วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ: เปิดใจ 3 ครอบครัวแอดมินเรารัก พล.อ.ประยุทธ์

สมาคมเพื่อเพื่อน

 
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของสมาคมเพื่อเพื่อน ได้เผยแพร่รายงาน 'เปิดใจ 3 ครอบครัวแอดมินเรารัก พล.อ.ประยุทธ์' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
ผ่านฝันร้ายที่สุดของ 8 ครอบครัวไป 1 สัปดาห์แล้ว ฝันร้ายที่ไม่มีใครเคยนึกถึงมาก่อน ปฏิบัติที่รวดเร็วดุจสายฟ้าฟาดของเช้าวันที่ 27 เม.ย. 2559 ราวกับเหยี่ยวตะคุบเหยื่อยังคงเป็นที่โจษขานจนถึงทุกวันนี้
 
ครอบครัวสายบุตรเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยอาศัยอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพ โดยที่มารดาขายข้าวแกงอยู่ในโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีรายได้วันละหลายพันบาท แม้จะมีรายได้ค่อนข้างดี แต่ในช่วงปิดเทอมกลับไม่มีรายได้ อาชีพนี้จึงดูเหมือนไม่ค่อยมั่นคงสำหรับครอบครัวนี้
 
เมื่อแม่มีอายุมากขึ้น กอปรลูกสาวคนโตมีอาการป่วย แม่และพี่สาวจึงจำต้องย้ายกลับไปอยู่ จ.สุรินทร์ ขณะที่ศุภชัย (ตั๋ม) เลือกที่จะทำงานอยู่ในกรุงเทพ ส่วนพ่อทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยจึงอยู่ด้วยกันกับตั๋ม
 
ตั๋มชอบค้าขาย ในวัยเด็กมักจะขอให้แม่ปิ้งขนมปังในตอนเช้าเพื่อเอาไปขายให้กับเพื่อนที่โรงเรียนเป็นค่าขนม แม้จะได้เงินไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ผู้เป็นแม่รู้สึกภาคภูมิใจที่ลูกชายช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว
 
ก่อนหน้านี้ครอบครัวนี้ยากจนมาก แม่ต้องทำงานเป็นคนงานก่อสร้างซึ่งเป็นงานที่หนักและได้เงินน้อย พ่อเคยเป็นทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนามจึงได้สิทธิเข้าไปขายอาหารในโรงเรียน ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
 
ครอบครัวสายหยุดเปิดเผยอีกว่า ในวันดังกล่าวทหารจำนวน 20 คน ได้บุกมาที่บ้านพักของตั๋มก่อนเวลา 6.00 น. ก่อนจับกุมตั๋มและยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเขา
 
พ่อซึ่งต้องเข้าเวรตอนกลางคืนกลับเข้าบ้านหลังเวลา 6.00 น. จึงไม่ได้พบกับลูกชาย แต่พบทหารคนหนึ่งซึ่งยืนรออยู่หน้าบ้านพวกเขา โดยแจ้งว่า ตั๋มถูกพาตัวไป มทบ.11 พ่อจึงรีบเดินทางไปเยี่ยมตั๋ม แต่ก็ไม่สามารถเยี่ยมได้
 
ครอบครัวมั่งคั่งสง่าเปิดเผยว่า ครอบครัวพวกเขารักความเป็นธรรม พ่อเป็นอดีตทหารอากาศ แต่ด้วยความเถรตรงจึงมักมีเหตุขัดใจกับผู้เป็นนายจนตัดสินใจที่จะเกษียณก่อนกำหนด
 
ในปี 2535 อาจเรียกได้ว่า พ่อเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ จำลอง ศรีเมือง เมื่อคราวเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม ที่บ้านมีภาพถ่ายของจำลองติดอยู่เต็มบ้าน แต่เมื่อจำลองเปลี่ยนไป เขาจึงเลือกที่อยู่ข้างที่ถูกต้อง
 
โยธิน มั่งคั่งสง่า (โย) รักในงานศิลปะ หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีก็เลือกที่จะไปทำงานเป็นช่างบูรณะวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย เป็นเวลานานกว่า 2 ปี
 
หลังกลับมาประเทศไทย เขายังคงทำอาชีพที่เกี่ยวกับงานศิลปะ เช่น ตุ๊กตาแม่เหล็กติดตู้เย็น หินธิเบต ลงสีจตุคามรามเทพ จนสามารถเปิดร้านในศูนย์การค้าเซียร์ แถวรังสิต มีรายได้สูงสุดวันละนับหมื่นบาท
 
หลังปี 2552 ความนิยมในวัตถุมงคลลดลง กอปรเศรษฐกิจไม่ดีทำให้โยจำใจต้องปิดร้าน และหันกลับมาต่อโมเดลกันดั้มขายทางอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ด้วยความที่มีจิตอาสาจึงช่วยงานมูลนิธิกระจกเงาทำหน้าที่โพสท์ประกาศคนหายในอินเตอร์เน็ต
 
ครอบครัวมั่งคั่งสง่าเปิดเผยอีกว่า ในวันดังกล่าวทหารทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ 15 คนมายืนรอที่หน้าบ้านของพวกเขาก่อนเวลา 7.00 น. สุนัข 2 ตัวที่พวกเขาเลี้ยงไว้อยู่ในบ้านเห่าเสียงอยู่นานกว่าปกติจนทุกคนในบ้านต้องตื่นขึ้นมา คนแถวบ้านออกมามุงดูที่บ้านของพวกเขาด้วยความแปลกใจ
 
ทหารถามหาโย และบุกค้นบ้านของพวกเขาก่อนที่จะยึดคอมพิวเตอร์ไป 3 เครื่อง และโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 4 เครื่องซึ่ง 1 ในนั้นเป็นแทบเล็ต Samsung ของพ่อที่เพิ่งซื้อมาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น
 
แม่ซึ่งเป็นอดีตนักโภชนาการของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ชอบการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากจึงรู้สึกเสียดายเป็นอย่างมากที่ถูกยึดคอมพิวเตอร์
 
ไม่เพียงแค่โยที่ได้รับผลกระทบ แฟนสาวของโยซึ่งอยู่ จ.นครปฐม ยังถูกทหาร 8 คนบุกเข้าค้นห้องพักก่อนเวลา 7.00 น. เช่นเดียวกัน แม้เธอจะไม่ถูกจับกุม แต่ก็ถูกยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปหลายเครื่อง สิ่งนี้สร้างความหวาดกลัวให้เธออย่างมากจนต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อน และไม่กล้าที่จะกลับเข้าห้องพักอีก
 
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข่าวปรากฎตามสื่อมวลชนต่างๆหลายแห่งจนทำให้เพื่อนร่วมงานเก่าของแม่หลายคนมาเยี่ยมเธอ และปลอบโยนเธออย่างเห็นใจ เนื่องจากพวกเขาจำหน้าของโยได้ เพราะในอดีตแม่มักพาโยไปที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ
 
แต่สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับครอบครัวมั่งคั่งสง่ามากที่สุดคือ ปัญหาสุขภาพของโย โยมีอาการภูมิแพ้ค่อนข้างรุนแรงซึ่งเป็นกรรมพันธุ์มาจากพ่อของเขา เขาจำเป็นต้องใช้ยา แต่จนถึงปัจจุบันโยก็ยังไม่ได้รับยาแต่อย่างใด
 
ครอบครัวบูรณศิริเปิดเผยว่า แม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันกับ ธนวรรธ บูรณศิริ (ปอน) จึงไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น แต่ปอนโทรศัพท์มาหาเธอหลังจากถูกจับกุม
 
ตอนแรกเธอรู้สึกตกใจ แต่ไม่มาก เพราะคิดว่า คงเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซด์ของเขา แต่ตอนหลังมาทราบข่าวจากสื่อว่า ปอนโดนคดี พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ และ ม.116 จึงรู้สึกตกใจมาก
 
ครอบครัวบูรณศิริเปิดเผยอีกว่า ปอนเคยบวชเณรมาตั้งแต่เด็ก แม้ปอนจะจบการศึกษาไม่สูงนัก แต่ปอนก็สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ และยังส่งเสียให้กับเธอเดือนละหลายพันบาท แม่ทราบเพียงว่า ปอนทำงานอยู่ในมูลนิธิกระจกเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้เอง
 
ปัจจุบันแม่ทำงานเป็นพนักงานบรรจุหีบห่อในโรงงานผลิตอะไหล่รถมอเตอร์ไซด์ แถวบางพลี สมุทรปราการ มีรายได้เพียงวันละ 300 บาท หากวันใดที่แม่ต้องมาเยี่ยมปอนวันนั้นก็ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ไม่มีรายได้ในวันนั้น 
 

เครือข่ายนักวิชาการร้อง UN ชี้รัฐละเมิดสิทธิ์ผู้เห็นต่างกรณีจับแอดมินเพจล้อเลียนผู้นำ คสช.


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยื่นหนังสือถึงข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล คสช. กรณีจับ 8 แอดมินเพจล้อเลียนผู้นำ คสช. 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มาภาพ: เพจเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
 
5 พ.ค. 2559 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองนำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อ.คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อ.คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย เดินทางเข้ายื่นกับตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล 
 
นายอนุสรณ์ กล่าวกับ ข่าวสด ว่าการเข้าพบรักษาการ ระดับภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้หารือแนวทางสิทธิการแสดงออก สิทธิมนุษยชน และประชามติ ในทางที่ชอบธรรม ซึ่งยูเอ็นมีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์กลุ่มชุมนุมต่างๆโดยส่งเจ้าหน้าที่สอบถามทหารและตำรวจระดับปฏิบัติการ แต่คำตอบที่ได้คือเจ้าหน้าที่ทำตามคำสั่งซึ่งอยู่ในสถานการณ์พิเศษทำให้ไทยไม่สามารถดำเนินการตามสัตยาบรรณได้ มี 2 แนวทางหลัก คือ ยกระดับการพูดคุยในประเด็นดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ไทยให้สูงขึ้น และส่งเรื่องไปที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ที่นครเจนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้กดดันเจ้าหน้าที่ไทยอีกหนึ่งช่องทาง พร้อมทั้งหาแนวทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยในระดับนโยบายมาพูดคุยกับนักวิชาการมากขึ้นในลักษณะปิด โดยเน้นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ความคิดเห็น และการลงประชามติ และจะมีการพูดกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะที่ผ่านมานักวิชาการไม่เคยได้มีโอกาสในการพูดคุย มีแต่การเรียกไปปรับทัศนคติ 
 
โดยเพจเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองได้เผยแพร่เนื้อหาจดหมายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังต่อไปนี้
 
วันที่ 5 พฤษภาคม 2559
เรียน เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล คสช. 
เรียน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ
 
ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารหรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยอำนาจที่ไร้ขอบเขตซึ่งละเมิดหลักการทั้งปวงในกระบวนการยุติธรรมจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 และจากคำสั่ง คสช. 3/2558 และ 13/2559
 
ที่ผ่านมามีประชาชนต่างขั้วการเมืองถูกบุกเข้าจับกุมตัวและซ้อมทรมาน ขณะที่ประชาชนทั่วไปอีกจำนวนมาก รวมถึงนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรมทางสังคม และนักการเมือง ต่างก็ถูกข่มขู่คุกคามในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวเข้าค่ายทหารเพื่อเข้าสู่กระบวนการ “ปรับทัศนคติ” การส่งเจ้าหน้าที่ไปจับตาติดตามชีวิตประจำวัน การส่งทหารไปข่มขู่ญาติพี่น้อง การสร้างแรงกดดันผ่านหน่วยงาน/องค์กรที่พวกเขาทำงานอยู่ การยุยงปลุกปั่นของผู้นำรัฐบาลผ่านสื่อของรัฐให้ประชาชนอื่นๆ เกิดความเกลียดชังผู้เห็นต่าง การละเมิดข้อมูลส่วนตัวของบุคคลในระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการแจ้งความดำเนินคดีผู้เห็นต่างด้วยข้อกฎหมายที่รุนแรงต่างๆ
 
การละเมิด การควบคุม และการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทวีความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นในช่วงเวลาของการเตรียมการเพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเช้ามืดวันที่ 27 เมษายน 2559 กองกำลังทหารได้บุกเข้าจับกุมผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กที่ล้อเลียนผู้นำ คสช. และจับกุมผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ รวม 8 ราย ที่จังหวัดขอนแก่นและกรุงเทพฯ โดยได้ตรวจรื้อค้นและยึดทรัพย์สินส่วนตัวโดยไม่มีหมายศาล แล้วนำตัวมากักขังไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นศาลทหารจึงได้ออกหมายจับในความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดฐานสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยิ่งกว่านั้น ผู้ถูกจับกุมสองคนยังได้รับแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกด้วย
 
การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลทหารถือว่าเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ หากการล้อเลียนดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่นด้วยความข้อความอันเป็นเท็จ พลเอกประยุทธ์ก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดฐานหมิ่นประมาทได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีด้วยข้อกฎหมายที่มีบทลงโทษร้ายแรงในฐานะที่เป็น “ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ” นอกจากนั้น วิธีการที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ถูกจับกุมทั้ง 8 คนยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง ถือเป็นลักพาตัวบุคคลไปในสถานที่ที่ไม่ระบุเพื่อบังคับเอาข้อมูลเป็นเวลากว่า 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงค่อยมีหมายศาลทหารแล้วนำฟ้อง อีกทั้งการขอประกันตัวในชั้นศาลทหารก็ถูกปฏิเสธ กระทั่งพวกเขาถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในที่สุด ขณะที่การเพิ่มความผิดตามมาตรา 112 ก็มีข้อสงสัยว่า ได้มาจากการบีบบังคับเอาข้อมูลส่วนตัวจากคอมพิวเตอร์ของผู้ถูกจับกุมก่อนการมีหมายศาลและโดยไม่มีทนายปรึกษา ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายอีกด้วย
 
นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลทหารยังปิดกั้นการแสดงความเห็นที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด ทั้งโดยการออกข้อกำหนดที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและในการรณรงค์เรื่องการลงประชามติ และโดยการข่มขู่คุกคามผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นค้านร่างรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้ไม่อาจมีการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างรอบด้านในพื้นที่สาธารณะ อันจะมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองเห็นว่ากรณีการจับกุมคุมขังประชาชนทั้ง 8 คน เป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดล้างผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาล คสช. อย่างเข้มข้นระลอกใหม่ เป็นการสร้างบรรยากาศของความกดดันและหวาดกลัวให้เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อผนวกกับบริบทเรื่องความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติโดยการจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ เครือข่ายฯ จึงมีความกังวลอย่างยิ่งถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในปัจจุบัน เครือข่ายฯ จึงขอร้องเรียนต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลทหารได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกจับกุมทั้ง 8 คนอย่างไร ตลอดจนขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ แสดงท่าทีไปยังรัฐบาลเผด็จการทหาร เพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าวและในกรณีอื่นๆ โดยเร็ว
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
 
May 5, 2016
Re: Human Rights Violations Against Citizens Dissenting from the NCPO Government 
Attn: The United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights
 
The National Council for Peace and Order (NCPO) and the military government have continually violated human rights against citizens who dissent from them, using the unlimited power under Article 44 of the 2014 interim Constitution of the Kingdom of Thailand and the NCPO Orders 3/2015 and 13/2016.
 
Over time, political dissenters have faced arrest, abduction and torture while a large number of people, including university students, academics, journalists, social activists and politicians have faced constant threats and harassment in various forms for criticizing the military government and the NCPO. Such forms of harassment include summon people to military camps for “attitude adjustment,” monitor people’s daily lives, threaten people’s relatives and family members, and put pressure on agencies or organizations people work for or are affiliated with. Other forms of harassment include the use of state media to incite hatred towards those with differing opinions, intrusion into personal data on computer files and systems, and filing complaints against those expressing differing opinions with harsh laws.
 
Such violation, control and curtailing of rights and freedom of expression have intensified during the time when the country is preparing for the draft constitution referendum. In the early morning of April 27, 2016 soldiers abducted eight Facebook managers and others, allegedly involved with online posts which mock the junta chief, in Khon Kaen and Bangkok. Along with the round-up, the abducted were subjected to searches and had personal belongings confiscated without a warrant before being taken into custody at the 11th Military Circle. The Military Court in the following day then issued an arrest warrant on charges of using false information and breaching the Computer Crime Act as well as being guilty of sedition under Article 116. Moreover, two of them have been further charged with royal defamation as stipulated by Article 112.
 
Such actions of the military government are excessive. If the mockery is an insult using false information, General Prayut could take legal action for defamation without having to resort to harsh punishments for “violations of state security.” Moreover, the means in which state authorities have treated the accused are violations of human rights since they involve abductions of persons and taking them into custody at undisclosed locations to extract information for more than 24 hours before martial court’s warrants were issued and the legal proceedings against them instituted. The accused have also been denied bail and then were sent for detention at the Bangkok Remand Prison. Two of them have been charged with lese majeste. But the use of their personal information from computers against them before a court warrant was issued and without an assigned lawyer goes against legal procedures.
 
In addition, the military government hinders the citizens’ rights to criticize the draft constitution by issuing rules and regulations which limit freedom of expression over the draft constitution and the referendum and by threatening those who openly voice out their opposition to the draft constitution. The well-rounded, public debates on the draft constitution then cannot occur, and this will yield negative effects on the draft constitution referendum to be held in this coming August.
 
Thai Academic Network for Civil Rights (TANC) views the arrest and incarceration of these eight citizens as the beginning of a new round of intensive wipe out of those dissenting from the military government and the NCPO. Such actions created an unprecedented horrific atmosphere. When combined with the military government and the NCPO’s attempts to get the draft constitution pass the referendum by curtailing citizen’s rights to express differing opinions on the draft constitution, they brought a grave concern to the TANC because Thai citizens’ civil and political rights are under jeopardy. The TANC then file this petition to the United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights in hope that it would investigate the aforementioned cases and make the world know how shamelessly the military government and the NCPO have violated basic human rights of these eight citizens and other dissidents. We strongly urge the United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights to take a firm stance against the military government and the NCPO to help put an immediate end to the atrocious violations of human rights in Thailand.
 
We write this with the sincere appeal for the Commissioner’s full consideration,
Thai Academic Network for Civil Rights (TANC)

เฟซบุ๊กตอบรับคำขอรัฐบาล แบนเพจ 'กูkult' ในไทย อ้างข้อจำกัดทางกฎหมาย


สมศักดิ์ ชี้ต่างประเทศยังเข้าได้ คาดด้วยมาตรการนี้อีกหน่อยเพจอื่นก็โดนด้วย ตั้งข้อสังเกตเกิดไล่เลี่ยกับข่าวเข้าถึงหลังไมค์แอดมินล้อประยุทธ์ เฟซบุ๊กเผยครึ่งหลังปี 58 รัฐไทยขอข้อมูล 3 แอคเคาท์ แต่เฟซบุ๊กไม่ให้
5 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กูkult' ซึ่งมีผู้กดไลค์หลายหมื่น และมักมีการโพสต์ภาพเชิงล้อเลียนเสียดสีสังคมและการเมือง รวมทั้งสถาบันกษัติริย์ ไม่สามารถเข้าถึงได้เนื้อหาได้แล้ว โดยเฟซบุ๊กแจ้งว่า "ไม่มีเนื้อหาอยู่ใน ไทย คุณไม่สามารถดูเนื้อหานี้ได้เนื่องจากกฎหมายในท้องถิ่นจำกัดความสามารถของเราในการแสดงเนื้อหานั้น หากคุณต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ศูนย์ช่วยเหลือ"
ทั้งนี้เมื่อเฟซบุ๊กอธิบายถึง ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ใช้กับการเข้าถึงเนื้อหา ด้วยว่า ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ใช้กับการเข้าถึงเนื้อหาหมายถึงการที่ Facebook ไม่เปิดให้เข้าถึงเนื้อหาตามคำสั่งของรัฐบาล ในบางครั้ง รัฐบาลอาจสั่งให้ Facebook ลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายท้องถิ่นออก เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะประเมินความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ออกคำสั่ง นโยบายของเรา และกฎหมายท้องถิ่น ในบางกรณี เราจะไม่เปิดให้เข้าถึงเนื้อหาในประเทศหรือเขตแดนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรณีที่เราลบเนื้อหาที่ระบุชัดแจ้งว่าผิดกฎหมายซึ่งอาจมีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลแจ้งให้เราทราบ เช่น กลุ่มองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรหรือองค์กรการกุศล เช่น การปฏิเสธการมีอยู่ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศเยอรมนี และหากทางเราได้รับรายงานดังกล่าว เราจะจำกัดเนื้อหานั้นกับประชาชนในประเทศเยอรมนี
เฟซบุ๊กยังเผยแพร่ รายงานคำขอของรัฐบาลทั่วโลก เพื่อดูข้อมูลที่ Facebook จำกัดการเข้าถึงตามกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งสามารถดูได้ตามลิงค์ (https://govtrequests.facebook.com/)

สมศักดิ์ ชี้ต่างประเทศยังเข้าได้ คาดอีกหน่อยเพจอื่นก็โดนได้

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อการสื่อสารและนำเสนอความคิดอยู่เป็นประจำ ซึ่งขณะนี้เขาลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศยังสามารถเข้าถึงเพจดังกล่าวได้ 
"ถ้าเฟซบุ๊คเป็นคนบล็อกจริง ก็แสดงว่าเฟซบุ๊คยอมร่วมมือกับทางการไทยในการบล็อกเพจ คือไม่ได้ลบเพจ เพราะเพจยังอยู่ ผมดูได้ (แค็พมาให้ดูตัวเป็นตัวอย่างว่ามีข้อความอะไรบ้าง) อย่างนี้อีกหน่อย ก็บล็อกเพจอื่นๆ (เช่นเพจผม) ด้วยข้ออ้างเดียวกันได้สิ อย่างที่บอกว่า โดยส่วนตัว ผมเองยังไม่ถึงกับชัวร์เต็มที่ว่าใครบล็อก ยังไงก็ช่วยเช็คกันดูนะครับ" สมศักดิ์ โพสต์

เกิดไล่เลี่ยกับข่าวเข้าถึงหลังไมค์แอดมินล้อประยุทธ์

Blognone และ Khaosod English รายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตุด้วยว่าเกตุด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการที่ตำรวจ สามารถเข้าถึงบทสนทนาใน Messenger ของแอดมินเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ที่โดนตั้งข้อกล่าวหากระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่าเฟซบุ๊กได้ยื่นมือเข้ามาช่วยมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการปิดกั้นเพจอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กบล็อคคอนเทนต์ที่กระทบความมั่นคงตามคำขอของรัฐบาลไทย

เฟซบุ๊กเผยครึ่งหลังปี 58 รัฐไทยขอข้อมูล 3 แอคเคาท์ แต่เฟซบุ๊กไม่ให้

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดเผยรายงานความโปร่งใส ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 (ก.ค.-ธ.ค.) ระบุว่า รัฐไทยข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยจากเฟซบุ๊กเป็นจำนวน 3 ครั้ง 3 แอคเคาท์ โดยเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวแม้แต่รายเดียว (0%) ทั้งนี้ เฟซบุ๊กระบุว่าจะตอบสนองต่อคำขอเกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่มีผลตามกฎหมาย โดยจะมีการตรวจสอบความเพียงพอทางกฎหมายของแต่ละคำขอ และจะปฏิเสธหรือขอให้มีข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงต่อคำขอที่กว้างหรือคลุมเครือเกินไป

ใช้ ม.44 ตั้งกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศหากมีการยุบสภา



ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 สั่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศ กรณีมีการยุบสภา พร้อมให้มหาดไทยคุมทั้งหมด
 
 
 
 
5 พ.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้ 
 
1. ในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ให้ดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้ให้ข้อกําหนดในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่ให้การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น เป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เป็นอันสิ้นผล และให้ดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้แทน 
 
2. ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น คณะกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นรองประธาน อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่งตั้งสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการสรรหาโดยอนุโลม 
 
3. เมื่อมีการยุบสภาท้องถิ่นในเขตจังหวัดใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดนั้นเสนอ รายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2 และข้อ 4 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เป็นจํานวนสามเท่าของสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะสรรหา เสนอต่อคณะกรรมการสรรหา ภายในสิบห้าวัน 
 
4.เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รับรายชื่อบุคคลตามข้อ 3 แล้ว ให้คัดเลือกบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นตามจํานวนที่กําหนด ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ประธานคณะกรรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ภายในสามวัน นับแต่วันที่คัดเลือกเสร็จ

กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ยืนยันขายเสื้อโหวตโนไม่ใช่การปลุกปั่น


ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ชี้ กกต. ไม่ควรตีความกฎหมายถึงขั้นขายเสื้อมีความผิด ข้อความโหวตโนไม่ใช่การปลุกปั่น คนซื้อไม่ได้ถูกจูงใจ ยันไม่กังวล
 
5 พ.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารพรรคการเมือง ออกมาระบุว่ามีเพจของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จำหน่ายเสื้อในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองให้เกิดการออกเสียงประชามติเป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ปัญหาคือไม่ควรตีความถึงขั้นว่าการขายเสื้อเป็นความผิด เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็เขียนอธิบายไว้อยู่แล้ว การใช้คำบนเสื้อที่เขียนว่า “โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” โดยถ้อยคำแล้วไม่ใช่การปลุกปั่นแน่ๆ ไม่ใช่ว่าคนเห็นข้อความนี้แล้วต้องไปออกเสียงโหวตโนทันที มันตลก ถ้าตีความอย่างนั้นจะมีปัญหาว่าทำอะไรก็ยุยงปลุกปั่นทั้งหมด จะเป็นการดูที่ตัวคนทำไม่ได้ดูที่เนื้อหาจริงๆ อีกทั้งคนที่ตัดสินใจซื้อเสื้อนั้นก็เป็นคนที่คิดอย่างเดียวกัน จึงไม่ได้เป็นการจูงใจ และยืนยันว่าไม่กังวลกับเรื่องดังกล่าว เพราะเราทำไปตามหลักการ ไม่มีประชามติที่ไหนพยายามจะไม่ให้รณรงค์เลย ทุกวันนี้แค่พูดคำว่าโหวตโนยังมีความไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ จึงดูไม่ใช่ประชามติ เราพร้อมยอมรับสถานการณ์อยู่แล้ว ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็คาดไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอแบบนี้