วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์เขียนจม.จากใจ ชี้การเมืองมอมเมา-ลวงตาปชช. ขายฝันรอกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่





15 มี.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ เขียน 'จากใจนายกรัฐมนตรี' ลงใน จดหมายข่าวรัฐบาล เพื่อประชาชน ที่ 2 ฉบับที่ 22 วันที่ 15 มี.ค. นี้ ระบุว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ชีวิตมนุษย์ย่อมต้องการความมั่นคงประเทศชาติก็เช่นกัน วงจรชีวิตเฉลี่ยของคนไทยอาจยาวนานถึง 80 ปี แต่อายุรัฐบาลเพียง 4 ปี โดยสิ่งที่จะประกัน “ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ของพี่น้องชาวไทย คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในอดีตเวลาของเรา นับกันเป็นนาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี แต่ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เรานับเวลาเป็น วินาที เสี้ยววินาที ทำให้ “ความอดทนของเรามีอายุสั้น” ในขณะที่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องการเวลา” ดังนั้น ยุทธศาสตร์การปฏิรูปและพัฒนาประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมีประชารัฐของรัฐบาลนี้ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน จึงต้องการ “เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์” 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า โจทย์ของประเทศในวันนี้ อันเป็นผลจากอดีต (1) ด้านเศรษฐกิจที่มีโครงสร้างไม่รองรับการพัฒนาของโลกพึ่งพาปัจจัยภายนอกประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรโดยปราศจากการเสริมสร้างความเข้มแข็ง (2) ด้านสังคมที่มีแต่ความเหลื่อมล้ำในทุก ๆ ด้าน (3) ด้านการเมืองที่มอมเมาและลวงตาประชาชน ทั้ง “ตาบอดสี” ไม่เห็นสีอื่น เห็นแต่สีตนทั้ง ๆ ที่ทุกคนเป็นสี “ธงไตรรงค์” เหมือนกัน กลับสาดสี แบ่งแยกแบบผิด ๆ อีกทั้ง “สายตาสั้น” มองความสุขเพียงอายุรัฐบาล ถูกกล่อมขายฝัน รอกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ ไม่ยั่งยืน “ยื่นปลา ไม่ยื่นเบ็ด ไม่สอนวิธีหาปลา”
"ผมเชื่อเสมอว่าทุกปัญหามีทางออก หากเราร่วมมือกัน แนวทางประชารัฐที่รัฐบาลนำเสนอ จะเป็นการปฏิรูป ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เป็นเจ้าของประเทศ รัฐต้องไม่ยัดเยียดต้อง “ระเบิดจากภายใน” และต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยเทคนิคการทำงานร่วมกัน “รู้ รัก สามัคคี” ของคนในสังคม ตั้งแต่ระดับฐานราก ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของรัฐ ที่มีธรรมมาภิบาล” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในจดหมาย
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึง 4 เสาค้ำยันสังคมไทยที่ต้องร่วมกันสร้าง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประชารัฐ ประกอบด้วย (1) ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย เป็นหลักประกันสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ขจัดความไม่เท่าเทียม แก้ขัดแย้งด้วยศาล และไม่แบ่งแยก แต่สร้าง “พลังทางสังคม” (2) เน้นการมีส่วนร่วม สร้างภาคีและเครือข่าย “แนวระดับ” ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ปรับดุลยภาพ “แนวดิ่ง” ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่นชุมชนและเสริมศักยภาพของเอกชนและประชาชนให้เข้มแข็งรัฐดูแลต้นทาง กลางทาง ปลายทางให้ (3) เพิ่มพูนประสิทธิผลและประสิทธิภาพของภาครัฐ ทั้งการโครงสร้างการบริหารจัดการงบประมาณ บุคลากร ระบบระเบียบ ให้รองรับการพัฒนาส่งเสริมการทำงานร่วมกัน อย่างโปร่งใส เชื่อใจ ไร้ทุจริต มีระบบประเมินและตรวจสอบได้ (4) มีความหนุนเนื่องของยุทธศาสตร์ชาติ วาระแห่งชาติ และวิสัยทัศน์ร่วมกันของคนในชาติ
 
"หากการสร้างบ้านต้องตามใจผู้อยู่ เป็นจริง ฉันใด พลังศรัทธาในปรัชญาประชารัฐของผมและพี่น้องประชาชน ย่อมนำไปสู่จิ๊กซอว์แห่งพลังสามัคคี ของเจ้าของชุมชน ไปจนถึงเจ้าของประเทศได้จริง ฉันนั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย

คสช. ขอ 250 ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน+งดเปิดชื่อนายกฯ ห่วงหลังเลือกตั้งขัดแย้งอีก


เปิดข้อเสนอฉบับเต็มของ คสช. ต่อร่าง รธน. เผยห่วงประเทศกลัวขัดแย้งช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง ขอ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คานอำนาจกับ ส.ส. ติดดาบเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ งดเปิดชื่อนายกฯ หวั่นหลังเลือกตั้งรัฐบาลผสมตกลงชื่อกันไม่ได้ ขออย่าระแวงว่าจะสืบทอดอำนาจ
15 มี.ค. 2559 ที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้มีการเพยแผร่ ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มาจากการประชุมแม่ 4 สายเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2559 ลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยข้อเสนอดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรม
เรียน ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ในการประชุมหารือเป็นการภายในระหว่างหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินายก รัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ที่ประชุมได้รับทราบตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้ทราบถึงแนวทางและขั้นตอนการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน (Roadmap) ระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง และระยะที่สาม ตามที่เคยประกาศไว้แล้ว นอกจากนี้เมื่อได้พิจารณาถึงสถานการณ์ของประเทศในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแล้ว ที่ประชุมยังมีความเห็นว่าเมื่อเข้าสู่ระยะที่สามใน พุทธศักราช 2560 ตาม Roadmap ดังกล่าว ก็จะเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และการเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศไปสู่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติคณะใหม่ ซึ่งมีเวลาเท่ากับวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของ ประเทศซึ่งอาจประสบปัญหาความรุนแรง ความไม่สงบเรียบร้อยและเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นใหม่ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่ประสงค์จะพบเห็น
ที่ประชุมแสดงความห่วงใยว่าโดยที่ห้วงเวลาหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการยึด อำนาจรัฐที่เมื่อวัน 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นที่ทราบแล้วว่า ภายหลังจากนั้นได้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้กระทำ ผิดในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดียาเสพติด และคดีค้ามนุษย์ อย่างเข้มงวดตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังดำเนินการปฏิรูปประเทศไปแล้วบางเรื่อง มีการออกกฎหมายและขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและเพิ่มความเข้มแข็งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจใน ตลาดโลก การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การจัดระเบียบสังคม และการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมเดชานุภาพมิให้มีการล่วง ละเมิดจาบจ้วงดังที่เคยเกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้น สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลได้ดำเนินการไว้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกระเทือนบุคคลบางหมู่เหล่าเป็นธรรมดาและกำลังฟื้นฟูดูแล ให้เข้ารูปเข้ารอย อาจถูกล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงจนขาดความต่อเนื่อง โดยอาศัยวิถีและกลไกประชาธิปไตยว่ามาจากการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างจึงใช้เสียง ข้างมากในรัฐสภามุ่งเอาชนะคะคานจนเกิดความเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งรุนแรง และความไม่ปกติสุขดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและหวนกลับคืนมาใหม่จนเข้าวงจรเดิมดังที่เรียกกันทางสื่อต่างๆ ว่าเป็นกับดักทางเศรษฐกิจที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศ การทำมาค้าขาย การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว ไม่อาจเติบโตได้ กับดักทางสังคมที่ชะลอการพัฒนาประเทศ การดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของประชาชน การแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการรักษาความสงบเรียบร้อย และกับดับทางการเมืองที่สร้างความหวาดระแวงหรือเกลียดชังในหมู่ประชาชนแล้ว แยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่ายผลักดันให้ออมาปะทะกันทั้งทางความคิด วาจา และการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ในแทบทุกปัญหา รัฐบาลเองก็จะขาดเสถียรภาพ การปฏิรูปและการออกกฎหมายอาจดำเนินการต่อไปไม่ได้ อันจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติล้มครืนลง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการเข้า ควบคุมการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ติดตามรับฟังความเห็นดังกล่าว และข้อแนะนำจากวงการและภาคส่วน ต่างๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และประชาชนอย่างหลากหลายตลอดมา เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์แล้ว สิ่งที่วิตกกังวลมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้สูงโดยพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและ ความพยายามของบุคคลบางหมู่เหล่าที่วางแผนเคลื่อนออกมาต่อต้าน ปลุกระดมและแทรกซึมอยู่ทั่วไปเพื่อทำลายความชอบธรรมและขัดขวางการดำเนินการ ต่างๆ ในการคืนความสงบสุขแห่ประชาชนในขณะนี้ จึงขอเสนอแนวทางการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อพิจารณาดังนี้
1.ปกติแล้วร่างกฎหมายทั้งหลายหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญย่อมต้องมีบทเฉพาะกาลรองรับการดำเนินการที่ทำไปแล้ว และการดำเนินการใหม่ที่ประสงค์จะให้ดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องหรือมิฉะนั้นก็เป็นการกำหนดภารกิจในช่วงรอยต่อระหว่างเก่ากับใหม่ให้พัฒนาไปเป็นลำดับอย่างมั่นคง แม้แต่รัฐธรรมนูญในอดีต เช่น ฉบับพุทธศักราช 2511, พุทธศักราช 2517, พุทธศักราช 2521, พุทธศักราช 2534, พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 ก็มีบทเฉพาะกาลเช่นว่านี้ ซึ่งหมายความว่าในขณะที่บทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญมีผลบังคับอย่างถาวรและเต็มรูปในทันที เช่น หมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ศาล องค์กรอิสระ การปกครองส่วนท้องถิ่น บทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่บางมาตราบางเรื่อง ที่มีเหตุผลและความจำเป็นดังได้กล่าวมาแล้ว อาจต้องการเวลาการพัฒนา และการประคับประคองในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อหรือระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งมีความอ่อนไหวมาก เพื่อให้ประเทศและระบอบประชาธิปไตยเพิ่มความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับตาม มาตรการชั่วคราวที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเสมือนการประคับประคองคนที่เพิ่งฟื้นจากอากาบอบช้ำหรือการเจ็บไข้ได้ป่วยอาการหนัก หากเร่งก้าวกระโดดดังคนปกติที่แข็งแรงแล้วโดยทันทีอาจล้มเจ็บอาการทรุดหนักได้อีก จำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อให้เข้มแข็งมั่นคงอย่างยั่งยืน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าการที่ประเทศไทยจะใช้ระบบสองสภา สภาหนึ่งคือสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งย่อมเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมตามหลักสากล แม้วิธีการเลือกตั้งจะยังเป็นปัญหาโต้แย้งก็ตามซึ่งเป็นปกติของการร่างรัฐ ธรรมนูญทุกครั้ง เพราะทุกวิธีต่างก็มีข้อด้อยข้อเด่นและยังจะเกี่ยวกับความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองหรือผู้สมัครแต่ละคนอีกด้วย ส่วนอีกสภาหนึ่งคือวุฒิสภานั้น สมาชิกวุฒิสภาในบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็มีส่วนที่มาจากการ แต่งตั้งหรือเป็นการดำรงตำแหน่งตามตำแหน่งหน้าที่ ในประเทศไทย สมาชิกวุฒิสภาในอดีตเลยมีที่มาทั้งจากการเลือกตั้ง แต่งตั้ง และสรรหาหรือผสมกัน ซึ่งต่างก็มีข้อดีข้อเสียเช่นกัน แต่เมื่อคำนึงถึงความมุ่งหมายของการให้มีวุฒิสภาตามร่างธรรมนูญฉบับนี้คือทำ หน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูปและเป็นสภากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติในกระบวน การนิติบัญญัติแล้ว ประกอบกับมีข้อเสนอจากประชาชนว่าเพื่อมิให้วุฒิสภาถูกอิทธิพลทางการเมืองชัก จูงหรือครอบงำโดยตรงหรือโดยอ้อม ดังนั้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เริ่มจัดระเบียบทางการเมืองใหม่ มีการบังคับใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและมาตรฐานทาง คุณธรรม จริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเคร่งครัด แม้นักการเมืองบางส่วนจะประพฤติปฏิบัติตามกิตกาและซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่น่าไว้วางใจแต่ก็อาจมีบุคคลบางหมู่บางเหล่าที่พยายามใช้ความได้ เปรียบหรือเสียงข้างมากในรัฐสภาบิดเบื่อนเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์กติกาการปกครอง บ้านเมือง เพื่อสร้างประโยชน์ส่วนตน และในขณะที่ภารกิจในการปฏิรูปทางการเมืองและอื่นๆ ยังต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นนนระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นวาระแรกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการ เลือกตั้ง จึงควรมีบทเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้งตามหลักเณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ปลอดจากพรรคการเมือง สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอย่างน้อยก็ในระยะแรกได้ว่าแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมแต่ก็ช่วยประคับประคองความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป และการสร้างความสามัคคีปรองดองร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการ เลือกตั้งได้ ตามข้อเสนอในบทเฉพาะกาลเพื่อนกรุณาพิจารณาดังนี้
1.1จำนวนสมาชิกวุฒิสภาควรมีจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 250 คน เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนในการใช้อำนาจหน้าที่บางอย่างร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
1.2ที่มา มาจากการสรรหา หรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิโดย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วิธีการควรดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระเป็นกลาง เป็นที่น่าเชื่อถือตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยมีจำนวนประมาณ 8-10 คน
1.3วาระ 5 ปี (ที่จริงควรมีวาระเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี แต่เพื่อให้มีเวลาเหลื่อมออกไปและต่อเนื่องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้ามาใหม่สักระยะหนึ่ง และสอดคล้องกับช่วงเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงควรให้มีวาระ 5 ปี)
1.4คุณสมบัติ เป็นไปตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนด แต่เพื่อประโยชน์ในการดูแลและพิทักษ์รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นที่วางใจแก่ประชาชน ในกรณีที่ต้องมีคุณสมบัติว่า “ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ” ควรเปิดให้สามารถแต่งตั้งข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่งซึ่งมิใช่ สมาชิกในคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปัจจุบัน โดยให้มีจำนวนไม่เกิน 6 คน หรือไม่เกินร้อยละตามสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งได้และไม่มีอำนาจหน้าที่พิเศษกว่าสมาชิก วุฒิสภาคนอื่นในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งข้าราชการ ก็ให้ผู้นั้นพ้นจากความเป็นสมาชิกวุฒิสภา และให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นคนใหม่เข้ามาเป็นแทน คำว่าสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งในที่นี้มุ่งหมายถึงตำแหน่งอันจะเป็นหลัก ประกันด้านความมั่นคงแห่งชาติ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
1.5อำนาจหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาประเภทนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่เลือกหรือกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี แต่ควรให้มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป ตามแผนการปฏิรูป แนวนโยบายแห่งรัฐแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติตลอดจนมีส่วนในกระบวนการนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดส่วนวิธีดำเนินการตามแผนและนโยบายเหล่านั้นย่อมเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีแต่ละคณะจะเลือกใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของตนหรือตามที่หาเสียง เลือกตั้งไว้ และเพื่อให้วุฒิสภาในวาระแรกนี้สามารถทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญมิให้ฝ่าย การเมืองอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรบิดเบือนเจตนารมณ์หรือฝ่าฝืนความ ต้องการของประชาชนและยังสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมเป็นที่พอใจแก่ประชาชน จึงควรให้วุฒิสภามีบทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจหรืออื่นๆ ตามกติการะบบรัฐสภาและกระบวนการยุติธรรมตามสมควรในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย
อนึ่ง เมื่อกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาในวาระแรกตามบทเฉพาะกาลมีจำนวน 250 คน ตามที่เสนอแล้ว หากจะปรับปรุงให้สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 102 ในบทถาวรซึ่งจะใช้บังคับในอีก 5 ปีมีจำนวน 250 คนหรือกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นกันก็จะเป็นการสอดคล้องกัน ทั้งฉบับและสอดคล้องกับความจำเป็นแม้จะยังเป็นเรื่องในช่วงเวลาต่อไปก็ตาม เว้นแต่อนาคตจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้เสียใหม่
2.วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้ใช้แบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น โดยที่มีผู้เสนอเป็นอันมากกว่าควรใช้แบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (350 คน) อีกใบหนึ่งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน) นอกจากนั้น ในกรณีเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้เสนอให้พิจารณาประเด็นที่ให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่เกิน 3 คน แต่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ละคนใช้สิทธิเลือกได้เพียง 1 คน แล้วเรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลดหลั่นลงไปจนได้ครบจำนวนที่ต้องการ ดังที่ใช้อยู่ในบางประเทศ จึงขอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจกำหนดวิธีการเลือกตั้งในระยะแรกตามบทเฉพาะกาลไว้ให้ต่างจากในบทถาวรก็ได้
3.หลักการในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 154 ที่ว่าพรรคการเมืองอาจแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็น ชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อและให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี เฉพาะจากรายชื่อดังกล่าวเท่านั้น ข้อนี้ยังเป็นปัญหาโต้แย้งความเหมาะสมและความจำเป็น หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าสมควรจะใช้มาตรการนี้เพื่อให้เป็นที่รู้ล่วงหน้าว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ใดผู้หนึ่งในบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองแจ้ง ก็ควรคำนึงด้วยว่าโดยที่เรื่องนี้เป็นมาตรการที่เพิ่งจะนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมาและอาจเป็นครั้งแรกในโลกด้วย การพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกาสากลเป็นเรื่องจำเป็นแต่การดำเนินการทุกอย่างและโดยทันทีอาจยังไม่เหมาะสมเพราะอ่อนไหวสุ่มเสี่ยงและอันตราย สำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน แม้ปัจจุบันนี้ประชาชนจะมีความรู้ ความคิด มีการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีตมากขึ้น แต่ผลการสำรวจก็แสดงว่าประชาชนอีกไม่น้อยยังมีฐานะความเป็นอยู่ไม่ดี และรอยร้าวที่เกิดจากการเพาะความแตกแยกในอดีตนานปี หรือผลจากความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงฝังใจอยู่ คนเหล่านี้คือผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งใหม่และถูกผลักดันให้ออกมาปะทะกัน ดังนั้นการนำกติกาใหม่ๆ มาใช้อาจเป็นอีกกับดักหนึ่งที่ปิดทางออกในยามวิกฤติจนทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้
คณะรักษาความสงบแห่งชาติขอเรียนว่าอย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติยินดีจะพ้นจากตำแหน่งและยุติอำนาจ หน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาใน Roadmap และในร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่การประคับประคองสถานการณ์ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของ รัฐบาลใหม่ รัฐสภาใหม่ซึ่งรวมถึงวุฒิสภาด้วยจึงได้เสนอให้ในระยะแรกสมาชิกควรมาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้ง อีกทั้งเป็นเรื่องขององค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายตำรวจทหาร พลเรือนที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนดูแลรักษาสถานการณ์ตามด้วยบทกฎหมายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงควรพิจารณาโดยคำนึงถึงหลักสากลและปัญหาในประเทศไทย ความจำเป็นและความเหมาะสมความอิสระเสรีและความมั่นคง การรุดหน้าทันทีทันใดและการก้าวเดินอย่างระมัดระวังชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบ กับในกรณีนี้ควรพิจารณาถึงอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นเพราะ เหตุที่มีเงื่อนไขเข้มงวด เช่นผู้มีชื่อในบัญชีถอนตัวหรือตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในภายหลัง หรือไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากจนจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ร่วมกับพรรคการเมืองอื่น แต่ไม่อาจตกลงในชื่อบุคคล ผู้สมควรเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของแต่ละพรรคได้ อันจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลประสบปัญหา ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านั้นอาจเห็นชอบร่วมกันให้เสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชี แต่ย่อมไม่อาจทำได้ แม้จะจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ยังน่าวิตกว่าจะทำได้โดยราบรื่นเรียบร้อยหรือไม่ ทั้งมาตรา 154 ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลไว้จึงอาจยืดเยื้อยาวนาน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงอาจแก้ไขเพิ่มเติมให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้อง ทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดขณะเดียวกันเพื่อเป็นการหาทางออกในยามวิกฤติใน ระยะแรกตามบทเฉพาะกาล ก็ควรงดเว้นไม่นำเรื่องการแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความ เห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 ชื่อตามมาตรา 83 และมาตรา 154 มาใช้บังคับ
ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการยึดอำนาจเพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงขอเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญตามผลการหารือมาเพื่อ กรุณาพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
พล.อ.ธีรชัย นาควานิช
เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ศาลไม่รับฎีกาอัยการคดียิงฮ.ทหาร 10 เมษา-‘จ๋า นฤมล’เริ่มต้นชีวิตนวดแผนโบราณ

ภาพจากรายการ Intelligence ช่อง Voice TV

14 มี.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกา คดียิงเฮลิคอปเตอร์ทหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 หมายเลขดำ อ.2702/2553 พนักงานอัยการจังหวัดพระโขนงเป็นโจทก์ ฟ้อง นางนฤมล หรือ จ๋า วรุณรุ่งโรจน์ อายุ 56 ปี นายสุรชัย หรือ ปลา นิลโสภา (เสียชีวิตแล้ว) และนายชาตรี หรือหมู ศรีจินดา อายุ 30 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 265, 268 โดยจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
     
นายอาคม รัตนพจนารถ ทนายความของจำเลย 3 คนในคดีที่ถูกฟ้องว่านำปืนไปยิงเฮลิคอปเตอร์ทหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลฏีกาได้อ่านคำสั่งในวันนี้ว่าไม่รับฎีกาของอัยการโจทก์ในคดีนี้ เป็นผลให้คดีนี้ถึงที่สุด หลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว
อาคม กล่าวอีกว่า เหตุผลเบื้องต้นคือการที่อัยการได้ยื่นคำร้องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอฏีกาในคดีดังกล่าวและอัยการสูงสุดอนุมัติ แต่ปราฏกว่าในฏีกาฟ้องนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ เป็นจำเลยเพียงคนเดียว ทางทนายจำเลยจึงได้ต่อสู้ในข้อกฎหมายว่านับเป็นการที่โจทก์เสนอคำฟ้องใหม่ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้ยื่นฟ้องจำเลย 3 คนทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลฎีกาไม่รับฎีกาในวันนี้จึงถือว่าคดีนี้สิ้นสุดแล้ว จำเลยถือเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม ทนายแจ้งว่าสัปดาห์หน้าจึงได้จะได้สำเนาคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีรายละเอียดที่สมบูรณ์
ส่วนเหตุการณ์ในกวันเกิดเหตุนั้น สื่อมวลชนรายงานว่า ระหว่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณถนนราชนำเนินนอกต่อเนื่องไปถึงถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเฮลิคอปเตอร์บริเวณจุดปะทะการชุมนุม เป็นเหตุให้ พ.อ.มานะ ปริญญาศิริ ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่อาคม ทนายในคดีนี้ระบุว่า การยิงเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่มีปฏิบัติการโปรยแก๊สน้ำตาที่ถนนราชดำเนิน
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า คดีนี้อัยการฟ้องว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน ขณะที่เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มแนวร่วม นปช.กับเจ้าหน้าที่รัฐ จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองอาวุธปืนกลเล็ก (เอเค 47) จำนวน 5 กระบอก ปืน เอ็ม 16 อีก 1 กระบอก ปืนคาร์บิน จำนวน 1 กระบอก ซองกระสุนปืน 17 อัน ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารจำนวน 8 ลูก ระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 4 นัด ระเบิดแก๊สน้ำตาจำนวน 3 ลูก พร้อมเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก ระเบิดแสวงเครื่องประกอบเอง 10 ลูก ขวดเครื่องดื่มชูกำลังบรรจุน้ำมันเบนซินประกอบเป็นระเบิดเพลิง 102 ขวด นอกจากนี้ ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 2 ได้ปลอมและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถปลอม ต่อมาเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมของกลางที่ บ้านเลขที่ 231 ซอยอ่อนนุช 17 แยก 3 แขวงและเขตสวนหลวง กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ
      
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2554 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานชุดจับกุมจะพบของกลางในบ้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงเรื่องการจับกุมดังกล่าวรายงานกลับไปยังกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อีกทั้งหมายคำสั่งค้นก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ยึดสิ่งของใด อีกทั้งขณะตรวจค้นมีการถ่ายภาพปืนกลเล็กที่ซ่อนไว้ในถุงกอล์ฟ ที่ตรวจพบจากท่อระบายน้ำไว้กว่า 20 ภาพ แต่กลับไม่มีภาพดังกล่าวส่งให้พนักงานสอบสวน และไม่มีถุงกอล์ฟหรือถุงดำ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญ จึงให้สงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ไม่ส่งหลักฐานดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนใช้ประกอบคดี อันเป็นข้อพิรุธ ทั้งจำเลยทั้งสาม ให้การปฏิเสธมาตลอด มีเหตุสงสัยตามสมควร ส่วนที่โจทก์มีพยานอ้างว่า เห็นจำเลยทั้งสาม ใช้อาวุธสงครามยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุมนั้น แต่โจทก์กลับไม่มีหลักฐานว่า จำเลยทั้งสามครอบครองอาวุธปืนมา แสดง พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัยว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้ยกฟ้องพวกจำเลย
จำเลยทั้งสามถูกคุมขังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีนาน 1 ปี 4 เดือนเศษ จึงได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ หลังศาลชั้นต้นพิพากษยกฟ้องแล้ว จากนั้นไม่นานสุรชัยเสียชีวิต ขณะที่ชาตรีอยู่ในเรือนจำในคดีอื่น ส่วนนฤมล หรือ จ๋า ได้รับอิสรภาพและเพียงไม่นานเธอถูกคุมขังอีกครั้งในคดีตีทหารจนศีรษะแตกเหตุเกิดในวันที่ 25 ก.พ.2552 ระหว่างที่นปช.มีการชุมนุม ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปีเธอถูกคุมขั้งตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2555 จนครบกำหนดโทษ

ชีวิตอดีตจำเลยหลังติดคุก 2 รอบ

ด้านนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ อดีตจำเลยในคดีนี้ ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบผลว่าคดีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันนี้ว่า รู้สึกดีใจที่ยังมีความเป็นธรรม ความยุติธรรมให้เธอและจำเลยคนอื่นในคดีนี้ แม้ต้องติดคุกอยู่นานปีเศษ ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำประสบความยากลำบากเนื่องจากขาดญาติมิตรเยี่ยมและถูกบังคับให้รับประทานยาจากสถาบันกัลยาราชนครินทร์เนื่องจากเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีอาการเครียดหนัก แต่เธอปฏิเสธ จนกระทั่งได้ออกจากเรือนจำก็ต้องใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่นาน และขาดการติดต่อกับแฟนชาวญี่ปุ่นที่เคยส่งเงินบางส่วนให้ใช้จ่าย
“สิ่งที่สร้างมาด้วยหยาดเหงื่อแทบไม่มีเหลือ ตอนที่ไปจับก็รื้อค้นเหมือนรื้อกองขยะ รูปถ่ายก็ทิ้งหมด ตอนนี้ไม่เหลือรูปถ่ายซักใบ แม้กระทั่งใบเกิด เอกสารต่างๆ ไปหมด เสื้อผ้าก็รื้อทิ้งเป็นขยะเลย ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด พวกโทรศัพท์ ที่อยู่คนต่างๆ ก็ถูกยึดไปราบ 11 หมด” นฤมลกล่าว
“ติดคุกแล้วก็ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่รอยแค้น รอวันที่ประชาชนเอาคืน เพราะคุณรังแกประชาชนไม่มีทางสู้ ประชาชนลืมไม่ลงหรอก รสชาตินี้” นฤมลกล่าว
หลังออกจากเรือนจำ เธอใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่นานกว่าจะตั้งหลักได้ในปัจุบันด้วยการประกอบอาชีพรับจ้างนวดแก้อาการในเวลากลางวันและทำมะม่วงแช่อิ่มฝากขายที่ร้านกาแฟในเวลากลางคืน
“ ออกจากเรือนจำ หาที่ซุกหัวนอนยังไม่ได้ ซมซานไม่รู้เขาจะอายัดตัวไหม ออกมาเช่าโรงแรมม่านรูดถูกๆ นอนเป็นเดือน มันหลอนเรา เพราะตั้งแต่ออกประตูคุกมาก็มีคนตาม โชคดีได้พี่น้องช่วยเหลือบ้าง แล้วเราก็เริ่มทำสละลอยแก้วขาย มีม็อบตรงไหนก็เอาไปขาย จนติดคุกอีกรอบพวกหม้อเม่อก็หายหมด”
“ตอนนี้ก็เริ่มยึดการนวดเป็นอาชีพ ทำไปก็อกๆ แก๊กๆ รายได้มันไม่แน่นอน แล้วแต่ เพราะเราแค่เอาเตียงไปตั้งหลังร้านเขา ร้านคุยกับอดิศรที่ชั้น 4 อิมพีเรียล ลาดพร้าว เราแบ่งเขา 30% ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะก็ต้องใช้แอร์เขา อย่างวันนี้ได้ชั่วโมงนึง เมื่อวานไม่มีลูกค้าเลย วันไหนดีหน่อยก็ได้นวดถึง 4 ชั่วโมง แล้วตอนนี้ก็ทำมะม่วงแช่อิ่มฝากขายที่ร้านกาแฟของ Peace TV ชั้น 5 อิมพีเรียล เก็บเงินได้จะเช่าบ้านทำสละลอยแก้วให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะอุปกรณ์มันหายไปตอนติดคุกรอบที่แล้ว แล้วมันก็ต้องเช่าบ้าน เพราะต้องใช้ตู้แช่กับเตาแก๊ส ห้องเช่าเขาไม่อนุญาต” นฤมลกล่าว
นฤมลยังกล่าวอีกว่า ขอขอบคุณทนายอาคมที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือดำเนินคดีนี้โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย เพราะถึงคิดค่าใช้จ่ายเธอก็ไม่มีจ่าย
“ต้องขอบคุณทนาย ไม่ได้ทนายอาคมก็คงไม่มีโอกาส เพราะเราไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ให้เขาทั้งสิ้น อยากให้ผู้มีจิตศรัทธาหรือมวลชนที่มีโอกาสช่วยแกบ้างเป็นสินน้ำใจ เพราะแกช่วยเหลือคดีคนเสื้อแดงหลายคดี ขณะที่ตัวเองก็อายุเยอะ ป่วยหลายโรคและไม่ค่อยจะมีเงิน” นฤมลกล่าว