วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

WHO หนุนไทยคงสิทธิหลักประกันสุขภาพ 'ถ้วนหน้า' ไม่ใช่แค่ของคนจน-คนด้อยโอกาส


องค์การอนามัยโลกแนะการมองระบบหลักประกันสุขภาพไทยต้องดูภาพรวมทั้ง 3 กองทุน บัตรทอง ข้าราชการ ประกันสังคม เพื่อการพัฒนายั่งยืนทั้งระบบสุขภาพ เสนอจำกัดการร่วมจ่าย เพื่อป้องกันไม่ให้ครัวเรือนล้มละลายหรือยากจน พร้อมชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพไทยมีประสิทธิภาพสูงในการจัดส่งสุขภาพที่ดีและการป้องกันภาวะล้มลายด้วยต้นทุนที่ต่ำ เป็นแบบอย่างนานาชาติ เสนอปรับกลไกจ่ายเงินให้สอดคล้องกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลัง
21 มี.ค. 2559 นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ในฐานะประธานกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก โดย พญ.มารี พอล คีน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านระบบสุขภาพและนวตกรรม (Dr.Marie-Paule Kieny, WHO Assistant-Director General for health systems and innovation) และ นายโจเซฟ กัทซิน ผู้ประสานงานด้านนโยบายการคลังสุขภาพ (Mr.joseph kutzin, Coordinator, Health Financing Policy) มีข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอการคลังสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ SAFE ที่จัดทำโดยคณะกรรมการฯ ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนการมองระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นองค์รวมของทั้งประเทศ ไม่มองแยกส่วนเฉพาะกองทุนใดกองทุนหนึ่ง และในการปฏิรูปก็ควรดำเนินการทั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อความยั่งยืนของระบบ
ส่วนข้อเสนอเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านความเป็นธรรมนั้น องค์การอนามัยโลกเห็นว่า ควรคงเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของประชาชนทุกคน ไม่เห็นด้วยกับการทำให้หลักประกันสุขภาพเป็นแค่เรื่องของคนจนหรือแค่คนด้อยโอกาส แต่หลักประกันสุขภาพควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ซึ่งวิธีการที่กองทุนบัตรทองของไทยใช้ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่นานาชาติจะยึดถือเป็นแบบอย่างได้
ในเรื่องการเป็นแบบอย่างนี้ องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นความสำเร็จที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าให้แก่คนไทย การลดปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยงบประมาณที่ลงทุนต่ำ เมื่อเทียบกับในหลายประเทศ โดยระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพไทยมีประสิทธิภาพที่สูงในการจัดส่งสุขภาพที่ดีและการป้องกันภาวะล้มละลายด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้นำประสบการณ์ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของไทยบรรจุในรายงานหลายฉบับขององค์การอนามัยโลก รวมถึงเนื้อหาการอบรมการเงินการคลังสุขภาพและการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย
นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกสนับสนุนการมุ่งเน้นของไทยที่จะรักษาระดับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประชาชนให้อยู่ในระดับที่ต่ำเช่นนี้ และระบุว่า ขณะเดียวกันมาตรการป้องกันภาวะล้มละลายของครัวเรือนนี้เกี่ยวข้องค่อนข้างมากกับการร่วมจ่าย ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงขอสนับสนุนมาตรการและเป้าหมายที่มุ่งเน้นการจำกัดการร่วมจ่ายอันจะนำไปสู่ภาวะล้มละลายหรือยากจนของครัวเรือน
“ส่วนข้อเสนอด้านการเงินการคลังนั้น ในส่วนของกองทุนประกันสังคม หากยังคงให้ผู้ประกันตนจ่ายสมทบสวัสดิการสุขภาพทุกเดือน รัฐบาลควรพิจารณายกเลิกเพดานการร่วมจ่าย โดยระบุว่ามาตรการนี้จะช่วยมีเงินในกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ไม่ตกอยู่ในสภาวะถดถอยดังเช่นที่เป็นอยู่”
ที่สำคัญกว่านั้น คือแหล่งที่มาของงบประมาณที่รัฐใช้สำหรับงบหลักประกันสุขภาพ ควรพิจารณาขยายฐานงบกองทุนจากการใช้ภาษีเงินได้ของประชาชน มาเป็นการดึงภาษีจากทุกแหล่ง รวมถึงภาษีลงทุน ภาษีคนรวย เป็นต้น ถือเป็นการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งทุนที่จะป้อนเข้าสู่งบ ซึ่งฝรั่งเศสและฮังการีได้ใช้มาตรการนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาระดับของงบประมาณในกองทุนให้คงที่ไว้ ไม่ให้ลดลง โดยลดผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ของประชาชน
สำหรับประเด็นเพิ่มประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบหลักของไทยนั้น องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเด็นสำคัญคือการจ่ายเงินแก่ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการจ่ายที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการใช้ยาหรือเทคโนโลยีการแพทย์ที่ไม่สมเหตุผล ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนการใช้งบประมาณปลายปิด ดังที่กองทุนบัตรทองดำเนินการอยู่ และได้ระบุถึงข้อเสียหากใช้งบประมาณปลายเปิดในระบบหลักประกันสุขภาพว่า จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคลังของรัฐ และการคุ้มครองประชาชนต่อภาวะล้มละลาย ทั้งยังนำไปสู่การใช้บริการเกินจำเป็นที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดี ดังที่เกิดขึ้นแล้วในจีน และเกิดกับกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของไทย ที่มีรายงานการใช้บริการเกินความจำเป็นและเสี่ยงต่อชีวิตและสวัสดิภาพ
“องค์การอนามัยโลกเห็นด้วยกับข้อเสนอ SAFE ในประเด็นการปรับกลไกการจ่ายเงินให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 กองทุนให้สอดคล้องกัน โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดและตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งการปรับกลไกการจ่ายเงินให้มีความเป็นหนึ่งเดียว แม้ว่าประเทศนั้นๆ จะมีหลายกองทุนสุขภาพ เช่น เยอรมนี และญี่ปุ่น จะช่วยลดความด้อยประสิทธิภาพของการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพได้” นพ.สุวิทย์กล่าว

ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ โพสต์ปลุกระดม ติดคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 2 แสน


ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่จะกำหนดกติกาการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีข้อน่าสนใจเช่น การกำหนดโทษหนักถึง 10 ปี สำหรับการโพสต์ที่ผิดข้อเท็จจริงหรือปลุกระดม ก่อนการทำประชามติ 7 วัน ห้ามมีการเปิดเผยผลโพลที่เกี่ยวกับการออกเสียง กำหนดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงไว้ที่ 18 ปี ส่วนการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่ กกต.กำหนด

รัฐบาลประกาศอย่างไม่เป็นทางการว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะเป็นวันออกเสียงประชามติ ก่อนจะไปถึงวันนั้นรัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นกติกาให้การทำประชามติมีความชัดเจนและสงบเรียบร้อย
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียง หลักเกณฑ์การลงคะแนน ฐานความผิด และบทลงโทษในการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ ยังมีกฎกติกาบางส่วนที่ยังไม่ชัดเจนซึ่งจะถูกกำหนดโดย กกต.อีกครั้ง เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. สำหรับรายละเอียดประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้
 
แสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่ กกต.กำหนด
ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ กำหนดให้ กกต. จัดให้มีการแสดงความเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทุกฝ่าย รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐ หรือภาคเอกชนจัดกิจกรรมรณรงค์ แต่ให้เป็นไปตามแนวทางและรูปแบบที่ กกต.กำหนด รวมทั้งให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมจัดสรรเวลาออกอากาศหรือเผยแพร่ข้อมูลตามที่ กกต.กำหนด
นวัตกรรมใหม่! ออกเสียงผ่านเครื่องลงคะแนน
การลงคะแนนออกเสียงครั้งนี้สามารถทำได้สองวิธี คือ “การลงคะแนนด้วยบัตรออกเสียง” และ “การลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนน” อย่างไรก็ตาม การลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนนจะมีการทดลองใช้เพียงบางหน่วยออกเสียง สำหรับ หน่วยออกเสียงที่ กกต.ประกาศให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนได้ ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถแจ้งความประสงค์ว่าจะลงคะแนนออกเสียงด้วยบัตรออกเสียงหรือเครื่องลงคะแนนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
อายุ 18 ปี ถึงจะมีสิทธิออกเสียง
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่แตกต่างจากการเลือกตั้ง ยกเว้นกำหนดให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง สามารถใช้สิทธิออกเสียงได้ ดังนั้นหากการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นวันที่ 7 สิงหาคม ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปี ในวันดังกล่าวสามารถไปใช้สิทธิออกเสียงได้
ใช้สิทธินอกพื้นที่ หรือย้ายที่อยู่ไม่ถึง 90 วัน ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า 30 วัน
การออกเสียงประชามติครั้งนี้ไม่มีจัดให้มีการออกเสียงล่วงหน้า เพราะการออกเสียงประชามติจะทำวันเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้ที่ไม่สะดวกในการกลับภูมิลำเนาเพื่อออกเสียง และผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันออกเสียง หากต้องการใช้สิทธิออกเสียง ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนก่อนวันออกเสียงอย่างน้อย 30 วัน โดยจะหมดสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงเดิมที่ตนมีชื่ออยู่
ถ้าไม่ “กากบาท” นับเป็นบัตรเสีย
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดลักษณะของบัตรเสียไว้หลายแบบ ซึ่งอาจสรุปอย่างรวบรัดว่า “บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท” คือบัตรเสีย
ค้านผลประชามติได้ ภายใน 24 ชั่วโมง
ประชาชนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงใด หากเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมหลักฐานต่อ กกต. ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง
โพสต์บิดเบือน-ปลุกระดม ติดคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับสองแสน
สำหรับการควบคุมการออกเสียงและบทกำหนดโทษ มีความน่าสนใจโดยเฉพาะมาตรา 62 ที่สรุปได้ว่า
“ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ห้ามเปิดผลโพลก่อนวันลงประชามติ 7 วัน

มาตรา 64 ผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันออกเสียง จนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ฉีกบัตร-ถ่ายรูป-เล่นพนัน เจอโทษหนัก
ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
นำบัตรออกเสียงประชามติออกไปจากสถานที่ออกเสียง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ่ายรูปบัตรออกเสียงประชามติที่ตนได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เล่นพนันผลประชามติ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ