วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

ตร.ยึดขันแดง “กูรักคนที่มรึงเกลียดฯ” จากปชช.ที่มาให้กำลังใจ ‘ยิ่งลักษณ์’ หน้าศาล


ผู้ต้องหาคดีขันแดง 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์' เผย ตร.ให้ไปหาขัน-รูปภาพที่ถือมาประกอบคดีเอง โอดไม่ทราบว่าจะไปหาที่ไหนเหตุนำขัน-ภาพไปทิ้งแล้ว ขณะที่ ตร.ยึดขันแดง ข้อความ “กูรักคนที่มรึงเกลียดกูเกลียดคนที่มรึงรัก” จากปชช.ที่มาให้กำลังใจ ‘ยิ่งลักษณ์’ หน้าศาล วันนี้
1 เม.ย.2559 จากกรณีนางจีรวรรณ เจริญสุข อายุ 54 ปี ชาว จ.เชียงใหม่ ถูกนำภาพถือขันสีแดงระบุข้อความอวยพรสงกรานต์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนมีการนำมาเสนอข่าวสงกรานต์ม่วนใจ๋ เล่นน้ำอย่างประหยัด ต่อมาตำรวจ สภ.แม่ปิง อ.เมืองเชียงใหม่ เชิญตัวนางจีรวรรณมาสอบสวนพร้อมแจ้งข้อหาผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พร้อมนำตัวส่งศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เพื่อพิจารณาคดี นางจีรวรรณให้การปฏิเสธ ญาติยื่นประกันตัวใช้หลักทรัพย์เงินสด 1 แสนบาท ขณะเดียวกัน ตำรวจและทหารเชิญผู้สื่อข่าวไทยรัฐที่นำเสนอข่าวไปสอบสวนพร้อมทำประวัติ
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานความคืบหน้าด้วยว่าเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา นางจีรวรรณ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เพียงสั้นๆ ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงประกันตัวไม่อยากให้สัมภาษณ์ หรือพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ตำรวจให้ไปหาขันแดงและรูปภาพที่ถือมาประกอบคดี ตนไม่ทราบว่าจะไปหาที่ไหน เนื่องจากหลังเกิดเรื่องมีการนำขันและภาพไปทิ้ง ตนอยากให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี
นายชัยพินธ์ ขัติยะ หัวหน้าศูนย์ข่าวไทยรัฐ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และประธานกลุ่มร่มฟ้าไทยรัฐ ภาคเหนือ เปิดเผยว่า หลังจากที่นำเสนอข่าวขันแดง ตำรวจและทหารเชิญตัวไปสอบสวน ที่มณฑลทหารบก 33 ค่ายกาวิละ อ.เมืองเชียงใหม่ ในฐานะพยาน ตนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข่าวที่รายงานเป็นเพียงข่าวเกี่ยวกับการเล่นน้ำอย่างประหยัดในเทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่ ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นคนถ่ายภาพ และเนื้อหาไม่ได้เป็นการชักจูงในเรื่องการเมือง ทางตำรวจและทหารเข้าใจ
นายชัยพินธ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ มีสำนักข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศติดต่อขอสัมภาษณ์กรณีที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ตนยืนยันว่าบริสุทธิ์ใจไม่กลัวสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เสียความรู้สึกในช่วงที่ลงจากรถเห็นทหารจำนวนมากมารอ ไม่นึกว่าจะเป็นเรื่องราวที่ใหญ่โต และมีการถ่ายรูปทำประวัติ แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีด้วยเหตุและผล อย่างไรก็ตาม ตนจะทำหน้าที่รายงานข่าวตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงต่อไป
ตร.ยึดขันแดง จากปชช.ที่มาให้กำลังใจ ‘ยิ่งลักษณ์’ หน้าศาล วันนี้
ขณะที่วันนี้ (1 เม.ย.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า บรรยากาศภายหลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นศาลเพื่อสอบพยานข้าว (ฝ่ายโจทก์) นัดที่ 7 ก่อนกลับได้มีประชาชนเตรียมดอกมะลิและน้ำอบไทยมาขอรดน้ำดำหัว น.ส.ยิ่งลักษณ์
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบศาลฯ ได้เข้ายึดขันน้ำสีแดง ระบุข้อความ “กูรักคนที่มรึงเกลียดกูเกลียดคนที่มรึงรัก” “รักนายกปู” ฯลฯ ซึ่งเขียนด้วยปากกาลบคำผิด จากกลุ่มประชาชนที่มาให้กำลังใจ

22 องค์กรสิ่งแวดล้อม จี้คสช.หยุดละเมิดสิทธิฯ ยกเลิกคำสั่งไฟเขียวทหารปราบมาเฟียทันที


นักกฎหมาย นักวิชาการ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ จี้คสช. ยกเลิกคำสั่งไฟเขียวทหารปราบมาเฟีย-ผู้มีอิทธิพล ระบุเป็นคำสั่งที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวาง พร้อมยกกรณีชาวประมงระยองและแกนนำค้านโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากที่ถูกเรียกเข้าค่ายเป็นตัวอย่าง 
1 เม.ย. 2559  นักกฎหมาย นักวิชาการ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 22 องค์กรร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์ หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 โดยระบุว่า ตามที่คสช. ได้มีคำสั่งที่ 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับเป็นเป็นคำสั่งที่รุนแรงนำไปสู่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและ ชุมชน ร้ายแรงยิ่งกว่าคำสั่งที่ผ่านมา
ผู้ลงนามในแถลงการณ์ข้างท้ายนี้ ซึ่งเป็นนักกฎหมายและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชน ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตีความได้ว่า แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาและทำงานเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม และชุมชน ทั้งการคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาล เป็นการบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ และในที่สุดชาวบ้านเหล่านี้อาจถูกมองว่า มีกระทำการอันอยู่ในข่ายของคำสั่งนี้ คือ เป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวไปโดยปราศจากหมายศาล และควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาถึง 7 วัน
 
ผู้ลงนามในแถงการณ์ข้างท้ายนี้ พบว่า ในวันเดียวกันกับที่มีคำสั่งออกมา ก็เกิดเหตุการณ์ที่ นายละม่อม บุญยงค์ ซึ่งเป็นชาวประมง ในจังหวัดระยอง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปฐานเป็นผู้มีอิทธิพล สาเหตุเนื่องจากนายอำเภอได้รับข่าวจะมีการนำชาวบ้านในพื้นที่ไปปิดล้อมที่ ว่าการอำเภอ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในวันต่อมาก็มีข่าวว่า นายทวีศักดิ์  อินกว่าง แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะเชียงราก ถูกทหารเรียกตัวให้ไปพบ โดยอ้างว่า นายทวีศักดิ์ อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล
 
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ คำสั่งที่ 13/2559 ระบุถึงบัญชีความผิดท้ายคำสั่ง โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งหากมีประชาชนเดินทางไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อร้องเรียน หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการของรัฐ อาจถูกตีความว่า เป็นการชุมนุมที่ขัดต่อความสงบสุขอาจถูกใช้คำสั่งนี้มาดำเนินการควบคุมตัว ได้ หรือบัญชีความผิดท้ายคำสั่ง ในความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียง หากประชาชนร้องเรียนว่าโครงการใดๆก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ก็อาจจะถูกนำเอาคำสั่งนี้มาบังคับใช้ได้เช่นเดียวกัน
 
คำสั่งเหล่านี้ อาจทำให้ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์โครงการพัฒนาของรัฐ หรือแม้แต่โครงการที่ดำเนินการโดยเอกชนได้อีกต่อไป และอาจจะถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่ต้องการปราบปรามผู้มี อิทธิพล อันจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตแห่งตน และการแสดงออกการแสดงความคิดเห็น อีกทั้ง การใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ไม่อาจตรวจสอบ ได้ จะก่อให้เกิดการควบคุมตัว การตรวจค้น และการดำเนินการลงโทษใดๆ ตามอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ  อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในชีวิตร่างกายและเสรีภาพอย่างยิ่ง
 
รัฐบาลและคสช.ต้องแยกให้ออก ระหว่าง ผู้มีอิทธิพล/มาเฟียที่ใช้อำนาจและระบบอุปถัมภ์กดขี่ข่มเหงประชาชน กับ ประชาชนที่ใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะในการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนเหล่านี้ ในทางสากลได้มีการยอมรับว่า เป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน  ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล/มาเฟียแต่อย่างใด   รัฐบาลและคสช.ไม่อาจอ้างความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเรียกร้องบุคคลเหล่านี้ให้เสียสละ เพราะเป็นที่รับรู้กันในทางสากลว่า นี่คือการละเมิดสิทธิประชาชน การกล่าวว่า "ไม่ได้ละเมิดสิทธิ" แสดงถึงความไม่รู้ และไม่ยอมรับตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเห็นว่า รัฐบาลและคสช.กำลังใช้หลัก “อำนาจเป็นธรรมมากกว่าธรรมเป็นอำนาจ” ที่รังแต่จะขยายความขัดแย้งในสังคมไทยให้มากขึ้น
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า  คำสั่งนี้จะไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อสังคม กลับจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นอันจะเป็นผลร้ายอย่างยิ่งสังคมไทย  จึงเสนอให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 13/2559 ในทันที เช่นเดียวกับคำสั่งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงออกเพื่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิแห่งตน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อย่างสันติได้อีกต่อไป
 
โดยผู้ลงนามในแถลงการณ์ข้างท้ายมีทั้งเป็นองค์กรและบุคคลประกอบด้วย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resource Centre Foundation (CRC) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล มูลนิธิบูรณะนิเวศ ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice) โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคแม่น้ำโขง สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง สถาบันอ้อผะหญา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กลุ่มดินสอสี ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิยา จ.ตรัง เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง-ล้านนา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ
 
รวมทั้ง สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมาย ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ทนายความ ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ภาคตะวันออก ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ประยงค์ ดอกลำไย คำปิ่น อักษร และศุภวรรณ ชนะสงคราม

'ศูนย์ทนายสิทธิ-ผสานวัฒนธรรม' จี้คสช.เลิกคำสั่งไฟเขียวทหารปราบมาเฟีย ชี้ขัดหลักนิติรัฐ


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จี้คสช. ยกเลิกคำสั่งไฟเขียวทหารปราบผู้มีอิทธิพล ชี้ขัดหลักนิติรัฐ-คำมั่นสัญญากับประชาคมโลก เปิดช่องทหารนำคนขังในค่าย หวั่นผู้ถูกคุมตัวถูกปฏิเสธสิทธิต่างๆ กังวลนำไปใช้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย แถมศาลตรวจสอบความชอบด้วย ก.ม.ในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ยากขึ้น

1 เม.ย.2559 จากกรณีที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจในการจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด กระทำการใด ๆ ตามคำสั่ง คสช. หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขให้กับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวไว้ รวมถึงกำหนดอำนาจหน้าที่อื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ทหาร นั้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ชี้คำสั่งไม่ชัดเจน ไม่บังคับส่วมเครื่องแบบ-แสดงตน เปิดช่องทหารนำคนขังในค่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ความเห็นต่อคำสั่งดังกล่าว โดยได้ตั้งข้อสังเกตข้อกังวล 5 ข้อ ข้อ 1 คำสั่งไม่มีความชัดเจนในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม โดยไม่บังคับให้สวมเครื่องแบบ และแสดงตนว่ามีอำนาจก่อนจะปฏิบัติการตามคำสั่งฉบับนี้ และยังคงเปิดช่องให้ทหารนำตัวบุคคลไปคุมขังไว้ใน “ค่ายทหาร” คล้ายกับการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งสาธารณชนเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ ทำให้บุคคลผู้ถูกควบคุมตัวอาจจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย
ให้อำนาจทหารคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน หวั่นถูกปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับสิทธิต่างๆ
ข้อ 2 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ มองว่าคำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แยกจากการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งทำให้มีความกังวลว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิที่จะแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจทราบถึงการควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัว หรือ สิทธิที่จะพบหรือปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว หรือ สิทธิที่จะติดต่อญาติได้ตามสมควร เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารมักอ้างว่าเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ไม่ใช่การควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ถูกควบคุมตัวจึงยังไม่มีสิทธิต่าง ๆตามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอ้างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ผ่านมา
กังวลถูกนำไปใช้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ คสช. 
ขณะที่ข้อกังวลที่ 3. ของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า เดิมคำสั่งคณะหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการควบคุมตัวบุคคลไว้ไม่เกิน 7 วัน เพียงแค่ 4 ฐานความผิดเท่านั้น แต่กลับมีการอ้างคำสั่งฉบับดังกล่าวเพื่อควบคุมตัวบุคคลที่ไม่ได้มีพฤติการณ์กระทำความผิดตามที่คำสั่งได้ให้อำนาจไว้ เมื่อมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ครอบคลุมความผิด 27 ประเภท นับเป็นการขยายฐานความผิดในการควบคุมตัวเพิ่มขึ้นจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อันเป็นการขยายฐานความผิดอย่างกว้างขวางและรวมเอาความผิดที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลเข้ามาด้วย เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ทำให้เกิดความกังวลว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามอาจใช้คำสั่งฉบับนี้ เพื่อเข้าไปจัดการและควบคุมตัวบุคคลไว้ในค่ายทหารในวงกว้าง
 
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความฯ มีข้อกังวลว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 จะถูกนำไปใช้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ คสช. อาทิ กลุ่มชาวบ้านที่พิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินกับหน่วยงานของรัฐ อย่างที่ คสช. เคยพยายามใช้มาตราการทางกฎหมายเข้าไปไล่รื้อจัดการก่อนหน้านี้
 
ระบุเปิดช่องการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตจำนง
 
ข้อ 4. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ขยายอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจครอบคลุมความผิดถึง 27 ประเภทตามบัญชีท้ายคำสั่ง  ซึ่งมีความกังวลว่า เจ้าหน้าที่ทหารอาจจะขาดความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายแต่ละฉบับที่มีรายละเอียดจำนวนมาก โดยเฉพาะพระราชบัญญัติต่าง ๆ การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ได้สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมาย รวมถึงให้อำนาจทหารกองประจำการ หรืออาสาสมัครทหารพราน มาเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจเกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตจำนงของกฎหมาย รวมถึงอาจจะนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ทหารโดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ได้
 
ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ได้ยากขึ้น
 
และ ข้อ 5  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ถูกประกาศใช้ออกมาโดยอาศัยฐานอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ทำให้ศาลเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ได้ยากขึ้น เพราะมาตรา 44 กำหนดให้การปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้เป็นที่สุด
ข้อเสนอต่อสาธารณชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคล ตามคำสั่งนี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 นี้ ไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ในลักษณะเด็ดขาด แต่ยังคงกำหนดหลักเกณฑ์ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น หากเห็นว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามควบคุมตัวบุคคลใด อันเป็นการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ถูกคุมขังเอง มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลยุติธรรมทำการไต่สวนและขอให้ปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกคุมขังนั้นไปได้ ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ข้อ 9 (4)
แนะยกเลิกคำสั่ง-ยุติการใช้ ม.44
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 กำเนิดขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ยึดโยงต่อเจตจำนงของประชาชน และดำรงอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเนื้อหาที่ริดรอนสิทธิ เสรีภาพ ทั้งยังปิดกั้นไม่ให้ศาลและสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอยืนยันให้ คสช. ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ในทันที และ 2. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลงค้าน ชี้คำสั่งขัดหลักนิติรัฐและคำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเรื่องสิทธิมนุษยชน
ขณะที่วันนี้ (1 เม.ย.59) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า เนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีองค์กรด้านกระบวนการยุติธรรมและองค์กรตุลาการใดใดร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจในแต่ละขั้นตอนได้ โดยอ้างว่าเพื่อให้อำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาหลายประเภท  โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าคำสั่งดังกล่าว ขัดและแย้งต่อหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม หลักการสากลด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  อีกทั้งมีความเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ โดยมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
 
1.       นิยามของคำว่า บุคคลที่มีพฤติการณ์การกระทำความผิดอาญาตามคำสั่งฯเป็นความหมายที่กว้างและขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการตีความตามอำเภอใจของเจ้าพนักงานฯที่ทำหน้าที่ตามผลของคำสั่งดังกล่าว การควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งนี้อาจเป็นการควบคุมตัวตามอำเภอใจซึ่งหมายถึงการกระทำที่เป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ/หรือ โดยไม่อาจคาดคะเนได้หรือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แม้ว่าจะเป็นการอ้างคำสั่งนี้ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติดุลพินิจของเจ้าพนักงานฯ ก็อาจปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือไม่มีเหตุอันควร หรือไม่จำเป็นในพฤติการณ์ของคดี โดยไม่มีหน่วยงานใดใดตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อสิทธิเสรีภาพ  สิทธิในชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน (กรณีการสั่งยึดทรัพย์) ต่อประชาชน สิทธิในการแสดงทางความคิดเห็น สิทธิในการชุมชมโดยสันติ เป็นต้น
 
2.       อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามในการจับกุมตัวบุคคล  เพื่อสอบถามเป็นเวลา 7 วัน โดยควบคุมตัวไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยอาจมีการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวในสถานที่ลับ ไม่เปิดเผย ไม่สามารถติดต่อกับญาติ หรือทนายความได้ ซึ่งเป็นการควบคุมตัวที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  หลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม  และอาจทำให้ผู้ถูกจับ ผู้ถูกควบคุมตัว ตามคำสั่งนี้ต้องขาดหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อาทิเช่น สิทธิในการได้รับการเยี่ยมญาติ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิในการพบแพทย์ เป็นต้น โดยอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการทรมานหรือการบังคับหายสาบสูญได้
 
3.       ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) และได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance -ICCPED)โดยหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับนี้คือการให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกต่อการเคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนว่า ประเทศไทยจะพยายามดำเนินการเพื่อให้หลักการห้ามทรมานหรือการบังคับให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรืออาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยเด็ดขาด  การขาดซึ่งความโปร่งใส่และตรวจสอบได้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามคำสั่งนี้ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงและความหวาดกลัวว่าจะถูกละเมิดสิทธิตามอนุสัญญาดังกล่าว
 
 
"ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความปลอดภัย พิจารณาทบทวนคำสั่งนี้  เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานและจำเป็นของการนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย" มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุข้อเรียกร้องในท้ายแถลงการณ์

อนาคตจบไม่สวย เมื่อการต่อสู้สันติในสภาถูกปิดตาย


อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองผู้ศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ชำแหละระบบเลือกตั้งแบบมีชัยบัตรใบเดียวสร้างรัฐบาลอ่อนแอ เอื้อพรรคขนาดกลาง ปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน เชื่อเป็นแค่ปาหี่เลือกตั้ง หวั่นจบไม่สวยเพราะปิดทางแก้ไขกติกา
“ครั้งที่แล้วบอกว่ารับไปก่อน มาแก้ทีหลัง แต่ครั้งนี้แก้ไม่ได้
เพราะกลไกการแก้เกือบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วมีบทเฉพาะกาลแบบนี้ก็ถึงทางตัน จะอยู่ได้ครบห้าปีเหรอ
ถ้าคุณเชื่อว่าเราเดินกันมาถึงปี 2559 แต่คุณย้อนกลับไปเป็นปี 2521
มันขัดกับรากฐานสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว”

“ผมเดาว่าจบไม่สวย เพราะจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี
ถ้าพลังจากการเลือกตั้งไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้จะเกิดอะไรขึ้น
ก็เหมือนกับต้มน้ำ ปิดฝา แล้วเอาหินทับไปอีกก้อน
หินก็คือการไม่เปิดโอกาสให้แก้รัฐธรรมนูญ
แล้วมันจะออกยังไง ... แต่ละฝ่ายก็จะสู้ด้วยวิถีทางที่เขาคิดว่าจะสู้ได้”

“เป็นการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลรักษาการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน
เปลี่ยนผ่านอะไร คือภาระหลักอย่างเดียวของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญ
ตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่เปิดที่ทางให้คนทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วม
เป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งเขาไม่มีวันยอมหรอก
แต่ในทางการเมือง ผมคิดว่าข้อเสนอนี้ง่ายที่สุด ง่ายกว่าจะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้”
ภาพจากแฟ้มภาพ ประชาไท
รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรมัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ระบบเลือกตั้งแบบ ‘มีชัย’ เทียบเคียงกติกาเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2521 และปี 2540 ฉายภาพหลังเลือกตั้ง บนฐานกติกาเช่นนี้ เราจะมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ อำนาจต่อรองกลับไปอยู่ในมือพรรคขนาดกลาง เพราะนอกจากการมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคอยกำกับตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว อภิชาติยังเห็นว่าระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาจะทำให้กติกาการเข้าสู่อำนาจของไทยย้อนกลับไปก่อนปี 2540
“ความอ่อนแอของรัฐไทยในทัศนะผม เป็นตัวที่ทำให้เราไปไหนไม่ได้จนถึงทุกวันนี้หรือเราควรไปได้ดีกว่านี้ แต่เราก็ไปไม่ได้ เพราะมันถูกกำหนดโดยกติกาทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญเป็นตัวสำคัญ”
อภิชาตพาเราถอยกลับไปวิเคราะห์การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมมากที่สุดฉบับหนึ่งและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศนการเมืองไทยมหาศาล เขาเล่าว่า ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้นมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และมีคำขวัญว่า “ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ สร้างภาวะผู้นำ” ถือเป็นแนวทางการร่างที่ “เห็นร่วมกัน” ว่าต้องการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะได้ทักษิณเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ปี 2475 พร้อมกับพยายามออกแบบและสร้างองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อคานอำนาจฝ่ายบริหาร
“อาจพูดได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างก็น้อยประสบความสำเร็จครึ่งหนึ่งคือครึ่งที่สร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ฝ่ายตรวจสอบมีข้ออ่อนในทางปฏิบัติที่ถูกทักษิณไปถอดรื้อบางส่วนออก”

ก่อน 40 ต้องการประชาธิปไตยครึ่งใบ กติกาไม่เอื้อให้สร้างพรรคใหญ่

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำให้ก่อนปี 2540 ประเทศไทยมีรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่ไม่เข้มแข็งตลอดมา เป็นเพราะกติกาการเมืองโดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองหรือระบบพรรคการเมืองไม่ได้ถูกเปลี่ยนอย่างสำคัญ ดังนั้น ก่อนปี 2540 การเลือกตั้งทุกครั้งพรรคการเมืองจึงไม่เคยชนะกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่เคยมีพรรคไหนได้จำนวน ส.ส.เกินร้อยละ 30 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตั้งรัฐบาลผสมจากหลายพรรค
“รัฐธรรมนูญปี 2521 คือประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นการเอาอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคานกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่แปลกที่ออกแบบให้มีรัฐบาลผสม ทำให้ไม่มีระบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่เป็นพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางและมีระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอ”
อภิชาติอธิบายว่า กติกาการเลือกตั้งที่ออกแบบก่อนปี 2540 ทำให้นักการเมืองไม่มีแรงจูงใจจะสร้างพรรคขนาดใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญเอื้อให้พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กอยู่รอดได้ง่าย เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค อำนาจต่อรองของพรรคขนาดกลางจึงสูง เมื่อคิดแบบเศรษฐศาสตร์จึงมีความคุ้มค่าที่จะสร้างพรรคขนาดกลาง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างพรรคขนาดใหญ่ เพราะส่วนต่างอำนาจระหว่างพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดใหญ่มีไม่มาก ใครจะลงทุนสูงตั้งพรรคใหญ่เมื่อเทียบแล้วอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ประเด็นที่ 2 คือความแตกต่างทางอำนาจระหว่าง นายกรัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ไม่ต่างกันมาก พรรคขนาดกลางแค่ยึดเฉพาะกระทรวงเกรดเอก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากกระทรวงเกรดเอเพียงเล็กน้อย
ประเด็นสุดท้ายคือเส้นทางขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนปี 2540 มีความไม่แน่นอน ต่อให้ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ก็ไม่ได้แปลว่าหัวหน้าพรรคนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี  เพราะการที่ไม่มีพรรคไหนชนะเด็ดขาดทำให้ต่างฝ่ายต่างแย่งชิงคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งจะเกิดการต่อรองจนไม่แน่ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส. ใกล้เคียงกันก็อาจหาวิธีสกัดกั้น เช่นที่เคยเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งปี 2526 ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสกัดกั้น พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย

รธน.40 แก้ไขความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ผลลัพธ์เป็น ‘ทักษิณ’ จึงสวิงกลับ

“เข้าใจว่าคนร่างเห็นประเด็นนี้ชัดเจน รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงออกแบบให้อำนาจของพรรคขนาดใหญ่กับขนาดกลางมีความต่างกันมากขึ้น ทำให้คุ้มที่จะสร้างพรรคขนาดใหญ่เพื่อเป็นนายกฯ เพิ่มอำนาจต่อรองให้นายกฯ สร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง และทำให้พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่รอดได้ยากขึ้นด้วยระบบการเลือกตั้งแบบในรัฐธรรมนูญปี 2540”
ทั้งยังมีมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น กฎที่ผู้ลงสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรค 90 วัน โดยถ้ายุบสภา รัฐบาลจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน กฎนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการย้ายมุ้งหรือย้ายฟากของพรรคร่วมรัฐบาลไปเข้ากับพรรคฝ่ายค้าน แล้วทำให้รัฐบาลล้ม
“คุณเสนาะ เทียนทอง จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างนายกฯ ได้ถึง 3 คน เพราะเป็นมุ้งที่ค่อนข้างใหญ่ เมื่อคุณเสนาะทะเลาะกับคุณทักษิณ คุณเสนาะจึงขึ้นเวทีอภิปรายของพันธมิตรฯ และพูดว่าอยู่ในรัฐบาลของคุณทักษิณเหมือนติดคุก ออกไม่ได้ ก็เพราะกฎนี้เพราะถ้าคุณทักษิณรู้ว่าคุณเสนาะจะลาออกจากพรรคไปร่วมกับประชาธิปัตย์ คุณทักษิณก็จะแก้เกมด้วยการไล่ออกจากสมาชิกภาพของพรรค แล้วยุบสภาแล้วจัดการเลืกตั้งภายใน 60 วัน นั่นจะทำให้คุณเสนาะไปเข้ากับประชาธิปัตย์ไม่ได้ ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ทำให้พรรคใหญ่ควบคุมลูกพรรคได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น เพิ่มอำนาจให้กับหัวหน้าพรรค”
นั่นเป็นเหตุให้การเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 นำระบบเลือกตั้งแบบพวงใหญ่กลับมา ดังที่น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเคยกล่าวว่า “เป็นรัฐธรรมนูญฉบับป้องกันคนอย่างทักษิณ” แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากพรรคพลังประชาชนในเวลานั้นสร้างคะแนนนิยมไปแล้ว จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญในยุคอภิสิทธิ์ให้กลับไปเลือกแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
“ประเด็นที่สองของรัฐธรรมนูญปี 2550 คือลดอำนาจที่เข้าข้างพรรคใหญ่ลง เช่น ยกเลิกกฎ 90 วัน อีกกติกาหนึ่งที่ถูกตัดคือ เกณฑ์การตัดสิน 5 เปอร์เซ็นต์ของปาร์ตี้ลิสต์ คือ วิธีการนับคะแนนของปาร์ตี้ลิสต์ปี 2540 ถ้าคุณได้คะแนน 5 เปอร์เซ็นต์คุณจะได้ ส.ส. 5 คนถ้าปาร์ตี้ลิสต์มี 100 คน แต่ถ้าคุณได้คะแนน 4.99 เปอร์เซ็นต์คุณจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่ากับ 0 คน ตัดเอาสี่คนกว่าไปแจกพรรคลำดับที่หนึ่ง สอง สาม ไล่ไปเรื่อยๆ มันก็ยิ่งเข้าข้างพรรคใหญ่เข้าไปอีก เมื่อตัดตรงนี้ทิ้งในรัฐธรรมนูญปี 2550 ถึงได้พรรคชูวิทย์มา เขาฉลาด ไม่ลง ส.ส. เขตเลย แต่มีความนิยมกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้าเขาลง ส.ส. เขต เขาจะไม่ได้สักคน แต่พอมีเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์ เขาสามารถรวบรวมจากหลายเขตได้ ทำให้เขาได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ถึงสี่ห้าคนพร้อมๆ กัน แล้วแถมยังเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระให้มาขึ้นอีก”

ระบบเลือกตั้งแบบมีชัย ย้อนกลับไปก่อนรธน. 40 “นโยบายจะหายไป”

แต่ดูเหมือนว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ยัง ‘เข้ม’ ไม่พอ ทำให้เกิดอาการ ‘เสียของ’ และเพื่อป้องกันการเสียของในรอบนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นระบบการเลือกตั้งเวอร์ชั่นมีชัย ฤชุพันธุ์ อภิชาตสรุปว่า หลักการก็คือกลับไปทำให้ระบบเลือกตั้งไม่จูงใจให้เกิดการสร้างพรรคขนาดใหญ่
“ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ของคุณมีชัยคือสัดส่วนผสม กลไกจะเข้าข้างพรรคขนาดกลาง เรามี ส.ส.เขตกับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยกตัวอย่างบุรีรัมย์ ในระบบการเลือกตั้งแบบเดิม พรรคภูมิใจไทยของคุณเนวิน ชิดชอบได้ไป 7 ที่นั่ง เสีย 2 ที่นั่งให้พรรคเพื่อไทย แต่คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต่างกันเป็นแสนคะแนน ดังนั้น ระบบบัตรสองใบ พรรคที่มีภูมิภาคนิยมแคบๆ ไม่มีนโยบายโดนใจคนพื้นที่อื่น จะไม่ได้ประโยชน์จากปาร์ตี้ลิสต์ แต่ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว จะทำให้พรรคโคราช บุรีรัมย์ ชลบุรีได้ประโยชน์จะทำให้พรรคขนาดกลางได้คะแนนเพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะส่งตัวแทนไปแข่งในพื้นที่อื่นๆ ก็จะได้ที่สอง ที่สาม ที่สี่ แล้วเอาตรงนั้นมาคำนวณเป็นคะแนนส่วนหนึ่งของปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้พรรคขนาดกลางอยู่รอดได้มากขึ้น”
“ระบบเลือกตั้งของคุณมีชัยทำให้เจตนารมณ์ของการเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จโดยภาพรวม หนึ่ง-แทนที่จะสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนน สามารถเลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบได้ ต่อไปทำไม่ได้แล้ว เกิดการขัดกัน ถ้าคุณชอบนโยบายพรรค ก. แต่ผู้แทนพรรค ก. ในเขตคุณไม่ได้เรื่อง ในอดีตคุณก็ไปเลือกผู้แทนพรรค ข. แล้วไปเลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรค ก. เพราะมีบัตรสองใบ ตอนนี้จะทำไม่ได้ มีบัตรใบเดียว ก็เท่ากับปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน”
“ยิ่งไปกว่านั้นที่บอกว่าระบบมีชัยให้แต่ละพรรคเสนอชื่อนายกฯ ได้ 3 คน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. แปลว่ามีโอกาสที่คนนอกจะเข้ามาได้ แล้วเมื่อออกแบบระบบเลือกตั้งแบบนี้ ทำให้ได้รัฐบาลผสม พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรอง ถ้าพรรคขนาดกลางบอกว่าจะเอาคนนอก อำนาจต่อรองในการกำหนดตัวนายกฯ ของพรรคขนาดใหญ่จะลดลง แปลว่าปิดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะเลือกนายกฯ เพราะประชาชนรู้อยู่แล้วว่าลำดับหนึ่งในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจะเป็นนายกฯ เท่ากับสร้างความไม่แน่นอนในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ คนก็จะไม่ลงทุนสร้างพรรคขนาดใหญ่ กลับเป็นไปเป็นก่อนปี 2540การเลือกตั้งจะเน้นตัวบุคคลมากขึ้น นโยบายจะหายไป”

ส.ว. (แต่งตั้ง) ย่อมาจาก ก๊อกสองสำรองไว้ (เลือกนายกฯ คนนอก)

ส่วน ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนกับการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่มีอำนาจโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรีและโหวตไม่ไว้วางใจ แต่ถ้าเป็นกรณีพิเศษที่ ส.ส. ตกลงกันไม่ได้ก็ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้
“อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะไปประสานกับพรรคขนาดกลางให้เลือกคนที่คุณอยากให้เป็นนายกฯ ได้ แล้วพรรคขนาดกลางก็มีอำนาจต่อรองอยู่แล้ว เพียงแต่ ส.ว. ทำเผื่อไว้ว่าพรรคขนาดกลางทำเป้าไม่สำเร็จ เลยต้องมีก๊อกสอง”
“ถ้าพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนเปลี่ยนจริง เป็นเหมือนปี 2550 (ที่เพื่อไทยยังคงได้คะแนนเสียงจำนวนมาก) แปลว่าระบบที่ออกแบบมาไม่สำเร็จ เขาถึงต้องมีก๊อกสอง ก๊อกสาม จะเอาอยู่มั้ย ไม่แน่ใจ เป็นไปได้ที่จะเอาไม่อยู่ แต่ก็ยังมี ส.ว. แม้จะไม่มีอำนาจโหวตไม่ไว้วางใจ แต่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ก็จะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด ในสภาก็จะมีพรรคกลาง พรรคเล็ก ไม่ได้ชนะกันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแน่นอน ต่อให้นายกฯ คนนอกไม่สำเร็จ เขาก็ยังมีอีกสองกลุ่มที่จะคานอำนาจ หนึ่ง-ส.ว. ถึงจะมีอำนาจน้อยกว่า ส.ส. แต่เป็นเอกภาพกว่า สอง-องค์กรอิสระที่ถูกเพิ่มอำนาจ หนักกว่าปี 2550 นักการเมืองจะทำอะไรต้องหันซ้ายหันขวาตลอดเวลาว่า ส.ว. จะว่าไง สิ่งหนึ่งที่พูดกันคือรัฐบาลจะต้องรายงานผลการปฏิรูปประเทศทุกๆ สามเดือนให้ส.ว.ทราบ อันนี้คืออะไร อะไรที่ต้องรายงาน การรายงานทุกๆ สามเดือนก็คือการเปิดประเด็นทางการเมืองได้ทุกๆ สามเดือน เขี่ยลูกได้ทุกๆ สามเดือน”

ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง เป็นแค่ปาหี่

ด้วยกลไกที่วางไว้เช่นนี้ อภิชาติ คาดว่าหลังการเลือกตั้งจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีความอ่อนแอ ผลักดันงานไม่สำเร็จ ล้มง่าย และอายุสั้น ทำลายการแข่งขันในการเลือกตั้งด้วยนโยบาย กลับไปเน้นที่ตัวบุคคล การซื้อเสียงก็จะกลับมา เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบได้อีกต่อไป หมายความว่านัยของการเลือกนโยบายโดยประชาชนจะอ่อนค่าลง
“นี่จึงไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง มันเป็นปาหี่เพราะการเลือกตั้งที่แท้จริงจะต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้เลือก”

สร้างรัฐราชการ “ไม่กระจายอำนาจยิ่งทำให้การเมืองระดับชาติรุนแรง”

อภิชาติ วิเคราะห์ต่อว่า วิธีการทำไม่ให้ ‘เสียของ’ รอบนี้คือการดึงอำนาจให้อยู่ในมือระบบราชการ ครั้งนี้จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจของ คสช. แบบตรงไปตรงมาผ่านตัวบุคคล แต่เป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐราชการที่มี คสช. เป็นตัวแทน และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการกระจายอำนาจหรือการเมืองท้องถิ่น
“เพราะรัฐราชการฝังหัวเรื่องความมั่นคงว่าอำนาจต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ ต้องสืบทอดมรดกของรัชกาลที่ 5 แค่วิธีคิดก็ชัดเจนว่าไม่ต้องการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแน่ๆ สิ่งแรกๆ ที่ คสช. ทำหลังการรัฐประหารคือการแช่แข็งท้องถิ่น ครั้งแรกหนักกว่าคือแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน แต่ถูกต่อต้านมาก ต้องแก้กลับให้รักษาการณ์ เพราะตอนนี้จะดีจะชั่วก็ตาม มันมีคนที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งท้องถิ่น เฉพาะคนที่มีตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นแสนๆ คนแล้ว เขาก็เลยแช่แข็งไว้ก่อน ก็ได้ประโยชน์ไป อย่ามายุ่งด้วยตอนนี้ แต่หลังจากนี้เขาจะทำอะไรต่อ”
ในทัศนะของอภิชาติ การไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะยิ่งทำให้การเมืองระดับชาติรุนแรง เพราะทุกอย่างถูกรวบอำนาจมาตัดสินใจที่ส่วนกลาง ทำให้ส่วนกลางมีอำนาจมาก เมื่อมีอำนาจมาก ผลประโยชน์ก็มาก เช่น ส่วนกลางต้องเป็นคนอนุมัติเหมืองแร่ที่พิจิตร ทั้งที่ถ้าโยนอำนาจให้ท้องถิ่น ก็จะไปสู้กันที่ท้องถิ่น เมื่ออำนาจกระจาย ค่าเช่าทางเศรษฐกิจและอำนาจในการใช้นโยบายเพื่อสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจก็กระจายออกไปด้วย
“ปัจจุบันรัฐไทยแม้จะมีการกระจายอำนาจไปแล้ว แต่ก็ยังรวมศูนย์มากอยู่ดี กรุงเทพฯ จึงสร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลจากนโยบายส่วนกลาง รังนกอยู่ที่ภาคใต้แต่ต้องมาแย่งสัมปทานกันที่กรุงเทพฯ รางวัลจากการยึดรัฐส่วนกลางจึงสูงมาก คุ้มที่จะแข่งกันทุกวิถีทางแต่ถ้าเราทุบรัฐส่วนกลางให้กระจายอำนาจออกไปข้างล่าง สู้กันเป็นจุดๆ ท้องถิ่นไหนเข้มแข้งก็ชนะไป ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ ในทางกลับกัน จะทำให้แรงจูงใจในการยึดรัฐส่วนกลางน้อยลงและจะทำให้รัฐส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถจดจ่อกับทิศทางนโยบายภาพรวมของประเทศได้มากขึ้น ไม่ต้องสนใจปัญหาเล็กๆ น้อยๆ”
“ผมรู้สึกว่าการกระจายอำนาจจะเป็นทางออกแบบอ้อมๆ ของการเมืองต่อจากนี้ มันจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมือง เพราะมันมีฐานคนที่ได้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจอยู่เยอะถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชูประเด็นนี้ขึ้นมาจะมีคนตอบรับ เป็นพลังได้ แต่มันไม่ได้เป็นเกมระยะสั้น”

เมื่อการต่อสู้ในระบบถูกปิดตาย ตอนจบย่อมไม่สวย

เมื่อกลไกทุกอย่างถูกวางเพื่อให้รัฐราชการกลับมามีอำนาจและสกัดกั้นเสียงของประชาชน แม้อภิชาตยอมรับว่าคาดเดาสถานการณ์ข้างหน้าแบบชัดเจนได้ยาก แต่เขาคิดว่ามืดมนและจบไม่สวย
“อย่างครั้งที่แล้วบอกว่ารับไปก่อน แล้วมาแก้ทีหลัง แต่ครั้งนี้แก้ไม่ได้เพราะกลไกการแก้เกือบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ มันไม่เปิดทางไว้ ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วมีบทเฉพาะกาลแบบนี้ก็ถึงทางตัน จะอยู่ได้ครบห้าปีเหรอ ถ้าคุณเชื่อว่าเราเดินกันมาถึงปี 2559 แต่คุณย้อนกลับไปเป็นปี 2521 ซึ่งมันขัดกับรากฐานสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว เขาจะควบคุมความขัดแย้งเชิงโครงสร้างกับกติกาได้ถึงห้าปีไหม”
“ผมเดาว่าจบไม่สวย เพราะจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี ถ้าพลังจากการเลือกตั้งไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้จะเกิดอะไรขึ้น ก็เหมือนกับต้มน้ำ ปิดฝา แล้วเอาหินทับไปอีกก้อน หินก็คือการไม่เปิดโอกาสให้แก้รัฐธรรมนูญ แล้วมันจะออกยังไง อันนี้ทำให้ผมมองโลกไม่สวย ผ่านไม่ผ่านสำหรับผมก็มืดมนเหมือนกัน แต่จบแบบไหน ไม่รู้ จบไม่สวยแน่ๆ เพราะมันปิดช่อง แต่ละฝ่ายก็จะสู้ด้วยวิถีทางที่เขาคิดว่าจะสู้ได้”
เมื่อขอข้อเสนอที่เป็นไปได้ในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่สุด อย่างประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้น  อภิชาติเห็นว่า คำถามที่จะแทรกไปกับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ควรถามว่าถ้าร่างฉบับนี้ไม่ผ่านหรือไม่ผ่านก็ตาม ควรจัดให้มีการเลือกตั้งก่อน เพื่อให้ได้รัฐบาลรักษาการณ์ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดหรือไม่
“เป็นการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลรักษาการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนผ่านอะไร คือภาระหลักอย่างเดียวของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่เปิดที่ทางให้คนทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วม เป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งเขาไม่มีวันยอมหรอก แต่ในทางการเมือง ผมคิดว่าข้อเสนอนี้ง่ายที่สุด ง่ายกว่าจะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้”