วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

รบ.ขออย่าเอา 'การช่วยชาวสวนยาง' ไปเทียบกับ 'จำนำข้าว' ชี้เพียงที่มาก็ต่างกันสิ้นเชิง


พล.อ.ประยุทธ์ ขออย่าปลุกปั่นคนออกมาต้าน ชี้การแก้ไขปัญหายางฯไม่เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา สรรเสริญ วอนอย่าเอาการช่วยเหลือชาวสวนยางไปเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ระบุเพียงที่มาก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว
19 ม.ค. 2559 เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราของรัฐบาลว่า รัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาโดยการเยียวยาจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพียงอย่างเดียว แต่พยายามแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ ด้านไปพร้อมกัน เช่น การนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มนำมาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น และต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาทุกปัญหามีต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาอาจจะมีข้ออุปสรรคและความยุ่งยากไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย อำนาจหน้าที่ จึงต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่าง ๆ และให้ได้ข้อยุติจากฝ่ายกฎหมายด้วย เช่น การรับรองมาตรฐาน ระเบียบการใช้เงินงบประมาณในการจัดซื้อ เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ขออย่าปลุกปั่นให้ประชาชนออกมาต่อต้าน ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาลไม่เหมือนการแก้ไขปัญหาโครงการของรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลรับซื้อน้ำยางพาราสดจากเกษตรกรโดยตรง เพื่อเริ่มต้นแก้ไขปัญหาราคายางพาราระยะที่ 1 อย่างครบวงจร เพื่อนำมาสู่กระบวนการผลิตต่อไป ทั้งนี้ ส่วนของกลไกตลาดจะยังเดินหน้าไปตามกลไกเหมือนเดิมไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พร้อมกล่าวขอบคุณเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความอดทนมากขึ้น และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล รวมไปถึงเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ที่ให้ความร่วมมือลดพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี พ.ศ.2559 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และเพิ่มราคาข้าวให้สูงขึ้น
 
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของรัฐบาลนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และการขุดแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนพันกว่าแห่ง แต่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาน้อยจึงไม่มีน้ำไว้กักเก็บตามที่ต้องการ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำระบบเติมน้ำในพื้นที่ที่ประชาชนมีปัญหาเกรงว่าปริมาณน้ำจะลดลงนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงว่า การจัดทำระบบเติมน้ำจะต้องไม่เกิดผลกระทบกับพื้นที่โดยรวมของเดิม และจะทำได้เฉพาะฤดูน้ำที่มีปริมาณน้ำจำนวนมากจนเกินความจำเป็นเท่านั้น จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ และอย่าพยายามสร้างความขัดแย้ง
 
ขออย่าเอาการช่วยเหลือชาวสวนยางกับโครงการรับจำนำข้าวมาเทียบกัน
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีพรรคเพื่อไทยพยายามเชื่อมโยงเรื่องการช่วยเหลือชาวสวนยางของรัฐบาลกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีตว่า ไม่อยากให้สังคมหรือพรรคเพื่อไทยเข้าใจผิดว่าทั้งสองโครงการสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะเพียงที่มาก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว
“โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ใช้หาเสียงก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่โครงการที่ผิด แต่เมื่อดำเนินการแล้ว มีผู้ทักท้วงว่ามีการทุจริต และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าว ยังปล่อยให้ดำเนินการต่อไปโดยมิได้ระงับยับยั้งหรือตรวจสอบ จนเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ส่วนการช่วยเหลือชาวสวนยางเป็นการทำหน้าที่ของรัฐบาลเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะเกษตรกรมีความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากราคายางในประเทสตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง และมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้ง จึงมอบให้ กยท.เข้าช่วยเหลือชาวสวนยาง โดยใช้อำนาจตาม ม.8 และม.9 แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ โครงการรับจำนำข้าวเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างไม่จำกัดรับจำนำข้าวทุกเมล็ดมาสต็อกไว้ โดยตั้งราคาสูงกว่าตลาดมาก ถือเป็นภาระทางการคลังอย่างมากและสุ่มเสี่ยงที่คุณภาพข้าวจะต่ำลงเรื่อยๆ แต่การรับซื้อยางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการรับซื้อแบบจำกัดจำนวนที่ 100,000 ตัน จากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ณ จุดรับซื้อ 1,500 จุด ในราคาที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อยที่ กก.ละ 45 บาท หรือลดทอนลงไปตามประเภทของยาง เป็นการซื้อมาแล้วขายต่อเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมตามความต้องการผลิตภัณฑ์แต่ละประเทศของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และตลาดอื่น ๆ ภายในประเทศ โดย กยท. ได้ขอความร่วมมือไปยัง อคส. และ คสช. ในการร่วมดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำยางที่ขายไปแล้ว หมุนเวียนกลับมาขายอีก โดยให้ คสช.ลงไปตรวจสอบคลังเก็บยางหรือผู้รับซื้ออย่างใกล้ชิด

บัณฑูร เศรษฐศิโรจน์: รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ครั้งต่อไปต้องไม่เหมือนเดิม


งวดเข้ามาใกล้สิ้นเดือนมกราคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการเปิดเผยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ขณะที่บรรยากาศ การมีส่วนร่วม หรือความสนใจ เป็นไปอย่างเงียบเหงา
ต้นปีนี้เองเว็บไซต์ Prachamati.org เข้าไปพูดคุยกับ บัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถึงสถานการณ์การมีส่วนร่วมของประชาชนบนโลกออนไลน์ ในปี 2558 ซึ่งเขามีบทบาททั้งในฐานะคนใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และคนนอกที่ผลักดันเว็บไซต์ citizenforum.in.th ซึ่งสร้างเพื่อเป็นพื้นที่แสดงความคิดของประชาชนบนโลกออนไลน์
นอกจากนี้เรายังขอให้เขามองอนาคตของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ในขณะนี้ และอนาคตของการออกเสียงประชามติ และทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องคว่ำไปอีกรอบ
+การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในโลกออนไลน์ของ กมธ.ชุดที่แล้วเป็นอย่างไร
บทบาทของ กมธ.ก็จะมีเครื่องมืออย่าง ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ แต่ กรธ.เหมือนกับใช้สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเข้ากับวัฒนธรรมของคนที่ใช้ ทำให้เป็นการสื่อสารทางเดียวไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่มีรูปแบบของการให้ข้อมูลสองทาง การอภิปรายให้ความเห็นด้วยหรือเห็นต่าง การสนทนาพูดคุยถกเถียง ในโลกของคนที่ใช้พื้นที่พวกนี้เขาต้องการพื้นที่แบบนี้ด้วย
+และการสร้างการมีส่วนร่วมของ citizen forum เป็นอย่างไร
ความสนใจความตื่นตัวก็มีพอสมควรแต่ไม่ถึงกับที่เราคาดหวัง เราอยากเห็นระดับการมีส่วนร่วมที่เข้มข้นมากกว่านี้ แต่ประเมินก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของสาระที่เข้มข้น การที่คนจะมาแสดงความคิดเห็นในเชิงคุณภาพกับเว็บที่เพิ่งเปิดตัว ในปริมาณที่อยู่ในระดับหลักพันเราก็ถือว่าน่าพอใจแม้ว่าจะไม่มากเท่าที่เราอยากให้เป็น
มุมมองต่อ citizen forum ที่มีคนพูดถึงคือเรื่องการตั้งโจทย์ของเราเป็นเรื่องที่ต้องการความเข้าใจและคุณภาพพอสมควร การที่จะเพียงแค่กดไลค์ไม่ใช่เป้าหมายของเรา ดังนั้นก็เลยไม่ได้จำนวนตามที่คาดหวัง โจทย์หลายเรื่องเราก็ตั้งยากเกินไป เป็นเรื่องลึกในเรื่องนั้น เช่น ศาลสิ่งแวดล้อมจำเป็นหรือไม่ การปฏิรูปการศึกษา โจทย์อ่านแล้วเข้าใจยาก
+เห็น citizen forum พยายามรวบรวมยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ผลเป็นอย่างไร
ตอนนั้นเรารวบรวมรายชื่อน่าจะอยู่หลักพันต้นๆ จากการประสานงานกับเครือข่ายที่ไม่ปฏิเสธการเข้าไปเสนอความคิดเห็นต่อกลไกทางการที่มีอยู่ เมื่อความคิดเห็นเข้าไปฝ่ายเลขาธิการของ กมธ.จะประมวลความเห็นจากช่องทางต่างๆ แล้วจับใส่กล่องเทียบห้าความคิดเห็นจากพรรคการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภาคประชาชน และรัฐบาล โดยยึดโยงเกี่ยวกันแต่ละมาตราของร่างรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องก็จะเห็นว่าไปในทางข้อเรียกร้องของเรา เช่น การไม่ควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่สุดข้อพิจารณานี้ก็ไปอยู่บนโต๊ะของ กมธ. และออกมาเป็นร่างล่าสุด ว่าไม่ควบรวมซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องที่ส่งเข้าไป
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสมัชชาพลเมือง องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ องค์การคุ้มครองผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้อยู่ในข้อเรียกร้องจากที่ citizen forum ทำอยู่และหลายๆ กลุ่มเห็นตรงกัน ข้อสรุปนี้ท้ายที่สุดก็ยังคงอยู่ในร่างฉบับที่เสนอ สปช.
+แสดงว่าการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นของประชาชนมีผลต่อการตัดสินใจของ กมธ.
ผลมีอยู่สองลักษณะที่จะมีอิทธิพล คือหนึ่งในแง่ของจำนวนก็มีนัยแบบหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งถึงไม่มีจำนวนมากแต่เท่ากับเป็นการเปิดประเด็นให้ กมธ. หยิบประเด็นนั้นมาอภิปรายได้ ตัวอย่างเรื่องการควบรวม กสม. มีประเด็นจากภาคประชาชนรวมทั้งหลายองค์กรเสนอมาว่า ไม่ควรควบรวม เราก็สามารถหยิบตรงนี้มาเป็นประตูถกเถียงการอภิปรายในที่ประชุมได้แม้จำนวนจะไม่มาก แต่ถ้าจำนวนมากก็จะมีน้ำหนักเพิ่มข้ึน
มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือการมีส่วนร่วมในรูปแบบสำรวจความคิดเห็น ที่ กมธ.ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำ จังหวัดละ 1,000 ชุด ทั้งหมด 77 จังหวัดก็ 77,000 ชุด มีประเด็นหนึ่งที่จำได้ชัดเลยคือการเลือกตั้งควรจะเป็นสิทธิหรือหน้าที่ ข้อถกเถียงนี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก่อนจะถึงร่างสุดท้าย กมธ.กำหนดให้เป็นสิทธิ มีการถกเถียงกันหลายรอบ แต่พอมาเจอผลการสำรวจถ้าจำไม่ผิด ประชาชน 90% บอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เลือกตั้ง สุดท้าย กมธ.ก็ต้องเปลี่ยนตามความเห็นประชาชนว่าให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่
+ทำไมผลโหวตในเว็บไซต์ประชามติส่วนใหญ่ผลไปในทางตรงข้ามกับ กมธ.
น่าจะมาจากสองปัจจัยคือ หนึ่ง ความเห็นทางการเมืองไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะเป็นความคิดเห็นจึงเห็นต่างกันได้ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก ความเห็นทางการเมืองเห็นต่างกันได้ เป็นธรรมชาติของความเห็นทางการเมือง
อันที่สองไม่รู้ว่าเป็นปัจจัยจากการแบ่งฝ่ายทางการเมืองด้วยหรือเปล่า หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าคนที่เข้าไปติดตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็มีการแบ่งแยกทางการเมืองอยู่แล้ว ถ้าไม่เห็นด้วยกับกลไกของ คสช. แนวโน้มก็จะเห็นปฏิเสธ หรือเห็นในมุมต่าง ก็เป็นการสะท้อนจุดยืนทางการเมือง ปัจจัยนี้ก็มีอิทธิพลพอสมควร
ประเด็นคือถ้า กมธ.มีความเห็นต่างจากประชาชน หรือจาก คสช. สิ่งสำคัญคือเราต้องอธิบายให้ได้ว่าสิ่งที่เราร่างต่างออกไปนั้นเหตุผลคืออะไร
+บรรยากาศทางการเมืองมีผลต่อการมีส่วนร่วมไหม
มีผลแน่นอนครับ บรรยากาศโดยรวมที่ไม่เปิดกว้างอย่างเต็มที่ ตอนที่ กมธ.กำลังจะร่างรัฐธรรมนูญ เราก็คาดหวังว่าถ้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น สปช.ทำงานเปิดเวทีจะเป็นตัวที่ช่วยสร้างบรรยากาศการปฏิรูปให้มันคึกคักเต็มที่แต่พอยังมีกติกาบางอย่างของ คสช.ตีกรอบไว้ การมีส่วนร่วมที่เราคาดหวังก็ไม่ถึงจุดที่เราอยากให้เป็น หลายเวทีหรือหลายคนที่เราเจอจะกล่าวถึงปัจจัยเรื่องนี้ว่าต้องการให้มีการผ่อนคลายเพื่อให้การแสดงความคิดเห็นเปิดกว้างกว่านี้ เพราะจะส่งผลทำให้บรรยากาศพื้นที่การมีส่วนร่วมดีกว่าที่เราอยากให้เป็น
+การมีส่วนร่วมที่จำกัดมีส่วนให้ สปช.คว่ำร่างไหม
ปัจจัยที่ทำให้ร่างล้ม เป็นปัจจัยทางการเมืองโดยตรง รายละเอียดก็คงมีการวิเคราะห์กันมากมาย ประเด็นที่ว่า ผลจากพื้นที่การมีส่วนร่วมที่จำกัดส่งผลให้ร่างล้มไปคงเป็นปัจจัยลำดับท้ายๆ เพราะว่าการโหวตจริงๆ มาจากสปช. ยังไม่ไปถึงขั้นประชามติ ถ้าไปถึงขั้นประชามติ ประเด็นการมีส่วนร่วมจะมาเป็นลำดับต้นๆ
+ทำไมบรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้จึงเงียบเหงา
หลักๆ น่าจะมาจากสัญญาณทางการเมืองของ คสช. เห็นได้จากบทเรียนจากการโหวตของ สปช. ที่ผลการโหวตมีนัยทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดแม้ไม่ใช่คนวงใน ผลจากตรงนั้นก็เลยทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยากขึ้น
สำหรับร่างฉบับนี้ การเข้ามาดูเนื้อหาให้ตอบโจทย์ทางการเมืองน่าจะเป็นสิ่งที่ คสช.คงให้ความสำคัญอยู่ คนก็เลยคิดว่าเข้าไปหรือไม่เข้าไปให้ความเห็น ก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ คสช.มากนัก ดังนั้นการตื่นตัวการกระตือรือร้นก็เลยแผ่วไปเยอะ
+เราควรมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไหม
ความจริงการมีส่วนร่วมมีความจำเป็นมากกว่าแน่ๆ รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จะมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราไม่ได้มีแต่ทางการเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญมีขอบเขตปริมณฑลที่มากกว่าทางการเมืองในสภาอย่างเดียว สิทธิเสรีภาพ การตัดสินใจนโยบายสาธารณะ อันนี้เป็นความจำเป็นแม้ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบกระบวนการและที่มาของมันก็ตาม
การมีส่วนร่วมจะทำให้ตัวเนื้อหาถูกปรับถูกขยับแม้ว่าจะไม่เต็มที่ อย่างน้อยจะช่วยทำให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้น ท้ายที่สุดเราจะเป็นคนตัดสินใจในขั้นลงประชามติว่าเราจะเอาหรือไม่เอา ถ้าออกมาในทิศทางให้เราตัดสินใจไม่รับ ก็ส่งผลต่อการยืดอายุของกลไกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในภาวะไม่ปกติ ฉะนั้นมีความสำคัญแน่ๆ
+กรธ.ยืนยันหนักแน่นประเด็นนายกฯคนนอก กับที่มา ส.ว.ว่าไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง สองประเด็นนี้จะมีผลต่อการตัดสินลงประชามติอย่างไร
รัฐธรรมนูญเป็นโจทย์ทางการเมือง เพราะฉะนั้นประเด็นนายกฯคนนอก ที่มา ส.ว.เป็นโจทย์หลักที่คนหยิบร่างรัฐธรรมนูญมาดู อย่างไรก็ตามคนอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในภาคประชาสังคมไม่ได้เอาประเด็นทางการเมืองเชิงสถาบันเป็นตัวตั้ง เขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโจทย์เหล่านี้มากนัก กลุ่มเหล่านี้จะไปให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมืองมากกว่า สิทธิเสรีภาพจะเป็นอย่างไร การมีส่วนร่วม การตรวจสอบ การตัดสินใจนโยบายสาธารณะ ถามว่าการเมืองเชิงสถาบันสำคัญไหม แน่นอน เพราะสื่อให้ความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทุกกลุ่มหยิบเรื่องนี้เป็นปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจ
+รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติไหม
เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าเมื่อร่างปรากฏออกมาแล้วลงประชามติ ทิศทางจะออกมาแบบไหน เพราะความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของก็ไม่มากนัก ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่าตอบโจทย์ โดนใจแค่ไหน ถ้าเนื้อหาคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองที่เพียงพอ ก็จะยากในการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน โดยเฉพาะเมื่อความรู้สึกเป็นเจ้าของลดระดับลงไปจากก่อนหน้านี้แล้ว
+ถ้าประชามติไม่ผ่านควรทำอย่างไร
มีหลายโมเดลที่เราเคยเสนอกัน โจทย์ก็มี หนึ่ง องค์ประกอบของผู้ร่างที่ต้องเปลี่ยนไป สอง ที่มาของคนที่เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องมีที่มาซึ่งทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยคือที่มาและองค์ประกอบจะส่งผลต่อตัวเนื้อหาที่ร่างออกมา ส่วนที่สามคือกระบวนการร่างควรจะต้องเปลี่ยนไปจากสองครั้งเดิม บรรยากาศการมีส่วนร่วม การสร้างเนื้อหาที่มาจากความหลากหลายของสังคมพหุนิยม ต้องมาคิดกันว่าจะปรับอย่างไรไม่ให้เหมือนสองครั้งเดิม แล้วก็ไม่ให้ตกร่องการไม่ผ่าน
รัฐธรรมนูญชั่วคราวควรจะถูกปรับแก้หรือไม่ เพื่อไม่ให้วนลูปจนเกินไป ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อน โจทย์ของ กมธ.ตอนนั้นคือเราไม่อยากให้มาถึงจุดที่มีการร่างกันใหม่ เราเห็นว่าการกลับสู่ระบบปกติโดยเร็วเป็นเป้าหมายหนึ่งของ กมธ.ว่าจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ไม่ใช่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันแต่ต้องตอบโจทย์ของทุกฝ่ายในระดับที่พอเหมาะ ไม่ต้องลากยาวในภาวะแบบนี้
+รัฐธรรมนูญไม่ผ่านใครต้องรับผิดชอบ
แน่นอนว่ารัฐบาลหนีไม่พ้นความรับผิดชอบในฐานะผู้ที่กำหนดกติกาคัดเลือกคนมาร่าง สำหรับคนที่ไม่ใช่รัฐบาลความรับผิดชอบคืออะไร การที่เราไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาเราไปตัดสินใจกาไม่รับรัฐธรรมนูญแล้วคนจำนวนมากคิดแบบนี้ถือเป็นการใช้สิทธิตามกติกาที่กำหนดขึ้น และก็เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่านี่เป็นกติกาที่จะทำให้เราเดินไปด้วยกัน และเมื่อเราเห็นว่าเราไม่สามารถโหวตรับได้ ก็ไม่น่าจะมีความรับผิดชอบอะไร
+อยากเห็นอะไรที่สุดในการร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องหมวดสิทธิเสรีภาพที่ควรจะวางหลักการสำคัญ แนวทางสาระได้เพียงพอที่จะนำไปสู่การเขียนกฎหมายลูก อันนี้สำคัญเพราะจะทำให้สิทธิเสรีภาพถูกรับรองคุ้มครองไว้ ถ้าเป็นเพียงหลักการสั้นๆ แล้วไปบอกให้เป็นกฎหมายลูกเลยจะสร้างปัญหาตอนร่างกฎหมายลูก เพราะหลายเรื่องในเรื่องสิทธิยังมีข้อถกเถียงอยู่ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นฐานอิงในการร่างก็จะไปตะลุมบอนกันหนักหน่วงในการร่างกฎหมายลูก เช่น สิทธิชุมชน ความหลากหลายทางเพศยังเป็นสิ่งที่ยังถกเถียงกันอยู่
อันที่สองการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองที่เป็นพัฒนาการที่เดินทางมาอย่างค่อนข้างมั่นคง มีพัฒนาการที่ยกระดับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ฉะนั้นควรจะต่อยอดจากความเติบโต ซึ่งจะส่งผลต่อการถ่วงดุลการตรวจสอบและทำให้การเมืองภาคสถาบันมีคุณภาพมากขึ้น ที่พูดเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อการประเมินด้วยว่าระบบการเมืองเชิงสถาบันเราเล่นกับมันยากจริงๆ พยายามจะปรับจะแก้อย่างไรก็จะมีนักการเมืองที่หาทางหลุดรอดไปจากกติกา ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลาย เพราะฉะนั้นผมให้ความหวังกับการเมืองภาคพลเมืองมากกว่า

ใบปลิวต้านรัฐบาลทหารโผล่ ม.บูรพา “ประเทศไทยคนเดิม เพิ่มเติมคือทหาร”


ใบปลิวประณามรัฐบาลทหาร โผล่ ม.บูรพา ชี้แสดงความป่าเถื่อนจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพียงตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นกลับถูกขัดขวาง ยกย่องประชาชน-นักศึกษาที่สู้กับระบอบเผด็จการทหารทุกรูปแบบ
20 ม.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (19 ม.ค.59)  ได้ปรากฏใบปลิวในบริเวณ มหาวิทยาลัย ซึ่งมีข้อความว่า “ประเทศไทยคนเดิม เพิ่มเติมคือทหาร” รวมทั้งแถลงการณ์ซึ่งระบุว่ามาจากกลุ่ม “ประชาบูรพา” ซึ่งมีเนื้อหาแสดงจุดยืนทางเสรีภาพและการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ
โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์กลุ่มประชาบูรพา
เรื่อง   การแสดงจุดยืนทางเสรีภาพและการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ
เนื่องด้วยการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่  22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบันนี้  มกราคม พ.ศ.2559 เป็นเวลาเกือบ 2 ปี แล้วที่รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงจุดยืนทางการเมืองที่เห็นต่างต่อรัฐบาล จากที่ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยก็กลับกลายเป็นประเทศเผด็จการโดยรัฐบาลทหารซึ่งไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ทางกลุ่มประชาบูรพา จึงขอแสดงจุดยืนทางเสรีภาพและการเมือง เพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรมทางการแสดงความคิดเห็นภายใต้ระบบเผด็จการรัฐบาลทหาร  ดังต่อไปนี้
1. เราจะส่งเสริมและยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางเสรีภาพทุกรูปแบบ
2. เราขอต่อต้านกระบวนการอยุติธรรม ที่มาจากระบบเผด็จการทหารที่ขัดต่อเสรีภาพทุกรูปแบบ
3. เราขอแสดงนับถือ พี่น้องประชาชน กลุ่มนิสิตนักศึกษา ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น และร่วมกันต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารทุกรูปแบบ ขอบคุณที่ร่วมกันต่อสู้และแสดงออก เพื่อทวงคืนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และทวงคืนประชาธิปไตยคืนมา
4. เราขอประณามการกระทำที่ผ่านมาของรัฐบาลทหารที่แสดงความป่าเถื่อน และจำกัดสิทธิเสรีภาพ พวกเราขอแค่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมือง การตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นในผลงานที่ผ่านมา พวกคุณรัฐบาลทหารกลับไม่ให้เราได้แสดงความคิดเห็นและแสดงออกตามหลักสิทธิมนุษยชน เราขอประณามเผด็จการทหารที่มาจากการรัฐประหาร และอยุติธรรมทั้งสิ้น
กลุ่มประชาบูรพา
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์ ภายในมหาวิทยาลัยบูรพามีการจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาหลายงาน อาทิเช่น งานสัปดาห์ห้องสมุด burapha book fair งานสัปดาห์ประชาธิปไตย และงานกิจกรรมออกร้านขายของอื่นๆ อีกด้วย

จำคุก 9 ปี คดี 112 ‘ปิยะ’ โพสต์เฟซบุ๊ก ทนายชี้คดีแรกศาลอาญาลงโทษหนักเท่าศาลทหาร


20 ม.ค.2559  ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ ปิยะ (สงวนนามสกุล) โบรกเกอร์วัย 46 ปีตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก พงศธร บัญชร โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 9 ปีจากความผิด 1 กรรม แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน
อ่านรายละเอียดคดีปิยะ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th
ทั้งนี้ที่ผ่านมาคดีนี้สืบพยานเป็นการลับเนื่องจากอัยการร้องขอต่อศาลโดยให้เหตุลผลว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นการกระทำที่ไม่บังควรเพราะอาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนได้ 
ปิยะถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2557 เรื่อยมาจนปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนเศษ นอกจากนี้ยังยังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกเป็นคดีที่ 2 ในระหว่างถูกคุมขังในคดีนี้ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งข้อความหมิ่นไปยังอีเมล์หลายชื่อ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ก.พ.นี้
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของปิยะ กล่าวว่า คดี 112 คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ศาลาอาญาลงโทษจำคุกจำเลยหนักใกล้เคียงกับศาลทหาร ที่ผ่านมาหากจำเลยต่อสู้คดีในศาลอาญา โทษต่อกรรมของคดีนี้จะอยู่ที่ 5 ปีมาโดยตลอด เป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นของโทษคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นในยุคนี้ และน่าจะทำให้จำเลยที่คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และอยากต่อสู้คดีจะยิ่งมีน้อยลงไปอีก
“โทษจำคุกต่อกรรมสูงถึง 9 ปี ต่อไปจำเลยอื่นๆ ก็จะยิ่งไม่มีใครกล้าต่อสู้คดีนี้” ทนายความกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้กล่าวว่าทนายสู้คดีได้ดี และมีจุดให้ใช้ต่อสู้ในการอุทธรณ์ได้มาก ก่อนหน้านี้เมื่อ 28 ธ.ค.ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่งเนื่องจากต้องนำผลคดีไปปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา (อ่านข่าวที่นี่)
ผู้สื่อข่าวถามถึงพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีและการสืบพยานจากทนายความ ศศินันท์ตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์มีเพียงรูปภาพที่แคปเจอร์มา 1 ภาพ และพยานบุคคลที่สำคัญ 1 ปากซึ่งศาลรับฟังและนำมาเป็นส่วนหนึ่งในคำพิพากษา ขณะที่พนักงานสอบสวนของปอท.และพยานปากอื่นๆ ไม่มีใครสามารถยืนยันว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กนี้อยู่จริงเพราะไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนได้ขอไอพีแอดเดรสของบัญชีดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กแล้วแต่เฟซบุ๊กปฏิเสธการให้ข้อมูล
ทนายความขยายความถึงหลักฐานรูปภาพว่า เป็นภาพตัดต่อเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา-ข้อความหมิ่น-รูปโปรไฟล์ที่เป็นรูปของปิยะมาไว้รวมกันไว้ใน 1 ภาพซึ่งปริ๊นท์ออกมาเป็นกระดาษ ภาพดังกล่าวถูกแชร์ในโลกโซเชียลและมีบุคคลเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับปิยะหลายราย โดยมีผู้แจ้งความมาเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้รวม 5 คน แบ่งเป็น 3 คนแรกมาจากจังหวัดน่าน อีก 1 คนเป็นหมอจากจังหวัดนครปฐม ทั้งหมดเบิกความได้เห็นรูปภาพดังกล่าวจึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ โดยไม่เคยเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก พงศทอน บันชอน หรือเห็นข้อความต้นฉบับจากเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน
ส่วนพยานปากสุดท้ายเป็นพยานปากสำคัญที่ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด พยานปากดังกล่าวเป็นหัวหน้าชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมซึ่งเบิกความยืนยันว่า บัญชีพงศธร บันทอน มีอยู่จริง เขาเคยให้ทีมงานเข้าไปเป็นเพื่อนกับบัญชีนี้และมีการสืบด้วยวิธีการลับจนทราบว่าเจ้าของบัญชีดังกล่าวเป็นใครอยู่ที่ไหน พยานรายนี้กับพวกได้เดินทางไปยังที่อยู่ดังกล่าวเพื่อติดตามจำเลยแต่ไม่เจอตัวจึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ นอกจากนี้พยานยังระบุด้วยว่า ทางชมรมฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในการสืบพยานตัวตนของคนโพสต์หมิ่นได้
ขณะที่ปิยะ จำเลยในคดีนี้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าของบัญชี พงศทอน บันทอน แต่เหตุที่เมื่อคัดทะเบียนราษฎร์แล้วพบว่าเคยมีการสวมชื่อพงศธร บันทอน นั้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเขาต้องการหนีภาระหนี้สิน ส่วนภาพของเขาเองที่ไปปรากฏในบัญชีเฟซบุ๊กของพงศธร บันทอน นั้นก็เป็นภาพที่เขาใช้บัญชีทวิตเตอร์
ด้านเพจเฟซบุ๊ก iLaw รายงานสรุปความคำพิพากษาว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าในวันเวลาตามฟ้องมีผู้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน ข้อความที่ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์เข้าใจได้ทันทีว่ามีเจตนา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
ในคดีนี้ โจทก์มีอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ มาเบิกความว่าพบเห็นข้อความจากเฟซบุ๊กของนายพงศธรโดยตรง และทราบว่าจำเลยเคยใช้ชื่อ Vincent Wang ซึ่งจำเลยก็รับว่าเคยใช้ชื่อดังกล่าวจริง อัจฉริยะยังเบิกความว่าสืบทราบมาว่าพงศธรมีบ้านอยู่ที่เขตดอนเมือง ซึ่งตรงกับที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่าจำเลยเคยสวมชื่อเป็นนายพงศธร บันทอน ที่สำนักงานเขตดอนเมือง คำเบิกความของอัจฉริยะจึงสอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้มีการเปลี่ยนชื่อและสวมชื่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่อเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสามารถทราบถึงตัวตนได้ ที่จำเลยเบิกความว่าเพิ่งพบเห็นข้อความตามฟ้องจากการที่แฟนมาบอก แต่ก็ไม่ได้นำตัวแฟนมาเบิกความต่อศาล และที่จำเลยเบิกความว่าเคยแจ้งให้ google ลบภาพนี้จากระบบค้นหาก็เป็นการแจ้งหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้
จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (5) ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ในฐานกฎหมายที่มีโทษหนักสุด กำหนดโทษ 9 ปี เนื่องจากการให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี