วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

สรุปคำแถลงตุลาการผู้แถลงคดี ทำไม ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ไม่ควรถูกไล่ออก


1 มี.ค.2559 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยมีนางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้ฟ้องคดียื่นคำแถลงเป็นหนังสือและวาจาต่อศาล ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้นิติกรผู้รับมอบอำนาจเข้าร่วมการพิจารณาโดยไม่มีการแถลง ขณะที่ ก.พ.อ.ไม่ได้เข้าร่วม
จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็น โดยศาลแจ้งว่าปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อยู่ร่วมรับฟังด้วย แต่ครั้งนี้เห็นควรอนุญาต ตุลาการผู้แถลงคดีสรุปความเห็นว่า เห็นควรให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกดังกล่าวเนื่องจากเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว (อ่านรายละเอียดด้านล่าง) อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งว่า การให้ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีนั้นเป็นระบบปกติของศาลปกครอง ไม่มีผลผูกพันกับคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิจารณาคดี และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8  มี.ค.นี้ ห้องพิจารณาคดี 8 เวลา 9.30 น.
ก่อนหน้าการพิจารณาคดี ภาวิณีให้ข้อมูลว่า หากมหาวิทยาลัยเห็นว่าการไม่กลับมาสอนหนังสือของสมศักดิ์ผิดวินัย ข้อกำหนดมหาวิทยาลัยให้เป็นอำนาจวินิจฉัยได้ว่าจะ “ปลดออก” หรือ “ไล่ออก” หากปลดออกสิทธิประโยชน์ เช่น บำเหน็จบำนาญราชการก็ยังอยู่ แต่กรณีไล่ออกนั้นผู้ถูกไล่ออกจะไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่สมศักดิ์เป็นอาจารย์มายาวนานมาก กรณีนี้ไม่ใช่การทุจริตคอรัปชั่น หรือประพฤติผิดกฎหมาย แต่มีเหตุที่จำเป็นถึงชีวิตที่ทำให้ต้องลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส 
สำหรับกระบวนการพิจารณาคดี ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงแห่งคดีเบื้องต้นและตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของ ก.พ.อ.นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบตามกฎหมายหรือไม่
จากนั้นภาวิณีได้แถลงด้วยวาจาจต่อศาลขอให้องค์คณะเพิ่มเติมการพิจารณาถึงเหตุจำเป็นที่ทำให้สมศักดิ์ไม่สามารถกลับมาปฏิบัติราชการได้ เนื่องจากการถูกฟ้องคดีมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรมโดยกองทัพ การถูกลอบยิงบ้านพักไม่กี่วันก่อนการรัฐประหาร การออกคำสั่ง คสช.เรียกรายงานตัวซึ่งในขณะนั้นไม่มีใครรู้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ และผู้รายงานตัวจะโดนอะไรเนื่องจากไม่ได้รับการอนุญาตให้ติดต่อโลกภายนอก 7 วัน อีกทั้งสมศักดิ์เองยึดถือระบอบประชาธิปไตยจึงดำเนินการตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในการต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะไม่กลับมารายงานตัวและปฏิบัติราชการต่อ อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามในการติดต่อกับคณะศิลปศาสตร์และมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีความจงใจละทิ้งการปฏิบัติราชการ
ภาวิณีแถลงต่อว่า จนถึงปัจจุบันผู้ฟ้องคดีก็ยังอยากกลับมาเป็นอาจารย์ตลอดเวลา เพราะรักการสอนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างยิ่ง หากเหตุการณ์คลี่คลาย อันตรายต่างๆ พ้นไปก็ยังอยากกลับมาสอนหนังสือที่นี่จนเกษียณอายุราชการ
ภาวิณีแถลงอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2  ยังมีสภาพไม่เป็นกลาง โดยสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็น สนช. ขณะที่ ประธาน ก.พ.อ. คือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาสัย เป็นสมาชิก คสช. และ รมว.ศึกษาธิการ ในวันประชุมออกคำสั่งไม่รับอุทธรร์ของสมศักดิ์ พล.ร.อ.ณรงค์ก็ร่วมประชุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายวิจิตต์ รักถิ่น ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็นที่เห็นควรเพิกถอนคำสั่งไล่ออกดังกล่าว โดยสรุปความได้ว่า
ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่ามีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของราชการอันทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง และละทิ้งหน้าที่เกิน 15 วันโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่
ปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอลาไปปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการในวันที่ 16 พ.ค.2557 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการคณะและคณบดีแล้ว แม้ไม่จะยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับอนุมัติลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย.2545 โดยได้รับอนุมัติในวันที่ 15 ต.ค.2545 อันเป็นการอนุมัติภายหลังสิ้นสุดการลาแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีได้ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ตั้งแต่ 1 ส.ค.2557 จนถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งยุติการขออนุญาตของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 28 ม.ค.2558  จึงถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการและละทิ้งหน้าที่เกิน 15 วันโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2557 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนข้ออ้างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระบุว่าได้ ผู้ฟ้องคดีได้รับบันทึกจากหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ลงวันที่ 18 ธ.ค.2557 แจ้งว่าการพิจารณาอนุมัติการลาล่าช้า ล่วงเลยถึง 6 เดือนแล้วยังไม่ได้รับการพิจารณามหาวิทยาลัย จึงให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีก็ยังเพิกเฉย แล้วยื่นหนังสือลาออก นับเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ขณะผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งจากหัวหน้าภาคให้กลับมาสอนดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่กลับเข้ารับราชการและยื่นใบลาออกทันทีเมื่อ 19 ธ.ค.2557 ให้มีผลวันที่ 30  ธ.ค.2557 ถือว่ามีเหตุผลจำเป็นพิเศษ การไม่สามารถยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยเสียหายอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด
“คดีหนัง Insect in the backyard ที่ผู้กำกับหนังเรื่องนั้นฟ้องให้เพิกถอนการแบนหนัง ตุลาการผู้แถลงคดีก็อ่านความเห็นในทิศทางเดียวกัน ผู้กำกับฟังความเห็นถึงกับน้ำตาไหล แต่ในการพิพากษาก็กลับออกมาในทิศทางตรงกันข้าม เราจึงต้องจับตาดูวันพิพากษา 8 มี.ค.นี้ และคดีนี้ก็เป็นคดีแรกที่ศาลนัดฟังควาเห็นตุลาการผู้แถลงคดีพร้อมกับนัดฟังคำพิพากษาที่ห่างกันเพียง 7 วัน โดยปกติจะนัดที่ละนัด และทิ้งช่วง 1 เดือนหรือมากกว่านั้นก่อนการสรุปเป็นคำพิพากษาสุดท้าย” ภาวิณีกล่าว
ภาวิณีกล่าวอีกว่า หากวันที่ 8 มี.ค.องค์คณะพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกด้วยเช่นเดียวกับวันนี้ และผู้ถูกฟ้องไม่อุทธรณ์ก็จะมีผลให้สมศักดิ์ยังคงสถานะอาจารย์มหาวิทยาลัย สมศักดิ์จึงมีสิทธิ์ที่จะลาออกจากราชการตามปกติหากเห็นควรว่ายังไม่สามารถกลับมาได้ซึ่งจะส่งผลจะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญที่สะสมไว้ตลอดชีวิตอาจารย์

ฎีกายืนจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา จตุพรหมิ่นอภิสิทธิ์ เหตุปราศรัยหาว่าสั่งปราบปราม-ฆ่าประชาชน


2 มี.ค. 2559 ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ถึง 15 ก.พ. ปี 53 นายจตุพรได้กล่าวปราศรัยกล่าวหานายอภิสิทธิ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าสั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร โดยศาลฎีกา ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า ในส่วนที่นายจตุพรปราศรัยว่านายอภิสิทธิ์ หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารนั้น ยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งให้ร้าย เนื่องจากนำข้อมูลมาจากรายงานการตรวจสอบของจเรทหารบก
ส่วนกรณีที่นายจตุพรปราศรัยว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสั่งปราบปรามและฆ่าประชาชน เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน เป็นการเจตนาใส่ความดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น ฎีกาของนายจตุพร ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี พร้อมลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วัน
 
"วันนี้ผมไปฟังคำตัดสินของศาลฎีกา ในคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฟ้องหมิ่นประมาทผม ถ้าโชคดีคงได้กลับมา ถ้าโชคไม่ดีคงต้องรอจนกว่าผมจะกลับมา ไม่ว่าจะมีอิสระภาพหรือไม่ ผมจะทำหน้าที่โดยไม่ทรยศต่อวีรชน ชีวิตและอิสระภาพมอบให้กับการต่อสู้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น บนหนทางนี้เรายังต้องสู้อีกยาวไกล ถ้ามีโอกาสจัดรายการพรุ่งนี้ก็พบกันอีก ถ้าไม่ได้กลับมาก็รอจนกว่าจะพบกันอีก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหัวใจผมยังเหมือนเดิม" นายจตุพร  กล่าวผ่านรายการมองไกล ก่อนไปฟังคำพิพากษา

NDM จี้ปล่อยตัว 'วัฒนา' ทันที อัดคุมตัวปรับทัศนคติ ยิ่งตอกย้ำคำวิจารณ์ว่า “อีคิวต่ำ”


2 มี.ค. 2559 กรณี วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวจากบ้านพักเพื่อเข้า มทบ.11 เพื่อสอบถาม หลังจาก วิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าใช้คำพูดไม่เหมาะที่กล่าวถึงทหารตามไปถ่ายรูป ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงศาลาสวดศพว่าเป็นเพราะ "ท่านสวย" นั้น (อ่านรายละเอียด)
โฆษก คสช.ชี้เหตุกล่าวหา-พาดพิงบุคคลอื่น บิดเบือน คสช.ไม่คืนอำนาจ
ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี  โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงกรณีทหารเชิญ วัฒนา มาพูดคุย ว่า หากเป็นการให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้กรอบและช่องทางที่กำหนด สามารถกระทำได้ แต่การแสดงออกที่เกี่ยวพันกับเรื่องทางการเมืองยังคงอยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งการให้ความเห็นของนายวัฒนาล่าสุด มีลักษณะไปกล่าวหา พาดพิงบุคคลและองค์กรที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจ คสช.คลาดเคลื่อนไป เช่น บางเนื้อหามีการกล่าวหาว่า คสช.สร้างความเสียหาย หรือทำให้เกิดการตกต่ำ รวมทั้งบิดเบือนว่า คสช.จะไม่คืนอำนาจ เป็นต้น จึงเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่เชิญมาปรับความเข้าใจ
“แม้ว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจได้ว่านายวัฒนาได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแก้ปัญหาของ คสช. จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าตัวมีอคติ รู้สึกไม่พอใจและมีทัศนคติที่เป็นลบตลอดเวลา แต่เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องดูแลสถานการณ์ให้เกิดบรรยากาศที่สงบเรียบร้อยที่สุด ส่วนการให้ความเห็นใด ๆ ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน ควรต้องระมัดระวัง และอะไรที่ดูเกินกว่าขีดระดับที่เจ้าหน้าที่ประเมินไว้ ก็จำเป็นต้องมีการตักเตือนและปรับความเข้าใจกันบ้าง” โฆษก คสช. 
 
NDM จี้ปล่อยตัวทันที อัดการคุมตัววัฒนา ยิ่งตอกย้ำคำวิจารณ์ว่า “อีคิวต่ำ” 
 
ขณะที่ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM) ได้ออกแถลงการณ์ กรณีการควบคุมตัววัฒนา ดังกล่าวว่า NDM มีความเห็นว่า คสช. กำลังคุกคามประชาชนโดยมีสาเหตุจากเพียงความไม่พอใจส่วนตัวของผู้นำ คสช. เท่านั้น เป็นการกระทำที่น่าละอาย และยิ่งตอกย้ำคำวิจารณ์ของ วัฒนา ว่า “อีคิวต่ำ” ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
 
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว วัฒนา ในทันที และยืนยันว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและบุคคลในรัฐบาลเป็นสิ่งที่กระทำได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ตาม

พล.อ.ประวิตร เข้มปรับทัศนคติ 3-7 วัน 'เพื่อไทย' จี้ปล่อยตัว 'วัฒนา' ทันที ชี้ละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง


พล.อ.ประวิตร เตรียมใช้มาตรการเข้มกรณีแสดงความเห็นสร้างความขัดแย้ง ปรับทัศนคติ 3-7 วัน ใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อเอาผิด ด้าน 'เพื่อไทย' จี้ปล่อยตัว 'วัฒนา' ทันที ชี้คุมตัวละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
2 มี.ค. 2559 จากกรณี นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวจากบ้านพักเพื่อเข้า มทบ.11 เพื่อสอบถามและปรับทัศนคติ หลังจาก วิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าใช้คำพูดไม่เหมาะที่กล่าวถึงทหารตามไปถ่ายรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงศาลาสวดศพว่าเป็นเพราะ "ท่านสวย" นั้น (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีดังดล่าวว่า เรื่องใดที่ยังไม่มีความชัดเจน อย่าเพิ่งแสดงความคิดเห็นหรือไม่พูดในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง
“การเชิญตัวไม่เกี่ยวข้องกับนายวัฒนาตำหนิผม แต่เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นที่ทำให้สังคมเข้าใจผิด คสช.ก็ต้องเชิญพูดคุย ทั้งนี้ไม่ห่วงการที่ฝ่ายการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากต่อหลายเรื่องในขณะนี้ และเมื่อเชิญมาแล้ว นักการเมืองที่ถูกปล่อยตัวยังแสดงความคิดเห็นอยู่ ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เพราะประเทศไทยมีคนถึง 70 ล้านคนย่อมมีคนที่เห็นต่างบ้าง แต่หากพูดในเรื่องที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หากพูดร้อยครั้งก็จะเชิญมาร้อยครั้ง และนับจากนี้ไปการเชิญตัวปรับทัศนคติแต่ละครั้งจะใช้เวลา 3-7 วัน และจะใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อเอาผิด” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
'เพื่อไทย' จี้ปล่อยตัว 'วัฒนา' ทันที ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างร้ายแรง
 
ด้าน พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์กรณีดังกล่าวด้วยว่ากันว่า การดำเนินการของกำลังทหารดังกล่าว ผิดวิสัยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิบัติกับประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งกำลังพักผ่อนอยู่กับครอบครัวประกอบด้วยภรรยาและบุตรี ภายในบ้านพักซึ่งเป็นเคหสถานส่วนตัว  ทั้งนี้ กำลังทหารดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย และน่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ดังนี้
 
1. ใช้กำลังทหารจำนวนมาก ล้อมบ้านนายวัฒนาฯ ไว้ เป็นที่ตระหนกตกใจแก่ครอบครัวนายวัฒนาฯ และบุคคลในหมู่บ้านที่พบเห็น
 
2. ใช้กำลังทหารจำนวนหนึ่งล้อมบ้านไว้ และอีกประมาณ 10 นาย ถือวิสาสะเดินเข้าไปในบริเวณบ้าน ในสนามหน้าบ้าน รวมทั้งเข้าไปในห้องรับแขกภายในบ้าน โดยไม่มีหมายค้น หรือหมายจับ
 
3. ใช้กำลังทหารจำนวนหนึ่ง ตรึงกำลังอยู่ที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อกันมิให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปรายงานข่าวตามวิชาชีพและหน้าที่ของสื่อมวลชน เพื่อปิดหูปิดตาประชาชน
 
4. เวลาประมาณ 10.00 น. นายวัฒนาฯ พร้อมครอบครัวได้ลงมาพบกับนายทหารที่ชั้นล่างของบ้าน และนายวัฒนาฯ ได้ถูกควบคุมตัวนั่งรถของหน่วยทหารออกไปจากบ้านพัก โดยไม่ทราบเป้าหมาย ครอบครัวและผู้ติดตามพยายามที่จะใช้สิทธิที่จะทราบสภาพที่ถูกควบคุมตัว เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดยาประจำตัว  แต่ไม่อาจดำเนินการได้ เพราะถูกหลอกให้หลงทางในการติดตามรถที่คาดว่านายวัฒนาฯ นั่งอยู่
 
จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การดำเนินการใช้กำลังทหารจำนวนมากที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาล ได้เข้ามาควบคุมตัวนายวัฒนาฯ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาล เพื่อเร่งดำเนินการดังนี้
 
1. ขอให้ปล่อยตัวนายวัฒนาฯ ทันที หากนายวัฒนาฯ กระทำผิดกฎหมายใด ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มิใช่ใช้กำลังทหารจำนวนมากเข้ามาข่มขู่ ควบคุมตัวไปตามอำเภอใจ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
 
2. ขอให้รัฐบาลยืนยันหลักประกันด้านสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งแม้แต่รัฐบาลเองก็บัญญัติไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557  ขอเรียนว่า ประชาชนคนไทยจำนวนมากรวมทั้งนานาชาติให้ความสำคัญและติดตามประเมินการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลนี้อย่างใกล้ชิด
 
3. พรรคเพื่อไทยได้ติดตามการให้ความเห็นของนายวัฒนาฯ ที่แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะมาโดยตลอด เห็นว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต มิได้ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองแต่ประการใด และหากเห็นว่าความเห็นของนายวัฒนาฯ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ใด  ก็สามารถใช้สิทธิดำเนินการตามกฎหมายได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังทหารจำนวนมากมาดำเนินการกับคนๆ เดียว เหมือนกับว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีขื่อมีแป
 
พรรคเพื่อไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของบุคคล เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดี และไม่เป็นการทำลายภาพลักษณ์และบรรยากาศโดยรวมของประเทศ จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน