วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เปิดสูตร-เปลือยร่าง 'รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย'


เผยสูตรไม่ลับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย นายกคนนอก-เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ-ส.ว.ไม่เลือกตั้ง-ปิดทางแก้ไข รธน.-ต่ออายุ สปท.-เลื่อยเก้าอี้นายกฯ+ล้ม ครม. ทั้งคณะได้-นิรโทษกรรมเหนือกาลเวลา-ซุกมาตรา 44 ในบทเฉพาะกาล
ไม่แน่ใจนักว่าคนส่วนใหญ่เคยเล่นเกมส์กันมาบ้างหรือไม่ หากเคยมีประสบการณ์ร่วมกันก็คงเข้าใจดี เกมส์จำนวนมากถูกสร้างมาให้มีเทคนิคบางอย่างที่ทำให้ผู้เล่นเล่นเกมส์ที่ว่า นั่นได้สนุกขึ้นกว่าเดิม และเล่นได้นานขึ้นกว่าเดิม อาจเป็นเพราะทุกครั้งที่ ใช้สูตรโกง มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ควบคุม ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่ถูกเกมส์ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเกมส์แนวผจญภัย แนวต่อสู้ หรือแนววางแผนการรบ โปรแกรมเมอร์มักจะแอบซ่อนเทคนิคกลโกงกลต่างๆ เอาไว้เสมอ
คนเล่นเกมส์มักจะมีคำที่ใช้เรียกแทนตัวเองว่า “เกมส์เมอร์” คนประเภทนี้จัดได้ว่ามีความมุมานะในระดับสูงเพื่อที่จะทำความเข้าใจเกมส์สัก เกมส์ พยายามควบคุม และเล่นกับมันให้สนุก เพื่อลิ้มรสชาติของผู้ชนะ
ลองคิดดูเล่นๆ หากการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ มีสถานะไม่ต่างกันจากการทำความเข้าใจเกมส์ สิ่งที่เราพบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย คือสูตรเกมส์มากมายหลากหลายกระบวนท่า แต่เห็นจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ต่างกันออกไปคือ ยิ่งพยายามทำความเข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นการควบคุมที่รัดแน่น เราเห็นหลากสิ่งหลายอย่างที่จัดวางเอาไว้เพื่อลดทอนอำนาจของผู้เล่น และอีกสิ่งที่เรามองเห็นคือ เราไม่ใช่เจ้าของเกมส์
1.คาถาอันเชิญเทพจุติ
กระบวนท่าแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเด็นที่คนกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งคือการเปิดที่ทางให้กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอก แม้ในร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เขียนเอาไว้โต้งๆ ว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกัน
รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้เพียงแค่ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะส่งให้สภาผู้แทนฯ ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง หรือพรรคใดจะไม่เสนอเลยก็ได้ แต่จะหมดสิทธิในการมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองของตน
ทั้งนี้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นไปตามการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ โดยผู้ที่ถูกเสนอรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ และจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่
หากดูจากระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาใหม่นั้น มองในแง่ร้ายที่สุด มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเกิดขึ้นได้ยาก หรือในสถานการณ์การทางเมืองที่ยังมองไม่เห็น อาจเกิดการตีความว่าเป็นสถานการณ์เป็น วิกฤติความชอบธรรม ดังที่ กปปส. เคยอ้างเพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลังจากมีการผลักดัน พ.ร.บ นิรโทษกรรม และเรียกร้องให้มีการตั้งนายกคนกลางโดยอ้างมาตรา 7
ฉะนั้นด้วยระบบเลือกตั้งที่พยายามไกล่ให้เกิดรัฐบาลผสม และการเปิดที่ทางให้กับนายกคนนอก ในสถานการรณ์จริงหากต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม ไม่ว่าจะด้วยวิกฤติความชอบธรรม หรือด้วยเหตุใดก็ตาม อาจทำให้มีการจัดวางตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ลงตัว ถึงที่สุดช่องว่างระหว่างนั้นจะทำให้มีการเสนอชื่อนายกคนนอก หรือที่เรียกในภาพลักษณ์ที่ถูกทำให้ดีว่า นายกคนกลาง เข้ามาแทนที่ได้
2.จุดพุลรวมพล
แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) แม้ตัวองค์กรจะหายไป แต่อำนาจพิเศษที่ใช้คุมรัฐบาลไม่ได้สลายหายไปด้วย ทว่ากลับกระจายอำนาจต่างไปสู่องค์กรอิสระ อย่างเช่น
ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยมีอำนาจพิเศษในการดูแลการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (จะกล่าวแยกต่อไป) และมีอำนาจในการตีความมาตรา 7 ในรัฐธรรมฉบับเดิม โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ย้ายจากมาตรา 7 มาอยู่ที่มาตรา 207 โดยระบุว่า
"การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแห่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากเดิมที่วาระเพียง 5 ปี ถูกเพิ่มมีวาระ 7 ปี และมีอำนาจมีเพิ่มเติมมาคือการ กำหนดวันเรื่องตั้ง และประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งได้ ซึ่งระบุไว้ มาตรา 99 โดยระบุว่า
“ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศกำหนดตามมาตรา 97 หรือมาตรา 98 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุด”
ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังได้กำหนดกลไกใหม่ หากพบว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายหรือโครงการอะไรที่ทำ หรือจะทำแล้ว ส่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ โดยให้อำนาจ 3 องค์กรคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ กกต. สามารถหารือร่วมกัน และหากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ให้มีมติร่วมกันและเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อช่วยระงับยับยั้ง หรือช่วยเตือนให้ระงับยับยั้งก่อนที่จะเกิดความเสียหาย แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปแล้วเกิดความเสียหาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย
ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้คือ ความพยายามในการควบคุมอำนาจในการบริหารของรัฐบาล และอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา โดยศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
3.สร้างค่ายกล 200 อรหันต์
สำหรับเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้นในร่างรัฐธรรมนูญระบุไว้ในมาตรา 102 ว่า มีที่มาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะประโยชน์ร่วมกัน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยการเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ยังไม่การเขียนที่ชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
โดยที่อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ยังคงเดิมคือ สามารถพิจารณาและยับยั้งกฎหมายได้ แต่งตั้งคณะกรรมการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงการเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ แต่ไม่ให้อำนาจถอดถอนกับ ส.ว. เหมือนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์
มากไปกว่านั้น ในมาตรา 75 ระว่า ให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน และโดยปกติหากประธานวุฒิสภาไม่สามารถทำหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ต้องให้รองประธานสภาผู้แทนฯ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา แต่ในมาตรา 75 ระบุให้ รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน และหาก รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ ให้วุฒิสภาที่มีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
4.ล็อคคอ ปิดตาย ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพยายามแก้ไขปัญหาข้อถกเถียงที่มีอยู่ก่อนหน้าการรัฐประหาร อย่างเช่นในข้อถกเถียงที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการควบคุมดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และทำได้มากน้อยเพียงใด พูดให้ถึงที่สุดคือมีอำนาจที่จะตัดสินว่าอะไรแก้ได้หรือแก้ไม่ได้
ประเด็นสำคัญในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทว่าเป็นการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในรัฐธรรมนูญระบุว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ โดยในวาระแรกเป็นการออกเสียงลงคะแนนวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสองสภา โดยในจำนวนนี้จะต้องมี ส.ว. เห็นด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่
ฉะนั้น ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงเป็นด่านแรกที่ต้องฝ่าไปให้ได้ นี่คงไม่ต้องพูดถึงการแก้ไขที่มา และอำนาจของ ส.ว.
ต่อมาในวาระที่ 2 เป็นขั้นพิจารณารายมาตรา โดยการออกเสียงในชั้นนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญ
ถัดมาในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ใช้วิธีการเรียกชื่อลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสองสภา แต่ในจำนวนนี้จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าสิบคน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนของแต่ละพรรคการเมือง
และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกน้อยกว่าพรรคละสิบคน ถ้ารวมกันได้ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องมีความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของทถกพรรคการเมือง
นั่นหมายความว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกล้มได้ง่าย โดย ส.ส. เพียงไม่กี่คน เช่นพรรค XXXX มี ส.ส. ทั้งหมด 10 คน  หากไม่มีใครเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยก็สามารถที่จะล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
มากไปกว่านั้นในวาระสามนี้ ยังต้องการคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งทั้งเท่าที่มีอยู่
ทั้งนี้ประเด็นหลักที่ต้องไม่ลืมคือ รัฐธรรมนูญออกแบบมาให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร 500 คน และวุฒิสภา 200 คน(ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ในการผ่านแต่ละวาระต้องใช้คะแนนเสียง เกินกว่า 350 เสียง (ในกรณีที่มีสมาชิกทั้งสองสภารวม 700 คน)
ในขั้นต่อมาหากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ได้แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน ก่อนนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลกล่าวทูลกระหม่อมถวาย ทั้งนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้งสองรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของแต่ละสภา สามารถเสนอเรื่องให้ประธานแห่งสภา แล้วแต่กรณี หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อ มาตรา 252 คือต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ โดยในประธานแห่งสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หรือหากเห็นว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1(บททั่วไป) หมวด 2(พระมหากษัตริย์) หรือหมวด 15 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ให้มีการลงประชามติก่อน
ดังนั้นเห็นว่าขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญถูกล็อคหลายชั้นมาก และถือที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัย ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
5.คาถาต่อชะตาสภาขับเคลื่อนฯ
หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากเสียงประมติ หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังคงมีหลายสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หนึ่งในนั้นคือการ ต่ออายุให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ยังทำหน้าที่ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะ หรือร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปได้อีก 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หากลองประมวลจากภาพรวมของรัฐธรรมนูญทั้งหมด มีหลายส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล เห็นได้จากการให้อำนาจ 3 องค์กรอิสระ สตง. ป.ป.ช. และ กกต. สามารถหารือร่วมกัน และหากเห็นว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จะก่อให้เกิดความเสียหาย ให้มีมติร่วมกันและเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อช่วยระงับยับยั้ง หรือช่วยเตือนให้ระงับยับยั้งก่อนที่จะเกิดความเสียหาย แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปแล้วเกิดความเสียหาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย
มองในแง่ร้ายที่สุด รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกจับตาในทุกการดำเนินนโยบาย แต่สิ่งที่สามารถทำได้โดยสะดวกคือการ เดินตามแนวทางการปฏิรูปที่ได้วางเอาไว้โดย สปช. และสานต่อโดย สปท.
ทั้งนี้ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ สปท. ยังคงทำหน้าที่อยู่นั้น หากมีการดำเนินการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อการปฎิรูป ผู้ที่จะพิจารณาเห็นชอบกฎหมายในช่วงเวลานั้น คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงความรับผิดชอบของ ผู้วางรากฐานแนวทางการปฏิรูป หากในอนาคตเกิดการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปแล้วส่งผลให้เกิดความเสียหาย
6.คาถาล้มนายกฯ
การล้มนายกรัฐมนตรี และ ครม. ทั้งคณะ ยังเป็นหมัดเด็ดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ในมาตรา 162 ได้ระบุถึงเหตุที่ทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยใน (4) ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 139
เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาตรา 139 โดยหลักการระบุถึง การพิจาราณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย โดยกำหนดให้สภาผู้แทนไม่สามารถแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนรายการได้
ทั้งนี้ในวรรคสองระบุว่า ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมการธิการการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือคณะกรรมมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณร่ายจ่ายจะกระทำไม่ได้
โดยหาก ส.ส. และ ส.ว. พบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามบทบัญญัติดังกล่าว ให้รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสองสภา เช่น ส.ส. และ ส.ว. รวมกันจะมีทั้งหมด 700 คน ต้องการคนเพียง 70 คน ในการเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีจำนวนทั้งหมด 9 คน เพื่อพิจารณาวินิฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หลังจากวันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความผิด ให้การเสนอ การแปรญัตติดังกล่าว เป็นอันสิ้นสุด และให้ผู้กระทำการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง  พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่ ครม. เป็นผู้กระทำการ หรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำการดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตั้งแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การมีส่วนทางตรง และทางอ้อมในการใช้งบประมาณคืออะไร สมมติว่าเข้าสู่สถานการณ์จำลอง หากมีการเสนองบประจำรายจ่ายประจำ แล้วมีการผันงบประมาณลงไปสู่จังหวัด จังหวัดหนึ่ง เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  ส.ส. เขตในพื้นที่ ซึ่งเป็นในหนึ่งในผู้แปรญัตติ  ถือว่ามีส่วนหรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทางอ้อม หากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานลงไปสู่จังหวัดใดๆ แล้วทำให้เกิดความนิยมในตัว ส.ส. เขต ในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมากขึ้น ถือว่าเป็นการมีส่วนในการใช้งบประมาณหรือไม่ ทั้งหมดนี้อยู่ที่การวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นต่อมาคือ ในแง่หลักการแล้ว ครม. เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ต่อรัฐสภาเพื่อแปรญัตติ หลังจากเสนอแล้วถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่เกินไปกว่าการควบคุมสั่งการใดๆ ได้ ห่วงใยความผูกพันจึงยากที่ประติดประต่อกัน เนื่องจากเป็นอำนาจคนละส่วน
อีกหนึ่งหมัดน็อคเอาท์คือ การกำหนดมาตราฐานทางจริยธรรม โดยในมาตรา 215 ระบุว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ผู้ดํารงตําแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
ทั้งนี้ในการัดทำมาตราฐานทางจริยธรรม ให้มีการรับฟังความเห็นจากสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา และ ครม. ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้ให้บังคับใช้กับสมาชิกสภาผู้แทนฯ สมาชิกวุฒิสภา และ ครม. ด้วย
และเมื่อเปิดดูต่อไปในมาตรา 230 ในส่วนที่ว่าด้วย อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในวงเล็บ 1 หลักการสำคัญคือ การให้ ป.ป.ช. อำนาจไต่สวนและมีความเห็น ในกรณีที่มีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีผู้ยื่นคำร้อง
ต่อมาในมาตรา 231 มีสาระสำคัญว่า หาก ป.ป.ช มีความเห็นเกินกึ่งหนึ่งว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เมื่อเปิดเข้าไปดูที่ มาตรา 265 ในบทเฉพาะกาล ระบุว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดําเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 215 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หากดําเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พ้นจากตําแหน่ง
ซึ่งนั่นหมายความว่า มาตรฐานทางจริยธรรมจะต้องเสร็จสิ้นก่อนที่จะมี สภาผู้แทนฯ และ ครม. ของรัฐบาลพลเรือน พูดให้ง่ายที่สุด นี่เป็นการออกกฎเกณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถใช้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยไม่มีความผูกโยงใดๆ กับตัวแทนของประชาชนเลย
7.นิรโทษกรรมไม่จำกัดกาล
งวดนี้หมัดสุดท้ายมาจบที่มาตรา 270 แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้สวยงาม จะคุ้มครองเรื่องสิทธิ เสรีภาพไว้มากน้อยขนาดไหน แต่เมื่อเจอมาตรานี้ไปก็จบ เพราะทุกการกระทำทุกอย่าง ทุกคำสั่งของ คสช. ที่เคยบังคับใช้ในวันก่อนประกาศรัฐธรรมนูญ หรือคำสั่งที่จะออกบังคับใช้ต่อไปตามมาตรา 257 (จะกล่าวถึงต่อไป) ให้มีผลบังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป
8.คาถาพรางตัว
ในมาตรา 257 พูดอย่างชัดเจนที่สุดคือการ ฝังมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง โดย คสช. จะมีอายุต่อไปหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (หากผ่านการทำประชามติ) และจะสิ้นอายุจนกว่าจะมีการตั้ง ครม. ชุดใหม่ขึ้นมา โดยในระหว่างนั้นอาจเทียบระยะเวลาได้ไม่ต่ำกว่า 15 เดือน และในระยะเวลา 15 เดือน ระหว่างมีจัดทำกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ระหว่างมีการหาเสียงเลือกตั้ง และระหว่างการพยายามจัดตั้งรัฐบาล คสช.ยังมี มาตรา 44 อยู่ในมือ
คสช. ยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะสามารถออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ โดยที่คำสั่ง หรือประกาศนั้นจะถูกรับรองโดยตัวรัฐธรรมนูญเอง ตามมาตรา 270 และซ้ำหนักไปกว่านั้นมันจะถูกรับรองด้วยความเห็นชอบจากการประชามติ
เป็นไปได้ว่า อาจจะมีการใช้มาตรา 44 ออกคสั่งหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ เช่น เพิ่ม คปป. เข้าไปในรัฐธรรมนูญ หรือยึดอายุการจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง
ดูจะมองโลกในร้ายเกินไป แต่ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คงไม่มีใครคิดว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีก และก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ก็เคยพูดว่าจะไม่ทำรัฐประหาร
เชื่อเถอะว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

สมชาย-ใบตองแห้ง-พนัส: ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 'คสช.2.0'


สมชายชี้อย่าโฟกัสแค่ประยุทธ์จะสืบทอดอำนาจ จนลืม 'อภิชน' ที่เข้ามาอยู่ในโครงสร้างการเมือง ด้านใบตองแห้งเตือนประชามติรอบนี้เท่ากับรับรอง รธน.+กฎหมาย 10 ฉบับ พนัสสรุป ร่าง รธน. สะท้อน 'ระบบอภิชนาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง'
3 ก.พ. 2559 เมื่อเวลา 13.00 น. โครงการปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ Group of Comrades ร่วมจัดเสวนา "ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 'คสช.2.0'" ที่ห้อง 802 อาคารเอนกประสงค์ มธ. ท่าพระจันทร์ มีผู้สนใจมารอฟังเสวนาจนล้นห้อง ต้องนำเก้าอี้มาเสริมหน้าห้อง
ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง พิธีกรและคอลัมนิสต์ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.  ดำเนินรายการโดย  ษัษฐรัมย์ ธรรมบุศดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มธ.
อ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ เว็บไซต์รัฐสภา
ในงาน วรัญชัย โชคชนะ มาร่วมฟังด้วยพร้อมพานรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าต้องการสื่อความหมายอะไร "มันชัดแล้ว ไม่ต้องพูดแล้วมั้ง" วรัญชัยกล่าว
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า จะอธิบายว่าเมื่อมองร่างรัฐธรรมนูญนี้มองผ่านกรอบแบบไหน ทำให้เกิดสถาบันการเมืองแบบใด เวลาคิดถึงรัฐธรรมนูญในสังคมเสรีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญทำหน้าที่ 1.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฯ ไม่ได้เกิดลอยๆ แต่เกิดขึ้นจากแนวคิดนั้น 2.จัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐและหน่วยงานรัฐด้วยกันว่าจะสัมพันธ์กันอย่างไร
“เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่สักแต่ใช้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ อยากเขียนอะไรก็เขียนยัดอะไรตามใจชอบ แล้วเรียกรัฐธรรมนูญแต่ต้องมีอุดมการณ์พื้นฐานของมันด้วย ไม่เช่นนั้น มันจะเกิดภาวะที่ Constitution without constitutionalism รัฐธรรมนูญที่ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างประเทศที่เป็นแบบนี้คือ พม่า” สมชายกล่าว
จึงขอพูดแบ่งเป็น สิทธิเสรีภาพประชาชน, สถาบันทางการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญ
จาก “สิทธิเสรีภาพ” สู่ “สิทธิและหน้าที่"
1.สิทธิเสรีภาพเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเกิดจากการเรียกร้องของผู้คนให้คุ้มครองเสรีภาพของเราจากอำนาจรัฐ แต่ในสังคมไทย รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 มีการเคลื่อนไหวทางสังคมและทำให้เกิดการรับรองสิทธิเสรีภาพของผู้คนลงในรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก มันจึงมีความชอบธรรมที่เราไม่อาจปฏิเสธแม้มันจะมีความบกพร่องบางอย่าง ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่กล้าเอาออก เช่น สิทธิชุมชน ฯลฯ สองฉบับเรายังพอเห็นความพยายามในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นลายลักษณ์อักษร เฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเห็นการรับรองพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ฉบับมีชัย) จำนวนมากถูกเขียนใหม่และจำนวนมากถูกยกออกไป หลักการที่เป็นหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพถูกทำให้มีความสำคัญน้อยลง แต่มันกลายเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ และสิทธิบางอย่างหดแคบลงทำให้กลายเป็นภารกิจของรัฐ
“เวลาประเทศอื่นพูดถึงสิทธิ เขาพูดถึงสิทธิเสรีภาพ มีแต่บ้านเราที่พูดเรื่องสิทธิและหน้าที่ เพราะเขาคิดว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย” สมชายกล่าว
ลด “พลังประชาชน”
2.สถาบันทางการเมืองหรือโครงสร้างทางการเมือง เรื่องนี้สำคัญมาก ฝังอยู่ในหลายหมวด สิ่งที่เราเห็นมีประเด็นใหญ่ 2 ประเด็น คือ (1) ลดทอนอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันการเมืองที่มาจากประชาชน (2) สถาปนาอำนาจของ “อภิชน” หมายความถึงกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม

อันที่ (1) ดูได้จากระบบเลือกตั้งและรัฐสภา ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะไม่ทำให้มีพรรคการเมืองใหญ่เกิดขึ้น พอไม่มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ สถาบันทางการเมืองไม่สามารถเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในบทเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ อำนาจนอกระบบ
“คิดง่ายๆ นึกถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั่งเป็นนายกฯ 8 ปีไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” สมชายกล่าว
ส่วนของรัฐสภา ความสามารถของรัฐสภาในการปฏิบัติหน้าที่จะลดต่ำลง เพราะ ส.ส.ต้องบวกกับ ส.ว. ที่เลือกกันเอง โอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือผ่านกฎหมายที่จะเปลี่ยนนโยบายหลักๆ ของประเทศทำได้ยาก
อันที่ (2) เราจะเห็นอภิชน กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาทำหน้าที่ในโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขุนนางนักวิชาการ ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. องค์กรอิสระต่างๆ เหมือนกันที่เคยเป็นมา  อีกกลุ่มหนึ่งคือ หากใช้คำอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า ชนชั้นนำชายขอบ ผมเรียกว่านักการเมืองประชารัฐ พวกนี้หมายถึงหลังรัฐประหาร 2549 เราจะเห็นคนกลุ่มหนึ่งมีตำแหน่งแห่งที่ในโครงสร้างทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เคยเป็น สนช. 2549 แล้วกลับมาใหม่ เป็น สปช. สนช. สปท. อะไรเต็มไปหมด ยกตัวอย่างชัดๆ เช่น ทนายความ สื่อมวลชน ศิลปินแห่งชาติ หมอ ชนชั้นนำของเอ็นจีโอ คนกลุ่มนี้เป็นฐานของระบบอำนาจนิยม
“เวลาคิดถึงการสืบทอดอำนาจ เราไม่ได้หมายความถึงการสืบทอดอำนาจของคุณประยุทธ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เราจะเห็นสถาบันการเมืองชนิดหนึ่ง มีนักการเมืองชนิดหนึ่งเกาะมากับระบบแบบนี้ จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่านักการเมือง เพราะไปแปดเปื้อนนักการเมือง พวกนี้ไม่ออกแรงหาเสียง แต่เวลาเขาออกแรงคือ พูดว่าประยุทธ์ควรอยู่ต่ออีก 4 ปี สังคมการเมืองไทยเรากำลังจะมีระบบการเมืองอีกชุดซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง และที่สำคัญมันกำกับการเมืองแบบการเลือกตั้ง ดังนั้น เราไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ประยุทธ์ ประวิตร แต่ควรดูคนกลุ่มนี้ด้วย พวกเขาสนับสนุน สืบทอด ค้ำยัน ระบบรัฐประหาร เพราะระบบรัฐประหารเกิดขึ้นต้องมีคนมาเป็นแขนขา ยิ่งรัฐธรรมนูญทำให้ระบบโครงสร้างแบบนี้ดำรงอยู่ก็จะมีคนกลุ่มนี้เกาะอยู่ ส.ว. 20 วิชาชีพ ก็คงไม่ใช่ช่างไม้ช่างปูน ช่างประปา แต่คือคนกลุ่มนี้นี่แหละ เข้าไปมีตำแหน่งได้โดยไม่ต้องหาเสียงจากการเลือกตั้ง แต่หาเสียงกับ...คนที่เราไม่ต้องพูดถึง” สมชายกล่าว
ใครตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ?
3.ศาลรัฐธรรมนูญ ในโลกนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศประชาธิปไตยมีศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยใหม่ มีหน้าที่ชี้ข้อขัดแย้งในทางรัฐธรรมนูญและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน งานของฝรั่งจำนวนมากศึกษาเปรียบเทียบ บีจอน เดรสเซล (Björn Dressel) เสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นได้ 2 แบบคือ ตุลาการภิวัฒน์ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ ศาลอินเดียทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของคนไร้บ้าน ศาลฟิลิปปินส์ตีความเรื่องความเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย เข้าไปตีความแล้วขยายอำนาจประชาชน สิทธิพื้นฐานต่างๆ ให้ขยาย แต่ต้องระวังว่า จะเกิด politicization judiciary ต้องระวังการเล่นการเมืองของผู้พิพากษา โดดเข้าไปเลือกข้างทางการเมือง จะเป็นปัญหา 
ผมคิดว่าต้องระวังเนื่องจากตอนเราเอาแนวคิดตุลาการภิวัฒน์เข้ามาในเมืองไทย ตอนนำเข้ามาก็พูดแต่เรื่องดี หลัง 2550 คดีที่ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ แยกเป็นกลุ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน กับคดีการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้น สิทธิเสรีภาพประชาชน เมืองไทยมีคดีไหนที่ชาวบ้านชนะ คดีพวกนี้ศาลรัฐธรรมนูญของเรายืนข้างอำนาจรัฐ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยแอคทีฟในเรื่องทางการเมือง ตีความในทิศทางที่เป็นปัญหา
“คำถามสำคัญคือ ใครจะตรวจสอบคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ” สมชายกล่าวและว่ามันต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส กระบวนการคัดเลือก กระบวนการตรวจสอบการทำหน้าที่ ไม่ว่าอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญก็หลุดลอยจากประชาชนไม่ได้
“เรายกอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกระบวนการควบคุม ตรวจสอบ ต้องคิดด้วย ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเลย เรากำลังจะมีองค์กรอิสระ อิสระจากประชาชน ไม่สัมพันธ์กับประชาชนหรือสัมพันธ์แบบเบาบางมากๆ” สมชายกล่าว

 

ชี้ประชามติรอบนี้เท่ากับรับรอง รธน.+กฎหมาย 10 ฉบับ

อธึกกิต แสวงสุข กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนองค์กรอิสระไว้ในที่ต่างๆ รัฐธรรมนูญ 2550 แยกองค์กรอิสระออกมาเป็นหมวดองค์กรอิสระ แต่ยังไม่รวมทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาจากหมวดศาล และเอาทุกองค์กรอิสระมารวมกัน เรียกได้ว่าให้ความสำคัญกับองค์กรอิสระอย่างมาก
       มาตรา 211 องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระ
       ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
       การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรม
       กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ


หากเราดู มาตรา 211 เป็นเหมือนสโลแกนหรือคำโฆษณาขององค์กรอิสระ แต่กลับไม่เห็นรากที่มาขององค์กรอิสระเลยว่ามาอย่างไร คุณมีชัยก็ได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าศาลและองค์กรอิสระไม่ต้องยึดโยงประชาชน เรื่องการสรรหาก็น่าสังเกตยิ่งกว่าว่า กรรมการสรรหานั้นมีสัดส่วนของผู้ที่มาจากประชาชนน้อยลงและให้องค์กรอิสระเลือกคนที่จะเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเองอีกที
ต่อมาเรื่องที่สำคัญคือ มาตรฐานจริยธรรม หากดูมาตรา 215 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมา แล้วใช้บังคับ ส.ส. ส.ว.ด้วย เรื่องมาตรฐานจริยธรรม โผล่ในมาตรา 155 คุณสมบัติรัฐมนตรีด้วย ข้อ 4 ระบุให้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อดูรวมกันสองมาตรานี้ จะเห็นว่าการถอดถอนรัฐมนตรีทำได้ง่าย ทั้งการที่ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 ของสภา สามารถยื่น กกต. ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีขาดคุณสมบัติหรือไม่ หรือให้ ป.ป.ช.เป็นผู้วินิจฉัยก็ได้ 
“มาตรฐานจริยธรรมนี้ให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญกำหนดแล้วไปใช้กับนักการเมือง เวลาจะถอดถอน ผ่าน ป.ป.ช. ผ่าน ส.ส. ส.ว.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้กรรมาธิการร่างฯ บอกว่าไม่ได้เพิ่มอำนาจศาล เป็นเรื่องคุณสมบัติต่างหาก แต่คุณไปเขียนคุณสมบัติให้ตีความได้กว้างและคลุมเครือขนาดนี้ ถ้าทุจริตก็ผิดกฎหมายไปเลย แต่คำว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ นี่ขึ้นกับการตีความของศาลล้วนๆ” อธึกกิตกล่าว

“ผมสรุปง่ายๆ ว่า ศาลเอามาตรฐานตัวเองมาปลดรัฐบาลได้” อธึกกิตกล่าว
นอกจากนี้ยังมีช่องปลดรัฐบาลได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากทำผิด พ.ร.บ.งบประมาณ ครม.โดนปลดได้ มาตรา 139 อ่านกี่ครั้งก็ไม่เข้าใจ เพราะหากเข้าใจกระบวนการงบประมาณ ปกติ ครม.เสนองบประมาณ เข้าสภา สภาก็ไปตัดลดงบประมาณให้เหมาะสม ซึ่ง ครม.ก็ไม่ได้เกี่ยวแล้ว อะไรคือรายละเอียดตัวนี้

“ผมเชื่อว่านักกฎหมายที่ไหนก็อ่านเรื่องนี้ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราย้อนไปดูบทเฉพาะกาลแล้วจะเข้าใจว่าทำไมมีชัยใช้เวลาร่างตั้งแปดเดือน ลองดู ข้อ 10 การทำกฎหมาย 10 ฉบับ มีเรื่องกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ เข้าใจว่ากฎหมายตัวนี้จะมีส่วนที่ไม่ได้พูดอีกมาก กฎหมายนี้สำคัญมากและจะเพิ่มอะไรเข้าไปอีกยังไม่รู้ คุณมีชัยยังสามารถเพิ่มอะไรอีกหลายอย่างได้ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้อาจบอกว่าวิจารณ์ศาลติดคุกก็ได้” อธิกกิตกล่าว
ดังนั้น เวลาทำประชามติ คนไม่เข้าใจเรื่องนี้ว่า 1.มันเป็นการรับรองการทำกฎหมายลูก 10 ฉบับที่ยังอาจทำอะไรที่มองไม่เห็นตามมาอีกมาก เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไม่ชัด เรียกว่า “ตีเช็คเปล่า” ให้คุณมีชัยไปทำกฎหมายลูกใส่รายละเอียดสำคัญที่ไม่มีใครรู้ต่อไป 2.เป็นการรับรองมาตรา 44 จากเดิมที่มาตรานี้เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตั้งเอง ใช้เอง หากประชามติผ่าน มาตรา 44 จะเป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรม
“สิ่งที่อยากจะฝากเป็นคำถามคือ รัฐธรรมนูญมีชัยต่างจากรัฐธรรมนูญบวรศักดิ์อย่างไร ผมว่าบวรศักดิ์เขียนเป็นระบบกว่า มีความรับกันตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ของมีชัยไม่ต้องมี อยากใส่อะไรก็ใส่มา แต่ขณะเดียวกันมีชัยซ่อนอะไรได้ลึกกว่า ถ้าไม่อ่านละเอียดจะลำบากเพราะแกเป็นนักเทคนิคกฎหมายชั้นบรมครู” อธึกกิตกล่าว
“ในแง่ของระบบ มีชัยจะย้อนกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2534 และลักษณะของอำนาจทั้งหมด มีชัยจะมองเฉพาะอีลีท แต่บวรศักกดิ์เขาแบกความเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 บางทีเขาก็อาย ต้องอธิบายเยอะ และเขาเป็นเจ้าแห่งสิทธิเสรีภาพที่เอาเป็นจุดขาย แกคิดกว้างกว่าแต่เป็นระบบที่ลงตัวได้ยาก บวรศักดิ์พยายามเอาคนชั้นกลางในเมือง ปราชญ์ชาวบ้าน สภาพลเมือง เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมทั้งหลายเข้ามาด้วย แต่มีชัยโยนพวกนี้ลงชักโครกหมดแล้วทำให้เอ็นจีโอออกมาแสดงความไม่พอใจ แต่อย่าไว้วางใจ ถ้ามีชัยเอาพวกเขากลับเข้าไปเมื่อไร พวกเขาก็เอาเมื่อนั้น เพราะพวกเขาไม่ได้สนใจอำนาจศาลหรือปัญหาเชิงระบบการเมือง” อธึกกิตกล่าว 


ร่าง รธน. สะท้อน 'ระบบอภิชนาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง'

พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า อยากชี้ให้เห็นว่า มาตรา 48-59 ในหมวดหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ น่าคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของ “รัฐบาล” หรือเปล่า หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้นก็เข้าสู่อำนาจ ป.ป.ช. ว่ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ถอดถอนได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอน แต่เขาใช้คำว่า “ให้พ้นจากหน้าที่” และคนที่จะสั่งให้พ้นจากหน้าที่ได้คือ ศาลรัฐธรรมนูญกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมือง
เรื่องจริยธรรม มันกว้างขวางมาก เป็นการง่ายที่จะกล่าวหา ไม่ชัดเหมือนกฎหมายที่ระบุการทุจริตชัดเจน เจตนารมณ์ของเขาคือต้องการให้การถอดถอนผู้มีตำแหน่งทางการเมืองง่ายกว่าเดิมมาก อีกศาลที่ยกขึ้นมาให้อำนาจเคียงข้างกันคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องจริยธรรมไปศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีอื่นให้ไปศาลฎีกา
“นี่เป็นการให้อำนาจตุลาการขึ้นมาอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหารโดยสิ้นเชิง ถูกมัดมือมัดเท้าตั้งแต่ต้น ประชาชนเลือกมา แต่เลือกมาแล้วฉันถอดถอนได้ เอาเข้าคุกได้ โดยการตีความกว้างขวาง อย่างนี้แล้วมาตรา 3 ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนก็ไม่จริง” พนัสกล่าว
“อำนาจที่ประเคนให้ศาลรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วคือ อำนาจทางการเมือง ในแง่นี้ศาลรัฐธรรมนูญคือเครื่องมือประหัตประหารทางการเมืองนั่นเอง อยู่ที่ว่าใครจะคุมศาลรัฐธรรมนูญได้นั่นเอง โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาตรงนี้จะเห็นว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันทั้งสิ้น จะชาวบ้านชาวเมืองที่ไหนเข้าไปได้ มีแต่ขุนนางใหญ่ ไม่อย่างนั้นก็ต้องศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ก็คงถูกเลือกอีกว่าเป็นศาสตราจารย์สายไหน จริงๆ มันคือกระบวนการเล่นพวก แต่เราเรียกโก้ๆ ว่ากระบวนการสรรหา” พนัสกล่าว
“เพื่อนผู้พิพากษาของผม เกษียณแล้วก็ยังมีงานทำต่อ มาดำรงตำแหน่งพวกนี้แหละ เทียบกับของต่างประเทศ ของอเมริกาจะมีวิธีการคือ เป็นอำนาจของประธานาธิบดีที่จะเสนอชื่อ คัดหัวกะทิจริงๆ มีการตรวจสอบประวัติแบบแทบจะเอากล้องขยายส่องเลย แล้วการลงมติของสภาก็ไม่ปิดลับแต่ลงเปิดเผย และไม่ใช่เซย์เยสอย่างเดียว ต้องอธิบายเหตุผลด้วย อันนี้เป็นกระบวนการที่โปร่งใสมากในการแต่งตั้งใครมาดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างนี้ และมันยึดโยงกับประชาชนด้วย เป็นอำนาจสองอำนาจร่วมกันแต่งตั้งอำนาจตุลาการ” พนัสกล่าว
พนัส สรุปว่า ระบบที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือ ระบบอภิชนาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง 

 

คำถามจากผู้ฟัง –   คำตอบจากวิทยากร :   ชำแหละรัฐธรรมนูญ คสช.2.0

คำถาม
1. มีเวลาเสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญถึงแค่ 15 ก.พ.เราควรทำอย่างไร/ เราควรรับหรือไม่รับ จะรณรงค์อย่างไรดี/ ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ ชีวิตพวกเราจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร
2. เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งสำคัญคือการจัดวางสถาบันทางการเมือง สิ่งที่นักนิติศาสตร์สายประชาธิปไตยต้องคิดหนักคือ เผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นปัญหาตอนปี 2548 กลไกตรวจสอบและถ่วงดุลมันไม่ทำงาน ต้องหาคำตอบให้ได้มากกว่าจะพูดแต่เรื่องไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะศาลรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางนั้นๆ เพียงแต่การตรวจสอบพวกเขาจะทำอย่างไร รัฐบาลสามารถวีโต้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้ไหม นอกจากนี้ในเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เห็นด้วยกับมาตรา 44 เพราะทำให้รัฐมันเดินได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล (ขอตอบคำถามข้อ 2)
เวลาเราคิดถึงประชาธิปไตย เราไม่ได้คิดถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตอนปลายๆ ของรัฐธรรมนูญ 2540 เห็นแล้วว่าองค์กรอิสระมีปัญหาถูกการเมืองแทรกแซง ข้อดีของประชาธิปไตยคือเปิดโอกาสให้แก้ไขตัวเอง แก้โดยระบบที่ทุกคนพูดได้
ถามว่าจะออกแบบให้สมบูรณ์ที่สุดก่อน เราจะเอาระบบดีเลิศประเสริฐศรีตลอดกาล มันไม่มี มันต้องเริ่มต้นแบบนี้ ตรงไหนเห็นข้อบกพร่องก็แก้กันไป ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่ไม่มีข้อเสีย แต่มันเปิดโอกาสให้แก้ปัญหาโดยตัวมันเอง
ส่วนเรื่องชอบมาตรา 44 มันส์มาก ผมตอบด้วยนักปราชญ์ฝรั่ง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับที่ท่านพูด แต่ก็จะปกป้องสิทธิที่ท่านจะพูด แต่มาตรา 44 ทำไม่ได้ ผมแถลงข่าวแสดงความเห็นไม่กี่คนก็ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จะให้เอามาตรา 44 ไปจับคนที่ผมไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่เอา  ผมจึงไม่สามารถเห็นด้วยกับมาตรา 44
คำถาม (ต่อ)
3. ร่างรัฐธรรมนูญไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เหมือนร่างที่แล้ว แล้ว คสช.จะไปอยู่ตรงไหน เขาวางเกมไว้อย่างไร
4.นายกฯ คนนอกจะมาทางไหน การเสนอชื่อจากพรรคการเมืองก็เท่ากับประชาชนรับทราบแล้ว ต้องเลือกคนที่ประชาชนรับได้
5.หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.ต้องรับผิดชอบอะไรไหม
พนัส ทัศนียานนท์
“โดยส่วนตัวผมไม่ให้ผ่าน รับไม่ได้ แต่ประชามติจะออกมายังไง ผมพยากรณ์ไม่ได้ มีแฟกเตอร์หลายอย่าง เทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 แรงต่อต้านเยอะอยู่แต่สุดท้ายก็ผ่านได้ ทั้งข่มขู่ทั้งหลอกลวง ตัวชี้วัดอันหนึ่งเขาจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไหม เพราะถ้าไม่แก้ให้ชัดเจน โอกาสที่จะไม่ผ่านก็เยอะ ถ้าเขาแก้ว่านับเกินกึ่งหนึ่งของคนมาออกเสียงลงคะแนน แปลว่าเขาต้องการให้ผ่าน” พนัสกล่าว

“นายกฯ คนนอกเคยเกิดแล้ว คนออกแบบรัฐธรรมนูญก็คือคนนี้ ถ้าจะมีแบบนั้น ก็ต้องเกิดสถานการณ์ 1.พรรคการเมืองทั้งหลายยกเว้นเพื่อไทยเห็นดีเห็นงามกับรัฐธรรมนูญนี้ 2.เมื่อเลือกตั้งออกแบบมาแล้วต้องเป็นรัฐบาลผสม เงื่อนไขก็ใกล้เคียงกับ 2523 เป็นต้นมาถึง 2531 พล.อ.เปรมอยู่มาได้ถึง 8 ปีไม่ต้องลงเลือกตั้ง พรรคการเมืองไปอัญเชิญมา เราต้องวิเคราะห์ว่าเงื่อนไขขณะนี้กับตอนนั้นมันเป็นไปได้ไหม คนที่เขาคิดเรื่องนี้อาจคิดว่ามันเป็นไปได้เพราะเขาติดกับการรับรู้เก่าของเขาที่เคยทำได้”
“เนื้อแท้ของการขับเคลื่อนการปฏิรูป ก็คือ การขับเคลื่อนไปสู่อดีต ผมคิดว่ามีโอกาสเกิดได้” พนัสกล่าว
อธึกกิต แสวงสุข
“นายกฯ คนนอก ผมคิดว่าคงมายาก แต่ก็ต้องมองว่าเขียนเพื่ออะไร เขียนแล้วจะโละไหม ผมมองมุมกลับด้วยซ้ำว่าเป็นการล็อคพรรคการเมือง มีว่าที่นายกฯ ได้ 3 คน เวลาหาเสียงต้องอุ้มพวกนี้เป็นไข่ในหินเลย เดี๋ยวทำอะไรแล้วโดนตัดสิทธิขึ้นมา หนึ่ง สอง สาม หมดแล้ว ถามว่าเขายกเลิกได้ไหม ผมว่ามาตรานี้ไม่มีปัญหาอะไรเลย คนที่ไม่ชอบมากที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีแนวโน้มจะรับร่างรัฐธรรมนูญถ้าขจัดเงื่อนไขบางอย่างกำลังต่อรองกันอยู่ ครั้งนี้ ปชป.ไปแบบไม่มียางแล้ว คราวที่แล้ว ปชป.ยังพูดเรื่อง ไม่เอา ส.ว.สรรหา แต่รับไปก่อนแล้วจะแก้ทีหลัง แต่คราวนี้ไม่พูดเลย ส่วน กปปส.ไม่ต้องสงสัย สำหรับพรรคเพื่อไทย บอกทักษิณหน่อย ถ้าทักษิณประกาศไม่รับร่าง จะมีคนอีกเป็นล้านโหวตรับทันทีโดยไม่ต้องอ่าน นี่มันคือรัฐธรรมนูญแห่งความเกลียดชัง ไม่ต้องอ่านรัฐธรรมนูญก็ได้ พอโฆษณาว่าปราบโกง เห็นพวกเพื่อไทยร้องกันจ้าละหวั่น ก็คิดกันว่าดีนี่หว่า นี่มันยันต์ปราบผี สังคมไทยมันกลายเป็นแบบนี้ไปหมดแล้ว”
“อันนี้รับไปก่อนไม่มีแก้ทีหลัง รับแล้วไม่มีเลือกตั้งเร็วด้วย ล็อคตายเด็ดขาดหมด แต่ยังจะมีคนรับใช่ไหม แต่ถ้าดูท่าทีตอนนี้เขาเอาจริงเอาจังมาก อำนาจ คสช.เข้มแข็งกว่า คมช. แต่ขณะเดียวกันด้านกลับที่ คสช.ต้องถูกต้องตั้งคำถาม คือ หนึ่ง คุณจะให้เราเอาโรดแมปของใครแน่ ของคุณ 6-4 (6+4+6+4) หรือ กรธ. ซึ่งกลายเป็น 8+2+5 อะไรไม่รู้ สอง คุณจะวางตัวเป็นกลางไหม ตอนปี 2550 แม้จะใช้อำนาจเบื้องล่างอย่างไร รัฐบาลสมัยนั้นไม่ได้แสดงตัวโจ่งแจ้งว่าเขาสนับสนุน คมช.ไม่ได้เต้นแร้งเต้นกา ครั้งที่แล้วดีเบตกันเต็มไปหมด ครั้งนี้จะมีไหม แล้วครั้งนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันเต็มไปหมด”
“รัฐธรรมนูญที่จะออกมาในทางไม่พึงประสงค์ของ คสช.คือ หนึ่ง-คว่ำ สอง-ชนะเฉียดฉิว ชนะเฉียดฉิวก็แย่ เพราะคุณจะอยู่อีก 15 เดือน ไม่ได้รีบไป บนฐานคะแนนแบบนี้ ไม่ง่ายนะ สิ่งเดียวที่จะทำให้ คสช.ใช้อำนาจต่อในบทเฉพาะกาลได้มั่นคงก็ต้องชนะอย่างท่วมท้น ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างภาพให้แฟร์ด้วย ประชามติในภาพรวม ไม่ว่าจะไม่ผ่านหรือผ่านอย่างเฉียดฉิวมันกระทบต่อเสถียรภาพทั้งสิ้น แล้วเขาต้องคิดหนัก จนถึงปลาย มี.ค.จะให้มีประชามติไหม จะคว่ำร่างเองคนก็เจอมาแล้วจะตอบคำถามยังไง”
“ถามว่าทำไม คสช.ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่เลย ผมคิดว่าถ้ามันไปถึงจุดนั้นจริงมันมีหลักประกันที่มั่นคง มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอิสระ ก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพแล้ว และมันยังอีกยาว ถ้าร่างบทเฉพาะกาลไม่สำเร็จ ตั้ง กรธ.ใหม่ได้อีก มันไปว่ากันข้างหน้า ตัดสินตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อีก เขามีลักษณะเดินไปก่อนแล้วตัดสินใจตอนใกล้ๆ เหมือนร่างบวรศักดิ์ ฉะนั้น ไม่ต้องห่วง ถ้าผ่านอีก 15 เดือน ยืดไปอีก มาตรา 44 ก็ยังอยู่” อธึกกิตกล่าว
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
“สิ่งที่จะเกิดคือการสร้างระบบการเมืองให้อภิชนแทรกเข้ามาอยู่ และไม่ได้ผูกยึดโยงกับตัวประยุทธ์ แม่น้ำทำไมต้องมีห้าสาย นี่คือการขยายฐานของนักการเมืองอภิชน หรือ นักการเมืองประชารัฐ ความพยายามวางระบบแบบนี้มีมานานตั้งแต่ 49”
“เรากำลังจะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาสู่สถาบันทางการเมืองโดยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ผ่านระบบเลือกตั้ง”
“ถ้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญอะไรจะเกิดขึ้น เราจะเห็นการถดถอยลงของระบบพรรคการเมือง โลกปัจจุบันเวลาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญๆ ต้องมีความชอบธรรมทางการเมืองมาหนุนหลัง เช่น จะปฏิรูปที่ดิน เก็บภาษีที่ดิน ไม่สามารถอาศัยอำนาจที่ไม่มีฐานทางการเมือง การเสื่อมถอยของมันทำให้การเปลี่ยนของสังคมที่มีกฎเกณฑ์มีระบบและมั่นคง เป็นไปได้ยาก”
“คำถามต่อมา แล้วถ้ามีการถดถอยลงของสถาบันทางการเมืองจากการเลือกตั้งจะเกิดอะไร ต้องคิดเรื่องการเมืองมวลชน เพราะเราจะเห็นว่าเมื่อรัฐบาลขาดประสิทธิภาพนำเสนอปัญหาต่างๆ เช่น ราคายาง ฯลฯ มันจะเกิดความอลหม่านในระยะยาว”
“คำถามว่า ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบอะไร การที่เขาตั้งบวรศักดิ์ มีชัยขึ้นมา ถ้ามีเสียงคัดค้าน ก็โทษคนร่าง”

นักข่าวจีนปรากฏตัวอีกครั้งที่เมืองจีน-หลังลี้ภัยและหายตัวในไทย

หลี่ ซิน ถ่ายภาพที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนขาดการติดต่อมาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2559 ขณะเดินทางโดยรถไฟมุ่งหน้าไป จ.หนองคาย เพื่อข้ามไปยังประเทศลาว (ที่มาของภาพ: Qiao Long/The Guardian)

หลี่ ซิน อดีต บ.ก.ข่าวออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์ในมณฑลกวางตุ้ง ผู้หลบหนีออกจากจีนเพื่อลี้ภัย และมีข่าวว่าหายตัวไปหลังนั่งรถไฟไปหนองคายเพื่อข้ามไปลาว ล่าสุดหลังขาดการติดต่อ 22 วัน วันนี้สถานีตำรวจในจีนได้เรียกภรรยาของหลี่ ซิน ไปรับโทรศัพท์จากสามีซึ่งระบุว่าเดินทางกลับเมืองจีนอย่างสมัครใจเพื่อรับการสอบสวน
3 ก.พ. 2559 หลี่ ซิน (Li Xin) คอลัมนิสต์และบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์หนานฟางตู้ชือเป้า หรือ เมืองใต้รายวัน (Southern Metropolis Daily/南方都市报) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเคยเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทย และต่อมาเกิดขาดการติดต่อกับภรรยาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. หลังโดยสารรถไฟจากสถานีหัวลำโพงไปยังหนองคาย เพื่อมุ่งหน้าไปประเทศลาวนั้น
ล่าสุดในรายงานของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ และ วอชิงตันโพสต์ ชือ ซานเหมย (Shi Sanmei) ภรรยาของหลี่ ซิน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพีว่า ในวันนี้ (3 ก.พ.) เธอได้ไปที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อรับสายโทรศัพท์ของสามี ซึ่งบอกกับเธอว่า เขาเดินทางกลับเมืองจีนอย่างสมัครใจเพื่อรับการสอบสวน อย่างไรก็ตามภรรยาของหลี่ ซิน เชื่อว่าเขาถูกบังคับให้กลับเมืองจีน
ในรายงานของเดอะการ์เดียน สื่อของอังกฤษ ยังสัมภาษณ์ภรรยาของหลี่ ซิน ซึ่งเล่าว่าได้ไปสถานีตำรวจใกล้บ้านที่มณฑลเหอหนาน เพื่อพูดคุยกับสามีซึ่งอยู่ในสถานที่อื่น ผ่านระบบโทรศัพท์ภายในของตำรวจ โดยหลี่ ซิน กล่าวว่า "นี่คือหลี่ ซิน ผมอยู่ในเมืองจีนแล้วไม่ต้องห่วง ผมกลับเมืองจีน เพราะต้องการรับการสอบสวน" ซึ่ง ชื่อ ซานเหมย กล่าวว่า "ทำไมเธอจึงกลับมารับการสอบสวน ในเมื่อเธอไม่ได้ทำอาชญากรรมอะไร?"
ภรรยาของหลี่ ซิน ซึ่งตั้งครรภ์ 4 เดือนกล่าวว่า "ฉันไม่เชื่อ ฉันไม่เชื่อ 100%" "ฉันรู้สึกว่าเขาถูกบังคับให้ต้องกล่าวถ้อยคำพวกนี้ สิ่งที่เขาพูดตรงข้ามกับความต้องการของเขา ทุกครั้งที่ฉันถามคำถามเขา เขาก็ขัดจังหวะฉัน"
โดยเมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกปฏิบัติการด่วนจี้ไทย-จีน ตามนักข่าวจีนที่หายตัวในไทย และหากถูกควบคุมตัวขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

หลบหนีจากจีนเข้าอินเดีย ปล่อยเอกสารรัฐบาลจีนหัวข้อเซ็นเซอร์สื่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลี่ ซิน เดินทางออกจากจีนผ่านทางฮ่องกง และไปถึงนิว เดลี ประเทศอินเดียเมื่อ 30 ตุลาคมปีก่อน ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของจีนพยายายามที่จะแบล็กเมล์เพื่อให้เขาเป็นสายลับติดตามนักกิจกรรมรายอื่นๆ และขู่ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นสายลับ หากเขาไม่ยอมทำตาม
ในช่วงที่หลี่ ซิน อยู่ที่อินเดีย เขาได้ปล่อยเอกสารที่ได้จากสมัยที่ทำงานหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงเอกสารของรัฐบาลจีน ที่แสดงหัวข้อต้องห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงาน
เอกสารที่หลี่ ซิน เปิดเผยระหว่างที่แสวงหาที่ลี้ภัยในอินเดีย เป็นลิสต์หัวข้อที่รัฐบาลจีนห้ามสื่อรายงานข่าว แสดงคำสำคัญห้ามรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับ การชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี ค.ศ. 1989 และ ฟาหลุนกง (ที่มา: HKFP)
โดยในรายงานเมื่อ 13 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมาของเว็บไซต์ Hong Kong Free Press (HKFP) เผยแพร่เอกสารที่หลี่ ซิน นำมาเปิดเผยดังกล่าว โดยหัวข้อที่รัฐบาลจีนห้ามรายงาน ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุประท้วงที่เทียนอันเหมิน เช่น "การประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี ค.ศ. 1989", "ขบวนการเพื่อประชาธิปไตยปี 89", "4 มิถุนายน"
หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับลัทธิฟาหลุนกง เช่น "ฟาหลุนกง" และ "ความซื่อสัตย์, ความเมตตา, ความอดกลั้น" ซึ่งเป็นคำขวัญของฟาหลุนกง
นอกจากนี้ยังมีคำต้องห้ามซึ่งเกี่ยวข้องกับข่าวใหญ่ในจีนเช่น "ลูกชาย", "ใบขับขี่", "ปักกิ่ง" และ "เฟอร์รารี่" ซึ่งถูกจัดไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน โดย HKFP รายงานว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุ รถยนต์เฟอร์รารี่ชนกันในปักกิ่ง ซึ่งทำให้ หลิง กู่ เสียชีวิต โดย หลิง กู่ ผู้นี้เป็นลูกชายของ หลิง จีหัว ผู้ช่วยของอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา
ในลิสต์ต้องห้ามรายงานข่าว ยังประกอบไปด้วยชื่อบุคคล ซึ่งรวมไปถึงผู้นำจีนทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งสมาชิกครอบครัว ทนายความสิทธิมนุษยชนอย่างเกา ชีเจิ้ง (Gao Zhisheng) และผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนของบีบีซีอย่าง จอห์น สวีเนย์ (John Sweeney) ด้วย
ขณะเดียวกันมีรายชื่อสื่อต้องห้ามรายงานข่าวด้วย ได้แก่ บลูมเบิร์ก (Bloomberg), วอยซ์ออฟอเมริกา (Voice of America), เอเชียเสรี (Radio Free Asia), สื่อไต้หวันอย่างแอปเปิลเดลี (Apple Daily), รวมทั้งสื่อในเครือซินหัว อย่างเว็บไซต์ที่รายงานข่าวเชิงความมั่นคง China Securities Daily รวมทั้งซินหัวรายวัน Xinhua Daily Telegraph
นอกจากนี้ยังมีหัวข้อต้องห้าม ที่ไม่สามารถอธิบายว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร เช่น "แหวนแต่งาน" และ "แต่งงานมาแล้ว 7 ปี"
HKFP ได้ลองใช้คำต้องห้ามเหล่านี้ เสิร์ชผ่านเว็บค้นหาคำอย่าง Baidu และเว็บโซเชียลมีเดียอย่าง Weibo โดยพบว่าคำเหล่านี้ถูกบล็อกโดยแสดงข้อความเช่น "ไม่สามารถแสดงผลการค้นหาได้เนื่องจากกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง"

ถูกปฏิเสธลี้ภัยจากอินเดีย สหรัฐอเมริกา จึงเดินทางมาไทยก่อนหายตัวไป
ทั้งนี้รายงานของสถานีวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ระบุว่า อินเดียไม่ยอมรับคำขอลี้ภัยของเขา นอกจากนี้เขายังถูกปฏิเสธจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เขาพยายามขอวีซ่านักท่องเที่ยว
ในปี 2559 หลี่ ซิน เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ที่ซึ่งเป็นที่พำนักระยะยาวสำหรับผู้หลบหนีชาวจีน ที่พยายายามจะเดินทางต่อไปในโลกตะวันตก หลังจากนั้นเขาพยายามที่จะต่อรถไฟไปยังชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเพื่อเข้าสู่ประเทศลาว แต่หลังจากนั้นภรรยาของเขาก็ไม่สามารถติดต่อเขาได้อีก
"เขานั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปหนองคาย เมื่อเวลา 20.36 น. ของวันที่ 10 มกราคม เราสามารถติดต่อกันได้ในช่วงนั้น แต่วันที่ 11 มกราคม ประมาณ 07.40 น. เราก็ขาดการติดต่อ" ชือ ซานเหมย กล่าว

เหตุก่อนหน้านี้ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่ององหายตัวเมืองไทย-โผล่อีกทีอยู่เมืองจีน
ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของ กุ้ย หมินไห่ บุคคลสัญชาติสวีเดนซึ่งเกิดในจีน เจ้าของร้านขายหนังสือ "Causeway Bay Books" ในฮ่องกง ซึ่งเปิดจำหน่ายหนังสือที่วิจารณ์รัฐบาลจีน ได้หายตัวไปจากบ้านพักที่พัทยา ประเทศไทย เมื่อ 17 ต.ค. 2558 และในเวลาไล่เลี่ยกันระหว่าง 14 ต.ค. - 10 พ.ย. พนักงานในร้านที่ฮ่องกงอีก 3 คน ก็หายตัวไป และในวันที่ 30 ธ.ค. 2558 พนักงานอีกรายซึ่งถือสัญชาติอังกฤษชื่อหลี่ โป ก็หายตัวไป
โดยกุ้ย หมินไห่ ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ 17 ต.ค. นั้น ต่อมาในเดือนธันวาคมเดอะการ์เดียนได้เผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่อพาร์ทเมนต์ในพัทยา ซึ่งกุ้ยหมินไห่พักอาศัย ในกล้องมีการจับภาพรถยนต์สีขาวของกุ้ยหมินไห่เข้าไปจอดในอาคารวันเดียวกับที่เขาหายตัวไป และเผยให้เห็นชายเสื้อลายท่าทางน่าสงสัยยืนคอยอยู่แถวหน้าอพาร์ทเมนต์จ้องมองรถยนต์ของกุ้ยหมินไห่ โดยเจ้าหน้าที่อพาร์ทเมนต์เปิดเผยว่าในเวลาต่อมาเขาเห็นชายเสื้อลายเดินไปขึ้นรถของกุ้ยหมินไห่ ก่อนที่ทั้งคู่จะขับรถออกไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค. 2559 CCTV ของทางการจีน ได้เสนอภาพการให้สัมภาษณ์รับสารภาพของ กุ้ย หมินไห่ ว่าเขากลับเมืองจีนด้วยความสมัครใจ และขอสารภาพผิดในคดีเมาแล้วขับรถชนผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตซึ่งเป็นคดีตั้งแต่ปี 2546 จะขอยอมรับโทษไม่ว่าจะคดีใดๆ และขอให้รัฐบาลสวีเดนซึ่งเขาถือสัญชาติอย่าเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสื่อหลายฉบับตั้งข้อสังเกตว่า วิดีโอการรับสารภาพของกุ้ยหมินไห่ คล้ายกับการรับสารภาพผ่านสื่อหลายครั้งในจีนคือมีความเป็นไปได้ว่าเขาจะถูกข่มขู่บังคับให้รับสารภาพ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

กรณีทางการไทยส่งกลับ 2 นักกิจกรรมชาวจีนขณะแสวงหาที่ลี้ภัยไปประเทศที่สาม
ขณะที่เมื่อ 13 พ.ย. 2558 นักกิจกรรมชาวจีน ตง กวงปิง (Dong Guangping) และเจียง เยเฟย (Jiang Yefei) นักวาดการ์ตูนชาวจีน ถูกเจ้าหน้าที่ไทยส่งกลับจีนแผ่นดินใหญ่ โดย ตง กวงปิง หนีออกจากประเทศจีนพร้อมครอบครัวมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ส่วนเจียง เยเฟย หนีมาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2551 ทั้งหมดมีสถานะเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ภายใต้กระบวนการของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และยังทำเรื่องขอลี้ภัยไปยังแคนาดาด้วย โดยหลังจากที่มีการส่งตัวกลับจีน ทำให้ทางการแคนาดาอนุมัติฉุกเฉินให้ครอบครัวของเจียง เยเฟย และตง กวงปิง เดินทางมาตั้งถิ่นฐาน โดยพวกเขาเดินทางออกจากไทยตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2558