วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ยกฟ้องคดี 'อภิชาต' ชูป้ายต้าน คสช.-ศาลระบุกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี

จ.ส.อ.อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ หลังฟังคำพิพากษาที่ศาลแขวงปทุมวัน คดีฝ่าฝืนกฎอัยการศึก ประกาศ คสช. และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 215, 216 และ 368 กรณีชุมนุมต้านรัฐประหาร ที่หอศิลปฯ กทม. เมื่อ 23 พ.ค. 2557 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากตำรวจกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี

ยกฟ้องคดีฝืนกฎอัยการศึก-ขัดคำสั่ง คสช. หนุ่มชูป้ายต้าน คสช. ที่หอศิลป์ กทม. หลังเกิดรัฐประหารเมื่อ พ.ค. 57 ศาลระบุท้องที่เกิดเหตุอยู่เขตปทุมวัน ตำรวจกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี - ขณะที่ 'อภิชาต พงษ์สวัสดิ์' เผยอยากให้คำตัดสินคดีลบล้างมลทินแก่ผู้ต่อต้านรัฐประหารแต่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับให้สิทธิพลเมืองต่อต้านรัฐประหาร

รัษฎา มนูรัษฎา (ซ้าย) หนึ่งในทีมทนายความของคดีให้สัมภาษณ์หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

11 ก.พ. 2559 - ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถ.พระราม 4 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ 363/2558 ความผิดตาม มาตรา 8, 11 พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 215 วรรคแรก, 216 และ 368 วรรคแรก กรณีชุมนุมต้านรัฐประหารของ คสช. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อ 23 พ.ค. 2557 หรือ 1 วันหลังรัฐประหาร
ศาลยกฟ้อง ระบุตำรวจกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ความผิดในข้อหาตามที่ฟ้องเกิดในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นําสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่า กองบังคับการปราบปราม หรือกองปราบ มีอํานาจและหน้าที่ในการสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในท้องที่เขตปทุมวัน ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนจากกองปราบ มีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้โดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง คดีไม่จําต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงประการอื่น
อภิชาตหวังให้คำตัดสินเยียวยาผู้ต่อต้านรัฐประหารแต่กลับถูกดำเนินคดีมากมาย
หลังมีคำพิพากษา อภิชาตกล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นต่อเขาเป็นคดีการเมือง เขาแสดงออกต่อต้านรัฐประหาร ไม่ใช่คนร้ายก่ออาชญากรรม จึงไม่คิดอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อภิชาตยังกล่าวด้วยว่า คำตัดสินของศาลในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้ต่อสู้คดี เพื่อเป็นบรรทัดฐานแก่สังคม โดยเขายืนยันว่ายังมีจิตใจดี กำลังใจดี เพราะมีคนจำนวนมากในสังคมที่ให้กำลังใจในช่วงที่เขาต้องต่อสู้คดี
"ที่ผ่านมาต่อสู้ว่าถูกดำเนินคดี ถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังสิ้นสุดกระบวนการศาล หากมีการเยียวยาด้วยทรัพย์สินก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า คำพิพากษาของศาลในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐาน เพราะเรื่องการชุมนุมต้านรัฐประหารเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติเอาไว้ว่าหากมีการทำรัฐประหาร ประชาชนมีสิทธิคัดค้าน"
"ผมอยากให้คดีของผม ลบล้างมลทินให้กับคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะต่อต้านรัฐประหาร พวกเขาเหล่านั้นไม่มีความผิด คำพิพากษาถือเป็นการเยียวยาคนกลุ่มนี้ เพราะการแสดงออกเพื่อคัดค้านรัฐประหารไม่ใช่การทำผิดใดๆ เลย" อภิชาตกล่าว
ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวหลังเหตุการณ์ชุมนุม 23 พ.ค. 2557 อภิชาตเล่าว่า คืนแรกถูกควบคุมในค่ายทหารเป็นเวลา 1 คืน และอีก 7 วันถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก โดยย้ายไปที่กองบังคับการปราบปราม จากนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 23 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลยกคำร้องฝากขัง อภิชาตกล่าวว่าในช่วงที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเขาไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย แต่มีตำรวจบางนายพูดจาต่อเขาด้วยถ้อยคำรุนแรง
หลังจากได้รับการปล่อยตัวเขากลับเข้าทำงานเมื่อ 25 มิ.ย. 2557 แต่ก็ถูกสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หน่วยงานต้นสังกัดสอบวินัยเนื่องจากไม่มาปฏิบัติหน้าที่เกิน 15 วัน โดยเขาได้ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าถูกควบคุมตัวตามคำสั่งศาล ไม่มีเจตนาขาดราชการ

ศาลยก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเรื่องการจัดระเบียบราชการขีดเส้นตำรวจกองปราบ
สำหรับคำพิพากษาของศาลโดยสังเขป ศาลพิเคราะห์แล้วมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ซึ่งศาลเห็นว่า โจทก์มิได้นําสืบข้อเท็จจริงว่า ความผิดในข้อหาตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนั้น เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่ที่อยู่ในเขตอํานาจการสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม สํานักงานตํารวจแห่งชาติอันเป็นหน่วยงานที่ ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวนคดีนี้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งจะทําให้ ร.ต.ท.ชลิตมีอํานาจในการสอบสวนความผิดนั้นได้
เนื่องจากตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ลักษณะที่ 2 เรื่องการจัดระเบียบราชการในสํานักงานตํารวจแห่งชาติในมาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ว่า “สํานักงานตํารวจแห่งชาติแบ่งส่วนราชการดังต่อไปนี้ (1) สํานักงานผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (2) กองบัญชาการ”
และในวรรคสองของมาตราดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า “การแบ่งส่วนราชการตาม (1) เป็นกองบัญชาการหรือการจัดตั้งกองบัญชาการตาม (2) ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่น ให้ออกเป็นกฎกระทรวงและให้กําหนดอํานาจหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้นแล้วแต่กรณี” แสดงว่าการแบ่งส่วนราชการภายในสํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นกองบังคับการจะต้องออกเป็นกฎกระทรวง และการกําหนดอํานาจหน้าที่ของกองบังคับการจะต้องกําหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับเดียวกัน การออกกฎกระทรวงกําหนดอํานาจและหน้าที่ของกองบังคับการถือเป็นข้อบังคับซึ่งระบุอํานาจและหน้าที่ของตํารวจภายในกองบังคับการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16
เมื่อไม่ปรากฏจากคําเบิกความของพยานโจทก์ปาก ร.ต.ท.ชลิต และไม่ปรากฏจากทางนําสืบของโจทก์โดยมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสํานักงานตํารวจแห่งชาติมาแสดงเป็นพยานหลักฐาน เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าสํานักงานตํารวจแห่งชาติแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการปราบปราม และกฎกระทรวงดังกล่าวได้กําหนดอํานาจหน้าที่ของกองบังคับการปราบปรามไว้ว่าความผิดในข้อหาตามที่ฟ้องซ่ึงเกิดในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นั้น อยู่ในเขตอํานาจและหน้าที่การสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามสํานักงานตํารวจแห่งชาติ
ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นําสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่า กองบังคับการปราบปราม สํานักงานตํารวจแห่งชาติมีอํานาจและหน้าที่ในการสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดข้ึนในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้และฟังไม่ได้ต่อไปอีกด้วยว่า ร.ต.ท. พนักงานสอบสวน กองกํากับการ 1 กองบังคับการปราบปรามสํานักงานตํารวจแห่งชาติมีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวนความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้เช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ร.ต.ท.ชลิตมีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีนี้กรณีจึงฟังไม่ได้ว่ามีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้โดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง คดีไม่จําต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงประการอื่นต่อไปอีก พิพากษายกฟ้อง

คดีก่อนหน้านี้จำเลยรับสารภาพ ศาลสั่งรอลงอาญา ปรับ 3 พันบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการชุมนุมในวันดังกล่าว มีการควบคุมตัวประชาชน 5 คน โดยอภิชาตเป็นหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดี ซึ่งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่อภิชาต ทั้งนี้ภายหลังเหตุรัฐประหารยังคงมีประชาชนถูกดำเนินคดีเนื่องจากชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
โดยผู้ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุม 23 พ.ค. 2557 ก่อนหน้านี้คือ วีระยุทธ คงคณาธาร ปัจจุบันอายุ 51 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 8 และ 11 ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 พิพากษาเมื่อ 3 ก.ค. 2557 คดีนี้จำเลยรับสารภาพ ศาลให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 3,000 บาท ศาลยังเห็นว่าพฤติการณ์คดีไม่ร้ายแรง จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว จึงให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 1 ปี และจ่ายค่าปรับ 3,000 บาท 

ศาลทหารอนุมัติหมายจับ 5 นักกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ เพื่อส่งตัวไปยังอัยการทหาร



11 ก.พ. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี กรณีที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ นางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ ถูกออกหมายเรียกเพื่อมาพบพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวไปยังอัยการ หลังทั้งหมดตกเป็นผู้ต้องหาจากคดีต้องหาว่า มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป เป็นการขัดคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรม นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง
ศาลทหารกรุงเทพให้เหตุผลในการอนุมัติหมายจับเพื่อมาพบอัยการทหารว่า พนักงานสอบสวนส่งหมายเรียกผู้ต้องหาถึง 2 ครั้ง โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ต้องหาไม่มา จึงมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงไม่มารายงานตัวตามนัด ศาลจึงมีความเห็นพ้องตามคำร้องของพนักงานสอบสวนให้ออกหมายจับ
ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายฝ่ายผู้ต้องหาได้ยื่นคัดค้านการออกหมายจับโดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ของ นายสิรวิชญ์อย่างกระชั้นชิด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามีเวลาเพื่อเตรียมการมาพบพนักงานสอบสวน
“พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกในวันที่ 8 ก.พ. 2559 แต่กว่าหมายเรียกจะมาถึงเจ้าหน้าที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. ก็มาถึงเช้าวันที่ 11 แล้วจ่านิวได้รับหมายจากเจ้าหน้าที่คณะก็เป็นเวลาเกือบบ่ายโมงทั้งที่ในหมายระบุให้มาพบตอน 9 โมง” นายอานนท์กล่าว
ทั้งนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรีสรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการทหารโดยมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยมีเพียงนายอานนท์ นำภา นายกิตติธัช สุมาลย์ นายวิศรุต อนุกุลการย์ นางสาวกรกนก คำตา และนายวิจิตร หันหาบุญ เท่านั้นที่มาลงนามกับอัยการทหารเพื่อขอให้มารับฟังคำสั่งว่า เห็นควรฟ้องหรือไม่ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือไม่มาตามหมายเรียก โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มาจากคำสั่ง คสช.

'เอฟทีเอว็อทช์' เตือนประยุทธ์ อย่าหลงคารมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ร่วม TPP ชี้ระบบสุขภาพอาจล่ม

11 ก.พ. 2559 ตามที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ.นี้ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น ล่าสุด กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ผู้นำสหรัฐฯจะใช้เป็นโอกาสสำคัญในการโน้มน้าวให้ประเทศอาเซียนที่เหลืออีก 7 ชาติ รวมทั้งประเทศไทยให้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) เพื่อให้บรรลุนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ คือการกลับมาปักหมุดในเอเชียและปิดล้อมจีน ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งแบบเบ็ดเสร็จให้กับบรรษัทข้ามชาติซึ่งจำนวนมากมีฐานอยู่ในสหรัฐ ขณะที่ประโยชน์ที่จะตกกับประเทศไทยไม่ชัดเจน
“หลังจากที่การเจรจา TPP จบลง ผู้นำสหรัฐฯประกาศว่า นับจากนี้ สหรัฐจะเป็นผู้กำหนดกติกาการค้าในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการลดอำนาจของอาเซียนที่เพิ่งรวมกลุ่มกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันนับจากนี้บรรษัทต่างชาติของสหรัฐจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการแสวงหากำไรสูงสุด ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาและค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น จากการผูกขาดตลาดยา การห้ามต่อรองราคายา และจำกัดไม่ให้รัฐบาลออกนโยบายสาธารณะในการคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องล้มนโยบาย-เรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดินผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยต้องเปิดรับสินค้าจีเอ็มโอ ต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งเกษตรกรต้องแบกค่าเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-6 เท่าตัว” กรรณิการ์ กล่าว
แม้ว่าขณะนี้มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการในไทยจำนวนหนึ่่งในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้ไทยเข้าร่วมเจรจา แต่ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ย้ำว่า การตัดสินใจว่าจะเข้าหรือไม่เข้าร่วม TPP ประเทศไทยต้องใช้ข้อมูลความรู้และงานวิจัยอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน
“เท่าที่ทราบ งานศึกษาที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ทำให้กับกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่าหากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.77% และหากไทยเข้าร่วม TPP และมีสมาชิกอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.06% ซึ่ง กกร.นำมาอ้างอิงให้รัฐบาลเข้าร่วมเจรจา TPP นั้น คณะกรรมการตรวจรับส่งให้กลับไปแก้ไขหลายเรื่องโดยเฉพาะความไม่สมเหตุสมผลในหลายจุด ขณะที่ในส่วนราชการต่างๆ กำลังเร่งศึกษาข้อบทและวิเคราะห์ผลกระทบ จึงอยากให้งานศึกษาต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ ผู้นำรัฐบาลด้านนโยบายเศรษฐกิจไม่ควรไปกดดันให้เร่งสรุปหาทางเยียวยา เพราะนั่นเท่ากับเป็นการตั้งธงให้ข้าราชการชงข้อมูลที่เป็นเท็จ” กรรณิการ์ กล่าว
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า จากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุดโครงการความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. ชี้ว่า แม้ประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา FTA ไม่ได้กระตุ้นการส่งออกมากนัก หากพิจารณาจากสถานการณ์การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ตลาดที่ไทยลงนาม FTA ด้วยมักมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกติดลบ นอกจากนั้น อัตราการใช้ประโยชน์จาก FTA ก็ยังมีจำกัด กล่าวคือ มูลค่าการขอใช้สิทธิ FTA (ทุกๆ กรอบรวมกัน) ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรวม (ใช้และไม่ใช้สิทธิ FTA) ตัวเลขการใช้สิทธิ FTA ทางด้านการนำเข้าก็อยู่ในระดับตํ่า เพียงไม่ถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ขณะที่การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นคงทำได้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะแต้มต่อภาษีที่จะได้จาก FTA ไม่มากพอที่จะชดเชยต้นทุนส่วนเพิ่มจากการปฏิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด และต้นทุนธุรกรรมในการขอใช้สิทธิ
“ดังนั้น เราคงต้องย้อนถามว่า การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้คุ้มค่าหรือไม่ ทั้งในแง่งบประมาณ บุคลากร และเวลาที่ใช้ไปกับการเจรจา ก่อนที่จะเร่งเดินหน้าเจรจาและลงนามต่อไป เวลานี้นับเป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะขณะนี้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจา FTA ใหม่ๆ โดยเฉพาะ New Normal FTA อย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เรียกร้องให้ลดภาษีสินค้า
จำนวนมากให้เป็นศูนย์ทันที และการเจรจาต้องครอบคลุมประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะประเด็นที่ยังไม่ตกผลึกอย่างข้อตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ” งานวิจัยชิ้นดังกล่าวสรุป
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ขนขบวนเข้ามาโน้มน้าวรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า ล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ตนเองทั้งสิ้น ไม่ใช่ผลประโยชน์ของไทย ผู้นำรัฐบาลจึงต้องใช้สติปัญญาอย่างมากในการพิจารณาแยกแยะ
“หากนักลงทุนญี่ปุ่นจะมีการย้ายฐานการผลิตจริงดังที่สถาบันวิจัยบางแห่งกล่าวอ้าง อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าคงย้ายไปนานแล้ว เพราะมีความพยายามเป็นระยะ แต่ที่ย้ายไม่ได้เพราะเครือข่ายโรงงานและห่วงโซ่อุปทานฝังรากลึกในประเทศไทยและเป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่มาก ดังนั้น สภาพขณะนี้จึงเป็นการช่วยกันตีปีป ‘กลัวตกขบวน’ ของภาคเอกชนในและต่างประเทศบางส่วนร่วมกับสถาบันวิจัยบางแห่งโดยไม่มีความชัดเจนว่าไทยจะได้ประโยชน์จริงจากการเข้า TPP ซึ่งมีข้อบทที่ซับซ้อนและปฏิบัติเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยากมาก แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นจริงกับประชาชนทั้งประเทศหากไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ เคยหลงเชื่อกับการตีปีบเช่นนี้ จนลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA เปิดทางให้นำเข้าขยะสารพิษมาทิ้งที่ประเทศไทยเต็มบ้านเต็มเมือง นี่จึงเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำ”
นอกจากนี้ เมื่อวันวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ได้ส่งจดหมายถึงผู้นำอาเซียน 10 ชาติที่จะไปร่วมการประชุมสุดยอดกับผู้นำสหรัฐ ให้ปฏิเสธการเข้าร่วมและให้สัตยาบันกับความตกลง TPP ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อระบบสาธารณสุขทั้งภูมิภาค ขณะที่ทุกรัฐบาลกำลังมุ่งหน้าเพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและก้าวเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “หลายล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงนี้”

แพทย์ยัน 'ลุงบัณฑิต อานียา' ผู้ต้องหา ม.112 เข้าข่ายวิกลจริต แต่ยังต่อสู้คดีได้

บัณฑิต อานียา และปีเตอร์ โคเร็ท เพื่อนชาวต่างชาติ (แฟ้มภาพ)

ศาลทหารไต่สวนแพทย์จากสถาบันกัลยาราชนครินทร์ สรุปว่า อาการของบัณฑิต ยึดติดกับความคิดซ้ำๆ เข้าข่ายลักษณะบุคลวิกลจริต ชี้มีโอกาสก่อคดีเพิ่มอีก แต่ยังสามารถสู้คดีต่อไปได้ จึงให้นัดสืบพยานต่อ ในคดีมาตรา 112 
12 ก.พ. 2559 หลังจากเดิมที่ศาลทหาร มีนัดไต่สวนแพทย์จากสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ผู้ทำการรักษา นายบัณฑิต อานียา นักเขียนวัย 75 ปี จำเลยในคดี 112 แต่เมื่อถึงเวลานัดผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์และแจ้งว่ามีจดหมายจากสถาบันกัลยาฯ แจ้งว่าแพทย์ติดราชการไม่สามารถมาให้การได้ จึงได้เลื่อนนัดหมายเป็นวันที่ 11 ก.พ. แทนนั้น
ล่าสุด 11 ก.พ. ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานว่า ที่ศาลทหารกรุงเทพช่วงบ่าย ห้องพิจารณาคดีที่ 1 นัดไต่สวนแพทย์ คดี ของ บัณฑิต หลังบัณฑิตเข้ารับตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ตั้งแต่ต.ค. 2558 กระทั่งศาลนัดไต่สวนความเห็นของแพทย์ โดยแพทย์ที่มาเบิกความคือ "นายแพทย์อภิชาติ" นายแพทย์ชำนาญการจากสถาบันกัลยาฯ และเบิกความถึงอาการของบัณฑิตโดยสรุปว่า บัณฑิตมีร่องรอยความเจ็บปวด ยึดติดกับความคิดซ้ำๆ มีโอกาสก่อคดีเพิ่มอีกแต่ก็สามารถตอบโต้คำถามแบบคนทั่วไปได้

ต่อมาศาลถามนายแพทย์อภิชาติว่า บัณฑิตสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ นายแพทย์อภิชาติตอบว่าสามารถต่อสู้คดีได้ ทนายของบัณฑิตจึงถามอีกว่า ถ้าจะนิยามอาการของบัณฑิตเป็นจิตเภทหรือวิกลจริตได้หรือไม่ นายแพทย์อภิชาติก็ย้ำว่า อาการของบัณฑิตเข้าข่ายเป็นคนวิกลจริต หลังจากนั้นศาลจึงแถลงว่าคดีนี้บัณฑิตสามารถต่อสู้คดีได้ และจะพิจารณาคดีต่อ โดยให้อัยการและทนายของบัณฑิตนัดวันสืบพยานจนได้ข้อสรุปว่า วันสืบพยานโจทก์กันอีกครั้งวันที่ 4 พ.ค. 2559 เวลา 8.30 น.

iLaw ยังรายงานด้วยว่า เหตุที่ทนายความส่งคำร้องขอส่งตัวบัณฑิตไปตรวจรักษาอาการทางจิต เนื่องจากเขาคยถูกฟ้องคดี 112 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อปี 2548 จากการแสดงความเห็นในงานเสวนาของ กกต. (http://freedom.ilaw.or.th/th/case/69) และศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 4 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ เพราะเห็นว่าเขามีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตเรื้อรัง ความคิดหวาดระแวง การใช้เหตุผลไม่เหมือนคนปกติทั่วไป การแสดงพฤติกรรมออกมามักจะเป็นไปตามอาการผิดปกทางจิต ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่าบีไซด์ (Bizare) 
ทั้งนี้ คดีของบัณฑิตมีการสืบพยานโจทก์แล้ว 1 นัด โดยทนายจำเลยยังไม่ได้ซักค้าน จากนั้นทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องของส่งตัวจำเลยไปตรวจอาการจิตเภท เนื่องจากจำเลยมีประวัติป่วยเป็นจิตเภทต่อเนื่อง และคดี 112 ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาก็ได้พิพากษาไว้ว่าจำเลยมีอาการดังกล่าวและให้รอการลงโทษ ศาลทหารจึงได้มีคำสั่งให้ออกหมายเรียกแพทย์ที่ทำการรักษาจำเลยมาให้ความเห็นว่าจำเลยมีอาการจริงหรือไม่และได้สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่
คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ของนักเขียนวัย 73 ปี โดยเขาเป็นหนึ่งในจำเลยคดี 112 จำนวนน้อยมากที่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี เหตุเกิดจากการที่เขาไปแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาที่จัดโดยพรรคนวัตกรรม เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2557
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานด้วยว่า แพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่รักษา นายอาทิตย์ (นามสมมติ) ผู้ต้องหาในคดี ม.112 ได้ส่งรายงานการตรวจวินิจฉัยโรคและการประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของนายอาทิตย์ให้แก่พนักงานสอบสวน ซึ่งทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สถาบันกัลยาณ์เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 เพียงว่า อาทิตย์เป็นผู้วิกลจริตแต่สามารถต่อสู้คดีได้ 

ผบ.ตร.คาดปม 'พ.ต.ท.จันทร์ ผูกคอตาย' โยงค้าน คำสั่งประยุทธ์ยุบพนง.สอบสวน


ผบ.ตร.คาดปมค้านพล.อ.ประยุทธ์ให้ ม.44 ยุบสอบสวนโยง เลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติผูกคอตาย วัชระ เพชรทอง จ่อยื่นเรื่องถึงหัวหน้าคสช. ไม่เชื่อฆ่าตัวตาย ด้านพล.อ.ประวิตร ยัน ไม่ได้ยุบ 'พนง.สอบสวน' แค่เปลี่ยนชื่อ-ให้คล่องตัวเหมือนทหาร 
12 ก.พ.2559 จากกรณี พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล ผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านพักย่านบางขุนเทียนเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา หลังจากเขาในฐานะเลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติเคยเข้าร้องเรียนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  เพื่อขอความเป็นธรรมและทบทวนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2559 เกี่ยวกับการยุบเลิกตำแหน่ง และเงินประจำตำแหน่ง พนักงานสอบสวน ตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา
ผบ.ตร.คาดปมค้านยุบสอบสวนโยง ตร.ผูกคอตาย
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นเบื้องได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวจาก พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว ส่วนจะเกี่ยวข้องกับนโยบายการปรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนหรือไม่ เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง และยืนยันว่าไม่มีการตัดสิทธิ์พนักงานสอบสวน ส่วนเงินส่วนต่างในระดับ สบ.1-4 จะมีการคิดว่าจะนำกลับมาคืนในเงินตำแหน่งอย่างไร ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา กำลังคิดหาทางแก้ไขและให้การช่วยเหลือที่จะมีการสรุปในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ โดยนโยบายดังกล่าวตนเชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีให้กับพนักงานสอบสวน ให้มีตำแหน่งที่ก้าวหน้าขึ้น และไม่ได้เอารัดเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด ทั้งนี้ขอให้พนักงานสอบสวนมีความใจเย็น อดทนและรอคอยการชี้แจงที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่าฟังข่าวสารภายนอกเพราะจะทำให้เกิดความสับสน
 
วัชระ ไม่เชื่อฆ่าตัวตาย
 
สำนักข่าวไทย ยังรายงานด้วยว่า นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ปชป. ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบและเยียวยากรณีการเสียชีวิตของพ.ต.ท.จันทร์ เพราะเชื่อว่าเกี่ยวโยงกับกรณีที่พ.ต.ท.จันทร์ยื่นหนังสือขอให้หัวหน้าคสช.ทบทวนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 6/2559 และฉบับที่ 7/2559 เรื่อง การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ว่าด้วยการยุบเลิกตำแหน่งและเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งตนได้มาร่วมยื่นด้วย
 
“ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะได้นัดหมายพบกันในสัปดาห์หน้า และพ.ต.ท.จันทร์เคยเล่าว่าถูกเจ้านายกดดันกรณีเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ก่อนจะขาดการติดต่อไป 2 วัน และพบว่าเสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา จึงขอเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษและดูแลคดีนี้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ร่วมชันสูตรพลิกศพพ.ต.ท.จันทร์ด้วย” นายวัชระ กล่าว
 
ประวิตร ยัน ไม่ได้ยุบ 'พนง.สอบสวน' แค่เปลี่ยนชื่อ-ให้คล่องตัวเหมือนทหาร
 
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา มตินออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการอำนาจตามมาตรา 44 ในการปรับโครงสร้างพนักงานสอบสวนว่า ไม่ใช่การปรับโครงการแต่เพื่อให้การสอบสวนมีความคล่องตัวแบบเดียวกับทหาร ส่วนการปฏิรูปตำรวจจะทยอยดำเนินการไปเรื่อยๆแต่ระยะที่ 1 ยังไม่มีการปรับโครงสร้างแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่การยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนแต่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อ และที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนทำงานเป็นเอกเทศทำให้ไม่สามารถสั่งงานหรือช่วยเหลือได้ รวมถึงให้ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในคดีต่างๆ