วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พลเรียนและเครือข่าย ตั้งวงเสวนา อัด รธน.ฉบับมีชัย ลดสิทธิด้านการศึกษา


ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายทางการศึกษา มช. กลุ่มพลเรียนและชุนชนนักกิจกรรมภาคเหนือ ชี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ลดสิทธิด้านการศึกษา 4 ประเด็น ยันจะไม่หนุนร่าง เว้นยกร่างฯใหม่ ให้การจัดการศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรียนฟรีที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 12 ปี 
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายทางการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม ม. เชียงใหม่ กลุ่มพลเรียน (Eduzen) และ ชุนชนนักกิจกรรมภาคเหนือ ได้จัดงานเสวนา "การศึกษาในรัฐธรรมนูญไทย" ณ ห้อง 4509 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยมี รศ.ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์การศึกษา จากวิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มช. และ ชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก นำอภิปราย
โดย ผู้จัดงานเสวนาฯ ระบุว่าข้อสรุปที่ได้จากการวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามที่ระบุไว้ในความตาม หมวด 5 มาตรา 50  ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ได้มีการยกร่างขึ้นมานั้น ทางเครือข่ายผู้จัดงานเสวนา ได้มีเห็นร่วมกันว่า ความที่ระบุไว้ตามมาตราดังกล่าว นำไปสู่การ “ลดทอนสิทธิทางการศึกษา”  ในมิติด้านต่างๆ ดังที่ได้เคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 และ 2550 โดยจะส่งผลกระทบต่อ “แนวนโยบายและรูปแบบการปฏิบัติทางการศึกษา”  ดังต่อไปนี้
  • 1. นำไปสู่การลดทอนโอกาสทางการศึกษา  โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนหรือมีรายได้น้อย  เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล  เด็กพิการ  เด็กเร่รอนและเด็กผลัดถิ่น ทั้งนี้ความในมาตรา 50 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ระบุว่า “การจัดการศึกษาให้ฟรีอย่างถั่วถึงจะครอบคลุมเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ (ซึ่งหมายถึง ประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น)” เท่านั้น นั่นก็หมายความว่า เด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต้องการศึกษาระดับมัธยมตอนปลาย จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ได้แก่ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา  ค่าหนังสือเรียน ตําราเรียน ค่าชุดเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน  ค่าเดินทางไปเรียน และค่าอาหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งนับวันก็จะยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น    ฉะนั้น โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งในสายสามัญและสายอาชีวศึกษาของเด็กชายขอบและเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ก็จะถูกลิดรอนหรือลดทอนลง ทั้งนี้ก็เป็นปัญหาที่อาจจะนำไปสู่วิกฤติทางการศึกษาของชาติได้
  • 2. นำไปสู่การลดทอนสิทธิ อำนาจและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่  ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ องค์กรศาสนาและองค์กรเอกชน ทั้งนี้ ความตามในมาตรา 50 ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งหมายถึงว่าให้รัฐมีสิทธิ์ “ผูกขาด” ในการการจัดการศึกษาเพียงเท่านั้น   การจัดการศึกษาจึงไม่ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเหมือนในทศวรรษที่ผ่านมา
  • 3. นำไปสู่การลดทอนคุณภาพการศึกษา ดังที่กล่าวมาข้างต้น  ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด บทบาทในการจัดการศึกษา จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ถูกลดทอนลง โดยกำหนดให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการจัดการศึกษาผ่านนโยบายรวมศูนย์ที่จัดระบบการศึกษาให้เหมือนๆกันกับทุกโรงเรียน  และกับผู้เรียนทุกกลุ่ม โดยไม่คำถึงบริบทความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้เรียน   โดยเฉพาะผู้เรียนที่อยู่บนพื้นที่สูงประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือแม้แต่ผู้เรียนที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สังคม ภาษา ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเฉพาะ  การออกแบบและใช้นโยบายการศึกษาและหลักสูตรการศึกษาที่มองข้ามบริบทเฉพาะและการขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากพื้นที่นั้นๆ ก็จะนำมาซึ่งปัญหาในการจัดการศึกษา ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน และปัญหาความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา
  • 4. นำไปสู่การลดทอน การเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาในส่วนของคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชน ซึ่งนับแต้มีการก่อตั้ง “วิทยุชุมชน” ก็ถูกใช้เป็นเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของผู้เรียน เช่น พื้นที่ ภาษา วัฒนธรรม เป็นต้น การจัดการและการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อการศึกษา จึงถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชน  ทว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐและไม่ได้ระบุว่าคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชนสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา
เครือข่ายผู้จัดงานเสวนาฯ จึงมีความเห็นร่วมสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า จะไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ยกเว้นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะมีบัญญัติให้การจัดการศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยระบุให้มีการจัดการศึกษาฟรีที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 12 ปี และเปิดโอกาสให้ “ประชาชนในทุกภาคส่วน” ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง

สนช. ไฟเขียว 'อิสรา อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์' นั่ง 'เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน'

อิสรา สุนทรวัฒน์ (ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา)

พรเพชร ประธาน สนช. เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ รับรองให้ อิสรา สุนทรวัฒน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ระบุเป็นตัวแทนเชื่อมอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรระดับภูมิภาค รัฐบาล และรัฐสภาประเทศต่างๆ 
<--break- />
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ทีผ่านมา สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า นางชลลดา กันคล้อย ที่ปรึกษาระบบงานนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliament Assembly : AIPA) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งมี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานกรรมการฯ ได้เริ่มดำเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ AIPA มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับรองให้ นายอิสรา สุนทรวัฒน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 62 ณ สำนักงานเลขาธิการ AIPA กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับตำแหน่งเลขาธิการ AIPA นับเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของสำนักงานเลขาธิการ AIPA ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวแทนของรัฐสภาสมาชิก ในการเชื่อมโยงและติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการกับอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรระดับภูมิภาค รัฐบาล และรัฐสภาประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการส่งข้อมติและการตัดสินใจของสมัชชาใหญ่ให้รัฐสภาสมาชิกทราบและปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ คนไทยเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การรัฐสภาอาเซียน ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ AIPA มาแล้ว เมื่อ 23 ปีก่อน คือ  นายบุรีรักข์ นามวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ AIPA ของ นายอิสรา ในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้ AIPA มีความก้าวหน้า ส่งเสริมบทบาทของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้บรรลุเป้าหมายของประชาคมอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของพลเมืองอาเซียนต่อไป

มาใหม่ 'ประยุทธ์' แย็บรธน. มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เว้นบางส่วน เมื่อปกติค่อยกลับมาทั้งหมด




เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีโดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความชัดเจนต่อข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อที่ระบุว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นสองช่วง ว่า ถ้าใช้คำพูดว่าเป็นขยัก อาจจะผิด อาจจะทำให้งง ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญสองฉบับ รัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดคือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสองร้อยกว่ามาตรา ซึ่งความหมายตรงนี้คือบทเฉพาะกาล คือถ้าทุกคนคิดว่าจะต้องมีการปฏิรูปในช่วงระยะเวลาแรกที่เปลี่ยนผ่าน มันควรจะต้องมีระยะเวลาหรือไม่ บทนั้นบทนี้ยกเว้นเป็นกาลชั่วคราวได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ได้หมด เพราะในรัฐธรรมนูญก็ต้องพูดถึงกระบวนการทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมาแล้วมันก็เกิดปัญหา
"ถ้าทุกคนคิดว่าจะต้องมีการปฏิรูป ในช่วงระยะเวลาแรก ที่เปลี่ยนผ่าน มันควรจะต้องมีระยะเวลาไหมว่าบทนั้นบทนี้มันยกเว้นเป็นการชั่วคราวได้ไหม เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ไม่งั้นมันก็ทำไม่ได้หมดอะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฉะนั้นในช่วงแรกจะสร้างความเข้าใจว่า วาระประเทศชาติจะมั่นคงแข็งแรงภายในรัฐบาลหน้า โดยช่วงนี้ก็ต้องมีการปรับวิธีการบริหารราชการ แต่ไม่ได้ปรับทั้งหมด เช่น เรื่องของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จำเป็นหรือไม่ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในช่วงนี้ และเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพียงกรอบงานกว้างๆ ซึ่งจะไปทำอย่างไร เพื่อให้ลงไปสู่วิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำตาม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เรามองระยะยาวใน 20 ปี ส่วนแผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดต่อไป จะทำอย่างไรก็ทำไป แต่ต้องทำตามนี้ด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนโยบายพรรค เพราะบางทีไม่มีไกด์ตรงนี้ ก็เดินไปซ้ายขวา แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองก็วุ่นไปหมด ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลเดินสองทาง ก็จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ขณะเดียวกันการเมืองก็เดินคู่ขนานไปด้วย แต่ถ้าจะถามว่าต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ ก็ต้องมีและต้องมีอะไรสักอย่างเพื่อที่จะควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่ หรือจะเป็น ส.ว. หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกลไก ที่จะประเมินเท่านั้นเอง ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาทั้งสองสภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่โดยการเปิดอภิปรายการทำงานของรัฐบาลว่าทำอะไรบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร ถือเป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินหรือเปล่า ตรงนี้ไม่รู้
“มันไม่ใช่สองขยักสามขยักหรอก ขยักเดียวนั่นแหล่ะ เพียงแต่ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาสถานการณ์ปกติ ก็กลับมาทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว. ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้ามันต้องเกิดความมั่นใจให้เรา ไม่ใช่เพื่อผม แต่เพื่อท่านทุกคนเข้าใจหรือยัง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังการเลือกตั้งรัฐบาลนี้จะยังอยู่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลังเลือกตั้ง ตนจะอยู่ได้อย่างไร ก็ไม่รู้ เป็นเรื่องที่จะต้องไปพิจารณามา ซึ่งคิดว่าตนก็ทำไว้ให้เยอะแล้ว ก็ไปคิดกันมาบ้าง ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านก็ภายใน 5 ปี ถ้ามันดีขึ้นทุกปีๆ ก็ผ่อนผันลดลงไป เข้ากลไกปกติ ทำไปตามที่เราวางไว้ไม่เห็นจะยาก ถ้ามันดี และถ้าเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลจะง่ายกว่าตรงที่จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อสถานการณ์พร้อม แต่ถ้าใส่ในรัฐธรรมนูญก็ลำบาก นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของตนเอง
"ก็ไม่รู้สิ ภายใน 5 ปีนั่นล่ะ 5 ปี ถ้ามันดีขึ้นทุกปีๆ ก็ผ่อนผัน ก็ลดลงไป ก็เข้ากลไกปกติทำไป ไม่เห็นจะยากเลย ถ้ามันดีนะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขอความชัดเจนว่าในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 4 - 5 ปีนั้น หมายถึง คสช. จะยังอยู่ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนจะอยู่ไปทำไม แต่เขาจะมีวิธีการอื่น แต่หากอยู่ด้วยกลไกปกติ ก็อยู่ไปตนถึงได้บอกว่าจะมีคณะ จะไม่มี หรือจะมีวิธีการไหนก็ไปว่ามา
“ไม่ใช่ว่าผมจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องมายุ่งสนใจกับผมมากนัก ผมมีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองสงบ เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ท่านก็คิดกันต่อสิจะเอาอย่างไร และท่านอย่ามาโทษผม ว่าทำไม่เรียบร้อยไม่สำเร็จ อย่ามาโทษผมแบบนั้น ท่านอยากให้เป็นอย่างไร อยู่ที่ท่านกำหนดของท่านเองทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เสริมความเข้มแข็งเอสเอ็มอี และสร้างนวัตกรรม
สำหรับการประชุม ครม. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการหารือถึงการทำงานของกลุ่มงานทั้ง 6 กลุ่มงาน และข้อเสนอของกระทรวงต่าง ๆ ในประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ การแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ นั้น ปัจจุบันเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในระดับที่ยังสามารถประคับประคองสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ในอนาคตระยะยาวจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิต เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น
สำหรับ ด้านความมั่นคง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นประเด็นที่อ่อนไหวของทั่วโลก และมีความเสี่ยงมากขึ้นจากความขัดแย้ง จากความยากจน และความเหลื่อมล้ำ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นเพื่อใช้ตรวจสอบบุคคลเดินทางเข้าออกประเทศให้มีความทันสมัยเกิดความปลอดภัยมากที่สุด และเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสารสนเทศ ทั้งนี้ การดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่าง ๆ รัฐบาลได้วางแผนอย่างต่อเนื่องในการดูแลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สนามบิน ท่าเรือ จุดจอดรถ เป็นต้น โดยปรับสมมุติฐานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น
ด้านเกษตรกร รัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรลงไปในพื้นที่ทุกหมู่บ้านและชุมชน เช่น มาตรการสร้างผู้ประกอบรายใหม่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในพื้นที่ ส่วนด้านกฎหมาย ต้องเดินหน้าต่อไปในการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูป โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมต่อประชาชนทุกกลุ่ม ส่วนเรื่องกฎหมายที่เป็นปัญหาทับซ้อนต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป