วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

เปิดคลิป 3 ชายฉกรรจ์อ้างเป็นตร. บุกอุ้มถึงหน้าบ้านอ้างพาไปตรวจสารเสพติด


28 ม.ค.2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม' รายงานและโพสต์วิดีโอคลิปผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า วันนี้(28 ม.ค.59) ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยคลิป นาทีระทึก ชายฉกรรจ์ 3 คน อ้างเป็นตำรวจ ขับรถเก๋งนิสสัน สีดำสองตอน ทะเบียน กรุงเทพมหานคร มาอุ้ม น.ส.ประภาพร อายุ 23 ปี เพื่อนำตัวไปรีดเงิน ในเขตเทศบาลบางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา เวลา 16.20 น.
 
 
 
โดยชายฉกรรจ์ทั้ง 3 คน ได้อ้างกับชาวบ้านบริเวณนั้นว่า จะนำตัว น.ส.ประภาพร ไปตรวจสารเสพติด แต่กลุ่มญาติพี่น้องของ น.ส.ประภาพร ไม่ยอม โดยเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นที่หน้าบ้านของ น.ส.ประภาพร แต่ชายฉกรรจ์ทั้ง 3 ก็ไม่สน จะอุ้มน.ส.ประภาพร ขึ้นรถอย่างเดียว  
 
"เรื่องนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจมาก เพราะบริเวณที่เกิดเหตุ อยู่ไม่ไกลจากโรงพักเมืองสมุทรปราการ" ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุ
 
โดยวันนี้ ทางชมรมฯ ได้นำผู้เสียหายพร้อมพยานหลักฐาน และรายชื่อผู้กระทำความผิดทั้ง 3 คน ไปมอบให้กับผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สมุทรปราการ และผู้กำกับสถานีตำรวจเมืองสมุทรปราการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
 
ต่อมา เพจดังกล่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม 2 ใน 3 คนร้ายได้แล้ว 

กต.เผยรัฐบาลไทยผิดหวัง 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' อย่างแรง หลังรายงานว่าไม่เคารพสิทธิมนุษยชน


เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปี 2015 ซึ่งมีสถานการณ์ของประเทศไทยด้วย โดย ฮิวแมนไรท์วอทช์ รายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระชับอำนาจมากขึ้น และปราบปรามปิดกั้นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนักในรอบปีที่ผ่านมา คณะทหารไม่ได้ทำตามคำสัญญาที่กล่าวว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน และนำพาประเทศไทยกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
ในรายงานประจำปีฉบับที่ 29 ความยาว 659 หน้า ฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศ เรียงความของเคนเน็ธ ร็อธ ผู้อำนวยการบริหาร กล่าวถึงการแพร่กระจายของการก่อการร้ายออกนอกภูมิภาคตะวันออกกลาง และการไหลบ่าของผู้ลี้ภัยจำนวนมาก เนื่องจากการกดขี่ และความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องความมั่นคง ขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกได้ปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนักที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เพราะเกรงกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ซึ่งมักเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
คณะทหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องรับผิดใดๆ 
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “วิกฤติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยย่ำแย่มากขึ้น มองไม่เห็นเลยว่าจะจมลึกลงไปในระบอบเผด็จการทหารของ คสช. ต่อไปอีกเท่าไหร่” “คณะทหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องรับผิดใดๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่ของปีที่แล้วคุกคาม และดำเนินคดีผู้เห็นต่าง ปิดกั้นการชุมนุม เซ็นเซอร์สื่อ และจำกัดการแสดงออกทางการเมืองที่คณะทหารไม่เห็นด้วย”
ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช. ซึ่งมีหัวหน้า คือ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังไม่ใส่ใจต่อความกังวลของสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลประเทศต่างๆ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 การบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 ได้ถูกแทนที่ด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายแก่ผู้ที่ดำเนินการต่างๆ ในนามของ คสช. เมื่อเดือนพฤศจิกายน คณะทหารเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ควรรับประกันการนิรโทษกรรมต่อการใช้กำลังทหารเพื่อ “ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ”
กำหนดเวลาที่คณะทหารสัญญาว่าจะนำพาประเทศกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนยังคงเลื่อนออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความชัดเจนว่าในที่สุดแล้วจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน คณะทหารยังคงห้ามกิจกรรมทางการเมือง และการชุมนุมอย่างสันติในที่สาธารณะ ใช้อำนาจตามอำเภอใจจับกุมคุมขังหลายร้อยกรณี โดยเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และการปฏิบัติอย่างมิชอบต่อผู้ที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นอย่างน้อย 27 คน เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของคณะทหาร และฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ ในรอบปีที่ผ่านมา คสช.ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีของผู้ที่ต่อต้านคณะทหาร และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ แต่ศาลทหารนั้นขาดความเป็นอิสระ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
ในปี 2558 งานสัมมนา เวทีวิชาการ และกิจกรรมที่มีหัวข้อเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 60 ครั้งถูกสั่งให้ยกเลิก รวมถึงการเสนอรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ เนื่องจากคณะทหารเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพ และความมั่นคงของประเทศ
คดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 56 หลังรัฐประหาร ศาลทหารลงโทษอย่างหนัก 
คณะทหารดำเนินคดีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ด้วยกฎหมายที่ร้ายแรง มีคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 56 กรณีนับตั้งแต่การรัฐประหาร โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ โดยศาลทหารได้พิพากษาลงโทษอย่างหนัก เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ศาลทหารพิพากษาจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง 60 ปี เนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊คที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันกษตริย์ (ลดโทษเหลือ 30 ปี เนื่องจากสารภาพผิด) ซึ่งเป็นการลงโทษรุนแรงที่สุด ในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์เท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
พลเอกประยุทธ์​กล่าวในที่สาธารณะหลายครั้งว่า ทหารไม่ควรถูกตำหนิ และลงโทษในกรณีความสูญเสียที่เกิดจากกระทำของกองทัพในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีบุคคลกรของกองทัพแม้แต่คนเดียวที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนอย่างร้ายแรงในปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ละเมิดกติการะหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้บังคับส่งตัวผู้ลี้ภัย ส่งตัว 2 นักกิจกรรมชาวจีน กลับ
รัฐบาลไทยไม่รับฟังคำร้องขอขอสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และรัฐบาลหลายประเทศ โดยละเมิดกติการะหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้บังคับส่งตัวผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาการลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่คนเหล่านั้นอาจจะถูกประหัตประหาร ซึ่งรวมถึงกรณีการส่งตัวนักกิจกรรมชาวจีน 2 คนกลับไปประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และการส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปประเทศจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558  
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “การเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถดถอย โดยมองไม่เห็นว่าปัญหานี้จะจบลงเมื่อใด” “ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องกดดันคณะทหารอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เปลี่ยนท่าที ยุติการปราบปรามปิดกั้นสิทธิมนุษยชน และทำตามคำสัญญาด้วยการนำพาประเทศกลับสู่การกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”  
กต. ระบุ รบ.ไทยผิดหวังกับรายงานอย่างยิ่ง ถูกกล่าวหาไม่เคารพสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (28 ม.ค.59) สำนักข่าวไทย รายงานปฏิกิริยาจากทางการไทย โดย นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณี ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกรายงานดังกล่าวว่า รายงานดังกล่าวของฮิวเมนไรท์วอทช์ ทางกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าเป็นรายงานซึ่งจัดทำโดยองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงาน
“รัฐบาลไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่รายงานดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนและมิได้สะท้อนถึงความคืบหน้าของการปฎิรูปซึ่งมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นการดำเนินการตามโรดแมป เพื่อนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดองและบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ ตามกรอบระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน โดยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2560 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนกรกฎาคม 2560" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
 
นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (ที่มาภาพ : เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ) 
 
นายเสข กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมีความคืบหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมเปิดเผยรายละเอียดร่างแรกต่อสาธารณชนในวันที่ 29 มกราคมนี้ หลังจากนั้นจะลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนเพื่อนำมาปรับแก้ให้เป็นร่างสุดท้ายภายในเดือนเมษายน ก่อนนำไปทำประชามติ  ร่างรัฐธรรมนูญจะมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับได้จากทุกฝ่าย โดยมองปัญหาของประเทศในห้วงที่ผ่านมาเพื่อมิให้เกิดขึ้นอีก และช่วยแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่สั่งสมมานาน นอกจากนั้น ในช่วง 1 ปีที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ได้เสนอกฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว จำนวน 164 ฉบับ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายและสอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ระดับเสรีภาพปี 2016 ฟรีดอมเฮาส์จัดไทยตกต่ำสุดปีที่ 2 ‘Not Free’

ฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชน ที่รายงานเรื่องสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมือง ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงาน "FREEDOM IN THE WORLD 2016 Anxious Dictators, Wavering Democracies: Global Freedom under Pressure รายงานระบุว่า สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความหวาดกลัวเรื่องความไม่สงบในสังคมทำให้รัสเซีย จีน และประเทศในระบอบอำนาจนิยมอื่นๆ จัดการกับคนเห็นต่างอย่างรุนแรงมากขึ้น ขณะที่แรงงานข้ามชาติจำนวนมหาศาลและการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ก็เป็นเชื้อเพลิงเร่งความรู้สึกกลัวต่างชาติในประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่นทั้งหลาย
ในรายงานระบุว่าปี 2015 เป็นปีที่เสรีภาพของโลกลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 จำนวนประเทศที่เสรีภาพลดลงในปีนี้มีทั้งสิ้น 72 ประเทศ เป็นจำนวนที่มากที่สุดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมีเพียง 43 ประเทศที่มีอันดับดีขึ้น
ในจำนวน 195 ประเทศ มี 86 ประเทศที่อยู่ในสถานะ Free (สีเขียว)  มี 59 ประเทศที่อยู่ในสถานะ Partly Free หรือมีเสรีภาพบางส่วน (สีเหลือง) และมี 50 ประเทศที่อยู่ในสถานะ Not Free (สีม่วง)

ภาพจาก Freedom House
แสดงผลจำนวนประเทศที่ลำดับเสรีภาพ "ขึ้น" (ฟ้า) และ "ลง" (ชมพู) ตลอดสิบปีที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้ประเทศไทยนั้นอยู่ในส่วน Not Free ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ไทยได้อยู่ในโซน “สีม่วง” ซึ่งเป็นสถานะเดียวกับประเทศ 12 แห่งที่มีคะแนนด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองเลวร้ายที่สุด เรียงจากส่วนที่มีเสรีภาพน้อยที่สุด คือ ซีเรีย ธิเบต โซมาเลีย เกาหลีเหนือ อุซเบกิสฐาน เอริเธรีย เติร์กเมนิสถาน ซาฮาราตะวันตก เป็นต้น
รายละเอียดคะแนนของไทยนั้น ด้านสิทธิพลเมืองได้ 6 คะแนน ด้านเสรีภาพ ด้านเสรีภาพพเมืองได้ 5 คะแนน
ด้านสิทธิทางการเมือง ได้ 6 เต็ม 7 (คะแนนยิ่งมากยิ่งแย่) ความหมายของคะแนน 6 หมายถึง ประเทศที่มีสิทธิทางการเมืองแบบจำกัดมาก ปกครองโดยพรรคเดียวหรือโดยเผด็จการทหาร อาจอนุญาตให้มีสิทธิทางการเมืองได้บ้างเล็กน้อย เช่น การแสดงออกบางอย่าง หรือสิทธิในการปกครองตนเองของคนกลุ่มน้อย และมีจำนวนน้อยที่มีจารีตแบบกษัตริย์นิยมซึ่งยอมอดทนต่อการถกเถียงทางการเมืองและยอมรับการเรียกร้องจากสาธารณะ
ด้านเสรีภาพพลเมือง ได้ 5 เต็ม 7 (คะแนนยิ่งมากยิ่งแย่) ความหมายของคะแนน 3,4,5 คือ ประเทศที่ปกป้องเสรีภาพของพลเมืองเกือบทั้งหมดพอสมควร หรืออาจเป็นการปกป้องอย่างแข็งขันในเสรีภาพพลเมืองบางอย่างขณะที่บกพร่องในการปกป้องบางอย่าง
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ประเทศไทยจะอยู่ในสถานะ Partly Free เคยตกอยู่ในสถานะ Not Free ในปี 2550 เนื่องจากปลายปีก่อนหน้านั้นมีการรัฐประหาร 19 กันยายนโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)  จนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ก็ทำให้ปีต่อมาไทยตกไปอยู่ในสถานะ Not Free อีกครั้งเรื่อยมาจนปัจจุบัน

กรรมการสิทธิฯถูกลดเกรดเป็น B สุณัยแนะรีบพิสูจน์ตัวเอง ยุค คสช.


กรรมการสิทธิของไทยถูกลดระดับจาก A เป็น B หลังถูกประเมินมีปัญหาหลายส่วน ด้านสุณัย ผาสุข แนะเร่งพิสูจน์ตัวเองด้วยการมีบทบาทเชิงรุกต่อสถานการณ์สิทธิในประเทศที่เข้าขั้นวิกฤตแล้ว
28 ม.ค. 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถูกลดระดับจากสถานะ A เป็น B อย่างเป็นทางการ หลังคณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มีมติเสนอให้ลดระดับ กสม. ของไทย จากสถานะ A เป็น B เมื่อปี 2557
ในรายงานเมื่อ ต.ค. 2557 ICC แสดงความกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการคัดเลือก กสม., การขาดการคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และความล้มเหลวในการตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยอยู่ใต้การปกครองของทหาร ทั้งนี้ ICC ให้เวลา กสม. 12 เดือนในการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ย. 2558 ICC เสนอให้ลดระดับ กสม. เป็น B หลังไม่มีการดำเนินการตามคำแนะนำของ ICC
ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ระบุด้วยว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช้โอกาสนี้ในการรับเอาข้อเสนอแนะของอนุกรรมการ เพื่อทำให้ กสม.ของไทย กลับมาอยู่ในสถานะ A อีกครั้ง
สำหรับการได้สถานะ B จะส่งผลคือ
1) จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ รวมถึงการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในต้นปี 2559
2) สถานะของ กสม. คือ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่น การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Asia Pacific Forum on National Human Rights Institutions)
3) จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้
สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ผลจากการลดระดับครั้งนี้ ในทางรูปธรรม สถานะของ กสม.เวลาไปร่วมประชุมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ จะไม่สามารถนำเสนอได้ จะเป็นได้แค่ผู้สังเกตการณ์ เท่ากับจะไม่มีบทบาททั้งในเชิงที่จะไปมีส่วนร่วมตัดสินใจประเด็นสำคัญๆ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและคณะทำงานสิทธิฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายหรือข้อผูกพันระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า ไทยเคยมีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น การผลักดันให้มีการผ่านมติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือหลักการเนลสัน แมนเดลลา เรื่องสิทธิผู้หญิง เรื่องความหลากหลายของเพศสภาพ
เขาชี้ว่า การลดระดับลงมามีผลชัดเจนในเรื่องของการตอกย้ำว่ากลไกระดับประเทศในการตรวจสอบและปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศ เพราะมาตรฐานของ กสม. เป็นประเด็นต่อเนื่องจาก กสม. ชุดที่แล้ว แทนที่จะมีการแก้ไขให้ดีขึ้น กลับไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เรื่องการสรรหาที่ไม่โปร่งใสไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรสิทธิมนุยชน คุณสมบัติของผู้ที่มาเป็น กสม. ที่ไม่ได้ถูกคัดกรองตามกติการะหว่างประเทศ อย่างหลักการปารีส (Paris Principles) ทำให้ได้บุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ ท่าทีความเป็นกลางของ กสม. ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจาก กสม. ชุดที่แล้ว ก็สะท้อนว่าปัญหาที่เป็นเรื่องของการเมืองแบ่งขั้วในประเทศ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้สนใจประเด็นการปกป้องคุ้มครองส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศเข้ามามีอำนาจก็สะท้อนออกมาในความเป็นตัวตนของ กสม.
กรณีที่ กสม.เคยชี้แจงประเด็นเรื่องการสรรหาแต่งตั้งว่าอยู่นอกเหนืออำนาจ กสม. หรือบางประเด็นยังอยู่ระหว่างรอร่างรัฐธรรมนูญอยู่ สุณัยกล่าวว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์เคยออกแถลงการณ์สองครั้งใหญ่ๆ ในสมัย อ.อมรา เป็นประธานและสมัยที่ กสม.ชุดนี้ได้รับเลือก โดยชี้ว่ากระบวนการนั้นไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น ทางแก้มีสองทาง คือ ระยะสั้นหรือเฉพาะหน้าคือ ตัวบุคคลที่ลงสมัครก็ควรแสดงสปิริต แสดงจุดยืนทางหลักการด้วยการลาออก เพราะเมื่อตั้งใจมาทำงานก็ควรทำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นการแสดงออกที่สามารถทำได้ อยู่ในวิสัยของตัวผู้สมัครเอง แล้วให้เกิดกระบวนการสรรหาใหม่ ที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ยาวกว่า คือแก้ไขกระบวนการสรรหา
สุณัย กล่าวต่อว่า หรือหากไม่ลาออก การทำหน้าที่ก็จะสามารถตอบโจทย์อีกโจทย์ได้ว่ากระบวนการสรรหามีปัญหา และระหว่างที่รอให้มีการแก้กระบวนการสรรหา ก็ทำหน้าที่ในระหว่างปฏิบัติงานให้ตอบโจทย์ที่เป็นข้อจำกัดให้ดีขึ้น แต่ว่าตั้งแต่ชุดที่แล้ว จนมาถึงชุดนี้เราไม่เห็นความพยายามที่ชัดเจนในการตอบโจทย์อันนั้น ปัญหาเรื่องการเลือกทำประเด้นยังมีอยู่ ฝักฝ่ายก็ยังมีอยู่ ใน กสม.ชุดที่แล้ว ที่เป็นที่วิจารณ์ที่เป็นที่รับรู้ในสังคม พอมา กสม.ชุดใหม่ เข้ามาก็ไม่มีบทบาทในเชิงรุก ทั้งที่ตอนนี้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในสายตาของฮิวแมนไรท์วอชท์อยู่ในสภาพวิกฤตอย่างหนัก บทบาทของ กสม. ต้องเป็นบทบาทเชิงรุก เราก็ไม่เห็นบทบาทนั้น
นอกจากนี้ ยังมีการตัดแบ่งงานด้านสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากหลังรัฐประหาร ออกจากกัน แทนที่อนุกรรมการชุดนี้ จะถูกส่งเสริมให้แข็งแกร่ง กลับถูกแยกออกจากกัน ทั้งที่ในกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เรื่องสองเรื่องอยู่ด้วยกัน และหลังจากตัดแบ่งเห็นได้ชัดเลยว่าบทบาทหายไป จากเดิมซึ่งเคยเป็นอนุฯ ที่แข็งขันที่สุด มีบทบาทต่อสาธารณะชัดเจนที่สุด ในสมัยที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พอจับแยกก็จะเห็นบทบาทของ อังคณา ในอนุพลเมือง แต่บทบาทของอนุการเมือง ที่มีประธาน กสม. มาดูแลเอง เราไม่เห็นบทบาทที่เด่นชัดเลย และยังมีเรื่องย้อนแย้งอย่างกรณีที่ นิวเคยไปร้องเรียนว่าถูกคุกคามสิทธิไม่ให้ทำกิจกรรม แล้วพอจ่านิวถูกอุ้ม แทนที่ กสม.จะมีบทบาทเข้าไปช่วย เราก็ยังไม่เห็นท่าทีจาก กสม.ออกมาเลย ทั้งที่กรณีนี้เป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก
"เหล่านี้ก็สะท้อนว่า ระหว่างที่มีโอกาสจะตอบโจทย์ที่เป็นข้อกังวลของ ICC ที่เขาปรับเกรดเพื่อเร่งให้มีการยกสถานะกลับไป เราไม่เห็นความพยายามที่จะทำอะไรในทางปฏิบัติ นอกจากให้สัมภาษณ์ว่าอยากจะฟื้นสถานะ" สุณัยกล่าวและว่า แล้วถ้าเกิดจะหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ไขกระบวนการสรรหา ก็ดูจะลำบากเพราะมันไม่ได้ถูกเขียนให้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น โอกาสที่เราจะเห็นการสรรหาที่ดีขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นโอกาสเดียวที่ กสม.จะยกระดับตัวเองได้ก็คือต้องช่วยตัวเองก่อน แต่เราไม่เห็นความพยายามที่จะช่วยตัวเองเลย ไม่เห็นความพยายามที่จะพิสูจน์ตัวเองเลย
"กสม.ชุดใหม่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องกระบวนการสรรหา จะมีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติของ กสม.แต่ละคน แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และแก้ไขเพิ่มเติมได้ ไม่มีประสบการณ์ ก็สามารถเรียนรู้ เรียกผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปสนับสนุนการทำงาน และมีบทบาทในเชิงรุกที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ตอนนี้เหมือนกับรอให้มีผู้ร้องเรียน ซึ่งมันไม่ใช่ และต่อให้มีผู้ร้องเรียนแล้ว ก็ยังไม่เห็นมีการทำงานในหลายๆ เรื่อง" สุณัยแนะนำ
เขาย้ำว่า สิ่งที่ กสม.ทำได้เฉพาะหน้า เร็วที่สุดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ พิสูจน์ตัวเองให้เห็นด้วยการมีบทบาทเชิงรุกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยที่เข้าขั้นวิกฤตแล้ว แล้วตอนนี้มันหนักไปทุกเรื่อง ทั้งสิทธิทางการเมืองและพลเมืองที่กล่าวไปแล้ว ทั้งสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมก็มีปัญหา คนออกจากป่า สิทธิชาวเล เหมือง สิทธิยา สุขภาพ