วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทบ. เตรียมส่ง 'รด.จิตอาสา' ยืนหน้าหน่วยประชามติ - ทหารทุกหน่วยลงคุยปชช.ให้เข้าใจร่างรธน.


ผบ.ทบ.สั่งทหารทุกหน่วยลงพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจร่างรธน.กับประชาชน นรด. เตรียมส่ง 'รด.จิตอาสา' ยืนหน้าหน่วยประชามติ ช่วยปฏิรูปประเทศ ชี้เด็กไปพูดกับคนในวัยเดียวกันก็จะเข้าใจกันง่ายมากขึ้น
4 ม.ค.2559 ที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธีวันสถาปนาหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนครบรอบปีที่ 68 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมี พล.ท วีรชัย อินทุโศภน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ให้การต้อนรับและมีนายทหารระดับสูงของกองทัพบกร่วมพิธี ที่ กองบัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
โดย ผบ.ทบ. มีนโยบายสร้างจิตอาสาให้นักศึกษาวิชาทหาร เป็นมวลชนสนับสนุนกองทัพที่เข้มแข็ง มีอุดมการณ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เชื่อมั่นศรัทธาในกองทัพ และพร้อมร่วมทำงานในการปฏิรูปประเทศกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับประชาชนในร่างธรรมนูญร่างแรก
ผบ.ทบ. ยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า ได้ให้ทหารทุกหน่วยลงพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกมีเนื้อหาเป็นอย่างไร  มีประโยชน์อะไรบ้าง แก้ไขปัญหาทุจริตได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการลงพื้นที่ของทหารจะทำควบคู่กับการรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนที่จะแก้ไขผ่านศูนย์ดำรงธรรม นอกจากนี้จะให้นักศึกษาวิชาทหาร ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญกับพ่อแม่ผู้ปกครองและเพื่อน ๆ ด้วย เพราะการสื่อสารกับคนวัยเดียวกันจะทำให้เข้าใจกันง่ายขึ้น
ขณะที่ พล.ท.วีรชัย  ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “รด.จิตอาสา” ที่ช่วยรัฐบาลทำความเข้าใจเรื่องร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชนว่า โครงการดังกล่าวเราให้นักศึกษาวิชาทหารเป็นผู้ช่วยสร้างการรับรู้ทั้งเรื่องโรดแมปของ คสช. และผลงานที่สำคัญของรัฐบาลให้กับพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนบ้านในชุมชน รวมถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมามีการประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)มาช่วยชี้แจงให้กับนักศึกษาวิชาทหารได้รับทราบในประเด็นที่สำคัญและนำไปขยายความต่อ อีกทั้งให้นักศึกษาวิชาทหารร่วมกับหน่วยทหารลงไปปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับชุดปฏิบัติการมวลชน และชุดกิจการพลเรือนต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาวิชาทหารได้เห็นการทำงานของศูนย์ปรองดองและศูนย์ดำรงธรรมด้วยว่าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างไร และหวังให้เป็นความรู้ติดตัว และช่วยประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่มากขึ้น
พล.ท.วีรชัย กล่าวต่อว่า เมื่อใกล้ช่วงลงประชามติทางนรด.จะประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรธ.จะจัดอบรมให้นักศึกษาวิชาทหารทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ต่างจังหวัดตามโครงการพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานและพร้อมเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ต่อไปด้วย ซึ่งถึงเวลาลงประชามติ เด็กๆ เหล่านี้ก็จะไปช่วยประชาสัมพันธ์อยู่หน้าหน่วยลงประชามติ เพราะเด็กๆ จะได้มีโอกาสช่วยปฏิรูปประเทศที่จะได้เห็นและเข้าใจเพื่อไปบอกต่อ ความเป็นเด็กไปพูดกับคนในวัยเดียวกันก็จะเข้าใจกันง่ายมากขึ้น ต่อไปนรด.มีแนวคิดจะทำแอพพลิเคชั่นขึ้นเพื่อไว้ใช้ติดต่อกันได้ โดยมีสัสดีจังหวัด ศูนย์ฝึก หน่วยฝึกทั่วประเทศ และสถานศึกษาร่วมกันจัดทำบัญชีควบคุมให้ชัดเจน
“ถึงเวลาลงประชามติ เด็กๆ เหล่านี้ก็จะไปช่วยประชาสัมพันธ์อยู่หน้าหน่วยลงประชามติ เด็กๆ จะได้มีโอกาสช่วยปฏิรูปประเทศที่จะได้เห็นและเข้าใจเพื่อไปบอกต่อ ความเป็นเด็กไปพูดกับคนในวัยเดียวกันก็จะเข้าใจกันง่ายมากขึ้น ต่อไปนรด.มีแนวคิดจะทำแอพพลิเคชั่นขึ้นเพื่อไว้ใช้ติดต่อกันได้ โดยมีสัสดีจังหวัด ศูนย์ฝึก หน่วยฝึกทั่วประเทศ และสถานศึกษาร่วมกันจัดทำบัญชีควบคุมให้ชัดเจน อีกทั้งเด็กๆ ไม่ต้องกลัวเสียเวลาเรียน เพราะจะนำเวลาไปชดเชยกับการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร โครงการดังกล่าวไม่ได้ใช้เด็กเป็นผู้ชี้นำ แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีสิทธิออกมาใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด ส่วนประชาชนจะมีความเห็นอย่างไรเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง” พล.ท.วีรชัย กล่าว

ส่งฟ้อง '33 องค์การพิทักษ์สยาม' แล้ว ศาลให้สาบานตนจะไม่หลบหนี ก่อนปล่อยตัวชั่วคราว


ทนายความ นำกลุ่มแนวร่วมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามจำนวน 33 คน มาส่งฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต กรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในการรวมตัวกันขับไล่ยิ่งลักษณ์ ปี 2555 ศาลปล่อยตัวชั่วคราว หลังให้ผู้ต้องหาทั้งหมดใช้วิธีการสาบานตนว่าจะไม่หลบหนี
4 ม.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ นำกลุ่มแนวร่วมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม จำนวน 33 คน จากทั้งหมด 38 คน มาส่งฟ้องต่อ อัยการศาลแขวงดุสิต ถนนบรมราชชนนี ในฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนด ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่หรือสถานที่ที่กำหนด และห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มีผลถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ภายในเขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส. นำกลุ่มผู้ชุมนุม 127 รวมตัวขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืนประกาศของเจ้าพนักงานที่ห้ามบุคคลเข้าออกในพื้นที่ซึ่งกำหนด ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ ขณะที่ผู้ต้องหาบางคน มีความผิดฐาน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 139 อีกด้วย
พวงทิพย์ ระบุว่า คดีนี้ศาลได้ทยอยสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว 4 รอบ รวม 83 คน ยังเหลืออีก 44 คน อยู่ในชั้นสอบสวน ส่วนขั้นตอนในการขออำนาจศาลปล่อยตัวชั่วคราว เบื้องต้นศาล อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดใช้วิธีการสาบานตนว่าจะไม่หลบหนี

คสช.สั่งเบรกสัมมนาร่างรัฐธรรมนูญที่นิด้า-คมสันโอดเริ่มต้นก็วิจารณ์ไม่ได้แล้ว


เวทีสัมมนาศุกร์นี้ ซึ่งคาดหมายว่านักวิชาการกลุ่ม "สยามประชาภิวัฒน์" บรรเจิด-พิชาย-คมสัน รวมทั้งสุริยะใส จะแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น ล่าสุด คมสัน โพธิ์คง หนึ่งในวิทยากรเปิดเผยว่ายกเลิกจัดสัมมนาแล้ว เนื่องจาก คสช. ไม่อนุญาต
ตามที่ในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. นี้ที่ห้องประชุมจีระ บุญมาก ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า จะมีการสัมมนาวิชาการ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ... ปฏิรูปได้จริงหรือ?" โดย บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ นิด้า อุดม ทุมโฆสิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล คมสัน โพธิ์คง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย และสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ล่าสุดในเฟซบุ๊คของ คมสัน โพธิ์คง หนึ่งในวิทยากรเสวนา ได้แจ้งยกเลิกสัมมนาโดยระบุว่า "ประกาศยกเลิกการจัดสัมมนาครับ เนื่องจาก คสช.ไม่อนุญาตให้จัด เริ่มต้นก็วิจารณ์ทางวิชาการไม่ได้ซะแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอะไรดี"
โดยวงเสวนาดังกล่าว คาดหมายว่าจะเป็นเวทีแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ของนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งก่อตั้งและเคลื่อนไหวมาตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2555 ทั้งพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, คมสันต์ โพธิ์คง และบรรเจิด สิงคะเนติ นอกจากนี้ สุริยะใส กตะศิลา ซึ่งเคยเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ และ คปท. นั้น ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย