วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ยกฟ้อง กปปส.เมืองคอนขวางรับสมัครเลือกตั้ง 9 เขต เพราะพยานโจทก์อยู่ฝ่ายตรงข้าม

ผู้สนับสนุน กปปส. ขึ้นไปแขวนป้ายผ้าขอสนับสนุนการปฏิรูปกอนการเลือกตั้ง ลุงกำนันสุเทพ ที่สถานที่รับสมัคร ส.ส. 9 เขต ของ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 28 ธ.ค. 2556 (ที่มา: ไทยรัฐ)

คดีที่ชัยชนะ เดชเดโช - คฑา รุ่งโรจน์รัตกุล - เกตุกมล อุดหนุนกาญจน์ นำมวลชน กปปส. นครศรีธรรมราช ขวาง กกต. รับสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช 9 เขต ล่าสุดศาลยกฟ้อง เพราะพยานฝ่ายโจทก์ล้วนอยู่ในฝ่ายการเมืองฝั่งตรงกันข้าม จึงมีน้ำหนักไม่เพียงพอรับฟังได้
24 มี.ค. 2559 คดีที่นายชัยชนะ เดชเดโช นายคฑา รุ่งโรจน์รัตกุล และ น.ส.เกตุกมล อุดหนุนกาญจน์ เป็นจำเลยในคดีขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่หน่วยเลือกตั้งที่ จ.นครศรีธรรมราช เหตุเกิดเมื่อ 28 ธ.ค. 2556 โดยมีอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนทั้ง 3 ราย เป็นจำเลยต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราช
มติชนออนไลน์ รายงานคำพิพากษาวันนี้ (24 มี.ค.) ที่ศาลแขวงนครศรีธรรมราช จำเลยทั้ง 3 ราย เดินทางมาศาลพร้อมด้วยนายประกัน ศาลได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 ราย ซึ่งพิจารณาโดยสรุปว่า ในขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองตกอยู่ในความขัดแย้งแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย พยานฝ่ายโจทก์ล้วนอยู่ในฝ่ายการเมืองฝั่งตรงกันข้าม จึงมีน้ำหนักไม่เพียงพอรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง
นายชัยชนะ เดชเดโช อดีตแกนนำ กปปส.นครศรีธรรมราช ระบุว่า เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมั่นใจในการเคลื่อนไหวสำหรับการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม ส่วนอัยการจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่นั้นยังไม่ทราบได้ โดยไม่ขอก้าวล่วง
สำหรับเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2556 บริเวณสถานที่ก่อสร้างหมู่บ้านโครงการเดอะคิ้ว ริมถนนสายนครศรีธรรมราช -ปากพนัง ต.ในเมือง อ.เมือง  จ.นครศรีธรรมราช ซึ่ง กกต.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นสถานที่รับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 2556 - 1 ม.ค.2557 ปรากฏว่าตามวันเวลาดังกล่าว นายชัยชนะ เดชเดโช พร้อมพวก กปปส.นครศรีธรรมราช เข้าปิดล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. จนกกต.ไม่สามารถเปิดรับสมัคร ส.ส.ได้
ในรายงานของ ไทยรัฐออนไลน์ ในเวลานั้น ตั้งแต่เช้าก่อนเวลารับสมัคร มวลชน กปปส. นครศรีธรรมราช ถือป้ายข้อความโจมตีและส่งเสียงโห่ร้องเป่านกหวีดตลอดเวลา และยืนขวางล้อมสถานที่รับสมัคร ส.ส.ไม่ยอมให้ใครเข้าไปสมัคร ส.ส.ด้านในได้แม้แต่คนเดียว โดยกำลังตำรวจชุดปราบจลาจลจำนวน 1 กองร้อย นำโดย พ.ต.อ.สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ รอง ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช คอยเฝ้ารักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณรอบสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ตลอดเวลา โดยผู้ชุมนุมมีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและกกต.ตลอดเวลา
จนกระทั่งเวลา 10.00 น.หลังจากกลุ่มมวลชน กปปส.นครศรีธรรมราชยังปักหลักชุมนุมประท้วงหน้าสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ชั่วคราว ปรากฏว่า ยังไม่พบแม้แต่เงาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แม้แต่คนเดียว จนในที่สุด นายมนัส เพ็งสุทธิ์ ประธาน กกต.นครศรีธรรมราช ได้ตัดสินใจเดินขึ้นไปบนท้ายรถยนต์กระบะติดเครื่องขยายเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง พูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า กกต.นครศรีธรรมราชขอยุติการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราชทั้ง 9 เขตไว้ชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้ และยังไม่มีใครกล้าเดินทางมาสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และเย็นวันนี้ทาง กกต.นครศรีธรรมราชจะประชุม ผอ.กกต.เลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 9 เขตเลือกตั้งมาประชุมหารือเพื่อหาข้อยุติต่อไปว่า จะยังสามารถรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต่อไปอีกได้หรือไม่ในวันที่เหลือต่อไป ซึ่ง กกต.จะได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยัง กกต.กลาง เพื่อหาข้อยุติต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
หลังจากที่ นายมนัส เพ็งสุทธิ์ ประธาน กกต.นครศรีธรรมราช ได้ประกาศยุติรับสมัครเลือกตั้ง ทำให้กลุ่มมวลชน กปปส.พอใจ พากันสลายตัวไปในที่สุด โดยกลุ่มมวลชน กปปส.นครศรีธรรมราช ได้ทำการปลดป้ายไวนิลสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราชทั้ง 9 เขตชั่วคราว แล้วนำป้ายไวนิลข้อความ ''ขอสนับสนุนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ลุงกำนันสุเทพ'' ขึ้นแทนป้ายดังกล่าวแทน

ศอตช. แถลงผลสอบ’ราชภักดิ์’ ไม่พบทุจริต ไร้ตำหนิทุกข้อกล่าวหา


ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ แถลงผลสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ระบุไม่พบการจ่ายค่าหัวคิว มีเพียงการจ่ายค่าที่ปรึกษา 20 ล้าน ซึ่งได้นำเงินมาคืนแล้ว ต้นไม้ไม่พบว่ามีการซื้อ เพราะมีผู้นำมาบริจาค แต่มีค่าขนส่ง 4 ล้าน
23 มี.ค. 2559 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) พร้อมด้วย ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และยงยุทธ์ มะลิทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงผลสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยมีจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย(พท.) เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการสรุปผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เรื่องการหักค่าหัวคิว 2.การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และ 3.การใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งใน 3 ประเด็นหลักก็จะมีประเด็นปลีกย่อย ซึ่งครอบคลุมใน 3 ประเด็นหลัก ตนเคยพูดเรื่องการหักค่าหัวคิวก่อนหน้านั้น แต่ก็ยังก็ยังไม่รู้ว่าการหักค่าหัวคิวเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร
ด้าน ประยงค์ กล่าวว่า ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบประเด็นการหักหัวคิว โดยได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและสอบปากคำจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีการจ่ายเงินกันจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งทั้งสองฝ่ายระบุว่า เป็นการให้ค่าตอบแทนทางธุรกิจ ค่าชักนำงานมาให้ เป็นวงเงินร้อยละ 6-7 ของค่าจ้าง ซึ่งถือเป็นราคาตามราคาท้องตลาด
ขณะที่ พิศิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สตง. ได้ตรวจสอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยตรวจสอบในประเด็นเรื่องเงินบริจาค จากการตรวจสอบไม่มีปัญหาอะไรและทางกองทัพได้เตรียมใบเสร็จรับเงินให้กับผู้บริจาค แต่ไม่มีใครเข้ามาขอรับ และปัจจุบันได้ปิดบัญชีเหลือเพียงแค่ 1 บัญชี จาก 6 บัญชี และเงินบริจาคจากทุกช่องทางทั้งผ่านสถานีโทรทัศน์ ตู้รับบริจาค ต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งหมด 733 ล้านบาท โดยมีการแบ่งใช้จ่ายไป 458 ล้านบาท เช่น ค่าองค์พระ และการยืมเพื่อไปจัดทำเหรียญให้ประชาชนบูชาเป็นเงิน 105 ล้านบาท
พิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตัดยอดเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 เหลือเงิน 140 ล้าน และยังมีเงินที่เป็นงบกลางจากรัฐบาลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนอีก 63 ล้านบาท และเงินจากทางกองทัพบกเป็นงบที่ตั้งไว้ เพื่อทำรั้วโรงเรียนที่ตั้ง 27 ล้านบาท ส่วนเงินมูลนิธิที่ได้มาจากการรับบริจาคโดยตรงมียอดเงิน 108 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังไม่มีค่าใข้จ่ายเกิดขึ้น ส่วนประเด็นการเปลี่ยนชื่อบัญชีเงินกองทุนสวัสดิการกองทัพบก เป็นกองทุนสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์แล้ว จากการตรวจสอบพบเป็นการเปลี่ยนชื่อบัญชี เพื่อให้ตรงกับวัถุประสงค์ ส่วนข้อสงสัยถึงทรัพย์สินในอุทยานฯ นั้น ขณะนี้ยังคงเป็นการรับผิดชอบของราชการ ยังไม่มีการโอนให้มูลนิธิฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้ยืนยันว่าจากการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ไม่พบการตกแต่งบัญชีหรือบิดเบือน ทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการจ่ายเงิน
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องการซื้อต้นไม้นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีการซื้อ เพราะต้นไม้ได้มาจากการบริจาค แต่มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งหมด 4 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังได้เข้าไปตรวจสอบความสมบูรณ์ของเนื้องาน พบว่ามีความเรียบร้อยร้อยละ 95 ส่วน และได้ตัดวัสดุจากองค์พระไปทำการตรวจสอบพบว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่ กำหนดตามสัญญาที่กำหนดให้ใช้วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับประเด็นของเซียนอุ๊ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงหล่อสยามปุระ ที่ปรึกษาการก่อสร้างองค์พระของ 5 โรงหล่อ ที่มีการรับเงินค่าคิว 20 ล้านบาท เพราะเป็นบุคคลที่มีโรงหล่อที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และผลงานสร้างหลวงปู่ทวด หน้าตัก 24 นิ้ว  ซึ่งจากการตรวจสอบทั้งเซียนอุ๊ และ 5 โรงหล่อ ระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายโดยสมัครใจ และต่อมาได้นำเงินดังกล่าวมาคืนครบจำนวนให้กับกองทัพบก และมีการออกใบเสร็จชัดเจน ซึ่งก็ไม่พบข้อทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้ที่มาร่วมรับฟังการแถลงข่าวได้สักถามใน ประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย โดยจตุพร ได้ลุกขึ้นถามพล.อ.ไพบูลย์ ว่า กรณีที่แถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการทำข้อสอบรั่วหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ดุดมเดช สีตบุตร อดีตผบ.ทบ. ออกมาระบุว่าไม่พบการทุจริต ต่อมาผู้ว่าฯสตง.ออกมาการันตรีว่าไม่มีการทุจริต ประเด็นต่อมาคำว่าที่ปรึกษาเกิดขึ้นหลังจากมีประเด็นค่าหัวคิวใช่หรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งเซียนอุ๊เป็นนายก อบต. ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นการรับเงินถือเป็นเรื่องที่ผิด
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์เป็นการชี้แจงสื่อมวลชน เพราะตนมีหน้าที่ตอบคำถาม และได้ไปพบ พล.อ.ดุดมเดช ไม่ได้ไปรายงาน แต่ไปหาข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สังคมจะเข้าใจยังไงก็แล้วแต่
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้ พล.อ.อุดมเดช ยืนยันมาตลอดว่าไม่ผิด และเคยต่อว่าตนด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าคำถามของจตุพรว่าต้องการสื่ออะไร จากข้อสรุปที่ไปสอบถามพล.อ.อุดมเดช มีการยอมรับว่าพลาด พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่าหัวคิว ตนไม่พูดกับท่านมานานมาก จนการตรวจสอบจบลงจึงไปเรียนให้ทราบว่า ป.ป.ท.ก็ไปสอบถามท่าน เพราะท่านพูดคำนี้ออกมา ที่ท่านพูดว่าหัวคิว มันผิด เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีเจตนา แต่เกิดจากผู้สื่อข่าวซักถามและมีการตอบคำถามกันไปมา จึงหลุดคำว่าหัวคิวออกไป โดยไม่เข้าใจเนื้อหาและวิธีการ ส่วนเรื่องเซียนอุ๊ที่เป็นข้าราชการก็ส่งให้ ปปท.ตรวจสอบไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วยืนยันว่าโครงการนี้ไม่มีการทุจริต แล้วจะกระทบต่อภาพลักษณ์ คสช.หรือไม่ เพราะสังคมจับตามองว่า คสช.จะคลีคลายไปในทางที่ดี พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และการสอบไม่สร้างศรัทธาสังคม ตนไม่มีขีดความสามารถที่จะทำให้ชาวบ้านเชื่อหรือไม่เชื่อได้ ใครมีข้อมูลเพิ่มก็ให้ส่งมา อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ตรวจสอบหากไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงก็จะโดนตรวจสอบเหมือนกัน ก็ขอขอบคุณจตุพรที่ห่วงใยบ้านเมือง หากมีข้อมูลอะไรก็ส่งมา การตรวจสอบเรื่องนี้ยังไม่เสร็จ ยังมีหน่วยงานรัฐตรวจสอบประเด็นอื่นๆต่อไปอีก
จากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรืองไกร และวรัญชัย โชคชนะ พยายามซักถามประเด็นหัวคิว โดยเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ ทำให้พล.อ.ไพบูลย์ ถามย้อนกลับว่า ตนไม่ได้โง่ขอให้ถามตรงประเด็น อย่าใช้คำถามขยายวงไปเรื่อยๆ เพราะตนตรวจสอบใน 5 ประเด็น นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นต้องตรวจสอบต่อ เช่น ป.ป.ช. กรมสรรพากร ส่วนโลหะจากองค์พระที่ตัดมาพิสูจน์โลหะจะส่งเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ให้เป็น ประวัติศาสตร์ หากข้องใจเรื่องราคากลางขอให้ส่งหลักฐานมาให้ตรวจสอบ อย่าพูดไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ระหว่างการแถลงข่าวถ่ายทอดสดทีวีหลายช่อง พล.อ.อุดมเดช พยายามติดต่อทีมงาน พล.อ.ไพบูลย์และผู้สื่อข่าวเพื่อขอโฟนอิน ชี้แจงประเด็นที่จตุพรกล่าวพาดพิง เรื่องการรู้ข้อมูลล่วงหน้า แต่ทีมงาน พล.อ.ไพบูลย์ ไม่ได้ให้โฟนอิน
ภายหลังการแถลงข่าว จตุพร เปิดเผยว่า การชี้แจงในครั้งนี้เป็นผลการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ทางพล.อ.อุดมเดช และผู้ว่าฯสตง. ที่ได้ออกมาให้ข่าวผลการตรวจสอบการแถลง ซึ่งพล.อ.อุดมเดช ในฐานะผู้ถูกตรวจสอบ ไม่ควรรู้ผลก่อนเป็นเดือนๆ จึงมองว่าเป็นเหมือนการลักลั่น ข้อสอบรั่ว และวันนี้ตนจึงมาฟังการแถลงข่าวว่าผลสอบจะตรงกับสองหน่วยงานแรกหรือไม่ ซึ่งเห็นว่ารายละเอียดต่างๆ ในการตรวจสอบยังไม่ยุติ หลังจากนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของ ปปช. ซึ่งเป็นกรรมการชุดที่ 4 ในการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่จะรับไปดำเนินการ โดยเห็นว่า ยังมีช่องว่าง ที่ ปปช. จะไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นผลต่อเนื่องจากการแอบอ้างเบื้องสูง ทั้งนี้หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะส่งมอบให้กับปปช.ต่อไป
จตุพร กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ ยังติดใจกับคำว่า หัวคิว ที่เปลี่ยนเป็นคำว่า ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นวาทกรรมใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นหลังคำว่า ค่าหัวคิว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจผิด เพราะการเสนอราคาต้องมีการบวกค่าหัวคิวหรือค่าที่ปรึกษามาตั้งแต่ต้นแล้ว หรือไม่ ดังนั้น ขั้นตอนที่ลักลั่นและโยงใยหลายอย่างก็คงไม่หลุดมาตั้งแต่ต้น และการมาคืนเงินก็เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นมาภายหลังที่เกิดเรื่อง พร้อมยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาหรือติดใจอะไรกับ พล.อ.อุดมเดช เป็นการส่วนตัว
ด้าน ยงยุทธ กล่าวว่า  ป.ป.ช. จะขอเอกสารจาก สตง. เพื่อตรวจสอบในส่วนของประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยต่อไป โดย ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ ในประเด็นเจ้าหน้าที่พบความผิดปกติ และมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และอีกประเด็นคือ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้เพราะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่อยู่ ระหว่างการตรวจสอบ โดยไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว. ยุติธรรม ระบุถึงผลการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ไม่พบการทุจริตว่า สิ่งที่พล.อ.ไพบูลย์พูดในเรื่องที่ว่าตนเคยยอมรับเกี่ยวกับประเด็น เรื่องค่าหัวคิว ตนอยากตอบว่าตนไม่เคยยอมรับ ครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาลมีสื่อมวลชนได้สอบถามก่อนที่ตนจะเข้าประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือว่ามีเวลาน้อยจึงได้ตอบเพียงสั้นๆ ว่าอาจจะมีความจริงบางส่วน คำนี้อาจจะผิดพลาดไปหน่อย แต่ความจริงแล้วตนได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนไปหาคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรงหล่อ เสร็จแล้วหลังจากนั้นก็มีการจ่ายค่าปรึกษาหารือกัน ส่วนจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เรียกว่าค่าตอบแทนที่ปรึกษา ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะไม่ใช่เรื่องหักค่าหัวคิว
“ผมอยากถามพล.อ.ไพบูลย์ว่า ไปเอาเทปมาดูว่าผมยอมรับอะไร เพียงแต่พลาดไปนิดหนึ่ง ว่ามีความจริงบางส่วน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ผมยอมรับหรือ เพราะหลังจากนั้นผมก็ได้อธิบายไปชัดเจนแล้ว ผมรังเกียจกับคำว่าหักหัวคิว ซึ่งยังงมงายอยู่ในคำเดิม ไม่ยอมฟังอะไร แต่จะด้วยอะไรหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ผมเห็นว่าสตง.เป็นองค์กรที่มีมาตรฐาน ในเมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด ยังจะเอาอะไรอีก แต่มาบอกว่าผมยอมรับว่ามีหักหัวคิว ซึ่งผมไม่เคยยอมรับ ผมรังเกียจมากกับคำนี้ และแปลกใจเหมือนกันว่าเมื่อแถลงแล้วทำไมยังไม่จบ หรือว่าไม่ตรงใจจึงไม่จบ ผมก็ไม่ทราบ ผมรักและเคารพทุกคน ไม่ได้มีปัญหากับใคร แต่ความจริงเป็นอย่างไร ขอให้ฟังบ้าง” พล.อ.อุดมเดช กล่าว และว่าสตง.ถือเป็นองค์กรอิสระ ที่มีมาตรฐานสูงสุด และไม่มีเข้าใครออกใคร เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่มีก็ต้องไม่มี กองทัพบกได้ดำเนินการรับเงินบริจาค จึงยอมให้มีการตรวจสอบทั้งที่บางหน่วยไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ แต่ยังให้เข้ามาพูดคุยเพราะไม่ได้ถือสาอะไร ดังนั้นอยากให้เข้าใจ สตง.ได้พูดออกมาแล้วว่าปกติ ตนพอใจแล้ว
เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะทำ อย่างไรต่อไป พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า อีกระยะหนึ่งจะเดินหน้าโครงการอุทยานราชภักดิ์ต่อ หลังจากที่ชะลอมา 5-6 เดือน โดยเฉพาะการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่จะต้องมีห้องประวัติศาสตร์และจัดนิทรรศการ เพื่อเชิดชูบูรพกษัตริย์ และคนที่บริจาคเงินก็เรียกร้องอยากให้ดำเนินการต่อให้สมบูรณ์ คนที่มีใจจะทำคงรู้สึกเบื่อแล้ว เพราะมัวแต่ถูกเล่นงานแบบไร้เหตุผลอย่างนี้ คนที่พยายามไม่เข้าใจ ก็จะติดลบกันไปเอง เรื่องทั้งหมดจบตั้งแต่การตรวจสอบของสตง. เพราะเคลียร์หมดทุกอย่าง ว่าไม่มีสิ่งผิดปกติและไม่มีหักหัวคิว เพียงแต่ใช้คำว่า ค่าตอบแทนที่ปรึกษา
“เรื่อง ไม่เป็นเรื่องก็พยายามทำให้เป็นเรื่อง ผมพอใจกับสิ่งที่ สตง. ตรวจสอบ แต่ถ้ายังปรักปรำกันอีกก็อาจจะฟ้องดำเนินคดีสำหรับคนที่กล่าวให้ร้าย เพราะเรื่องนี้เชื่อมั่นว่า ต้องถึงกระบวนการยุติธรรมโดยแท้จริง ไม่เกี่ยวกับการหักค่าหัวคิวแต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่ใช่” พล.อ.อุดมเดช กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีปัญหาการทำงานกับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่มีอะไร เพราะเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ต่างคนต่างทำงาน ทำตามหน้าที่ไม่มีปัญหา พล.อ.ไพบูลย์ก็ดีกับตนในเรื่องทั่วไป เจอกันก็คุยกัน ยืนยันไม่มีอะไรกับใคร เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาช่องว่างในการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้คิดว่านายกรัฐมนตรี ก็อยากให้พิสูจน์ข้อเท็จจริง และไม่ได้หนักใจอะไร พร้อมกันนี้ในวันที่ 24 มีนาคม เวลา 08.30 น. จะชี้แจงกับสื่ออีกครั้ง และตอบคำถามกับสื่อทุกประเด็น

ย้อนรอยคำ 'ค่าหัวคิว' ปมราชภักดิ์ ที่ 'อุดมเดช' รังเกียจมาก ชี้ใช้ 'ค่าที่ปรึกษา' เหมาะสมแล้ว


24 มี.ค. 2559 ประเด็นร้อนเมื่อปลายปีที่แล้วคงหนีไม่พ้น โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกตั้งข้อสงสัยต่อการทุจริต จนกระทั่งมีการการตรวจสอบ และล่าสุดวานนี้ (23 มี.ค.59) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) พร้อมด้วย ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และยงยุทธ์ มะลิทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงผลสอบโครงการดังกล่าว
โดย ประยงค์ กล่าวว่า ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบประเด็นการหักหัวคิว โดยได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและสอบปากคำจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีการจ่ายเงินกันจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งทั้งสองฝ่ายระบุว่า เป็นการให้ค่าตอบแทนทางธุรกิจ ค่าชักนำงานมาให้ เป็นวงเงินร้อยละ 6-7 ของค่าจ้าง ซึ่งถือเป็นราคาตามราคาท้องตลาด
มติชนออนไลน์ รายงานการแถลงดังกล่าว โดย ผู้ว่าฯ สตง. แถลงว่าการหักค่าหัวคิวทั้งจากหลักฐานทางการเงินและสอบปากคำของ 5 โรงหล่อ ที่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่ปรึกษา เพื่อให้ได้งานนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงตรงกันว่า มีการจ่ายค่าจ้างให้กับเซียนอุ๊ 7 เปอร์เซ็นต์ ในฐานะที่ปรึกษา และจากการตรวจสอบประวัติของเซียนอุ๊ ทราบว่าเป็นคนมีฐานะทางสังคมและเป็นที่ปรึกษาทั้ง 5 โรงหล่อ รวมทั้งมีกิจการโรงหล่อของตัวเอง โดยผลงานที่ผ่านมา มีการสร้าง หลวงปู่ทวด ขนาดหน้าตักกว้าง 24 เมตร บนถนนสายเอเชีย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เงินจากการเป็นที่ปรึกษาของ 5 โรงหล่อ เป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเช็ค 5 ฉบับ ซึ่งมีตัวเลขลดหลั่นกันไป
'อุดมเดช' เผยรังเกียจมากกับคำว่า 'ค่าหัวคิว' ชี้ 'ค่าที่ปรึกษา' เหมาะสมแล้ว
ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการแถลงดังกล่าว ซึ่ง สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อุดมเดช ว่า สิ่งที่ พล.อ.ไพบูลย์ พูดในเรื่องที่ว่าตนเคยยอมรับเกี่ยวกับประเด็นเรื่องค่าหัวคิว ตนอยากตอบว่า ตนไม่เคยยอมรับ ครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาลสื่อมวลชนได้สอบถามก่อนที่ตนจะเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือว่ามีเวลาน้อยจึงได้ตอบเพียงสั้นๆ ว่าอาจจะมีความจริงบางส่วน คำนี้อาจจะพลาดไปหน่อย แต่ความจริงแล้วตนได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนไปหาคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรงหล่อ หลังจากนั้นก็มีการจ่ายค่าปรึกษาหารือกัน ส่วนจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทาง สตง. ได้เรียกว่า ค่าตอบแทนที่ปรึกษา ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะไม่ใช่เรื่องหักค่าหัวคิว
“ผมอยากถามพล.อ.ไพบูลย์ว่า ไปเอาเทปมาดูว่าผมยอมรับอะไร เพียงแต่พลาดไปนิดหนึ่ง ว่ามีความจริงบางส่วน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ผมยอมรับหรือ เพราะหลังจากนั้นผมก็ได้อธิบายไปชัดเจนแล้ว ผมรังเกียจกับคำว่าหักหัวคิว ซึ่งยังงมงายอยู่ในคำเดิม ไม่ยอมฟังอะไร แต่จะด้วยอะไรหรือไม่ผมไม่แน่ใจ ผมเห็นว่าสตง.เป็นองค์กรที่มีมาตรฐาน ในเมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด ยังจะเอาอะไรอีก แต่มาบอกว่าผมยอมรับว่ามีหักหัวคิว ซึ่งผมไม่เคยยอมรับ ผมรังเกียจมากกับคำนี้ และแปลกใจเหมือนกัน ว่าเมื่อแถลงแล้วทำไมยังไม่จบ หรือว่าไม่ตรงใจจึงไม่จบผมก็ไม่ทราบ ผมรักและเคารพทุกคน ไม่ได้มีปัญหากับใคร แต่ความจริงเป็นอย่างไร ขอให้ฟังบ้าง” พล.อ.อุดมเดช กล่าว
ขู่ฟ้องคนไม่หยุดปรักปรำราชภักดิ์
“เรื่องไม่เป็นเรื่องก็พยายามทำให้เป็นเรื่อง ผมพอใจกับสิ่งที่สตง.ตรวจสอบ แต่ถ้ายังปรักปรำกันอีกก็อาจจะฟ้องดำเนินคดีสำหรับคนที่กล่าวให้ร้าย เพราะเรื่องนี้เชื่อมั่นว่า ต้องถึงกระบวนการยุติธรรมโดยแท้จริง ไม่เกี่ยวกับการหักค่าหัวคิวแต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่ใช่” พล.อ.อุดมเดช กล่าว
ย้อนรอยคำว่า 'ค่าหัวคิว' ราชภักดิ์
สำหรับคำสัมภาษณ์ประเด็นที่มาของคำว่าค่าหัวคิวนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 58 ซึ่งมติชนออนไลน์ ได้รายงานข่าวรวมทั้งมีวิดีโอคลิปบทสัมภาษณ์นั้นด้วย โดยมีรายละเอียดคำสัมภาษณ์ดังนี้
ผู้สื่อข่าว : เงินบริจาคหรือว่าตัว พ.อ.คชาชาต บุญดี ที่โดนพาดพิง?
พล.อ.อุดมเดช : อันนี้ผมขอไม่ลงรายละเอียดมากนักนะครับ แต่ผมเรียนว่า เรื่องของเงินบริจาคทั้งหมด เรามีเจ้าหน้าที่ ก็คือเจ้ากรมการเงินทหารบก เป็นหน่วยนะครับ และตัวเจ้ากรมเป็นผู้รับผิดชอบ ก็มีเจ้าหน้าที่ในการที่จะทำหลักฐานลายระเอียดต่างๆ ที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินเข้าออกจำนวนเท่าไหร่ อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่สามารถชี้แจงและตรวจสอบได้ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าว : เห็นว่าตอนนั้นทราบแล้วว่ามีเซียนพระคนหนึ่งไปเรียกหัวคิวจากโรงหล่อ ตอนนั้นได้มีการแก้ปัญหาในระดับหนึ่งด้วย? 
พล.อ.อุดมเดช : เรื่องนี้จริงๆ แล้ว มีส่วนความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ทั้งหมดเพราะว่า ทุกวงการนะครับ ผมคิดว่ามีสิ่งเหล่านี้ พอเราทราบว่าน่าจะมีเราก็เข้าไปดำเนินการ แล้วโรงหล่อต่างๆ ก็มีความเข้าใจนะครับ คนที่สดแทรกมาก็เป็นการแอบอ้าง เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็ได้ยุติลงไปด้วยดี แล้วสิ่งที่โรงหล่อต่างๆ นั้นอาจจะถูกหลอกอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่โรงหล่อนี่ สามารถจะไม่เอา ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้ไปในทางที่เสียหาย เขาจะมีการเป็นเรื่องการบริจาคโดยสมัครใจส่วนหนึ่ง อีกบางส่วนก็อาจจะกลับไป โรงหล่อจะไปทำพระให้สมบูรณ์อะไรต่างๆ ทุกอย่างจบสิ้นด้วยความเรียบร้อยแล้วก็สะอาด บริสุทธิ์ทุกขั้นตอน
ผู้สื่อข่าว : ก็คือเงินที่โดนดึงหัวคิวไป ทางโรงหล่อได้กลับมาบริจาคให้?
พล.อ.อุดมเดช : ผมทราบว่าเช่นนั้นนะครับ แต่ว่าผมไม่ลงไปในจำนวนเพราะว่าผมไม่รู้ในรายละเอียดจริงจังนัก แต่ว่าชี้แจงได้หมดแน่นอน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของคณะแต่ละคณะ ส่วนเรื่องเงินก็เป็นเรื่องของเหรัญญิก ซึ่งเจ้ากรมการเงินทหารบกจะเป็นผู้รับผิดชอบและสามารถชี้แจงได้ แล้วก็จะบริจาคเท่าไหร่ อย่างไร เจ้าหน้าที่สามารถชี้แจงได้ถ้ามีการตรวจสอบกันเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ ขอให้มั่นใจว่า ผมมั่นใจนะครับว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งบริสุทธิ์ แล้วก็เป็นสมบัติของประชาชนด้วย แล้วก็ประชาชนยังมีโอกาสที่จะช่วยกันสร้างสรรค์ต่อไป ผมเรียนว่าคนที่ไม่เข้าใจก็ขอใช้คำว่าไม่เข้าใจนะครับ ก็จะได้เข้าใจ แล้วก็มีผู้ไม่ปราถนาดีด้วยสิ่งใดก็ตาม ก็ขอให้หยุดเถอะครับ เพราะว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องศรัทธาของคน ให้ประชาชนทุกคนยังมีศรัทธา เพราะว่าผมมั่นในในสิ่งที่บริสุทธิ์เหล่านี้นะครับ
พล.อ.ไพบูลย์ เคยลั่นบอกประชาชนได้เลยว่ามีทุจริต เพราะผู้ที่รับผิดชอบชี้แจงเองว่ามี
ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. ได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 58 จนเป็นที่กล่าวถึงจำนวนมาก โดย พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ทุกคนรู้ว่ามันมีทุจริตแล้วจะบอกว่าไม่เจอทุจริตได้อย่างไร  ซึ่ง SpringNews ได้เผยแพร่วิดีโอคลิปไว้เช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
"ก็คนทุกคนรู้ว่ามันมีทุจริตแล้วจะบอกว่าไม่เจอทุจริตได้อย่างไรเล่า ก็เจอดิ แต่จะเจอที่ไหน ห่วงเวลาอะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เรากำลังหาอยู่ ท่านไม่้ต้องไปเบียงเบนหรอก ท่านไม่ต้องมาถามผมคำนี้ บอกพี่น้องประชาชนได้เลยว่าโครงการนี้มีทุจริต เพราะผู้ที่รับผิดชอบไปชี้แจงเองว่ามีทุจริต แล้วผมไปตรวจแล้วบอกไม่ทุจริตแล้วมันจะอยู่กันยังไงอะ มันต้องเจอดิ แต่จะเจอใคร ที่ไหน อย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่งก็ต้องคอยดู ให้เวลาเขาไปทำงาน เพราะเอกสารมันมีเยอะ..
..มันไม่มีทางไปปิดได้หรอกว่าเจตนาหยุดแค่นี้ไหม ถ้าเรื่อมันเดิน มันต้องเดิน ถ้าเรื่องมันยังผูกพันถึงบุคคลต่อไป มันก็ต้องเดิน มันไม่มีทางที่จะไปปิดคดีตรงนั้นได้หรอกครับ" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น วันที่ 15 ธ.ค.58 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีหลังจากนั้น พล.อ.อุดมเดช ไม่พอใจการให้สัมภาษณ์ว่ามีการทุจริตการก่อสร้างโครงการราชภักดิ์ว่า ไม่ได้ให้สัมภาษณ์อะไรเลย และตนจะไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้แล้ว เมื่อถามว่า แต่ถึงอย่างไรก็ต้องชี้แจง เพราะถึงมีบทสรุปออกมาถ้าไม่ชี้แจงก็คงไม่ชัดเจน รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า นั้นคือกรอบ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นหมด
นอกจากนี้ มติชนออลไลน์ รายงานการแถลงผลสอบโครงการดังกล่าวของ พล.อ.ไพบูลย์ วานนี้ (23 มี.ค.59)  ตนเคยพูดเรื่องการหักค่าหัวคิวก่อนหน้านั้น แต่ก็ยังไม่รู้ว่าการหักค่าหัวคิวเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร

สรุปไม่ลงทุนกับจีน-พล.อ.ประยุทธ์จะสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราชเอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภริยา ทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจิน ระยะทาง 120 กม. รถไฟทำความเร็ว 300 กม. ต่อชั่วโมง ระหว่างเยือนจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังหารือกับหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนว่า ไทยจะเริ่มสร้างทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมาเอง โดยจะหาแหล่งเงินทุนภายในเดือนกรกฎาคม โดยจีนจะไม่ร่วมลงทุนแต่จะก่อสร้างและติดตั้งเทคโนโลยีให้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงสายโตเกียว-โอซากา เมื่อ 10 ก.พ. 2558 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
23 มี.ค. 2559 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติอ่าวย่าหลง (Yalong Bay) เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 นั้น
ในรายงานของ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการหารือทวิภาคีกับ นายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ว่า ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยสรุปได้ว่า ไทยจะดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อบริการประชาชนในประเทศ เริ่มเส้นทางกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะหารือถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนและการก่อสร้างในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และยังเป็นประตูสู่อีสาน ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่แผ่นดิน ยืนยัน ไทยไม่เสียเปรียบแน่นอน และได้สอบถามกระทรวงการคลัง โดยได้รับการยืนยันว่ามีแหล่งเงินเพียงพอที่จะดำเนินการเองได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า จากการหารือครั้งนี้ทางจีนจะไม่ร่วมลงทุน แต่จะเข้ามาเพียงการก่อสร้างและนำเทคโนโลยีมาติดตั้งให้ ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงเส้นทางต่าง ๆ ในอนาคต ส่วนรถไฟปัจจุบันจะปรับมาให้บริการขนส่งสินค้าแทน
ในรายงานของ มติชนออนไลน์ นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไปยัง จ.นครราชสีมา ว่า ต้องการสร้างประวัติศาสตร์การกำเนิดของรถไฟความเร็วสูงให้แก่ประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากเส้นทางสายอีสานก่อนที่ในอนาคตจะขยายเส้นทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ภายในประเทศ ทั้งเหนือและใต้ ซึ่งวันนี้ถึงเวลาที่ไทยจะต้องริเริ่มสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว ไม่เช่นนั้นจะตามประเทศอื่นไม่ทัน และมั่นใจว่าหากตนไม่ดำเนินการในช่วงเวลานี้ รถไฟความเร็วสูงก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน พร้อมทั้งขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าตนดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ และไม่ให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ รวมทั้งตนไม่ได้มีผลประโยชน์จากเรื่องนี้แต่อย่างใด
“ขอให้ไว้ใจผม ก็ไว้ใจมา 2 ปีแล้ว ยืนยันไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เชื่อมั่นผมได้ โดยตามกติกาในเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องดูในรายละเอียดราคาเงินกู้อีกเล็กน้อย เพราะเรื่องของเส้นทาง ไทยได้ทำการศึกษามาแล้ว แต่ที่ผ่านมาเสียเวลาจากทางการจีนในเรื่องของราคาที่มันต่างกันอยู่ แต่อยากให้ดูด้วยเหตุด้วยผลและข้อจำกัดของแต่ละประเทศ ซึ่งจีนไม่สามารถจะร่วมทุนกับไทยได้ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำ มีแต่การทำเป็นสัมปทานอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาจีนไม่เคยได้ร่วมสร้างรถไฟกับประเทศใด เคยแต่ทำสัมปทาน และหากจะให้เรายกสัมปทานให้จีน เราทำไม่ได้ ซึ่งวันนี้ได้ข้อยุติแล้ว ก็ขอให้ทุกฝ่ายจบเรื่องนี้ได้ และอย่านำประเด็นเรื่องของราคามาสร้างความขัดแย้ง เพราะหากไทยมัวแต่ขัดแย้งกันและไม่ทำอะไรสักอย่าง ในวันนี้ประเทศก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

กรุงเทพโพลล์เผยมี ปชช.ไม่ถึงครึ่งที่หนุนใช้ ส.ว. สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน


24 มี.ค.2559 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,073 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.2 เห็นว่าผู้ที่ควรทำหน้าที่ในการอภิปราย และลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาฯ ควรเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ขณะที่ร้อยละ 29.8 เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของ ส.ว. ที่เหลือร้อยละ 17.0 ไม่แน่ใจ
ส่วนความเห็นต่อการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยวิธีการสรรหาเพื่อทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านควบคู่ไปกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติชุดใหม่ พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.8 เห็นด้วยกับวิธีนี้ ขณะที่ร้อยละ 40.4 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 12.8 ไม่แน่ใจ
สำหรับความเห็นที่มีต่อบัตรเลือกตั้ง นั้น ประชาชนร้อยละ 54.8 เห็นว่า ควรใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยใบแรกใช้เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ส่วนใบที่สองไว้สำหรับเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่ร้อยละ 41.0 เห็นว่า ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งใช้เลือกทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเขตและนำไปคิดสัดส่วน ส.ส.ในบัญชีรายชื่อ มีเพียงร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่แน่ใจ
ทั้งนี้เมื่อถามว่า “นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจาก ส.ส. หรือไม่” ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 56.2 ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมาจาก  ส.ส. เป็นคนนอกก็ได้ ขณะที่ร้อยละ 40.0 ระบุว่านายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น และที่เหลือร้อยละ 3.8 ไม่แน่ใจ
ด้านความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเปิดเผยในวันที่ 29 มีนาคมนี้ พบว่า ร้อยละ 53.2 ไม่ค่อยคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ขณะที่ ร้อยละ 46.8 มีความคาดหวัง
 
รายละเอียดการสำรวจ
 
วัตถุประสงค์การสำรวจ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความคาดหวังที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลสำรวจที่ได้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในการใช้เป็นข้อมูลเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่จะเปิดเผยสู่สาธารณชน ในวันที่ 29 มีนาคม 2559  และเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ
 
ประชากรที่สนใจศึกษา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Simple Random Sampling แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 
      
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 4% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
 
วิธีการรวบรวมข้อมูล  ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) แล้วได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
 
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล   :  22-23 มีนาคม 2559
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ          :  24 มีนาคม 2559

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ จำคุก 3 ปีเสื้อแดงเชียงใหม่ คดีฆ่า ‘พ่อดีเจโต้ง’ เหตุปะทะปี 51


ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 เสื้อแดงเชียงใหม่คนละ 3 ปี เหตุเสื้อเหลืองปะทะเสื้อแดงปี 51 จนบิดาของดีเจกลุ่มพันธมิตรฯ เสียชีวิต ด้านจำเลยอีกรายหนึ่งยังไม่ได้เข้าฟังคำพิพากษา ศาลจึงออกหมายจับ
24 มี.ค. 2559 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ อ.833/2552 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ กับนายนพรัตน์ แสงเพชรและพวกรวม 5 คน ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จากกรณีการปะทะกันระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2551 และทำให้มีผู้เสียชีวิต โดยศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

คดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นำไปสู่เหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งเป็นกลุ่มเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่บริเวณหมู่บ้านระมิงค์ ต.หายยา ใกล้ที่ตั้งของสถานีวิทยุวิหคเรดิโอ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือนายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา ซึ่งเป็นบิดาของนายเทิดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา หรือ "โต้งวิหค" ดีเจแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ (ดูรายงานข่าว)

ต่อมา จึงได้มีการจับกุมดำเนินคดีกับคนเสื้อแดง 5 ราย ในข้อหาร่วมกันฆ่าจากเหตุดังกล่าว ได้แก่ นายนพรัตน์ แสงเพชร, นายประยุทธ บุญวิจิตร, นายบุญรัตน์ ไชยมโน, นายสมศักดิ์ อ่อนไสว และนายพยอม ดวงแก้ว รวมทั้งยังมีการแยกดำเนินคดีคนเสื้อแดงอีกรายหนึ่งในข้อหาเดียวกัน คือนายแดง ปวนมูล แต่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้ (ดูรายงานข่าว)

ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุก 20 ปี ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้โทษเป็นจำคุก 12 ปี โดยระหว่างนั้นจำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวในเรือนจำโดยตลอด ก่อนได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 ก.พ.55 หลังจากที่แต่ละรายถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ลดหลั่นกันไปตามช่วงเวลาถูกจับกุม อีกทั้งระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว นายสมศักดิ์ อ่อนไสว จำเลยที่ 4 ได้เสียชีวิตลง ทำให้คดีนี้เหลือจำเลยจำนวน 4 ราย

การนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในเช้าวันนี้ มีนายบุญรัตน์ ไชยมโน และนายพยอม ดวงแก้ว จำเลยที่ 3 และที่ 5 เดินทางมาศาล โดยศาลได้ใช้ห้องพิจารณาพิเศษในการอ่านคำพิพากษา และอนุญาตให้เฉพาะจำเลยกับทนายความเข้าฟัง โดยไม่อนุญาตให้ญาติหรือผู้สังเกตการณ์เข้าฟังการพิจารณา

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่าจากพยานหลักฐานในคดีไม่สามารถยืนยันได้ชัดแจ้งถึงพฤติการณ์ในการเข้าทำร้ายผู้ตายของจำเลยทั้งสี่ ว่ามีใครทำร้ายผู้ตายให้ถึงแก่ความตายอย่างไร และคนร้ายก็มิใช่มีเฉพาะจำเลยในคดีนี้ แต่ยังมีบางส่วนที่หลบหนีไม่สามารถจับกุมได้ ศาลจึงไม่เห็นว่าจำเลยทั้งสี่คนมีเจตนาฆ่าผู้อื่นในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 288

ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานในคดีฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ถึง 3 และจำเลยที่ 5 มีเจตนาร่วมในการทำร้ายผู้อื่น แต่เมื่อการทำร้ายนั้นทำให้ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก ให้จำคุกคนละ 4 ปี แต่คำรับของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 38 จึงลดโทษให้หนึ่งในสี่ เหลือโทษจำคุกคนละ 3 ปี

ทั้งนี้ นายบุญรัตน์ และนายพยอม เคยถูกจำคุกมาก่อนหน้านี้คนละ 2 ปี 8 เดือนเศษ ทำให้ตามโทษของศาลฎีกา ทั้งสองจะถูกจำคุกอีกราวคนละ 3 เดือนเศษ เจ้าหน้าที่ศาลจึงได้ควบคุมตัวทั้งสองคน เพื่อส่งไปยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ต่อไป

ต่อมา ในช่วงบ่าย นายประยุทธ บุญวิจิตร จำเลยที่ 2 ได้เข้ามอบตัวต่อศาล โดยระบุว่าได้เดินทางมาศาลตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ไม่ทราบว่ามีการใช้ห้องพิจารณาใดอ่านคำพิพากษา และไม่สามารถติดต่อกับใครได้ จึงไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีแต่อย่างใด ศาลจึงได้สรุปคำพิพากษาให้จำเลยฟัง และพบว่าจำเลยเคยจำคุกในคดีนี้มาเป็นเวลา 3 ปีเศษแล้ว ทำให้จำคุกเกินกว่ากำหนดโทษแล้ว จึงไม่ต้องรับโทษอีก อนุญาตให้เดินทางกลับได้ ส่วนนายนพรัตน์ แสงเพชร จำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้เข้าฟังคำพิพากษา ศาลได้ออกหมายจับมาดำเนินคดีต่อไป

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก ระบุว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

กรธ. เผยที่มา ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน กระบวนการสุดท้ายให้ คสช. เลือก

ภาพจากเว็บข่าวรัฐสภา

โฆษก กรธ. เผย ที่มา ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน 250 คน 200 คนแรก คณะกรรมการสรรหาเลือก 400 คน ก่อนส่งให้ คสช.คัดเหลือ 194 คน รวมกับอีก 6 คน จาก ผบ.เหล่าทัพ ขณะ อีก 50 คน กกต.คัดจากผู้สมัครทั่วประเทศได้ 200 คน ก่อนส่งต่อ คสช.เลือก พร้อมให้อำนาจตามงานปฏิรูปจากรัฐบาล และยับยั้งกฎหมายนิรโทษกรรมได้
24 ม..ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมนอกสถานที่ เพื่อพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นรอบสุดท้ายว่า กรธ.ได้พิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบทเฉพาะกาล และพิจารณาตั้งแต่หมวด 1 บททั่วไป คาดว่าในวันนี้จะพิจารณาได้ถึงหมวดที่ 16 เพื่อเหลือเวลาสำหรับพิจารณาทบทวนบทเฉพาะกาลอีกครั้ง  สำหรับข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยเฉพาะที่มา สว. ยืนยันให้คณะกรรมการสรรหา ทำการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม จำนวน 400 คน เพื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 194 คน ส่วนอีก 6 คน กำหนดแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติจะใช้คุณสมบัติเดียวกับ ส.ว. แต่ยกเว้นสำหรับ 194 คน อาจยอมรับให้เป็น หรือเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนได้ ขณะเดียวกัน ส.ว.อีก 50 คน  กรธ. ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เลือกขั้นต้นจากผู้สมัครในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้ได้จำนวน 200 คน แล้วเสนอให้ คสช.เป็นผู้คัดเลือกเหลือ 50 คน และสำรองอีก 50 คน 
อุดม กล่าวต่อไปว่า กรธ. กำหนดให้ ส.ว. มีหน้าที่ เร่งรัด ติดตาม การทำงานของรัฐบาล ในการปฏิรูปประเทศ โดยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศทุก 3 เดือนให้กับวุฒิสภาได้ทราบ รวมถึงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ  โดยให้มีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปหากมีปัญหาให้ทั้ง 2 สภาทำงานร่วมกัน ตลอดจนดูแลเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน หากสภามีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ การตรวจเงินแผ่นดิน หรือ การแก้ไขเพื่อไม่ให้การกระทำบางอย่างไม่ต้องรับผิดทางเพ่งหรือทางอาญา ยับยั้งให้กฎหมายเหล่านี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของทั้ง 2 สภา ซึ่งนับเป็นบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา 5 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
สำหรับประเด็นข้อเสนอของ คสช.ให้ยกเลิกการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ จากพรรคการเมือง ซึ่งมีการอ้างเงื่อนไขหากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถมีมติเลือกนายกรัฐมนตรีตาม ที่มีการเสนอชื่อในบัญชีได้ ที่ประชุมกรธ. เห็นว่าในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีได้ สามารถเปิดทางให้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา ขอให้เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อหาทางออก โดยรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 เพื่อยกเลิกเงื่อนไขเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชี ซึ่งเมื่อรัฐสภามีมติแล้ว จึงให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง