วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สตช. สั่งตรวจสอบสมาพันธ์พนง.สอบสวนจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ คาดอาจมีเบื้องหลัง


15 ก.พ. 2559 จากกรณี พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล ถูกพบเป็นศพในลักษณะผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านพักย่านบางขุนเทียนเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากเขาในฐานะเลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติเคยเข้าร้องเรียนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  เพื่อขอความเป็นธรรมและทบทวนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2559 เกี่ยวกับการยุบเลิกตำแหน่ง และเงินประจำตำแหน่ง พนักงานสอบสวน ตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.59 (อ่านรายละเอียด) โดยหลังจากนั้น พ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยาบาล ในฐานะประธานสหพันธ์พนักงานสอบสวนฯ ดังกล่าวได้แถลงประกาศยุติบทบาท (อ่านรายละเอียด)
วันนี้ ( 15 ก.พ.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานสอบสวน ที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ อาจมีกลุ่มบุคคลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ด้านพล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของตำรวจสายงานสอบสวนค้านคำสั่ง คสช. ยุติลงแล้ว ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้น โดยช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ซึ่งจะมีวาระเกี่ยวกับการแต่งตั้งพนักงานสอบสวน โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะชี้แจงและทำความเข้าใจถึงสิทธิผลประโยชน์อันพึงมีของพนักงานสอบสวนที่ยังคงมีอยู่เช่นเดิม และข้อสรุปที่ได้ในวันนี้จะนำไปชี้แจงกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อไป และยอมรับว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างการตรวจสอบการจัดตั้งสมาพันธ์พนักงานสอบสวน (บางสื่อใช่คำว่า 'สหพันธ์' - ประชาไท) ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยยอมรับว่ามีเพียงสมาคมพนักงานสอบสวน สมาคมเดียวเท่านั้นที่จดทะเบียนถูกต้อง
ส่วนกรณีการเสียชีวิตของพ.ต.ท. จันทร์ เป็นคนละส่วนกับการเคลื่อนไหวให้ทบทวนคำสั่ง คสช. แต่เชื่อว่าอาจมีปัจจัยมาจากความเครียดอื่น  ส่วนกรณีนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ต.ท. จันทร์ อาจถูกฆาตกรรม และมีการนำเสนอข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ พาดพิงผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่ยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติคงไม่มีการฟ้องร้อง
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ยังยอมรับว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการเฝ้าระวังระดับสูงสุดเข้มงวดบุคคลเข้าออก โดยกองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 มีคำสั่งให้ดูแลบุคคลและผู้บังคับบัญชาระดับสูงตามระเบียบอยู่แล้ว หลังปรากฎข้อความผ่านทางไลน์ ให้ตรวจค้นตำรวจนอกหน่วยที่เข้ามาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้ามพกพาอาวุธปืน โดยยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานสอบสวนที่เห็นต่าง และที่ผ่านมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือนายตำรวจระดับสูง ไม่มีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย

ศาลสั่ง 'พุทธะอิสระ - 4แกนนำ กปปส.' จ่าย1.4 ล้าน บุกตึกดีเอสไอ


15 ก.พ. 2559 ผู้จัดการออนไลน์และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 5034/2557 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง หลวงปู่พุทธะอิสระ หรือพระสุวิทย์ธีรธัมโม พล.ต.สมเกียรติ วัฒนวิกย์กิจ นายชุมพล จุลใส นายนิติธร ล้ำเหลือ และน.ส.อัญชลี ไพรีรัก แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) เป็นจำเลยที่ 1-5 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 2,663,409 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากกรณีระหว่างเดือน พ.ย.56 - เดือน ม.ค.57 จำเลยทั้ง 5 เป็นแกนนำ พาผู้ชุมนุม กปปส. ร่วมกันบุกเข้าไปใน อาคารดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ แล้ว ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สายไฟ กล้องวงจรปิด ที่อยู่ในความครอบครองของดีเอสไอ โจทก์
โดยโจทก์หรือดีเอสไอได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล ไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย.57 ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ดำเนินการโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งการแสดงออกถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์ - จำเลย นำสืบแล้ว เห็นว่า กลุ่ม กปปส. ได้จัดการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.56 และสิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค.57 เมื่อมีการยึดอำนาจ โดยระหว่างนั้นจำเลยทั้งห้าเป็นผู้นำชุมนุมที่บริเวณอาคารสำนักงานดีเอสไอของโจทก์ ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยระหว่างการชุมนุมมีการตัดสายไฟฟ้าเมนหลัก และทำให้เครือข่ายระบบอินเตอร์กับคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งระหว่างนั้นดีเอสไอ โจทก์ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารและเครื่องดื่มเพื่อจัดให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาดูแลความปลอดภัยบริเวณอาคารโจทก์ในการดูแลอาคารและทรัพย์สินตามหน้าที่ของโจทก์ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าพาผู้ชุมนุมมายังอาคารโจทก์แล้วมีการตัดสายไฟแล้วไล่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณนั้น ทำให้ข้าราชการโจทก์ไม่สามารถงานปฏิบัติหน้าที่งานได้ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จนโจทก์ต้องย้ายสถานที่ปฏิบัติงานและย้ายเครือข่ายคอมพิวเตอร์-ระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งโจทก์ได้เช่าพื้นที่ของทีโอทีในการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และระหว่างการชุมนุมยังทำให้กล้องวงจรปิดในอาคารโจทก์ได้รับความเสียหายด้วย
      
ส่วนที่จำเลย ต่อสู้ว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม เป็นค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน ที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถได้รับเบี้ยเลี้ยงจากหน่วยราชการอยู่แล้ว ศาลเห็นว่า ค่าใช้จ่ายนี้ เป็นคนละส่วนกัน เพราะเบี้ยเลี้ยงที่เจ้าหน้าที่ได้รับเป็นไปตามกฎหมายจากการปฏิบัติงาน แต่ที่จำเลยบุกเข้าอาคารทำให้โจทก์ต้องมีค่าใช้จ่ายโดยตรงในส่วนนี้ที่เกิดจากการกระทำละเมิดของพวกจำเลย และที่จำเลยต่อสู้ว่า การชุมนุมกระทำโดยสงบ ปราศจากอาวุธถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่า สิทธิดังกล่าวกระทำได้แต่ต้องไม่กระทำสิทธิอื่นของบุคคลอื่นด้วย
      
เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนแล้ว ให้จำเลยต้องร่วมกันชดใช้ให้โจทก์ ในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเครื่องดื่ม-อาหารในการจัดกำลังพลดูแลอาคาร ค่าเสียหายต่ออุปกรณ์ในสำนักงาน โดยเห็นสมควรกำหนดตามพฤติการณ์จำเลยในการเข้าชุมนุม จึงให้หลวงปู่พุทธะอิสระ และพล.ต.สมเกียรติ จำเลยที่ 1-2 ที่ได้เข้าชุมนุมที่ดีเอสไอ ระหว่างวันที่ 13 ม.ค.- พ.ค.57 ร่วมกันชดใช้ให้โจทก์ 899,203 บาท ส่วนนายชุมพล จำเลยที่ 3 ให้ชดใช้ 365,000 บาท และนายนิติธร กับ น.ส.อัญชลี จำเลยที่ 4-5 ให้ชดใช้ 184,931.35 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,449,134.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดฟ้อง คือวันที่ 19 พ.ย.57 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมศาล และค่าทนายความแก่โจทก์อีก 10,000 บาท
      
นอกจากนี้ ผู้จัดการออนไลน์และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์  รายงานด้วยว่า วันนี้จำเลยทั้งห้า ไม่ได้เดินทางมาศาลเพื่อร่วมฟังคำพิพากษา แต่มอบอำนาจให้ทนายความมาฟังคำตัดสินแทน โดยนายคฑาวุธ ทับทิมนิติภู ทนายความของพระพุทธะอิสระ และพล.ต.สมเกียรติ จำเลยที่ 1-2 กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า จากนี้จะนำผลคำพิพากษาไป หารือกับจำเลยทั้งหมด ก่อนว่า จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ 

ทหารมีไว้ทำไม ก็มีไว้ให้อภิสิทธิ์หนีทหารนะซิ



กลุ่มล้อการเมืองฯ ชี้คำถาม #ทหารมีไว้ทำไม เกิดจากบทบาทของ 'ทหารการเมือง'

'วิทเยนทร์ ปชป.' ตอบในฐานะรุ่นพี่ มธ. ต่อคำถาม #ทหารมีไว้ทำไม ชี้ทุกครั้งที่ชาติวิกฤติก็ได้ทหารออกมาป้อง ย้อนถามตัวเองก่อนดีไหม "เกิดมาทำไม" ด้านกลุ่มล้อการเมืองฯ ระบุคำถามดัวกล่าวเกิดจากการวิพากษ์บทบาทของ 'ทหารการเมือง' ขณะที่พล.อ.ประวิตร ยันไม่ติดใจขบวนล้อ อีกแค่ปีกว่าๆ ตนก็ไปแล้ว
15 ก.พ. 2559 หลังจากงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากการชุลมุลและการควบคุมอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหารภายในงานแล้ว ขบวนพาเหรดล้อการเมืองโดยเฉพาะป้าย "มีทหาร ไว้ทำไม ใครกล้าถาม" นั้น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ 
วิทเยนทร์ ปชป. ตอบในฐานะรุ่นพี่ มธ. ทุกครั้งที่ชาติวิกฤติก็ได้ทหารออกมาป้อง
วิทเยนทร์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบลูสกายแชนเนลจำกัด หรือช่องฟ้าวันใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'วิทเยนทร์ มุตตามระ (Vittayen Muttamara) - ปชป' วานนี้ (14 ก.พ.59) ว่า "รุ่นพี่ตอบน้อง" คงเป็นเพราะความเยาว์ความเขลาของน้องๆธรรมศาสตร์จึงถามว่า "มีทหารไว้ทำไม" ในฐานะรุ่นพี่ธรรมศาสตร์อยากจะตอบน้องๆ ว่า "ทุกครั้งที่ประเทศชาติวิกฤติ เราก็ได้เหล่าทหารกล้านี่แหละออกมาปกป้อง" น้องๆ ถามตัวเองเถิดว่า "วันนี้และวันข้างหน้าที่น้องๆโตขึ้นน้องจะทำอะไรให้ประเทศชาติบ้าง เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน" อย่ารอให้คนอื่นมาถามน้องว่า "เกิดมาทำไม"

กลุ่มล้อการเมืองฯ ชี้คำถาม 'ทหารมีไว้ทำไม' เป็นคำถามจากบทบาทของ 'ทหารการเมือง'
ด้านกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจตัวเองด้วยเช่นกัน เมื่อวานนี้ ว่า ปัจจุบันทหารเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติงานของรัฐบาล และสร้างผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะรู้สึกไม่เป็นธรรม เช่น การเข้ามาตรวจสอบการล้อการเมืองของกลุ่มตน และทหารผู้ปฏิบัติงานอย่างหนักในหน้าที่ของเขาจริงกลับถูกแอบอ้างโดย "ทหารการเมือง" อยู่ในขณะนี้  จึงเกิดคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารอย่งที่เกิดขึ้นนั่นเอง
โดย กลุ่มอิสระล้อการเมืองฯ โพสต์อธิบายทั้งหมดดังนี้
....จริงๆแล้ว การตั้งคำถามว่าอะไรมีไว้ทำไมนั้น ล้อการเมืองคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรแก่การนำมานั้งคิดค้นหาคำตอบเป็นอย่างยิ่ง (แต่อย่าโมโหต่อยกันก่อนนะครับ) เพราะในปัจจุบันเราก็มักเห็นคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามใจของใครหลายๆ คนนัก เช่น เราอาจเห็นเจ้าหน้าที่รปภ.บางคน ชอบหลับขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้บางที ก็มีข่าวว่ารปภ.นั้นเป็นผู้ขโมยของเสียเอง เป็นต้น เช่นนี้เอง คำถามที่อาจออกมาจากความรู้สึกผิดหวัง (เซ็ง) ก็คือ "เฮ้อออ แบบนี้จะมีรปภ.ไว้ทำไม" ...
เช่นเดียวกันครับ กับกรณีของรัฐบาลในปัจจุบัน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ทหาร" ได้เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการปฏิบัติงานของรัฐบาลไปแล้ว 
ล้อการเมืองก็ได้พยายาม "ดิ้นรน" เพื่อที่จะแสดงออกว่า บางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่รัฐบาลนั้นได้ใช้ทหาร ในหน้าที่ๆ ประชาชนหลายๆ กลุ่มได้รับผลกระทบในแบบที่พวกเขารู้สึกไม่เป็นธรรมนัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ขบวนล้อการเมืองของเรานี่แหละครับ ที่ก็มิวายโดนตรวจสอบ จับตากันทุกระเบียบนิ้ว จนบางครั้งนักศึกษาผู้เพียงปรารถนาที่จะอยากแสดงออกถึงปัญหาต่างๆของชาติ ผ่านพื้นที่แสดงออกอันน้อยนิดที่พอจะเหลืออยู่บ้าง คืองานฟุตบอลประเพณีนี้ ก็อาจรู้สึกหรือนึกต้องคำถามไปว่า "เฮ้ออ ทำแบบนี้ทำไม ทหารมีไว้ทำไม มีไว้ยึดหุ่นกระดาษกับป้ายผ้าของพวกเราหรอ" ....หรืออีกกรณีคือทหารตัวใหญ่ตัวโตได้ใช้ทหารตัวเล็กๆ เป็นเบี้ยเพื่อเดินเกมส์ทางการเมืองรึเปล่า..แล้วก็ตีโพยตีพายว่าทหารก็ทำงานหนักอย่างอื่นเหมือนกัน แบบนี้ยังจะมาวิจารณ์ถึงหน้าที่ทหารอีกหรอ?? (มักมีการยกตัวอย่างทหารที่ชายแดน) เป็นต้น......เป็นไปได้หรือไม่ว่าความมีเกียรติมีศักดิ์ศรีที่ทหารผู้ปฏิบัติงานอย่างหนักในหน้าที่ของเขาจริงนั้น กำลังถูกเกาะกินแอบอ้างโดย "ทหารการเมือง" อยู่ในขณะนี้ ที่เป็นตัวการทำให้เกิดการตั้งคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย....
เราคิดว่าการที่สังคมของเราสามารถตั้งคำถามได้กับทุกสิ่งว่า สิ่งนั้นมีไว้ทำไมกัน มันเกิดขึ้นมาได้ยังไงกัน จะช่วยให้เราได้มองลึกลงไปถึงรายละเอียดของสิ่งเหล่านั้นเรียนรู้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อสิ่งที่ดีและเหมาะสมขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องสร้างเป็นพื้นที่แห่งความศักสิทธ์ที่ใครมิอาจแตะต้องได้เลย ซึ่งเสี่ยงต่อการนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของบางกลุ่มอย่างยิ่ง โดยผลเสียก็อาจะตกไปอยู่กับสิ่งที่เขาแอบอ้างนั่นเอง ซึ่งบางคนอาจจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก็พลอยโดนไปด้วย..เช่นกรณีทหารมีไว้ทำไมนี้ เป็นต้น
....สุดท้ายนี้เองกิจกรรมที่พวกเราทำลงไปทั้งหมดนั้นล้วนมีความหมายทั้งสิ้น และพร้อมรับกับคำถามว่า"ล้อการเมือง มีไว้ทำไม".....แต่คำถามจะมีคำตอบได้ก็คงต้องมาพูดคุยกันนะครับ...ไมใช่รีบร้อนโมโหกันไปก่อน...เช่นนั้นสังคมไทยคงจะไม่ได้อะไรเลย
พล.อ.ประวิตร ยันไม่ติดใจขบวนล้อ อีกแค่ปีกว่าๆ ตนก็ไปแล้ว
วันนี้ ( 15 ก.พ.59) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณีดังกล่าวว่า ตนได้เห็นภาพทั้งหมดแล้ว ซึ่งอะไรที่สมควรเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ดูแลทั้งหมดแล้ว และตนไม่ติดใจอะไรอยากทำอะไรก็ทำ เพราะมีข้อเท็จจริงให้เห็นอยู่แล้วอย่าเอาไปโยงกับการเมืองเลย และเหลืออีกแค่ปีกว่าๆ ตนก็จะพ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้รัฐบาลใหม่มาประสานงานต่อแต่ขณะนี้ตนก็จะทำงานในวันนี้ให้ดีที่สุด
สำหรับกระแสการตั้งคำถาม ทหารมีไว้ทำไม นั้น เกิดขึ้นหลังจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการเขียนบทความ เรื่อง 'ทหารมีไว้ทำไม' ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 1-7 ม.ค. 2559 (อ่านบทความ) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับการติดแฮชแท็กในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า #ทหารมีไว้ทำไม โดยหลายความเห็นตอบโต้เพียงตัวชื่อบทความของนิธิ โดยไม่ได้ลงรายละเอียดที่นิธิเขียนในเนื้อบทความ หลังเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารบุกอุ้ม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักศึกษาและนักกิจกรรม ในยาววิกาลบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีการยกเหตุการณ์อุ้มประชาชนดังกล่าวมาเพื่อโต้กลับผ่านแฮชแท็กดังกล่าวด้วย

พระฝ่าวงล้อมทหารชุมนุมพุทธมณฑล จี้รบ.เร่งสถาปนาสังฆราช - หนุนพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


15 ก.พ. 2559 ขณะที่ Voice TV รายงานด้วยว่า พระสงฆ์และประชาชน จากศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา และศูนย์ประสานงานเครือข่ายพระเมธีธรรมมาจารย์ ร่วมสัมมนา หัวข้อ "สกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ไทย" ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อแสดงออก ต่อต้านการกระทำของพระพุทธะอิสระ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ของ สปช. พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทูลเกล้าแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และจะอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกันถึงวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.)
ขณะที่ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี มีตำรวจ และทหาร ปิดประตูเข้า-ออกวัด โดยนายเสริมวิทย์ สมบัติ ปลัดอำเภอคลองหลวง เปิดเผยว่า เพื่อทำความเข้าใจกับพระในวัดธรรมกาย เพราะกังวลว่า จะเดินทางไปรวมตัวที่พุทธมณฑล แต่ภายหลังไม่พบว่าจะมีการนำพระหรือมวลชนไปร่วม ตำรวจและทหารจึงได้กลับไป
 

Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่บริเวณหน้าปากทางเข้าสำนักพุทธฯ ได้มีกำลังทหารจากกองพันทหารราบที่ 5 จำนวนกว่า 50 นายพยายามสกัดกั้นไม่ให้รถยนต์ไม่ให้เข้าไปชุมนุมกันในสำนักพุทธ โดยมีพระภิกษุสงฆ์นับร้อยพยายามผลักดันให้ทหารหลีกทางเพื่อให้รถเข้าไป ก่อนที่จะกำลังทหารจะนำรถจี๊ปมาปิดกั้น ทำให้พระไม่พอใจจึงทำการช่วยกันยกรถ ด้านทหารก็พยายามดันกลับไม่ให้ยกรถ จึงเกิดการปะทะกันถึงขั้นชกต่อย ก่อนที่จะมีการห้ามปรามให้ยุติ ซึ่งทหารก็ยินยอมให้รถผ่านไปโดยไม่เต็มใจ เพราะไม่สามารถสกัดกั้นได้ 
นอกจากนี้ในคลิปจากข่าวเวิร์คพอยท์ ประมาณนาทีที่ 3.30 มีเสียงถามพระที่มาร่วมชุมนุมนั้นด้วยว่า "เขาจ้างมาเท่าไหร่"
จากนั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ช่วงเย็นของวันนี้ พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จะมีการแถลงข่าว และอ่านสังฆามติถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ โดยมีเนื้อหายืนยันถึงจุดประสงค์ในการชุมนุนมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1. เสนอให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ 2. ให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในทันที โดยให้เป็นไปตามวาระที่เหมาะสม 3. เพื่อเป็นการแสดงพลังให้พระบางรูปที่เป็นปฏิปักษ์ จาบจ้วงประมุขสงฆ์ให้รู้สำนึกว่าการแสดงพลังไม่ได้ทำได้เฉพาะที่แจ้งวัฒนะเท่านั้น และ ข้อ 4. เพื่อแสดงออกในการปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยความมั่นคงเเละภัยคุกคามตามความเชื่อ
ไพบูลย์ยื่นดีเอสไอ ตรวจสอบการทำหน้าที่สมเด็จช่วง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปกป้องธรรมกาย
สำนักข่าวไทย รายงาน ด้วยว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  นายไพบูลย์ และ นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตพระวัดพระธรรมกาย ยื่นหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอเพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) สืบเนื่องจากมติที่ประชุมมส. ที่ระบุว่าประเด็นลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช  กรณีอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย  เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายสิ้นสุดลงแล้ว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากพิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่าพระลิขิตยังไม่สิ้น สุดเพราะคดี มส.แถลงเป็นคดีที่ฆราวาส 2 รายฟ้องไม่ใช่เรื่องของพระลิขิตซึ่งไม่พบว่าเคยมีการดำเนินการ  แต่มีความพยายามเบี่ยงเบนให้เป็นเรื่องเดียวกัน  นอกจากนี้ยังมีข้อครหาเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าสมเด็จช่วงมีความสัมพันธ์และผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย จึงต้องสงสัยว่าอาจเป็นผู้ให้การช่วยเหลือกัน จึงไม่ต้องการให้พระธัมมชโยสละสมณเพศ  พฤติการณ์ดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องการยื่นให้ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ
 
นายไพบูลย์  ยังเรียกร้องให้ ดีเอสไอตรวจสอบสมเด็จช่วง ที่มีข้อสงสัยอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ทุจริตเชื่อมโยงกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นด้วยหรือไม่ จึงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข้อครหาเกี่ยวข้องกับสมเด็จช่วงว่าได้รับเงินจากพระธัมมชโยหลายครั้ง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับช่วงที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ ยักยอกเงินของสหกรณ์ซึ่งอาจมีเงินบางส่วนถูกนำไปให้วัดปากน้ำภาษีเจริญหรือสมเด็จช่วงด้วย  ทั้งนี้ ยืนยันว่าดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนความผิด มส. เนื่องจากเคยมีคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่าพระภิกษุและพระปกครอง ไม่อยู่ในนิยามของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพราะไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  แต่ในส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนา(พศ.) อยู่ในอำนาจการพิจารณาของป.ป.ช.
 
นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีเครือข่ายคณะสงฆ์ฯนัดรวมตัวที่พุทธมณฑล แสดงความไม่พอใจการเคลื่อนไหวของพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ประเด็นเรียกร้องให้พระธัมมชโยอาบัติปาราชิก ว่า น่าจะเป็นการรวมตัวเพื่อปกป้องมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมองว่าคณะสงฆ์และมส.เป็นพระพุทธศาสนา แต่ในข้อเท็จจริงพระธรรมวินัยเป็นพุทธศาสนา ส่วนคณะสงฆ์และมส.เป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาจึงต้องถูกตรวจสอบได้
 
ด้านพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ รองโฆษกดีเอสไอ กล่าวหลังเป็นผู้แทนรับเรื่องว่า ดีเอสไอจะนำกรณีดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหนังสือจาก มส.ที่จะชี้แจงรายละเอียดของมติที่ประชุมกรณีพระธัมมชโยและตอบมายังดีเอสไอ ซึ่งขณะนี้ มส.ก็ยังไม่ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการให้ดีเอสไอ