วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

'แนวหน้า-ยะใส' เงิบ! ทนายยัน 'ตูน ธเนตร' ไม่ใช่ผู้ต้องหาหมิ่นสถาบัน

โพสต์ของสุริยะใส

ทนายของ 'ธเนตร คณะส่องทุจริตราชภักดิ์' ยัน ลูกความไม่ใช่ผู้ต้องหาหมิ่นสถาบัน ถูกดำเนินคดีเฉพาะ 116 และ พ.ร.บ.คอมฯ หลัง 'แนวหน้า-สุริยะใส' รายงานว่าเป็น 
18 ม.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(17 ม.ค.59) เวลาประมาณ 13.00 น. นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย กลุ่มกรีน (Green Politics) ได้โพสต์ข่าวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สุริยะใส กตะศิลา' ว่า "ด่วน!' ธเนตร'ผู้ต้องหาหมิ่นสถาบัน ออกนอกปท.ขอลี้ภัยต่างแดนแล้ว" 
ซึ่งเป็นข่าวของ 'แนวหน้า' โดยรายงานถึงการลี้ภัยไปต่างประเทศของ นายธเนตร อนันตวงษ์ หรือ ตูน โดยนอกจากระบุว่าเป็นผู้ต้องหาคดีสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 
ภาพข่าวของแนวหน้า
นอกจากข้อหาดังกล่าวแล้ว แนวหน้า ยังระบุอีกว่า นายธเนตร เป็น "ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร คดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ป.อาญา มาตรา 112" ด้วย
ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามไปยังทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายความของนายธเนตร ยืนยันว่า ธเนตร ไม่ได้ถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีเพียง ม.116 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 เท่านั้น
สำหรับนายธเนตร เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินทางไปในกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ และถูกควบคุมตัวพร้อมกับผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมด 36 คน ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 ธ.ค.58 ระหว่างที่เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสิริธร เขาถูกควบคุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ กว่า 6 วัน โดยไม่มีใครทราบชะตากรรม แม้เพื่อนจะพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอนำยาไปให้นายธเนตร ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบ ทำให้ ‘จ่านิว’ หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายธเนตร เนื่องจากถูกควบคุมตัวมิชอบ ต่อศาลอาญาถึง 2 ครั้ง แต่ศาลกลับยกคำร้องโดยไม่ดำเนินการไต่สวนผู้ร้องทั้ง 2 ครั้ง ก่อนที่ศาลทหารจะอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวัน 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังตั้งข้อสังเกตุด้วยว่าตลอดเวลาที่นายธเนตรถูกควบคุมตัวโดยญาติและทนายความไม่สามารถเข้าพบได้นั้น อาจจะทำให้ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหายอีกด้วย 
 
ต่อมานายธเนตร ยังเป็น 1 ใน 6 ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหาร หลังไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ ในครั้งดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะปรากฎตัวอีกครั้งเมื่อลี้ภัยออกนอกประเทศไปแล้ว

ยังไม่จบ 'พล.อ.ไพบูลย์' ยันยังตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ อย่างต่อเนื่อง ไม่มีเสียงอ่อน


พล.อ.ไพบูลย์ ประธาน ศอตช. ยันยังตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ อย่างต่อเนื่อง ไม่มีเสียงอ่อน พบเอกชนและบุคคลที่หายตัวไปติดตามไม่ได้  อาจจะเป็นประเด็นขึ้นมา ส่วนคดีรถหรู วัดปากน้ำฯ เตรียมเรียกดีเอสไอสอบถาม
18 ม.ค. 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ ว่า ขณะนี้ได้รับข้อมูลตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้วมีรายละเอียดยอดเงิน และการเคลื่อนไหวทางบัญชีต่างๆ ซึ่งพบว่ารายละเอียดไปเชื่อมโยงกับเอกชนและบุคคลที่หายตัวไปติดตามไม่ได้ ข้อมูลขณะนี้ชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับผู้ที่หายไป อาจจะเป็นประเด็นขึ้นมาว่า แล้ว จะชี้ไปในแนวทางใด  ซึ่งต้องมีการประชุมร่วมกัน  แล้วสรุปผลอย่างไร จะนัดแถลงอย่างละเอียดโดยเปิดให้ทุกฝ่ายที่อยากฟังผลการตรวจสอบร่วมฟังได้หมด ผู้สงสัย ก็จะเปิดให้ถามในการแถลง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ถูกเอาไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น โดยตนขอยืนยันว่า การตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีหยุด ไม่มีเสียงอ่อน
เตรียมเรียกดีเอสไอสอบถามคดีรถหรู วัดปากน้ำฯ
ต่อกรณี ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฎิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนามายื่นหนังสือให้ดีเอสไอเร่งรัดการตรวจสอบการครอบครองรถหรูของสมเด็จพระมหามังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญนั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า คดีรถหรูเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้วตั้งแต่ปี 2556 คงไม่ต้องเร่งรัด และเชื่อว่าพนักงานสอบสวนทำคดีตามหน้าที่ ไม่เช่นนั้น หากคดีใดมีผู้ร้องเข้ามาก็ต้องเร่งทำหรือคดีใดไม่มีผู้ร้องก็ไม่ต้องทำใช่หรือไม่ ถ้าทำเช่นนี้ก็ไม่ธรรม อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้ก็ข้องใจว่าเหตุใดคดีนี้จึงต้องแยกประเภทเอาผิดกับรถหรูที่ราคาต่ำว่า 4 ล้านบาทและราคาสูงกว่า 4 ล้านบาทขึ้นไปโดยตรวจกลุ่ม 4 ล้านบาทขึ้นไปก่อนทั้งที่เป็นความผิดมูลฐานเดียวกันตามหลักการแล้วควรทำเหมือนกันทั้งระบบไม่ว่ารถราคาเท่าใดก็มีความผิดเหมือนกัน หากเร่งรัดเฉพาะกรณีก็จะทำให้เกิดปัญหา แต่คดีนี้ยาวนานมาถึง 3 ปี ซึ่งจะเรียกอธิบดีดีเอสไอมา สอบถาม
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสังคมเพราะมีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่ามีความผิดก็ต้องผิด ถูกก็ต้องถูกไม่ว่าจะมีชื่อใครครอบครอง ส่วนถ้าผลการตรวจสอบออกมาแล้วผู้เกี่ยวข้องจะนำไปประกอบเรื่องอะไรก็เป็นหน้าที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการต่อและถ้าผลคดีจะออกในช่วงนี้ก็ต้องออก ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคดีดำเนินการไปตามปกติ