยินชัดเจนจากผู้ชุมนุมคือ “ทหารออกไป” แต่ไม่มีผู้ชุมนุมมาด่าโดยตรงและส่วนโล่กันภัยนั้นมีความยาวคลุมลงมาจนถึงเข่า ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาถูกทำร้ายที่บริเวณขาจากการใช้แผงเหล็กนั้นระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร และไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันในการเบิกความ
พยานโจทก์เบิกความต่อว่า ขณะเกิดเหตุถ้าประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยการประท้วงถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถ้าออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ประท้วงไม่ผิดกฎหมาย และไม่ทราบถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

แจกเอกสาร NDM โดนข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน- 7 นศ.ลั่นไม่ประกันตัว เตรียมถูกฝากขัง


ทหารนาวิกโยธินรวบ โรมและสมาชิก NDM นักศึกษาจากหลายสถาบัน พร้อมคนงานไทรอัมพ์รวม 13 คน ขณะแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรธน.ย่านนิคมบางพลี โดนตั้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ชุมนุมเกิน 5 คน ยอมประกันตัว 6 คน ขณะนศ.7 คนไม่ประกัน ยืนยันไม่ได้ทำสิ่งได้ผิด นอนห้องขังสถานีตำรวจ เตรียมฝากขังศาลทหาร
23 มิ.ย. 2559 เมื่อราว 17.30 น. ขณะที่สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่แจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธินได้เข้ามาเจรจากับรังสิมันต์ โรม สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้หยุดทำกิจกรรม จากนั้นไม่นานก็มีการอุ้มรังสิมันต์และเพื่อนขึ้นรถกระบะไปโดยอ้างว่าจะนำตัวไปพบนายอำเภอ
เวลา 18.50 น. ที่ สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ มีนักกิจกรรมคาดว่าราว 13 คนถูกควบคุมตัวมายังสถานีตำรวจ โดยในจำนวนนี้เป็นคนงานซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์รวมอยู่ด้วย 3 คนเนื่องจากมาร่วมช่วยแจกเอกสารแจ้งข่าวเรื่องการลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตให้แก่คนงานด้วย
ขณะนี้ทนายกำลังเดินทางไปยังสถานีตำรวจแต่ยังไม่ถึงที่หมาย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดถูกนำตัวเข้าไปรอในห้องสอบสวนไปแล้วราวครึ่ง ชม. โดยรังสิมันต์ โรม นักศึกษา ป.โท ธรรมศาสตร์ และ นันทพงศ์ ปานมาศ นักศึกษารามคำแหง ถูกควบคุมตัวไปที่ว่าการอำเภอก่อนจะนำตัวมาที่สถานีตำรวจ ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ
เวลา 22.40 น. ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า ล่าสุด ตร. สภ.บางเสาธง แจ้งบันทึกจับกุมแก่ นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่และกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน โดยทั้ง13 คน ยืนยันไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม จากนั้นคาดว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำโดยพนักงานสอบสวน เบื้องต้นผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งยืนยันจะไม่ประกันตัว และจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.บางเสาธง ก่อนจะนำตัวฝากขังศาลทหาร กรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.)

ต่อมา เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ล่าสุดมีนักกิจกรรม 6 คนจะขอยื่นประกันตัวรวมถึงพนักงานจากจากกลุ่มแรงงานไทรอัพท์ ส่วนนักกิจกรรมจาก NDM อีก 7 คนยืนยันจะไม่ประกันตัวเพราะเห็นว่าไม่ควรเสียหลักทรัพย์หรือเงินเพื่อให้ได้รับเสรีภาพที่ถูกพรากไปโดยเจ้าหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ
เวลาประมาณ 22.45 น. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กแสดงความไม่เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่พร้อมข้อเรียกร้อง

"องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คำนึงถึงสิทธิเเละเสรีภาพในการเเสดงออกของทุกฝ่าย โดยมีข้อคิดเห็นดังนี้
1. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเข้าควบคุมตัวด้วยวิธีการที่รุนแรง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย
2. ขอให้มีการตรวจสอบการควบคุมที่ตัวเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่
3. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและเที่ยงธรรม"
เวลา 23.51 น. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ออกแถลงการณ์ เรียกร้องปล่อยตัวผู้จัดกิจกรรมทั้งหมด พร้อมยืนยันการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือรณรงค์ให้ไม่ร่วมลงประชามติก็ตาม นอกจากนี้ ระบุด้วยว่า ในการทำกิจกรรมเมื่อช่วงเย็นมีการแจกเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ลงทะเบียนน้อยกว่าที่เคย การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง ชี้การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนี้ผิด ทั้งในแง่ของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของประชาชน
รายชื่อทั้ง 13 คน ได้แก่
1. นายรังสิมันต์ โรม
2. นายนันทพงศ์ ปารมาศ
3. นายกรกช แสงเย็นพันธ์
4. นายวรวุฒิ บุตรมาตร
5. นางสาวกรชนก ชนะคูณ
6. นางสาวเตือนใจ แวงคำ
7. ปีใหม่ รัฐวงษา
8. นายสมสกุล ทองสุกใส
9. นายอนันต์ โลเกตุ
10. นางสาวพรรทิพย์ แสงอาทิตย์
11. นายธีรยุทธ นาบนารำ
12. นายยุทธนา ดาศรี
13. นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ

แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)
เรื่อง การจับกุมตัวผู้จัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด
ตามที่เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าจับกุมตัวสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่และประชาชนรวม 13 คน ที่จัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยนำตัวมาที่สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง พร้อมทั้งแจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวน 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และเตรียมนำตัวไปพิจารณาคดีที่ศาลทหารในวันรุ่งขึ้นนั้น
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีความเห็นว่าการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือรณรงค์ให้ไม่ร่วมลงประชามติก็ตาม เพราะการให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน และตัดสินใจลงประชามติได้อย่างตรงตามความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง
อีกทั้งในครั้งนี้ ผู้จัดกิจกรรมยังได้แจกเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนน้อยกว่าที่เคยมีในการเลือกตั้งที่ผ่านมามาก อันสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการช่วยให้ประชาชนรับทราบถึงสิทธิและการรักษาสิทธิของพวกเขา เป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง
การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ผิด ทั้งในแง่ของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของประชาชน
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและ คสช. และขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้จัดกิจกรรมทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไข
สุดท้ายนี้ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอให้ประชาชนทั้งหลายลองทบทวนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วงเวลานี้ ว่าประชามติครั้งนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ และร่างรัฐธรรมนูญนี้มีเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)
23 มิถุนายน 2559



คาเมรอนประกาศลาออก หลังผลประชามติโหวตอังกฤษออกจากอียู


24 มิ.ย. 2559 เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังผลเสียงข้างมากโหวตสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป โดยคาเมรอนจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงเดือนตุลาคมนี้ 
สำหรับผลประชามติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้โหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู 17,410,742 เสียง คิดเป็น 51.9% ขณะที่โหวตให้อยู่กับอียูต่อไป 16,141,241 เสียง คิดเป็น 48.1%
ทั้งนี้ ผู้ที่โหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในอังกฤษและเวลส์ ขณะที่คนในลอนดอน สก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือสนับสนุนการอยู่ต่อ
ด้าน ไนเจล ฟาราจ แห่งพรรคฝ่ายขวายูคิป (Ukip) ระบุว่า วันนี้เป็น “วันประกาศเอกราช” ขณะที่อีกฟากมองว่าเป็น "ความหายนะ"
พาดดี้ แอชดาวน์ อดีตหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย ทวีตว่า "พระเจ้าช่วยประเทศของเราด้วย" ด้าน วูลฟ์กัง ชูเบิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยอรมนี บอกว่า วันนี้เป็นวันที่น่าเศร้าของยุโรป

ประชาชนร่วมรำลึก 84 ปี 2475-เสียงต้านชี้การกระทำคณะราษฎรเป็นมิจฉาทิฐิ



ภาพจากเพจบ้านราษฎร


24 มิ.ย. 2559 เวลา 6.15 น. ประชาชนร่วมรำลึก 84 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมสถานการณ์รอบบริเวณหมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนิน
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 6.25 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วม 10 คน เข้าควบคุมตัว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรม โดยพยายามนำขึ้นรถตำรวจหลังปรากฏตัวที่หมุดคณะราษฎร ท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมรำลึกและสื่อมวลชน ก่อนจะปล่อยตัวให้ร่วมกิจกรรมต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลา 6.30 น. มีการกล่าวรำลึก 84 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จ่านิวเริ่มกล่าวรำลึกเหตุการณ์ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่เมื่อ 24 มิ.ย.2475 แต่ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมา 84 ปี ยังจะต้องมาเรียกร้องประชาธิปไตยอีก กลายเป็นว่าอยู่ในจุดที่ถอยหลังโดยไม่รู้ว่าจะได้ประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้งเมื่อไหร่ ทั้งนี้ การร่วมรำลึกเหตุการณ์ครั้งนี้ทุกคนต่างมีจุดร่วม คือ จะทำให้ประชาธิปไตย และเสรีภาพ กลับมาอีกครั้งไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม และจะไม่มีวันที่จะลบเลือนเหตุการณ์เมื่อ 24 มิ.ย.2475
วาด รวี นักเขียน ร่วมกล่าวรำลึก 84 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงระบบหรือระเบียบการปกครองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวิธี วิถีทาง ผลลัพธ์และประชาธิปไตยในตัวของมันเอง และสิ่งที่ทำในวันนี้เป็นการพูดคุยกับอดีต ปัจจุบันและดำรงอยู่ต่อไปเพื่อคุยกับลูกหลาน บทสนทนาประชาธิปไตยนี้จะไม่สิ้นสุดลงด้วยการยึดอำนาจใดๆ
ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวบทกวีรำลึกใจความว่า 84 ปีที่ผ่านมา คณะราษฎรได้ต่อสู้ด้วยชีวิต ทหาร พลเรือนและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสถาปนาประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น และยืนยันด้วยว่าอำนาจและประเทศเป็นของประชาชน


ภาพจากเพจบ้านราษฎร
ต่อมาเมื่อ 6.40 น. ชายคนหนึ่งที่เข้ามาโต้แย้งกลุ่มรำลึก 84 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเขาระบุว่าการกระทำของคณะราษฎรเป็นมิจฉาทิฐิ พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่ตนแสดงออกเป็นสิทธิเสรีภาพ หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวชายคนหนึ่งออกจากหมุดคณะราษฎรและกักตัวไว้จนกิจกรรมเลิก
"นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะแสดงออก ภายใต้แผ่นดินนี้ ภายใต้แผ่นดินนี้ ต้องมีอิสระเสรีภาพให้กับทุกคน" ชายคนดังกล่าวยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สนง.ข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN ห่วงกรณีไทยจับนักกิจกรรม-เรียกร้องปล่อยทันที


สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ยูเอ็น ห่วงกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมในการจับกุมนักกิจกรรมในวันที่ 23 และ 24 มิ.ย. ชี้มีกรณีหนึ่งนักกิจกรรมจาก NDM ถูก จนท.บีบคอ ระหว่างจับกุม พร้อมเรียกร้องให้มีปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้งสองกรณี โดยไม่มีการตั้งข้อหา 
24 มิ.ย. 2559 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความกังวลต่อการจับกุมนักกิจกรรม 13 คนจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทหารที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองมากกว่าห้าคนขึ้นไป เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรมจำนวนสิบสามคนถูกจับกุมย่านอุตสาหกรรมบางพลีในจังหวัดสมุทรปราการ ในจำนวนนี้แปดคนเป็นนักศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อีกสามคนเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน พวกเขาถูกจับกุมจากการเผยแพร่ใบปลิวที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นักกิจกรรมแปดคนกำลังถูกส่งตัวไปขึ้นศาลทหารในขณะที่ห้าคนได้รับการประกันตัว
ในวันที่ 24 มิถุนายน นักศึกษาจำนวนเจ็ดคนถูกจับกุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกำลังถูกควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการทำประชามติ ภายใต้พระราชบัญญัติประชามติ การรณรงค์สนับสนุนหรือต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องต้องห้าม
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ย้ำข้อเรียกร้องที่เขามีก่อนหน้านี้ให้มี “การถกเถียงสาธารณะอย่างเสรี เท่าเทียมและหลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ” นอกจากนี้ นายซาอิด ยังเสริมว่า ประชาชนชาวไทยมีสิทธิในการถกแถลง และการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องภายในประเทศของพวกเขาด้วย
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความห่วงใยในการใช้กำลังเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีความเหมาะสมในการจับกุมนักกิจกรรมในวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน ในกรณีหนึ่งนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกบีบคอโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างการจับกุม
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องให้มีปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมทั้งสองกรณีโดยพลันโดยไม่มีการตั้งข้อหากับพวกเขา

รวบนิสิตจัดกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย ขู่ฟ้องหมดสภาพนิสิต


รวบนิสิต-นักกิจกรรม ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ตำรวจไม่ยอมให้มีทนาย แต่ให้อาจารย์เข้าเป็นพยานแทน ขู่ไม่ยอมจะฟ้องอาญาให้หมดสภาพนิสิต ด้านแมน ปกรณ์ ย้ำนี่คือความเป็นเผด็จการของ คสช. ฝ่ายโหวตโนถูกเลือกปฏิบัติ
24 มิ.ย. 2559 มีการจัดกิจกรรมขึ้นหลายแห่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยที่อนุสาวรียร์ปราบกบฏ (หลักสี่) มีการรวมตัวของนิสิต กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือเอ็นดีเอ็ม (New Democracy Movement: NDM) เพื่อจัดกิจกรรม ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ และรำลึกถึงคณะราษฎร

แต่ภายหลังการจัดกิจกรรม เวลา 10.05 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรม รวม 7 คนขึ้นรถและพาไปที่ สน.บางเขน ประกอบด้วย 1.อรัญญิกา จังหวะ อายุ 21 ปี นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 2.เกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย อายุ 21 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 3.สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 4.กานต์ สถิตศิวกุล อายุ 19 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 5.อุทัย ช่วยตั้ว อายุ 21 ปี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 6.คุณภัทร คะชะนา อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 4 และ 7.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 23 ปี สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ทั้งนี้เจ้าหน้าตำรวจยังได้นำรถของชนกนันท์มาตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือของนิสิต นักศึกษาคนอื่นๆ ไว้ด้วย
ต่อมา ผู้จัดกิจกรรมเรียกร้องขอให้มีทนายมาเป็นพยานตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตและพยายามจะให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นพยานแทน ทั้งมีการบอกว่า ถ้าไม่ยอมจะฟ้องคดีอาญาทำให้หมดสถานภาพนิสิต

เวลา 14.05 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังนำตัวทั้ง 7 คนเข้าห้องสอบสวนเพื่อแจ้งข้อหา โดยแหล่งข่าวในพื้นที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาทั้ง 7 คนในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและเตรียมนำตัวส่งศาลทหารภายในวันนี้ ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ยกเว้นชนกนันท์ ได้เตรียมขอประกันตัวในชั้นศาล

ช่วงเที่ยงวันนี้ นักกิจกรรมรวมตัวหน้าศาลทหาร เรียกร้องปล่อยเพื่อนที่ถูกจับกุม
ด้านปกรณ์ อารีกุล หรือแมน ปกรณ์ หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า การดำเนินการจับกุมนิสิตนักศึกษา นักกิจกรรม และสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ จากกรณีการรณรงค์โหวตโนเมื่อวานนี้ (23 มิถุนายน 2559) ที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ และกรณีการจัดกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตยในวันนี้ เป็นการตอกย้ำความเป็นเผด็จการของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปกรณ์ยืนยันว่า ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะยังคงรณรงค์โหวตโนต่อไป แม้จะถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเห็นว่าเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีพื้นที่ในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ก็ควรมีพื้นที่ในการแสดงออกเช่นกัน

“เมื่อมีการรณรงค์จากฝ่ายเรา มีการจับกุมด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ พ.ร.บ.ประชามติ ผมคิดว่าเป็นอีกครั้งที่เราถูกเลือกปฏิบัติ ทำไมเวลาคนอื่นออกไปแสดงความคิดเห็นสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คสช. กลับไม่มีความเห็นอะไรเลย” ปกรณ์กล่าว
 


เวลา 16.03 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าตำรวจ สน.บางเขน นำตัว 7 นิสิต-นักศึกษาที่ทำกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ มาขออนุญาตฝากขังที่ศาลทหารแล้ว

พิชญ์วิเคราะห์เกมประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมสิทธิมนุษยชนยังเดินได้


24 มิ.ย. 2559 ในการเสวนาเรื่อง "อนาคตประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้เกมประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมสิทธิมนุษยชนยังเดินได้  พร้อมใช้มุม "เปลี่ยนผ่านวิทยา" เข้าใจทหารเพื่อจำกัดทหารจากการเมือง

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นสลับกันไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตยและการรัฐประหาร ทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยาเป็นการพิจารณาถึงการสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายเข้ามาเล่นในเกมประชาธิปไตย โดยไม่ใช่การรอคอยไปเรื่อยๆ
สิ่งที่ทฤษฎีนี้มักจะถูกวิจารณ์คือ มันให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของชนชั้นนำ โดยมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าชนชั้นนำไม่ขยับ แต่นั่นถูกเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือ ในฐานะประชาชนเราจะสร้างแรงจูงใจอะไร เงื่อนไขอะไรที่ทำให้ชนชั้นนำขยับ ผู้เล่นสำคัญอันหนึ่งในชนชั้นนำคือ ทหาร เราไม่ได้มองในฐานะแค่ศัตรูของประชาธิปไตย แต่โจทย์คือ จะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้กองทัพออกไปจากการเมืองและอยู่ได้ด้วย
“คนที่ไม่เข้าใจกรอบทฤษฎีนี้มักพูดว่า มองไม่เห็นประชาชน ในการเปลี่ยนผ่านวิทยาสิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกรอบคิดของทหารเองและจะทำยังไงให้เขาออก เราต้องดูด้วยทหารเขาสร้างระบอบพันธมิตรอย่างไรที่ทำให้เขาอยู่ยาว นอกจากปัจจัยทางอุดมการณ์”
ในทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยสิ่งที่เกิดเสมอคือ “การเปลี่ยนไม่ผ่าน” แล้วอยู่ในพื้นที่สีเทา ซึ่งเราอาจต้องเถียงกันว่าจริงหรือเปล่าที่พื้นที่นั้นมันรอการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง หรือจริงๆ แล้วมันคือความจริงทางการเมือง
ส่วนสำคัญอีกอย่างคือ “การแบ่งปันอำนาจ” มันไม่ได้แปลว่า แบ่งกันอย่างเท่ากัน แต่เป็นสถานการณ์เทาๆ เป็นสถานการณ์แห่งการต่อรอง มันต้องมีพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายมีที่ยืน อะไรทำให้เกิดเงื่อนไขเช่นนั้น
“ผมคิดว่าการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเดินต่อ มันเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน และอาจเป็นไปได้ว่าเกมในอนาคตที่ทำให้ทหารเข้ามาสู่การเมืองไม่ได้ ไม่ใช่การสั่งสอนประชาธิปไตยทหาร แต่เป็นทหารเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยทำรัฐประหารบ่อยเป็นอันดับ 4 ของโลก คือประมาณ 18 ครั้งนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตัวเลขนี้มากกว่าทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้ปี 2475 ยังมีปัญหาที่ถกเถียงกันในทางวิชาการว่าจะเรียกมันว่าอะไร แต่สำหรับพิชญ์เห็นว่ามันคือ การเปลี่ยนระบอบ (regime change)
คำถามที่มากับทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านและการล่มสลายเหล่านี้ คือ
1. จะทำอย่างไรให้ “ประชาธิปไตย” เป็นกฎกติกาเดียวในสังคม ทุกฝ่ายยอมรับว่าจะเล่นในเกมประชาธิปไตย
2. สังคมไทยมักพยายามใช้อำนาจนอกรูปแบบประชาธิปไตยจัดการกับปัญหาประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยสามารถจัดการปัญหาได้จากภายใน
3. การเล่นเกมประชาธิปไตยเป็นการเล่มเกมที่แพง คนบางคนคิดว่าเล่นไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายก็ชนะเอาๆ หรืออาจเป็นได้เขามีทรัพยากรอื่นที่ไม่ต้องเล่นเกมประชาธิปไตย คำถามจึงเป็นว่าจะทำให้คนเหล่านั้นมีแรงจูงใจมาเล่นเกมประชาธิปไตยได้อย่างไร
4. ปัญหาในการออกแบบประชาธิปไตยช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทำอย่างไรจะสร้างบรรยากาศที่จะทำให้คนรู้สึกว่าจะชนะและแพ้สลับกันไปได้อย่างไร การออกแบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อนอย่างที่พยายามกันอย่างมากจะแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า
5. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นความหวังหรือเปล่า ถ้าประชาธิปัตย์แพ้ทุกครั้งขนาดนี้จะสร้างสถาบันทางการเมืองอะไรมาคานอำนาจประชาธิปไตยในระบบ นี่เป็นการออกแบบสถาบันให้ยั่งยืน ให้คนส่วนน้อยที่มีอำนาจมากอยากจะเล่นในเกมประชาธิปไตย

สุเทพ LIVE เหตุผลที่รับร่าง รธน. บอกแค่อ่านคำปรารภ ก็ถูกใจเรา กปปส. อย่างยิ่ง


สุเทพบอกร่างรธน.มีชัย แค่อ่านคำปรารภแล้ว ถูกใจเรา กปปส. อย่างยิ่ง ชี้มีทาออกยามวิกฤติ ป้องกันสกัดกั้น ไม่ให้คนไม่ดี คนไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ได้เข้ามีอำนาจในทางการเมือง แถมมีปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ
24 มิ.ย. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.59 น. ที่ผ่านมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิมวลมหาประชาชน และอดีตเลขาธิการ กปปส. ได้ LIVE ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)' ถึงเหตุผลที่ตนเองรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามตินี้  โดย สุเทพ กล่าวถึงวันที่ 24 มิ.ย.2475 เป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา บ้านเมืองของเราก็ลุ่มๆ ดอนๆ มีการปกครอง มีการเลือกตั้ง มีการปฏิบัติรัฐประหาร ยึดอำนาจร่างรัฐธรรมนูยใหม่กันหลายฉบับ บางฉบับก็ใช้ได้หลายปี บางฉบับใช้ได้ปีหรือสองปี
 
สุเทพ กล่าวต่อว่า วันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่เอี่ยมล่าสุด ฉบับของท่านมีชัย ฤทธิ์ชุพันธ์ ซึ่งพวกเราประชาชนจะได้มีโอกาสมีส่วนร่วมไปแสดงประชามติกัน ในวันที่ 7 ส.ค.59 นี้ ตนตัดสินใจแล้วครับพี่น้องครับ ตนจะไปลงประชามติแน่นอน แล้วตั้งใจแล้วจะไปลงประชามติ รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วันก่อนตนแถลงข่าวไป มีคนติดตามสนใจ ถามตนเรื่อยว่ามีเหตุผลอะไร ที่จะไปลงมติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้ตนถือฤกษ์ 24 มิถุนายนจะพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ อธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้  
 
"ถ้าใครอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องคิดเหมือนผมทั้งนั้นล่ะครับ ไม่ต้องอื่นไกล ถ้าใครมีเวลาน้อยอ่านฉะเพราะคำปรารภก็จะเข้าใจแล้วครับ ผมอ่านคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วผมถูกใจมาก เขียนดีมากครับ คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนชาวไทยว่าประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ยืนหยัดมั่นคงที่จะเห็นประเทศนี้ปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข และเรายืนหยัดเช่นนี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นถ้ามีใครหรือประเทศไหนมากล่าวหาเรา บอกว่าเราเป็นพวกที่ต่อต้านการเลือกตั้ง เราไม่นิยมประชาธิปไตย ผิด ใช้ไม่ได้ ของจริงต้องอ่านคำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับนี้" สุเทพ กล่าว
 
"พี่น้องมวลมหาประชาชนที่เคารพรักทั้งหลายครับ ผมอ่านคำปรารภแล้ว ผมเห็นเลยเขาชี้ปัญหาให้เรารู้ ว่าที่แล้วมาที่การปกครองบ้านเมืองของเราไม่มีเสถียรภาพ ไม่ราบรื่นนั้น เพราะว่ามีคนบางคนบางกลุ่มไม่เคารพกฏเกณฑ์การปกครอง ไม่ยอมรับไม่ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์การปกครอง แล้วกระทำการทุจริต ฉ่อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจ ไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน มันจึงทำให้การเมืองการปกครองในบ้านเมืองเรามันไม่ราบรื่น คำปรารภนี้บอกไว้เลยครับว่า วิธีการแก้ไข เราจะต้องแก้ไขโดยการปฏฺรูปประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะต้องรีบดำเนินการปฏิรูปประเทศในเรื่องการศึกษาโดยทันที เราจะต้อปฏิรูปประเทศเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย และเราจะต้องปฏิรูปประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงของระบบคุณธรรมจริยธรรมในหมู่ประชาชน" สุเทพ กล่าว
 
สุเทพ ยังกล่าวด้วยว่า ในคำปรารภฉบับนี้บอกว่ากฏเกณฑ์การปกครองที่เคยใช้อยู่เดิม ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ของบ้านเมือง ยุคสมัยเสียแล้ว เพราะว่าเราไปให้ความสำคัญกับรูปแบบกับวิธีการมากกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
 
"อ่านคำปรารภตรงนี้ถูกใจพวกเราที่เป็น กปปส. อย่างยิ่ง เพราะเราเห็นแล้วเราเรียกร้องมาโดยตลอด ว่าที่พูดๆ กันว่า จะต้องมาจากการเลือกตั้ง จะต้องเลืกตั้งเท่านั้น มันไม่ไช่ ถ้าตราบใดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม ไม่สะอาด มันไม่สามารถสะท้อนจิตวิญญาณที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตยได้ การเลือกตั้งที่ดีต้องสะอาดบริสุทธิ์ยุติธรรม เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างอิสระว่าเขาจะไว้วางใจให้ใครไปใช้ำนาจอธิปไตยแทนเขา แต่ว่าถ้าการเลือกตั้งยังมีการซื้อสิทธิขายเสียง ยังมีการใช้อิทธิพลข่มขู่ชี้นำ ยังมีการใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ ยังมีการใช้ กกต. ช่วยโกงเลือกตั้ง อย่างนี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย" สุเทพ กล่าว
 
ในคำปรารภที่เขียนเอาไว้นี่ยืนยันเลยว่ากฏเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในเวลาที่วิกฤติได้  นี่เป็นเรื่องจริง เราชุมนุมกันปี 2556 2557 เรียกร้องให้มีการสรรหาคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลชุดใหม่ เพื่อมาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ของประเทศทุกฝ่ายตอบว่าทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงบอกว่าต่อไปนี้เราต้องกำหนดวิธีการที่จะแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ แล้วเขามีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ 
 
สุเทพ กล่าวด้วยว่า ชอบใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากในคำปรารภบอกเลยครับว่ารัฐต้องมีหน้าที่ทำให้กับประชาชนและประชาชนก็มีหน้าที่ต่อรัฐเช่นเดียวกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกเป้าหมายสำคัญไว้ประการหนึ่งซึ่งต้องถูกใจพวกเรามวลมหารประชาชนแน่ คือเขาจะป้องกันสกัดกั้น ไม่ให้คนไม่ดี คนไม่มีคุณธรรม ไม่มจริยธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ได้เข้ามีอำนาจในทางการเมือง แล้วก็มีมาตรการณ์ในการป้องกันวิกฤติ ในการบริหารจัดการกับวิกฤติ โดยกำหนดคณะบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้วิกฤติของประเทศเอาไว้ด้วย 
 
"เราเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนบทบัญญัติไว้เลยครับว่าวิธีการในการปฏิรูปประเทศจะต้องทำอะไร ทุกด้านเลยครับที่เราเรียกร้อง ผมชอบใจมาก ที่ชอบใจที่สุดคืออะไรครับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้รัฐและประชาชนทำงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ" สุเทพ กล่าว
 
สุเทพ กล่าวทิ้งท้ายในคลิปด้วยว่า วันนี้เรียนจั่วหัวไว้เป็นวันเริ่มต้น ตนจะพูดถึงรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ในรายละเอียว่าตนชอบอยย่างไร ตนมีเหตุผลอะไร ที่ตนตั้งใจอย่างไรเพื่อไปรับรัฐธรรมนูญให้ได้ เผื่อเป็นข้อมูลเป็นความรู้ สนใจติดตามกันได้