วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ตร.รวบ อดีตสข.เพื่อไทยส่งเพลงล้อ 'ประยุทธ์' ให้เพื่อนทางไลน์ ชี้ผิด พ.ร.บ.คอมฯ


28 ม.ค.2559 เมื่อเวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา  พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวีรัชต์ ศรีธวัชพงศ์ รอง ผบก.น4 , พ.ต.อ.ชัยรพ จุณณวัตต์ ผกก.สน.โชคชัย ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมตัวนายณรงค์ รุ่งธนวงษ์ อายุ 39 ปี พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง ผู้ต้องหาตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ หลังจากส่งต่อคลิปเพลง 'เพื่อลุงที่รักของเรา' ซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จกล่าวหาบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหาย
     
จากการสอบสวนนายณรงค์ ให้การรับสารภาพว่า ตนเองได้รับคลิปดังกล่าวมาจากทางกลุ่มไลน์ เมื่อตนเปิดดูเห็นว่าเป็นเพลงล้อเลียนนายกรัฐมนตรี ด้วยความสนุกสนาน ตนจึงส่งต่อเพลงดังกล่าวไปยังกลุ่มเพื่อน และญาติพี่น้องในไลน์ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างไรก็ตาม ตนเองรู้สึกเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยตนเองอยากจะขอโทษ และขออภัยท่านนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องดังกล่าว และพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย 
    
ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ได้สืบทราบว่านายณรงค์  ได้ส่งข้อความผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นคลิปเสียงเพลงที่ล้อเลียนนายกรัฐมนตรีผ่านทางเพลง จึงได้เดินทางไปควบคุมตัวมาสอบสวน อย่างไรก็ตาม อยากจะฝากเตือนไปถึงประชาชนทั่วไปว่า การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จ อันก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14 (5) จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป สำหรับนายณรงค์ นั้นเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาเขตบางเขน พรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2553 

มีชัยเผยอาจขยับโรดแมปเลือกตั้งปลายปี 60 ชี้ ม.44 ยังอยู่ จนกว่ามี รบ.ใหม่


เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 59 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ไม่ได้เขียนบทเฉพาะกาลเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่เพื่อให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สามารถทำงานต่อไปได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครทราบว่าระหว่างทางจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือดูแลความเรียบร้อย ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและคสช. ยังมีอำนาจเต็มและสามารถใช้มาตรา 44 ได้ตามปกติ เพราะไม่มีช่องทางใดให้ตัดอำนาจในส่วนนี้
“คนเราถ้ายอมให้ใช้อำนาจคุณจะไม่ไว้วางใจเขาเลยหรือ ต้องวางใจ อย่างน้อยที่ผ่านมาเขาไม่ได้ใช้อำนาจอะไร มันไม่รู้ว่าในอนาคตก่อนการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ก่อนรัฐบาลใหม่จะมา แล้วคุณไปตัดมือตัดเท้าเขาจะทำงานได้อย่างไร เป็นอำนาจเดิมไม่ได้ลดทอน แล้วจะไปลดตรงไหน คนต่อต้านไม่ว่าจะทำอะไรเขาก็ต่อต้านอยู่แล้ว พวกคุณอย่าไปต่อต้านด้วยแล้วกัน อันนี้เป็นกลไกตามปกติ” นายมีชัย กล่าว
“เชื่อว่ารัฐบาลและคสช.ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตตามที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยทำเช่นนั้น ขณะเดียวกันยังมีสื่อมวลชนคอยตรวจสอบอยู่  ส่วนระยะเวลา 8 เดือนในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นระยะเวลาที่น้อยมากสำหรับการยกร่างกฎหมายกว่า 10 ฉบับ โดยเมื่อร่างเสร็จแล้วก็จะทยอยเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาทันที ซึ่งไม่ถือเป็นการถ่วงเวลาของโรดแมป และยังอยู่ในวิสัยที่จะให้มีการเลือกตั้งได้ในปี 2560 แต่อาจจะเลื่อนไปเป็นปลายปี” ประธานกรธ. กล่าว
ประยุทธ์ ห่วงร่าง รธน. แง้มมีแผนสำรอง แต่เปิดเผยไม่ได้ เพราะจะถือเป็นคำสั่ง ขออย่าใจร้อน
 
ขณะที่ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่วยอมรับว่า มีความเป็นห่วงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และมีแผนสำรองไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะถ้าเปิดเผยออกไปจะถือเป็นคำสั่ง พร้อมขอว่าอย่าใจร้อน
 
ส่วนข้อกังวลการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในประเด็นการทำประชามตินั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังไม่มีการปรึกษาตน สำหรับประเด็นที่อยากให้มีการแก้ไขโดยเฉพาะเรื่องการใช้สิทธิ์ลงคะแนนประชามติ ตนเห็นว่าที่ยังคงเนื้หานี้ไว้ เพราะต้องการให้คนออกมาใช้สิทธิ์จำนวนมาก
'วิษณุ' เผยอ่าน ร่างแรกของ กมธ. แล้ว ระบุดีกว่าเดิมและเชื่อว่าน่าจะผ่านประชามติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ.แล้ว ซึ่งได้ให้ความเห็นไปก่อนหน้านี้ว่าเป็นร่างที่ดีกว่าเดิมและเชื่อว่าน่าจะผ่านประชามติ
เมื่อถามย้ำว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าแผนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นอย่างไร แต่ยืนยันว่าไม่มีร่างสำรอง เพียงแต่ถึงอย่างไรต้องแก้ปัญหาให้ได้ แต่ปัญหาเป็นในส่วนใดบ้างไม่ทราบ ส่วนเรื่องความชัดเจนการออกเสียงประชามติว่าจะใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์หรือผู้มาใช้สิทธิ์ ต้องพิจารณาว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้เกิดความชัดเจนด้วยหรือไม่ แต่ยังไม่จำเป็นต้องแก้ในขณะนี้ ขอให้มีความชัดเจนก่อน ไม่ควรพูดรายวัน
สปท.ส่ง 4 ตัวแทนซักถาม กรธ.ร่าง รธน.ร่างแรก 3 ก.พ.นี้

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) เปิดเผยถึงการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อ สปท.และสภานิติบัญญัติ (สนช.) ในวันที่ 3 ก.พ. นี้ ว่า สมาชิก สปท.ได้กำหนดตัวแทนในการซักถาม จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ,นายเสรี สุวรรณภานนท์ ,นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และนางนินนาท ชลิตานนท์ แต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนคำถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิป สปท.จะเปิดรับคำถามจากคณะกรรมาธิการทั้ง 12 คณะก่อนคัดเลือกคำถามในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ตัวแทนทั้ง 4 คนเป็นผู้ซักถาม กรธ.

ไทยขอ 'กูเกิล' ลัดขั้นตอน เซ็นเซอร์เนื้อหา ไม่ต้องรอคำสั่งศาล


กมธ.สื่อ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหารือกูเกิล ขอปิดกั้นเว็บเนื้อหากระทบความมั่นคง แบบไม่ต้องรอคำสั่งศาล พร้อมขอให้นึกถึงความสัมพันธ์อันดีที่ประชาชนมีต่อสหรัฐอเมริกา และความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกูเกิลฯ  ชี้หากมีปัญหาในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ขอให้เสนอรัฐบาลไทยได้ โดย กมธ.พร้อมพิจารณาผลักดันและให้ความช่วยเหลือเต็มที่
28 ม.ค. 2559 วานนี้ เพจเฟซบุ๊กกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway: Thailand Internet Firewall #opsinglegateway เผยแพร่เอกสาร "สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 11" ซึ่งระบุถึงการพูดคุยระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับตัวแทนจากบริษัท กูเกิล
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบกับเว็บไซต์ของสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ พบว่ามีเอกสารตรงกัน (ดูเอกสาร)
 

เอกสารดังกล่าวระบุว่า เป็นการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 219 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา โดยมีเรื่องที่พิจารณาคือ แนวทางและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์และการส่งเสริมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญนาย Matt Sucherman รองประธานและที่ปรึกษากฎหมายในประเด็นระหว่างประเทศ บริษัท กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เข้าร่วมประชุม
เอกสารดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวกับผู้แทนบริษัท กูเกิล ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เป็นไปในทางสร้างสรรค์นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งด้านการมุ่งทำลายสถาบันสำคัญของชาติ หรือละเมิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงอยากขอความร่วมมือให้ทางบริษัท กูเกิลฯ ช่วยถอดเว็บไซต์ที่มีลักษณะดังกล่าว ที่เผยแพร่ผ่านเครือข่ายของกูเกิล เช่น ยูทูบ เป็นต้น ไม่ให้ออกเผยแพร่ เพื่อสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นต่อไป
ขณะที่ตัวแทนกูเกิล ระบุว่า ทราบดีว่าการเผยแพร่เว็บไซต์บางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจมีปัญหาจากแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กูเกิลฯ มีบริการและนโยบายที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก การถอดถอนหรือป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ผิดกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น บริษัท กูเกิลฯ ไม่อาจพิจารณาหรือตัดสินใจเองได้ จำต้องได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นและมีขั้นตอน กระบวนการอันเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล คือการขอให้ศาลมีคำสั่งระงับ ยับยั้งการเผยแพร่เว็บไซด์ดังกล่าว ซึ่งทางกูเกิลฯ ได้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศทั่วโลก
จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าที่ผ่านมา มีการขออำนาจศาลอยู่แล้ว เพียงแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน อยากให้กูเกิลฯ เร่งรัดกระบวนการในการถอดเว็บไซต์หากมีคำขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อให้ทันต่อการยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจไม่ทันการหากต้องรอให้ผ่านกระบวนการทางศาล พร้อมระบุว่าขั้นตอนการร้องขอดังกล่าว อย่างไรก็ต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจยับยั้งการกระทำผิดกฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงไอซีที
ด้านผู้แทน กูเกิล ระบุว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา โดยจะคำนึงถึงความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน พร้อมแนะนำว่า วิธีป้องกันการเผยแพร่เว็บที่มีปัญหาได้พอสมควร คือ หากประชาชนเห็นว่าเว็บใดมีเนื้อหาไม่พึงประสงค์เพราะขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี สามารถใช้วิธีปักธง (flagging) เว็บนั้น ซึ่งจะทำให้บุคลากรของกูเกิลที่มีความรู้และประสบการณ์คอยสอดส่องเว็บดังกล่าว หากเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่สมควรเผยแพร่ก็จะระงับหรือถอดออกจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่อไป
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ระบุด้วยว่า ในตอนท้าย คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ กูเกิลฯ คำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีที่ประชาชนมีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา และความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกูเกิลฯ นำไปเป็นข้อพิจารณาด้วย พร้อมกันนี้หากมีปัญหาหรือความกังวลใดๆ ในการประกอบธุรกิจของ กูเกิลฯ ในประเทศไทย และอยากให้ช่วยเหลือ ขอให้เสนอทางรัฐบาลไทยได้และทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมพิจารณาผลักดันและให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
 

'ประยุทธ์' ตอบ "เพื่อไว้ให้ไอ้พวกหมานี่พูดอยู่ไง"


ปมบทความ 'ทหารมีไว้ทำไม' ของ 'นิธิ' ล่าสุด 'ประยุทธ์' ตอบหน้าที่ทหาร คือเอาชีวิตรักษาแผนดินกว่า 5 แสน ตารางกิโลเมตร เพื่อให้ "ไอ้พวกหมานี่พูดอยู่ไง" 
หลังจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการเขียนบทความ เรื่อง 'ทหารมีไว้ทำไม' ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 1-7 ม.ค. 2559 (อ่านบทความ) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับการติดแฮชแท็กในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า #ทหารมีไว้ทำไม โดยหลายความเห็นตอบโต้เพียงตัวชื่อบทความของนิธิ โดยไม่ได้ลงรายละเอียดที่นิธิเขียนในเนื้อบทความ หลังเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารบุกอุ้ม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักศึกษาและนักกิจกรรม ในยาววิกาลบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีการยกเหตุการณ์อุ้มประชาชนดังกล่าวมาเพื่อโต้กลับผ่านแฮชแท็กดังกล่าวด้วย (อ่านยรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้ (29 ม.ค.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวในระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "อาชีวศึกษา ฝีมือชน คนสร้างชาติ" ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า ทหารรักษาแผ่นดินกว่า 5 แสนตารางกิโลเมตร 
"วันนั้นเขาถามว่ามีทหารแล้วได้อะไร ตอบสิ ได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยก็มีทหารได้ก็คือเอาชีวิต ชีวิตเขานี่ทุ่มเทรักษาไอ้แผ่นดินผืนนี้ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตร ไว้ให้ไอ้พวกหมานี่พูดอยู่ไง ผมไม่อยากจะพูดอย่างงี้ วันนี้ผมเบรคไม่อยู่จริงๆ เพราะมันถามผมทุกวัน นะ เขาตายไปเท่าไหร่ เขาตายไปเท่าไหร่ เขารักษาแผ่นดินไปเท่าไหร่ มันยังบอกว่ามีทหารไว้ทำอะไร น้ำท่วม ฝนแล้ง โจรขโมย ทหารตำรวจเขาทำอะไร นึกถึงเวลาเขาทำบ้าง ไม่ใช่ไปจับจิ๊กๆๆ ไอ้นี่เรียกเงิน มันเรียกสักกี่คน ไปแจ้งความมา โน้นเขามีช่องทางอยู่แล้ว ร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งโรงพัก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้อนถามด้วยว่า ถ้าเช่นนั้นจะจ้างยามมาเป็นแทนไหม เป็นยามชายแดน โรงพักก็จ้างยามทั้งหมดเลย เอาไหม มันทำได้ไหมเล่า
 
โดยเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เองก็เคยพูดถึงประเด็นบทความนี้ด้วยว่า ให้ไปถามว่าเขาทำประโยชน์อะไรให้แผ่นดินบ้าง “ผมปกป้องแผ่นดินนี้มาตลอดชีวิต ให้ใคร หรือให้คนเหล่านี้มาพูด ให้คนเหล่านี้มาทำลายชีวิตผม ไปถามเขาด้วย” นายกฯ กล่าวด้วยอารมณ์เสียงดัง ก่อนจะเดินกลับขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมกล่าวว่า “หมดอารมณ์ ชอบยั่วอารมณ์”

ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘มีชัย’


29 ม.ค. 2559 เมื่อวานนี้ เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(โฆษก กรธ.) นำเอกสารสรุปสาระสำคัญร่างแรกรัฐธรรมนูญแสดงต่อสื่อมวลชน รวมจำนวน 35 หน้า ขนาดครึ่งหน้าเอ 4 แต่ยังไม่เผยเนื้อหาภายในให้ทราบ พร้อมแถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 270 มาตรา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำ โดยไม่มีการปรับแก้เนื้อหา เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการแถลงข่าวร่างแรกรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้(29 ม.ค. 59) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม กรธ. (ห้องประชุมงบประมาณ) จากนั้น จะมีการนำส่งร่างแรกดังกล่าวในลักษณะหนังสือให้กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล รวมถึงส่วนราชการและพรรคการเมือง ส่วนสื่อมวลชนจะให้ดาวน์โหลดร่างรายมาตราได้
โฆษก กรธ. กล่าวว่าเบื้องต้นร่างยังคงมีจำนวนทั้งสิ้น 270 มาตรา ส่วนเอกสารสรุปประเด็นสำคัญร่างแรกนั้นจะแสดงความเชื่อมโยงเกี่ยวกับหลัก 10 ข้อ ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดต้องมีในร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรอบ 5 ข้อ ของ คสช.  พร้อมระบุว่า กรธ.จะพยายามอธิบาย ทั้งสิ่งที่คิดว่าเป็นโครงสร้างปกติของรัฐธรรมนูญ อาทิ การกำหนดหลักการสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย รวมถึงการบัญญัติหลักการขึ้นมาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รัฐ หรือแนวนโยบายของรัฐ และส่วนที่คิดว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเมือง อาทิ การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ว.มาการเลือกตั้งทางอ้อม กรธ.จะอธิบายให้ประชาชนได้ทราบถึงเหตุผลและที่มา
อุดม กล่าวต่อไปว่า จะมีการชี้แจงถึงเรื่องสำคัญของร่างทั้งเรื่องโครงสร้างฝ่ายบริหารที่มีการ เปลี่ยนแปลงว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากคนที่ได้รับการเสนอชื่อจากประชาชน และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ เรื่ององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่ กรธ.เสนอให้มีการทำงานในลักษณะกระฉับกระเฉงว่องไว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีเรื่องกระบวนการการปฏิรูปที่ร่างฉบับนี้มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมกันนี้ จะชี้แจงว่า หากประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะมีระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเมื่อใด และในระยะที่ยังไม่มีการเลือกตั้งจะมีองค์กรใดทำหน้าที่ปกติก่อนที่จะมีการ เลือกตั้งอย่างไรบ้าง
ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญ http://bit.ly/1Snnef0