วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป” เข้าพบ “ยิ่งลักษณ์” หลังถูกห้ามออกนอกประเทศ เผย ห่วงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย









วันนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป นำโดย Dr. Werner Langen (เวอร์เนอร์ แลงเก้น) ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน พร้อมด้วย Mr. Marc TARABELLA (มาร์ค ทาราเบลล่า) รองประธาน และ Mr. Pier Antonio PANZERI (เพียร์ อันโตนิโอ แปนซีรี) คณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายโภคิณ พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหลักๆแล้วคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปได้แสดงความห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของไทย รวมถึงแสดงความห่วงใยสถานการณ์ทางการเมือง และการทำประชามติของไทยด้วย


โดยที่ผ่านมารัฐสภายุโรปได้มีการทำหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวในสภายุโรป แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางไปชี้แจงตามคำเชิญ เนื่องจากทางทางคสช.ไม่อนุญาติให้เดินทางออกนอกประเทศ ทางคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปจึงเดินทางมาพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์แทน

กทม.ยัน 'เจตนาดี' ลงเลขบัญชีธนาคารและข้อมูลส่วนตัวผู้สูงอายุในเว็บ ระบุกำลังแก้


เครือข่ายพลเมืองเน็ต เผยพบเว็บไซต์สำนักงานเขตแห่งหนึ่งของกทม. เผยแพร่รายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นไฟล์ PDF ที่มีทั้งเลขบัญชีธนาคาร วันเดือนปีเกิด และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ - ฝ่ายที่รับผิดชอบทราบเรื่องแล้ว และกำลังปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูล
17 พ.ค.2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ต Thai Netizen Network รายงานว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @bodin รายงานเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวมีทั้ง "เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขที่บัญชี ขาดแค่ password netbanking"
โดย เครือข่ายพลเมืองเน็ตตรวจสอบเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันนี้ (17 พ.ค.59) พบว่าเว็บไซต์และไฟล์ PDF ดังกล่าวยังเข้าได้ถึงได้ และข้อมูลที่เผยแพร่นั้นประกอบด้วย เลขลำดับ, เลขทะเบียน, เลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิ, ชื่อ-สกุลของผู้มีสิทธิ, วัน/เดือน/ปีเกิด, อายุ, เลขประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบ, ชื่อ-สกุลของผู้รับมอบ (เจ้าของบัญชี), ชื่อธนาคาร, เลขบัญชี, สาขาธนาคาร, และหมายเหตุ

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายรายทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กแสดงความกังวลต่อการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งมิจฉาชีพอาจนำข้อมูลไปทำธุรกรรมออนไลน์หรือปลอมตัวเป็นเจ้าของข้อมูล นอกจากนี้เว็บไซต์ของกทม.ยังมีปรับแต่งระบบการป้องกันไม่ดีนักและยังใช้ซอฟต์แวร์รุ่นเก่าที่อาจมีรูรั่ว

เครือข่ายพลเมืองเน็ต รายงานด้วยว่า เมื่อสอบถามไปที่ ปิยธิดา นิยม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ของสำนักงานเขตดังกล่าว ปิยธิดา แจ้งว่าทางฝ่ายได้ทราบเรื่องแล้ว เนื่องจากวันนี้มีหลายหน่วยงานติดต่อเข้ามา และในวันนี้จะมีการพิจารณาปรับปรุงเว็บไซต์ เพื่อนำข้อมูลส่วนบุคคลออกไ

โดยหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ชี้แจ้งว่าปัจจุบันผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสามารถตรวจสอบชื่อและรายละเอียดของตัวเองได้ 3 ช่องทางคือ 1. ที่สำนักงาน ทั้งที่กระดานติดประกาศของสำนักงาน ที่ห้องทำบัตรประชาชน และที่ห้องของฝ่ายพัฒนาชุมชน 2. ผ่านโทรศัพท์ และ 3. ผ่านเว็บไซต์

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้มีสิทธิหลายคน เปลี่ยนบัญชีธนาคาร ทำให้ไม่สามารถโอนเงินได้ และเมื่อจะโทรศัพท์สอบถามเพื่อปรับปรุงเลขบัญชี บางส่วนก็ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหมายเลขโทรศัพท์

หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ยืนยันว่า การเผยแพร่รายละเอียดในรายชื่อดังกล่าวทางเว็บไซต์ก็เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ผู้สูงอายุและบุตรหลานสามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุใช้สื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้น และที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ร้องเรียน มีปีนี้เป็นปีแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อทางฝ่ายได้รับข้อเป็นห่วงมาก็ขอขอบคุณผู้ที่ปรารถนาดี และจะปรับปรุงการทำงาน พิจารณาหาวิธีการตรวจสอบสิทธิ ที่ทั้งปลอดภัยและสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกสำหรับผู้สูงอายุต่อไป

ทางเครือข่ายพลเมืองเน็ตตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเลขบัญชีดังกล่าวนั้น พบไม่เพียงเฉพาะกับเว็บไซต์กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่เว็บไซต์ของจังหวัดหรือเขตเทศบาลอื่นๆ ก็มีเช่นกัน โดยแต่ละที่จะมีรายละเอียดข้อมูลที่เผยแพร่แตกต่างกันไ

เช่น รายชื่อผู้สูงอายุในเขตเทศบาลของจังหวัดหนึ่งในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร นอกจากข้อมูลเลขบัญชีแล้ว ยังมีที่อยู่บ้านและหมายเลขโทรศัพท์อีกด้วย (เครือข่ายพลเมืองเน็ตพยายามโทรศัพท์ติดต่อกับสำนักงานเทศบาลแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้) ส่วนรายชื่อของจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดเพชรบุรี มีเฉพาะชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และอายุของผู้มีสิทธิรับเบี้ย ไม่มีข้อมูลบัญชีธนาคารหรือข้อมูลอื่น

@FordAntiTrust ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกราย ตั้งข้อสังเกตว่า "ผมคิดว่าราชการเขาคงมองว่าเอกสารพวกนี้เอาขึ้นอินเทอร์เน็ต คงเหมือนเอาไปแปะที่หน้าหน่วยงานราชการ"

พนิดา มีทรัพย์ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พัสดุและช่วยงานส่วนสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาไหล อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโอนเงินเบี้ยยังชีพกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตว่า ผู้มีสิทธิจะต้องแจ้งเลขบัญชีธนาคารมาที่อบต.และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเลขบัญชี ก็จะต้องมาทำเรื่องด้วยตัวเองที่อบต.

ในกรณีที่ไม่สามารถโอนเงินได้ เนื่องจากเลขบัญชีผิดหรือปิดไปแล้ว ธนาคารจะแจ้งให้กับอบต.ทราบและทางอบต.ก็จะติดต่อไปที่ผู้มีสิทธิหรือบุตรหลาน ตามที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้แจ้งไว้กับอบต. ทั้งนี้อบต.จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวเอาไว้ที่สำนักงานอบต.แต่ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดลงเว็บไซต์ของอบต. โดยอบต.จะเผยแพร่เฉพาะข้อมูลตามแบบฟอร์มที่จังหวัดกำหนดมาเท่านั้น ซึ่งมีเฉพาะชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และอายุของผู้มีสิทธิรับเบี้ย

ทั้งนี้ พนิดา ชี้แจงว่า วันเดือนปีเกิดนั้นเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องเผยแพร่เพราะเกี่ยวข้องกับการได้รับสิทธิรวมถึงจำนวนเงินที่จะแตกต่างไปตามอายุ ส่วนเลขประจำตัวประชาชนนั้นก็เป็นข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบเป็นปกติอยู่แล้ว เหมือนกับการตรวจสอบชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ครม.ไฟเขียวข้อตกลงหลายฉบับให้ประยุทธ์หอบคุยรัสเซีย แจงซื้อ ฮ.เป็นไปตามยุทธศาสตร์


ประยุทธ์แจงปมสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์-ยุทโธปกรณ์จากรัสเซียเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพในระยะยาว ไม่ใช่การจัดซื้อเพียงครั้งเดียว ขณะที่ ครม.ไฟเขียวข้อตกลงกับรัสเซียหลายฉบับ 'ประวิตร' บอกประยุทธ์เยือนรัสเซีย ไร้แผนซื้อรถถัง เผยเล็งซื้อ ฮ.ขนส่ง-ดับไฟป่า
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค.นี้ ว่า จะหารือถึงความสัมพันธ์ตลอด 120 ปี รวมถึงการสร้างความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะแนวทางการไปสู่เป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ที่ต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า
ส่วนกรณีที่ให้สัมภาษณ์สื่อจากรัสเซียว่าไทยสนใจสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์และยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการหารือกับหลายประเทศ ไม่เฉพาะรัสเซีย ยืนยันว่าการจัดซื้อเพื่อทดแทนของเก่า ซึ่งมีอายุการใช้งานมายาวนาน และขั้นตอนการจัดซื้อจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดความต้องการและคณะกรรมการจัดหายุทโธปกรณ์ ที่จะต้องดูทั้งเรื่องขอมาตรฐานและราคาที่มีความเหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณของกองทัพ
“ทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพในระยะยาว ไม่ใช่การจัดซื้อเพียงครั้งเดียว และยุทโธปกรณ์จะต้องนำมาใช้ในงานกู้ภัยด้วยและการจัดซื้อจะต้องมีความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยด้วย และการจัดซื้ออาจเป็นรูปแบบของผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่ประเทศผู้ผลิตจะต้องตกลงซื้อสินค้าเกษตรของไทยเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประวิตร แจงประยุทธ์เยือนรัสเซีย ไร้แผนซื้อรถถัง เผยเล็งซื้อ ฮ.ขนส่ง-ดับไฟป่า

ขณะที่วันนี้ (17 พ.ค.59) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปเยือนประเทศรัสเซียมีแผนจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงรถถัง ว่า คงจะไปซื้อเฮลิคอปเตอร์ทั้งด้านการขนส่ง และดับไฟป่า เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ไม่ได้ไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะรถถังของประเทศรัสเซีย ซึ่งย้ำว่าไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งตนก็ไม่ได้เดินทางร่วมคณะไปด้วย ส่วนกรณีที่กองทัพบกจัดซื้อรถถังจากประเทศจีนนั้น ตนคิดว่าได้ซื้อจากประเทศจีนไปก่อนแล้ว หากจะซื้อจากประเทศรัสเซียคงต้องเป็นหน้าที่ของกองทัพบกเป็นผู้พิจารณา และดำเนินการตามแผนงาน และรายงานให้รัฐบาลทราบตามกรอบยุทธศาสตร์พัฒนากองทัพให้ทันสมัย

ครม.ไฟเขียวข้อตกลงกับรัสเซียหลายฉบับ

ขณะที่การประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางเยือนรัสเซียนั้น มีผลการประชุมที่น่าสนใจดังนี้ 
ครม. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน – รัสเซีย  สมัยพิเศษ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)  เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโซชิระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐเซีย เพื่อฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – รัสเซีย เพื่อให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรอง  ลงนามร่างปฏิญญาฯ 2.  เห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย ปี 2559 - 2563 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายมีหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบร่างแผนปฏิบัติการฯ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน – รัสเซีย สมัยพิเศษ 3.  หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารตามข้อ 1 และ 2 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีก และ 4. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับทราบรายงานข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน – รัสเซีย  เรื่อง อาเซียน – รัสเซีย : หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์หลายมิติที่มองไปในอนาคต
ครม.เห็นชอบการลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับรัสเซียเกี่ยวกับความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน  และการเสนอร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อดำเนินการลงนามและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ ตามที่ กต.  เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อการลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับสหพันธ์รัฐรัสเซียเกี่ยวกับการ จัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Joint Statement on the Conclusion of Negotiations on the Agreement between the Government of the Russian Federation and the Government  of the Kingdom of Thailand on  Promotion and Reciprocal of the Investments)  เพื่อการลงนามและให้ความเห็นชอบต่อร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชาอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย  (Agreement  between  the  Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Russian Federation on the Promotion and Reciprocal Protection of Investments) เพื่อดำเนินการลงนามและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ 2. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือแจ้งฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อให้ร่างความตกลงฯ มีผลใช้บังคับภายหลังการลงนาม 3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างความตกลงฯ และ 4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ และร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. อีกครั้ง
ครม. อนุมัติลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเกษตรแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเกษตรแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความความร่วมมือด้านการเกษตร 2. อนุมัติให้หลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก 3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว
ครม. อนุมัติการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมประมง (แห่งราชอาณาจักรไทย) กับหน่วยงานสำนักงานเฝ้าระวังสุขอนามัยพืชและสัตว์ (แห่งสหพันธ์รัฐรัสเซีย) ด้านการควบคุมความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงที่นำเข้าและส่งออก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมประมง (แห่งราชอาณาจักรไทย) กับหน่วยงานสำนักงานเฝ้าระหว่างสุขอนามัยพืชและสัตว์ (แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย) (Federal Service for Veterinary and Phytosanitary Surveillance : FSVPS) ด้านการควบคุมความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงที่นำเข้าและส่งออก โดยกรมประมงมอบหมายให้รองอธิบดีกรมประมง (จูอะดี พงศ์มณีรัตน์) เป็น ผู้ลงนามของกรมประมง
ครม. เห็นชอบในหลักการต่อการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวิภาคี ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการต่อการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวิภาคี ทั้งนี้ ในกรณีที่การเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ มีการแก้ไขถ้อยคำซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ให้กระทรวงพาณิชย์สามารถหารือกับกระทรวงการต่างประเทศและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและดำเนินการต่อไปได้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทย และกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวิภาคี และ 3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน สำหรับการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวีภาคี
ครม. รับรองเอกสารผลการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย 2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย รับรองในแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมดังกล่าว และ 3. หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ก่อนจะมีการรับรองเอกสารดังกล่าวให้ วธ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
โดย ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย (สถานการณ์ล่าสุด) มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมอันเป็นผลดีและเน้นการปฏิบัติของโครงการร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรที่เป็นปึกแผ่น  การขยายความผูกพันทางด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างกัน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจอันดีในการดำเนินชีวิตและการเพิ่มคุณค่าของวัฒนธรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อาทิ ดนตรี โรงละคร หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ มรดกทางวัฒนธรรม นาฎศิลป์ ภาพยนตร์ ลิขสิทธิ์ และศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ

ผู้ต้องหาคดีระเบิดราชประสงค์ ตะโกน "ผมไม่ใช่สัตว์" ระหว่างมาศาลทหาร


 
17 พ.ค. 2559 ที่ศาลทหาร กรุงเทพ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหาร ได้นำตัว อาเดม คาราดัก จำเลยที่ 1 และ  เมียไรลี ยูซุฟู จำเลยที่ 2 ผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวข้องเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ ราชประสงค์ และท่าเรือสาทร มาจากเรือนจำพิเศษ แขวงถนนนครชัยศรี (มทบ.11) มายังศาลทหาร เนื่องจากตุลาการศาลทหาร ได้นัดตรวจพยานหลักฐานเป็นนัดที่ 5 
 
เนชั่น รายงานด้วยวว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังนำตัว อาเดม ได้แสดงอาการหวาดวิตก และมีสีหน้าเคร่งเครียด มีการแสดงพฤติกรรมขัดขืนการนำตัวมาภายในศาล จนต้องให้เจ้าหน้าที่มาช่วยจับประคองตัวผู้ต้องหา เข้ามาส่งภายในห้องพิจารณาคดี 
   
โดย บีบีซีไทยและประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานโดยอ้างจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งรายงานว่า ขณะที่ผู้ต้องหาลงจากรถของเรือนจำ อาเด็ม ได้ดิ้นรนและตะโกนขึ้นเป็นข้อความภาษาอังกฤษว่า "ผมไม่ใช่สัตว์ ผมเป็นคน ผมเป็นคน" และเมื่ออยู่ต่อหน้าศาล อาเด็มซึ่งมีน้ำตาคลอเบ้า ได้เลิกเสื้อขึ้นให้ศาลดูรอยช้ำตามตัว และกล่าวผ่านล่ามว่า เฉพาะในเดือนนี้เขาถูกซ้อมทรมานถึงสองครั้งในเรือนจำ
 
ด้าน เมียไรลี ได้กล่าวขอความช่วยเหลือก่อนขึ้นศาลว่า "พวกเราบริสุทธิ์ ช่วยเราด้วย สิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหน ?"
 
ชูชาติ กันภัย ทนายความของ อาเด็ม กล่าวว่า ศาลรับที่จะสอบสวนกรณีที่อาเด็มถูกซ้อม และจะพิจารณาเรื่องการย้ายเรือนจำ และว่าจะมีการเรียกพยานกว่า 250 รายมาให้การต่อศาล โดยหวังว่าการพิจารณาคดีจะสิ้นสุดลงภายในปีนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจยืดเยื้อออกไปอีก

ประยุทธ์เชื่อตัดเบี้ยผู้สูงอายุมีฐานะคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ รอง หน.ปชป.อัดแก้ไม่ถูกจุด


17 พ.ค.2559 จากเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบกับงบประมาณภาครัฐที่ต้องจ่ายสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิน 60 ปีขึ้นไป โดยในอนาคตจะมีการปรับการจ่ายสวัสดิการ หรือเงินเบี้ยคนชรารายเดือนที่ให้ผู้สูงอายุใหม่ โดยจะเลือกจ่ายให้กับผู้ที่จำเป็นและต้องการได้รับความช่วยเหลือจริง จากปัจจุบันจ่ายให้คนละ 600 บาทต่อเดือน โดย ในเบื้องต้นจะต้องกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาว่าหากผู้สูงอายุมีรายได้รวมเกิน 9,000 บาทต่อเดือน หรือสินทรัพย์เกิน 3 ล้านบาท จะไม่ได้รับสิทธิ์เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ลดภาระงบประมาณลงไปได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันรัฐต้องจ่ายถึง 6 - 7 หมื่นล้านบาท จากผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 10 ล้านคน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
โดยที่ต่อมา 15 พ.ค. 59 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิสุทธิ์ กล่าวว่า ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุได้รับสิทธิ์ประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะในอนาคตที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งจะทำให้มีภาระในส่วนนี้เพิ่มขึ้น เบื้องต้นผู้สูงอายุกลุ่มที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาทหรือมีสินทรัพย์สูงเกินกว่า 3 ล้านบาท จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนั้นเมื่อตัดงบประมาณส่วนนี้ไป คาดว่าจะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่เป็นภาระงบประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท
โดยรัฐจะเร่งทำการสำรวจเเละเก็บข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยต่อไป นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นเงินให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการใช้เงินในยามเกษียณซึ่งจะเหมาะกับคนไม่มีลูกหลาน
      
วิสุทธิ์ ระบุด้วยว่า หลักการเบื้องต้นคือ จะต้องมีทรัพย์สินปลอดภาระหนี้เพื่อนำมาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุมูลค่าทรัพย์สิน และอัตราดอกเบี้ยโดยจะเลือกได้ระหว่างได้เป็นก้อนเดียวหรือจะรับเป็นรายเดือน 

ประยุทธ์เชื่อตัดเบี้ยผู้สูงอายุมีฐานะคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ 

จากประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม. ว่า เรื่องลดเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นการที่ต้องให้ไปดูว่าที่ศึกษามาลดเพราะอะไร บางคนมีรายได้เพียงพอแล้ว บางทีมากกว่าคนที่ทำงานรายวันอีก ถ้าเราไปกำหนดด้วยอายุอย่างเดียว อาจจะใช้งบประมาณไม่ตรงเท่าไหร่ จริง ๆ ผู้สูงอายุคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะเงินแค่ 600 - 1,000 บาท ถ้าทุกคนมีเงินฝาก 3 ล้านในบัญชี รายได้เดือนละ 9,000 บาท ถามว่าจนหรือไม่ ต้องดูอย่างนี้จะได้เหลือเงินไปทำตรงอื่น ทั้งเรื่องสังคมสูงอายุ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จะเอาเงินจากที่ไหนถ้าไม่ใช้ให้ถูกต้องทุกคนต้องช่วยกัน หลายคนบอกว่ามันเป็นสิทธิประชาธิปไตย แต่คำว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าเท่ากันได้ทุกคนมันต้องมีช่องว่างการที่ต้องปรับกันอย่างไร

รอง หน.ปชป.อัดแก้ไม่ถูกจุด

วันเดียวกัน (16 พ.ค.59) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า เกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรณีนี้ด้วยว่า ความหมายสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ แปลว่าทุกคนที่ชราภาพต้องได้ทั้งหมด ถ้าจะไปตัดเฉพาะบางคน บางกลุ่ม ตรงนี้ก็ไม่ถือเป็นนโยบายสวัสดิการสังคมแล้ว ตนอยากให้ไปดูที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องจัดสวัสดิการให้ประชาชน อยากให้รัฐบาลอธิบายหลักคิดก่อนว่าคืออะไร ทำไมทำแบบนี้ ต้องตีโจทย์ว่ายังต้องการให้เป็นสวัสดิการสังคมอยู่หรือไม่ หรือจะให้ไปเป็นนโยบายอะไรก็ไม่ทราบได้ 
 
“เกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น สงสัยว่าจะเป็นธรรมหรือไม่เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกปี ต้องถามว่าการวัดเกณฑ์ว่าใครรวย ใครจน จะวัดกันยังไง วัดกันทุกปีหรือไม่ และนับทรัพย์สินแต่ละครอบครัวไหม หรือว่านับแค่เฉพาะบุคคล การรัฐบาลให้เหตุผลว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ และงบประมาณที่มีอยู่ ดูจะไม่เพียงพอ ก็ต้องตั้งคำถามว่าภาษีที่ประชาชนจ่ายกันทุกปีทั้งภาษีทางอ้อม ทำไมถึงมีไม่เพียงพอ เอาเงินไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ เรื่องการใช้ภาษีต้องอธิบายให้ประชาชนทราบได้ทุกเรื่อง ประเทศอื่นที่เจอกับปัญหาสังคมผู้สูงวัย ก็มีวิธีแก้ปัญหามากมายและก็ไม่จำเป็น จะต้องตัดสวัสดิการออก อาทิ ที่ออสเตรเลียก็ไม่มีเกณฑ์เกษียณอายุ ใครอยากเกษียณเมื่อไรก็เกษียณได้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว 
 
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในเรื่องของทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท ถ้าเป็นที่ดินจะว่าอย่างไร เพราะตามหลักแล้วการมีที่ดินไม่ใช่ถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างเดียว แต่ยังถือว่าเป็นภาระด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นที่ดินที่มีภาระจะหักค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ ถ้าเป็นบริษัทนั้นเมื่อที่ดินเสื่อมราคายังสามารถตัดค่าใช้จ่ายได้ แต่เป็นบุคคลจะทำอย่างไรเมื่อมีที่ดินแล้วเสื่อมราคา นอกจากนี้คนรับบำเหน็จ บำนาญจะทำอย่างไร โดยเฉพาะกรณีว่าคนรับบำเหน็จไม่ถึง 3 ล้านบาท แต่รับบำนาญได้เงินเกิน 9,000 บาทต่อเดือนตรงนี้จะว่ายังไง 
 
เกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อดูทั้งประเทศมีคนแจ้งทรัพย์สินกันกี่คน ก็มีแจ้งทรัพย์สินเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเท่านั้น ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ยื่นภาษีเลย ตามระบบในประเทศไทยก็ถือว่ามีเยอะมาก อาทิ กลุ่มเกษตรกร ตรงนี้จะนับกันยังไง ดังนั้นถ้าให้นโยบายนี้มีผลบังคับใช้ จะให้คนทั้งประเทศไปแจ้งทรัพย์สินหรือไม่ แบบนี้ก็ลำบากมาก การออกนโยบายนั้นพูดก็พูดได้ แต่ถ้าจะทำนั้นจะสร้างปัญหาและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมาอีกมาก ดังนั้นทางรัฐบาลต้องอธิบายและดำเนินการด้วยความระมัดระวัง แต่ตนขอค้านการใช้วิธีการนี้มาแก้ไขปัญหา เรื่องการขาดงบประมาณ เพราะเป็นการแก้ไม่ถูกจุด ยังมีวิธีการแก้ปัญหาอีกมาก เช่น เวลาจะสร้างถนนที่เก็บค่าผ่านทางได้ ก็ควรจะใช้ระบบสัมปทานจากภาคเอกชนแทนที่จะใช้เงินงบประมาณภาครัฐ เป็นต้น